ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำฟ้องหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 3

25
เมษายน
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ในคดีคำฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของนายประยูร ภมรมนตรี เรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 3 ข้อ 14. เรื่อง พล.ท.ประยูรฯ จัดฉากละครเรื่องใหม่โดยสมมตให้นายควงฯ และหลวงเดชสหกรณ์เป็นพระเอกต่อต้านการแจกโครงการเศรษฐกิจของปรีดีที่บ้านนายควงฯ และที่บ้านร.ท.ประยูรฯ  ตามหลักฐานบันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 ปรากฏชัดว่านายปรีดีเพิ่งร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสร็จภายหลังการอภิวัฒน์แล้ว 9 เดือนเศษ ฉะนั้น คำอ้างของ พล.ท. ประยูรฯ ว่านายปรีดีทำโครงการเศรษฐกิจไปแจกที่บ้านนายควง อภัยวงศ์ และที่บ้านนายประยูร ภมรมนตรีนั้นจึงเป็นไปไม่ได้
  • หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของนายประยูรเสนอข้อบิดเบือนสำคัญเกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจและคณะราษฎรคือ เรื่องที่นายประยูร อ้างว่าหลวงเดชสหกรณ์เป็นสมาชิกคณะราษฎรที่จำใจลาออกเพราะแสลงใจร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น นายปรีดียืนยันจากหลักฐานฯ ชัดเจนว่าหลวงเดชฯ ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกคณะราษฎรตั้งแต่ต้นดังนั้นจึงไม่มีการลาออกจากสมาชิกภาพ
  • นายปรีดีชี้ให้เห็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องแจกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจในประการสำคัญคือเรื่องที่พระยาฤทธิ์อัคเนย์ปรารภว่าจะลาออกเพราะมีความเห็นขัดแย้งกับบุคคลชั้นหัวหน้าจำนวนหนึ่งเรื่องแต่ในข้อเท็จจริงคือ นายปรีดีมีความเห็นตรงกับพระฤทธิอัคเนย์และสนับสนุนด้วยเป็นอย่างดียิ่ง ดังนี้ ในบันทึกประกอบคำฟ้องหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 1-3 จึงเป็นทั้งการปกป้องชื่อเสียงและยืนยันข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เปิดเผยต่อสาธารณชนครั้งแรก

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของนายประยูร ภมรมนตรี เรื่อง เค้าโครงการเศรษฐกิจ
ที่มา: หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

ข้อ 14.

พล.ท.ประยูรฯ จัดฉากละครเรื่องใหม่โดยสมมตให้นายควงฯ และหลวงเดชสหกรณ์เป็นพระเอกต่อต้านการแจกโครงการเศรษฐกิจของปรีดีที่บ้านนายควงฯ และที่บ้านร.ท.ประยูรฯ

เมื่อพล.ท.ประยูรฯ ได้สมมตให้พระยาทรงฯ เป็นพระเอกผู้ปราบปรามปรีดีในนิยายหลายเรื่องแล้ว พล.ท.ประยูรฯ ก็ได้ปั้นพระเอกขึ้นอีก 2 ท่านเพื่อสลับฉากให้ผู้ชอบอ่าน-นิยายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง คือ ในนิยายเรื่องใหม่นั้น พล.ท.ประยูรฯ ได้อาศัยบ้านนายควง อภัยวงศ์ และบ้านของพล.ท.ประยูรฯ เป็นฉากใหม่ 2 ฉาก และสมมติให้นายควงฯ กับหลวงเดชสหกรณ์เป็นพระเอกผู้ทำการต่อต้านการแจกโครงการเศรษฐกิจของการเศรษฐกิจของปรีดีนั้น ดังปรากฏความตามหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 144-145 ดังต่อไปนี้

หลวงเดชสหกรณ์ ขอลาออก

ในเรื่องโครงการเศรษฐกิจ (สหกรรม) ของคุณปรีดีนั้น พยายามนำมาแจกเพื่อนฝูงในการประชุมย่อยที่บ้านคุณควง อภัยวงศ์ เจ้าของบ้านก็ร้องเอะอะว่าอาจารย์เอาอะไรมาแจกอีกแล้ว ไม่เอา ไม่เอา จะหาเรื่องเข้าซังเต และในที่สุดการประชุมใหญ่ที่บ้านข้าพเจ้าที่บางซื่อ คุณปรีดีก็นำเอามาแอบแจกกันอีก ตอนนี้คุณหลวงเดชสหกรณ์ (ม.ล.เดช สนิทวงศ์) ได้มานั่งปรับทุกข์กับข้าพเจ้าที่คันคลองปะปาว่า คุณปรีดีเสนอโครงการเศรษฐกิจในลักษณะพลิกแผ่นดินและไม่ยอมยับยั้ง พยายามเคี่ยวเข็ญเอาเรื่องมาเข้าที่ประชุมแทบทุกครั้ง เกรงว่าในเบื้องหน้าจะเกิดเรื่องวุ่นวายแบบป่นปี้ จึงจำใจต้องขอลาออก จากคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่สามารถอยู่ร่วมรับผิดชอบอยู่ด้วยได้ แต่รับรองที่จะปกปิดและจะช่วยเป็นกำลังรับใช้ในโอกาสต่อไป ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายคุณหลวงเดชฯ เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉานในวิชาเศรษฐกิจ และเป็นคนสุขุมเคร่งเครียดในการงาน เป็นเพื่อนที่ดีและเป็นสุภาพบุรุษทุกกระเบียดนิ้ว

ข้าพเจ้า (ปรีดี) ขอเสนอคำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาไว้ในข้อ 14.1. และคำชี้แจงเพิ่มเติมของข้าพเจ้าในข้อ 14.2.

14.1.
คำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาฯ

ตามเอกสารหลักฐานบันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวแล้วในข้อ 12 และข้อ 13 นั้น ปรากฏชัดแจ้งว่าปรีดีเพิ่งร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสร็จภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว 9 เดือนเศษ ฉะนั้น คำอ้างของพล.ท. ประยูรฯ ว่าปรีดีทำโครงการเศรษฐกิจไปแจกที่บ้านนายควงฯและที่บ้าน ร.ท. ประยูรฯ นั้นจึงเป็นไปไม่ได้

14.2.
คำชี้แจงของข้าพเจ้า(ปรีดี) เพิ่มเติมจากคำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาฯ

คำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาดังกล่าวในข้อ 14.1 นั้นเป็นการพอเพียงแล้วสำหรับท่านที่เป็นธรรมวินิจฉัยได้ว่าเรื่องที่พล.ท.ประยูรฯ กล่าวอ้างไว้นั้นเป็นเรื่องละครที่สมมตฉากและตัวละครขึ้นไม่ใช่สัจจะทางสารคดี แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าละครเรื่องใหม่ของพล.ท.ประยูรฯ ได้อ้างหลวงเดชสหกรณ์ซึ่งต่อมาเป็น “องคมนตรี” นั้นเป็นพระเอกในเรื่องด้วย ซึ่งทำให้มีผู้หลงเชื่อว่าเป็นความจริงทางคดีเกี่ยวกับการที่อ้างว่าหลวงเดชฯ ลาออกจากการเป็นสมาชิกคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองและคำพูดของหลวงเดชฯ นั้น อันจะนำความเสียหายมาสู่เกียรติของหลวงเดชฯ ได้นั้น แต่หลวงเดชฯ ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปหลายปีแล้วก่อนพิมพ์หนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หลวงเดชฯ จึงหมดโอกาสชี้แจงความจริง ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงความจริงไว้ดังต่อไปนี้

(1)

พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าหลวงเดชสหกรณ์จำใจลาออกจากคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะแสลงใจโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่า

หลวงเดชฯ มิได้สมัครเป็นสมาชิกคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หรือคณะราษฎร ฉะนั้นท่านจึงไม่มีสมาชิกภาพของคณะฯ ที่ท่านต้องลาออก

ขอให้ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดดูหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 120-129 ซึ่งท่านผู้นี้ได้แจ้งรายชื่อผู้ที่ร่วมประชุมครั้งแรกที่บ้านของท่าน 7 คน และที่สมัครตอนหลังอีก 9 คนดั่งต่อไปนี้

ร่วมประชุมครั้งแรกที่บ้านข้าพเจ้า (ประยูรฯ) รวมทั้งหมด 7 คน

  1. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ
  2. นายปรีดี พนมยงค์
  3. หลวงศิริราชไมตรี (พิมพ์ชื่อตามหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ)
  4. ดร.ตั้ว ลพานุกรม
  5. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี
  6. นายแนบ พหลโยธิน
  7. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี

ส่วนที่มาสมัครตอนหลังคือ

  1. พ.ท.พระยาทรงสุรเดช
  2. พ.ท.พระศรีสิทธิสงคราม (ต่อมาขอถอนตัว)
  3. ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน
  4. ดร.ประจวบ บุนนาค
  5. ม.ล.อุดม สนิทวงศ์
  6. นายทวี บุณยเกตุ
  7. นายควง อภัยวงศ์
  8. ม.ล.กรี เดชาติวงศ์
  9. นายบรรจง ศรีจรูญ

ท่านผู้มีใจเป็นธรรมก็จะเห็นได้ว่า

(1)

ไม่มีชื่อหลวงเดชสหกรณ์ หรือ ม.ล. สนิทวงศ์ ในบัญชีของพล.ท.ประยูรฯ หากมีชื่อม.ล.อุดม สนิทวงศ์ น้องชาย ม.ล.เดชฯ นั้นในบรรดาบุคคลที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนว่า “ที่สมัครตอนหลัง”

(2)

แม้ว่าพล.ท.ประยูรฯ ได้เอาชื่อ “พ.ท.พระศรีสิทธิสงคราม” มาใส่ไว้ในบัญชี “ผู้ที่มาสมัครตอนหลัง” แต่พล.ท.ประยูรฯ ก็ได้เขียนข้อความไว้หลังชื่อพระศรีฯ นั้นว่า “(ต่อมาขอถอนตัว)” เพื่อแสดงว่าพระศรีฯ สมัครเป็นสมาชิกคณะฯ แล้วขอลาออก

ฉะนั้นถ้าม.ล.เดช สนิทวงศ์ หรือ หลวงเดชสหกรณ์ได้สมัครเป็นสมาชิกคณะฯ แล้วขอลาออกตามที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างในเรื่องละครของท่าน พล.ท.ประยูรฯ ก็จะต้องเขียนชื่อ ม.ล.เดชฯ หรือหลวงเดชสหกรณ์ในบัญชีของท่านหน้า 128-129 นั้นโดยใส่หมายเหตุไว้ในวงเล็บว่า “(ต่อมาขอถอนตัว)”

(3)

พระศรีสิทธิสงคราม (ต่อมาเป็นพระยา) นั้นเป็นเพื่อนสนิทของพระยาพหลฯ ซึ่งเคยศึกษาที่โรงเรียนนายทหารเยอรมันมาด้วยกัน พระยาพหลฯ ได้ทาบทามที่จะให้พระยาศรีฯ เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังปรากฏในคำให้สัมภาษณ์ของพระยาพหลฯ ต่อหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” เมื่อ พ.ศ. 2484 หน้า 80 มีความดังต่อไปนี้

พระยาพหลฯ พบ พระยาศรีฯ

ต่อมาพระยาพหลฯ ได้พบสนทนากับพระยาศรีสิทธิสงครามอยู่เนืองๆ เพื่อพูดจาทาบทามฝังความคิดเห็นของพระยาศรีฯ เห็นชอบด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินหรือไม่ แต่พระยาพหลฯ ก็ได้ระมัดระวัง ที่จะไม่พูดจาให้พระยาศรีฯ ได้รู้ความเป็นไปลึกซึ้ง เพราะมีผู้วางใจว่าพระยาศรีฯ จะเล่นด้วย พระยาพหลฯ นั้นได้ปรารภถึงการเรื่องนี้ครั้งใด พระยาศรีฯ ก็ได้แต่นิ่งฟัง ไม่ทักท้วงและไม่สนับสนุนประการใด พระยาพหลฯ ก็เพียรพบสนทนากับพระยาศรีฯ หลายครั้ง พระยาศรีฯ ก็ไม่เปิดเผยความคิดอยู่นั่นเอง พระยาพหลฯ ก็จนปัญญา และไม่กล้าจะเปิดเผยรายละเอียดของคณะให้พระศรีฯ ทราบ

เมื่อเห็นแน่ว่าพระยาศรีฯ คงไม่ร่วมความคิดด้วย พระยาพหลฯ ก็จำเป็นต้องตัดใจปล่อยพระยาศรีฯ ผู้เพื่อนสนิทไว้แต่ลำพัง

ข้าพเจ้า (ปรีดี) ขอเสนอท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาว่า พระยาศรีสิทธิสงครามนั้นมิได้เป็นสมาชิกของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือคณะราษฎร แต่พล.ท.ประยูรฯ ก็เขียนไว้ขัดแย้งกับคำสัมภาษณ์ของพระยาพหลฯ ดังกล่าวข้างต้น โดยพล.ท.ประยูรฯ ใส่ชื่อพระยาศรีฯ ไว้ในบัญชี “ผู้ที่มาสมัครตอนหลัง” แต่ต่อมาขอถอนตัว

ถ้าผู้ใดหลงเชื่อตามสำนักพิมพ์บรรณกิจซึ่งคณะกรรมการฯ ที่อ้างถึงแล้วนั้นสนับสนุนว่าข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ เป็นความจริงยิ่งกว่าบุคคลใดที่เขียนเกี่ยวกับคณะราษฎรแล้วก็คิดว่าข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ มีน้ำหนักกว่าคำให้สัมภาษณ์ของพระยาพหลฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพล.ท.ประยูรฯ ใส่พระยาศรีฯ ไว้ในบัญชีดังกล่าวพร้อมทั้งหมายเหตุไว้ในวงเล็บว่า “(ต่อมาขอถอนตัว)” นั้น แต่ไม่ปรากฏว่าพล.ท.ประยูรฯ ใส่ชื่อหลวงเดชสหกรณ์ไว้ในบัญชีของพล.ท.ประยูรฯ โดยหมายเหตุดังที่ท่านช่วยทำให้แก่พระยาศรีสิทธิสงคราม

(4) วิธีไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งจึงไม่มีผู้ก่อการฯ ใดลาออกจากคณะฯ

เป็นที่ตกลงกันในบรรดาบุคคลชั้นผู้ก่อการฯ ว่า ความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้ ก่อการฯ ก่อนลงมือปฏิบัติการนั้น บุคคลชั้นหัวหน้าต้องใช้วิธีไกล่เกลี่ยมิให้สมาชิกแตกออกจากคณะฯ เช่น พล.ท.ประยูรฯ ได้ทำแก่ข้าพเจ้ามากมายดังปรากฏในหนังสือของท่านแล้วนั้น ข้าพเจ้าก็ได้พยายามอดกลั้นเพื่อถนอมน้ำใจพล.ท.ประยูรฯ ไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคณะฯ ฉะนั้นจึงไม่มีสมาชิกของคณะฯ คนใดเลยลาออกจากคณะ

เรื่องสำคัญยิ่งกว่าละครของพล.ท.ประยูรฯ เรื่องแจกโครงการเศรษฐกิจของปรีดีนั้นก็คือเรื่องที่พระยาฤทธิ์อัคเนย์ปรารภ “จะลาออก” เพราะมีความเห็นขัดแย้งกับบุคคลชั้นหัวหน้าจำนวนหนึ่งเรื่องแผนการยึดอำนาจรัฐซึ่งฝ่ายพระยาพหลฯ กับพระยาทรงฯ เห็นว่าต้องลงมือปฏิบัติการในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับอยู่ในพระนคร ฝ่ายพระยาฤทธิ์ฯ ไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า “อาจจะมีการล้างผลาญกันถึงชีวิตเป็นการใหญ่” และท่านกล่าวว่า “ถ้าขืนทำตามนี้อย่าทำดีกว่า คิดว่าจะล้มเหลวเสียดายและน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง” แต่ในที่สุดเรื่องก็ตกลงปราณีประนอมกันได้ดังปรากฏในหนังสือ “ชีวิตและการเมือง” ของพระยาฤทธิ์ฯ หน้า 17-18 ดังต่อไปนี้

แต่บรรดาหัวหน้าคณะปฏิวัติทั้งหมดที่อยู่ในขณะนั้นรวมทั้งพระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ ด้วย ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพระยาฤทธิฯ และยืนยันว่าจะต้องทำให้ได้ เมื่อเป็นเช่นพระยาฤทธิฯ จึงประกาศยืนยันไม่เห็นด้วยโดยเด็ดขาดว่า “ถ้าไม่ตกลงตามนี้ก็เลิกกัน” และในการนี้พระยาฤทธิฯ ได้ให้คำมั่น อันเป็นหลักประกันของคณะปฏิวัติไว้ว่า

“ด้วยเกียรติยศจะไม่นำเรื่องที่เราปรึกษากัน ในระหว่างเพื่อนนี้ไปพูดให้คนอื่นทราบเป็นอันขาด”

“แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่อาจรับรองได้” นี่คือคำขาดที่พระยาฤทธิฯ ยืนยันต่อบรรดาบุคคลชั้นหัวหน้าของคณะปฏิวัติในตอนนั้น “คือถ้าท่านขืนเริ่มทำกันขึ้นในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ ก็อาจต้องมีการต่อสู้กัน ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นนายทหารรักษาพระองค์ซึ่งต้องปฏิบัติการตามหน้าที่”

บรรยากาศของที่ประชุมคณะปฏิวัติตึงเครียดขึ้นมาทันที แต่แล้วก็กลับคืนสู่สภาวะปรกติได้ โดยมีบุคคลผู้หนึ่งเข้าไปร่วมประชุมด้วยภายหลังเพื่อน เขาผู้นั้นคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั่นเอง หลวงประดิษฐ์ฯ ได้มีความเห็นตรงกับพระยาฤทธิฯ และสนับสนุนด้วยเป็นอย่างดียิ่ง เรื่องจึงลงเอยกันได้

(5) ละครฉากใหม่ของพล.ท.ประยูรฯ ทำให้หลวงเดชสหกรณ์เสียเกียรติมาก

ผู้ใดหลงเชื่อว่าเรื่องละครของพล.ท.ประยูรฯ เกี่ยวกับหลวงเดชฯ นั้นเป็นความจริงก็ทำให้เสียเกียรติของหลวงเดชฯ มาก เพราะจะเป็นการที่ท่านแอบไปสมัคร เป็นสมาชิกคณะฯ ต่อ ร.ท.ประยูรฯ โดยพล.ท.ประยูรมิได้ใส่ชื่อหลวงเดชฯ ไว้ในบัญชี และผู้หลงเชื่ออาจเห็นว่าหลวงเดชฯ เป็นคนใจน้อยเพียงว่าไม่พอใจที่ปรีดีทำโครงการเศรษฐกิจไปแจกที่บ้านร.ท.ประยูรฯ แล้วหลวงเดชฯ ก็แอบขอลาออกจากสมาชิกภาพของคณะฯ ต่อร.ท.ประยูรฯ อีก โดยพล.ท.ประยูรฯ ไม่ใส่ชื่อหลวงเดชฯ ในบัญชีผู้มาสมัครตอนหลังและไม่เขียนหมายเหตุว่า “(ต่อมาขอถอนตัว)” เช่นเดียวกับที่พล.ท.ประยูรฯ ช่วยเขียนให้แก่พระยาศรีสิทธิสงครามซึ่งพระยาพหลฯ มิได้รับเป็นสมาชิกของคณะฯ

(6) หลวงเดชฯ แสดงว่าเห็นด้วยกับปรีดีในหลักการ

หลวงเดชสหกรณ์รู้จักข้าพเจ้าหลายปีก่อนที่ร.ท.ประยูรฯ ถึงกรุงปารีส หลวงเดชฯ เคยร่วมในคณะกรรมการ “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” กับข้าพเจ้ามาตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมนั้นใน พ.ศ. 2466

ข้าพเจ้าสำเร็จปริญญาเอกฝรั่งเศสกลับสู่สยามใน พ.ศ. 2470 แล้วในปีเดียวกันนั้นเอง ม.ล.เดชฯ ก็สำเร็จปริญญาเอกสวิตเซอร์แลนด์แล้วกลับสู่สยามภายหลังข้าพเจ้าไม่กี่เดือน

ในพ.ศ. 2471 ข้าพเจ้าได้ออกนิตยสารชื่อ “นิติสาส์น” นั้น ม.ล.เดชฯ ก็ช่วยส่งบทความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มาลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 1 และฉบับต่อไปจนเปลี่ยนแปลงการปกครองมิถุนายน 2475 แล้ว หลายคนที่เป็นสมาชิกนิตยสารนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่คงระลึกว่าได้อ่านบทความของหลวงเดชฯ ดังกล่าว

ม.ล.เดชฯ หรือหลวงเดชฯ ได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับข้าพเจ้าฉันท์มิตรภาพอันดีตลอดมา มิใช่หลวงเดชฯ เป็นคนใจน้อย

เอกสารหลักฐานบันทึกการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ณ วังปารุสกวันเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2475 (ซึ่งมีผู้นำไปพิมพ์หลายครั้งแล้ว) ปรากฏว่าหลวงเดชสหกรณ์ได้กล่าวในที่ประชุมเห็นด้วยกับข้าพเจ้าในหลักการใหญ่ดังต่อไปนี้

หลวงเดชสหกรณ์ ปัญหาใหญ่เรื่องรวมที่ดินนั้นสำคัญว่าจะรวมด้วยวิธีไหน ในหลักการนั้นเห็นด้วย หลักการเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทุกข้อทุกระยะต้องดูว่าเราจะทำได้แค่ไหน โครงการมีถึงการที่รัฐบาลทำการค้าขายเองด้วย จะกระทบถึงชาวต่างประเทศมากไหม เช่นการค้าขายตกอยู่ในมือของคนต่างประเทศ

(หลวงอรรถสารประสิทธิ์ เขยน้อยของหลวงเดชสหกรณ์นั้นเป็นผู้จดรายงานการประชุม)

 

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามต้นฉบับ

บรรณานุกรม

  • หอสมุดแห่งชาติ. บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง