Focus
- ในระหว่าง พ.ศ. 2489-2501 มีการถกเถียงที่สำคัญเกี่ยวกับศัพท์คำว่า “ปฏิวัติ” อาทิ คอมมิวนิสต์บางสาขาไม่ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” เพราะในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 มีเหตุการณ์ที่จอมพล สฤษดิ์จัดตั้งคณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่า “คณะปฏิวัติ” เพื่อล้มระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย และปกครองด้วยวิธีเผด็จการอำนาจนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ จากการที่จอมพล สฤษดิ์ และคณะฯ ใช้คำว่า ปฏิวัติ เรียกการรัฐประหารจึงทำให้ความหมายคำว่า ปฏิวัติของคณะราษฎรถอยกลับไปเป็นการปกครองในรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยม
- นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน บัญญัติศัพท์คำว่า อภิวัฒน์ ให้ใช้เรียกการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยในหนังสือความเป็นอนิจจังของสังคม นายปรีดีให้ถ่ายทอดคำศัพท์ว่า Revolution เป็นศัพท์ภาษาไทยว่า อภิวัฒน์ ซึ่งมีความหมายว่า ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษซึ่งนำมาใช้กับการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์และการผลิตทางเศรษฐกิจ เช่น Industrial Revolution หรืออภิวัฒน์อุตสาหกรรม ได้อีกด้วย
- บทความนี้ยังสรุปการเปลี่ยนแปลงทางสังคมออกเป็น 2 วิธี คือ วิถีวิวัฒน์ (Evolutionary Method) และวิถีอภิวัฒน์ (Revolutionary Method) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณและทางคุณภาพของระบบสังคมตามลำดับโดยการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยวิถีวิวัฒน์เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นค่อนข้างช้าขณะที่แบบวิถีอภิวัฒน์เป็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยนายปรีดีได้ยกตัวอย่างการอภิวัฒน์สยาม 2475 ว่ามีมูลเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สัมพันธ์กันของการเปลี่ยนแปลงในสังคมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
10. ในระหว่างเวลา 12 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ซึ่งมีการโต้แย้งกันเรื่องศัพท์ใหม่ของไทยว่า “ปฏิวัติ” และคอมมิวนิสต์บางสาขามิให้สานุศิษย์ถือว่า การเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎรเมื่อ 2475 เป็น “ปฏิวัติ” นั้นก็เกิดเหตุการณ์เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 คือจอมพลสฤษดิ์กับพวกร่วมกันจัดตั้งเป็นคณะเรียกว่า “คณะปฏิวัติ” ขึ้นทำการล้มระบบปกครองตามรัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติมแล้วปกครองประเทศตามระบบเผด็จการ คือใช้วิธีปกครองโดย “คำสั่งคณะปฏิวัติ” ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายสูงสุด ทำให้คนไทยอกสั่นขวัญหาย เพราะคณะปฏิวัติจับคนไปประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องส่งตัวไปให้ศาลชำระ เป็นอันว่าจอมพลสฤษดิ์กับพวกได้ถือเอาคำว่า “ปฏิวัติ” ไปใช้เรียกการกระทำของตนสมดังความหมายตามมูลศัพท์ว่า การเปลี่ยนหลักมูลกลับหรือถอยหลังกลับไปสู่ระบบเผด็จการอย่างเจ้าทาสเจ้าศักดินายิ่งกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยพระปกเกล้าฯ คำสั่งของคณะปฏิวัตินั้น รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มารวมทั้งฉบับ 2517 ก็รับรองว่าเป็นกฎหมายใช้อยู่จนทุกวันนี้ (ยกเว้นรัฐสภาให้ยกเลิกบางฉบับ) จึงเป็นอันว่าคำ “ปฏิวัติ” ในภาษาไทยนั้นได้รับรองโดยรัฐสภาไทยตามความหมายที่แสดงออกโดยการกระทำของจอมพลสฤษดิ์กับพวก
ผมจึงเห็นว่า ไม่สมควรที่ผู้รักชาติและประชาธิปไตยไทย ซึ่งต้องการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์จะใช้คำว่า “ปฏิวัติ” เพื่อเรียกการกระทำของตน คือควรปล่อยให้เป็นคำไทยที่มีความหมายเฉพาะเรียกการกระทำของจอมพลสฤษดิ์กับพวก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบสังคมให้ถอยหลังกลับ
11. ในหนังสือของผมเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 และในปีนั้นเองได้พิมพ์อีก 2 ครั้ง และต่อมามีผู้พิมพ์อีกไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ผมได้เสนอให้ถ่ายทอดคำอังกฤษ “Evolution” (อีโวลูชัน) เป็นศัพท์ไทยว่า “วิวัฒน์” ผมมีความยินดีที่ข้อเสนอของผมตรงกับคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปฯ เป็นนายกและประธานกรรมการฯ ได้ถ่ายทอดคำ “Evolve” อันเป็นกิริยาของ “Evolution” เป็นศัพท์ไทยว่า “วิวัฒน์”
ส่วนคำอังกฤษว่า “Revolution” (เรฟโวลูชัน) 'นั้นราชบัณฑิตยสถานยังมิได้กล่าวไว้ในหนังสือว่าด้วย “บัญญัติศัพท์” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517 ส่วนผมได้เสนอไว้ในหนังสือเรื่องความเป็นอนิจจังของสังคมให้ถ่ายทอดคำอังกฤษนั้นเป็นศัพท์ไทยว่า “อภิวัฒน์” มีคำอธิบายดังต่อไปนี้
“อภิวัฒน์” ประกอบด้วยคำ “อภิ” ซึ่งเป็นคำใช้นำหน้าศัพท์ มีความหมายว่า ยิ่ง, วิเศษ, เหนือ กับคำว่า “วัฒน์” ซึ่งแปลว่า ความเจริญ, ความงอกงาม เมื่อรวมความหมายของคำทั้งสองแล้วได้ความว่า “ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษ” ทั้งนี้ตรงกับความหมายทางวิทยาศาสตร์สังคมดังกล่าวมาแล้ว คือการเปลี่ยนระบบเก่าตามแนวทางกู้อิสรภาพของมนุษย์ที่ถูกกดขี่เบียดเบียนนั้น เป็นการเปลี่ยนที่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนอย่างวิเศษ
คำว่า “อภิวัฒน์” นี้นำมาใช้ได้แก่การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้ายิ่งใหญ่ในวิทยาศาสตร์ และเทคนิคแห่งการผลิตทางเศรษฐกิจ เช่น “Industrial Revolution” นั้นเราอาจเรียกเป็นศัพท์ไทยได้ว่า “อภิวัฒน์อุตสาหกรรม”
ท่านที่สนใจในกสิกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญแห่งผลิตผลของสยามเวลานี้ก็ไม่ควรมองแต่ด้านการเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างเบื้องบนเท่านั้น ขอให้นึกถึงชาวนาและกสิกรให้มากๆ ว่าเวลานี้ก็มีอภิวัฒน์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “Green Revolution” แปลตามตัวว่า “อภิวัฒน์เขียว” หรือการอภิวัฒน์ทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคกับเครื่องมือกสิกรรม อันเป็นการอภิวัฒน์ที่ก้าวหน้าอย่างวิเศษที่เปลี่ยนวิธีการผลิตกสิกรรมของเทคนิค และเครื่องมือผลิตที่ใช้กันอยู่ตามระบบเศรษฐกิจศักดินา
ส่วนวิธีที่จะทำให้บรรลุถึงการ “อภิวัฒน์” นั้นเป็นเรื่องของ “วิธีการ” ซึ่งทุกตำราของเมธีสอนให้พิจารณาตามความเหมาะสมแก่สภาพ ท้องที่ กาละ ของแต่ละสังคมสำหรับผู้ที่อ้างว่านับถือลัทธิมาร์กซ์ตามแนวทางเลนินนั้น ถ้าอ่านคำสอนของเลนินโดยตลอดก็จะพบว่าท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่พูดว่าจะเอาวิธีนั้นหรือไม่เอาวิธีนี้เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจแม้แต่หลักการเบื้องต้นของสสารธรรม ประติการ และวิวรรตการ ท่านว่าอาจมีวิธีที่มนุษย์ไม่เคยทำมาก่อน แต่เป็นวิธีที่เหมาะสมแก่สภาพ ท้องที่ กาละ ของแต่ละสังคมก็ได้ เหตุฉะนั้นใน ค.ศ. 1920 ท่านจึงคัดค้านพวกที่ท่านเรียกว่า “คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย, ความคิดระส่ำระสายอย่างเด็กไร้เดียงสา” (LEFT-WING COMMUNISM, AN INFANTILE DISORDER) รวมทั้งคอมมิวนิสต์อังกฤษส่วนหนึ่งที่คัดค้านการต่อสู้ทางรัฐสภา ท่านจึงกล่าวสำหรับสังคมอังกฤษที่มีสภาพพิเศษโดยเฉพาะซึ่งมีระบบรัฐสภาประชาธิปไตย และมีระบบเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยต่างกับหลายสังคมที่รัฐสภาและการเลือกตั้งมีขึ้นเพื่อชนชั้นเจ้าสมบัตินายทุนนั้น ว่า
“พรรคคอมมิวนิสต์ในบริเตนใหญ่ต้องใช้การเลือกตั้งทางรัฐสภาเสมอไปโดยไม่หยุดยั้ง และโดยไม่บ่ายเบี่ยง”
(The communists in Great Britain should constantly unremittingly and undeviatingly utilise parliamentary elections…)
ท่านที่ใช้สามัญสำนึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชาติ ย่อมเห็นได้ว่าคำกล่าวของเลนินที่มิให้ถือเอาวิธีใดเป็นคัมภีร์ตามตัวนั้นตรงกับธรรมชาติแท้จริงของมนุษย์ผู้ใดมีความเป็นอยู่อย่างราษฎร ก็ย่อมประสบพบเห็นว่าราษฎรในประเทศหนึ่งๆ ย่อมมีความถนัดต่างๆ กัน แม้ในระหว่างบุคคลที่เข้าลักษณะเป็นกรรมกรนั้น กรรมกรก็มีความถนัดในการทำงานแตกต่างกันตามชนิดและชนิดปลีกย่อยของการงาน เช่นกรรมกรแบกหามก็ถนัดในการนั้น ส่วนกรรมกรในวิสาหกิจที่ใช้เครื่องจักรกลก็มีความถนัด ในงานนั้นต่างกับกรรมกรแบกหาม ส่วนชาวนาก็มีความถนัดในการทำนาต่างๆ กันตามสภาพ ท้องที่ กาละ เช่น ชาวนาไทยไม่ถนัดในการใช้ปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ แต่ชาวนาจีนมีความถนัดใช้ปุ๋ยชนิดนั้น แม้ในระหว่างชาวนาจีนด้วยกันก็ถนัดใช้ปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ต่างกันตามท้องที่ เช่นชาวนาจีนบริเวณใกล้กรุงปักกิ่งซึ่งผมเคยสังเกตการณ์หลายปีนั้นก็เห็นว่าเขาถนัดใช้ปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ที่ตากหรือผึ่งให้แห้งก่อน ส่วนชาวนาและชาวสวนผักบริเวณกวางตุ้งถนัดใช้อุจจาระโดยเขาไม่มีความรังเกียจ
ขอให้ท่านพิจารณาถึงวิธีรับประทานอาหารว่าคนในชาติหนึ่งถนัดวิธีต่างกับอีกชาติหนึ่งตามสภาพ และท้องที่ เช่น ราษฎรไทยส่วนมาก (นอกจากคนสมัยใหม่) ก็ถนัดใช้มือเปิบข้าวที่รับประทานผักจิ้มน้ำพริก ซึ่งถ้าใช้ตะเกียบรับประทานอาหารไทยแท้ก็ไม่ถนัด คนไทยสมัยใหม่ที่ใช้ช้อนส้อมนั้นก็ต้องมีผู้หั่นผักให้พอดีคำก่อน คนฝรั่งเศสถนัดใช้ส้อมกับมีดในการรับประทานอาหาร และถนัดใช้ส้อมเป็นพิเศษ ถ้ารับประทานปลาก็ใช้ส้อมอย่างเดียว โดยเอามือขวาจับส้อม เอามือซ้ายถือขนมปังชิ้นหนึ่งดุนปลาให้เข้าส้อม แต่คนอังกฤษถนัดใช้มีดปลาที่ทำเฉพาะกับส้อม ฯลฯ
ฉันใดก็ดี วิธีที่จะเข้าสู่การอภิวัฒน์ตามความหมายว่า ทุกๆ ก้าวหน้าตามแนวทางกู้อิสรภาพนั้นก็ต้องสุดแท้แต่ความถนัดของบุคคล การที่ผู้ใดอ้างว่าต้องทำตามวิธีที่ตนต้องการจึงจะยกย่องว่าเป็นวิธีอภิวัฒน์นั้น ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าคิดตาม “อัตวิสัย” หรือ “จิตนิยม”คือคิดตามใจตนเองโดยไม่มองถึงความถนัดของแต่ละบุคคล และยิ่งผู้อ้างเองก็ไม่ถนัดในวิธีชักชวนให้คนอื่นทำแล้วก็เป็นการพูดโดยไม่รับผิดชอบ
12. โดยที่อาจารย์ชีววิทยาผู้หนึ่งถามผมในที่ประชุมที่นครเอดินเบอะเรอสกอตแลนด์ว่า ในทางชีววิทยานั้นการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปตามวิธีที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Evolution” (อีโวลูชัน) แต่เหตุใดในทางวิทยาศาสตร์สังคมจึงมีวิธีที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า (Revolution) ซึ่งผมถ่ายทอดเป็นศัพท์ไทยว่า “อภิวัฒน์”
ผมจึงขอชี้แจงดังต่อไปนี้
(1) ผมขอซ้อมความเข้าใจว่าในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาตินั้น การเปลี่ยนแปลงของสสารมี 2 วิธีคือ
ก. วิธีเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ (Quantitative Change) ซึ่งค่อยเป็นค่อยไปทีละนิดๆ ในระหว่างช้านานก็ได้ผลเป็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ (Qualitative Change) เช่นสิ่งมีชีวิตแรกคือ เซลล์ ที่พัฒนาในระยะเวลาหลายล้านปีก็เป็นผลให้มีสัตว์ที่พัฒนาสูงขึ้นตามทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน แล้วก็มีสัตว์ชนิดหนึ่งคือกระบี่ที่มีอวัยวะดีกว่าลิงทั้งหลาย แล้วพัฒนาเป็นมนุษยชาติ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎแห่งการคัดเลือกตามธรรมชาติของสิงมีชีวิตที่มีคุณภาพดีขึ้นจึงดำรงอยู่ได้ ส่วนที่อ่อนแอก็ดับสูญไป (Survival of the Fittest)
ข. วิธีเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ (Qualitative Change) เช่น ในทางฟิสิกส์นั้น น้ำที่ถูกความร้อนมากก็เปลี่ยนสถานะเป็นไอน้ำ ถ้าถูกความเย็นมากก็เปลี่ยนสถานะเป็นน้ำแข็ง
(2) วิธีเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติดังกล่าวใน (1) นั้น ก็นำมาประยุกต์แก่วิธีเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมได้ คือ ระบบสังคมเปลี่ยนแปลงได้โดยวิธี “วิถีวิวัฒน์” (Evolutionary Method) ซึ่งตรงกับวิธีเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ (Quantitative, Change) และวิถีอภิวัฒน์ (Revolutionary Method) ซึ่งตรงกับวิธีเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ (Qualitative Change) ผมขอคัดเอาความตอนหนึ่งที่ผมกล่าวไว้ในหนังสือว่าด้วย “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ดังต่อไปนี้
จังหวะของการเคลื่อนไหวทางสังคมมีอยู่สองชนิด คือ
ก. วิถีวิวัฒน์ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงที่สภาวะใหม่ของสังคม ได้ดำเนินกิจกรรมประจำวันไปโดยความสำนึกตามธรรมชาติเอง และทำให้สภาวะเก่าเปลี่ยนแปลงทางปริมาณจำนวนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าก็ได้จำนวนการเปลี่ยนแปลงมากซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบเก่าทั้งระบบ เช่นการเปลี่ยนแปลงระบบทาสในสังคมไทยที่เป็นไปตามวิถี “วิวัฒน์” ทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยาในที่สุดก็เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบทาสทั้งระบบ
“การเปลี่ยนแปลงระบบศักดินามาเป็นระบบธนานุภาพของหลายสังคมก็ดำเนินไปตามวิถีวิวัฒน์ เช่นในอังกฤษ ซึ่งในที่สุดส่วนใหญ่ของระบบศักดินาก็เปลี่ยนเป็นระบบธนานุภาพ และพัฒนาเป็นบรมธนานุภาพโดยไม่มีการอภิวัฒน์ที่รุนแรง
อันที่จริง ถ้ากายาพยพหรือร่างกายของสังคมคือสถาบันและระบบการเมืองได้ดำเนินให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคม โดยไม่ล่าช้าจนเกินไปนักแล้ว สังคมก็เปลี่ยนไปตามวิถีวิวัฒน์ที่ไม่ใช่การอภิวัฒน์อย่างรุนแรง”
ข. วิถีอภิวัฒน์ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงที่สภาวะใหม่ของสังคม ได้ประสานกันเข้าเปลี่ยนระบบเก่าที่ล้าหลังกว่าความพัฒนาในสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคม อันเป็นการเปลี่ยนทางคุณภาพโดยการกระทำฉับพลัน หรือการกระทำชุดเดียว ซึ่งต่างกับการเปลี่ยนโดยวิถีวิวัฒน์ที่ทำมาทีละน้อยๆ
“ตามกฎธรรมชาตินั้นกายาพยพต้องสมานกับสสาร ดังนั้นถ้ากายาพยพ (สถาบันการเมือง) ของสังคมเปลี่ยนล่าช้ากว่าความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคม (เศรษฐกิจ) จนเนิ่นนานเกินสมควรแล้ว ธรรมชาติก็บังคับให้กายาพยพ (สถาบันการเมือง) จำต้องสมานกับสสาร (ทางสังคม) จนได้ คือเมื่อไม่เป็นไปตามวิถีวิวัฒน์ ก็ต้องเป็นไปตามวิถีอภิวัฒน์ เช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต้องเป็นไปเช่นนั้น เพราะกายาพยพของสังคมเปลี่ยนแปลงล่าช้าเกินสมควร กว่าการเปลี่ยนแปลงทางชีวปัจจัยของสังคม (เศรษฐกิจ) การเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศสในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งต้องเป็นไปโดยวิถีอภิวัฒน์ก็เพราะกายาพยพของศักดินาไม่ยอมเปลี่ยน โดยวิถีวิวัฒน์ให้สมานกับสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยที่ก้าวหน้าไปมาก”
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ” “รัฐประหาร” “วิวัฒน์” “อภิวัฒน์”. (กรุงเทพฯ: นีลการพิมพ์, 2510), น. 85 - 96.
หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามต้นฉบับ
บทความที่เกี่ยวข้อง :