ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

คำอธิบายบางประการของศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ จี๊ด (Charles Gide) : แนวคิดภราดรภาพกับหลักการทางศีลธรรม

11
พฤษภาคม
2563

เรารู้กันดีว่า มีโรคบางชนิดที่เป็นโรคระบาด โรคเหล่านี้ก็เช่นกาฬโรค หรือที่ดูเหมือนว่าเราเคยเชื่อกันมาผิด ๆ เช่นนั้นต่อโรคเรื้อนด้วย แต่เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โรคติดต่อเหล่านี้ก็เป็นกฎทั่วไป และมนุษย์เรานี่เองต่างเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันในการติดเชื้อและการเสียชีวิตมากมายเพียงใด เราอาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในบรรดาผู้บุกเบิกความคิดสำนักภราดรภาพที่ยิ่งใหญ่ก็คือ [หลุยส์] ปาสเตอร์ เมื่อเขาแถลงต่อสาธารณชนว่า มีโรคจำนวนไม่น้อยเลย – ในอนาคตอาจกล่าวโดยปราศจากข้อสงสัยได้ว่า โรคทุกโรค นั่นเอง – ที่อาจส่งผ่านจากคนสู่คนได้

ชาร์ลส์ จี๊ด

 

ในปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2549 ผู้เขียนได้เคยอธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า ภราดรภาพนิยม (Le Solidarisme) นั้นไม่ได้มีความขัดแย้งกับหลักการของพุทธศาสนา แต่สอดคล้องและไปด้วยกันได้กับคติทางศีลธรรมที่ปรากฏอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา และสรุปในเวลานั้นว่า หลักการพื้นฐานของภราดรภาพนิยมโดยแท้จริงแล้วก็คือ การคำนึงถึงศีลธรรมในการปฏิบัติต่อกันทางเศรษฐกิจของมนุษย์

เมื่อมีโอกาสได้กลับมาอ่านงานเขียนของศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ จี๊ด (Charles Gide) ในรายละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในบทที่ 8 ว่าด้วยแนวคิดภราดรภาพกับหลักการทางศีลธรรม ในหนังสือ “ภราดรภาพ (La Solidarité)” ของท่าน ผู้เขียนเห็นว่า หากได้เข้าใจบริบทวัฒนธรรมทางศาสนาของโลกตะวันตกมาบ้างแล้ว (ซึ่งแน่นอนว่า ผิดแผกไปจากบริบทวัฒนธรรมทางศาสนาในสังคมไทย) ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ จี๊ด ในตำราเล่มดังกล่าวกลับชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นเสียอีก 

ท่านกล่าวว่า มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภราดรภาพนิยมกลายเป็นแนวคิดที่ประสบผลสำเร็จ ก็ด้วยเหตุที่ “เราเชื่อกันว่าจะค้นพบหลักการพื้นฐานทางศีลธรรมซึ่งไม่จำต้องอ้างอิงและยังพ้นไปจากคติศาสนาได้ในแนวคิดนี้” 

เนื่องจากผู้เขียนค่อนข้างมีเวลาจำกัดในการทำความเข้าใจเนื้อหา จึงเห็นว่าอาจพอจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง หากจะแปลข้อความบางส่วนที่อ้างถึงข้างต้นเป็นภาษาไทยไว้ก่อน ทั้งนี้ จะจัดย่อหน้าในบทแปลเสียใหม่เพื่อให้สามารถอ่านและติดตามประเด็นได้ง่ายขึ้น และจะแทรกข้อความลงใน [  ] เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนและต่อเนื่องกันด้วย

 

หลักการทางศีลธรรมในแนวคิดภราดรภาพ

ข้าพเจ้าได้กล่าวในตอนต้นของปาฐกถานี้แล้วว่า มูลเหตุที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้แนวคิดว่าด้วยภราดรภาพประสบผลสำเร็จ ได้แก่ การที่เราเชื่อกันว่าจะค้นพบหลักการพื้นฐานทางศีลธรรมซึ่งไม่จำต้องอ้างอิงและยังพ้นไปจากคติศาสนาได้ในแนวคิดนี้

เฮลเวทิอุส (Helve tius) นักปรัชญาอเทวนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้กล่าวว่า “การผสานประโยชน์ส่วนบุคคลเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันกับประโยชน์ส่วนรวมคือ หัวใจสำคัญแห่งหลักการทางศีลธรรม”

ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่จะด้วยวิธีการเช่นไร 

หากเกิดข้อขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งก็มักจะเกิดขึ้นอยู่เป็นนิจ ในกรณีเช่นนั้น ประโยชน์ส่วนบุคคลก็ต้องตกอยู่ภายใต้ประโยชน์ส่วนรวม 

อีกทั้งจะให้เหตุผลอย่างไรว่า ปัจเจกบุคคลจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระที่ว่านี้ 

ด้วยเหตุเพราะความรักที่มีต่อพระเจ้ากระนั้นหรือ เพื่อความรอดแห่งวิญญาณตนเองใช่หรือไม่ หรือเพราะต้องยอมจำนนต่อ “คำสั่งยืนยันอันปราศจากเงื่อนไข (Impératif catégorique)” [ในจิตของมนุษย์] ดังที่ค้านท์ (Kant) อธิบายไว้ 

แนวคิดภราดรภาพนี่แหละที่จะเผยคำตอบที่กำลังค้นหากันอยู่นี้ได้ 

ทั้งนี้ จะโดยวิธีใด 

ก็ด้วยถ้อยแถลงที่ว่า สัมพันธภาพในหมู่มนุษย์ย่อมเป็นไปในลักษณะที่เรียกได้ว่า ความชั่วร้าย [เลวทราม] ซึ่งอุบัติแก่ใครคนใดคนหนึ่งย่อมกระทบต่อทุกคน และความสวัสดีซึ่งบังเกิดแก่ใครคนใดคนหนึ่งย่อมเป็นคุณสำหรับทุกคนเช่นกัน 

ด้วยถ้อยแถลงเช่นนี้เอง หัวใจสำคัญ [แห่งหลักการทางศีลธรรมในแนวคิดภราดรภาพ] จึงถือกำเนิดขึ้น

แนวคิดภราดรภาพอธิบายว่า คำกล่าวที่มักคุ้นหูกันว่า “หนึ่งเดียวเพื่อทั้งหมด ทั้งหมดก็เพื่อหนึ่งเดียว” หาเป็นเพียงอุดมคติไม่ แต่คือความเป็นจริง นั่นหมายความว่า ผู้ซึ่งลงมือทำงานเพื่อทุกคนย่อมทำงานนั้นเพื่อตนเองด้วยเช่นกัน

เศรษฐศาสตร์การเมืองแถลงว่า แต่ละคนต่างแสวงประโยชน์ส่วนตน และในการนี้ ประโยชน์ส่วนรวมนั่นเองก็จะพรั่งพร้อมขึ้นด้วย ภราดรภาพนิยมอธิบายกลับกันเสียใหม่ว่า เมื่อแต่ละคนต่างตระหนักในประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ส่วนตนโดยเฉพาะนั่นแหละที่จะงอกเงยสมดังประสงค์

หลักการทางศีลธรรมในแนวคิดภราดรภาพจึงมิใช่หลักการเพื่อการบูชาสังเวย [ประโยชน์ส่วนตนให้แก่ส่วนรวม] และแม้แต่จะเป็นการอุทิศเลิกร้างประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวมโดยถ่ายเดียวก็หาไม่ ประโยชน์ส่วนตนย่อมเป็นที่รับรองในแนวคิดภราดรภาพนี้ด้วย ดั่งคำกล่าวในพระวรสาร “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” ก็ส่อนัยถึงความรักตัว [ด้วยเช่นกัน] 

ในที่นี้ ยังมีส่วนเสริมทัศนะบางประการให้แก่หลักการแห่งพระวรสารที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” อีกด้วย กล่าวคือ คำอธิบายตามกฎแห่งภราดรภาพที่ว่านี้ เพื่อนบ้านของข้าพเจ้าก็คือตัวข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าย่อมไม่อาจแยกคนใดคนหนึ่งออกจากอีกคนหนึ่งได้เลย

[ … ]

สิ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้าย่อมเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า และสิ่งที่มีผลกระทบต่อตัวข้าพเจ้าย่อมเป็นที่สนใจของคนอื่น ๆ 

ไม่มีการกระทำใด ๆ ของเรา อีกทั้งไม่มีถ้อยคำใด ๆ ของเรา ที่เมื่อได้ลงมือทำหรือป่าวประกาศออกไปแล้ว จะไม่เป็นดังเช่นกระแสที่แผ่ซ่านจากศูนย์กลางออกไปยังโลกทั้งมวล

ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้ตระหนักกันเป็นอย่างดีแล้ว กฎแห่งภราดรภาพที่ว่านี้ย่อมก่อหน้าที่ประการหนึ่งแก่เรา เป็นหน้าที่ในขณะที่เราจะลงมือกระทำการใดการหนึ่งหรือในขณะที่เราจะป่าวประกาศถ้อยคำใด ๆ ของเรา [กล่าวให้ชัดก็คือ เป็นหน้าที่] ในอันที่จะประเมินผลลัพธ์ที่จะตกแก่บรรดาเพื่อนร่วมโลกในเวลานี้ แก่บรรดาชนรุ่นที่จะตามมา แก่ปัจจุบันกาลและอนาคตกาล

ดังนั้น บุคลิกลักษณะเช่นที่กล่าวอ้างกันว่า ได้ถูกลดทอนคุณค่าก็ดี หรือถูกลดความสำคัญลงก็ดี เพราะด้วยเหตุ [ที่บุคคลนั้นมีจุดยืนและปฏิบัติตนตาม] แนวคิดภราดรภาพนั้น กลับจะปรากฏแก่เราในทางตรงกันข้ามว่า นี่คือความยิ่งใหญ่โดยแท้ เพราะเหตุที่บุคลิกลักษณะเช่นนี้เองที่ส่อนัยแห่งความรับผิดชอบอันทบทวีขึ้นอย่างใหญ่หลวง

เมื่อหนึ่งศตวรรษที่แล้ว ในปี 1830 ก่อนเวลาที่ภราดรภาพนิยมจะเป็นที่รู้จัก นักคิดแห่งสำนักแซ็งต์ ซีมง (L’école de Saint-Simont) ท่านหนึ่ง กล่าวคือ บาร์โรลต์ (Barrault) ได้กล่าวถ้อยคำกลางที่ประชุมแห่งหนึ่งในกรุงปารีส แม้จะตีโวหารไปบ้าง แต่เราอาจนับเป็นถ้อยแถลงหลักการแห่งภราดรภาพที่มาก่อนกาลอันโดดเด่นยิ่งนัก

‘สำหรับสังคมฮีบรู [ซึ่งเป็นกลุ่มชนผู้มั่งคั่ง] คราใดที่ร่างไร้วิญญาณถูกพบอยู่ตามถนนหนทาง บรรดาชาวเมืองที่อยู่ใกล้เส้นทางนั้นต่างกล่าวสาบาน – ขณะยื่นมือไปยังร่างนั้น – ว่า พวกเขาไม่มีส่วนแต่อย่างใดกับการฆาตกรรมรายนี้ 

เอาล่ะ ข้า ฯ วิงวอนท่านทั้งหลาย โปรดฟังข้าพเจ้า 

ภาพหมู่ชนทั้งปวงกลางปลักโคลนบนหนทางที่ประจักษ์แก่สายตาของพวกท่านก็ดี 

ณ แหล่งสถานพำนักของท่านก็ดี 

ท่ามกลางอากาศเหม็นคละคลุ้งของห้องใต้ถุนก็ดี ของห้องเพดานก็ดี 

ในแหล่งสลัมที่รกเรื้อ ในคุกที่น่าชัง 

ซีดเผือดด้วยโหยหิวและอดอยาก อ่อนเปลี้ยด้วยการงานดั่งแอกไถ 

คลุมตนด้วยอาภรณ์วิ่นแหว่งครึ่งร่าง ซึมซับความต่ำช้าน่าสะอิดสะเอียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

แต่ก็ยังชีวิตอันแร้นแค้นอยู่ได้เช่นนั้น 

ข้า ฯ วิงวอนท่าน ท่านผู้เป็นทายาทแห่งชนชั้นอภิสิทธิ์ 

จงลุกขึ้น พร้อมด้วยมือที่กดลงบนบาดแผลเหล่านี้ แล้วสาบานว่า ท่านไม่มีส่วนใด ๆ กับความอนาถทุกข์ยากของผู้คนทั้งมวลที่จวนสิ้นลมหายใจเหล่านี้ด้วย ! 

สาบานดูทีสิ ... คงไม่กล้าล่ะสิ !’

มาในวันนี้ สำนักภราดรภาพย่อมแถลงโวหารอันคมคายข้างต้นนั้นแก่มนุษย์แต่ละคน โดยชี้ให้เขาเห็นประจักษ์ต่อบรรดาความน่าอนาถของระบบสังคม ด้วยการเตือนว่า เขานั่นแหละที่เป็นผู้มีส่วนก่อขึ้นซึ่งความทนทุกข์ทรมานเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นี่เป็นประการแรก และประการต่อมา ตัวเขาเองก็เสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อในความทุกข์ทนเหล่านั้นด้วย [ไม่น้อยไปกว่ากัน]

ทั้งหมดนี้คือ ทัศนะทางศีลธรรมสองมุมมองในแนวคิดภราดรภาพ

แต่แนวคิดภราดรภาพยังอธิบายอีกสิ่งหนึ่งด้วย กล่าวคือ บอกกล่าวแก่เราว่า พึงเข้มงวดยิ่งขึ้นต่อตัวเราเอง เพราะการกระทำทั้งหลายของเรานั้นย่อมก่อผลตามมาอย่างมหาศาล และควรผ่อนปรนอ่อนโยนต่อผู้อื่น เพราะความพลั้งพลาดบกพร่องของผู้อื่นย่อมเป็นผลจากความผิดพลาดจากน้ำมือของเราเอง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งด้วยเช่นกัน 

อนึ่ง ด้วยเข้มงวดแก่ตัวเราเองให้มากยิ่งขึ้นและผ่อนปรนแก่ผู้อื่นไม่น้อยไปกว่ากัน แล้วเราจะค้นพบหลักการทางศีลธรรมอันเลิศไปกว่านี้ได้จากที่ไหนอีกเล่า

ด้วยเหตุผลที่ว่ามา และดังที่เคยกล่าวไว้แล้วในปาฐกถาครั้งแรก สมาคมเพื่อการศึกษาทางสังคมจึงได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1900 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาทางศีลธรรมแผนใหม่อันโยงใยกับแนวคิดภราดรภาพ 

นี่คือแผนงานที่สมาคมได้วางไว้

การศึกษาเพื่อสังคมมุ่งแถลงให้เห็นถึงกฎเกณฑ์ประการต่าง ๆ แห่งภราดรภาวะอันมีมาตามธรรมชาติ 

การศึกษาเช่นนี้จะชี้ให้เห็นว่า กฎเกณฑ์เหล่านี้จะประสิทธิ์ประศาสน์ภาระและความรับผิดชอบให้แก่มนุษย์แต่ละคนได้เช่นไร อีกนัยหนึ่ง เป็นหน้าที่อันก่อเกิดขึ้นจากการงานทุกประเภทและจากความบากบั่นไม่ลดละของมนุษย์คนอื่น ๆ 

เป็นหน้าที่ [และความรับผิดชอบ] ที่แต่ละคนพึงปฏิบัติจนลุล่วงเสร็จสิ้นตามกำลังความสามารถแห่งตน ใฝ่ใจเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่มีร่วมกันมาแต่เดิม ทั้งนี้ ภายในวงขอบแห่งการกระทำแต่ละสิ่งแต่ละอย่างในวิถีทางสังคมของแต่ละคนเอง 

การศึกษาเพื่อสังคมมุ่งหมายในอันที่จะนำเจตจำนงของแต่ละคนมาทักทอเข้าเป็นสัญญาระหว่างกันอยู่เป็นนิจ โดยใส่ใจต่อข้อเท็จจริงทั้งปวงแห่งภราดรภาวะเหล่านี้ ซึ่งหมายความว่า ในที่สุดแล้ว มุ่งประสงค์จะบรรลุภราดรภาพบนความตกลงยินยอมระหว่างกัน รวมถึงการสะสางให้สิ้นไป – หากจะกล่าวได้เช่นนี้ – ซึ่งบรรดาข้อเท็จจริงอันอยุติธรรมที่เป็นผลมาจากความไม่ใส่ใจต่อภราดรภาวะอันมีมาตามธรรมชาติ

ในปี 1904 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งในเวลานั้นคือ ท่านโชมิเอ่ (M. Chaumié) กล่าวปาฐกถาในที่ประชุมบุคลากรทางการศึกษาว่า 

‘จริงทีเดียว เขา [มนุษย์] ก็ย่อมทำได้ และนี่คือ พันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของเขาด้วย ... 

เขาจักต้องเรียนรู้ที่จะรักมาตุภูมิ [ของตน] และในพิธีการแถลงจุดยืนอันขรึมขลังที่กล่าวนี้ การแสดงว่าตนเป็นกลางไม่เลือกข้างแนวคิดทางการศึกษาแบบใดแบบหนึ่ง ย่อมจะมีไม่ได้อยู่เอง 

เขาผู้นั้นหาอาจจะพึงปฏิบัติภารกิจแห่งตนให้ลุล่วงไปได้ไม่ หากมิได้ซึมซาบรับเอาจิตวิญญาณแรกเริ่มดั้งเดิมซึ่งตระหนักถึงภาระหน้าที่อันจำเป็นเร่งด่วนไม่น้อยไปกว่ากันอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ [ความสำนึกใน] ภราดรภาพแห่งมนุษย์นั่นเอง’


ชาร์ลส์ จี๊ด (29 มิถุนายน 1847 - 12 มีนาคม 1932)