ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มูลเหตุแห่งการอภิวัฒน์ ตอนที่ 3 คำสารภาพของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช

7
เมษายน
2567

 


พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง ความอัตคัดฝืดเคือง

 

ตั้งแต่เริ่มปี ๒๔๗๒ เป็นต้นมา สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรือง และเจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด ก็เริ่มมีความโน้มเอียงไปในทางต่ำลง ตกต่ำลงทุกๆ นาทีจนกระทั่งเริ่มปี ๒๔๗๕ การตกต่ำของเศรษฐกิจนั้นก็เริ่มมีความปั่นป่วนเกิดขึ้นและทวียิ่งขึ้นตามระยะเวลา อันที่จริงการตกต่ำและปั่นป่วนของเศรษฐกิจนี้ มิใช่ว่ามีครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ได้มีและได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ถ้าสถานะการณ์ของโลกเป็นปรกติ ไม่มีการสงครามอย่างรุนแรง เช่นมหาสงครามโลกแล้ว นักเศรษฐศาสตร์มีชื่อหลายนายได้ให้ระยะเวลาที่ความปั่นป่วนของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นไว้ต่างๆ กัน แต่ระยะเวลานี้ก็ไม่ห่างกันนัก และอย่างน้อยที่สุดได้กำหนดไว้ ๑๐ ปี ประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลใฝ่ใจในการเศรษฐกิจของชาติ ต่างก็ได้มีแผนการณ์ต่างๆ ในการดำเนินการเศรษฐกิจให้เหมาะสมแก่สภาพการณ์และระยะเวลา

เมื่อความตกต่ำและปั่นป่วนของเศรษฐกิจเกิดขึ้นก็หาทางแก้ไขได้โดยสะดวกและรวดเร็ว อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศกสิกรรมและอุตสาหกรรม แม้ในขั้นต้นประชาชนและชาติได้ประสบเศรษฐภัยอันร้ายแรงนี้ก็ตาม แต่เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ และแฟรงคลิน ดี. โรสเวลท์ ได้รับเลือกนั้น ด้วยความปรีชาสามารถทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบุรุษผู้นี้ ได้นำชาติอเมริกาให้พ้นภัยพิบัติและไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างรวดเร็วที่สุด[1]

สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชได้เป็นมาอย่างไรนั้นได้กล่าวมาแล้วในตอนก่อน และจะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ตระเตรียมตัวในอันที่จะเผชิญกับสถานะการณ์อันจะเกิดขึ้น ไม่ได้ตระเตรียมที่จะเผชิญกับเศรษฐภัยและยิ่งกว่านั้นก็คือ ไม่ได้บอกกล่าวแก่ราษฎรไทยให้ตระเตรียมตัวที่จะเผชิญกับภยันตรายอันเกิดจากเศรษฐกิจนั้นอีกด้วย

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำและความปั่นป่วนเกิดขึ้น ผลที่ราษฎรไทยผู้เป็นกสิกรได้รับ ก็คือ การรู้สึกในขั้นต้นว่า ข้าวยากหมากแพง นี่เป็นคำสามัญที่ราษฎรไทยใช้พูดกัน แต่อันแท้จริง ข้าวมิได้หายากหมากพลูก็มิได้แพง ความเป็นจริงกลับตรงข้าม กล่าวคือ ราษฎรมีข้าวมีหมากมีพลู และผลิตผลกสิกรรมเป็นจำนวนมากมาย และขายไม่ได้บางส่วน จนวาระที่สุดก็คือ ขายไม่ได้เลย

ราษฎรจนอย่างที่สุดไม่มีเงิน เงินไปไหนเสียหมด บัดนี้เงินไม่ได้ทำหน้าที่ของมันทุกประการแล้ว เงินทำหน้าที่อย่างเดียว คือ เป็นสิ่งสำหรับเก็บ และใครเล่าเป็นผู้เก็บ ผู้ที่เก็บเงินในเวลานี้ก็คือนายทุน ซึ่งเป็นคนต่างประเทศที่แสวงหาและขายทรัพย์สมบัติของประเทศไทยเพื่อความร่ำรวยของตน โดยปราศจากการทัดทานขัดขวางจากรัฐบาล และอีกพวกหนึ่งก็คือเจ้า หรือขุนนางซึ่งมีเงินมาก เงินในมือราษฎรทั่วๆ ไปเกือบไม่มี และที่มีอยู่ก็จำต้องถูกบังคับให้เสียภาษีอากรนานาชนิดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

สภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้ ย่อมนำความยากจนข้นแค้นมาสู่ประชาราษฎรอย่างหนักที่สุด ลักษณะอาการของคนที่กำลังจะจมน้ำตายมีฉันใด ลักษณะอาการของราษฎรไทยส่วนมากในขณะนี้ก็มีอยู่เป็นฉันนั้น รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชเมื่อประสบสถานะการณ์เช่นนี้เข้าก็ตะลึงงัน ไม่อาจเรียกเก็บภาษีอากรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นไว้ก่อนแล้วให้มีรายได้พอแก่งบประมาณแผ่นดิน และเมื่อภาษีอากรเก่าเก็บไม่ได้เงินไม่พอ รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชก็เริ่มตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่จะเป็นธรรมแก่ผู้เสียหรือไม่ก็ช่าง ขอให้ได้เงินก็แล้วกัน ราษฎรผู้เสียจะเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกหรือตายไม่ใช่ส่งที่จะต้องคำนึงถึง

อย่างไรก็ตาม สถานะการณ์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องประสบอยู่ขณะนั้น เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลมีความรู้สึกที่จะต้องหาสาเหตุการตกต่ำและปั่นป่วน และคิดที่จะหาทางแก้ไขต่อไป ถ้ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชมิได้คำนึงว่าการตกต่ำและปั่นป่วนของเศรษฐกิจ อันนำความทุกข์เข็ญอย่างสาหัสมาสู่ประชาราษฎรจะทำให้ราษฎรคิดปฏิวัติ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อรูปการปกครองและสิทธิของเจ้าหรือขุนนางแล้ว รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชก็มีทางคิดอยู่ทางเดียว คือ หารายได้ให้พอแก่งบประมาณแผ่นดิน

รัฐบาลได้จ้างชาวต่างประเทศเข้ามาสำรวจเศรษฐกิจ ๒ คราว คือ ครั้งแรก เซอร์ เอดเวอร์ด คุ๊ก เข้ามาสำรวจและให้คำแนะนำแก่รัฐบาลว่า ข้าราชการของรัฐบาลมีมากมายนักและเกินไป ควรปลดออกเสียบ้าง เพื่อตัดทอนรายจ่ายงบประมาณ และในครั้งต่อมา รัฐบาลได้จ้างโปรเฟสเซอร์ คาร์ล ซี ซิมเมอรแมน เข้ามาสำรวจ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ นายซิมเมอรแมนได้สำรวจแล้วทำรายงานสมุดเล่มใหญ่เสนอต่อรัฐบาล

รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชพิจารณารายงานของนายซิมเมอรแมนแล้วพอใจในคำรายงานที่ว่า “ความเป็นอยู่ของราษฎรไทยยังดีกว่าความเป็นอยู่ของราษฎรในประเทศอื่นๆ ในอาเซียหลายประเทศนัก” แต่รัฐบาลลืมนึกไปกระมังว่า ราษฎรส่วนมากในประเทศต่างๆ ในอาเซียนั้น นอกจากจีนและญี่ปุ่นแล้ว ก็เป็นขี้ข้าของฝรั่งอยู่ทั้งนั้นดูช่างจะมีความรู้สึกที่จะปล่อยให้ราษฎรไทยเป็นข้าหรือขี้ข้าเช่นนั้นด้วย

ต่อมารัฐบาลได้ให้กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ เสด็จไปดูภาวะเศรษฐกิจการค้าและตลาดในประเทศและดินแดนต่างๆ ในอาเซีย คือ ประเทศจีน อินโดจีน อินเดีย มลายู การเดินทางของเจ้านายพระองค์นี้ปรากฏว่าได้ใช้จ่ายเงินแผ่นดินไปมากมาย แต่ผลของงานที่ได้นั้นก็คือรายงานที่ว่า “ประเทศอื่นๆ เหล่านั้นอยู่ในอาการหนักกว่าประเทศไทยเสียอีก” และยังปรากฏต่อไปอีกว่า เจ้านายพระองค์นี้ได้ทรงถ่ายและฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับการเดินทางของพระองค์แทบทั้งสิ้นเป็นการท่องเที่ยวเพื่อหาความสนุกสนานเพลิดเพลิน ราษฎรไทยไม่ได้รับอะไรเลยจากการนี้ ยิ่งกว่านั้นขณะที่ประเทศและราษฎรกำลังตกลึกลงไปในความหายนะ เจ้าพระองค์นี้ได้ซื้อรถจักร์ดีเซล ๑๓ คัน ในราคาที่แพงเกินสมควรและไม่เหมาะแก่สถานะการณ์

เมื่ออังกฤษออกจากมาตราทองคำในเดือนกันยายน ๒๔๗๔ ราษฎรไทยต้องได้รับผลกระทบกระเทือนจากเศรษฐกิจหนักยิ่งขึ้นกว่าเก่าอีก รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชได้พยายามหาทางออกและพยายามหลีกเลี่ยงผลร้ายอันนี้ จึงได้ประกาศออกจากมาตราทองคำเมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ด้วย และแก้ไขพระราชบัญญัติเงินตราพุทธศักราช ๒๔๗๑ คำแถลงการณ์ของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช ที่ได้ออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พิจารณาเห็นได้ว่า เสมือนหนึ่งคำสารภาพฉบับที่ ๑ คำแถลงการณ์นั้นมีว่า

“รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตกลงออกจากมาตราทองคำและกำหนดค่าของเงินตราตามปอนด์สเตอร์ลิงก์ในอัตรา เมื่อเงินตราทั้งสองอยู่ในมาตราทองคำ คือ ๑๑ บาทต่อปอนด์

เหตุที่บังคับให้วินิจฉัยเช่นนี้ คือ โภคกิจของประเทศรายได้ของประเทศสยามเกิดจากกสิกรรมแทบทั้งสิ้น ราคาสินค้าได้ตกต่ำอย่างมากมาย แต่ค่าใช้จ่ายในการทำให้บังเกิดผลและการส่งจำหน่ายมิได้ลดลงตามส่วน จึงกระทำให้เกิดภาระแก่ชาวนาและลูกหนี้ซึ่งจะเกินกว่าที่ทนได้

รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้หลงไปว่าการเปลี่ยนราคาเงิน เป็นการแก้โภคกิจตกต่ำได้อย่างถาวรและสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ล่วงมา เมื่อประเทศอังกฤษออกจากมาตราทองคำแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าราคาบาทโดยอัตราทองคำที่สูงอยู่นั้นเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่กระทำให้รายได้ของชาวนาตกต่ำลงอีก สถิติต่อไปนี้แสดงว่าการค้าของประเทศสยาม คือ ทั้งสินค้าขาออกและสินค้าขาเข้ากระทำติดต่อโดยมากกับประเทศที่ใช้เงินตรา อันมีค่าเป็นไปตามราคาสเตอร์ลิงก์

การค้ากับต่างประเทศ
ที่ใช้เงินตรา
ยอดรวม สินค้าขาเข้า สินค้าขาออก
ตามสเตอร์ลิงก์ ๕๒.๑% ๔๓.๓% ๕๑.๖%
ตามมาตราทองคำ ๒๐.๒% ๒๘.๐% ๑๓.๘%
ตามมาตราเงิน ๒๗.๕% ๒๔.๓% ๓๐.๑%

นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแถ้วนี้ ราคาเงินตราเป็นปัจจัยในพฤติการณ์ที่เป็นอยู่บัดนี้อย่างเดียว ซึ่งรัฐบาลจัดทำได้ทันที่ส่วนบัจจัยอื่นๆ นั้นอยู่นอกอำนาจของรัฐบาลที่จะบังคับไปถึงได้หรือมิฉะนั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ด้วยวิธีการ ซึ่งถ้าจัดทำต้องใช้เวลานาน

รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรู้สึกว่า การเปลี่ยนราคาเงินตรากระทบกระเทือนบุคคลทั่วทุกชั้นต่างกันไป แต่ในที่สุดความเจริญแห่งผู้ประกอบการงานทำการค้าและพวกเจ้าหนี้ และความมั่นคงในการเงินของรัฐบาลเองย่อมจะได้รับผล อันเนื่องจากความเจริญมั่งคั่งของผู้ก่อกำเนิดสินค้า

ในการทำงานประมาณประจำปีให้เข้าสู่ดุลยภาพ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำเป็นต้องดำเนินนโยบายตัดทอนรายจ่ายอย่างเข้มงวด และทั้งออกพระราชบัญญัติเก็บภาษีอย่างใหม่ๆ การเปลี่ยนใช้มาตราใหม่จะกระทบกระเทือนงบประมาณเป็นส่วนน้อยเพราะรายจ่ายทางต่างประเทศได้ตั้งตามราคาทองคำเดิม”

การกระทำของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช ปรากฏชัดเจนอยู่ในคำแถลงการณ์นั้นแล้ว และมิได้มีอะไรอีกนอกจากได้ดำเนินการตั้งภาษี เพิ่มภาระภาษีขึ้นใหม่ให้แก่ราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือข้าราชการ ผู้ซึ่งมีรายได้ประจำเป็นรายเดือน และในสถานะการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นผู้มีรายได้ดีกว่าคนอื่น แต่ไม่ใช่ดีในความหมายทั่วๆ ไปที่เข้าใจกันคือเป็นแต่อยู่ในฐานะขัดสนจนน้อยกว่าราษฎรผู้มีรายได้ไม่ประจำ เช่น กสิกร เป็นอาทิ

ภายหลังที่ได้ออกกฎหมายภาษีเงินเดือน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช ก็ได้ออกประกาศ อธิบายความประสงค์ของรัฐบาลให้ทราบว่า

“ความจำเป็นที่ต้องมีภาษีนี้ขึ้น คงจะสังเกตเห็นกันแล้วว่าระหว่างนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายภาษีอากรหลายฉบับ รวมทั้งพระราชบัญญัติภาษีเงินเดือนด้วย การที่รัฐบาลได้ขึ้นอัตราภาษีหรือจัดเก็บภาษีอากรใหม่บางอย่างเช่นนี้ ก็ด้วยมีความมุ่งหมายจะเก็บเงินมาชดเชยจำนวนเงินในประเภทต่างๆ ที่ลดน้อยลง ให้งบประมาณสู่ดุลยภาพ

แม้รัฐบาลได้พยายามตัดทอนรายจ่ายลงอย่างมากที่สุดแล้ว ฐานะการเงินของประเทศก็ยังไม่ปลอดภัยด้วยระหว่างปีที่แล้วมารายได้ลดน้อยลงเป็นลำดับ ประกอบกับเหตุการณ์อันพึงคาดคะเนได้ว่า จำนวนเงินรายได้ในระหว่างปีนี้ยังจะลดลงอีก เช่น การเงินฝืดเคืองและสินค้าสำคัญบางอย่างมีราคาและจำนวนลดลง รัฐบาลจึงตกอยู่ในความจำเป็นต้องขึ้นภาษีและสินค้าสำคัญบางอย่างมีราคาและจำนวนน้อยลง รัฐบาลจึงต้องตกอยู่ในความจำเป็นต้องขึ้นภาษี และจัดเก็บภาษีใหม่บางอย่างเช่นภาษีเงินเดือนนี้ เหมือนอย่างประเทศเจริญแล้วได้จัดแก้”

นี่ก็เป็นคำสารภาพฉบับที่ ๒ ของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช และคำที่รัฐบาลได้แถลงในตอนท้ายว่า “เหมือนอย่างประเทศเจริญแล้วได้จัดแก้” นั้น เป็นการถูกต้องตามสถานะของประเทศไทยแล้วหรือ เปล่าเลย

ถ้าประเทศที่เจริญแล้วนั้นเป็นประเทศอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา หรือฝรั่งเศส หรืออื่นใดในยุโรปแล้วก็เป็นการผิด ความเจริญของประเทศไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ที่จะเรียกหรือนับได้นั้น ก็คือความเจริญของราษฎรไทยในด้านวัฒนธรรมหรือภูมิธรรมเท่านั้น หาใช่ความเจริญในด้านเศรษฐกิจอย่างประเทศที่เจริญแล้วแล้วทั้งหลายไม่ แต่คำแถลงรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น เป็นคำแถลงเพื่อปลอบใจประชาราษฎรเท่านั้น เป็นทางออกของรัฐบาลที่จะต้องออกเพราะรัฐบาลไม่มีทางใดแล้วที่จะหาเงินมาให้พอแก่รายจ่ายของตน

ภายหลังที่ได้ออกกฎหมายเก็บภาษีเงินเดือนแล้วสถานะการณ์เศรษฐกิจ และฐานะการคลังของรัฐบาลก็ไม่มีที่ท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นกว่าเก่าอย่างไร ตรงข้ามผลของภาษีเงินเดือนนี้ได้ก่อความยากจนข้นแค้นให้แก่ข้าราชการยิ่งขึ้นกว่าเก่า และราษฎรไทยก็ยิ่งได้รับความยากจนค่นแค้นแสนสาหัสยิ่งขึ้นๆ ชาวนา ชาวสวนต้องทิ้งนา ทิ้งสวน ความยากเข็ญของราษฎรไทยในวาระนี้มีสุดที่จะกล่าวได้

ในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๔๗๕ รัฐบาลได้ออกประกาศแก่ประชาราษฎร เรื่องความอัตคัดฝืดเคือง ว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่ประชาชนทั้งปวงให้ทราบทั่วกัน ด้วยได้ทรงรับฎีการาษฎรทูลเกล้าถวายมาแต่ที่ต่างๆ หลายฉบับ กราบบังคมทูลร้องทุกข์ถึงความอัตคัดฝืดเคือง ซึ่งเกิดขึ้นแต่ปีหลังมาจนปีนี้เป็นเหตุให้ขัดสนทรัพย์ ทำมาหาได้ไม่พอเลี้ยงชีพและเสียภาษีอากรได้สะดวกเหมือนแต่ก่อน พากันขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เช่น ขอให้งดเก็บภาษีอากร เป็นต้น

กล่าวตามความคิดเห็นของผู้ถวายฎีกาเป็นเอนกนัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบความตามฎีกาก็สงสารด้วยทรงทราบตระหนักอยู่แล้ว ว่าความลำบากของประชาชนมีอยู่แพร่หลาย จึงมีพระราชประสงค์ใคร่จะให้ทราบความตามจริงทั่วกันว่า บุคคลที่รับความลำบากในเวลานี้ ไม่เฉพาะแต่พวกราษฎรที่ถวายฎีกาเท่านั้น ถึงที่เป็นคฤหบดี และพ่อค้าตลอดจนข้าราชการและเจ้านาย ก็ได้รับความลำบากด้วยกันทั้งนั้น

เพราะมูลเหตุแห่งความอัตคัดฝืดเคืองครั้งนี้มีได้เกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตต์ อันพึงจะป้องกันได้ด้วยพระบรมเดชานุภาพ หรือรัฏฐาภิบาลนโยบายของรัฐบาล เหตุเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ก่อนแล้วลามมาโดยลำดับจนถึงประเทศนี้ ความเดือดร้อนมีแก่ชาวประเทศอื่นๆ ก็อย่างเดียวกัน แต่ประเทศของเรานี้ยังเบากว่าประเทศอื่นอยู่โดยมากด้วยเป็นแต่อัตคัดขัดสน ไม่ถึงต้องอดอยากมากเหมือนเขา

ถึงกระนั้นความลำบากก็กระเทือนถึงบ้านเมืองด้วยกันทุกประเทศเพราะเมื่อประชาชนยากจนลง เงินภาษีอากรที่รัฐบาลเคยเก็บเฉลี่ยจากคนทั้งปวงมาใช้ในการปกครองบ้านเมือง ก็ได้น้อยลงไม่พอแก่การดังแต่ก่อน ว่าเฉพาะประเทศเรานี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ เงินภาษีอากรและผลประโยชน์แผ่นดินเก็บได้กว่าเก้าสิบหกล้านบาทใน พ.ศ. ๒๔๗๔ จำนวนเงินเก็บได้ตกต่ำลงกว่าสิบเก้าล้านบาทมาถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ ประมาณจำนวนเงินจะตกลงไปอีกสักยี่สิบล้านบาท รวมเงินแผ่นดินตกต่ำลงในสองปีนถึงสามสิบล้านบาท ก็เป็นเหตุให้เกิดวามลำบากแก่รัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าจะสงเคราะห์ราษฎรด้วยการเลิกภาษีอากรเงินแผ่นดินก็จะยิ่งขาดมากไป เหมือนตัดกำลังที่จะปกครองราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขให้อ่อนหนักลงไป อาจจะเกิดเหตุร้ายและความเดือดร้อนแก่ราษฎรยิ่งกว่าที่ต้องเสียภาษีอากรเสียอีก ฐานะการเงินแผ่นดินที่เป็นอยู่ในบัดนี้ ถึงจะไม่ลดภาษีอากรลงเลย รัฐบาลก็ยังจะต้องขวนขวายหาเงินจากทางอื่นมาชดใช้ให้พอจำนวนเงินที่ขาด มิฉะนั้นก็จะเกิดภัยพิบัติถึงบ้านเมืองด้วย

เมื่อความจำเป็นมีอยู่อย่างนี้ จึงต้องโปรดฯ ให้ตัดเงินรายจ่ายราชการลง ด้วยเลิกทบวงการและลดจำนวนข้าราชการ ตัดรายจ่ายทางเงินเดือนและค่าใช้สอยให้น้อยลง เพียงเท่านั้นก็ยังไม่พอชดใช้เงินที่ขาดถึงต้องตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง แต่ภาษีอากรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่คราวนี้คิดเก็บเฉลี่ยในบุคคลจำพวกอื่น อันเป็นชั้นผู้มีทรัพย์พอจะเสียได้เป็นพื้น

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สู้สละเงินซึ่งเลยได้สำหรับใช้สอยส่วนพระองค์ ออกช่วยราชการแผ่นดินส่วนใหญ่ และยอมให้เก็บภาษีทรัพย์ส่วนพระองค์อันต้องพิกัดเหมือนประชาชนทั้งปวง แต่ราษฎรทั้งหลายนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้ผ่อนผันมิให้ต้องลำบากมากขึ้นด้วยภาษีอากรที่ตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวมาแล้ว ว่าโดยย่อครั้งนี้เป็นเวลาที่ชาวสยามทุกจำพวกนับแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงไปถึงราษฎรพลเมืองจะต้องช่วยกันรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายด้วยโภคกิจเกิดวิปริตทั่วทั้งโลก จำต้องยอมทนความลำบากด้วยกันไปชั่วคราว และหวังใจด้วยกันว่าจะพ้นความอัตคัดขัดสนได้ในไม่ช้านาน ด้วยชาวประเทศอื่นๆ ก็เดือดร้อนในเรื่องนี้เหมือนกับเรา รัฐบาลทุกๆ ประเทศก็พากันร้อนใจและคิดแก้ไขอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

หากเป็นการใหญ่หลวงด้วยความอัตคัดเกี่ยวเนื่องถึงกันไปหมด ประเทศหนึ่งประเทศใดจะแก้ไขแต่โดยลำพังไม่ไหว จึงยังปรึกษาหารือกันช้าอยู่ ส่วนประเทศของเราก็ต้องอนุโลมตาม ถึงกระนั้นการอย่างใดซึ่งทรงสามารถจะบรรเทาความเดือดร้อนได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดฯ ให้จัดการนั้นๆ ดังเช่นให้ลดค่านาเรียกน้อยลงกว่าแต่ก่อน และลดราคาเงินบาทให้ราษฎรซื้อขายได้ผลประโยชน์มากขึ้น เป็นต้น

การอย่างใดที่รัฐบาลจะพึงกระทำเพื่อบรรเทาความลำบากได้ก็ยังจะทำต่อไป ในส่วนประชาชนก็อาจจะช่วยรัฐบาลได้ด้วยอุตส่าห์ประกอบกิจการให้เกิดโภคทรัพย์ยิ่งขึ้น และพยายามสงวนทรัพย์สินซึ่งมีอยู่ อย่าใช้จ่ายให้เปลืองไปเสียในในการที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็จะบรรเทาความลำบากลงได้ ส่วนการเสียภาษีอากรนั้นก็ควรพยายามตั้งใจช่วยรัฐบาลโดยเต็มใจตามความสามารถ เพื่อจะได้เป็นกำลังสำหรับรัฐบาลปกครองบ้านเมืองและคิดการแก้ไขเหตุร้ายต่างๆ ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

ถ้าหากรัฐบาลไร้ทุนทรัพย์และรายได้แล้ว ก็ย่อมไม่สามารถจะดำเนินการใดๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนได้ ขอให้ประชาชนทั้งหลายเห็นแก่บ้านเมืองเป็นสำคัญจงทั่วกัน

ประกาศมา ณ วันที่ ๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน”

ประกาศฉบับนี้ มีข้อความชัดเจนอยู่ทุกๆ ตัวอักษรแล้วการกระทำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ตัดทอนรายได้จากงบประมาณแผ่นดินสำหรับใช้จ่ายส่วนพระองค์นั้น นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาราษฎรอย่างที่สุด ทั้งได้ทรงรับความทุกข์ยากเช่นเดียวกับประชาราษฎรทั้งปวงแต่อันที่จริงข้อความอื่นๆ ในคำประกาศนี้เป็นคำสารภาพ และเป็นคำสารภาพฉบับที่ ๓ ของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช และเป็นโบว์ดำยิ่งกว่าบรรดาโบว์ดำทั้งหลายที่ได้มีมาแล้วจนถึงปีนี้

รัฐบาลสมบูรณาสิทธิราชได้โยนความรับผิดในสถานะการณ์ที่เป็นอยู่นี้ไปให้แก่ชาติอื่นๆ และเป็นการยอมรับนโยบาย “ยถากรรม” ว่าเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้ใช้ในการบริหารประเทศชาติและประชาราษฎร

อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ ราษฎรผู้ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรก็ถือว่าเป็นเสมือนหนึ่งโอสถที่ทำความชุ่มชื่นชั่วขณะหนึ่งให้แก่ตน แต่แล้วความชุ่มชื่นนั้นก็อันตรธานไป ความทุกข์ยากความข้นแค้นเข็ญใจได้เข้ามาแทนที่ตามเดิม และทวีหนักขึ้น หนักขึ้นแม้จะปราศจากภยันตรายอื่นๆ เช่น โจรภัย อัคคีภัย อุกทกภัย พยาธิภัยต่างๆ ก็ตามเถิด แต่เมื่อเศรษฐภัยเกาะกิน และกำลังคร่าห์ชีวิตประชาราษฎรไปสู่ความตายอยู่ทุกวาระแห่งลมหายใจเข้าออกอยู่เช่นนี้แล้ว อะไรเล่าที่จะช่วยชีวิตของบรรดาประชาราษฎรไทยไว้ได้ เมื่อรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชก็ไม่สามารถที่จะช่วยได้

 

หมายเหตุ :

  • อักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
  • ปรับปรุงชื่อตอนโดยทีมบรรณาธิการ

 

บรรณานุกรม

บทความในหนังสือ :

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, “วิวัฒนาการแห่งการเมืองและการเศรษฐกิจ” ใน ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2526), น. 53-66.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :


[1] ดูประธานธิบดีโรสเวลท์ (Roosevelt) โดยผู้เขียนคนเดียวกัน