และดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเสมอมา พายุใหญ่ทางการเมืองนั้นมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าจากเสียงฟ้าลั่นคำรามมาแต่ไกลของวรรณกรรม (เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ๙)
อาจกล่าวได้ว่า หากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือ พายุใหญ่ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตย การเกิดขึ้นของคณะสุภาพบุรุษคือหนึ่งใน “เสียงฟ้าลั่นคำรามมาแต่ไกลของวรรณกรรม” ที่เผยให้เห็นความใฝ่ฝัน ความปรารถนาของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมสยามที่มุ่งหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งเสรีภาพและความเสมอภาค
เฉกเช่นที่ปรากฏในคำประกาศของคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ที่ว่า “ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า” (อ้างจากเว็บสถาบันปรีดี พนมยงค์)
“คณะสุภาพบุรุษ” คือ กลุ่มนักเขียนหนุ่มที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ชักชวนมารวมตัวกันทำนิตยสารวรรณกรรมรายปักษ์ชื่อ สุภาพบุรุษ พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ มีกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ อบ ไชยวสุ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเล่าว่า หลังจากที่กุหลาบลาออกจากงานผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารรายเดือน เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ได้มาหารือกับเขาเกี่ยวออกนิตยสารใหม่ โดยตั้งใจจะรวบรวมพรรคพวกนักเขียนรุ่นเดียวกันมาช่วย อบเห็นดีเห็นงามด้วยถึงขั้นเสนอให้ใช้พื้นที่ชั้นบนของ “ห้องเกษมศรี” หน้าวัดชนะสงคราม เป็นสำนักงาน (ดูรายละเอียดในสุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อบ ไชยวสุ, หน้า ๘๕ - ๑๐๒)
จากข้อเขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับคณะสุภาพบุรุษ จรัญ วุธาฑิตย์ ได้ให้ข้อมูลว่า “ชุดผู้ก่อการ” มีด้วยกัน ๑๐ คน คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (“ศรีบูรพา” “จีนใจ” และ “อิสรชน”) มาลัย ชูพินิจ (“แม่อนงค์” และ “ม. ชูพินิจ”) อบ ไชยวสุ (“ฮิวเมอริสต์” และ “L. กอฮอล์”) ระคน เภกะนันท์ (“กู๊ดบอย”) อุเทน พูลโภคา (“ช่อมาลี”) โชติ แพร่พันธุ์ (“ยาขอบ”) บุญทอง เลขะกุล (“วรมิตร”) สนิท เจริญรัฐ (“ศรีสุรินทร์”) สุดใจ พฤทธิสาลิกร (“บุศราคำ”) และ จรัญ วุธาทิตย์ (“ร.วุธาทิตย์”)
กลุ่มผู้ก่อการได้ชักชวนเพื่อนนักเขียนอีกจำนวนหนึ่งมาร่วมเขียนให้นิตยสารด้วย ได้แก่ ขุนจงจัดนิสัย, ชิต บุรทัต, หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา, เสนอ บุณยเกียรติ, ฉุน ประภาวิวัฒน, สถิต เสมานิล, โพยม โรจนวิภาต, และ พัฒน์ เนตรรังษี (ประกาศ วัชราภรณ์ หน้า ๒๖๕)[1]
อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้าเพิ่มเติมโดยพิจารณา จากชื่อนักเขียนที่มีเรื่องตีพิมพ์ในนิตยสาร สุภาพบุรุษ สุชาติเสนอว่า คณะสุภาพบุรุษยังมีนักเขียนชายและหญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถจัดได้ว่าอยู่ในคณะสุภาพบุรุษ แต่ไม่ได้รับการกล่าวถึง[2] สอดคล้องกับข้อมูลจากคอลัมน์ “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด” ใน สุภาพบุรุษ ที่เล่าถึงบรรยากาศการพบปะสังสรรค์ในวาระครบรอบหนึ่งปีของนิตยสารที่ระบุว่า "สมาชิกของเราที่มาชุมนุมในคืนนั้นมีจำนวนราว ๔๐ เศษ” (“นายหน้า” หน้า ๒๐๑) ต้องถือว่าคณะสุภาพบุรุษภายใต้การนำของกุหลาบ สายประดิษฐ์ สามารถรวบรวมนักเขียนทั้งชายหญิงรุ่นใหม่ไว้ได้ค่อนข้างมากทีเดียว
หลายคนในภายหลังได้กลายเป็นนักเขียนชื่อดัง ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์, อบ ไชยวสุ, โชติ แพร่พันธุ์, มาลัย ชูพินิจ, สันต์ เทวรักษ์, ฉุน ประภาวิวัฒน, ป่วน บูรณศิลปิน, นงเยาว์ ประภาสถิต เป็นต้น
นักวิชาการ นักเขียน และนักวิจารณ์ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “คณะสุภาพบุรุษ” คือ จุดพลิกผันที่สำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ เสถียร จันทิมาธร ชี้ว่า นิตยสาร สุภาพบุรุษ ของนักเขียนกลุ่มนี้ “เป็นหลักเขตสำคัญแบ่งยุคแบ่งสมัย ทั้งในแง่การรวมกลุ่ม, ในแง่ของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และที่เป็นเวทีให้นักเขียนหนุ่มได้เสนองานเขียนที่ก้าวบนเส้นทางจินตนิยมอันต่างไปจากนิยายแบบเดิมและเรื่องอ่านเล่นที่เขียนกันในสมัยนั้น” (เสถียร จันทิมาธร, ๑๔๖)
วิภา กงกะนันท์ เสนอว่า สุภาพบุรุษ เป็นนิตยสารที่เรียกได้ว่าเป็น ‘คลื่นลูกใหม่’ อีกลูกหนึ่งในวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทย กองบรรณาธิการ และนักเขียนของสุภาพบุรุษ เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นผลผลิตรุ่นแรกๆ ของสังคมไทยที่มีรากฐานของการพัฒนามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕” (วิภา กงกะนันท์, ๒๙๕)
ส่วน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประกาศให้คณะสุภาพบุรุษ คือ “‘หมุดหมายทางวรรณกรรม’ ที่สำคัญยิ่งในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ และถือเป็นรากเหง้าสำคัญ” (สิงห์ สนามหลวง, หน้า ๕๘)
อย่างไรก็ตาม สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในภายหลังได้ตั้งข้อสังเกตถึงพัฒนาการของ “ร้อยแก้วแนวใหม่” ในสังคมไทยที่เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ ๒๔๖๐ และ ๒๔๗๐ ไว้ว่า
กุหลาบ สายประดิษฐ์และเพื่อนพ้องในคณะ ‘สุภาพบุรุษ’ คือหนึ่งในตัวอย่างของความเติบโตในรสนิยมใหม่ๆ เหล่านั้น ขอย้ำว่าคณะ ‘สุภาพบุรุษ’ เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างคณะเดียวเท่านั้น เพราะในช่วงระยะเวลาประมาณ ๒ ทศวรรษนั้น ยังมีคณะนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่มีผลงานให้น่าศึกษาอีกนับเป็นร้อยคณะ
อาทิ กุลสัตรี ประตูใหม่ อุตริวิทยา สยามมวยผดุงวิทยา ศรีกรุง ไทยเอื้อ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ศัพท์ไทย ไทยเขษม สารานุกูล หนังสือพิมพ์นักเรียน สตรีไทย สยามยุพดี โฟแท๊กซ์ สมานมิตรบรรเทอง เฉลิมวุฒิ เริงรมย์ สวนอักษร ฯลฯ (สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ วรรณา สวัสดิ์ศรี, ๕๙) (คำสะกดคงไว้ดังต้นฉบับ)
เป็นความจริงที่ว่าคณะสุภาพบุรุษคือหนึ่งในหลายๆ คณะนักเขียนที่เกิดขึ้นดำรงอยู่ และบ้างก็ล้มหายตายจากไปในช่วงเวลาดังกล่าว กระนั้นก็ตามคณะสุภาพบุรุษมีลักษณะพิเศษบางประการที่ไม่พึงลดทอนให้เป็นเพียงหนึ่งในร้อยของคณะนักเขียนยุคนั้น
ในที่นี้ผมอยากจะเสนอว่าคณะสุภาพบุรุษภายใต้การนำของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการสถาปนาสถานะนักเขียนในฐานะอาชีพอิสระที่มีพันธะความรับผิดชอบต่อราษฎรมากกว่าต่อเจ้านายหรือรัฐ ทั้งยังอาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ช่วยบุกเบิกการสร้างสรรค์วรรณกรรมสมัยใหม่ที่ตัดขาดจากวรรณกรรมในอดีต
คณะสุภาพบุรุษ กับ การเมืองของเรื่องรักข้ามชนชั้น
เนื้อหาส่วนใหญ่ของวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร สุภาพบุรุษ จะเกี่ยวข้องปัญหาความรักต่างชนชั้น และประเพณีคลุมถุงชนอันเป็นเนื้อเรื่องที่พบได้ทั่วไปในวรรณกรรมยุคนั้น หากพิจารณาจากบรรทัดฐานปัจจุบัน เรื่องเหล่านี้อาจจะขาดความหนักแน่นทางความคิด หาคุณค่าหรือแก่นสารทางปัญญาไม่ค่อยจะได้ และห่างไกลอย่างยิ่งจากมิติทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ในบริบทของสังคมไทย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ เรื่องราวเหล่านี้มีนัยทางการเมืองอยู่ไม่น้อย ปรากฏการณ์ความรักข้ามชนชั้นที่ถูกหยิบยกมานำเสนอบ่อยๆ ในวรรณกรรมยุคนั้น น่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากอัตราเร่งที่ไม่เท่ากันระหว่างความเปลี่ยนแปลงด้านจารีตประเพณีของการแบ่งช่วงชั้นคนในสังคม กับปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมที่มีได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะคนในช่วงชั้นเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันอีกต่อไป
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพการณ์ดังว่าน่าจะมาจากการปฏิรูปการบริหารการปกครองให้เป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เริ่มดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยการประยุกต์เอาระบบบริหารสมัยใหม่มาใช้ ส่งผลให้ระบบราชการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม นครินทร์ ตั้งข้อสังเกตอันน่าสนใจว่าระบบราชการของไทยนั้น มิได้เป็นระบบราชการสมัยใหม่ที่ยึดหลักความสามารถและประสิทธิภาพของงาน แต่เป็นระบบราชการภายใต้โครงครอบของวัฒนธรรมจงรักภักดีต่อสถาบันมหากษัตริย์เป็นสำคัญ ยึดหลักการคัดกรองคนเข้ารับราชการผ่านชาติกำเนิดมากกว่าความสามารถ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ ขณะที่ข้าราชการระดับกลางและล่าง ยึดหลักการฝากฝังจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ๗๕ - ๑๑๘) ช่องว่างทางรายได้ระหว่างข้าราชการชั้นสูงกับชั้นล่างก็แตกต่างกันอย่างมหาศาล เสนาบดีได้รับพระราชทานเงินเดือนในระหว่างเดือนละ ๒,๓๐๐ - ๔,๕๐๐ บาท ซึ่งข้าราชการระดับล่างสุดได้เพียงเดือนละ ๒๐ บาท และข้าราชการวิสามัญ เช่น ครูโรงเรียนประชาบาลในต่างจังหวัดได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๐ บาท
กระนั้นก็ดี รายได้ข้าราชการระดับล่างก็ยังนับว่าสูงมากสำหรับคนทั่วไปในยุคนั้น (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, หน้า ๘๐ - ๘๑) ควบคู่ไปกับระบบราชการที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนอาชีพอิสระและผู้ประกอบการพาณิชย์ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน รวมกันแล้วคนกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๑๔ ของผู้ประกอบอาชีพในสังคมไทยสมัยนั้น (อ้างในนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, หน้า ๑๒๒) ข้าราชการชั้นผู้น้อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับระบบราชการที่เน้นการฝากตัว ส่งผลให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นสูงและคนชั้นกลางใหม่เป็นเรื่องยากจะหลีกเลี่ยง เนื่องจากคนกลุ่มนี้จำต้องอาศัยความสัมพันธ์กับเจ้านายชั้นสูงเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่อาชีพการงาน
ปัญหาคลุมถุงชนในวรรณกรรมที่พบในนิตยสาร สุภาพบุรุษ สามารถจำแนกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ ปัญหาว่าด้วยเสรีภาพของการเลือกคู่ครอง กับ ปัญหาว่าด้วยความแตกต่างทางชนชั้น
ในกรณีแรก ตัวละครชายหญิงจะมีฐานะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่รู้สึกคับข้องใจที่ตนเองไม่สามารถจะเลือกคู่ครองได้ตามใจปรารถนา เนื่องจากพ่อแม่ได้จัดการหาคู่ครองไว้ให้แล้ว เช่น ในเรื่อง “แผลในใจ” เมื่อรู้ว่าพ่อแม่ได้หมั้นหมายเธอไว้แล้ว รุจาบ่นขึ้นว่า “เต็มที, ธรรมเนียมโบราณนี่คลุมถุงชน. น่าอึดอัดใจ ดิฉันต้องไปต่อว่าคุณแม่” (นงเยาว์ ประภาสถิต, ๙๐๘)
หรือใน “ชะรอยบุญ” ของ ศรีสุรินทร์ รัชนีขอความเห็นใจจากอดีตคนรักเมื่อเธอต้องไปแต่งงานกับชายที่พ่อแม่เลือกไว้ให้ว่า “หัวอกหญิงที่ถูกบีบไว้ใต้บังคับอันเด็ดขาดของพ่อแม่ จะดิ้นรนกะไรได้ ความกลัวเกรงนั้นไม่อาจลบล้างความรักของหญิงได้หรอก” (สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ วรรณา สวัสดิ์ศรี, ๒๐๔)
หรือใน เกิดเป็นหญิง ของ “แม่อนงค์” หม่อมเจ้าหญิงมารศรี เวทางค์กุล ที่ล้มเจ็บจนต้องหลบไปพักฟื้นที่บ้านพักชายทะเลในต่างจังหวัด เพราะถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่เธอไม่รัก ได้ปรับทุกข์กับประภาศว่า “จริงอยู่ออกจะเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ ที่คนเราจะถูกบังคับให้รัก แต่ก็ไม่มีหนทางไหนที่ท่านหญิงจะหลีกเลี่ยงได้ เกียรติยศและประเพณีของการเป็นเจ้า ไม่ยอมให้เธอเลือกทางเดิรอย่างหญิงสามัญทั้งหลาย” (“แม่อนงค์”, ๓๐๒๔ สะกดตามต้นฉบับ)
ส่วนในกลุ่มหลังนั้น ปัญหาสำคัญที่ตัวละครชายหญิงประสบคือความแตกต่างชนชั้น เรื่องในกลุ่มนี้มักจะจบลงด้วยความเศร้าและความพลัดพราก สังเกตว่าในกรณีที่ฝ่ายชายมีฐานะต่ำกว่านั้น โอกาสที่ความรักจะสมหวังดูจะมีมากกว่าฝ่ายหญิงที่มีฐานะต่ำกว่า กล่าวคือ ฝ่ายชายจะพยายามยกระดับฐานะมาให้เท่าเทียมกับฝ่ายหญิง ด้วยการหันไปประกอบธุรกิจสร้างเนื้อสร้างตัวให้กลายเป็นผู้มั่งคั่งเพื่อชดเชยชาติกำเนิดที่ต่ำต้อยกว่าฝ่ายหญิง
ขณะที่ในกรณีที่ฝ่ายผู้หญิงมีฐานะต่ำต้อย โอกาสที่ทั้งคู่จะสมหวังในความรักแทบจะไม่มีเลย เพราะผู้หญิงไม่มีช่องทางใดที่จะเลื่อนสถานะตัวเองขึ้นมาได้ เช่น เรื่อง “ไข้ใจ” ของ ป. บูรณศิลปิน ผูกเรื่องให้ประสานที่หลงรักอยู่กับกานดาลูกสาวพระประมวญ แต่เนื่องจากมีฐานะต่ำต้อยกว่า พ่อของกานดายกลูกสาวให้หลวงจำนงฯ ประสานออกจากกรุงเทพฯ ไปทำธุรกิจป่าไม้อยู่ทางเหนือจนประสบความสำเร็จกลายเป็นมหาเศรษฐี เขาหวนกลับมากรุงเทพฯ และได้พบกับกานดาโดยบังเอิญ กานดาเป็นหม้ายสามีตาย สุดท้ายทั้งคู่ก็ได้กลับมาอยู่ด้วยกัน
ส่วนในเรื่อง “ชีวิตอนาถา” ของ ร.วุธาทิตย์ นั้น มาลีหญิงชาวบ้านยากจน มีอาชีพรับจ้างเย็บปักถักร้อยอยู่ที่ห้างวิจิตรอาภรณาคาร เธอได้พบรักกับอาภรณ์บุตรชายของเจ้าของห้าง แม้ว่าอาภรณ์จะยืนกรานว่าเขาไม่รังเกียจมาลี และไม่สนใจว่าใครจะดูถูกเหยียดหยามที่ได้ภรรยาเป็นหญิงชาวบ้าน แต่มาลีเลือกที่จะหนีอาภรณ์ไปอยู่ต่างจังหวัดเพราะไม่ต้องการให้ชายที่ตนรักเสื่อมเสียเกียรติ จะเห็นว่าเมื่อเทียบกับประสานใน “ไข้ใจ” แม้ตัวละครทั้งคู่จะหลบหนีไปจากพระนครเหมือนกัน ต่างจังหวัดสำหรับประสาน คือ พื้นที่ที่สร้างตัวตนใหม่ที่สูงกว่าเดิมให้กับเขา
ในขณะที่สำหรับมาลีแล้วต่างจังหวัด คือ สถานที่ที่เธอจะหายสาบสูญไปจากชีวิตของอาภรณ์ “มาลีไปแล้ว ไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้ติดตาม ... สุดวิสัยที่อาภรณ์จะตามหา. เธอไปแล้วทุกๆ แห่งที่หวังว่าหล่อนจะไป แต่จะได้พบหล่อนก็หาไม่!” (สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ วรรณา สวัสดิ์ศรี, ๑๗๙)
วรรณกรรมว่าด้วยประเพณีคลุมถุงชน และความรักต่างชนชั้นที่นิยมเขียนกันในยุคนี้และปรากฏเป็นสัดส่วนมากที่สุดในนิตยสาร สุภาพบุรุษ คือ ตัวบ่งชี้สำคัญของแรงยื้อยุดฉุดกระชากระหว่างจารีตโบราณที่ต้องการคงไว้ซึ่งระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์ของระบบช่วงชั้น กับสำนึกใหม่ของความเป็นปัจเจกบุคคลที่เท่าเทียมกัน แสดงออกผ่านเรื่องความรักระหว่างชายหญิง
เรื่องเหล่านี้เผยให้เห็นว่าระบบความสัมพันธ์แบบเดิมนั้น ไม่อาจจะดำรงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง หรือปรับตัวให้เข้ากับสำนึกใหม่ที่เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาว ซึ่งนับจะทวีความไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่มากขึ้นทุกขณะ ดังที่เรารับรู้กันในปัจจุบันว่า ในท้ายที่สุดสังคมสยามได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่เมื่อมีการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ สองปีหลังการปิดตัวลงของนิตยสาร สุภาพบุรุษ
ที่มา : สิทธิธรรม โรหิตะสุข (บรรณาธิการ). ปรีดีศึกษา และ ปาฐกถาศิลปกับสังคม, (กรุงเทพฯ: สันติศิริการพิมพ์, 2560)
หมายเหตุ :
- งานเขียนชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- ปาฐกถาในพิธีเปิดนิทรรศการศิลปกับสังคม : เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ประจำปี ๒๕๖๐ ๘๕ ปี ปรวันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ หอประชุมพูนศุข พนมยง
- จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ
- บางคำสะกดคงไว้ดังต้นฉบับ
[1] หากนำคำบอกเล่าของอบ ไชยวสุ มาร่วมพิจารณา จะพบว่าอบได้เอ่ยชื่อนักเขียนอีก ๓ คนที่เข้าร่วมจัดทำนิตยสารสุภาพบุรุษ แต่ไม่ปรากฏชื่ออยู่ในชุดก่อการของจรัญ วุธาฑิตย์ ได้แก่ ทองอินทร์ บุญยเสนา, ขจร สหัสรจินดา, และ พัฒน์ เนตรรังษี (สุชาติและอบ, ๙๙-๑๐๐) สันนิษฐานว่ารายชื่อนักเขียนจำนวน ๑๘ คนที่ได้ชื่อว่าเป็นชุดผู้ก่อการและผู้ร่วมงานนี้ อิงกับภาพถ่ายหมู่คณะสุภาพบุรุษ ที่บันไดหน้าศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๓ ที่มีนักเขียนในกลุ่ม ๑๗ คนมาร่วมถ่ายภาพตามคำนัดหมายของกุหลาบ ขาดแต่มาลัย ชูพินิจที่จรัญเล่าว่า "ไม่ทราบว่าไปตกค้างรือติดขัดอยู่ที่ไหน" (หน้า ๒๖๖)
[2] ดูรายชื่อคณะสุภาพบุรุษตามข้อเสนอของสุชาติใน สุชาติ และ วรรณา, ๙๗-๑๐๒
- ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
- เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน
- ปรีดี พนมยงค์
- คณะราษฎร
- ชุดผู้ก่อการ
- คณะสุภาพบุรุษ
- นิตยสารสุภาพบุรุษ
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี
- อบ ไชยวสุ
- จรัญ วุธาฑิตย์
- ศรีบูรพา
- จีนใจ
- อิสรชน
- มาลัย ชูพินิจ
- แม่อนงค์ )
- ม. ชูพินิจ
- ฮิวเมอริสต์
- L. กอฮอล์
- ระคน เภกะนันท์
- กู๊ดบอย
- อุเทน พูลโภคา
- ช่อมาลี
- โชติ แพร่พันธุ์
- ยาขอบ
- บุญทอง เลขะกุล
- วรมิตร
- สนิท เจริญรัฐ
- ศรีสุรินทร์
- สุดใจ พฤทธิสาลิกร
- บุศราคำ
- จรัญ วุธาทิตย์
- ร.วุธาทิตย์
- ขุนจงจัดนิสัย
- ชิต บุรทัต
- หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา
- เสนอ บุณยเกียรติ
- ฉุน ประภาวิวัฒน
- สถิต เสมานิล
- โพยม โรจนวิภาต
- พัฒน์ เนตรรังษี
- ประกาศ วัชราภรณ์
- สันต์ เทวรักษ์
- ป่วน บูรณศิลปิน
- นงเยาว์ ประภาสถิต
- เสถียร จันทิมาธร
- วิภา กงกะนันท์
- สิงห์ สนามหลวง