Focus
- บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ในคดีคำฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของนายประยูร ภมรมนตรีต่อกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักพิมพ์บรรณกิจ เรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 2 อยู่ในข้อ 13. เรื่อง พล.ท.ประยูรฯ สมมติให้พระยาทรงฯ เป็นพระเอกผู้ปราบปรามปรีดีฯ ในนิยายเรื่องแจกโครงการเศรษฐกิจที่วัดแคราย นายปรีดีได้แสดงสัจจะและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วยการอธิบายประวัติศาสตร์คณะราษฎร และการแจกจ่ายเค้าโครงการเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างบันทึกของนายประยูร ภมรมนตรี และนายปรีดี พนมยงค์
- นายปรีดีมีคำชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นเค้าโครงการเศรษฐกิจเรื่องข้อเขียนของ พล.ท.ประยูรฯ ว่ามิใช่สัจจะทางสารคดี เพราะมีข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันในประการสำคัญจากข้อเขียนของนายประยูร ได้แก่ ข้อมูลที่ระบุว่านายปรีดีเป็นผู้มีนิสัยมีพิธีรีตอง ดังนี้นายปรีดีจึงแย้งว่า ด้วยนิสัยดังกล่าวนายปรีดีจึงไม่ใช่บุคคลที่จะนำร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจไปแจกจ่ายที่วัดแครายในช่วงก่อนการอภิวัฒน์สยามตามที่บันทึกของนายประยูรนำเสนอข้อมูลบิดเบือนไว้
- ข้อสำคัญคือ การตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของนายปรีดีในบันทึกประกอบคำประท้วงฉบับนี้มิได้มาจากความทรงจำของนายปรีดีเท่านั้นแต่ยังตรวจสอบกับหลักฐานชั้นต้นและบันทึกความทรงของสมาชิกคณะราษฎรอื่นจำนวนมากโดยเฉพาะจากหนังสือบันทึกและรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ ของพระยาทรงสุรเดชและหนังสือว่าด้วยชีวิตการเมืองของพระยาฤทธิอัคเนย์เป็นหลัก ซึ่งปรากฏในคำแถลงของพระยาทรงสุรเดชว่าร่างนโยบายเศรษฐกิจของนายปรีดีได้เขียนขึ้นภายหลังการอภิวัฒน์
ข้อ 13.
พล.ท.ประยูรฯ สมมตให้พระยาทรงฯ เป็นพระเอกผู้ปราบปรามปรีดีฯ ในนิยายเรื่องแจกโครงการเศรษฐกิจที่วัดแคราย
ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมนั้นย่อมสังเกตได้ว่า ในการแต่ง–นิยายของพล.ท.ประยูรฯ หลายเรื่องคั่งค้างมาก่อนๆ แล้วนั้น พล.ท.ประยูรฯ ได้สมมตให้พระยาทรงฯ เป็นตัวพระเอกผู้ปราบปรามปรีดีหลายเรื่อง อาทิ ในนิยายการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ดังกล่าวในข้อ 8. และเรื่องการเสนอโครงการเศรษฐกิจดังกล่าวในข้อ 12 ฯลฯ
บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นสมควร เสนอนวนิยายของพล.ท.ประยูรฯ ซึ่งบางคนเห็นว่าสนุกและสนับสนุนว่าเป็นสารคดี คือ พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 129-132 ภายใต้หัวเรื่อง “การวางแผนและการยึดอำนาจ” เริ่มด้วยข้อความว่า
การวางแผนและการยึดอำนาจ
หลังจากที่ได้ไปติดต่อสอบถามกับท่านผู้ก่อการ 15 ท่านที่ได้ร่วมคิดกันมากจากในฝรั่งเศสและพิจารณาผลของการดำเนินงานที่ผ่านมารวมเวลา 3 ปี รู้สึกว่าคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าและซบเซาแต่ก็ยังมีความสนใจอยู่เป็นอันมาก สำหรับทางฝ่ายพลเรือนที่แตกแยกออกไปเป็นหลายสาย ก็ยังไม่มีความหมายที่จะเป็นกำลังแต่ประการใด ข้าพเจ้าจึงได้ตั้งความหวังทางฝ่ายทหารเป็นสำคัญ จึงได้นัดประชุมท่านผู้ใหญ่ฝ่ายทหารบกรวม 5 ท่าน คือ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา (พล.อ.) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์ (ชื่อตามที่ พล.ท.ประยูรฯ เขียน) พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (พล.ต.) ที่เรียกกันว่า สี่ทหารเสือ กับ พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) มาประชุมปรึกษาหารือกันเป็นครั้งแรก ในตอนค่ำที่บ้านข้าพเจ้า......
ครั้นแล้วพล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนสรุปในตอนท้ายด้วยข้อความดังต่อไปนี้
ครั้นต่อมาประมาณเดือนเศษ พระยาทรงสุรเดช ได้นัดให้มีการประชุมครั้งใหญ่ที่วัดแคราย จังหวัดนนทบุรี โดยข้าพเจ้าได้จัดเช่าเรือกลไฟลำใหญ่ ให้เฉพาะผู้ใหญ่ฝ่ายทหารไปยังวัดดังกล่าว ส่วนพลเรือนทั่วๆ ไปก็ให้ต่างคนต่างไปโดยถือโอกาสไปทำการยิงนก ฝึกซ้อมการยิงกันดึกด้วย ส่วน น.ต. หลวงสินธุสงครามชัยกับเพื่อนนายทหารเรือบางคนไปเรือส่วนตัว และขึ้นไปทำความเคารพรู้จักกับท่านเจ้าคุณผู้ใหญ่ได้สนทนาปราศัยกันพักหนึ่งแล้วก็แยกกลับ ครั้นแล้วเกิดเรื่องวุ่นวายที่คุณปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ได้นำโครงการเศรษฐกิจ (สหกรรม) พิมพ์เป็นโรเนียวแจกจ่ายให้คณะผู้ก่อการฯ ไปอ่านพิจารณากัน ครั้นพอพระยาทรงสุรเดชเห็นการแจกโครงการอันจะเป็นหลักฐานที่จะเป็นคดีความขึ้น ก็ได้โวยวายร้องเอะอะสั่งให้เก็บและเผาไฟ พูดต่อว่าต่อขานคุณปรีดี พนมยงค์ ว่าจะหาเรื่องเข้าคุกเข้าตะราง รู้สึกขุ่นเคืองเป็นอย่างมาก แล้วก็ชวนสี่ทหารเสือลงเรือกลับ
ข้าพเจ้า (ปรีดี) ขอเสนอคำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาฯ และคำชี้แจงเพิ่มเติมของข้าพเจ้าดังต่อไปนี้
13.1.
คำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาฯ
ประการที่ 1
วันเวลาของเหตุการณ์ที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าเกิดขึ้นที่วัดแครายเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องพิจารณา
(1)
พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าเหตุการณ์ที่วัดแครายเกิดขึ้น “ประมาณหนึ่งเดือนเศษ” ต่อจากวันที่ผู้ร่วมคิดกับท่านจากฝรั่งเศสได้พิจารณาผลของการดำเนินงานที่ผ่านมาร่วม 3 ปี นักศึกษาจึงอ่านหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ ว่าด้วยการประชุมก่อตั้งคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พบว่าพล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2467 ฉะนั้น 3 ปีภายหลัง คือ พ.ศ. 2470
ถ้าถือตามที่ข้าพเจ้า(ปรีดี) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร” ปรากฏว่าคณะราษฎรตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1926 (ตามปฏิทินไทยในขณะนั้นยังเป็น พ.ศ. 2469) ฉะนั้น 3 ปีภายหลังคือ พ.ศ. 2472
(2)
อย่างไรก็ตามจะเป็น พ.ศ. 2470 หรือ พ.ศ. 2472 ก็ตามเถิด แต่ปรากฏตามหนังสือบันทึกพระยาทรงสุรเดช และหนังสือชีวิตการเมืองพระยาฤทธิอัคเนย์ เล่มที่อ้างถึงแล้วนั้น ท่านพระยาทั้งสองรวมทั้งพระยาพหลฯ และพระประศาสน์ฯ ยังมิได้พบปะกับปรีดี
ประการที่ 2
บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2476 คือ 9 เดือน 15 วันภายหลังวันยืดอำนาจปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ซึ่งได้คัดมาพิมพ์ไว้ในข้อ 12 ประการที่ 2 นั้น ปรากฏคำแถลงของพระยาทรงสุรเดชว่า
“นโยบายของหลวงประดิษฐ์ฯ ในทางเศรษฐกิจนั้นเพิ่งเขียนแล้วเสร็จเมื่อ 7-8 วันนี้ ถ้าหากว่าเสร็จก่อนนี้เราก็จะได้มีโอกาสพิจารณาก่อนนี้”
ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ข้าพเจ้า (ปรีดี) จะเอาโครงการเศรษฐกิจซึ่งข้าพเจ้ายังมิได้ร่างขึ้นนั้นไปแจกที่วัดแคราย–ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ข้อเขียนของ พล.ท. ประยูรฯ จึงไม่ใช่สัจจะทางสารคดี
13.2
คำชี้แจงเพิ่มเติมของข้าพเจ้า (ปรีดี)
ประการที่ 3
แม้ผู้อ่านหนังสือพล.ท.ประยูรฯ จะไม่รู้ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวในประการที่ 2 นั้นก็ตาม แต่ผู้อ่านที่ไม่มีอคติก็ย่อมใช้สามัญสำนึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชนวินิจฉัยได้ว่าข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ นั้นมิใช่สัจจะทางสารคดี เพราะ พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 121 (อ้างถึงแล้วในข้อ 10 ประการที่ 10) ว่าการที่ท่านพาเพื่อนไปพบข้าพเจ้า (ปรีดี) นั้น “มีพิธีรีตองต้องระมัดระวังอยู่มาก เอาแบบฟอร์มมอบอำนาจการทำพินัยกรรม์ ตลอดจนกฎหมายมรดกมาวางไว้เป็นหลักฐาน และให้เสมียนมาคงเป็นพยานอีกด้วย” ฉะนั้น แม้สมมตว่าข้าพเจ้า (ปรีดี) ร่างโครงการเศรษฐกิจแล้วข้าพเจ้าก็จะไม่นำโครงการ เศรษฐกิจนั้นไปแจกที่วัดแคราย
ประการที่ 4
ตามหนังสือบันทึกพระยาทรงสุรเดชและหนังสือว่าด้วยชีวิตการเมืองของพระยาฤทธิ์อัคเนย์ (ทั้งสองเล่มอ้างถึงแล้ว) นั้นกล่าวไว้ว่าทั้งสองท่านเจ้าคุณและพระยาพหลฯ ,พระประศาสน์ฯ, เคยประชุมร่วมกับปรีดีที่บ้าน ร.ท.ประยูรฯ และที่บ้านพระยาทรงฯ ไม่ปรากฏว่าทั้ง 4 ท่านนั้นนัดประชุมกับหลวงพิบูลฯ และข้าพเจ้า(ปรีดี) ที่วัดแคราย
ประการที่ 5
สมมตว่าคำอ้างของพล.ท.ประยูรฯ เป็นจริงว่านายทหารผู้ใหญ่ฝ่ายทหารบกมี 5 ท่าน พ.อ.พระยาพหลฯ, พ.อ.พระยาทรงฯ, พ.อ.พระยาฤทธิ์ฯ, พ.ท.พระประศาสน์ฯ, และพ.ต. หลวงพิบูล เรือลำเดียวกัน ซึ่ง พ.ท.ประยูรฯ อ้างว่า “ข้าพเจ้าได้เช่าเรือกลไฟลำใหญ่ให้เฉพาะผู้ใหญ่ฝ่ายทหารบกยังวัดดังกล่าว” นั้นก็ตาม แต่นายการผู้ใหญ่มีเพียง 5 คนกับคุณประยูรฯ อีกคนหนึ่งรวมเป็น 6 คนเท่านั้น จะเช่าเรือยนตร์ลำเล็กๆ ก็พอแล้วซึ่งจะเสียค่าเช่าน้อยกว่า “เช่าเรือกลไฟลำใหญ่” ที่ต้องเสียค่าเช่าแพง สานุศิษย์ของพระยาทรงฯ ก็ย่อมรู้ว่าท่านผู้นี้เป็นคนใช้จ่ายอย่างประหยัด ฉะนั้นถ้าสมมตว่าพระยาทรงฯ เห็นว่าคุณประยูรฯ เช่าเรือกลไฟลำใหญ่เพื่อเชิญท่านกับพระยาพหลฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, พระประศาสน์ฯ, ไปวัดแครายแล้ว ท่านก็จะไม่ลงเรือกลไฟลำใหญ่นั้น
ประการที่ 6
ข้าพเจ้าได้กล่าวในข้อ 6.2. ต่อท้ายข้อ (7) แล้วว่าใน พ.ศ. 2474 ผู้ก่อการฯ 8 คน คือหลวงพิบูลสงคราม, นายแนบ พหลโยธิน, นายประยูร ภมรมนตรี, ข้าพเจ้า(ปรีดี) และนายทวี บุณยเกตุ กับหลวงสินธุสงครามชัย ได้ถือโอกาสวันหยุดราชการไปเที่ยว “ปิคนิก” ที่บริเวณทุ่งนาข้างวัดแคราย และปรึกษากันถึงการงานที่จะเตรียมปฏิบัติต่อไปด้วย พระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ พระยาฤทธิ์ฯ, พระประศาสน์ซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั้นมิได้ร่วมไปเที่ยวครั้งกระนั้นด้วย
การไปเที่ยวปิคนิกครั้งนั้นได้ไปโดยเรือยนตร์เล็กๆ ธรรมดาไม่เป็นที่ประหลาดใจแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรและเด็กวัดแม้จะมีคุณประยูรฯ ไปด้วย แต่ตามแผนการของ ร.ท.ประยูรฯ ที่วาดภาพไว้ใหม่นั้นใหญ่ทำให้ผู้คนแตกตื่นได้ ดังจะกล่าวในประการที่ 7 ดังต่อไปนี้
ประการที่ 7
สมมติว่าการเป็นไปตามแผนที่พล.ท.ประยูรฯ วาดภาพไว้ว่าท่านจัดเช่า “เรือกลไฟลำใหญ่” เป็นพาหนะของนายทหารผู้ใหญ่กับหลวงพิบูลฯ และร.ท.ประยูรฯ รวม 6 คนไปจอดที่วัดแครายก็อาจทำให้พระภิกษุสามเณรและลูกศิษย์วัด “ทึ่ง” หรือ “สนใจ” ว่าทั้ง 6 ท่านนั้นต้องเป็นบุคคลสำคัญเดินทางมาโดย “เรือกลไฟลำใหญ่” ขึ้นที่วัดนั้น
เมื่อเรือกลไฟลำใหญ่จอดที่วัดแครายนั้น ก็มีเรือยนตร์มาจอดที่วัดนั้นอีก แล้วบุคคลประมาณ 3-4 คน (หลวงสินธุ์ฯ กับนายทหารเรือ) ขึ้นจากเรือยนตร์แล้วเดินไปสมทบกับบุคคลดังกล่าว พระกับลูกศิษย์วัดก็คงเห็นท่าทางไม่ชอบกลเสียแล้ว คือ มีบุคคลดังกล่าวมาเรือกลไฟลำใหญ่แล้วยังมีเรือยนตร์นำคนมาสมทบอีก เด็กๆ ก็จะมองตามเป็นพรวนไปและสังเกตดูว่าบุคคลเหล่านั้นจะทำอะไรกัน ถ้าจะไล่เด็กออกไปห่างๆ เด็กก็ยิ่งสงสัยและแอบมองดู พระสงฆ์ชาวบ้านก็จะสงสัย การประชุมก็ไม่อาจจะเป็นไปได้
เมื่อเรือทั้งสองลำจอดที่วัดเรียบร้อยแล้วก็จะต้องจอดคอยอยู่ที่หน้าวัดเพื่อรับบุคคลที่ขึ้นฝั่งนั้นกลับมาขึ้นเรือเพื่อกลับกรุงเทพฯ ขณะนั้นผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน, ตำรวจ ก็ต้องรู้ข่าวและมาสอบถามวาใครเป็นผู้โดยสารเรือทั้งสองนั้นมา ถ้านายท้ายและและกะลาสีตอบว่าไม่ทราบก็จะทำให้พนักงานท้องที่สงสัยและคอยดักถ่ายรูปผู้เข้าร่วมประชุมได้ และรายงานผู้บังคับบัญชาด่วน
ฝ่ายพลเรือนที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างในนวนิยายว่า “ต่างคนต่างไปโดยถือโอกาสทำการยิงนก ฝึกซ้อมการยิงกันอีกด้วย” นั้น ถ้าสมมติว่าข้ออ้างของพล.ท.ประยูรฯ เป็นความจริง พลเรือนดังกล่าวนั้นแต่ละคนก็จะต้องสะพายปืนยิงนกและทำการซ้อมยิงกัน เสียงปืนก็จะดังสนั่นหวั่นไหวทำให้ชาววัดและชาวบ้านสงสัย ผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน, ตำรวจ ก็จะมาจับตัวผู้ต้องสงสัยหรือรีบรายงานผู้บังคับบัญชา
ท่านที่ปรารถนาสัจจะก็สามารถวินิจฉัยได้ไม่ยากเลยว่า ถ้าการประชุมเป็นไปตามแผนซึ่ง พ.ท.ประยูรฯ อ้างไว้ในหนังสือของท่านนั้น ก็เป็นแผนที่หละหลวมมากซึ่งจะทำให้นายทหารผู้ใหญ่ฝ่ายบกและฝ่ายเรือและผู้ก่อการฯ พลเรือนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและถูกสงสัยได้
หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม
- หอสมุดแห่งชาติ. บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง