ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

โมฆสงคราม: บันทึกสันติภาพฉบับสมบูรณ์ที่สุด ของปรีดี พนมยงค์

25
สิงหาคม
2564

 

สำหรับผู้สนใจใคร่รู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ช่วงเวลา 15 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ภายใต้บทบาทนำของรัฐบาลคณะราษฎร (2475-2490) ช่วงเวลานี้ย่อมนับว่ามีเสน่ห์ชวนน่าติดตามไม่มากก็น้อย ทั้งในแง่ของการเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง การนำมาพาชาติไปสู่ความเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ สิ่งที่น่าสนใจคือผู้นำของชาติในเวลานั้น ตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ถึงที่สุดผู้นำในเวลานั้นพวกเขาเผชิญอุปสรรคอย่างไร 

“โมฆสงคราม: บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” เป็นหนังสือที่รวบรวมข้อมูลจากบันทึกของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตีพิมพ์ใหม่ในวาระครบรอบ 70 ปี วันสันติภาพไทย (16 สิงหาคม 2560) ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้เอาใจใส่ต่อประวัติศาสตร์ช่วงเวลานั้น

ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ อาจจะพอกล่าวอย่างสังเขปด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้ 

หนึ่ง เป็นบันทึกของผู้นำชาติหลังสงครามโลก ที่มีส่วนสำคัญให้ไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลก

สอง คือบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมจังหวะสำคัญในการดำเนินนโยบายของสยาม/ไทยในสนามการเมืองโลก และ

สาม เต็มไปด้วยเกร็ดและหลักฐานชั้นต้นที่ปรีดี พนมยงค์ เขียนและรวบรวมด้วยตัวเอง

กล่าวในในเชิงรูปแบบแล้ว ผู้จัดพิมพ์คือ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้จัดวางตัวบท ภาพประกอบ และเอกสารชั้นต้นที่นำมาแสดงอย่างพิถีพิถัน โดยคัดสรรและลำดับเรื่องอย่างเรียบง่ายหากแต่เป็นระบบ ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นสายธารประวัติศาสตร์ทั้งในเชิงความคิดและเหตุการณ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปรากฏผ่านเนื้อหาที่มีการแบ่งเป็น 17 บท โดยลำดับเรื่องตั้งแต่นโยบายสันติภาพของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปจนกระทั่งถึง การต่อสู้กับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยวิธีการรัฐสภา ในช่วงปลายทศวรรษ 2480

รวมถึงยังได้นำเอาคำปรารภของปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวถึงคำประกาศสันติภาพ เข้ามานำเรื่อง ช่วยให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพรวมหลักคิดของปรีดีก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวอันชวนติดตามตลอดทั้งเล่ม 

บทความนี้ ทำหน้าที่เป็นเพียงการนำข้อคิดบางประการที่ได้จากการอ่านหนังสือ ที่น่าจะเป็นคุณต่อผู้อ่านรุ่นหลัง และเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้สนใจทำการค้นคว้าต่อไป โดยอาศัย “โมฆสงคราม” เป็นสารตั้งต้นในการเริ่มหาความรู้และร่วมกันถกเถียงกับหนังสือเล่มนี้กันในวาระต่อไป   

ฉากหลังนโยบายการต่างประเทศที่ละเอียดอ่อน

ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เนื่องจากโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคณะราษฎรที่ประกาศในเวลาย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างหนึ่งคือ “หลักเอกราช” หนังสือเล่มนี้ อธิบายแนวทางการดำเนินนโยบายสันติภาพของรัฐบาลพระยาพหลฯ โดยปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเดินทางไปเจรจากับมหาอำนาจ

ถึงตรงนี้ผู้อ่านจะได้เห็นหลักคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในชื่อ “สยามสันติภาพ” อันเป็นจุดร่วมของรัฐบาลคณะราษฎรที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ภายใต้แนวทางที่ว่า “สยามต้องเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับชาติใด” ในบทแรกๆ เนื้อหาส่วนใหญ่จึงให้ข้อเท็จจริงทั้งในแง่หลักคิดและเกร็ดประวัติศาสตร์ ว่าทำไมการประเมินสถานการณ์เพื่อเจรจาสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมสำหรับสยามของปรีดีจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ และยากลำบากอย่างไร

การยืนยันนโยบายสันติภาพของรัฐบาลคณะราษฎร นับเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่โดดเด่นอย่างมาก เกร็ดความรู้ในช่วงนี้จึงล้วงลึกลงไปถึงการเมืองในรัฐบาลเอง ผู้อ่านที่สนใจการเมืองไทยหลังปราบกบฏบวรเดช 2476 คงได้เห็นร่องรอยความคิดที่น่าสนใจนี้

ในด้านหนึ่ง สัจธรรมของการเมืองไทยย่อมแยกไม่ได้จากภาษิตที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ความสัมพันธ์ของกลุ่มการเมืองไทยทุกกลุ่ม ย่อมผันแปรไปตามธรรมชาติ บันทึกของปรีดีตลอดทั้งเล่ม ยังระบุอุปนิสัย ลักษณะเฉพาะของตัวแสดงทางการเมืองตามทัศนะของปรีดีเอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลต่อจังหวะก้าวทางการเมืองของแต่ละคนไว้ด้วย

พลวัตทางความคิดของผู้นำเช่นนี้ มาเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับบุคคลแวดล้อมในเวลาถัดจากนั้น ดังเราจะได้เห็นอย่างเข้มข้น เมื่อสยาม/ไทย เดินเข้าสู่กระดานหมากสงครามโลก โดยเฉพาะในบทที่ 3-4

จนถึงในบทที่ 11 ผู้จัดพิมพ์ได้นำรายละเอียดของการต่อสู้ต่อรอง โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงสาเหตุของการประกาศสงครามของไทย ว่าขาดความชอบธรรมทั้งในแง่ที่เป็นการตัดสินใจของผู้นำที่ไม่ผ่านรัฐสภา และเป็นไปตามมติของปวงชนชาวไทย และเมื่อกล่าวถึงบทนี้ต้องเชื่อมโยงกับบทที่ 12 ที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการดำเนินนโยบายของไทยมิได้มีลักษณะเป็น “Siamese Talk” หรือ “การทูตแบบไผ่ลู่ลม” ดังที่นักวิจารณ์บางคนปรามาสเอาไว้ หากแต่การดำเนินการต่อต้านฝ่ายอักษะเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ แล้ว ตั้งแต่ไทยถูกบีบให้รับข้อเสนอของญี่ปุ่น

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า แม้ไทยสูญเสียการนำไปแล้ว แต่หลักเอกราชยังอยู่ในใจของปรีดีเสมอ รอวันที่เขาจะทวงคืนกลับมา ดังที่มีการดำเนินนโยบายการให้กู้ยืมเงินแก่ญี่ปุ่นในช่วงที่ปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนั่นนำมาสู่ความไม่พอใจจากกองทัพญี่ปุ่นที่มีต่อปรีดี

“หลักเอกราช” คือสิ่งที่อยู่ในใจปรีดีเสมอ

และแล้วความแตกต่างทางความคิดของผู้นำราษฎรก็มาปรากฏอย่างชัดเจนในสงครามอินโดจีน ขณะที่ฝ่ายหนึ่งสนใจไปที่การแสวงหาอำนาจทั้งในฐานะส่วนตัวและทางการเมือง นี่จึงนำมาสู่สิ่งที่ปรีดีเห็นว่าบิดเบือนไปจากปณิธานตั้งต้นของคณะราษฎร ฉะนั้นการตัดสินใจทางการเมืองนับจากนี้ จึงเป็นทั้งหลักฐานและมรดกที่ส่งผลต่อนโยบายทางการต่างประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางที่เดินคนละเส้นระหว่างหลวงพิบูลสงคราม และปรีดี พนมยงค์ ปรากฏให้เห็นในการเจรจาที่ละเอียดกับทั้งญี่ปุ่น (บทที่ 6 และบทที่ 7)

การเมืองแบบกลุ่มการเมือง (factional theory) นับเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาตั้งแต่อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ยังปรากฏให้เห็นในช่วงเวลานี้เช่นกัน ฉะนั้นสิ่งที่พึงระวังสำหรับผู้ติดตามสถานการณ์คือการประเมินการตัดสินใจหนึ่งๆ  ไม่ควรแยกขาดจากตัวละครแวดล้อม เงื่อนไขบริบทในช่วงเวลานั้น ลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจคือสิ่งที่ปรีดีบันทึกไว้ด้วย ทำให้เห็นแง่มุมที่ชวนให้คิดว่าแม้แต่ในรัฐบาลเองก็เผชิญกับความไม่เป็นเอกภาพเช่นกัน

จนเมื่อสยามเดินทางมาถึงจุดแตกหัก สิ่งที่ดีงามที่เคยสร้างไว้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เผชิญความท้าทายใหญ่ๆ นั่นคือ การสูญเสียเอกราช

หลังสงครามโลกสิ้นสุด ภาระบนบ่าของรัฐบาลที่นำโดยเสรีไทย ก็พาให้พวกเขาต้องเข้ามาเกี่ยวพันกับชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่หนักอึ้งไม่แพ้ทศวรรษก่อนหน้านั้น

หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอท่าทีของชาติมหาอำนาจเหล่านั้น ก่อนจะเปิดเรื่องไปสู่การต่อสู้กับรัฐบาลจอมพล ป. ด้วยวิถีทางรัฐสภา แบบที่รัฐบาลคณะราษฎรยึดมั่นมาโดยตลอดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

“เสรีไทย” ขบวนการเฉพาะกิจ เมื่อเสร็จภารกิจก็สลายตัว

กล่าวได้ว่าตัวละครเอกของ “โมฆสงคราม” คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นพลพรรคของขบวนการเสรีไทยจากทั่วประเทศ จากที่เริ่มต้นในปี 2485 จนกระทั่งสิ้นสงคราม พวกเขาระดมคนได้จำนวนกว่า 80,000 คน ก่อนจะร่วมเดินขบวนสวนสนามบนถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488 เมื่อสิ้นสุดสงครามโลก โดยมีปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย (รูธ) เป็นประธาน

แม้ว่าขบวนการเสรีไทยจะมีบทบาทสำคัญที่โน้มนำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับข้อเสนอของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไทยไม่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม

แต่ปรีดีและพลพรรคของเขากลับเห็นว่า ขบวนการเสรีไทยเป็นแต่เพียงกองหน้า (vanguard) ของปวงชนชาวไทยผู้รักชาติเท่านั้น ดั่งปรากฏในสุนทรพจน์ของเขาเองตอนหนึ่งว่า 

“ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าเป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ที่จะไม่ได้ร่วมในองค์กรนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ ๑๗  ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้..” (หน้า 173)

ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ขบวนการอันเป็นองค์กรที่สามารถระดมคนที่ความรู้ มีความสามารถและศักยภาพขนาดนี้ เหตุใดจึงไม่ร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อ หากแต่เลือกที่จะสลายตัวอย่างน้อยในเชิงขบวนการ

ข้อคิดนี้เราอาจจะเข้าใจได้จากบันทึกของ “รูธ” เอง ที่ยังเผยให้เห็นการติดต่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตร เบื้องหลังของค่าใช้จ่าย การดำเนินงานใต้ดินหลังไฟสงครามมอดลง ในบทที่ 8 และ 9 โดยเฉพาะในบทที่ 9 ได้กล่าวถึงอุบัติเหตุที่ทำให้ปรีดีจำต้องลดบทบาทไปสู่ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แต่ใครจะรู้ในอนาคตว่าปรีดี ใช้ตำแหน่งให้คุณูปการต่อการเมืองไทยอย่างไรในเวลาต่อมา โดยอาศัยไหวพริบทางการเมืองอย่างละเอียดลออ จนกระทั่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับบทบาทของเสรีไทย และคำประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นโมฆะในเวลาต่อมา 

“โมฆสงคราม” ย่อมเสมือนเข็มทิศนำทางไม่เพียงแต่ปุถุชนที่เอาใจใส่ต่อบ้านเมือง แต่ยังเสมือนคัมภีร์นำทางสำหรับผู้กำหนดนโยบายทางการเมืองการต่างประเทศของไทย ที่ร่วมสมัยไม่รู้จบ

 

 

หนังสือ “โมฆสงคราม: บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์” ราคาปกติ 370 บาท

? พิเศษ!!! แถมฟรี DVD พระเจ้าช้างเผือก The King Of The White Elephant มูลค่า 300 บาท

? แถมฟรี!!! ที่คั่นหนังสือลาย “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” และลาย “ผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย”

? จัดส่งฟรี!!! จำนวนจำกัด

ระยะเวลาโปรโมชั่น: วันนี้ - 31 สิงหาคม 2564

? สั่งซื้อได้ที่ https://m.me/pridibanomyonginstitute

อ่านคำปรารภทั้งหมดได้ที่ https://pridi.or.th/th/content/2020/08/390