7 สิงหาคม 2526 ณ วัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ แสดงพระธรรมเทศนาในโอกาสครบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ ความตอนหนึ่งว่า
“ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลมหัศจรรย์ ยากที่จะมีผู้เทียมถึง เพราะท่านมีกำเนิดเป็นเพียงลูกชาวนาของเมืองกรุงเก่า คือพระนครศรีอยุธยา เมื่อพิจารณาตามชาติคุณแล้ว ไม่มีลู่ทางที่จะดำเนินชีวิตให้รุ่งโรจน์ถึงตำแหน่งรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเป็นคนแรกและคนเดียวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าแต่งตั้งในประเทศไทย …
“ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้มอบกายถวายชีวิตโดยใช้สติปัญญา สามารถดำเนินรัฏฐาภิปาลโนบาย ด้วยนโยบายอันเฉียบแหลม จัดระบบการปกครองให้ทันเหตุการณ์ทุกตำแหน่งหน้าที่ …
“เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตสู่นคร ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ท่านได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้ายกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดินเพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป นับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครเทียมถึงอีกประการหนึ่ง”[1]
การมีกำเนิดเป็น “ลูกชาวนาของเมืองกรุงเก่า” นี่เอง คือ จุดเริ่มต้นของนายปรีดีผู้มี “ลู่ทางที่จะดำเนินชีวิตให้รุ่งโรจน์” บนหน้าประวัติศาสตร์ตราบนานเท่านาน
วัดพนมยงค์ : ที่มาของนามสกุล[2]
ผู้ที่เคยไปวัดพนมยงค์ จะพบประวัติของวัดจากป้ายที่ติดอยู่ ณ ลานจอดรถว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ราว พ.ศ.2173-2198) เดิมบริเวณนี้เป็นสวนของพระนมที่มีนามว่า “โยง” หรือ “ยง” ในแผ่นดินของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น เมื่อพระนมลาโลกนี้ไปแล้ว เจ้านายบางพระองค์ทรงอนุสรณ์ถึงอุปการคุณ จึงได้สร้างวัดขึ้น ให้ชื่อว่า “วัดพระนมโยง” ต่อมาเรียกขานกันไปต่างๆ นานาว่า “วัดพนมโยง” “วัดจอมมะยงค์” และ “วัดพนมยงค์”
ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ เห็นว่า คำว่า “พนมยงค์” มาจาก “พระนมประยงค์” เพราะในสมัยก่อน ชาวกรุงเก่าออกเสียง “พระนม” ว่า “พนม” โดยไม่มี ร กล้ำ ส่วนชื่อบุคคลที่มีหลายพยางค์ก็มักเรียกเฉพาะพยางค์ต้นหรือพยางค์ท้าย ในกรณีนี้ชื่อ “ประยงค์” นี้เรียกพยางค์ท้ายว่า “ยงค์”
และให้ข้อมูลที่ต่างออกไปว่า พระนมประยงค์ พระนมแห่งพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้สร้างวัดขึ้นบริเวณฝั่งเหนือของคลองเมือง ห่างจากมุมกำแพงพระราชวังโบราณด้านตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้จึงได้ชื่อตามผู้สร้างว่า “วัดพนมยงค์”
พระนมประยงค์ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณฝั่งใต้ของคลองเมือง ตรงข้ามวัด และมีผู้สืบเชื้อสายอาศัยในบริเวณดังกล่าวมาหลายชั่วคน ต่อมาที่ดินซึ่งเรือนของพระนมประยงค์ปลูกนั้น ตกทอดมาถึง “เกริ่น”
เมื่อกรุงแตก ชาวบ้านบริเวณนี้ต้องอพยพหลบภัยการรุกรานของพม่าในคราวสงครามเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 หลังพม่าถูกขับไล่ไปแล้ว มารดาของนายเกริ่นผู้มีฝีมือในการทำขนมขาย ได้ขยายการค้าจนพอมีฐานะเป็นหัวแรงออกเงิน และระดมทุนสร้างโบสถ์และศาลาการเปรียญของวัดพนมยงค์ขึ้นใหม่ แทนของเดิมซึ่งถูกทำลายไป
ต่อมา เกริ่นอุปสมบทที่วัดนี้กว่า 10 พรรษา จนได้เป็นสมภารแล้วสึกออกมา เขาแต่งงานกับ “แก้ว” มีบุตรี 4 คน คนโตชื่อ “ปิ่น” ต่อมา เธอมีบุตรชายคนหนึ่งกับ “ก๊ก แซ่ตั้ง” ชื่อ “บุญเกิด” หรือที่มักเรียกว่า “เกิด” ในราวสมัยรัชกาลที่ 3 และเมื่อเกิดเติบใหญ่ เขาได้แต่งงานกับ “คุ้ม” มีบุตรด้วยกัน 8 คน คนรองสุดท้องชื่อ “เสียง”
นายเสียงเกิดเมื่อ พ.ศ.2409 หลังจากอุปสมบทที่วัดพนมยงค์อยู่ 3 พรรษา ก็ลาสิกขา แล้วแต่งงานกับ “ลูกจันทน์”
เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.2456 ราษฎรในหัวเมืองยังมิได้สนใจใช้นามสกุล กรมการอำเภอจึงคิดตั้งและจดทะเบียนให้ตามความสะดวกของกรม ซึ่งส่วนมากตั้งตามตำบลที่ผู้นั้นตั้งบ้านเรือนอยู่ นายเสียงทราบจากผู้ใหญ่บ้านว่า กรมการอำเภอคิดตั้งนามสกุลให้ แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษ จึงไปนมัสการ “พระสุวรรณวิมลศีล” เจ้าคณะเมือง ขอให้ตั้งนามสกุลให้ ด้วยความที่ท่านรู้เรื่องราวของนายเสียงเป็นอย่างดี จึงให้นามสกุลว่า “พนมยงค์”
เจดีย์ที่บรรจุอัฐิ นายเสียง บิดา
เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ : กำเนิดปรีดี
หลังจากที่นายเสียง พนมยงค์ ทำนาอยู่ตำบลท่าหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งนางลูกจันทน์ตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 ซึ่งห่างจากธิดาคนแรกที่ชื่อ “เก็บ” ถึง 7 ปี ทั้งสองจึงอพยพกลับมาอยู่ที่เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์
และในวันศุกร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ร.ศ.119 เวลาบ่ายโมง (ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม 2443) นางลูกจันทน์ได้คลอดบุตรชายผู้นี้ออกมาอย่างยากลำบาก ถึงขนาดเป็นลมสลบไปหลังจากคลอดบุตรเสร็จ นายเสียงและญาติๆ คิดว่าทารกนั้นตายไปแล้ว เพราะไม่ได้ยินเสียงร้อง จึงช่วยกันปฐมพยาบาลเพียงคนเป็นแม่
อย่างไรก็ดี กิม บุตรนางแฟง เห็นว่าญาติผู้ใหญ่ช่วยกันปฐมพยาบาลนางลูกจันทน์มากพอแล้ว เธอจึงหันมาเอาใจใส่ทารกน้อย แล้วทารกก็ร้องขึ้น เป็นสัญญาณว่ายังมีชีวิตอยู่
นายเสียงและนางลูกจันทน์ ปีติยินดีที่ได้ลูกชายคนแรก จึงตั้งชื่อว่า “ปรีดี”
ครูคนแรก : เสียง พนมยงค์
นายปรีดีให้สัมภาษณ์นายฉัตรทิพย์ นาถสุภา ไว้ว่า “เมื่อเริ่มจำความได้ก็เห็นเคหสถานของครอบครัวที่ตกทอดมาจากปู่ย่า ซึ่งแสดงว่าเป็นครอบครัวที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “ผู้มีอันจะกิน” … บิดาผมเลือกอาชีพทำนา จึงประสบชะตากรรมอย่างเดียวกับชาวนาซึ่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว ผมประสบพบเห็นความอัตคัดของบิดามารดา และเมื่อไปอยู่กับบิดาก็พบเห็นความอัตคัดขัดสนของชาวนาทั่วไป”[3]
นายเสียงนี่เองที่เป็นครูผู้ให้สติทางการเมืองคนแรกแก่นายปรีดี ดังที่เขาเล่าต่อไปว่า “ขณะที่เรียนอยู่ในชั้นประถมนั้น เคยได้ยินบิดาสนทนากับชาวนาที่ปรับทุกข์ถึงความเดือดร้อนในการทำมาหากิน บิดาได้บอกแก่ชาวนานั้นๆ ถึงการที่ท่านได้ยินท่านเจ้าคุณ (พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา) เล่าให้ฟังว่า ที่อังกฤษมีสภาผู้แทนราษฎร คือสภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนอย่างใดก็แจ้งแก่ผู้แทนของตนไปขอร้องรัฐบาลได้”[4]
สนใจการเมือง
พ.ศ.2454 เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศจีน ระหว่างฝ่ายเก็กเหม็งของซุนยัดเซ็นกับฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู ปรีดีสนใจติดตามข่าวอยู่เสมอ เพราะครูหัวก้าวหน้าบางท่านได้นำข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์มาวิจารณ์ให้นักเรียนฟังว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ฝ่ายใดแพ้ ฝ่ายใดชนะ นอกจากนี้ งิ้วที่แสดงในวัดพนัญเชิงยังเปลี่ยนเนื้อหาไปเล่นเรื่องเก็กเหม็งด้วย ทำให้คนดูเห็นเป็นการสนุก ในเวลานั้นครูที่ก้าวหน้าถึงกับเปรยกับปรีดีว่า “ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน 2 ประเทศนี้ ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน”
ครั้นปลายปีนั้น เกิดเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรีดีสนใจข่าวนี้มาก เพราะเห็นว่า “เมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ.130 รักชาติ กล้าหาญ เตรียมการเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยายามสอบถามจากผู้รู้เรื่องเพื่อทราบเรื่องของคณะ ร.ศ.130 ด้วยความเห็นใจมาก”[5]
ทำนา
เมื่ออายุได้ 15 ปีเศษ ปรีดีสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมซึ่งถือว่าบริบูรณ์แล้ว แต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเรียนต่อได้ จึงออกไปอยู่นากับบิดา จนอายุ 17-18 ปี ค่อยเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เหตุนี้เองปรีดีจึงได้บทเรียนที่ทราบถึงความอัตคัดขัดสนและความยากลำบากของชาวนา
และเมื่อเห็นดังนั้น “ปรีดีจึงระลึกถึงคำสอนของครูและเหตุการณ์ต่างๆ … ว่าถ้าเมืองไทยมี parliament คือสภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรได้แล้ว ก็จะแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎรได้”[6]
คงจะไม่เกินไปนัก ถ้าจะกล่าวว่า พระนครศรีอยุธยานี่เอง ไม่ใช่ปารีส ที่เป็นจุดเริ่มต้นจิตวิญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของนายปรีดี พนมยงค์ จนทำสำเร็จในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
อย่างไรก็ดี พัฒนาการของประชาธิปไตยไทยที่ล้มลุกคลุกคลานมากว่า 8 ทศวรรษ ยังเป็นภารกิจที่ท้าทายให้พวกเราอนุชนรุ่นหลัง สืบสาน รักษา และต่อยอด สืบไป
อ้างอิง
[1] ปรีติธรรม: รวมธรรมทัศน์ของพระมหาเถระต่อปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 3 (คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2542), น. 2-4.
[2] ดู ปรีดี พนมยงค์, สกุลพนมยงค์ (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกที่ระลึกเนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2530), น.19-31 และป้ายประวัติวัดพนมยงค์ซึ่งตั้งอยู่ที่วัด ผู้เขียนบันทึกมาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563.
[3] ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย”, 2526), น. 21.
[4] เพิ่งอ้าง, น. 34.
[5] เพิ่งอ้าง, น. 35.
[6] เพิ่งอ้าง, น. 37-38.
เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ The 101 Percent (5 มิถุนายน 2563) : https://www.the101.world/pridi-ayutthaya/
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ปรีดี พนมยงค์
- เสียง พนมยงค์
- กษิดิศ อนันทนาธร
- The 101
- ปรีติธรรม
- สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
- 100 ปี ชาตกาลปรีดี พนมยงค์
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
- กรุงศรีอยุธยา
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- ลูกจันทน์ พนมยงค์
- พระสุวรรณวิมลศีล
- พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา
- ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
- กบฏ ร.ศ.130
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- อภิวัฒน์สยาม 2475
- 24 มิถุนายน 2475
- คณะราษฎร
- ประชาธิปไตย
- เก็กเหม็ง
- ซุนยัดเซ็น
- ราชวงศ์แมนจู