...ว่ากันตามที่จริง การที่เอาผมมาพูดถึงคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในวันนี้ ดูไม่ค่อยจะจำเป็นเลย ผมเองก็เสมอเพียงศิษย์เล็กๆ คนหนึ่งของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และก็ได้มีโอกาสเป็นศิษย์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งไม่นานนักเท่านั้นเอง
เห็นจะเป็นเพราะเหตุที่เป็นศิษย์ และเป็นศิษย์ที่มีความเคารพเชิดชูซึ่งได้พยายามศึกษาติดตามไต่เต้ามาในแนวทางที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ดำเนินและได้พากเพียรต่อสู้ตราบจนกระทั่งคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้สิ้นชีวิตไปในต่างประเทศ นั่นเองดอกกระมัง พรรคพวกเพื่อนฝูงจึงได้ให้โอกาสแก่ผมมาพูดร่วมด้วยในพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงการเสียชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นรอบที่ 2
ดังนั้น ก่อนอื่นทีเดียว ผมขอย้ำความแน่ใจของท่านทั้งหลายในที่นี้ว่า ผมเป็นเสมอเพียงศิษย์ของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และก็เป็นศิษย์ในทางงานหนังสือพิมพ์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบุคคลที่มีวุฒิชั้นยอดๆ อยู่ในตัวหลายอย่างหลายด้าน เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นนักประพันธ์ และเป็นนักปฏิวัติ
ความเป็นนักหนังสือพิมพ์นั้น ในยุคสมัยของท่านก็ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ชั้นหนึ่ง ประกอบภารกิจด้วยหลักวิชาและเกาะแน่นกับจริยธรรมแห่งอาชีวปฏิญาณ มีความเป็นธรรมในฐานะหัวหน้างาน และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แนะแนวและให้อนุสาส์นเท่าที่จะให้ได้ตามความเหมาะสม
ความเป็นนักประพันธ์หรือนักเล่าตลอดยุคสมัยของท่าน หรือแม้แต่ภายหลังจากการวายชนม์ของท่าน นวนิยายเหล่านั้นก็มีลักษณะนำยุคหรือล้ำยุคอยู่เสมอ เป็นแบบอย่างในทางการประพันธ์แก่นักประพันธ์รุ่นหลัง เป็นเครื่องจรรโลงใจแก่ผู้ได้อ่าน ถือได้โดยไม่มีทางผิดพลาดว่า คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในนามปากกา “ศรีบูรพา” เป็นนักประพันธ์ชั้นหนึ่งของวงการประพันธ์ไทย
สำหรับในฐานะของนักปฏิวัตินั้น พจนาลัยของบุรุษอันดับหนึ่งของโลกหลายท่านที่ได้กล่าวไว้ต่อมรณกรรมของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ย่อมจะเป็นการยืนยันรับรองฐานะข้อนี้ของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้โดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ผมเองก็ได้แต่คอยติดตามสดับตรับฟัง ไม่ค่อยจะรู้อะไรเพียงพอที่จะมากล่าวได้
วุฒิทั้งหลายเหล่านี้ ความจริงพวกเราทุกคนต่างก็ดูเหมือนจะรู้ๆ กันอยู่แล้วทั้งนั้น เมื่อเป็นการมาพูดถึงสิ่งที่ใครๆ ต่างก็รู้ให้ท่านทั้งหลายฟังเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องขออภัยไว้เป็นประการแรกที่ทำตนเป็นคนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน จึงขอได้โปรดถือเสียว่าเป็นการมากล่าวคำไหว้ครูของศิษย์คนหนึ่งของ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือในการตอบรับการให้โอกาสของพวกพ้องมาพูดถึงคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในวาระอันหรูหราอึกทึกเช่นนี้นั้น ผมเองมิได้มีความนึกคิดในทางที่จะฉวยโอกาสทำชื่อเสียงเนื่องจากโอกาสเปิดให้มาพูดถึงบุคคลผู้มีชื่อเสียงสูงส่งเช่นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่อย่างใด การพูดถึงบุคคลสำคัญไม่ว่าระดับไหนๆ ไม่ได้เป็นเครื่องช่วยให้ผู้พูดนั้นๆ กลายเป็นคนสำคัญไปด้วยได้
ผมจะใช้โอกาสนี้พูดถึง คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ด้วยความเคารพ ในฐานะของความเป็นนักหนังสือพิมพ์เพียงด้านเดียว เพราะตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้ทำงานภายใต้ความบังคับบัญชาของท่านมา และในช่วงระยะหนึ่งที่ได้เคยทำงานร่วมกันมาในกิจการหนังสือพิมพ์และนิตยสารบางสำนักบางแห่ง ความเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีซึ่งมีอยู่ควบคู่กับการเป็นครูที่ดีได้พิมพ์ประทับใจผมอยู่ตลอดมาอย่างล้ำลึก
เกียรติคุณชื่อเสียงของ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ นั้น อย่าว่าแต่เพียงเศษเล็กๆ อย่างผมเลย ไม่ว่าใครๆ ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตกแต่งเพิ่มพูนหรือไปสร้างให้แก่ท่านได้ อย่างมากที่สุดก็ได้แต่เพียงกล่าวสรรเสริญตามวาระอันควรเท่านั้นเอง เกียรติคุณชื่อเสียงอันสูงส่งไม่ว่าของใครๆ ในโลกนี้ เป็นเกียรติคุณชื่อเสียงซึ่งผู้เป็นเจ้าของได้สร้างสมขึ้นมาด้วยตัวของตนทั้งนั้น
สิ่งซึ่งผมจำเป็นต้องขออภัยอีกประการหนึ่งในการกล่าวถึงคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในครั้งนี้ก็คือ เนื่องจากผมจะกล่าวในฐานะศิษย์ เพราะฉะนั้นจึงหนีให้พ้นได้ยากเหลือเกินที่จะพูดพัวพันถึงกรณีต่างๆ อันเกี่ยวกับตัวเองเท่าที่มีอยู่กับคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้เป็นทั้งผู้บังคับบัญชาและเป็นทั้งครู ไม่มากก็น้อย
มันเป็นความยากใจอันหนึ่ง ที่กล่าวว่ายากใจนี้ ก็เพราะการณ์จะกลายเป็นว่าผมพยายามยกตัวเองโดยอาศัยชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านมารองรับในทางอ้อม ผมเองได้ใคร่ครวญแล้วใคร่ครวญอีก เพราะไม่ใช่วิสัยที่จะกระทำเช่นนั้น และไม่เคยมีปรารถนาที่จะกระทำเช่นนั้น ไม่ว่ากับใครคนใดหรือในที่ใดทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าหากบังเอิญมันจะต้องมีอยู่ แทรกอยู่ ไม่ว่าเรื่องใดกรณีใด ก็ขอได้โปรดถือเสียว่ามันเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของศิษย์ ที่จะกล่าวคำไหว้ครูก็แล้วกัน และเป็นศิษย์ที่มิได้มีความสำคัญอะไรแต่อย่างใดเลยในโลก
ความรู้สึกที่มีความเคารพใน คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ นั้น ผมจำได้แน่นอนว่า เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม 3 และมัธยม 4 เป็นต้นมา อายุก็เพิ่งจะ 10 กว่าขวบ เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเลื่อมใสก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากเป็นเพราะได้อ่านนวนิยายที่ท่านแต่งนั่นเอง
คำว่า “นวนิยาย” เวลานั้นยังไม่มี สมัยนั้นเรียกกันว่า “เรื่องอ่านเล่น” คำนี้ ถ้าหากเป็นคนรุ่นพ่อขึ้นไปเรียกกันว่า“เรื่องประโลมโลก” ก่อนที่จะก้าวเข้ามาสู่วงการหนังสือพิมพ์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มต้นด้วยการเขียนนวนิยาย เริ่มต้นด้วยการเขียนลำตัด ซึ่งสมัยนั้นมีผู้นิยมเขียนกันออกจะแพร่หลาย
ชื่อเสียงขั้นต้นที่ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ สร้างให้แก่ตนเองเป็นชื่อเสียงทางการประพันธ์ โดยมากเป็นเรื่องสั้น กลุ่มเพื่อนร่วมกลุ่มของท่านจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งต่อมาได้เกาะแน่นกันอยู่ภายใต้นาม “คณะสุภาพบุรุษ” นั้น ปรากฏว่ามีนักประพันธ์ชั้นเอกหลายคน และก็มีที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ชั้นยอดๆ อีกหลายคนเช่นเดียวกัน นี่ก็หมายถึงว่าคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และคณะ “สุภาพบุรุษ” ของท่านอยู่ในยุคเริ่มต้นของการประพันธ์นวนิยายแบบใหม่ของเมืองไทย แทนที่จะเป็นนิทานคำกลอนแบบจักรๆ วงศ์ๆ และแทนที่จะเป็นคำกลอนลำตัดซึ่งฮือฮากันระยะหนึ่งในตอนต่อมา
ในวิถีของการประพันธ์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ แตกต่างไปจากเพื่อนฝูงในกลุ่มของท่านในแง่ที่ว่า หลังจากได้ประพันธ์เรื่องราวในทำนองเพลิดเพลินใจเป็นสำคัญอย่างเดียวอยู่สักระยะหนึ่งแล้ว คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในนามปากกา “ศรีบูรพา” ก็ได้วางกำหนดให้นวนิยายของท่านมี “ความหมาย” แทรกแซงอยู่ด้วย
“ความหมาย” อันนี้ในชั้นแรกทีเดียวก็อาจจะเป็นเงื่อนแง่อันแสดงความคิดอ่านที่ “ผ่า” ออกไปจากแนวความคิดที่ครอบคลุมทั่วไปมาแต่เดิม การ “ผ่า” นี้ว่าที่จริงเเล้วก็ไม่ใช่การผ่าอย่างพรวดพราด เพราะคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็คงจะค่อยๆ คิด ค่อยๆ เเสวงหาทางของท่านมาเรื่อยๆ ทั้งจากการศึกษาเเละจากการตั้งข้อสังเกต
นวนิยายที่สอดแทรกเนื้อหาด้วยลักษณะทางคุณธรรมเรื่องแรกของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เห็นจะได้แก่ เรื่อง ลูกผู้ชาย แต่อย่างไรก็ดี เรื่องที่ว่านี้ถ้าหากจะเอามาอ่านกันเดี๋ยวนี้ก็ต้องถือเอาเป็นเพียง “หลักบอกเขต” หลักหนึ่งในถนนอันยืดยาวไม่มีปลายทางของวรรณกรรม
จากจิตสำนึกในแง่เกี่ยวกับคุณธรรม ต่อมาก็ได้ก้าวไปสู่ภาวะที่เรียกว่า “ความเป็นธรรม” ปัญหาก็ย่อมเลยไปถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคมเป็นธรรมดา ซึ่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคมนี้ เป็นสิ่งที่ปรากฏตำนัยน์ตาได้ง่ายและทั่วไป คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ก้าวเข้าต่อกรกับความเหลื่อมล้ำอันนี้ด้วยความละเมียดละไมและสุขุม โดยอาศัยบทประพันธ์เป็นพาหะสำคัญทั้งเรื่องขนาดสั้นและขนาดนวนิยาย
นวนิยายของ “ศรีบูรพา” ที่นับว่าเด่นชัดเหนือยุคก็เห็นจะได้แก่ เรื่อง สงครามชีวิต การที่กล่าวว่าเด่นชัดเหนือยุคได้ด้วยอาศัยเหตุผล และประจักษ์หลักฐานที่ว่า ในช่วงระยะเดียวกันนั้นไม่ได้มีนักประพันธ์คนใดที่จะเขียนได้ถึงระดับนี้ นักประพันธ์คนอื่นๆ ไม่ว่าในกลุ่ม “สุภาพบุรุษ” หรือในเพื่อนร่วมรุ่นของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไม่ปรากฏว่าจะมีใครก้าวหน้าหรือตื่นตัวไปในทางก้าวเข้าหาประชาชนคนสามัญได้เสมอเหมือน หลายๆ คน อาจจะมีชื่อเสียงไปในทางแต่งนวนิยายได้ดี น่าอ่าน อ่านสนุกเพลิดเพลิน และบางเรื่องก็พอจะถือได้ว่าเป็นอมตะในฐานะของนวนิยาย อย่างเช่น ละครแห่งชีวิต ของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน ซึ่งเป็นนวนิยายที่ผลักรุนให้ผู้อ่านมีความพิสมัยในชีวิตของนักหนังสือพิมพ์อย่างยิ่งเป็นเรื่องแรกในประวัติวรรณกรรมของไทย แต่เนื้อหาสาระก็เป็นไปในทางที่ฝากชีวิตไว้กับโชคเคราะห์ ไม่ใช่เรียกร้องให้เกิดสำนึกในกรณีเกี่ยวกับ “ความเป็นธรรมแห่งสังคม”
ถ้าจะนับกันว่านวนิยาย เรื่อง สงครามชีวิต เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่จะแพร่กระจายความคิดความรู้สึกของท่านผู้อ่านไปในทางความเป็นธรรมแห่งสังคม ก็หมายถึงว่า คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ได้เป็นผู้เริ่มย่ำระฆังให้เสียงเรียกร้องอันนี้ชำแรกแทรกซึมลงไปในจิตและในสายเลือดของการต่อสู้ในยุคใหม่ เสียงกังวานของระฆังนั้นมีอิทธิพลอย่างไร ก็ดูจะเป็นที่รับรองกันได้อยู่แล้วตราบจนถึงชั่วขณะนี้
ชีวิตของคุณกุหลาบ สายประดิบฐ์ ในทางการประพันธ์และการหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องยืดยาวเกินกว่าที่เราจะนำมาสาธกกันโดยละเอียดในที่นี้ ผมเชื่อว่าคงจะต้องมีผู้เขียนขึ้นเป็นหนังสือต่อไปโดยแน่นอน
วงการประพันธ์และวงการหนังสือพิมพ์ของเมืองไทยในยุคเริ่มต้นของคุณกุหลาบนั้นว่าที่จริงก็เป็นวงการอันไม่กว้างขวางอะไรเลย ดูเหมือนว่าคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ จะได้ไปเริ่มต้นงานหนังสือพิมพ์ที่ สำนักงานนิตยสารเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นนิตยสารของโรงเรียนนายร้อยทหารบก นิตยสารฉบับที่ว่านี้เป็นนิตยสารที่จัดว่ามีชื่อเสียงมากในยุคนั้น เรื่องสั้นที่ดีๆ เรื่องแปลที่ดีๆ รวมทั้งเรื่องยาวขนาดนวนิยายที่ดีๆ ได้ผ่านเวทีของนิตยสารเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เป็นจำนวนไม่น้อย
ความสันทัดจัดเจนที่ได้รับมาจากการเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสคร์ นี่เอง เป็นผลให้คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกมาขัดตั้งกลุ่ม “สุภาพบุรุษ” ขึ้นกับบรรดาเพื่อนนักประพันธ์ร่วมรุ่นของท่าน
สุภาพบุรุษ เป็นนิตยสารรายปักษ์ที่นับว่ามีชื่อเสียงมากนับตั้งแต่เริ่มพิมพ์ออกจำหน่าย แต่นั่นแหละ การแต่งหนังสือเป็นอย่างเดียว ไม่มีความรู้ ไม่มีความสันทัดในทางบริหารงาน ถึงจะจำหน่ายขายดี นิตยสารนี้ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้ เหตุปัจจัยเช่นว่านี้เป็นเหตุปัจจัยธรรมดาของระบบทุนนิยมในยุคสมัยนั้น ยังวิเคราะห์กันไม่ออก หรือควรจะกล่าวได้ว่ายังไม่รู้จักว่าธรรมดาอันนั้นคืออะไรด้วยซ้ำไป
จากพื้นฐานที่ก้าวขึ้นมาผ่านนิตยสาร สุภาพบุรุษ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์รายวัน ด้วยการสนับสนุนของนักหนังสือพิมพ์ผู้ใหญ่ในสมัยนั้นคนหนึ่ง หนังสือพิมพ์รายวันที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะสุภาพบุรุษของท่านได้ก้าวเข้าสู่คือ หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง แต่ก็ทำอยู่ที่ บางกอกการเมือง ได้ไม่นานนัก จะเนื่องจากเหตุอะไรบ้างจำเป็นจะต้องนำไปไว้พิจารณากันโดยละเอียดต่อไปในกาลข้างหน้า
จากบางกอกการเมือง คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และคณะ “สุภาพบุรุษ” ได้ก้าวเข้าสู่การจัดกิจการหนังสือพิมพ์ที่นับว่าแปลกใหม่และยิ่งใหญ่ของยุคสมัยนั้นขึ้นมาฉบับหนึ่งคือ หนังสือไทยใหม่
ชื่อของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมจะบอกเป็นนัยได้อย่างตระหนักทีเดียวว่าจุดมุ่งหมายของผู้ดำเนินการคืออย่างไร แต่แล้วก็อีกนั่นแหละ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อยู่ที่สำนักหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ได้ไม่ถึง 1 ปี ก็อพยพคณะออกไป การออกไปครั้งนั้น ถ้าจะกล่าวตามภาษาที่เรียกกันในยุคต่อมาก็คือ ยกคณะตบเท้าออก เป็นการยกคณะออกที่มีชื่อโด่งดังมากเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยทีเดียว
คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะยกคณะออกมา ไม่ใช่ว่ามีสตางค์เต็มกระเป๋า หากเป็นการออกมาด้วยความทะนงของคนหนุ่มผู้ยึดมั่นในความเป็นธรรมแห่งสังคมชิงชังในความเอาเปรียบของฝ่ายเจ้าของทุน และรังเกียจในความจุ้นจ้านไม่เข้าเรื่องของตัวเเทนฝ่ายเจ้าของทุน ปรากฏว่าคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และเพื่อนร่วมคณะเกือบทุกคนตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ถังแตก” ดีๆ นี่เอง จะกินเข้าไปก็แทบจะไม่มี
ระหว่างว่างงาน คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ใช้เวลาไปในทางเขียนทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และบทความไปลงหนังสือพิมพ์บางฉบับ บทความที่นับว่าเด่นอย่างยิ่งของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในระยะนั้นคือ บทความชื่อ “มนุษยภาพ” ลงพิมพ์อยู่ใน หนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง พอลงไปได้เพียงสองหรือสามตอน หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ก็ถูกสั่งปิดเพราะบทความนี้
บทความเรื่อง “มนุษยภาพ” เป็นบทความที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนไม่จบทั้งชุดตามที่ตั้งใจ พื้นฐานของบทความชุดนี้ ชื่อของมันก็ดูเหมือนจะบอกให้ทราบได้ชัดอยู่เเล้วเหมือนกัน เนื้อหาสาระของมันเป็นเสียงอุทธรณ์จากดวงใจของผู้ซึ่งปรารถนาจะสร้างสรรค์ความเป็นธรรมแห่งสังคม และปรารถนาจะทลายล้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอันอยุติธรรม ระยะกาลตอนนั้นเป็นปลายยุคสมัยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ต่อจากวาระนั้นมาอีกเพียงชั่วระยะสั้นๆ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดับวูบลงไป เกิดมีสถาบันอย่างใหม่ขึ้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทางของระบอบประชาธิปไตย
คณะ “สุภาพบุรุษ” ของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ก่อตั้งนิตยสารรายสัปดาห์ขึ้นมาด้วยฉบับหนึ่งชื่อ ผู้นำ เป็นนิตยสารไม่ใหญ่โตอะไร แต่ก็มีชื่อเสียงไม่น้อยสำหรับยุคสมัยนั้น ผลของการงานก็ดูเหมือนว่าเพียงแต่หวังจะมีกินไปโดยไม่อดอยากเท่านั้นเอง
ใน หนังสือพิมพ์ผู้นำ นี้ มีเรื่องสั้นที่ดีๆ และบทความดีๆ ปรากฏอยู่หลายเรื่อง เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้นำ รายสัปดาห์นี้ก็คือ โรงพิมพ์ไทยพาณิชยการ ในตอนเริ่มก่อตั้งเป็นโรงพิมพ์เล็กๆ แต่ในกาลต่อมาก็กลายเป็นพื้นฐานสำคัญทำให้เกิดหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่อีกหลายฉบับ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน
ระหว่างที่เขียนอยู่กับนิตยสารรายสัปดาห์ ผู้นำ นี้เองที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ได้เริ่มก่อตั้ง หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ขึ้น เจ้าของทุนแห่งหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ในสมัยเริ่มก่อตั้งยุคแรกก็คือ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นทรงกรม เป็นกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ในระยะนั้น “ท่านวรรณ” กำลังเฟื่องเปรื่องปราดมากในวิชาสาขาต่างๆ ทรงสนพระทัยในระบอบประชาธิปไตย ทรงเป็นนักภาษาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ และทรงปรารถนาจะจัดตั้งหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นสักฉบับหนึ่ง เพื่อแพร่ขยายความคิดและความรู้ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยออกไปสู่มหาชนตามพระกำลังและสติปัญญาของพระองค์ เเต่การจัดตั้งหนังสือพิมพ์รายวันนั้น คงจะทรงเข้าพระทัยดีว่า นอกจากตัวของพระองค์เองแล้ว ก็จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องได้คณะผู้ดำเนินการซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของประชาชนคนอ่านด้วยจึงจะได้ ซึ่งเพราะเงื่อนไขข้อนี้เองที่พระองค์ท่านทรงเล็งมาที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และคณะ “สุภาพบุรุษ” ที่กำลังว่างอยู่
หลังจากการติดต่อระหว่าง “ท่านวรรณ” กับ “คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์” โดยมีเพื่อนสนิทของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ คนหนึ่งเป็นผู้เชื่อมโยง เพียงไม่กี่เดือนก็มีประกาศจัดตั้งและออกจำหน่ายของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ สำนักงานแห่งแรกของ ประชาชาติ อยู่ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจของพระยาศรีบัญชา ใกล้ๆ สี่กั๊กเสาชิงช้า ในบรรดาคำบรรยายของเอกสารประกาศโฆษณาหนังสือพิมพ์ประชาชาติครั้งกระนั้น นอกจากจะบอกเล่าถึงความพิเศษด้านอื่นๆ แล้ว มีส่วนหนึ่งที่แสดงคุณสมบัติเกี่ยวกับ “ข่าว” ด้วยถ้อยคำว่า “ข่าวของประชาชาติเป็นข่าวสดและสวย”
ฟังตามถ้อยคำดังกล่าวนี้ ท่านย่อมจะมองเห็นและเข้าใจลึกลงไปได้ทันทีว่า
ประการที่ 1 หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ จะเอาใจใส่ในข่าวเป็นพิเศษตามแบบอย่างของหนังสือพิมพ์ที่ปฏิบัติอยู่ในครรลองของหลักวิชา นั่นคือ สิ่งที่เป็นข่าวจะต้องสดอยู่เสมอ
ประการที่ 2 ข่าวของหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ จะไม่ใช้วิธีเขียนแห้งแล้งตามที่มักจะปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์อื่นๆ เวลานั้น แต่หากจะเป็นข่าวที่ “สวย” ประกอบความสดด้วยวลีที่กล่าวว่า “ข่าวสวย” นั้น เป็นวลีใหม่ที่ให้ความสำนึกอย่างใหม่พร้อมกันในคราวเดียวแสดงให้รู้อยู่ในตัวว่าคณะผู้จัดทำเป็นผู้มีคุณสมบัติทางการประพันธ์อย่างเด่นชัด เพราะการเขียนข่าวสดให้สวยด้วยนั้น จะต้องอาศัยฝีมือทางการประพันธ์
คณะบรรณาธิการของประชาชาติส่วนใหญ่ประกอบขึ้นด้วยคณะนักประพันธ์ในกลุ่ม “สุภาพบุรุษ” จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องอวดได้สนิทปากว่าข่าวของประชาชาติ จะต้อง “สวย”
หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ตั้งสำนักงานอยู่ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจได้ไม่นานนัก ก็ได้ขยับขยายออกมาหาที่อยู่ของตนเองใหม่เป็นเอกเทศอยู่ใกล้ๆ สี่แยกหลานหลวง และก็ที่สำนักงานแห่งใหม่นี้เองที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปทำงานอยู่ด้วยกับทั้ง ครูมาลัย ชูพินิจ และ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์
ปีที่ผมเริ่มชีวิตของการเป็นนักหนังสือพิมพ์จากผลแห่งความใฝ่ฝันมาแต่เล็กแต่น้อยนั้นเป็นปี พ.ศ. 2477 - อายุเพิ่งจะ 20 คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ดูเหมือนจะประมาณ 30 แล้ว
ครูมาลัย ชูพินิจ ต้องการจะให้ผมเข้าประจำแผนกสารคดี แต่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ สั่งให้ผมไปนั่งปรู๊ฟ หลังจากปรู๊ฟไปแล้ว 3 เดือน ครูมาลัย ชูพินิจ เห็นว่าผมพอจะไปช่วยแผนกข่าวต่างประเทศได้ เนื่องจากเวลานั้นนักหนังสือพิมพ์ไทยเรามีผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษน้อยและจำกัด แต่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ สั่งให้ผมออกติดตามข่าวภายใต้การควบคุมของ คุณเฉวียง เศวตะทัต หัวหน้าข่าวในประเทศผู้สามารถ และมีชื่อเสียงอย่างยิ่งคนหนึ่งของยุคนั้น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ให้เหตุผลว่า ผู้ที่จะก้าวหน้าไปในงานหนังสือพิมพ์ข้างหน้าจะต้องรู้งานข่าวให้ดีที่สุด หน้าที่อื่นๆ มีความสำคัญรองๆ ลงมาทั้งนั้น
หลังจากวาระนั้นไม่กี่เดือน คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เดินทางไปศึกษางานที่ประเทศญี่ปุ่น เหตุผลอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ท่านจำเป็นต้องปลีกตัวไปได้ทราบว่า เนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูงบางประการเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายซึ่งไม่ต้องตรงกับที่ได้ตกลงไว้แต่ต้น และเกี่ยวกับอำนาจควบคุมเหนือกิจการที่ขัดแย้งกับฝ่ายวงในของท่านเจ้าของเงิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ทนไม่ได้และไม่ต้องการจะขัดขืนให้แตกหัก
คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นแล้วไม่กี่เดือน ผมก็ลาออกจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ไปร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามนิกร ของบริษัทไทยพาณิชยการจำกัด ถนนสีลม โดยมี คุณธนวนต์ จาตุประยูร (“ธนาลัย”) นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทยคนหนึ่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญสันทัดในกิจการระหว่างประเทศเป็นพิเศษเป็นบรรณาธิการใหญ่
หลังจากกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มิได้เข้าทำงาน ณ สำนักงานประชาชาติอีก คงเขียนบทความและนวนิยายออกขายเป็นเอกเทศ คุณโชติ แพร่พันธุ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ หนังสือพิมพ์สยามนิกร ในกาลต่อมา ก็ได้ตกลงซื้อเรื่องยาวชื่อ ป่าในชีวิต ของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ลงพิมพ์เป็นประจำในขณะนั้น เรื่องนี้ตามทัศนะของผมเองรู้สึกว่าเป็นนวนิยายที่มีความดีอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง และแสดงความเปลี่ยนแปลงความคิดในทางก้าวรุดหน้าของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อเกิดกรณีสงครามจีน-ญี่ปุ่น ในเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. 2480 คุณโชติ แพร่พันธุ์ ก็ได้คิดและตกลงใจจัดส่งให้ผมเดินทางไปเป็นผู้สื่อข่าวสงคราม ณ ประเทศจีน โดยให้เดินทางไปอยู่ทางแนวรบของญี่ปุ่นระยะหนึ่ง พร้อมกันในคราวเดียวก็สั่งให้ผมดูงานหนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่นมาด้วยเท่าที่พอจะสามารถทำได้ ในกรณีเกี่ยวกับการดูงานหนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่นนี้ ผมก็ได้อาศัยคำบอกเล่าและข้อเตือนใจของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อีกนั่นแหละ
ผมยังไม่เคยไปต่างประเทศ สำหรับการไปสื่อข่าวสงครามนั้นก็คิดว่า เห็นจะต้องศึกษาลูบคลำเอาตามลำพังและตามกำลัง หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับของต่างประเทศเขาแล้ว ก็เป็นขนาดกระจิริด ย่อมไม่ต้องการอะไรนักหนา ส่วนการศึกษาเเละดูงานหนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องที่ผมเองก็มีความปรารถนามาก คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เคยผ่านมาก่อนจึงช่วยผมได้มากเหลือเกิน ท่านกรุณาสละเวลาชี้แนะลู่ทางต่างๆ ให้ด้วยความเมตตาปรานี ทำจดหมายแนะนำไปยังศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งเคยช่วยคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เองมาก่อน ศาสตราจารย์ผู้นั้นนอกจากจะสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ก็ยังทำงานประจำอยู่กับหนังสือพิมพ์โตเกียวไนนิจิด้วย คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อุตส่าห์มีแก่ใจสอนให้แม้แต่การวางตัวและการไว้ท่าทีเพื่อมิให้ใครๆ เขาดูหมิ่นนักหนังสือพิมพ์ไทยได้ ไม่ว่าจะในเรื่องใดๆ หรือในปัญหาใดๆ
คำแนะนำข้อหนึ่งซึ่งผมถือว่าสำคัญยิ่งแก่ชีวิตของผมเองมาตราบเท่าทุกวันนี้ก็คือ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เน้นนักเน้นหนาว่า อย่าไปดูมันเลยสำหรับงานในด้านบรรณาธิการกิจ เพราะเป็นเรื่องที่เราเรียนเอาเองได้ในเมืองไทย แต่ขอให้เจาะจงศึกษามาให้ดีที่สุดและหมดจดที่สุดในงานด้านการบริหารทุกๆ อย่าง
ก่อนที่ผมจะเข้าทำงานที่ประชาชาติ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ผมได้ศึกษาวิชาหนังสือพิมพ์ทางไปรษณีย์จบมาแล้วจากสำนักศึกษาทางไปรษณีย์แห่งหนึ่งของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่การศึกษาที่ว่านั้น ก็เป็นในทางบรรณาธิการกิจล้วนๆ
การมองเห็นความสำคัญของงานในด้านการบริหาร นับว่าเป็นการมองการณ์ไกลเหลือเกินสำหรับเวลานั้น ท่านบอกว่างานด้านบริหารทำให้กิจการด้านหนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่นก้าวหน้าทันตะวันตกภายในช่วงเวลาที่สั้นมาก แต่ท่านก็บอกด้วยว่า งานด้านบริหารของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นในขณะนั้นก็อยู่ล้ำหน้าเราไปอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 50-60 ปี ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องศึกษาด้านประวัติการณ์ประกอบไปด้วยจึงจะได้
ชีวิตการทำงานของผมได้มีส่วนพัวพันกับคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เรื่อยมาต่อจากนั้น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งไม่มากก็น้อย
หลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดยุติ ผมก็ได้กลับเข้าไปทำงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาและเป็นศิษย์ของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อีก ณ สำนักงานหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงพิมพ์อักษรนิติที่สี่แยกบางขุนพรหม แต่แล้วต่างฝ่ายต่างก็แยกกันไปอีกวาระหนึ่ง คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เดินทางไปออสเตรเลีย ผมเดินทางไปยุโรป
เมื่อผมดำเนินงานออกนิตยสารรายเดือน อักษรสาส์น หลังจากที่กลับจากยุโรปแล้ว ก็พอดีคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ กลับจากออสเตรเลีย ซึ่งพอทราบเจตประสงค์ของ อักษรสาส์น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เข้าช่วยเหลือทันทีทางกำลังความคิด กำลังทรัพย์ นอกจากจะเป็นผู้เขียนประจำทั้งนวนิยายและบทความทางการเมือง ผมก็มีคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้คอยช่วยประคับประคองในด้านต่างๆ ตลอดมา จนกระทั่งนิตยสารรายเดือน อักษรสาส์น จำเป็นต้องหยุดกิจการไป เพราะผมและคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ถูกจับในรอบที่ 4 แห่งการดำเนินงานเนื่องใน "กรณีสันติภาพ"
ข้อสอนใจประการหนึ่งที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ มักจะย้ำอยู่เนืองนิตย์ก็คือ ในการเป็นนักหนังสือพิมพ์นั้น เราจะต้องเป็นสุภาพบุรุษพร้อมกันไปด้วยเสมอ หลักจริยธรรมของหนังสือพิมพ์เป็นข้อซึ่งเราจะต้องสังวรอยู่ทุกลมหายใจ แต่หลักจริยธรรมเหล่านี้ก็ควรจะต้องเป็นหลักซึ่งไทยเราพึงวางกำหนดของเราเองขึ้นมาไม่ใช่ไปลอกคัดของวงการหนังสือพิมพ์ในประเทศใดอื่น
ในกรณีที่ว่าด้วยหลักจริยธรรมของหนังสือพิมพ์นี้ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ แนะให้ผมพยายามขวนขวายศึกษามาจากหลักของ หนังสือพิมพ์อาซาฮี ตั้งแต่ยุคที่ไปดูงานของเขาเมื่อ 40 ปีก่อน
สำหรับหลักยึดในใจแห่งการประกอบภารกิจทางหนังสือพิมพ์เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนักประชาธิปไตย และได้ต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยแท้ๆ มาตลอดชีวิต
คติสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ต่อสู้อย่างอุทิศ คือ คติที่ว่าด้วย “เสรีภาพ” ในฐานะที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ เสรีภาพดังกล่าวนั้นก็คือ “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์” ซึ่งถือกันเป็นหลักว่าเป็นประหนึ่งมหาปราการแห่งเสรีภาพของประชาชน
อนุสาส์นชิ้นหนึ่งของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่าไว้ดังนี้
...ถ้ารัฐบาลไม่ทำการกดขี่ปองร้ายหนังสือพิมพ์อย่างสิ้นสติ และยอมฟังคำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์แล้ว บุคคลในคณะรัฐบาลจะไม่เมาถึงขนาดที่เมามาแล้ว และจะไม่หลงตัวลืมตัว และเสียตัวไปถึงขนาดที่ได้เสียไปแล้ว
...จงพอใจในการกินยาขมเถิด เพราะมันจะตอบแทนด้วยการป้องกันมิให้ท่านตกไปในความเมาได้
...อย่าชังเสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์เลย เพราะถึงท่านจะชังมันเท่าใดมันก็จะต้องกลับมาวันยังค่ำ ถ้าท่านไม่เปิดประตูต้อนรับเมื่อได้ยินเสียงเคาะมันก็จะต้องเข้ามาทางหน้าต่างหรือพังประตูเข้ามาจนได้ เพราะมันจะต้องการที่อยู่อันสมควร อย่างน้อยก็เช่นเดียวกับที่ท่านต้องการเหมือนกัน
...การไม่กดขี่เสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์นั้นนับได้ว่าเป็นมงคลข้อหนึ่ง เเม้ว่าพระพุทธเจ้าจะมิได้ตรัสไว้ในมงคล 18 ก็ดี
จากที่นี่เเละที่นั่น
20 มีนาคม พ.ศ. 2500
สำหรับในทัศนะต่อการเมืองและสังคม คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีความยึดมั่นอันจำหลักแน่นต่อ “ประชาชน” อย่างเดียวเป็นสรณะ ซึ่งทัศนะเช่นว่านี้ รู้สึกว่าใครๆ ก็ย่อมจะทราบดีอยู่แก่ใจด้วยกันแล้วทั้งนั้นเช่นเดียวกัน
คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ให้อนุสาส์นไว้ตอนหนึ่งดังนี้
...เมื่อประชาชนมีความรักสิ่งใด และปรารถนาที่จะเชิดชูสิ่งที่เขารักอย่างมีสำนึกแล้ว บทเรียนประวัติศาสตร์ได้ให้คำตอบไว้ชัดเจนแล้วว่า การขัดขวางย่อมเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ทางแห่งความสวัสดีของพวกนักการเมืองมีอยู่แต่ทางเดียวคือ การเข้าร่วมในขบวนของประชาชน
ผู้ใดต้องการอำนาจที่ประกอบไปด้วยพรแห่งธรรมและความยั่งยืน จงแสวงจากประชาชนและในท่ามกลางสหายจากประชาชนของท่าน
...ท่านนักการเมืองทั้งหลายเวลายังมีเหลืออยู่ที่จะให้ท่านเลือกจงลงมือเลือกเสียเถิด
จากชูคบเพลิงประชาธิปไตย
3 ธันวาคม พ.ศ. 2499
อีกอนุสาส์นหนึ่งคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ให้ไว้ดังนี้
...รัฐบาลของประเทศประชาธิปไตย มิได้มีขึ้นเพื่อที่จะปกครองประเทศตามอำเภอใจของตน หรือของพวกพ้องกลุ่มน้อยๆ ของตน รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องกำหนด และปรับปรุงนโยบายให้เป็นตามมติมหาชน
...รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายฝืนมติมหาชน จะเรียกว่ารัฐบาลของใครก็ได้ทั้งนั้น เเต่จะเรียกว่ารัฐบาลของประชาชนหาได้ไม่
จากเพื่อประชาธิปไตย
13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500
ถ้อยคำในอนุสาส์นเหล่านี้ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้กล่าวลงไว้เป็นเวลาถึง 20 ปีมาแล้ว เป็นถ้อยคำอันสมบูรณ์ด้วยสัจจะทั้งยุคสมัยนั้น เป็นสัจจะอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ และจะเป็นสัจจะตลอดไปในเบื้องหน้าไม่เป็นปัญหาเลย
ระยะที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มทำหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ กับเพื่อนหนุ่มเมื่อปี พ.ศ. 2472 นั้น พวกเขาล้วนเยาว์วัย เป็นเยาว์วัยแห่งการนำเสนอนวนิยายแห่งความรักเรื่อง ปราบพยศ
“ปราบพยศ” จึงเป็นนวนิยายแห่งอารมณ์ของคนไทยวัย 24 อันคึกคักและมีความหวังกับการมีชีวิตและมีความฝันอันบริสุทธิ์สดใส เป็นความฝันอย่างเดียวกับที่ “ดอกไม้สด” สำแดงผ่านนวนิยายเรื่องนิจ เป็นความฝันของคนหนุ่มที่เติบใหญ่มาพร้อมกับกระบวนการทางการศึกษาแห่งยุคทวยราษฎร์ อันได้รับการปูพื้นและเปลี่ยนแปลงตั้งแต่แผ่นดินของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา จึงไม่แปลกที่อีก 2 ปีต่อมา เมื่อประจำทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุง เขาจะนำเสนอบทความชื่อ “มนุษยภาพ”
“มนุษยภาพ” ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนบอก สด กูรมะโลหิต ขณะอยู่ปักกิ่งว่า "ความจริง มันก็ไม่มีอะไรที่แสลง ฉันพูดถึงสิทธิของมนุษยชน ความเสมอภาคของมนุษย์ ความเป็นธรรมของสังคม"
ในยุคที่มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” เช่น ปัจจุบันการถกแถลงในประเด็นเรื่อง “มนุษยภาพ” เป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติยิ่ง แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปีพุทธศักราช 2474 ประเด็นเกี่ยวกับ “มนุษยภาพ” กลับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่ง ละเอียดอ่อนถึงขั้นหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ถูกสั่งปิด และแท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่ นั่นคือบทบาทและความหมาย “หนึ่ง” ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อ 69 ปีก่อน
ที่ศาลคดีกบฏสันติภาพ ราว พ.ศ. 2496
ข้างขวาคือ สุพจน์ ด่านตระกูล ข้างซ้ายคืออุทธรณ์ พลกุล
ที่มา : หนังสือ คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา จัดพิมพ์ในวาระ 100 ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์, (พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2548)
สนใจสั่งซื้อหนังสือกับโปรโมชั่นสุดพิเศษ
ชื่อหนังสือ "คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา"
จัดพิมพ์ในวาระ 100 ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์
บรรณาธิการ : ตรีศิลป์ บุญขจร
ขนาดหนังสือ : 24.5*17.5 เซนติเมตร
จำนวนหน้า : 580 หน้า
พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม 2548
.
หนังสือที่รวบรวมความทรงจำจากบุคคลผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัย ณ ขณะนั้น โดยถ่ายทอดความเป็น “ศรีบูรพา” ผ่านปลายปากกาจากหลากบทบาท อาทิ คู่ชีวิต พ่อของลูก นักหนังสือพิมพ์ นักประชาธิปไตย และ ผู้ใฝ่รู้ในการพระศาสนา เป็นต้น
.
ภายในเล่มประกอบไปด้วยเนื้อหา 3 ภาค โดยแบ่งเป็น ภาคที่ 1 ประวัติและความทรงจำ : รวบรวมภาพของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในวาระต่างๆ อาทิ ภาพถ่ายกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ภาพถ่ายกับเพื่อนๆ นักเขียนคณะสุภาพบุรุษ ภาพถ่ายของพระยาพหลฯ และคุณหญิงที่มาร่วมงานบวชของกุหลาบในปี 2477 และ ภาพถ่ายกับพุทธทาสภิกขุ ช่วงเดินทางไปศึกษาธรรมะที่สวนโมกขพลาราม ฯลฯ ในส่วนของบทความนั้น เป็นเรื่องราวจากปลายปากกาของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี สุภา ศิริมานนท์ สุพจน์ ด่านตระกูล และ พระไพศาล วิสาโล เป็นต้น
.
ภาคที่ 2 ผลงานของ "ศรีบูรพา" ในทัศนะของนักวิชาการและนักวิจารณ์ : รวบรวมภาพผลงานที่ผ่านมาของ "ศรีบูรพา" อาทิ มารมนุษย์ ผจญบาป จ้าวหัวใจ สงครามชีวิต ข้างหลังภาพ เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร ฯลฯ ในส่วนของบทความจะเป็นงานเขียนเชิงวิเคราะห์ผลงานของ "ศรีบูรพา" จากปลายปากกาของ เสถียร จันทิมาธร เรื่อง "เขาชื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์" "เมื่อผมได้สัมผัสกับตัวหนังสือของศรีบูรพา" จากปลายปากกาของ อาจิณ จันทรัมพร "สงครามชีวิต - ข้างหลังภาพ" จากปลายปากกาของ เชิด ทรงศรี เป็นต้น
.
ในส่วนภาคที่ 3 ของหนังสือ คือ "ศรีบูรพา" กับแรงบันดาลใจข้ามยุค : เริ่มจากปฏิทินชีวิต กุหลาบ สายประดิษฐ์ ตั้งแต่เกิดในวันที่ 31 มีนาคม 2448 เรื่อยมาจนถึง 31 มีนาคม 2548 ในวาระ 100 ปีชาตกาลอันทรงเกียรติ และบทความระลึกถึงจาก จิรกิตติ์ สุนทรลาภยศ เรื่อง "ศรีบูรพา สามัญชนและสุภาพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ในสายตาข้าพเจ้าผู้เป็นนักเรียนเทพศิรินทร์เช่นกัน" และ "ศรีบูรพา เปิดโลกทางหนังสือให้แก่ข้าพเจ้า" โดยมังกร จารุจันทร์นุกูล เป็นต้น
.
จะเห็นได้ว่า นอกจากบทความที่ถูกถ่ายทอดจากความทรงจำอันล้ำค่าแล้ว ยังมีอีกมากมายภาพถ่ายของ "ศรีบูรพา" ในหลากหลายเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องราวซึ่งได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้จึงควรค่าแก่การสะสมยิ่ง
.
อ่านรายละเอียดหนังสือเพิ่มเติมได้ที่ :
https://pridi.or.th/th/content/2022/03/1032
.
หนังสือชุด "คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา"
ราคา 1,000 บาท
แถม หนังสือ "ศรีบูรพาในดวงใจ
แถม VCD 100 ปี ศรีบูรพา
แถม เข็มกลัดที่ระลึก ศรีบูรพา
จัดส่งฟรี!
เพียง 20 ชุด เท่านั้น!
.
สั่งซื้อได้ที่ : https://shop.pridi.or.th/th/product/846941
ระยะเวลาโปรโมชั่น : วันนี้ - 6 เมษายน 2565
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- สุภา ศิริมานนท์
- ศรีบูรพา
- โรงเรียนเทพศิรินทร์
- คณะสุภาพบุรุษ
- ลูกผู้ชาย
- สงครามชีวิต
- อากาศดำเกิง รพีพัฒน
- มนุษยภาพ
- หนังสือพิมพ์ศรีกรุง
- ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
- ระบอบประชาธิปไตย
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- หนังสือพิมพ์ผู้นำ
- โรงพิมพ์ไทยพาณิชยการ
- หนังสือพิมพ์ประชาชาติ
- วรรณไวทยากร วรวรรณ
- กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
- โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
- พระยาศรีบัญชา
- สี่กั๊กเสาชิงช้า
- สี่แยกหลานหลวง
- มาลัย ชูพินิจ
- ธนวนต์ จาตุประยูร
- ธนาลัย
- โชติ แพร่พันธุ์
- หนังสือพิมพ์สยามนิกร
- ป่าชีวิต
- หนังสือพิมพ์โตเกียวไนนิจิ
- โรงพิมพ์อักษรนิติ
- สี่แยกบางขุนพรหม
- นิตยสารอักษรสาส์น
- หนังสือพิมพ์อาซาฮี
- ชูคบเพลิงประชาธิปไตย
- รัชกาลที่ 5
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สด กูรมะโลหิต
- สุพจน์ ด่านตระกูล
- อุทธรณ์ พลกุล