ข้อมูลจากบทความ “คณะสุภาพบุรุษกับวรรณกรรมราษฎร” โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในหนังสือ “ปรีดีศึกษา และปาฐกถาศิลปกับสังคม”
“วรรณกรรมแนวทดลอง” คือรูปแบบการเขียนงานวรรณกรรมประเภทเรื่องแต่ง ที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากรูปแบบของเรื่องเล่ามาตรฐานทั่วไป ที่เล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมาเหมือนนิยายหรือนิทานที่เราคุ้นเคย มีตัวละคร มีฉาก มีเนื้อเรื่องเป็นเส้นตรงและอาจจะมีการหักมุมตอนท้ายบ้าง
แต่วรรณกรรมแนวทดลองอาจจะไม่มีตัวละครที่ชัดเจน ไม่มีเส้นเรื่อง บางครั้งอาจจะใช้รูปแบบการพิมพ์หรือภาพถ่ายและกราฟฟิกประกอบด้วย งานวรรณกรรมแนวทดลองที่มีชื่อเสียงของไทยที่ใคร ๆ ก็จะนึกถึงหรือนึกออก คืองานของ วินทร์ เลียววาริณ ในรวมเรื่องสั้นชุด “หนึ่งวันเดียวกัน”
นักอ่านบางท่านอาจจะมองว่า งานวรรณกรรมแนวทดลองเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือได้รับความนิยมกันในช่วงสิบถึงยี่สิบปีนี้ แต่ที่แท้แล้ว เรามีงานวรรณกรรมแนวทดลองกันมาตั้งแต่ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ ในช่วงปี 2475 แล้ว
เราจะพาท่านไปรู้จักกับนักเขียน “คณะสุภาพบุรุษ” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญญาชนร่วมสมัยการอภิวัฒน์
“คณะสุภาพบุรุษ” คือ กลุ่มนักเขียนหนุ่มที่นำโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งชักชวนกันมาร่วมทำนิตยสารรายปักษ์ “สุภาพบุรุษ”ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ในปี 2472 โดยนักเขียนในคณะสุภาพบุรุษในระยะแรกนั้นประกอบด้วยนักเขียนสิบคน ซึ่งบางท่านเป็นที่รู้จักดีในแวดวงผู้นิยมวรรณกรรมไทย คือตัวคุณกุหลาบเอง (นามปากกา “ศรีบูรพา” “ชื่นใจ” และ “อิสระชน”) มาลัย ชูพินิจ (นามปากกา “แม่อนงค์” และ “ม.ชูพินิจ”) อบ ไชยวสุ (นามปากกา “ฮิวเมอริสต์” และ “L. กอฮอล์”) โชติ แพร่พันธุ์ (นามปากกา “ยาขอบ”) เป็นต้น
ในช่วงเวลาที่รุ่งเรือง คณะสุภาพบุรุษประกอบด้วยนักเขียนถึง 40 คนเลยทีเดียว
การเกิดขึ้นของคณะสุภาพบุรุษ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย และเป็นพัฒนาการของงานเขียนเรื่องร้อยแก้วแนวใหม่ เช่นที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้ทัศนไว้ว่า “คณะสุภาพบุรุษ” คือหนึ่งในตัวอย่างของความเติบโตในรสนิยมใหม่ ๆ ภายใต้การนำของกุหลาบ สายประดิษฐ์
คณะสุภาพบุรุษนี้ได้สถาปนาสถานะของ “นักเขียน” ในฐานะอาชีพอิสระที่มีพันธะความรับผิดชอบต่อราษฎรมากกว่าต่อเจ้านายหรือรัฐ ทั้งยังอาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ช่วยบุกเบิกการสร้างสรรค์วรรณกรรมสมัยใหม่ที่ตัดขาดจากวรรณกรรมในอดีต นำเสนอแนวความเชื่อสมัยใหม่ของกระฎุมพีหรือคนชั้นกลางผู้มีฐานะ ที่มีความเชื่อและโลกทัศน์แตกต่างจากทัศนคติในการประพันธ์ของคนชั้นสูงในยุคนั้น
ความแตกต่างสำคัญอย่างหนึ่ง คือในอดีตนั้น สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “คนแต่งเรื่อง” ไปมากกว่าตัวงาน ผู้คนจะจำ “เรื่อง” ได้ แต่อาจจำไม่ได้หรือไม่รู้ว่า “ผู้เขียน” เป็นใคร เว้นแต่ผู้เขียนนั้นเป็นเจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์จึงจะได้รับการบันทึกในชิ้นงานว่าเป็นงานพระนิพนธ์หรือพระราชนิพนธ์ แต่สำหรับคณะสุภาพบุรุษนั้น ได้ชูให้ “นักเขียน” หรือ “ผู้ประพันธ์” นั้นมีตัวตน เพื่อรับประโยชน์และชื่อเสียงจากผลงานของตน
นอกจากนั้น คณะสุภาพบุรุษ ยังสร้างให้การเขียนหนังสือจากการ “เขียนเล่น” เป็น “งาน” อย่างหนึ่ง และเป็นนิตยสารเล่มแรกที่มีนโยบายการจ่ายค่าเรื่องให้แก่ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์
จึงอาจกล่าวได้ว่า กุหลาย สายประดิษฐ์ และ “คณะสุภาพบุรุษ” คือต้นกำเนิดของระบบนักเขียนอาชีพในประเทศไทย
ยังไม่ลืมว่าเราจะมาเล่าให้ฟังกันถึงเรื่อง “วรรณกรรมแนวทดลอง” ในยุคนั้น
ก็เพราะว่า คณะสุภาพบุรุษนั้น ได้เปลี่ยนแปลงวงการการแต่งเรื่อง ให้มีนักเขียนอาชีพ ที่สร้างงานประพันธ์เพื่อราษฎร ซึ่งเป็นของใหม่แต่มิใช่เพียงแค่นั้น หากคณะสุภาพยังนำหรือทดลองรูปแบบงานเขียนแบบใหม่ ที่แตกต่างจากแนวขนบที่เคยมีอยู่ในยุคนั้นด้วย
ในเรื่องสั้นชื่อ “เลือกพระเอก” ของ อบ ไชยวสุ (ฮิวเมอร์ริสต์) เป็นตัวอย่างอันดีของวรรณกรรมแนวทดลองที่มีความเป็นวรรณกรรมเต็มที่ หากจริงจังและครื้นเครงไปพร้อมกัน
เรื่องสั้น “เลือกพระเอก” นั้น เป็นเรื่องของผู้เล่าที่พยายามเขียนนิยายสักเรื่องหนึ่ง โดยยังไม่มีตัวพระเอก ทันใดนั้นก็มีชายมากหน้าหลายตาเดินเข้ามาในห้องของเขา และสมัครที่จะเป็น “พระเอก” ในนิยายเรื่องใหม่ที่เขาจะแต่งขึ้น โดยชายเหล่านั้นคือ พระเอกและผู้ร้าย ในนิยายและเรื่องสั้นต่าง ๆ ของนักเขียนคนอื่นในคณะสุภาพบุรุษนั่นเอง
นี่เป็นรูปแบบการเขียนแบบเดียวกับบทละครเรื่อง Six Characters in Search of An Author ของ Luigi Pirendello (ปัจจุบันมีแปลภาษาไทยในชื่อ “ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์” แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ของสำนักพิมพ์ “อ่านอิตาลี”
ในฉากหนึ่งที่บรรดาตัวละครแบ่งกันพูดขึ้นพร้อมกันอย่างเซ็งแซ่เพื่อขอให้ผู้ประพันธ์เลือกตนเป็นพระเอกนั้น ผู้เขียนได้ใช้กราฟฟิกตัวอักษรเป็นรูปแบบนี้
เทคนิคนี้อาจจะดูธรรมดาในยุคปัจจุบัน แต่ขอให้ระลึกว่านี่คือเรื่องสั้นที่แต่งขึ้นเมื่อราว 90 ปีที่แล้ว ในสมัยที่การพิมพ์นั้นใช้ตัวพิมพ์ตะกั่วมาเรียงกันบนรางเป็นหน้า ๆ ไม่มีคอมพิวเตอร์และโปรแกรมจัดหน้าอย่างเช่นในปัจจุบัน
นี่คือความก้าวหน้า และการ “ทดลอง” ของนักเขียนร่วมสมัยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย.