Focus
- 31 มีนาคม 2568 ในวาระ 120 ปี ชาตกาลของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ขอรำลึกประวัติ ชีวิตผ่านผลงานวรรณกรรมในนามปลายปากกา “ศรีบูรพา“ นับตั้งแต่วัยเยาว์ ความรัก การเมือง อุดมคติ และพุทธศาสนา จนถึงยุคต่อต้านเผด็จการทหาร 2490
- บทความนี้ เสนอเรื่องราวของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา และในอีกหลายนามปากกา ที่มีผลงานเพื่อสังคมและสะท้อนอุดมคติผ่านการเขียน การเป็นนักหนังสือพิมพ์ และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ยังประกาศมอบรางวัลให้ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” เป็นบุคคลสำคัญของโลกในฐานะนักเขียนผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมและเพื่อประชาธิปไตย
ปี 2568 นี้ ครบรอบสองทศวรรษของการที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ยูเนสโกประกาศมอบรางวัลให้ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” หรือที่เรารู้จักกันดีภายใต้นามปากกา “ศรีบูรพา” (นอกจากนี้ยังมี อิสสรชน อุบาสก นายกุหลาบ ดาราลอย ฯลฯ) เป็นบุคคลสำคัญของโลกในฐานะนักเขียนผู้พลีชีพทั้งชีวิตเพื่อสร้างสรรค์งานวรรณกรรมและเพื่อประชาธิปไตย (ยูเนสโกมอบรางวัลในปี 2548 ช่วงที่ศรีบูรพาครบรอบชาตกาล 100 ปี แต่ท่านถึงแก่กรรมก่อนหน้านั้นนานแล้วในปี 2517 เมื่ออายุ 69 ปี)
ดังนั้นปีนี้ จึงเป็นวาระครบรอบ “120 ปีชาตกาลของ กุหลาบ สายประดิษฐ์” (เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2448) ซึ่งต่อไปนี้ดิฉันขอเรียกท่านว่า “ศรีบูรพา” แทน เนื่องจากเป็นนามปากกาที่คุ้นหูติดปากมามกที่สุด
คนรุ่นใหม่อาจเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้างผ่าน “รางวัลศรีบูรพา” ซึ่งมีการมอบรางวัลให้แก่นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ในวันนักเขียน หรือวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี กำหนดเริ่มมอบรางวัลโดย “กองทุนศรีบูรพา” ภายใต้การจัดงานประกาศเกียรติคุณโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ถึงปัจจุบัน
เรื่องราวของศรีบูรพานั้น ต้องยอมรับว่ามีผู้เขียนถึงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในลักษณะการรวบรวมอัตชีวประวัติของท่านมากล่าวถึงในทุก ๆ ปีที่มีการมอบ “รางวัลศรีบูรพา” ของสมาคมนักเขียนฯ รวมไปถึงการเรียบเรียง สดุดีวีรกรรม การสัมภาษณ์คนใกล้ชิดคือภริยาคู่ชีวิต “คุณชนิด สายประดิษฐ์” (นามปากกา จูเลียต) กันแล้วอย่างต่อเนื่อง
บทความชิ้นนี้ จึงขอหยิบยกบางประเด็นที่ดิฉันสนใจเป็นการเฉพาะขึ้นมานำเสนอพอเป็นสังเขป เพื่อมิให้ผู้สนใจเรื่องราวชีวิตของ “ศรีบูรพา” ต้องอ่านงานซ้ำกับข้อเขียนเดิม ๆ ของผู้ที่ศรัทธาในตัวท่านเคยเขียนไว้ก่อนแล้ว โดยดิฉันขอแยกออกเป็น 5 หัวข้อ ดังนี้
- ประเด็นแรก จากเด็ก “เทพศิรินทร์” สู่ปัญญาชน “ท่าพระจันทร์”
- ประเด็นที่สอง “จูเลียต” ในวันที่ไม่มี “โรมิโอ”
- ประเด็นที่สาม ผู้บุกเบิกนวนิยายแนว Exotic Novel (ไพรัชนิยาย)
- ประเด็นที่สี่ มาร์กซิสต์ VS แนวคิดแบบพุทธ
- ประเด็นที่สอง “กบฏสันติภาพ” คือภาพสรุปของ “ศรีบูรพา”
จากเด็ก “เทพศิรินทร์” สู่ปัญญาชน “ท่าพระจันทร์”
การที่จะทำความเข้าใจถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้อนมอง “ปูมหลัง” แห่งพฤติกรรมในวัยเยาว์ ว่าบุคคลผู้นี้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการล้มลุกคลุกคลุกคลาน ถูกบ่มเพาะมาอย่างไรบ้าง
ศรีบูรพา ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แรกเกิดมีนามว่า “กุหลาบ” นามสกุล “สายประดิษฐ์” เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2448 อัตชีวประวัติส่วนตัวระบุว่าท่านเกิดในปีมะโรง (ซึ่งหากยืนยันตามนี้ก็ย่อมได้ เพียงแต่ขอให้วงเล็บไว้ว่า การนับตามปฏิทินเดิมนั้น เดือนมกราคม-มีนาคม ยังถือเป็น พ.ศ. 2447 อยู่ คือยังนับต่อท้ายจากเดือนธันวาคม เพื่อที่ว่าหากมีผู้นำวันเดือนปีเกิดของท่านไปตรวจสอบกับปฏิทิน 120 ปี จะได้ไม่สำคัญผิด เมื่อเอกสารระบุว่า บุคคลที่เกิดในวันที่ 31 มีนาคม 2448 นั้นตรงกับปีมะเส็ง)
เด็กชายกุหลาบมีบิดาชื่อ “สุวรรณ” เป็นเสมียนเอกกรมรถไฟ แต่น่าเสียดายที่บิดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังอายุน้อย ทำให้เด็กชายกุหลาบกำพร้าพ่อ ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวข้าราชการชั้นกลาง แต่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มารดาปากกัดตีนถีบ “สมบุญ” แม่ของเขามาจากตระกูลชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากสูญเสียสามีแล้ว ต้องหันมาทำอาชีพรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และชีวิตของเด็กชายกุหลาบจักงอกงามขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการรดน้ำพรวนดินด้วยความเสียสละของ “พี่สาวคนเดียว” ของเขาชื่อ “จำรัส นิภามาศ” ผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ จำต้องหารายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วยการเป็น “นางรำนางละครร้อง” เพื่อเอาเงินมาส่งเสียน้องชายให้เล่าเรียน
ฉากช่วงนี้ ทำให้ดิฉันประหวัดนึกถึง นักคิดนักเขียนนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งขึ้นมาในบัดดล นั่นคือ “จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้ถือกำเนิดหลังจากศรีบูรพาราว 3-4 ทศวรรษ จิตรเองก็เติบโตมากับ “แม่และพี่สาว” เป็นไปได้หรือไม่ ที่ทั้ง “ศรีบูรพา” และ “จิตร ภูมิศักดิ์” กลายมาเป็นนักมนุษยนิยมและเป็นนักสตรีนิยมอย่างสมบูรณ์ มองเห็นคุณค่าของ “สตรี” ว่ายิ่งใหญ่ทัดเทียมชาย ก็เนื่องด้วยเหตุที่เขาทั้งสองมีสำนึกอยู่ลึก ๆ ตลอดเวลาว่าตนเติบโตมาได้ด้วยน้ำมือของ “ผู้หญิงสองคน” ที่คอยโอบอุ้มกระถางต้นไม้อันเปราะบางนี้ ให้เกิดความมั่นคง นั่นคือ แม่และพี่สาว
โรงเรียนชั้นประถมแห่งแรกของศรีบูรพาคือ “โรงเรียนวัดหัวลำโพง” ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่ “โรงเรียนทหารเด็กของกรมหลวงนครราชสีมา” (นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระอนุชาธิราชของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6) การเรียนที่นี่แม้จะมีเบี้ยเลี้ยงให้ กินนอนฟรี เรียนฟรี ซ้ำเรียนจบแล้วก็จะมีงานทำที่บรรจุให้ทันที ไม่ต้องไปดิ้นรน แต่เด็กชายกุหลาบกลับเริ่มมองเห็น “ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม” ในฉากเล็ก ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนฉายชัดแก่สามัญสำนึก
นั่นคือ ภาพที่เวลาคนเดินเข้าออกบริเวณประตูรั้ว ยามจะเป่านกหวีดให้คนที่เป็นพลเรือนหยุดยืนเคารพหน้าเสาธง และทำการตรวจสอบบุคคลผู้นั้นอย่างละเอียดลออ ประหนึ่งนักโทษ ในขณะคนที่แต่งกายในชุดทหารยามจะปล่อยให้เดินหรือวิ่งเข้าออกได้ตามสะดวก โดยไม่ต้องหยุดยืน เด็กชายกุหลาบเริ่มรู้สึกอึดอัด เขาเริ่มมองเห็นการเลือกปฏิบัติแบบ “สองมาตรฐาน” จนต้องขอมารดาย้ายโรงเรียน
โรงเรียนเทพศิรินทร์ จึงได้มีโอกาสต้อนรับหนุ่มน้อยเข้ามาเป็น “ศรี” แก่โรงเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 8 (นับแบบปัจจุบันคือ ม.1 ถึง ม.6) 6 ปี ณ ห้วงเวลานี้เอง (พ.ศ. 2562-2468) ที่นายกุหลาบได้รับการหล่อหลอมจากครูภาษาไทยชื่อ “หลวงสำเร็จวรรณกิจ” จนทำให้อยากเป็นนักประพันธ์ เขาเริ่มหัดเขียนร้อยแก้ว ร้อยกรอง เรื่องสั้น โดยเขาและเพื่อน ๆ ที่มีใจรักวรรณศิลป์ อาทิ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ สด กูรมะโรหิต ฯลฯ ได้รวมตัวกันออกวารสาร (ฉบับพิมพ์ดีด) ชื่อ “ดรุณสาร” และ “ศรีเทพ” ทั้งยังหมั่นเขียนร้อยกรองลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ชื่อ “แถลงการณ์เทพศิรินทร์” อันเป็นหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนอีกด้วย
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วยวัย 20 ปีแล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เลือกวิถีชีวิตของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการ เป็นอาชีพหลักอย่างเต็มตัว เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ของกรมยุทธศึกษาทหารบก
ปี 2470 เขาได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ “นายเทพปรีชา” จัดพิมพ์หนังสือของเขาและมิตรสหาย
ปี 2472 ศรีบูรพาได้ชักชวนเพื่อนนักคิดนักเขียนหนุ่มก่อตั้งกลุ่ม “สุภาพบุรุษ” โดยนำชื่อนี้ไปเป็นหัว “หนังสือพิมพ์รายปักษ์” ที่ศรีบูรพาเป็นเจ้าของและบรรณาธิการเอง
หลังจากนั้น ศรีบูรพาต้องฝ่าพันกับมรสุมทางการเมืองลูกแล้วลูกเล่า หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ถูกปิด หันมาเปิดหนังสือพิมพ์เล่มใหม่ชื่อ “บางกอกการเมือง” “ไทยใหม่” “ศรีกรุง” “ประชาชาติ” “ประชามิตร” และหวนกลับมาเปิดหนังสือพิมพ์ชื่อ “สุภาพบุรุษ” อีกรอบ แต่ละเล่มล้วนมีชะตากรรมไม่ต่างกันเท่าใดนัก ตราบที่เขายังยืนกรานเสนอความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตย
ภาษิตที่ว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” ใช้ได้กับเขาโดยแท้ ในวัย 38 ปี (พ.ศ. 2486) เขาได้สมัครเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อในยุคก่อน) ย่านท่าพระจันทร์ ซึ่งสาขาที่เขาศึกษาเล่าเรียนนี้ คือสายนักกฎหมาย ทนายความ อย่างไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่า ต่อมาความรู้นี้ได้ช่วยเปิดทางให้เขาสามารถงัดเอามาใช้ปกป้องตัวเองหลายต่อหลายครั้งในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ต้องถูกจับกุมขัง เขาสามารถเป็นทนายให้กับตัวเองและมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ได้ในเรือนจำ
“จูเลียต” ในวันที่ไม่มี “โรมิโอ”

แม่ ชนิด ปริญชากล แต่งงานกับ ป๋า กุหลาบ สายประดิษฐ์
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2478
ณ วังเพลินจิตของ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ
ที่มา: แม่ทำอะไรบ้างหนอ? รำลึกถึงแม่ที่รักยิ่ง
“จูเลียต” คือนามปากกาของ “ชนิด สายประดิษฐ์” (สกุลเดิม “ปริญชาญกุล”) หญิงแกร่งคู่ชีวิตของศรีบูรพา เป็นนามปากกาที่ศรีบูรพาตั้งให้แก่ศรีภริยานักแปล ผู้ที่มีความเพียบพร้อมทั้งคุณวุฒิ และชาติวุฒิ
เราปฏิเสธมิได้เลยว่า นักเขียนที่ได้คู่ชีวิตที่ดี ย่อมมีกำลังใจในยามยาก สามารถฟันฝ่ามรสุมชีวิตให้ผ่านพ้นไปกว่าครึ่ง เหตุที่อาชีพนักเขียนนั้นมีความเสี่ยงสูง ทั้งเสี่ยงต่อการไส้แห้ง ทั้งเสี่ยงต่อการถูกทุบแท่นพิมพ์ เสี่ยงต่อการเอาหนังสือไปเผา และหากนักเขียนคนนั้นก้าวสู่เวทีการเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม นักเขียนผู้นั้นยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุมขัง
บทสัมภาษณ์ของ “ไพลิน รุ้งรัตน์” (ชมัยภร แสงกระจ่าง) ในหนังสือชื่อ “คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา” ในหัวเรื่องที่ชื่อว่า “กุหลาบแกร่งในชีวิตศรีบูรพา” ไพลิน รุ้งรัตน์ได้ตั้งคำถามหลายต่อหลายประโยค ว่าในฐานะภริยา รู้สึกเช่นไรที่สามีต้องจากไป เคยร้องไห้บ้างไหม รู้สึกเสียใจหรือไม่
น่าแปลกที่คำตอบร้อยครั้งพันครั้งของหญิงผู้เป็นศรีภริยาของศรีบูรพา เต็มไปด้วยความหนักแน่น แกร่งทระนง ไม่เคยมีแม้แต่วลีเดียวเลยที่แสดงความอ่อนแอ หวั่นไหวออกมาให้โลกได้เห็น อาทิ คุณไพลิน รุ้งรัตน์ได้ถามว่า
“ช่วงที่คุณกุหลาบ ถูกจับครั้งแรกปี พ.ศ. 2485 เนื่องจากออกใบปลิวโจมตีนโยบายของจอมพล ป. ที่ให้ญี่ปุ่นยึดครองแผ่นดินไทย... ถูกขัง 3 เดือน ตอนนั้นลูกก็ยังเล็กมาก คุณชนิดทำอย่างไร?”
ชนิด สายประดิษฐ์ หรือจูเลียตตอบว่า
“ต้องเข้มแข็ง ไม่ให้คุณกุหลาบร้อนใจเลยในเรื่องของทางบ้าน”
“ร้องไห้ไหมคะ?”
“ดิฉันไม่ร้องเลย แล้วก็ไม่เคยร้องด้วย ดิฉันเข้าใจ... เขามักจะพูดให้ฟังว่า เราทำตามหน้าที่ เราก็ต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่”
คุณไพลิน รุ้งรัตน์ ถามต่อว่า
“เวลาเห็นคุณกุหลาบถูกจับ คุณชนิดรู้สึกโกรธตำรวจไหมคะ?”
“ไม่มี... รู้สึกว่าตำรวจสมัยนั้นมีน้ำใจ ทั้งตำรวจชั้นผู้น้อย ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตอนที่คุณกุหลาบมีปัญหาเรื่องไม่ได้อาบน้ำ 3 อาทิตย์ ดิฉันก็ไปบอกหลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท หลวงสัมฤทธิ์ฯ ก็เซ็นมาเลยค่ะ ว่าอนุญาตให้อาบน้ำได้ อาบน้ำแล้วก็เดินเล่น 45 นาทีได้ แปลว่าตำรวจเขาอนุโลม คือเราประพฤติตัวให้ดี มีกำลังใจ ก้มหน้าก้มตาทำงาน เขาก็ดีต่อเรา ไม่มีปัญหาอะไร”
โอ! แม่จูเลียตของโรมิโอ หัวใจนางทำด้วยอะไรกัน ช่างยิ่งใหญ่ หนักแน่นปานภูผา น้ำใจกว้างขวาง ไม่เคยถือโทษโกรธแค้นเคืองใครเลย เป็นผู้หญิงคิดบวก Positive Thinking อย่างแท้จริง
ไพลิน รุ้งรัตน์ ยังคงถามต่อถึงการที่ศรีบูรพาถูกจับครั้งที่ 2 พ.ศ. 2495 ในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย และยังเป็นผู้นำคัดค้านการทำสงครามรุกรานเกาหลี
“คุณชนิดตกใจไหมคะ?”
“ไม่ค่อยตกใจ เพราะรู้สึกอยู่ว่ามันมีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่ระยะหนึ่งแล้ว เราเป็นคนหนังสือพิมพ์ เรารู้ว่ามันล่อแหลมอยู่ รู้สึกตัวว่าผิดสังเกตเรื่อยมา มีคนติดตาม...”
“คุณกุหลาบถูกจับกุมสองครั้งแล้วนะคะ คุณชนิดรู้สึกอย่างไร?”
“ยิ่งมีมรสุมดิฉันก็ยิ่งเข้าใจคุณกุหลาบมากขึ้น แล้วก็ยิ่งเชื่อถือและไว้วางใจมากขึ้นว่าเขาเป็นคนดี..”
“ร้องไห้ไหมคะ?” (ไพลิน รุ้งรัตน์ ถามประหนึ่งว่า คราวนี้น่าจะได้คำตอบที่แตกต่างไปจากคำถามครั้งแรกกระมัง)
“ไม่ร้อง!” ตอบด้วยเสียงหนักแน่นกว่าเดิม
ในฐานะนักเขียนหญิง ดิฉันประทับใจยิ่งนักในบทสัมภาษณ์ของนักเขียนหญิง (ไพลิน รุ้งรัตน์) ที่ถามต่อนักเขียนหญิง (จูเลียต) จึงขออนุญาตหยิบยกมาให้อ่านอีกสักตอนให้ครบ 3 เหตุการณ์ของการที่ศรีบูรพาถูกข้อหา ซึ่งครั้งสุดท้ายนี้ถึงกับท่านต้องขอลี้ภัยอยู่ในแผ่นดินจีน ไม่ขอกลับคืนสู่ประเทศไทย ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (รายละเอียด อ่านอีกช่วงในหัวข้อ กบฏสันติภาพ)
ไพลิน รุ้งรัตน์ ถามว่า
“พอคุณกุหลาบลี้ภัยอยู่ในจีน คุณชนิดทำยังไงคะ?”
“ก็ไม่ทำยังไงหรอก เพราะตอนนั้นลูกยังเรียนไม่จบ”
“ช่วงที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันรู้สึกอย่างไร?”
“ก็ไม่รู้สึกอะไรมาก เมื่อคุณกุหลาบอยู่ที่จีน ดิฉันก็ยังแปลเรื่อง เหยื่ออธรรม ลงในชาวกรุง รายเดือนอยู่”
“ร้องไห้ไหมคะ?”
“ไม่ร้อง เพราะรู้สึกว่าไม่ต้องกลัว”
โอ! จูเลียต ในวันที่ไร้โรมิโอ เธอก็ยังมิมีความหวั่นไหวใด ๆ ทั้งสิ้น
ขอบพระคุณอย่างสูงสำหรับบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ไพลิน รุ้งรัตน์ (ดิฉันเรียกท่านว่า พี่อี๊ด) ทำการสัมภาษณ์ศรีภริยาของศรีบูรพา น่าจะช่วงปี 2548 (หากยึดเอาตามปีที่หนังสือ คืออิสสรชน คืนคนดี คือศรีบูรพา ตีพิมพ์) ขณะนั้น จูเลียต หรือคุณชนิด สายประดิษฐ์ อายุ 91 ปี
ผ่านไปแล้ว 20 ปี บทสัมภาษณ์นี้ยังติดตราตรึงใจดิฉันไม่เสื่อมคลาย “จูเลียต” ท่านคือผู้หญิงที่ไม่เคยฟูมฟาย ไม่เคยต่อว่าต่อขานว่าโลกลำเอียง ไม่ยุติธรรม ทั้ง ๆ ที่ตัวท่านและสามีถูกกระทำอย่างอยุติธรรม ท่านยังกล่าวชื่นชมนายตำรวจว่าดีต่อศรีบูรพามาก
น่าเสียดายที่ดิฉันไม่ทันได้พบ “จูเลียต” ตัวเป็น ๆ หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ดิฉันจักขอถามท่านด้วยคำถามที่ว่า
“ในวันที่ โรมิโอ (ศรีบูรพา) จากไปในดินแดนจีนอันไกลโพ้นช่วงที่จูเลียต มีอายุ 60 เศษ ๆ จูเลียตเคยร้องไห้บ้างหรือไม่”
ดิฉันเชื่อว่า หญิงแกร่งเช่นท่านคงยืนกรานตอบด้วยวลีเดิม ดังที่ท่านได้ตอบแก่คุณไพลิน รุ้งรัตน์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โอ! หัวใจของมหาสตรี ท่านคงแอบข่มกลั้นทำนบน้ำตา ผู้หญิงที่ไม่เคยบอกกับใคร ๆ ว่าเธอร้องไห้ (แต่คำสัมภาษณ์นั้นขยี้ให้คนอ่อนไหวเช่นดิฉันอยากร้องไห้) สมแล้วที่เกิดมาเป็นศรีภริยาเคียงข้างมหาบุรุษศรีบูรพา
ผู้บุกเบิกงานเขียนแนว “ไพรัชนิยาย” (Exotic Novel)
คำว่า Exotic Novel แปลเป็นไทยว่า “ไพรัชนิยาย” นั้น เป็นงานเขียนที่ดิฉันให้ความสนใจอย่างมากยิ่งกว่านวนิยายประเภทอื่น เพราะในปี 2539-2540 ดิฉันได้พยายามเขียนไพรัชนิยายขึ้นเรื่องหนึ่งชื่อว่า “ดวงตะวันในควันหมอก” โดยใช้ฉากในต่างแดนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตลอดทั้งเรื่อง
ก่อนจะเขียนนวนิยายเล่มนี้ ดิฉันได้อ่านงานวรรณกรรมแนว “ไพรัชนิยาย” ของนักเขียนชั้นนำหลายต่อหลายท่าน และแน่นอนว่าเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา ย่อมเป็นหนึ่งในหลาย ๆ เล่มนั้นด้วย
ย้อนกลับไปมองยุคก่อนหน้าของงานวรรณกรรมไทยประเภท “นวนิยาย” ไม่ว่าจะใช้ฉากในหรือนอกประเทศ แวดวงคนอ่านหนังสือของเรามักเรียกงานเขียนชนิดหนึ่ง (ที่เกือบ ๆ จะเป็นนิยาย แต่ก็ยังไม่ใช่นิยายเต็มตัว) ว่า “นิทานเรื่องเล่า” กล่าวคือเรื่องเล่าชวนหัวชวนขำหรือชวนสยดสยองเหล่านั้น ยังไม่ได้มีองค์ประกอบครบเครื่องตามความหมายของคำว่า Novel แบบสากล อาจเป็นการหยิบยกเอาตำนานปรัมปราคติ วรรณคดีโบราณ มาเรียบเรียงใหม่ ในทำนอง “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” และจบลงด้วยอุทาหรณ์ สุภาษิตสอนใจ
หนังสือเรื่อง “กำเนิดนวนิยายในประเทศไทย” ของ ศ.ดร.วิภา กงกะนันทน์ (สนพ.ดอกหญ้า พิมพ์ปี 2540) ได้กล่าวถึง “นวนิยายไทยยุคแรก” ในบทที่ 7 ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2471-2472 เป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งประวัติการกำเนิดนวนิยายไทย กล่าวคือในเดือนตุลาคม 2471 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้ซึ่งนักอ่านโดยทั่วไป รู้จักในนามว่า “ศรีบูรพา” ได้ประสบความสำเร็จในการตีพิมพ์เผยแพร่นวนิยายที่เขาแต่งขึ้นเรื่องแรกชื่อว่า “ลูกผู้ชาย”
ในระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน - 15 กันยายน ปีถัดมา นักอ่านไทยก็มีโอกาสได้อ่านนวนิยายของนักเขียนสตรี ผู้ใช้นามปากกว่า “ดอกไม้สด” เรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน”
และในปีเดียวกันนั้นเอง ในขณะที่ไทยเขษมกำลังตีพิมพ์ศัตรูของเจ้าหล่อนเป็นตอน ๆ อยู่นั้น หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ก็เสนอนวนิยายเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเป็นเล่มสมบูรณ์เช่นเดียวกับ ลูกผู้ชาย”
เห็นได้ว่าชื่อของ “ศรีบูรพา” ได้ถูกประทับไว้ในประวัติศาสตร์หน้าแรก ๆ ของวงการนวนิยายไทย ในระนาบเดียวกันกับชื่อนักเขียนนามอุโฆษอีกสองท่านคือ ดอกไม้สด (หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์) และหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
ผลงานของนักเขียนทั้งสามท่านแจ้งเกิดในบรรณพิภพในเวลาไล่เลี่ยกันก็จริง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ศรีบูรพา มิได้หยุดอยู่แค่การเป็นนักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เพื่อต่อมามีคนสายบันเทิงนำไปผลิตเป็นละคร หรือภาพยนตร์ต่อเท่านั้น ทว่าเมื่อเขียนนวนิยายไปได้สักระยะหนึ่ง ทั้งที่กำลังฮิตติดตลาดแฟนคลับรออ่าน เขากลับเขยิบสถานะของตัวเองไปเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นบรรณาธิการที่ต่อสู้กับความไม่ชอบมาพากลของสังคม
ดังนั้น นอกจากเรื่อง ลูกผู้ชาย แล้ว ผลงานด้านนวนิยายที่เขาฝากไว้ภายใต้นามปากกาศรีบูรพา จึงมีอีกเพียงไม่กี่เรื่อง อาทิ ปราบพยศ แลไปข้างหน้า ข้างหลังภาพ จนกว่าจะพบกันอีก สงครามชีวิต ฯลฯ
มีผู้เปรียบเทียบว่า ละครแห่งชีวิต ของท่านชายอากาศดำเกิง ก็มีความเข้มข้นไม่แพ้เรื่องลูกผู้ชายของศรีบูรพา คือท่านชายสามารถดึงด้านดิบของมนุษย์ออกมาตีแผ่ได้อย่างถึงพริกถึงขิง แต่สิ่งที่ “ลูกผู้ชาย” ทำได้เหนือกว่า “ละครแห่งชีวิต” ก็คือการต่อสู้ระหว่างมโนสำนึกฝ่ายชั่วกับฝ่ายดี นวนิยาย “ลูกผู้ชาย” ศรีบูรพากำหนดให้ตัวละครเอกต่อสู้ขัดขืนมิยอมสงบต่ออำนาจเงินตรา อำนาจแห่งความพิศวาส อำนาจแห่งความผูกพัน ขอยึดหลักการแห่งความถูกต้องเป็นบรรทัดฐานเพียงถ่ายเดียว ในขณะที่ “ละครแห่งชีวิต” ผู้เขียนได้ปล่อยให้ตัวละครโลดแล่นไปตามยถากรรม แล้วแต่โชคชะตาของบุคคลผู้นั้นจักขึ้นหรือลงอย่างไร โดยมิได้ขัดขืนที่จะยืนหยัดเลือกอยู่ข้างความถูกต้องเป็นที่ตั้ง
การแจ้งเกิดบนโลกวรรณกรรมของศรีบูรพา จึงเต็มไปด้วยความสง่างาม สร้างประวัติศาสตร์หน้าแรกของนวนิยายไทยให้ดูหนักแน่นทรงพลัง
นอกเหนือจากนวนิยายที่ใช้ฉากเมืองไทยแล้ว ศรีบูรพายังเป็นนักเขียนไทยคนแรก ๆ ที่กล้าใช้ฉากต่างแดนนำเสนอเนื้อหาตลอดทั้งเรื่องอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็น “ของแปลก ของท้าทาย” และค่อนข้าง “สุ่มเสี่ยง” อยู่พอสมควร เพราะการรับรู้ “ฉากกับบรรยากาศอันแปลกใหม่” ของนักอ่านไทยนั้น อดีตที่ผ่านมา มีเพียงแค่ผ่านนวนิยายแปลเท่านั้น ส่วนความท้าทายที่สุ่มเสี่ยง คือปัญหาข้อที่ว่า ผู้เขียนมีความเข้าใจในรากวัฒนธรรมของประเทศที่เราเขียนถึง อย่างถ่องแท้ลึกซึ้งมากเพียงไหน จึงได้กล้านำมาเป็นฉากในบทประพันธ์ของตน
เอามาแค่เสริมบารมีอวดให้เห็นว่าผู้เขียนเคยใช้ชีวิตที่เมืองนอก ดูหรูดูเท่ หรือว่าลึก ๆ แล้ว ผู้เขียนอยากแบ่งปันทุกฉากแห่งประสบการณ์ชีวิตให้แก่ผู้อ่านได้เสพในทุกแง่งามเฉกที่ผู้เขียนรู้สึก
ศรีบูรพาเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในปี 2479 มิใช่เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หากไปในช่วงเวลาอันตึงเครียด ช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ไปเพื่อสร้างความสบายใจให้แก่ทั้ง “นายจ้าง” และ “เพื่อนร่วมงาน” นายจ้างที่ว่านั่นก็คือ “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ” (ต่อมาได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ท่านนี้มีพระคุณต่อศรีบูรพามากเกินพรรณนา ทั้งสนับสนุนทุนทรัพย์ในการจัดตั้งสำนักพิมพ์ ทั้งประทานที่ดินให้เป็นเรือนหอ ทั้งเป็นธุระจัดการวิวาห์ให้แก่ศรีบูรพาและคุณชนิด ปริญชาญกุล
ส่วนเพื่อนร่วมงาน ที่ศรีบูรพาไม่อยากให้ลำบากใจ ก็ได้แก่มิตรสหายคณะกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ที่กอดคอกันมาตั้งแต่กลุ่ม “สุภาพบุรุษ” จนถึง “ประชาชาติ” ที่อาจต้องพลอยฟ้าพลอยฝนตกงานไปด้วย หากศรีบูรพายังไม่หยุดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การจากไปของศรีบูรพา เปิดทางให้ “มาลัย ชูพินิจ” ก้าวขึ้นมาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติแทน
ศรีบูรพาตัดสินใจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าความขัดแย้ง ด้วยการปลีกตัวเองไปอย่างเงียบ ๆ และเดียวดาย ภายใต้คำว่า “การศึกษาดูงาน” วิชาการหนังสือพิมพ์ของสำนักพิมพ์ “อาซาฮี” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สักระยะหนึ่ง (6 เดือน) จนกว่าสถานการณ์ร้อน ๆ ในวงการเมืองสยามจักค่อยๆ ลดอุณหภูมิลง
ไม่ว่าศรีบูรพาจะใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นสถานะใด สั้นหรือนานเพียงไรก็ตาม ในที่สุดเขาได้ฝากไพรัชนิยายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดให้แก่โลกแล้ว
ศรีบูรพาไม่เพียงแต่เป็นนักเขียนไทยคนแรก ๆ ที่อาจหาญเขียนนวนิยายแนว Exotic Novel เท่านั้น แต่เขายังกล้าผูกพล็อตเรื่องในลักษณะ “รักต่างวัย” ให้ฝ่ายหญิงอายุมากกว่าฝ่ายชาย ซ้ำยังหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม ด้วยการให้ฝ่ายหญิงมีสามีแล้ว แต่กลับมาประทับใจชายหนุ่มที่มีอายุอ่อนกว่า 13 ปี
เขาทำได้อย่างไรกัน ก็ไหนว่าเป็นนักอุดมคติ นักจริยธรรมผู้เคร่งครัด ในโลกแห่งน้ำหมึก ศรีบูรพาสามารถโน้มน้าวให้ผู้อ่านเห็นใจ หลั่งน้ำตาต่อความรักระหว่างนักศึกษาหนุ่มแห่งมหาวิทยาลัยริคเคียววัย 22 กับสุภาพสตรีวัย 35 ภริยาท่านเจ้าคุณอธิการบดี ด้วยประโยคกินใจของคุณหญิงกีรติที่กรีดใจผู้อ่านด้วยสองประโยคอมตะ
“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”
การสร้างพล็อตที่ไม่สมหวังเช่นนี้ ผู้อ่านหลายคนมองว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้ไพรัชนิยาย “ข้างหลังภาพ” มีความ สะเทือนใจเหนือกว่านวนิยายเรื่องอื่น ๆ หากเรามองให้ลึกลงไป เรายังคงเห็น “หัวใจ” และ “มนุษยธรรม” ของศรีบูรพาผ่านตัวละครเอก “นพพร” หนุ่มน้อยผู้ยอมเจ็บปวด แต่มิอาจทำลายคุณธรรม มิอาจทรยศต่อท่านเจ้าคุณอธิการบดีผู้มีพระคุณต่อเขาได้
ดิฉันเห็นว่า ศรีบูรพา แม้จะยืนหยัดอยู่ข้าง “ความถูกต้อง” มาโดยตลอดชั่วชีวิต แต่เขาก็เข้าใจใน “อุบัติการณ์แห่งรัก” หรือ “แรงปรารถนาแห่งรัก” หรือ “สัญชาติญาณแห่งรัก” ทว่าในท้ายที่สุด เขาก็มิได้จำนนต่ออำนาจเหล่านั้นให้อยู่เหนือศีลธรรม เขายังคงจบฉากตัวละครให้พบกับโศกนาฏกรรม (Tragedy) ที่ทั้งสองฝ่ายต้องเจ็บปวด
ด้วยเห็นว่า “แม้ทั้งสองจักรักกันปานจะกลืนกินเพียงใดก็ตาม แต่มันคือความไม่ถูกต้องในครรลองคลองธรรมอยู่นั่นเอง”
มาร์กซิสต์ VS แนวคิดแบบพุทธ

กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับ พุทธทาสภิกขุ
เป็นไปได้หรือไม่ที่บุคคลผู้ฝักใฝ่ในลัทธิมาร์กซิสต์ จักมีแนวคิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ควบคู่กันไปด้วย คำตอบคือมี อย่างน้อยก็ “ศรีบูรพา” คนหนึ่งล่ะ
การสนใจลัทธิมาร์กซิสต์ของนักแสวงหา นักคิด นักเขียน นักอุดมคติ ในยุคที่ผ่านมา หนุนเนื่องมาจาก การรังเกียจ “ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา” ปฏิเสธ “ระบบลูกท่านหลานเธอ” ชิงชัง “ระบบทุนนิยมแบบผูกขาด” โดยมองว่า “หากมนุษย์ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ศักยภาพของมนุษย์ก็สามารถพัฒนาได้ไม่ต่างจากกันเท่าใดนัก”
ลัทธิมาร์กซิสต์จึงรังเกียจความงมงาย ความเชื่อถือในโชคลางอันเลื่อนลอย การรอคอยบุญหนุนส่ง การรอเมตตาฟ้าประทาน การอธิษฐานขอพร การก้มหน้ารับสภาพว่าชาติก่อนทำบุญมาไม่มากพอ
ในขณะที่แก่นของพระพุทธศาสนาก็ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่คนที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธส่วนใหญ่ กลับแยกแยะไม่ออกระหว่างสิ่งที่กล่าวมา อันล้วนเป็นเปลือก กลับนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องร้อยรัดอาภรณ์ สวมใส่จนบดบังหัวใจของศาสนาพุทธที่แท้จริง นั่นคือ การวิปัสสนาและการใช้ปัญญาไตร่ตรองเหตุผล
ศรีบูรพาได้พบ “พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบถึงสองรูป” นั่นคือ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” กับ “พระพิมลธรรม” (อาจ อาสภมหาเถระ)
ดิฉันแอบตั้งคำถามในใจว่า หากมิใช่ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” กับ “พระพิมลธรรม” แล้วไซร้ หากเป็นพระภิกษุรูปอื่น จักสามารถโน้มน้าวจิตใจให้คนอย่างศรีบูรพาหันมายินดีปฏิบัติธรรมได้โดยดุษณีหรือไม่
ช่วงต้นปี 2495 ศรีบูรพาได้เขียนจดหมายสนทนากับท่านพุทธทาสภิกขุอยู่หลายฉบับ แสดงความสนใจว่าต้องการเดินทางไปปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นกับ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี จนศรีบูรพาได้นั่งรถไฟไปกับนักเขียนหนุ่มรุ่นน้องชื่อ “วิลาศ มณีวัต” ชาวสุราษฎร์ ให้พากันไปปฏิบัติธรรม สนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ
การใช้ชีวิตในมุ้งแคบ ๆ เสื่อผืนหมอนใบ อาหารวันละ 1-2 มื้อ นั่งสมาธิอย่างอุกฤษฏ์ เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์นั้น คนทั่วไปอาจรู้สึกคลางแคลงใจว่า เป็นไปได้จริง ๆ หรือ สำหรับคนที่มีแนวคิดฝ่ายซ้ายเช่นเขา จักยอมรับคำสอนของพระพุทธศาสนาได้
ศรีบูรพาบันทึกเหตุการณ์ช่วงนั้นว่า เขาได้เรียนรู้จักความอดทน อดกลั้น ละความเห็นแก่ตัว เห็นแก่กิน เห็นแก่นอน สัมผัสกับแรงปะทะเย็นร้อนอ่อนแข็ง ตรวจสอบความต้องการของจิตใจ เรียนรู้ที่จะลดละเลิก ของมึนเมาและสิ่งฟุ่มเฟือย พร้อมให้อภัย และนำหัวใจไปสู่ความสงบรำงับ
ใช่! คนที่เป็นมาร์กซิสต์ ล้วนมีความกลมกลืนกับแนวคิดแบบพุทธได้ หากเราเข้าใจให้ถึงแก่นพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
กรณีของพระพิมลธรรม แห่งสำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับศรีบูรพาได้อย่างไร เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่ศรีบูรพาติดคุก (คดีขบวนการ 10 พ.ย.) อยู่ที่บางขวาง ระหว่างปี 2495-2500 ครั้งหนึ่งเขาได้ข่าวว่า จอมพลผิน ชุณหะวัณ มีโครงการนิมนต์ “พระพิมลธรรม” ให้เข้ามาเทศนาธรรมและสอนกัมมัฏฐานให้แก่นักโทษคดีอาญาทั่วไป
ต่อมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เย้ยหยันค่อนขอดจากสหายนักโทษสายการเมืองเพื่อนพ้องของเขา ในทำนองว่า
“หากท่านอยากเทศน์ให้นักโทษคนอื่นก็เทศน์ไป แต่อย่ามาเทศน์ให้พวกเรา ปัญญาชนสายมาร์กซิสต์ฟังเลย เราไม่ต้องการ ไม่มีความจำเป็น เพราะการวิปัสสนาไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ วิปัสสนาไม่สามารถทำให้คนเลิกประพฤติชั่วได้ ตราบที่ท้องคนยังหิว และตราบที่สภาพแวดล้อมยังเต็มไปด้วยความชั่วร้าย”
คงมีแต่ศรีบูรพาเพียงผู้เดียว ที่พยายามเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวความคิดของเพื่อนนักโทษการเมืองว่า โปรดอย่าคิดเช่นนั้นเลย
“พวกเรารู้จักวิปัสสนากัมมัฏฐานกันดีแล้วล่ะหรือ?”
หากเรายังไม่รู้ว่าการวิปัสสนากัมมัฏฐานคืออะไร ก็ควรเรียนรู้เสียก่อน อันที่จริงพระพุทธศาสนา มิได้เป็นปรปักษ์ต่อแนวคิดของลัทธิมาร์กแต่อย่างใดเลย จากนั้นศรีบูรพาก็บอกพัศดีผู้คุมนักโทษ ว่าหากพระพิมลธรรมเข้ามาเทศน์ให้แก่คนคุกแดนใดก็ตาม ก็ขอนิมนต์ให้มาสอนการวิปัสสนากัมมัฏฐานให้แก่พวกเขาซึ่งเป็นนักโทษการเมืองด้วย
ตามที่เราทราบกันดีว่า ชะตากรรมของพระพิมลธรรม ต่อมาก็ถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลจอมเผด็จการ ถึงขั้นถูกจับสึกให้พ้นผ้าเหลือง สาเหตุหนึ่งไม่แน่ใจว่า เพราะเข้ามายุ่งเกี่ยวพัวพันกับนักเขียนนักเคลื่อนไหว “กลุ่มกบฏสันติภาพ” ในเรือนจำนี้ด้วยหรือไม่ ไม่อยากเชื่อเลยว่าแม้แต่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หนึ่งในข้อหาที่จับท่านปาราชิกก็คือเป็นคอมมิวนิสต์
ช่วงที่อยู่ในคุกบางขวาง เห็นได้ว่าศรีบูรพามีความโหยกระหายอยากให้พระพิมลธรรมมาสอนปฏิบัติธรรมให้แก่พวกเขาและผองเพื่อน เสมือนได้หยาดน้ำทิพย์ชโลมจิตวิญญาณ โดยมิได้เสียอุดมการณ์มาร์กซิสต์แต่อย่างใดเลย
“กบฏสันติภาพ” คือภาพสรุปของ “ศรีบูรพา”
ก่อนอื่นต้องตีความคำว่า “กบฏ” กันให้ชัดเจน เพราะคำ ๆ นี้มีความแตกต่างกันสองสถานะ เป็นที่ทราบกันดีว่า “กบฏ” มีทั้งผู้เจตนาดีต่อบ้านเมือง และในขณะเดียวกันก็มีทั้งผู้ประสงค์ร้ายต่อประเทศชาติ
หากผู้มีเจตนาดีต่อบ้านเมืองในยุคที่ผู้ปกครองกดขี่ข่มเหงราษฎร แล้วมีการปลุกระดมพลลุกขึ้นสู้ต่ออำนาจเถื่อนนั้น ในเมื่อผู้ต่อสู้พ่ายแพ้ก็ย่อมถูกตราหน้าว่า “กบฏ” เป็นธรรมดา และถึงจะเป็น “กบฏ” แต่คำนี้ก็กลายเป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ในการรับรู้ของประชาชน
แต่หากว่ามีกลุ่มบุคคลที่เห็นแก่ตัว ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพียงเพื่อตอบสนองกิเลสตัณหาของพวกพ้องตัวเองไม่กี่วงศ์สกุล ลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลปลุกปั่นสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาลที่ไม่ได้ทำอะไรผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เพียงเพื่อปกป้องหวงแหนอำนาจเก่าในลักษณะ “อภิสิทธิ์ชน”
บุคคลกลุ่มนั้นก็ย่อมได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “กบฏโดยเจตนา” หรือเป็น “กบฏโดยกมลสันดาน” หาได้มีคุณค่าใด ๆ ไม่ แม้แต่จะให้จารึกเหตุการณ์ในทำเนียบนาม
เหตุการณ์ “กบฏ” ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ก็ยังรู้สึกว่า คำว่า “กบฏ” อาจสูงส่งเกินกว่าที่จะนำไปเพรียกขานคนเหล่านี้ด้วยซ้ำ
ยิ่งเมื่อทบทวนเหตุการณ์ “กบฏ” ในอดีตของประวัติศาสตร์สยาม ก็จะพบทั้ง “กบฏ” ของบรรพชนผู้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อคนทุกข์คนยากได้เป็น “ไท” แก่ตัวเอง เป็นเหตุการณ์ที่ประทับอยู่กลางใจคนจนยากจะลืมเลือน เป็น “กบฏ” ที่ไม่ได้เกิดจากความมักใหญ่ใฝ่สูง บ้าอำนาจ แต่เรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อส่วนรวม แม้ต้องสู้แบบหลังพิงฝา กบฏกลุ่มนี้ ต่อมาคนรุ่นหลังได้ขนานนามให้ใหม่กลายเป็น “ฮีโร่” หรือ “วีรบุรุษ” ดังเช่น กบฏพญาผาบ กบฏชาวนา กบฏตนบุญ กบฏผู้มีบุญ ฯลฯ
และน่าจะรวมไปถึง “กบฏสันติภาพ” อันมีศรีบูรพาเป็นหัวหอกคนสำคัญนี้ด้วย
เหตุที่เรียกว่า “กบฏสันติภาพ” นั้น มีมูลเหตุเนื่องมาจากกลุ่มคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่ง นำหัวขบวนโดย นายแพทย์เจริญ สืบแสง และศรีบูรพา ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย” เมื่อเดือนเมษายน 2494 โดยมีเครือข่ายแม่ตั้งอยู่ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน มีจุดมุ่งหมายเพื่อรณรงค์คัดค้านอาวุธปรมาณู และต่อต้านการแทรกแซงของอเมริกาต่อสงครามคาบสมุทรเกาหลี
การเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ได้ประกาศจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี มีการตีพิมพ์คำปฏิญญาว่า “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ คือเสรีภาพของประชาชน” ลงในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
นำไปสู่การกวาดล้างจับกุมนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์และประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลครั้งใหญ่ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ทำให้กบฏสันติภาพมีอีกชื่อว่า “กบฏ 10 พฤศจิกายน” โดยอ้างข้อหาว่า
“มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก ทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่าง ๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง ...เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย”
ชาวต่างประเทศที่ว่านี้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากรัสเซียและจีน
รายชื่อผู้ต้องหาที่รัฐบาลหาเรื่องจับแพะชนแกะ นอกจากศรีบูรพายังมี สุภา ศิริมานนท์ เปลื้อง วรรณศรี สมัคร บุราวาศ สุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ หลังจากการจับกุมครั้งแรกในปี 2495 แล้ว ยังมีการทยอยจับบุคคลต้องสงสัยตามติดมาอีกหลายระลอก ยืดเยื้อมาจนถึงปี 2497 ถูกจับร่วมร้อยกว่าคน มีรายชื่อของสุภาพสตรี อาทิ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และนักเขียนหญิงเมืองเหนือ อ.ไชยวรศิลป์ รวมอยู่ด้วย
แต่นักโทษหญิงนี้ได้รับการปล่อยตัวไปในเวลาไม่นานนัก
ฝ่ายชายถูกคุมขังจำกัดเสรีภาพอยู่ในคุกบางขวางระหว่างปี 2495-2500 ภายหลังจึงได้รับนิรโทษกรรมเมื่อปี 2500 เนื่องในวาระฉลองกึ่งพุทธกาล
ตอนแรกมีการใช้คำว่า “อภัยโทษ” แต่ศรีบูรพาปฏิเสธที่จะให้ศาลใช้คำว่า “อภัยโทษ” เพราะถือว่าพวกเขาไม่มีโทษ ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ขอให้ใช้คำว่า “นิรโทษกรรม” แทน กล่าวคือไม่มีโทษแก่กัน ซึ่งก็น่าคิดว่า คำว่า “นิรโทษกรรม” คำนี้ ณ ยุคสมัยเรา กลับกลายมาเป็นต้นตอของความขัดแย้งเสียเองอีก
หลังจากที่มีการปล่อยตัวแล้ว ศรีบูรพาได้รับเชิญให้ไปเยือนจีน เป็น 1 ใน 12 นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ในนาม “คณะผู้แทนและส่งเสริมวัฒนธรรม” จากประเทศไทย ที่ร่วมขบวนนี้ด้วย ซึ่งเดินทางกันไปกรุงปักกิ่งในเดือนสิงหาคม2501
ช่วงนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ทำให้กลุ่มนักเขียนที่เดินทางกลับจากจีน ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน ณ สนามบินดอนเมือง ถูกจับในข้อหากบฏภายนอกและภายในราชอาณาจักร เหตุเพราะจีนมีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ และยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ผู้ที่เดินทางไปจีนในช่วงนั้นจึงย่อมมีความผิดในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์
ศรีบูรพา กับสุชาติ ภูมิบริรักษ์ เพิ่งได้รับอิสรภาพไม่ถึงปี หลังจากถูกคุมขังในข้อหากบฏสันติภาพนานถึงสี่ปีเศษ เมื่อทราบข่าวการรัฐประหาร ก็ตัดสินใจไม่กลับเมืองไทย ขอลี้ภัยอยู่ที่จีนตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ในขณะที่นักเขียนคนอื่นเช่น อ.ไชยวรศิลป์ พร้อมด้วยนักเขียนหญิงอีกคนที่ไปจีนด้วยกันคือ ถวัลย์ วรดิลก (เป็นน้องสาวของ สุวัฒน์ วรดิลก และเป็นพี่สาวของทวีป วรดิลก) ถูกจับเข้าคุกที่ลาดยาวอยู่นานแรมเดือน
ระหว่างปี พ.ศ. 2501-2509 กลุ่มปัญญาชนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองกับรัฐบาลได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏกันถ้วนหน้า แต่ก็มิอาจตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ และไม่มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
ทุกคนถูก “ขังลืม” ตามคำพิพากษาของศาลเตี้ยโดยไม่รู้ชะตากรรม ในขณะที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยิ่งกระชับสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอย่างเหนียวแน่น พร้อมสถาปนาลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมา
ย้อนมองกลับไปสู่อดีต กว่าเจ็ดสิบปีแห่งการต่อสู้ของคณะนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่มุ่งใฝ่หาสันติภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย ต่อต้าน “การปฏิวัติรัฐประหาร” ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำลังสมรู้ร่วมคิดกับจักรวรรดินิยมอเมริกา โดยการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์แล้ว
นึกสะท้อนใจ เมื่อมาเห็นกลุ่มสื่อหลายสำนักในปัจจุบันที่เก็บอุดมการณ์เข้าลิ้นชัก พากันเดินสวนทางกับนักหนังสือพิมพ์ของประชาชน ผิดกับศรีบูรพาและกลุ่มกบฏสันติภาพ สื่อเหล่านั้นหันไปรับใช้กลุ่มอำนาจนิยม ร่วมจัดการปัญญาชนที่คิดเห็นต่างจากพวกตน
ศรีบูรพา จึงได้รับการบันทึกคุณค่าในฐานะขบถ หรือนักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมอย่างเข้มข้น เคียงคู่ขนานไปกับความเป็น “สุภาพบุรุษ” ตลอดกาลของเขา