ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำฟ้องหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 1

23
เมษายน
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ในคดีคำฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของนายประยูร ภมรมนตรีต่อกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักพิมพ์บรรณกิจ เป็นบันทึกข้อเท็จจริงชิ้นสำคัญในมุมของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ที่ทรงคุณค่าและแสดงสัจจะทางประวัติศาสตร์ซึ่งบทความนี้จะเป็นการเผยแพร่บันทึกฯ ฉบับนี้ เกี่ยวกับเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจครั้งแรกต่อสาธารณชน
  • นายปรีดีมีเป้าหมายในการให้จัดพิมพ์หนังสือคดีคำฟ้องต่างๆ ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ เพื่อป้องกันการบิดเบือนประวัติศาสตร์ซ้ำและยืนยันข้อเท็จจริงหรือสัจจะทางประวัติศาสตร์กับปรารถนาให้หนังสือดังกล่าวเป็นเสมือนอนุสาวรีย์ที่มีค่า ผลลัพธ์หลังจากที่นายปรีดีทำบันทึกประกอบคำประท้วงเพื่อฟ้องร้องคดีความฯ ชิ้นนี้ทำให้ทางกระทรวงศึกษาธิการออกหนังสือราชการประกาศเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติประเภทสารคดีที่ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มนั้นของพลโทประยูร ภมรมนตรี ว่าเป็นหนังสือยอดเยี่ยม ประเภทสารคดี ประจำปี พ.ศ. 2518 และประกาศถอนสิ่งที่เป็นหลักฐานซึ่งคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2515 ที่ให้แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ
  • เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2525 ศาลแพ่งได้พิพากษาให้คดีสิ้นสุดลงตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลย โดยจําเลยคือห้างหุ้นส่วนบรรณกิจเทรดดิ้ง ยอมส่งมอบหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดิน” ที่เหลืออยู่จำนวน 1,000 เล่มต่อศาลเพื่อทําลายและประกาศขอขมาต่อนายปรีดี พนมยงค์

 

บทนำ : สัจจะทางประวัติศาสตร์ในคำฟ้องคดีความฯ ของนายปรีดี พนมยงค์[1]

เส้นทางการต่อสู้ต่อข้อบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ของนายปรีดี และครอบครัว ในยามที่นายปรีดีอยู่ในจีนและฝรั่งเศสคือ การฟ้องร้องคดีความฯ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่อทั้งตนเอง และยืนยันข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องโดยเฉพาะจากการบิดเบือนเรื่องการอภิวัฒน์สยามและคณะราษฎรในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของนายประยูร ภมรมนตรี นายปรีดีระบุว่าต้องแก้ไขเนื้อหาในหนังสือของนายประยูรเพื่อเป็นสัจจะทางประวัติศาสตร์ 2 ประการ 

1.เพื่อป้องกันการบิดเบือนซ้ำและยืนยันข้อเท็จจริง
2.เพื่อให้การตีพิมพ์หนังสือสำเนาคำฟ้องเป็นเสมือนอนุสาวรีย์

การบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของนายประยูร ภมรมนตรี มี 3 ข้อ ได้แก่ 

ข้อ 12  เรื่อง นิยายของ พล.ท.ประยูรฯ เรื่อง “ได้ล้มเลิกโครงการเศรษฐกิจพลิกแผ่นดินของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”

ข้อ 13 เรื่อง “สมมติพระยาทรงฯ เป็นพระเอก ผู้ปราบปรามปรีดีแทนโครงการเศรษฐกิจที่วัดแคราย”

ข้อ 14 เรื่อง “ฉากละครเรื่องใหม่โดยสมมติให้นายควงและหลวงเดชสหกรณ์เป็นพระเอกต่อต้านการแจกโครงการเศรษฐกิจของปรีดีที่บ้านนายควง และที่บ้าน ร.ท.ประยูรฯ”


นายปรีดีได้โต้แย้งด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและบันทึกความทรงจำของสมาชิกคณะราษฎรหลายท่านที่สำคัญคือ บันทึกของพระยาทรงสุรเดชว่าข้อบิดเบือน 3 ข้อข้างต้นไม่มีมูลความจริง กล่าวคือ นายประยูรไม่ได้เป็นผู้ล้มเลิกเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี ไม่มีเหตุการณ์ที่นายปรีดีไปแจกเค้าโครงการเศรษฐกิจที่วัดแคราย จังหวัดนนทบุรี ที่บ้านนายควง และบ้านนายประยูรก่อนการอภิวัฒน์ โดยนายปรีดีโต้แย้งข้อเท็จจริงด้วยรายงานการประชุมสภาฯ และบันทึกของสมาชิกคณะราษฎรท่านอื่นในเรื่องการร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจว่าตนเองได้จัดทำขึ้นภายหลังการอภิวัฒน์ 2475 

นายปรีดียังกล่าวถึงการทำหนังสือและการตีพิมพ์คดีคำฟ้องไว้ในจดหมายที่เขียนถึงท่านผู้หญิงพูนศุข และนายปาล พนมยงค์ บุตรชาย ลงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2522 ไว้ว่า

 

29 ส.ค. 2522

ขอให้แม่กับปาลรับทราบและพิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้

1.เรื่องทุนในการพิมพ์หนังสือต่างๆ

1.1 ขอบใจแม่ที่เตือนให้คิดถึงการพิมพ์หนังสือคดีต่างๆ  ว่าอาจขาดทุนนั้นก็ย่อมเป็นไปได้ ในทางคิดถึงตัวเอง แต่ที่พ่อประสงค์พิมพ์คดีชาลีฯ และคดีรองฯ และคดีต่อไปเกี่ยวกับประท้วงกระทรวงศึกษาฯ นั้น ก็ได้คิดถึงผลที่มีค่ามากกว่าตัวเองมากมายหลายเท่าดังต่อไปนี้

(1) ฝ่ายปรปักษ์มิได้นิ่งอยู่เพียงมีประกาศของจำเลยทางหนังสือพิมพ์เท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเราชนะคดีก่อนๆ นี้แล้ว อยู่ต่อๆ มาฝ่ายปรปักษ์ก็ฟื้นเรื่องอีก

พ่อก็ชราแล้ว ไม่มีกำลังจะตามไปคอยแก้คดีไม่มีสิ้นสุดนั้น ฉะนั้น จึงจำต้องพิมพ์หนังสือคดีต่างๆ  ขึ้นเพื่อเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อมอบหนังสือนั้นไว้ที่หอสมุดแห่งชาติและหอสมุดมหาวิทยาลัยกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อชนรุ่นหลังจะได้อาศัยค้นคว้าเพื่อสัจจะทางประวัติศาสตร์ประมาณ 500 เล่ม และจำหน่าย 500 เล่ม รวมเป็น 1,000 เล่ม

(2) ชนรุ่นหลังที่มีใจเป็นธรรมก็คงจะอาศัยหลักฐานนั้นช่วยพ่อทำการแย้งฝ่ายปรปักษ์ได้แทนที่จะช่วยเขียนโดยเดาๆ เอาที่มีน้ำหนักน้อยมาก

(3) พ่อไม่ต้องการอนุสาวรีย์เป็นวัตถุใดๆ แต่ปรารถนาให้หนังสือดังกล่าวเป็นอนุสาวรีย์ของพ่อ

1.2 พ่อเห็นใจแม่ที่เงินบาททางกรุงเทพฯ ร่อยหรอไปมากแล้ว ฉะนั้น พ่อจึงจะเอาเงินที่สำรองไว้เป็นเงินประมาณ 10,000 เหรียญ แลกได้ประมาณ 2 แสนบาทเศษเพื่อใช้จ่ายในการพิมพ์หนังสือคดีชาลี, คดีรองฯ, คดีเกี่ยวกับประท้วง, หวังว่าจะพอเสียสละสำหรับการนั้นซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่มีค่าของพ่อโดยไม่กระทบค่าครองชีพทางนี้เลย…

 


สำเนาพิมพ์ดีดของปรีดี พนมยงค์ ถึงท่านผู้หญิงพูนศุข และปาล พนมยงค์
ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2522
ที่มา : หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง คดีฟ้องฯ กระทรวงศึกษาธิการ
และสำนักพิมพ์บรรณกิจ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของประยูร ภมรมนตรี
ที่มา: หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

หลังจากที่นายปรีดีทำบันทึกประกอบคำประท้วงเพื่อฟ้องร้องคดีความฯ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้วทางกระทรวงศึกษาธิการจึงมีหนังสือระบุว่า “ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อผดุงไว้และส่งเสริมสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเพื่ออนาคตแห่งกุลบุตร กุลธิดาของชาติไทย เห็นตัวอย่างศีลธรรมจรรยาอันดี และเพื่อให้ความเสียหายที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับจากคำจูงใจของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนั้นกลับคืน…กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติประเภทสารคดีที่ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มนั้นของพลโทประยูร ภมรมนตรี ว่าเป็นหนังสือยอดเยี่ยม ประเภทสารคดี ประจำปี พ.ศ. 2518 และประกาศถอนสิ่งที่เป็นหลักฐานซึ่งคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2515 ที่ให้แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจนั้นด้วย…” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 


ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ ประเภทสารคดีที่ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มนั้นของพลโทประยูร ภมรมนตรี ว่าเป็นหนังสือยอดเยี่ยม ประเภทสารคดี ประจำปี พ.ศ. 2518 และประกาศถอนสิ่งที่เป็นหลักฐานซึ่งคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2515 ที่ให้แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ
ที่มา: เอกสารส่วนบุคคลของนายปรีดี พนมยงค์

 

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติขึ้นตามคำแนะนำขององค์การศึกษาสหประชาชาติ และคณะกรรมการคณะนี้ได้รับหน้าที่ดำเนินการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติสืบต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวนั้นก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการรับช่วงงานต่อๆ กันไป

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ คณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติประเภทสารคดีได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ประเภทสารคดีแก่สำนักพิมพ์บรรณกิจ ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง “ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดยพลโทประยูร ภมรมนตรี และคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๑๕ ได้ให้สิ่งที่เป็นหลักฐานแก่สำนักพิมพ์นั้น ซึ่งได้ลงพิมพ์ภาพไว้ในหน้าต้นแห่งหนังสือเล่มนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๒ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำประท้วงและบันทึกประกอบคำประท้วงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแสดงว่ามีข้อความมากมายหลายประการในหนังสือเล่มนั้นที่ฝ่าฝืนความจริงที่ปรากฏในเอกสารหลักฐาน และไม่สมเหตุสมผลแห่งหนังสือประเภทสารคดีตามความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติได้กำหนดไว้

กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อผดุงไว้และส่งเสริมสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเพื่ออนาคตแห่งกุลบุตร กุลธิดาของชาติไทย เห็นตัวอย่างศีลธรรมจรรยาอันดี และเพื่อให้ความเสียหายที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับจากคำจูงใจของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนั้นกลับคืนดี กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ ประเภทสารคดีที่ได้ตัดสินให้รางวัลชมเชยหนังสือเล่มนั้นของพลโทประยูร ภมรมนตรี ว่าเป็นหนังสือยอดเยี่ยม ประเภทสารคดี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และประกาศถอนสิ่งที่เป็นหลักฐานซึ่งคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๕ ที่ให้แก่สำนักพิมพ์บรรณกิจนั้นด้วย

ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๓

(นายสิปปนนท์ เกตุทัต)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

ต่อมาได้มีการตีพิมพ์คดีความฯ และคำฟ้องของนายปรีดีบางเรื่องออกมาเผยแพร่แต่ยังไม่มีการตีพิมพ์บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งยังไม่มีการตีพิมพ์คดีความที่นายปรีดีฟ้องร้องกระทรวงศึกษาธิการและสำนักพิมพ์บรรณกิจกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของนายประยูร ภมรมนตรี ในบทความนี้จึงจะนำเสนอข้อเท็จจริงเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีที่ประท้วงต่อข้อมูลในหนังสือของนายประยูรอย่างละเอียดจำนวน 3 ตอน ดังต่อไปนี้

 

 

บันทึกประกอบคำฟ้องหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ

ข้อ 12.
นิยายของ พล.ท.ประยูรฯ ประกอบความสําเร็จของท่านที่อ้างไว้ว่า
“ได้ล้มเลิกโครงการเศรษฐกิจพลิกแผ่นดินของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”

ข้อสังเกต

ข้าพเจ้าได้อ้างไว้ในข้อ 6 ถึงการที่พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 289 ว่าท่านได้รับความสําเร็จของผลงานในทุกๆ ด้าน ในบรรดาด้านต่างๆ นั้นท่านได้กล่าวถึงด้านสำคัญด้านหนึ่งด้วย คือ

“2. ได้ล้มเลิกโครงการเศรษฐกิจพลิกแผ่นดินของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”

ฉนั้นจึงเข้าใจได้ว่าท่านต้องปฏิเสธหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยท่านถือ “หลักการ 3 ประการ ประกอบด้วยหลักการยึดอํานาจ 3 ประการ” ดังที่ข้าพเจ้าได้เสนอท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมไว้แล้วในข้อ 11

เพื่อประกอบการปฏิบัติของพล.ท.ประยูรฯ ในเรื่องนั้น ท่านจึงได้ประพันธ์นิยายไว้ 3 เรื่องเพื่อชอบอ่าน-นิยายทำนองเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”, “เรื่องทะแกล้ว 3 เกลอ” ของ “Alexandre Dumas” และนิยายอื่นที่อิงชื่อบุคคลและชื่อสถานที่ซึ่งมีจริง ส่วนเนื้อ-เรื่องนั้นผู้ประพันธ์เขียนเอาตามความชอบใจ ผู้ที่ชอบอ่าน-นิยายทำนองนั้นก็เพลิดเพลินแล้วหลงเชื่อเนื้อ-เรื่องว่าเป็นความจริงทางสารคดี

ในข้อ 12 นี้ ข้าพเจ้าขอเสนอท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาและวิเคราะห์วิจารณ์นิยายของพล.ท. ประยูรฯ เรื่องข้าพเจ้าเสนอโครงการเศรษฐกิจต่อผู้ก่อการฯ

ต่อไปในข้อ 13 ข้าพเจ้าจะเสนอ-นิยายของพล.ท.ประยูร เรื่อง “สมมติพระยาทรงเป็นพระเอก ผู้ปราบปรามปรีดีแทนโครงการเศรษฐกิจที่วัดแคราย”

และต่อไปในข้อ 14 ข้าพเจ้าจะเสนอนิยายของพล.ท.ประยูรฯ เรื่อง “ฉากละครเรื่องใหม่โดยสมมติให้นายควงและหลวงเดชสหกรณ์เป็นพระเอกต่อต้านการแจกโครงการเศรษฐกิจของปรีดีที่บ้านนายควง และที่บ้านร.ท.ประยูรฯ

12.1

นิยายของพล.ท.ประยูร ที่ข้าพเจ้าเสนอในข้อ 12 นี้ ปรากฏความตามหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 213-215. ดังต่อไปนี้

ครั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสําเร็จไปแล้ว คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้จัดให้มีการประชุมสัปดาห์ขึ้นเพื่อพิจารณาเหตุการณ์และการแสดงความคิดเห็นในเรื่องการบริหารบ้านเมือง ในโอกาสนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้นําเรื่องโครงการเศรษฐกิจขึ้นมาปรึกษา ซึ่งคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองส่วนมากไม่ค่อยจะสนใจหรือได้อ่านโครงการนี้กันมาเลย นั่งสงบนิ่งกันเป็นส่วนมาก สรุปแล้วเอาอะไรก็เอากัน

ครั้นแล้วหลวงประดิษฐ์ฯ ก็ได้เชิญผู้ก่อการชั้นผู้ใหญ่มาพบเป็นรายบุคคล สําหรับ ข้าพเจ้าเองก็ถูกสอบถามและจดเป็นบันทึกหลักฐานไว้ ข้าพเจ้าก็ชี้แจงว่า เรามีความจําเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยความลําบากนานับประการ จึงไม่มีเวลาพิจารณาโครงการมหาศาลซึ่งใช้เวลานานโดยรอบคอบ จึงควรรั้งรอไว้ก่อน แต่ข้าพเจ้ายึดหลักในการบริหารสําคัญ 2 ประการ

ประการแรก ต้องเผชิญต่อข้อเท็จจริง

ประการที่สอง ดําเนินการเป็นขั้นๆ เอาความสําเร็จในขั้นหนึ่งๆ เป็นบันไดดําเนินขั้นต่อไป ในที่สุดก็ถูกประณามว่าเป็นผู้ที่มีนโยบายสุกเอาเผากิน

หลวงประดิษฐ์พบพระยาทรงฯ

ต่อมาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้นําเรื่องโครงการเศรษฐกิจไปเสนอ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช เพื่อพิจารณาในหลักการและรายละเอียด ซึ่งว่ากันอยู่ครึ่งค่อนวัน ท่านเจ้าคุณทรงฯ ว่าจะรับโครงการทั้งสิ้นไปไม่ได้ แต่เห็นว่าควรจะเอาไปทําการทดลองในท้องที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ จะต้องไม่บังคับโดยให้ราษฎรสมัครใจ ซึ่งในเรื่องนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะให้นายวิลาศ โอสถานนท์ ผู้ก่อการฯ ซึ่งศึกษาการเกษตรจากอังกฤษลองทําดู แต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ยืนยันว่า จะต้องรับโครงการไปดําเนินให้ครบรูป ซึ่งเจ้าคุณทรงสุรเดชไม่เห็นด้วย แล้วก็ลาโรงกันไป ท่านเจ้าคุณทรงสุรเดชเรียกข้าพเจ้าไปพบปรารภว่าตาขรัวของลื้อ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เอาโครงการเศรษฐกิจมาสาธยายให้ฟังเป็นเรื่องฟุ้งสร้านกันใหญ่ จะให้คนไทยทั้งชาติกินเงินเดือนเป็นลูกจ้างของรัฐบาล ซึ่งจําต้องบังคับแรงงาน และยึดที่ดินมาเข้ากองกลางสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนจึงได้ปฏิเสธไม่เห็นกับหลักการแล้วก็บ่นว่าข้าพเจ้าเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาร่วมคิด เป็นนักตํารา หาเผชิญกับข้อเท็จจริงไม่ จะเป็นบุคคลที่สร้างความยุ่งยากในระบบการบริหารต่อไปซึ่งท่านเป็นผู้รับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงการปกครองผู้หนึ่ง ไม่สามารถจะปล่อยให้เอาบ้านเมืองเป็นเครื่องเล่นและทดลองประการใดได้ ก็เป็นอันว่าหลวงประดิษฐ์ฯ กับพระยาทรงสุรเดชมีแนวการบริหารบ้านเมืองที่ประสานกันไม่ได้

ข้าพเจ้า(ปรีดี) ขอเสนอคำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาที่ชั้นเดิมหลงเชื่อว่าเป็นความจริง แต่ต่อมาจึงทราบว่าไม่เป็นความจริง และคำชี้แจงเพิ่่มเติมของข้าพเจ้าดังต่อไปนี้

12.2
คำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษา

ประการที่ 1

นักศึกษาหลายคนได้ให้ข้อสังเกตว่า กาลเวลาของเหตุการณ์ที่พล.ท. ประยูรฯ อ้างว่าเกิดขึ้นนั้นคือ “เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว” ซึ่งแม้ พล.ท. ประยูรจะมิได้บอกให้แน่ชัดว่าเป็นระหว่างเดือนใดถึงเดือนใดก็ตาม แต่ก็คงไม่เนิ่นนานเป็นเวลาหลายเดือนภายหลังการเปลี่ยนแปลงนั้น

ประการที่ 2

นักศึกษาหลายคนได้อ่านเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

(1) บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 1 พ.ศ. 2475 ซึ่งสภารับรองว่าถูกต้องแล้วนั้น ปรากฏในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2476 คือ 9 เดือน 15 วันภายหลังวันยึดอำนาจปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้มีผู้อภิปรายในสภาฯ ดังต่อไปนี้

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า เมื่อคราวประชุมครั้งก่อน ได้ขอให้คณะรัฐมนตรี เตรียมคำตอบมาในเรื่องนโยบายการขุดสันดอนและวิธีดำเนินนโยบายในทางเศรษฐกิจ บัดนี้พระยาปรีดาฯ ก็ได้ถามถึงเรื่องการขุดสันดอนแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีตอบว่าพระยาราชวังสันไม่ได้มาประชุม จึงขอให้แถลงในคราวประชุมหน้า ส่วนในเรื่องทางเศรษฐกิจนั้น นายบรรจง ศรีจรูญ ได้เคยถามคณะรัฐมนตรีมาครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 6 เดือนมาแล้ว และตัวข้าพเจ้าเองก็เคยพูดว่าการที่เราจะดำเนินนโยบายในทางเศรษฐกิจและในทางโปลิติกนั้นมีอยู่ 2 ทาง คือ ทางหนึ่งเราจะดำเนินให้มีการเศรษฐกิจมากในทางโปลิติก กล่าวคือทำในทางโปลิติกแต่ให้มีเศรษฐกิจเป็นส่วนมากกว่าโปลิติกหรือทางการเมือง อีกทางหนึ่งคือทำในทางการเมืองมากกว่าในทางเศรษฐกิจ ที่ได้กล่าวมานั้น นายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจผิดไปว่าข้าพเจ้าเสนอความเห็นไปในทำนองว่าให้ทำในทางเศรษฐกิจอย่างเดียว หรือเป็นส่วนมาก ทำโปลิติกน้อย เท่าที่ได้เตือนมาแล้วนั้นเป็นการเตือนขอให้รัฐบาลเร่งดำริในเรื่องนี้ และก็ได้ล่วงเลยมา 6 เดือนแล้ว ได้คอยฟังอยู่ทุกวัน ก็ไม่ปรากฏว่าได้กระทำไปแล้วเพียงใด จึงขอให้เตรียมคำตอบไว้เมื่อวันประชุมครั้งก่อน และก็ปรากฏว่าเพิ่งจะจัดใหมีกรรมการประชุมในเรื่องนี้ ซึ่งกำหนดจะประชุมในวันอาทิตย์นี้ แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เอาใจใส่ในทางเศรษฐกิจดั่งคำปฏิญาณมาแล้วว่า จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ไม่ให้ราษฎรอดหยาก ให้มีงานทำ ฉะนั้นจึงใคร่ถามว่าคณะรัฐบาลจะรับรองได้ไหมว่าจะรีบทำในเรื่องนี้ให้ทันเวลาที่จะดำเนินการในปีหน้า ถ้าและไม่รับรองที่จะทำแล้ว จะขอให้มี VOTE OF CONFIDENCE (ลงมติ - ไว้วางใจ) เรียงตัวบุคคลไป

นายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในเรื่องเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไม่ได้คิดจะทำ เรามีอยู่แล้ว แต่เวลานี้กำลังพิจารณาอยู่ จนถึงได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา ก็มีพระยาราชวังสันเป็นประธาน ที่เราได้ทำนี้เราก็นึกว่าเป็นไปอย่างดีที่สุดและเร็วที่สุดที่จะทำได้ แต่ถ้าการที่ทำไปเช่นนี้ไม่เป็นที่พอใจแก่สภา เราก็ไม่ใด้ขอว่าให้สภาฯ นี้ได้ช่วยโปรดเอาพวกรัฐบาลนี้ไว้ที จะแสดงหรือลงมติความไม่ไว้วางใจ เราก็ยินดีที่จะไปเสมอในเมื่อมีผู้อื่นที่ดีกว่าและจะทำได้เพราะฉะนั้นเราไม่มีความรังเกียจจอย่างใดที่สภาจะลงมติความไม่ไว้วางใจต่อไป

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า เท่าที่นายกรัฐมนตรีได้ตอบมา ก็แปลว่าได้มาแทนคณะรัฐมนตรีทั้งหมด คณะรัฐมนตรีย่อมมีความรับผิดชอบร่วมกันเท่าที่ได้ทราบมาว่า นโยบายในทางเศรษฐกิจนี้ไม่ลงรอยกันเพราะต่างคนต่างเห็นชอบไปคนละทาง และบางคนก็มี PREJUDICE (อุปาทาน) ในบางคนหรือไม่อย่างนั้นก็มี PREJUDICE ในทางนโยบนาย เช่นนโยบายของหลวงประดิษฐ์ฯ มีบางคนเข้าใจไปว่าเป็นนโยบายทาง. COMMUNIST (คอมมิวนิสต์) หรือ SOCIALIST (โซเซียลิสต์) แต่เราต้องคิดว่านโยบายจะเป็นไปในในทางใดก็ตาม ถ้าหากจะเป็นไปในทางที่จะให้ราษฎรได้รับประโยชน์แล้ว ก็ควรจะเสียสละได้แม้ชีวิต และเท่าที่เป็นอยู่เช่นนี้แล้ว เรามิได้ทำประโยชน์อันใดเป็นปึกแผ่น อาจจะนำซึ่งความแค้นเคืองของราษฎร เมื่อเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุให้ความรับผิดชอบตกแก่คณะราษฎรผู้เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ เพราะได้ให้คำมั่นสัญญาไว้

พระยาทรงสุรเดช ตอบว่า นโยบายของหลวงประดิษฐ์ฯ ในทางเศรษฐกิจนั้นเพิ่งเขียนแล้วเสร็จเมื่อ7-8 วันนี้ ถ้าหากว่าเสร็จก่อนนี้เราก็จะได้มีโอกาสพิจารณาก่อนนี้

นายมังกร สามเสน กล่าวว่า เมื่อได้พูดถึงโครงการเศรษฐกิจแล้ว ขอกราบเรียนว่า เวลานี้สภาในทางเศรษฐกิจของเราได้ถูกบีบคั้นมาก ถ้าไม่รีบแก้ไขแล้วน่ากลัวจะลำบากในเวลาต่อไป และในเรื่องนี้ก็เคยได้เขียนโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯ รับว่าจะพิจารณา ในโครงการนั้นได้เสนอให้เชิญบรรดาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นกรรมการ และอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งนายกกิติมศักดิ์ เพราะว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับเงินทอง หากพระองค์ท่านเป็นนายกแล้ว เข้าใจว่าการหาเงินก็ง่าย จึ่งขอเสนอให้รีบเร่งเรื่องนี้เสียที เพราะเป็นการจำเป็นสำหรับชาติ…

นายวิลาศ โอสถานนท์ กล่าวว่า ตามที่นายจรูญ สืบแสง ใคร่จะทราบนั้นคงจะเป็นไปว่า คณะรัฐมนตรีได้ทำอะไรลงไปบ้างแล้วในทางเศรษฐกิจ แม้แต่จะบอกให้รู้แต่เพียงโครงการว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้นเราก็จะเย็นใจแล้ว ซึ่งไม่ได้เนื้อความละเอียดและไม่น่าจะปิดบังอะไร

นายกรัฐมนตรี ตอบว่า เวลานี้เรามี PLAN (แผนการ) ที่จะทำอยู่ 2 ทาง ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการ และเรายังบอกไม่ได้ว่าจะดำเนินนโยยายอย่างใดแน่นอน จนกว่าจะได้รับพิจารณารายงานของกรรมาธิการแล้ว

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า เรื่องนโยบายนี้ เราได้ตกลงว่าจะพูดกันในวันอาทิตย์ เพราะฉะนั้นขอให้ได้ประชุมกันเสียก่อน ส่วนโครงการของนายมังกรฯ นั้นได้รับไว้จริง

(1) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2476 มีความตอนหนึ่งเกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจดังต่อไปนี้

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า เมื่อประชุมครั้งก่อนคณะรัฐมนตรีว่าจะอธิบายถึงเรื่องโครงการเศรษฐกิจ ฉะนั้นจึงอยากทราบว่าได้ดำเนิรไปเพียงใดแล้ว

พระยาราชวังสันแถลงว่า โครงการเศรษฐกิจซึ่งกำลังสนใจอยากฟังเวลานี้นั้น ตั้งแต่ได้กระทำการการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันมา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้รับว่าจะร่างขึ้น และเข้าใจว่าร่างขึ้นเสร็จในระหว่างที่ข้าเจ้าไปเชียงใหม่ หรือก่อนนั้นแต่ยังไม่ได้แจก ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าเองก็ได้ขอร้องให้รีบทำเพื่อได้ออกเร็วๆ ครั้นเมื่อเสร็จแล้วก็ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีฯ จึงได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่ง ซึ่งเวลานี้ยังอยู่ในระหว่างกรรมาธิการพิจารณา ยังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเสนอเมื่อใดคณะรัฐมนตรีก็จะได้ประชุมในคราวต่อไป เสร็จแล้วก็หวังว่าจะได้ทราบทั่วกัน ดังนั้นคั่นของการเศรษฐกิจจึงมีอยู่แค่นี้

นายจรูญ สืบแสงกล่าวว่ารู้สึกยินดีที่ทราบว่ารัฐบาลได้รีบทำอยู่แล้ว แต่ยินดีช้าไปเพราะทางมี่ควร เรื่องนี้ควรจะเริ่มลงมือมานานแล้ว

(2) “คณะกรรมานุการ” ของรัฐบาลพิจารณา “เค้าโครงการเศรษฐกิจแหงชาติ” ได้ประชุมพิจารณา ณ วังปารุสกวันเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2476 รายงานการประชุมนั้นได้ตีพิมพ์เปิดเผยซึ่งผู้ทำไปพิมพ์ต่อๆ ไปไม่น้อยกว่า 10 ครั้งแล้ว

ผู้ที่เข้าร่วมประชุม (เรียงชื่อตามลำดับอักษร) คือ

1.หลวงคหกรรมบดี 2.หลวงเดชสหกรณ์ 3. หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ 4. พ.อ. พระยาทรงสุรเดช 5. นายทวี บุณยเกตุ 6. นายแนบ พหลโยธิน 7. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม 8. นายประยูร ภมรมนตรี 9. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา 10. พล.ร.ท. พระยาราชวังสัน 11. นายวิลาศ โอสถานนท์ 12. พระยาศรีวิสารวาจา 13. ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ 14. หลวงอรรถสารประสิทธิ์ กรรมานุการ และผู้จดรายงานการประชุม

นักศึกษาที่อ่านรายงานการประชุมนั้นแล้วให้ขอสังเกตุว่า กรรมานุการ 13 คนในจำนวน 14 คนนั้นได้อภิปรายในที่ประชุม ส่วนนายประยูร ภมรมนตรีนั้นนิ่งเงียบโดยมิได้กล่าวแม้แต่คำเดียวในที่ประชุม

เมื่อกรรมานุการ 13 คนได้อภิปรายเปนเวลาหลายชั่วโมงแล้ว จึงมีมติดั่งต่อไปนี้

ที่ประชุมตกลงว่า ให้เสนอรายงานประชุมต่อผู้ก่อการ และเสนอคณะรัฐมนตรี ถือว่าความเห็นแตกเป็นสองทาง

1. พระยามโนฯ ให้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอยางรัฐบาลเก่า และเลือกทำให้แปลกกว่าตามโอกาสอำนวย ไม่วางนโยบายเศรษฐกิจไว้

2. หลวงประดิษฐ์มนูธรรมให้วางหลักที่จะทำและดำเนินนโยบายตามเค้าโครงการ เมื่อตกลงนโยบายอันใดแล้ว ตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสำรวจและวางแผน เมื่อมีกำลังเท่าใด ทำเพียงเท่านั้น และตกลงว่า ถ้าความเห็นไม่ลงรอยกัน และถ้ารัฐบาลเห็นทางพระยามโนฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ ประกาศโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ในนามของตนเอง และอย่าให้มาทำความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลจะทำอย่างนั้น ให้ชี้แจงว่าหลวงประดิษฐ์ฯ ไม่ใช่เปนผู้ชี้ขาดในคณะรัฐมนตรี

(ลงนาม) อรรถสารประสิทธิ์ ผู้จดรายงาน

ประการที่ 3

นักศึกษาฯ เห็นว่า เอกการหลักฐานดังอ้างไว้ในประการที่ 2 นั้นเป็นความจริงทางสารคดีส่วนข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ เป็นเรื่องซึ่งพล.ท.ประยูรแต่งขึ้นเองเพราะเหตุต่อไปนี้

(1)
พระยาทรงฯ ได้แถลงในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2476 คือ 9 เดือน 15 วัน ภายหลังวันยืดอำนาจปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นั้นว่า

“นโยบายหลวงประดิษฐ์ฯ ในทางเศรษฐกิจนั้นเพิ่งเขียนแล้วเสร็จเมื่อ 7-8 วันนี้ ถ้าหากว่าเสร็จก่อนนี้ เราก็จะได้มีโอกาสพิจารณาก่อนนี้”

หมายความว่าปรีดีเพิ่งเขียนโครงการเศรษฐกิจเสร็จเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2476 ฉะนั้นเหตุการณ์ก่อนวันนั้นที่ พล.ท.ประยูรฯอ้างว่าปรีดีทำโครงการเศรษฐกิจ “ไปเสนอพระยาทรงฯ ซึ่งว่ากันอยู่ครึ่งคอนวัน” และ “เจ้าคุณทรงสุรเดชไม่เห็นด้วย แล้วก็ลาโรงกันไป” และอ้างว่าพระยาทรงฯ ได้ประณามปรีดีต่างๆ นานานั้น จึงไม่เป็นความจริงทางสารคดี

(2)

ในนิยายของพล.ท.ประยูรฯ เรื่องของพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 นั้น (โปรดดูข้อ 6. และข้อ 9.) พล.ท.ประยูรฯ ได้แต่งเรื่องวิวาทระหว่างพระยาทรงฯ กับปรีดีไว้มากมาย แล้วสรุปท้ายว่า “เป็นอันว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้แตกสลายไปอย่างไม่มีทางจะประสานกันได้” เป็นครั้งที่ 1 แล้วที่ประสานกันไม่ได้ แต่ในตอนท้ายแห่งนิยายของท่านที่วาดภาพเรื่องปรีดีนำโครงการเศรษฐกิจไปเสนอพระยาทรงฯ ที่นำมาลงพิมพ์ในข้อ 12.1 นั้น พล.ท.ประยูรฯ กล่าวไว้เป็นครั้งที่ 2 ว่า “หลวงประดิษฐ์กับพระยาทรงสุรเดชมีแนวการบริหารบ้านเมืองที่ประสานกันไม่ได้”

ถ้าสมมติว่าความจริงเป็นตามที่พล.ท.ประยูรฯ แต่งเรื่องขึ้นนั้นแล้ว ปรีดีซึ่งโดนพระยาทรงฯ ทำหยามหยาบครั้งที่ 1 แล้วก็ไม่หลาบจำ คือไปยุ่งเกี่ยวกับพระยาทรงฯ อีกดูประหนึ่งว่าปรีดีต้องการประจบสอพลอเอาใจพระยาทรงฯ เพื่อหวังจะให้ท่านสนับสนุนความเป็นใหญ่เหมือนบางคน ฉนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่คนอย่างปรีดีจะนำโครงการเศรษฐกิจไปเสนอพระยาทรงฯ นอกที่ประชุมเพื่อขอความกรุณาให้ท่านสนับสนุนนอกที่ประชุมกรรมานุการ

ประการที่ 4


บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2476 ปรากฎว่า พระยาราชวังสัน ร.ม.ต.กลาโหมได้แถล่งชัดแจ้งว่า ปรีดีได้รับมอบจากรัฐบาลเป็นผู้ร่างขึ้นและพระยาราชวังสันได้กล่าวเสริมว่า “ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าเองก็ได้เคยขอร้องให้รีบทำเพื่อได้ออกเร็วๆ”

12.3.
ต่อไปนี้เป็นคำชี้แจงเพิ่มเติมของข้าพเจ้า (ปรีดี)

ประการที่ 5

การนี้ข้าพเจ้า (ปรีดี) เสนอร่างโครงการเศรษฐกิจช้าไปก็เพราะภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 จนถึงธันวาคม 2475 นั้น ข้าพเจ้าได้รับภาระมากมายหลายอย่างจากรัฐบาลในการยกร่างเบื้องต้นแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และเร่งรัดร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ค้างอยู่กับร่างกฎหมายว่าด้วยเทศบาลและระบบบริหารในและงานราชการที่พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรได้มอบหมายให้ จึงไม่มีเวลาพอที่จะร่างโครงการเศรษฐกิจให้ได้เร็วเสร็จก่อนต้นเดือนมีนาคม 2476 ข้าพเจ้ามุ่งรับใช้คณะราษฎรและชาติไทยเป็นส่วนร่วมส่วนรวมอย่างเต็มกำลัง มิใช่ใช้เวลาประจบสอพลอผู้ใหญ่ในคณะราษฎรและในคณะรัฐบาลเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตัว หรือใช้เวลาไปในทางสำมเลเทเมาพาผู้หญิงไปนั่งรถเที่ยวเล่น

ประการที่ 6

ท่านที่ปรารถนาสัจจะย่อมเห็นได้จากบันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่อ้างถึงแล้วนั้นว่า ผู้ก่อการฯ หลายคนที่เป็นสมาชิกสภาฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลแก้เศรษฐกิจของชาติที่กำลังเสื่อมโทรมนั้นให้ดีขึ้นโดยการกระทำโครงการเศรษฐกิจ ผู้ก่อการฯ นั้นได้กล่าวในนามของตนและในนามของเพื่อนก่อการฯ ที่เข้าร่วมเปลี่ยนการปกครองเพราะมีอุดมคติที่เห็นความเดือดร้อนของประชาชนในทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของสังคม จึงต่างกับพล.ท.ประยูรฯ กับเพื่อนจำนวนน้อยของท่านที่ตกลงตามหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรแล้วก็เปลี่ยนใจภายหลังแล้วจึงเขียนซัดปรีดีไว้ในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า ๒๑๑ ว่า

แต่หลวงประดิษฐ์มุ่งทำการปฏิวัติในลักษณะครบรูปมีทั้งลัทธิเศรษฐกิจซึ่งคณะราษฎรและกรรมการราษฎรซึ่งมีคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่มีผู้ใดรู้เห็นที่ดำเนินไปตามความเห็นของตนโดยเอกเทศ

มิหนำซ้ำพล.ท.ประยูรฯ ได้ซัดทอดเพื่อนก่อการฯ ที่มีอุดมคติเหมือนกับผู้ก่อการบางท่านที่ได้แถลงในสภาฯ ดังกล่าวข้างบนนั้น โดยพล.ท.ประยูร เขียนไว้ในวรรคต้นแห่งหน้า ๒๑๓ ว่า

ในโอกาสนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้นำเรื่องโครงการเศรษฐกิจขึ้นมาปรึกษา ซึ่งคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองส่วนมากไม่ค่อยจะสนใจหรือได้อ่านโครงการนั้นกันมาเลย นั่งสงบนิ่งกันเป็นส่วนมาก สรุปแล้วเอาอะไรก็เอากัน

ข้อความที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนหมิ่นเพื่อนก่อการฯ ส่วนข้างมากนั้น ขัดแย้งต่อความเป็นจริงตามเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

(1)

ในรายงานการประชุมคณะกรรมานุการพิจารณาโครงการเศรษฐกิจเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๗๕ นั้นกรรมานุการ ๑๓ คนในจำนวน ๑๔ คนได้สนใจและมีการอภิปรายทุกคน ส่วนร.ท.ประยูรฯ นั่งสงบนิ่งไม่ปริปากคำในที่ประชุม

(2)

เมื่อคณะกรรมานุการนั้นได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมให้นำรายงานการประชุมเสนอคณะผู้ก่อการฯ แล้ว ผู้ก่อการฯ หลายคนก็ได้แสดงความเห็นแล้วลงมติด้วยคะแนนเสียงส่วนข้างมากเห็นชอบด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ปรีดีเสนอ

(3)

ต่อมาอีกไม่กี่วันคือ วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ (มีปฏิทินขณะนั้นตั้งต้นวันที่ ๑ เมษายน) รัฐบาลซึ่งมีพระยามโนปกรณ์เป็นนายกรัฐมนตรี และร.ท.ประยูรฯ เป็นรัฐมนตรีกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีอีกสองนายได้นำความกราบบังคมทูลในหลวงให้ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ โดยให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารปกครองประเทศตามแบบเผด็จการชนิดหนึ่งนั้นก็ได้อ้างเหตุสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนข้างมากไว้ในคำปรารภแห่งพระราชกฤษฎีกานั้นว่า

ปรากฏว่ามีสมาชิกจำนวนมาก แสดงความปรารถนาแรงกล้าที่จะทำการเปลี่ยนแปลงในทางนั้น (นโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจ)

ประการที่ 7

หนังสือของพล. ท.ประยูรฯ หน้า 213 พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ว่า

ครั้นแล้วหลวงประดิษฐ์ได้เชิญผู้ก่อการฯ ผู้ใหญ่มาพบเป็นรายบุคคล สำหรับข้าพเจ้าเองก็ถูกสอบถามและจดเป็นบันทึกหลักฐานไว้ ข้าพเจ้าก็ชี้แจงว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยความลำบากนานับประการ จึงไม่มีเวลาพอพิจารณาโครงการมหาศาลซึ่งใช้เวลานานโดยรอบคอบ จึงควรรั้งรอไว้ก่อน แต่ข้าพเจ้ายึดหลักในการบริการสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก ต้องเผชิญต่อข้อเท็จจริง

ประการที่สอง ดำเนินการเป็นขั้นๆ เอาความสำเร็จในขั้นหนึ่งๆ เป็นบันไดดำเนินขั้นต่อไป ในที่สุดก็ถูกประณามว่าเป็นผู้ที่มีนโยบายสุกเอาเผากิน

ข้าพเจ้า (ปรีดี) ขอชี้แจงความจริงดังจะกล่าวในประกาศที่ 8, 9, 10, 11 ต่อไป

ประการที่ 8

ข้าพเจ้ามิได้เชิญผู้ใหญ่ก่อการฯ มาพบเป็นรายบุคคล เพราะถ้าทำดังนั้นก็เป็นการผิดมารยาทที่ไม่เคารพผู้ใหญ่

ประการที่ 9

การประชุมเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นได้พิจารณาในคณะกรรมานุการ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2476 ดังอ้างถึงแล้วในข้อ (1) (ข) ซึ่งมีบันทึกรายงานการประชุมจดคำพูดของผู้อภิปรายมุกคน แต่พล.ท.ประยูรนั่งสงบนิ่ง หลวงอรรถสารฯ ผู้จดรายงานจึงไม่มีถ้อยคำของพล.ท.ประยูรฯที่จะจดไว้ในรายงานการประชุม เพราะพล.ท.ประยูรฯ ไม่ปริปากเลยในที่ประชุม ส่วนนอกที่ประชุมนั้นท่านจะพูดกับใครบ้างนั้น ไม่อาจทราบได้

ประการที่ 10

พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าท่านชี้แจงถึงหลักในการบริหารสำคัญ 2 ประการคือ

ประการแรก ต้องเผชิญข้อเท็จจริง

นั้น ท่านก็ได้เขียนไว้เองอีกแห่งหนึ่งในหนังสือของท่านหน้า 117 พรรณนาถึงการที่ท่านกลับจากฝรั่งเศสถึงกรุงเทพฯ แล้ว ได้กล่าวถึงฐานะเศรษฐกิจของบ้านเมืองไว้ตามที่ท่านเขียนว่า

เศรษฐกิจการครองชีพซบเซา รายได้สองรัฐบาลตกต่ำ กำลังดุลย์กันวุ่น ผู้คนหน้าตาไม่สบาย วิพากย์วิจารณ์กันพึมพัม จะทำอย่างไรมันเป็นเรื่องของดวงและเวรกรรม ทั้งนี้แสดงว่าพล.ท.ประยูรฯ ประสบพบเห็นหรือเผชิญข้อเท็จจริงแล้วว่าประชาชนไทยต้องประสบความทุกข์ยากเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ท่านสละหลักประการที่ 3 ของคณะราษฎร ท่านจึงไม่สนใจในโครงการเศรษฐกิจที่จะแก้ความเดือดร้อนของราษฎรทางเศรษฐกิจ โดยท่านเปลี่ยนอุดมคติเสียใหม่ว่า “จะทำอย่างไรได้เป็นเรื่องของดวงและเวรกรรม

ประการที่ 11

พล. ท.ประยูรฯ อ้างว่าท่านชี้แจงหลักบริหารประการที่ 2 ของท่านว่า

ดำเนินการเป็นขั้นๆ เอาความสำเร็จในขั้นหนึ่งๆ เป็นบันไดขั้นต่อไป” นั้นเป็นคำอ้างที่ฝ่าฝืนความจริงคือ

(1)

ไม่ปรากฏในรายงานการประชุมกรรมานุการเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2476 ว่าพล.ท.ประยูรฯ ไม่ได้พูดเช่นนั้นเลย ถ้าหากสมมตว่าพล.ท.ประยูรฯ พูดเช่นนั้นในที่ประชุมฯ ก็คงจะมีกรรมานุการคนหนึ่งคนใดถามว่า พล.ท.ประยูรฯ ได้อ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ นั้นทราบแล้วมิใช่หรือว่า การทำโครงการเศรษฐกิจนั้นก็ต้องทำเป็นขั้นๆ ไปคือ ขั้นแรกสำรวจ ขั้นที่ 2 วางแผนตามกำลังความสามารถที่จะทำได้ ขั้นที่ 3 ลงมือปฏิบัติในระยะเวลาที่กำหนดไว้ แล้วสำรวจผลตามแผนการเป็นระยะๆ ไปว่าได้ผลตามแผนการ หรือมีข้อบกพร่องก็แก้ไขในระยะต่อไป ขั้นที่ 4 เมื่อสำเร็จตามแผนการระยะต้นแล้ว จึงวางแผนการระยะสอง สำเร็จระยะสองแล้วก็วางแผนการสำหรับระยะต่อไปเป็นระยะๆ หรือเป็นทีละขั้นๆ

(2)

ตามบันทึกการประชุมคณะกรรมานุการฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2476 นั้น ปรากฏมติของที่ประชุม ดังต่อไปนี้

2. หลวงประดิษฐ์มนูธรรมให้วางหลักที่จะทำและดำเนินนโยบายตามเค้าโครงการ เมื่อตกลงนโยบายอันใดแล้ว ตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสำรวจและวางแผน เมื่อมีกำลังเท่าใด ทำเพียงเท่านั้น

ทั้งนี้แสดงชัดแจ้งว่าข้าพเจ้า (ปรีดี) มีได้เสนอให้ดำเนินเศรษฐกิจของชาติอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า หากให้ตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสำรวจสถานะเศรษฐกิจเสียก่อนแล้วจึงวางแผนว่าจะทำได้เพียงใดตามกำลังของประเทศ

คำกล่าวอ้างของพล.ท.ประยูรฯ ดังกล่าวข้างบนนั้นจึงมิใช่สัจจะทางสารคดี

หมายเหตุ : คงอักขระ การเว้นวรรค และวิธีสะกดตามต้นฉบับ

ภาคผนวก :

ข่าวตัดเรื่องหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน ของประยูร ภมรมนตรี ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2525

 

คอลัมน์สาหร่าย

 

“ชีวิต 5 แผ่นดิน”
สะท้อนจริยธรรมทางวิชาการ

หนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดิน” ซึ่งพลโทประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้เขียนนั้น หากว่าไม่ผิดเคยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ เมื่อหลายปีมาแล้ว และได้รับความสนใจอย่างมากเนื่องจากพลโทประยูรนอกจากเป็นนัก การเมืองคนสําคัญแล้วยังปืนสมาชิก “คณะราษฎร” ระดับที่ 1 ซึ่งมีจํานวนไม่กี่คนอีก

ด้วย

หนังสือเรื่องนี้ต่อมา เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร ในยุคที่ยังทํางานร่วมกับเสี่ยสมศักดิ์ เตชะเกษม ได้นําไปให้สํานักพิมพ์ “บรรณกิจ” จัดพิมพ์เป็นเล่มปกแข็ง

และด้วยกําลังภายในอันแกร่งกล้าของ “บรรณกิจ” และด้วยความสนใจต่อผู้เขียน เจ้าของสมญา “เกอริงเมืองไทย” ในปี 2518 กรรมการประกวดหนังสือของกระทรวง ศึกษาธิการได้ตัดสินให้ “ชีวิต 5 แผ่นดิน” ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี

แต่เนื่องจากมีข้อความบางข้อความที่พาดพิงถึง นายปรีดี พนมยงค์ อันเกี่ยวกับ ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์การเมือง นายปรีดีได้ยื่นฟ้องพร้อมกันนั้นในเดือนสิงหาคม 2522 ก็ได้ยื่นคําประท้วงและบันทึกประกอบคําประท้วงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่ามีข้อความมากมายหลายประการในหนังสือที่ฝ่าฝืนความเป็นจริง

กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับคําประท้วงและบันทึกเอาไว้พิจารณา

จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2525 ศาลแพ่งได้พิพากษาให้คดีสิ้นสุดลงตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลย โดยจําเลยคือห้างหุ้นส่วนบรรณกิจเทรดดิ้ง ยอมส่งมอบหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดิน” ที่เหลืออยู่ 1,000 เล่มต่อศาลเพื่อทําลายและประกาศขอขมาต่อนายปรีดี พนมยงค์

รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการแจ้งว่า

“กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อผดุงไว้และส่งเสริมสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทยและเพื่ออนาคตกุลบุตรกุลธิดาของชาติไทยเห็นตัวอย่างศีลธรรมจรรยาอันดี จึงขอเพิกถอนคําตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติประเภท สารคดีที่ได้ตัดสินรางวัลชมเชย และถอนสิ่งที่เป็นหลักฐาน ซึ่งคณะกรรมการจัดงานหนังสือแห่งชาติที่ให้แก่สํานักพิมพ์บรรณกิจด้วย”

คําตัดสินของกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวสะท้อนถึงสิ่งที่เรียกว่า “จริยธรรมทาง วิชาการ” ของคนที่น่านับถือในกระทรวงศึกษาธิการยังพอมีอยู่(บ้าง)

ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงคุณภาพของคณะกรรมการที่ตัดสินไปแล้วด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใดและกระทําไปด้วยความรอบคอบและด้วยความรับผิดชอบต่อ “จริยธรรมทางวิชาการ” แค่ไหน…

กรณีที่หนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดิน” ถูกศาลแพ่งตัดสินในแง่ความถูกต้องทางประวัติ ศาสตร์ไปแล้ว คงจะเป็นบทเรียนให้คณะกรรมการมีความรอบคอบรัดกุมและมีความรับ ผิดชอบต่อ “จริยธรรมทางวิชาการ” มากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแต่เฉพาะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่ง

ไม่ยอมให้มีการบิดเบือนอย่างไร้หลักการ แต่ควรจะเคารพความเป็นจริงในด้านอื่นด้วย

เพื่อที่มาตรฐานของหนังสือสารคดีและมาตรฐานของนักเขียนเรื่องทางวิชาการของ เราจะได้สูงขึ้นและเที่ยงธรรมต่อความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์อย่างมั่นแน่ว

ส่วนนักเขียนประวัติศาสตร์ทางการเมืองยุคใกล้ก็โปรดสังวรณ์ให้จงหนัก อะไรที่

เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ หากไม่มีหลักฐานอย่างเพียงพอก็อย่าได้เขียนอย่างเด็ดขาด

ขืนทําเพลินเผลอแบบพลโทประยูร หรือแม้แต่อาจารย์รอง ศยามานนท์ ก็มักจะลงเอยด้วยแพ้ความ!

 

บรรณานุกรม

  • เอกสารส่วนบุคคลของนายปรีดี พนมยงค์
  • หอสมุดแห่งชาติ. บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์,     (มปท., มปป.)

 


[1] บทนำโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์