“(คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจ) ตามหลักของข้าพเจ้านั้นเป็นลัทธิหลายอย่างที่ได้เลือกคัดเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสำคัญอาศัยหลักโซเชียลลิสม์ไม่ใช่คอมมิวนิสม์”
นายปรีดี พนมยงค์,
รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1,
12 มีนาคม พุทธศักราช 2475.
1 ปีหลังการอภิวัฒน์สยาม รัฐบาลแรกในระบอบรัฐธรรมนูญได้จัดการปกครองภายใต้ปฐมรัฐธรรมนูญคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ประกาศใช้ ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้มีสภาผู้แทนราษฎรระยะแรกประกอบด้วยสมาชิกที่ตั้งขึ้นจำนวน 70 นาย และมีการตั้งคณะกรรมการราษฎร 14 นาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร สภาผู้แทนราษฎรตามระบอบใหม่นี้ได้ปกครองโดยยึดหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และผู้แทนราษฎรต้องกล่าวคำปฏิญาณตามหลักนี้ตั้งแต่ในการประชุมสภาผู้แทนครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งหลักข้อที่ 3 คือ “จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” จากเบื้องแรกในระบอบประชาธิปไตยจะเห็นได้ว่านโยบายเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่คณะราษฎรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
บทความนี้จึงขอเสนอความคิดเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 ถึงมีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์และอัตชีวประวัติ ได้แก่ คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจ, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และ รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นทัศนะของนายปรีดี และรัฐบาลคณะราษฎรต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรสยาม แม้ว่าภายหลังการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนมีการปิดสภาฯ และส่งผลให้นายปรีดีต้องถูกเนรเทศ หากในเวลาต่อมาได้เกิดการค้นคว้า ศึกษา อ่านใหม่รวมทั้งปรับปรุงเค้าโครงการเศรษฐกิจบางเรื่องให้เป็นนโยบายของรัฐบาล[1]
ก่อนการอภิวัฒน์สยาม : ต้นกำเนิดความรู้นิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองของปรีดี พนมยงค์
ราวหนึ่งปีหลังจากเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2463 ที่นายปรีดีสอบไล่ได้เนติบัณฑิตแล้วก็ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยเริ่มต้นศึกษาภาษาฝรั่งเศสและความรู้ทั่วไปที่วิทยาลัยก็อง (Lycée de Caen) จนได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา (le baccalauréat) และศึกษาพิเศษจากอาจารย์เลอบอนนัวส์ (Lebonnois) ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์และดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันครุศาสตร์ระหว่างประเทศ (L’institut pédagogique international) ซึ่งเป็นสถาบันสอนภาษาฝรั่งเศสสำหรับชาวต่างชาติ
ใน พ.ศ. 2464 นายปรีดีเข้าศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยก็อง (Université de Caen) ซึ่งเป็นปริญญาของรัฐชั้นที่ 1 และใช้เวลาเรียน 2 ปี มีวิชาที่ต้องเรียนในปีแรก ได้แก่ วิชาพงศาวดารกฎหมาย หรือวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย วิชากฎหมายโรมันว่าด้วยบุคคล ทรัพย์และมรดก และวิชาเศรษฐวิทยาโดยการสอบนั้นมีทั้งข้อเขียนและสอบปากเปล่า
1 ปีถัดมาเมื่อ พ.ศ. 2465 นายปรีดีเลื่อนชั้นสู่การเรียนปีที่ 2 และเรียนวิชาสำคัญทางกฎหมายมหาชนเพิ่มขึ้น อาทิ วิชากฎหมายโรมันว่าด้วยหนี้ กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่หรือกฎหมายปกครอง กระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2466 นายปรีดีก็สอบไล่ผ่านชั้นปีที่ 2 ด้วยเกียรตินิยมดีมาก (Mention Très bien) และได้รับรางวัลชมเชยจากการกล่าวปาฐกถาเรื่องตำรวจชาวนา แล้วสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “บาเชอลิเอร์” กฎหมาย (Bachelier en Droit)
ต่อมาจึงเข้าศึกษาในชั้นลิซองซิเอ (Licencié en droit) หรือปริญญาของรัฐชั้นที่ 2 โดยเรียนต่อเนื่องเป็นชั้นปีที่ 3 และต้องเรียนตัวบทเข้มข้นขึ้น อาทิ วิชากฎหมายพาณิชย์ วิชากฎหมายการคลัง เมื่อสอบผ่านปีที่ 3 นายปรีดีก็ได้รับปริญญา Licencié en droit หรือปริญญานิติศาสตรบัณฑิต
จากนั้นใน พ.ศ. 2467 นายปรีดีก็ย้ายจากเมืองก็อง (Caen) เข้ามาศึกษากฎหมายระดับปริญญาเอกในปารีส ตามหลักสูตรนี้ต้องเรียนเนื้อหา 2 ภาคการศึกษา โดยในภาคการศึกษาที่ 1 มีเรียน 4 วิชา ได้แก่ วิชาพงศาวดารกฎหมายอย่างพิศดาร วิชาแปลและวินิจฉัยกฎหมายโรมัน ส่วนอีก 2 วิชาคือ วิชากฎหมายโรมันอย่างพิสดารและวิชากฎหมายโรมันอย่างลึกซึ้ง และในภาคการศึกษาที่ 2 ได้ศึกษากฎหมายเปรียบเทียบในสาขาต่างๆ และภาคการศึกษาที่ 3 เริ่มต้นเขียนวิทยานิพนธ์
จนกระทั่ง พ.ศ. 2469 นายปรีดีก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตของรัฐ ด้วยหัวข้อวิจัยเรื่อง Du sort des Sociétés de Personnes en cas de Décès d’un Associé : Étude de droit français et de droit comparé หรือสถานะของห้างหุ้นส่วนในกรณีผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งถึงแก่ความตาย : ศึกษากฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายเปรียบเทียบ
ช่วงการเรียนยังประเทศฝรั่งเศสนี้เอง คือต้นกำเนิดความรู้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของนายปรีดีที่สืบเนื่องมาจากพื้นฐานความสนใจปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาชาวนาจากประสบการณ์ช่วยบิดาทำนาในวัยเยาว์ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผนวกกับบริบทหลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 ทั้งสองเหตุการณ์จึงมีส่วนผลักดันให้นายปรีดีสนใจเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองและบ่มเพาะความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจจนสอบผ่านได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐกิจการเมือง (Diplôme d’Études Supérieures d’Économie politique)
ส่วนรายวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่นายปรีดีเคยเรียนอาทิ วิชาเศรษฐศาสตร์พิสดาร วิชาประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจ วิชากฎหมายและวิทยาศาสตร์การคลัง วิชากฎหมายและวิชาวิทยาศาสตร์การแรงงาน รวมทั้งวิชาที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมและการจัดทำแผนเศรษฐกิจซึ่งทำให้นายปรีดีมีความรู้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจการเมืองหลายรูปแบบ[2]
การศึกษานิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมือง[3] ของนายปรีดีที่ไล่เรียงตามลำดับเวลาและรายวิชาที่เรียนข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชุดความรู้นี้มีคุณูปการสำคัญทั้งต่อการอภิวัฒน์สยาม การเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจการเมือง และการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในเวลาต่อมา
หลักฐานประวัติศาสตร์ของการเสนอความคิดเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในระบบรัฐสภา
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกค้างมาจากระบอบเก่าของคณะราษฎรเริ่มขึ้นตั้งแต่สองสัปดาห์แรกหลังการอภิวัฒน์ โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2475 ได้ลดภาษีที่ดินสำหรับปลูกข้าวลง 50 เปอร์เซ็นต์ ยกเลิกการเก็บภาษีอากรบางประเภท ประกาศพระราชบัญญัติยกเลิกอากรนาเกลือ ประกาศพระราชบัญญัติยกเลิกภาษีสมพัตสร ปรับปรุงภาษีการธนาคารและประกันภัย ประกาศลดพิกัดเก็บเงินค่านา ลดภาษีโรงเรียนในที่ดิน ประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร การลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าสวน การออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และพระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน เป็นต้น แต่ยังไม่มีการจัดทำโครงการเศรษฐกิจตามหลักข้อที่ 3 ในหลัก 6 ประการ[4]
กระทั่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2475 มีนายบรรจง ศรีจรูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้ถามเรื่อง รัฐบาลได้ทำอะไรเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจแห่งชาติว่า
“ตามที่เราได้ประกาศไว้ว่า เราจะพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจแห่งชาติและหางานให้ราษฎรได้มีงานทำนั้น บัดนี้เราได้ทำอะไรไว้แล้วบ้าง เพราะเท่าที่ประชุมกันนี้ส่วนมากเกี่ยวด้วยเรื่องกฎหมาย มองไม่เห็นว่ากฎหมายจะฟื้นฟูเศรษฐกิจแห่งชาติได้ จึ่งอยากขอให้ประธานคณะกรรมการราษฎรแถลงในที่ประชุมนี้”
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรจึงแถลงว่าไม่ได้ลืมคำประกาศที่ให้ไว้ว่าตั้งใจจะช่วยเหลือราษฎร และการออกกฎหมายก็คือการช่วยเหลือราษฎรด้วยอำนาจทางกฎหมาย เช่น การยกเลิกภาษีอากรต่างๆ ส่วนแนวคิดทางเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มวางโครงการฯ ได้แก่ สหกรณ์และอุตสาหกรรม เช่น โรงทำน้ำตาล แต่ยังทำ reseach work ไม่เสร็จจึงมองว่าไม่ควรประกาศโครงการเศรษฐกิจที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการต่อราษฎร
การถกเถียงในรัฐสภาในระยะแรกของระบอบใหม่เป็นไปอย่างแหลมคม ไม่เพียงในแง่ของนโยบายแต่ในทางทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองก็มีการกล่าวถึงไว้ในสภาฯ อาทิ นายจรูญ สืบแสง หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองทางทฤษฎีไว้ว่า
“การกระทำของเราเมื่อคิดไปมี 2 ทาง ซึ่งเกี่ยวกับกฎหมายและเศรษฐกิจ คือเราอาจจะทำให้มีโปลิติกมากในทางเอเคโนมิก หรือทำให้มีเอโคโนมิกมากในทางโปลิติก แต่ในทางที่ถูกเราควรดำเนิรการให้มีเอโคโนมิกมากในทางโปลิติก ไม่ใช่ให้มีโปลิติกมากในทางเอโคโนมิก”
แม้ว่าสองเดือนแรกของรัฐบาลคณะราษฎรยังไม่มีโครงการเศรษฐกิจที่ประกาศใช้แต่มีการเสนอแผนเศรษฐกิจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก อาทิ โครงการเศรษฐกิจของนายมังกร สามเสน ซึ่งมีอาชีพเดิมคือพ่อค้าโดยได้เสนอโครงการเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจในทางมหภาค ภาษีธนาคาร และโครงการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่มีผลต่อพ่อค้า นายทุน รวมถึงชาวนา
นายมังกรเสนอให้มีการตั้งสภาบำรุงเศรษฐกิจแห่งชาติที่มีเสนาบดีทุกกระทรวงเป็นกรรมการ มีสมุหเทศาภิบาลทุกมณฑลเป็นกรรมการ ทั้งเสนอให้เชิญอธิบดีที่ดำเนินงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจและพ่อค้าคนสำคัญเป็นกรรมการโดยให้ผู้ที่มีความรู้พิเศษในเรื่องการต่างประเทศ เศรษฐกิจ และการเงินเป็นกรรมการที่ปรึกษา โดยนายมังกรยังแนะนำให้คณะกรรมการราษฎรร่างพระราชบัญญัติสภาการเศรษฐกิจแห่งชาติ อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของสภาฯ นี้ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้เป็นที่นิยมและเชื่อถือของคนทั่วไป
ข้อถกเถียงเรื่องโครงการเศรษฐกิจในรัฐบาลคณะราษฎรเริ่มจากการเสนอโครงการเศรษฐกิจของนายมังกรเป็นครั้งแรก โดยนายปรีดีได้แสดงทัศนะทางเศรษฐกิจของตนต่อโครงการเศรษฐกิจนี้ไว้เป็นครั้งแรกในรัฐสภาด้วยเช่นกันว่า
“ตามที่นายมังกร สามเสน ได้แถลงมานั้น ได้เคยทำความเข้าใจให้นายมังกรทราบแล้วว่า ในการที่จะดำเนิรโครงการณ์เศรษฐกิจก็ดี หรือกิจการใดอื่นๆ ก็ดีเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการราษฎรจะดำเนิร เพราะฉะนั้นโครงการณ์เศรษฐกิจที่นายมังกรนำมาเสนอจึ่งขอตรวจดูก่อน อีกอย่างหนึ่งการที่จะตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาตินี้ เป็นความประสงค์ที่ทางคณะกรรมการราษฎรคิดอยู่แล้ว แต่การที่จะตั้งขึ้นทันทีโดยวางทางการยังไม่สำเร็จก็จะดำเนิรไปไม่สะดวก เพราะฉะนั้นเมื่อถึงโอกาสสมควรที่ทางฝ่ายคณะกรรมการราษฎร และผู้ที่เริ่มก่อการในชั้นต้นมอบหมายให้เรื่องนี้ได้จัดการไปแล้ว ก็จะได้จัดตั้งสภาเศรษฐกิจขึ้นภายหลัง
อีกข้อหนึ่งที่สมาชิกบางท่านได้เรียนถามประธานคณะกรรมการราษฎรถึงเรื่องที่ว่ามิได้คิดจะบำรุงการเศรษฐกิจนั้น ถ้าระลึกดูในชั้นต้นแล้ว เราได้แบ่งระยะเวลาของเราเป็น 3 ระยะคือ สมมติว่า เราได้อำนาจแล้ว เราจะพยายามวางหลักของเราก่อน…เราเพิ่งดำเนิรการมาได้เพียง 2 เดือน แต่เราก็ได้ทำกิจการไปแล้วหลายอย่างที่มองไม่เห็นก็มี ที่มองเห็นก็มี หากแต่สิ่งที่มองเห็นนั้นเกี่ยวกับกฎหมายจึ่งได้ทำไปก่อน ส่วนที่มองไม่เห็นและคิดทำอยู่เราก็ได้ปรึกษาสำหรับผู้ที่เริ่มก่อการและเป็นผู้ที่ได้เล่าเรียนการเศรษฐกิจด้วย เพื่อวางหลักหัวข้อ…”
นายปรีดีชี้แจงทั้งเรื่องโครงการเศรษฐกิจของนายมังกรและแผนการทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลคณะราษฎรอย่างละเอียดโดยกล่าวถึงโครงการเศรษฐกิจที่คณะราษฎรกำลังคิดไว้ว่า
“หลักหัวข้อที่เราได้คิดวางแล้วก็คือ การสหกรณ์ ซึ่งไม่เหมือนกับสหกรณ์ดั่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ สหกรณ์ที่คิดใหม่ได้วางหลักไว้ครบรูป เป็นสหกรณ์ทั้งในการทำให้เกิดทรัพย์ หมายความว่า เราจะหาเครื่องมือช่วยเหลือทั้งในทางเทฆนิค ในทางการกสิกรรมด้วย และช่วยจนการเคลื่อนที่ หมายความว่าช่วยในการให้สินค้าจำหน่ายไป ตลอดจนการที่จะหาของรับประทานด้วย ซึ่งหมายความว่าเป็นสหกรณ์ที่จะหมุนรอบตัวโดยครบรูป และตั้งใจไว้ว่า ผู้ไม่มีงานทำก็จะหมุนลงไปอยู่ในสหกรณ์ซึ่งนับว่าเป็นความประสงค์ของเรา นอกจากนั้นเรายังจะเชื้อเชิญผู้มีความรู้ในทางเศรษฐกิจมาร่วมงานด้วย แต่การที่จะทำอะไรลงไปโดยลงทุนนั้นจะทำลงไปทันทีไม่ได้ เพราะหลักการเศรษฐกิจนั้นในชั้นต้นต้องรู้กำลังทุนของเราว่า ทุนที่จะบำรุงมีอยู่เท่าใด
ในเวลานี้แม้เราจะได้อำนาจมาเป็นขั้นต้นก็จริง แต่ต้องรู้กำลังงบประมาณก่อน ซึ่งเพิ่งทำเสร็จไปประมาณอาทิตย์กว่าเท่านั้นเอง นอกจากนี้ยังมีทางอื่นอีกที่เราจะต้องคิด และที่จะแสดงออกได้โดยทันทีในเวลานี้ไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ตามก็อยู่ในความดำริของเราเหมือนกันในอันที่จะบำรุงเศรษฐกิจให้ดีที่สุดที่จะทำได้…”
และเปรียบเทียบการออกแบบสถาบันการเมืองภายหลังการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรกับประเทศอื่นไว้ด้วยว่า
“...รู้สึกหนักอกที่รู้สึกว่ามีราษฎรส่วนมากเร่งรัดในกิจการที่จะให้สำเร็จลงไปในเร็ววัน ซึ่งจะว่าราษฎรเหล่านั้นเป็นผู้เข้าใจผิดก็ไม่ถนัดนัก บางทีจะเห็นคำประกาศแล้วนึกไปเสียว่า เมื่อรัฐบาลนี้ได้อำนาจมาแล้วจะบันดาลสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นภายในเร็ววัน
แต่ถ้าจะเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเมืองอื่นแล้ว…ดั่งเช่นตัวอย่างโซเวียตเป็นต้น แต่ทั้งนี้มิใช่หมายความว่า เราเป็นโซเวียต เป็นแต่เล่าให้ฟังคือ เมื่อเปลี่ยนการปกครองแล้วต้องฆ่ากันตั้ง 7 ปี และกว่าจะได้วางโครงการ 5 ปี (Five Year’s Plan) สำเร็จก็ได้เริ่มคิดกันมาก่อนแล้วตั้ง 2 ปี จึ่งลงมือได้ สำหรับเราเพิ่งมีเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้สมาชิกได้เห็นอกด้วย”[5]
จากเสียงเรียกร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้รัฐบาลกำหนดโครงการเศรษฐกิจขึ้น ทางรัฐบาลจึงมีมติมอบหมายให้นายปรีดีเป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจเสนอรัฐบาล[6] เมื่อนายปรีดีจัดทำคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจเสร็จจึงนำไปมอบแก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรหรือนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณารับรองก่อนเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การประชุมเรื่องคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีมีขึ้นสองครั้ง ดังนี้
การประชุมเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) ก็เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีบางคนอย่างไม่เป็นทางการและไม่ครบองค์ประชุมฯ หลังการหยั่งเสียงและถกเถียงแล้ว ปรากฏผลว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาศรีวิสารวาจา และพระยาราชวังสัน ไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีจึงเก็บร่างฯ นี้ไว้ และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) คณะรัฐมนตรีจึงประชุมปรึกษากันเพื่อลงมติให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยให้นายปรีดีเข้าชี้แจ้งและนำเสนอในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า)[7]
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วังปารุสกวัน
วันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2475
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ศกนี้ ลงมติให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาโครงการณ์เศรษฐกิจซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะได้เป็นผู้เสนอ มีรายนามดั่งต่อไปนี้ คือ
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- พระยาศรีวิสารวาจา
- นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน
- นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- หลวงเดชสหกรณ์
- นายประยูร ภมรมนตรี
- นายแนบ พหลโยธิน
- หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ
- หลวงเดชาติวงศ์วรารักษ์
- หลวงคหกรรมบดี
- นายทวี บุณยเกตุ
- นายวิลาศ โอสถานนท์
- หลวงอรรถสารประสิทธิ์ เลขานุการ
กำหนดการประชุมครั้งแรก วันอาทิตย์ 12 มีนาคม ศกนี้ เวลา 8 นาฬิกา ณ วังปารุสกวัน
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงนาม) หลวงเดชสหกรณ์
รั้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี”[8]
จากการที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาอุบเงียบคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีจนเกิดทั้งข่าวลือว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และหนังสือพิมพ์กับทางการเริ่มหวาดระแวงสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับลัทธิโซเชียลิสม์ด้วยการเหมารวมว่าคือแนวทางคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว แนวทางคอมมิวนิสต์ แนวคิดโซเซียลิสม์ และแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง ในคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีนั้นเป็นแนวคิดและแนวทางที่มีความแตกต่างกันอยู่[9]
ความระแวงของทางการต่อแนวทางคอมมิวนิสต์ ภายหลังการเสนอคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีปรากฏครั้งแรกจากกรณีที่นายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้แปลหนังสือขายดีของอังกฤษ เรื่อง ลัทธิโซเชียลิสม์ หมายความว่าอะไร ของ เจ. ดับลิว. นีสซอว์ ออกจำหน่ายราคาเล่มละ 5 สตางค์ และขายดีในตลาดหนังสือ ในบทความของนายสงวนเสนอว่าลัทธิโซเชียลิสม์เป็นลัทธิหนึ่งในการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งระยะแรกไม่ได้มีคำสั่งห้ามขาย
แต่ต่อมาปรากฏว่า ม.จ.สุรวุฒิ เทวกุล ผู้บังคับกองตำรวจ จังหวัดสมุทรสาคร มีคำสั่งห้ามร้านหนังสือไม่ให้จำหน่ายหนังสือเล่มนี้อีก ส่งผลให้นายสงวนทำรายงานขึ้นกราบเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจขอให้ไต่สวนและระงับคำสั่งนั้นเสียเพราะตนได้รับความเสียหาย โดยนายสงวนชี้แจงเหตุผลว่า “หนังสือนั้นเปนเรื่องปรุงแต่งความรู้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 13 เท่านั้น หาได้ผิดกฎหมายไม่”[10] เรียกได้ว่า ข่าวลือเกี่ยวกับคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีเริ่มส่งผลต่อทางการและนายสงวน ผู้ที่ถูกทางการมองว่าเป็นลูกศิษย์ของนายปรีดี[11] นับจากนี้เกมการเมืองเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจจึงได้เปิดฉากขึ้น
ในวันเดียวกันกับที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุงลงข่าวนี้ก็ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้น โดยนายจรูญ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวต่อที่ประชุมฯ ถึงเรื่องการเร่งรัดให้มีโครงการเศรษฐกิจและสะท้อนความไม่ลงรอยทางหลักการในเบื้องต้น
“...ในเรื่องทางเศรษฐกิจนั้น นายบรรจง ศรีจรูญ ได้เคยถามคณะรัฐมนตรีมาครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 6 เดือนมาแล้ว และตัวข้าพเจ้าก็เคยพูดว่าการที่เราจะดำเนิรนโยบายในทางเศรษฐกิจและในทางโปลิติกนั้น มีอยู่ 2 ทาง…ฉะนั้นจึ่งใคร่ถามว่า คณะรัฐบาลจะรับรองได้ไหมว่าจะรีบทำเรื่องนี้ให้ทันเวลาที่จะดำเนิรการในปีหน้า ถ้าและไม่รับรองที่จะทำแล้ว จะได้ขอให้มี Vote of Confidence เรียงบุคคลไป…
เท่าที่ทราบมามีว่า นโยบายในทางเศรษฐกิจนี้ไม่ลงรอยกันเพราะต่างคนต่างเห็นชอบไปคนละทาง และบางคนก็มี Prejudice ในบางคน หรือไม่อย่างนั้นก็มี Prejudice ในทางนโยบาย เช่นนโยบายของหลวงประดิษฐ์ฯ มีบางคนเข้าใจไปว่าเป็นนโยบายทาง Communist หรือ Socialist แต่เราต้องคิดว่านโยบายจะเป็นไปในทางใดก็ตาม ถ้าจะเป็นไปในทางที่จะให้ราษฎรได้รับประโยชน์แล้ว ก็ควรจะเสียสละได้แม้ชีวิต…”
และนายปรีดีได้กล่าวตอบเรื่องนโยบายเศรษฐกิจทิ้งท้ายว่า เรื่องนโยบายเศรษฐกิจได้ตกลงกันจะประชุมฯ ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) โดยขอให้มีการประชุมฯ เสียก่อน[12]
การประชุมเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 แต่เป็นการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1 ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พุทธศักราช 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) โดยเปิดการประชุมเวลา 8.20 น. มีผู้เข้าประชุมคือ กรรมาธิการพิจารณาโครงการเศรษฐกิจจำนวน 14 ราย ตามที่ตั้งขึ้น ในการประชุมฯ ครั้งที่ 1 จากเอกสารคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจประกอบการประชุมฯ นายปรีดีได้แถลงที่มาและข้อควรระลึกแสดงทัศนะของนายปรีดีไว้ ซึ่งมักจะถูกมองข้ามและไม่มีผู้อ่านมากนักจึงขอนำเสนออย่างละเอียดตามต้นฉบับดังนี้
“ข้อที่ควรระลึกในการอ่านคำชี้แจงนี้
การแบ่งการเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์
การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ
ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใดๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ
เหตุแห่งความลำเอียง
แต่มีข้อควรระลึกว่า การจัดบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจนั้น ย่อมมีลัทธิอยู่มากมายหลายอย่าง แต่ผู้ที่นิยมนับถือในลัทธิต่างๆ ยังมิอาจที่จะทำความตกลงกันได้ ทั้งนี้ศาสตราจารย์เดสชองป์ส์แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีสได้กล่าวไว้ว่ามี อยู่ 3 ประการ
ไม่รู้โดยไม่ตั้งใจ
1. เพราะบุคคลทุกคนยังไม่รู้ลัทธิต่างๆ การไม่รู้นี้เป็นโดยไม่ตั้งใจ เช่น ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาหรืออ่านตำราที่แท้จริงของลัทธิต่างๆ บุคคลผู้นั้นก็มิอาจที่จะทำความตกลงอย่างไรได้
ไม่รู้โดยตั้งใจ
2. เพราะตั้งใจจะไม่รู้ เช่น บุคคลที่ได้ยินได้ฟังคำโพนทนาตลาดว่า ลัทธิหนึ่งนิยมให้ฆ่าฟันกัน ริบทรัพย์ของผู้มั่งมีเอามาแบ่งให้แก่คนจนเท่าๆ กัน เอาผู้หญิงเป็นของกลาง แล้วก็หลงเชื่อตามคำตลาดและมีอุปาทานยึดมั่นในคำชั่วร้าย และไม่ค้นคว้าและสืบต่อไปให้ทราบความว่า ลัทธินั้นได้ยุยงให้คนฆ่าฟันกันจริงหรือ ริบทรัพย์เอามาแบ่งให้เท่าๆ กันจริงหรือ เอาผู้หญิงมาเป็นของกลางจริงหรือ
ประโยชน์ส่วนตน
3. เพราะเหตุประโยชน์ส่วนตน กล่าวคือบุคคลที่แม้จะรู้ลัทธิต่างๆ ว่ามีส่วนดีอย่างไร ก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ ไม่ยอมที่จะดำเนินตาม เพราะเหตุที่ตนมีประโยชน์ส่วนตัวที่จะป้องกันไม่ให้ใช้ลัทธิต่างๆ นั้น เช่น ลัทธิโซเชียลลิสม์ ที่ประสงค์ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสียเอง เพื่อประโยชน์ของราษฎรเสียทั้งหมดดั่งนี้ ผู้ที่ประกอบอุตสาหกรรมก็ต้องไม่นิยมลัทธิโซเซียลลิสม์เพราะเกรงไปว่า ประโยชน์ตนที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นจะต้องถูกริบ หรือบุคคลที่เกลียดชังรัฐบาลด้วยเหตุส่วนตัว แม้จะรู้ลัทธิต่างๆ และจะเห็นว่าลัทธินั้นดีก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินตามลัทธินั้น ตนเองได้ตั้งใจเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ก็แสร้งทำเป็นถือลัทธิหนึ่ง บุคคลจำพวกนี้จัดเป็นพวกอุบาทว์กาลีโลก เพราะเหตุที่ตนมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ หาได้มุ่งถึงประโยชน์ของราษฎรโดยทั่วไปไม่
ทิฏฐิมานะ
สำหรับประเทศสยามที่ข้าพเจ้าเคยสังเกตมา ยังเห็นว่ามีอีกเหตุหนึ่ง คือทิฏฐิมานะ ข้าพเจ้าเคยอ่านคำบรรยายของท่านนักปราชญ์ในสยามบางท่าน ซึ่งอธิบายกล่าวภัยใน ลัทธิหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ถามท่านผู้นั้นว่าท่านได้อ่านหนังสือจากหนังสือปรปักษ์ของลัทธินั้นหรือคำเล่าลือ ได้ความว่าท่านได้ยินคำเล่าลือ ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้อ่านหนังสือของผู้ที่เป็นกลาง ท่านอ่านแล้ว และเห็นจริงว่าที่ท่านได้บรรยายมาแล้วเป็นคำเท็จ แต่เพื่อที่จะสงวนชื่อเสียงส่วนตนของท่าน ท่านก็มีทิฏฐิมานะแสร้งบรรยายอยู่ตามเดิม ทั้งๆ รับกับข้าพเจ้าว่าท่านผิด แต่ท่านต้องทำโดยมานะ ท่านนักปราชญ์เหล่านี้เป็นพวกอุบาทว์กาลีโลก เช่นเดียวกับพวกที่นึกถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่
ตั้งใจเป็นกลาง
ฉะนั้นผู้อ่านคำชี้แจงของข้าพเจ้า ขอได้โปรดตั้งใจเป็นกลาง หลีกเลี่ยงจากเหตุชั่วร้ายดังกล่าวข้างต้นนี้ และวินิจฉัยว่า เค้าโครงการที่ข้าพเจ้าคิดอยู่นี้ จะช่วยราษฎรได้ตามที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้นั้นได้หรือไม่ เมื่อติดขัดสงสัยประการใดก็ขอได้โปรดถามมายังข้าพเจ้าและเมื่อได้ยินผู้ที่แย้งด้วยเหตุใดแล้ว ก็ขอได้โปรดถามผู้แย้งว่าเหตุผลนั้น เป็นของเขาเองหรือเป็นเหตุผลที่เขาได้ยินจากปากตลาดอย่างใด พร้อมทั้งสอบถามถึงเอกสารอันเป็นหลักฐานใดๆ ซึ่งผู้แย้งได้อ่านหรือได้พบ แล้วโปรดแจ้งมายังข้าพเจ้าด้วย
การอ่านคำชี้แจงนี้ ไม่ใช่ต้องการว่าผู้มีปริญญาจึงจะวินิจฉัยได้ แม้ผู้ไม่ได้ปริญญา ถ้าค้นคว้าสืบสวนจริง ไม่เชื่อแต่ข่าวเล่าลือก็วินิจฉัยได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ค้นคว้าสืบความจริง”[13]
การประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พุทธศักราช 2475 (นับตามปฏิทินเก่า)
การประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 ประกอบด้วยกรรมาธิการพิจารณาโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี จำนวน 14 ราย ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาศรีวิสารวาจา, นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน, นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, หลวงเดชสหกรณ์, นายประยูร ภมรมนตรี, นายแนบ พหลโยธิน, หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ, หลวงเดชาติวงศ์วรารักษ์, หลวงคหกรรมบดี, นายทวี บุณยเกตุ, นายวิลาศ โอสถานนท์ และหลวงอรรถสารประสิทธิ์ เป็นเลขานุการ
นายปรีดีเปิดการประชุมด้วยการแถลงว่า
“ก่อนที่จะมาชี้แจงในที่นี้ได้ประชุมผู้เริ่มก่อการครั้งหนึ่งแล้ว และทำเรื่องขึ้นเสนอรัฐมนตรี รัฐมนตรีจึงตั้งกรรมานุการชุดนี้ให้พิจารณา การโต้เถียงนั้นอาจใช้ถ้อยคำรุนแรงไปบ้างเมื่อเป็นคำแสลงโดยบังเอิญต้องขออภัย
หัวข้อสำคัญในการประชุมวันนี้ เนื่องจากหลัก 6 ประการที่ได้ประกาศไว้ในข้อ 3 มีใจความอยู่ 3 ประการ ในการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจคือ จะจัดมิให้ราษฎรอดอยาก จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ในการจัดการไม่ให้ราษฎรอดอยากนั้น ต้องจัดให้มีความเป็นอยู่พอควร หางานให้ราษฎรทำ เหมือนกับพวกเราที่อยากทำงาน ข้อความละเอียดมีอยู่ในหนังสือนี้แล้ว (คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจ—ผู้เขียน)
แต่เราไม่ทำโครมครามทีเดียวจะทำตามกำลังของเรา ข้อความที่เป็นตัวเลขบางตอนจะถือเคร่งครัดไม่ได้ เป็นการอุปมาพอเค้าเท่านั้น โครงการนี้ไม่ใช่หลักคอมมิวนิสม์ เรามีทั้งแคปิตัลลิสม์ และโซเชียลิสม์รวมกัน ถ้าหากพวกคอมมิวนิสม์มาอ่านจะติเตียนมากว่ายังรับรองพวกมั่งมีให้มีอยู่ ความนี้กล่าวแล้วว่าตัวเลขนั้นเป็นการอุปมาเท่านั้น หน้าที่ของเราในที่นี้ก็คือ จะรับโปลิซีนี้หรือไม่ เมื่อรับแล้วจึงเรียกผู้ชำนาญมาทำการพิจารณาให้ละเอียดในภายหลัง”
ในการประชุมฯ พิจารณาเกี่ยวกับคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีครั้งนี้ มีการถกถามเรื่องสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ แนวคิดและทฤษฎีการเมืองของเค้าโครงการเศรษฐกิจ, การปฏิรูปกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และการสหกรณ์ ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอความคิดของนายปรีดีในสองประการแรก เพราะเป็นข้อกล่าวหาหลักว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์รวมทั้งปรากฏในพระบรมราชวินิจฉัยฯ เวลาต่อมา
ประการที่ 1 แนวคิดและทฤษฎีการเมืองของเค้าโครงการเศรษฐกิจ
นายปรีดีเสนอว่า แนวคิดและทฤษฎีการเมืองของเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น “ไม่ใช่หลักคอมมิวนิสม์ เรามีทั้งแคปิตัลลิสม์ และโซเชียลิสม์รวมกัน…ไม่ถือหลักอะไรโดยเฉพาะ อะไรดีก็เลือกเอามา” โดยตอบข้อซักถามของพระยาราชวังสันว่า
พระยาราชวังสัน : ตามหนังสือโครงการที่ข้าพเจ้าได้อ่านนั้นเป็นหนังสือ ideal ข้าพเจ้าก็นิยมหลักนี้ แต่การทำนั้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องวิเคราะห์ detail เป็นเรื่องๆ ไป หลักการเก่าซึ่งรัฐบาลเก่าทำหรือที่ชุดนี้ทำก็ดี แม้เขาจะไม่ระบุชื่อ แต่ความจริงแบบโซเชียลิสม์ที่จริงหลักการก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะแคปิตัลลิสม์เป็นชาวต่างประเทศส่วนมาก ในปริ๊นซิเปิลข้าพเจ้าไม่คัดค้าน แต่ยังขาดรายละเอียดคือวิธีปฏิบัติ
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : ตามหลักของข้าพเจ้านั้น เป็นลัทธิหลายอย่างที่ได้เลือกคัดเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสำคัญอาศัยหลักโซเชียลลิสม์ไม่ใช่คอมมิวนิสม์ คือถือว่ามนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน เช่นคนจนนั้น เพราะฝูงชนทำให้จนก็ได้ คนเคยทอผ้าด้วยฝีมือครั้นมีเครื่องจักรแข่งขัน คนที่ทอด้วยมือต้องล้มเลิก หรือคนที่รวยเวลานี้ ไม่ใช่รวยเพราะแรงงานของตนเลย เช่น ผู้ที่มีที่ดินมากคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมมีราคาน้อย ภายหลังที่ดินมีราคาแพง สร้างตึกสูงๆ ดังนี้ ราคาที่ดินแพงเนื่องจากฝูงชนไม่ใช่เพราะการกระทำของคนนั้น ฉะนั้นจึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อหน้า และร่วมกันในการประกอบเศรษฐกิจ…
ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ : คนที่มีที่ดินรวยๆ มีไม่กี่คน
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : คนของเราเวลานี้เปรียบเหมือนเด็ก รัฐบาลต้องนำโดยบังคับในทางตรงหรือในทางอ้อม ให้ขะมักเขม้นประกอบการเศรษฐกิจ ถ้าเราทำตามแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะเราไม่ทำสาระสำคัญ คือแก้ความฝืดเคืองของราษฎร แบบที่เราต้องเดินนั้น ต้องเดินอย่างอาศัยหลักวิชา อาศัยแผน อาศัยโครงการ วิธีโซเชียลิสม์เป็นวิธีวิทยาศาสตร์โดยแท้ รับรองความเห็นหม่อมเจ้าสกลฯ ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ใช่ coup d’etat แต่เป็น revolution ในทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางการปกครอง ซึ่งเปลี่ยนจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์เท่านั้น
พระยาราชวังสัน : โครงการของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่เป็นลัทธิอันใดอันหนึ่งแน่ อยากทราบว่าถือหลักอะไร
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : ไม่ถือหลักอะไรโดยเฉพาะ อะไรดีก็เลือกเอามา
พระยาราชวังสัน : การพูดถึงโซเชียลิสม์ทั้งหมดนั้นอาจยาวเกินไป แต่ขอแบ่งพูดย่อๆ ได้ว่าเป็นสเตตโซเชียลิสม์อยู่หนึ่งกับคอมมูนิสต์อีกอย่างหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าอยากรับรองลัทธิของชาร์ลจี๊ดคือ เดินแบบโคออเปราตีฟต่างๆ
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : ยังมีรายละเอียดเรื่องนัชชันนั่ลแบงก์และอื่นๆ อีกมาก แต่ต้องรับโปลิซีเสียก่อน โปลิซีของข้าพเจ้านั้นเดินแบบโซเชียลิสม์ผสมลิเบรัล”[14]
ประการที่ 2 การปฏิรูปกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
แนวคิดของนายปรีดีเรื่องการปฏิรูปกรรมสิทธิในที่ดินนี้ มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่นายปรีดีพบปัญหาชาวนาในวัยเยาว์ที่บ้านเกิดจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและชี้แจงว่าหัวใจของการปฏิรูปที่ดินต้องเคารพกรรมสิทธิ์ของเอกชนเป็นสำคัญ
“ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ : ตามโครงการดูเหมือนผู้เสนออาศัยหลัก surplus value คนทำที่ดินไม่ได้ค่าของที่ดินเต็มที่ แต่เห็นว่าชาวนาได้ค่าที่ดินเต็มที่แล้ว และเรื่องคนไทยยากจนนั้น หมอซิมเมอแมนได้สำรวจกล่าวว่าความเป็นอยู่ของเมืองไทยนั้นดีกว่าชาวอินเดียและจีนตั้งสองเท่า และ surplus value ทางภาคอุดรนั้นตกแก่คนพื้นเมืองเป็นส่วนมาก
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : ในเรื่องที่ดินนี้ การอธิบายข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยหลัก surplus value ของคาร์ล มาร์กซ เลย แต่อาศัยหลักว่าแรงงานของคนไทยเสียไปปีหนึ่งมากๆ จะทำอย่างไรจึงจะใช้แรงงานให้เป็นประโยชน์…
ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ : อยากให้เดินแบบ compromise คือร่วมกับพวก capitalist
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : หลักโครงการของข้าพเจ้านี้ ไม่ขัดกับ capitalist เดินคู่กันไปแท้ๆ เราต้องการอาศัยทุนของพวกมั่งมีในนี้ และต่างประเทศ
ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ : ตามรูปที่อ่านนั้น ไม่เป็นแนวทางพอ ต้องแสดงไปเป็นลำดับ
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : ในโครงการเสนอเพื่อให้รับรองโปลิซีเท่านั้น เมื่อรับรองโปลิซีแล้ว การที่จะดำเนินต่อไปนั้นต้องเรียกผู้ชำนาญมาภายหลัง…
ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ : พริมิตีฟนั้นแล้วแต่ความเคยชิน หากว่าเคยอยู่อย่างไรก็ชินอย่างนั้น ไม่รู้สึกลำบาก จึงอยากให้เคารพในกรรมสิทธิ์ของบุคคลให้มาก
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : โครงการนี้เราต้องเคารพกรรมสิทธิ์ของเอกชนเหมือนกัน เช่นที่ที่เป็นบ้านอยู่เราไม่เข้าเกี่ยวข้อง เว้นแต่ที่จำเป็น การที่ต้องรวมนี้ก็เพราะที่ดินของเจ้าของต่างๆ มีเป็นหย่อมๆ ไม่สะดวกแก่การควบคุมและทางวิทยาศาสตร์จึงต้องรวมให้เป็นผืนเดียวกัน
ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ : เราเข้าใจเอาเองว่าที่ดินนั้นมีเป็นหย่อมๆ ยกตัวอย่างเมืองสุพรรณไม่แน่ว่าของใครมีเท่าใดเพราะยังไม่ได้สำรวจ ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้จึงมีวิธีการที่จะรวมที่ดิน
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : ปัญหาเรื่องรายละเอียดเอาไว้ที่หลัง แต่พฤติการณ์มีอยู่แน่ชัดว่า ที่ดินในเมืองไทยมีอยู่เป็นหย่อมๆ การรวมกันได้ผลดีในทางวิทยาศาสตร์ เราจะทำอย่างไรจึงจะให้รวมกันได้…
ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ : การรวมที่ดินและรวมแรงเพื่อการกสิกรรมนั้นเห็นด้วย…หลักนี้ไม่มีใครคัดค้าน และตามที่ถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ใช้ได้ดีในเมืองไทยในการรวมที่ดิน
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : หลักนี้วิเศษจริง แสดงว่าที่ดินเป็นของรัฐ
ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ : นโยบายเรื่องที่ดินนั้น ควรแยกออกจากนโยบายอื่นๆ …
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา : นโยบายแรกนั้น คือที่ดินกสิกรรมใช่ไหม…
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) : มีทั้งรัฐบาลจัดทำเองและเอกชนจัดทำ ไม่ใช่รัฐบาลจัดทำเองทั้งหมด เช่นการสัมปทานต่างๆ มีเหมืองแร่เป็นต้น ยังคงให้เอกชนจัดทำ และเรื่องวิตกว่าเจ้าของที่ดินจะไม่พอใจนั้น ไม่น่าวิตกอย่างใด การออกกฎหมายบังคับซื้อนั้นเพื่อป้องกันคนเกเรและหน่วงไม่ขายหรือเกี่ยงเอาราคาแพงๆ เท่านั้น
ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ : บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วยให้รวมที่ดินนอกเมืองเป็นที่กสิกรรม และยังเห็นต่อไปว่า ควรรวมที่ในเมืองเป็นหัตถกรรมและที่อยู่ด้วย ควรจัดวางโปรแกรมไว้ว่าที่ใดเป็นที่หัตถกรรมและที่ใดที่เป็นที่กสิกรรม การมีที่ดินเป็นหย่อมๆ ข้าพเจ้าเห็นเป็นภัยควรรวมเอามาทั้งหมด แปลนจึงจะครบรูปเรียบร้อย”[15]
จากการประชุมฯ ครั้งนี้พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมฯ มีความเห็นแตกเป็นสองทางคือ ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนและฝ่ายหนึ่งคัดค้านคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี โดยผู้ที่คัดค้านได้แก่ พระยาทรงสุรเดช, พระยาศรีวิสารวาจา, พระยาราชวังสัน และนายประยูร ภมรมนตรี[16]
สัปดาห์ถัดมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) พระยานิติศาสตร์ไพศาลได้สอบถามถึงเรื่องโครงการเศรษฐกิจและคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี โดยพระยาราชวังสันหนึ่งในกรรมานุการฯ ที่เข้าร่วมการประชุมฯ พิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจกล่าวตอบว่ากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและจะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง[17]
จากหลักฐานประวัติศาสตร์และข้อถกเถียงข้างต้นแสดงให้เห็นแนวคิดของนายปรีดีในการจัดทำ เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ สมุดปกเหลือง ด้วยถ้อยแถลงของนายปรีดีเป็นหลัก และแสดงถึงเจตนารมณ์ในการจัดทำอยู่บนพื้นฐานของแนวการปกครองระบอบใหม่และประโยชน์เพื่อประชาชนที่แตกต่างจากโครงการเศรษฐกิจของระบอบเดิมหลายประการ โดยนายปรีดีเริ่มต้นร่างคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นจากเสียงเรียกร้องในสภาฯ และการมอบหมายของรัฐบาลคณะราษฎร ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ นายปรีดีย้ำในการประชุมคณะกรรมานุการฯ หลายหนว่าจะมีการเชิญผู้ชำนาญการมาปรับปรุงคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจหลังจากรับนโยบายแล้ว
หากหลังการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ได้เพียงไม่นานและยังไม่ทันพิจารณาหรือดำเนินการอย่างใด ทางพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ซึ่งถือเป็นการรัฐประหารครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกา ส่งผลให้นายปรีดีต้องถูกเนรเทศไปยังประเทศฝรั่งเศส ต่อมาคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้กลับได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งจากความสนใจของผู้จัดพิมพ์ ผู้อ่าน และจัดพิมพ์เนื่องในวาระสำคัญนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490-2550 เป็นต้นมา
ภาพประกอบ: สถาบันปรีดี พนมยงค์ หอสมุดแห่งชาติ คลังสารสนเทศบัญญัติ เว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข และ The 101 World
หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1, วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พุทธศักราช 2475.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 169-179.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 55 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 829-834.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 57 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 889-890.
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2)สร0201.22 กล่อง 1 ปึกที่ 2. เอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง หนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (9 มีนาคม 2475-เมษายน 2476)
หนังสือพิมพ์ :
- ศรีกรุง 10 มีนาคม 2475
หนังสือภาษาอังกฤษ :
- Yuangrat Wedel and Paul Wedel, Radical thought, Thai mind : a history of revolutionary ideology in a traditional society Revised Edition (USA: Will County, Ill., 2019), pp. 79-99.
หนังสือภาษาไทย :
- กนกศักดิ์ แก้วเทพ, สำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549).
- กองบรรณาธิการ, วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2540 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540).
- เจมส์ ซี. อินแกรม, การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970, แปลโดย ชูศรี มณีพฤกษ์ และเฉลิมพจน์ เอี่ยมกมลา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552).
- เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2552).
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542).
- ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2544).
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543).
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (กรุงเทพฯ: สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2533).
- ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535).
- ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552).
- ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: ซิลค์เวอร์มบุคส์, 2542).
- ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี, รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2564).
- ไมตรี เด่นอุดม, โลกพระศรีอารย์ของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2553).
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544).
- ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร. ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526).
บทความในหนังสือและวารสาร :
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช, “แนะนำและวิจารณ์หนังสือ ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก,” พัฒนบริหารศาสตร์, 9:4, (ตุลาคม 2512), น. 752-764.
- ปรีชา อารยะ, “เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 8:1, (มิถุนายน-สิงหาคม 2513), น. 752-764.
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, “การแสวงหาระบบเศรษฐกิจใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย,” สังคมศาสตร์, 16:2, (เมษายน-มิถุนายน 2522), น. 1-12.
วิทยานิพนธ์ :
- ชวลิต วายุภักตร์, “การปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศไทย พ.ศ. 2475-2485,” (วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2519).
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “กระบวนการกำหนดนโยบายที่ดินในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2475-2500,” (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553).
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กองบรรณาธิการมติมหาราษฎร์. (22 กรกฎาคม 2563). บทสัมภาษณ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช.
- กษิดิศ อนันทนาธร. (6 มิถุนายน 2565). 6 เรื่องของคณะราษฎร ผ่านทัศนะของปรีดี พนมยงค์.
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (15 มิถุนายน 2563). มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์.
- ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล. (11 พฤษภาคม 2560). ปรีดี พนมยงค์ รัตนบุรุษสยาม.
- ณัฐพล ใจจริง. (10 มีนาคม 2566). วิวาทะของหนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจ และ พระบรมราชวินิจฉัยฯ กับการเมืองของการผลิตซ้ำ (ตอนที่ 1).
- นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (16 พฤษภาคม 2563). ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)” : ตอนที่ ๒.
- สฤณี อาชวานันทกุล. (20 มิถุนายน 2560). เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในสายธารความคิดเศรษฐศาสตร์.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (25 มิถุนายน 2564). สรุปประเด็นสำคัญจาก PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม : สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน”.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ.
- อนุสรณ์ ธรรมใจ. (2 กรกฎาคม 2563). [สรุปประเด็นเสวนา] ‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ชู โมเดล ‘สมุดปกเหลือง’ แก้พิษเศรษฐกิจ ชี้ ‘ปรีดี’ คือ มันสมองชาติ.
- อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ. (7 พฤษภาคม 2563). มอง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในปัจจุบัน.
[1] โปรดดูเพิ่มเติม อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ. มอง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในปัจจุบัน. (7 พฤษภาคม 2563)., อนุสรณ์ ธรรมใจ. (2 กรกฎาคม 2563). [สรุปประเด็นเสวนา] ‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ชู โมเดล ‘สมุดปกเหลือง’ แก้พิษเศรษฐกิจ ชี้ ‘ปรีดี’ คือ มันสมองชาติ., เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (15 มิถุนายน 2563). มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์., ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี, รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2564), สฤณี อาชวานันทกุล. (20 มิถุนายน 2560). เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในสายธารความคิดเศรษฐศาสตร์. , ชัยอนันต์ สมุทวณิช, “แนะนำและวิจารณ์หนังสือ ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก,” พัฒนบริหารศาสตร์, 9:4, (ตุลาคม 2512), น. 752-764., ปรีชา อารยะ, “เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 8:1, (มิถุนายน-สิงหาคม 2513), น. 752-764., สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544) และ Yuangrat Wedel and Paul Wedel, Radical thought, Thai mind : a history of revolutionary ideology in a traditional society Revised Edition (USA: Will County, Ill., 2019), pp. 79-99.
[2] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535), น. 4-7. และฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล. (11 พฤษภาคม 2560). ปรีดี พนมยงค์ รัตนบุรุษสยาม.
[3] หากสนใจสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในไทยติดตามได้ที่วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง และ ใน กนกศักดิ์ แก้วเทพ, สำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)
[4] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2544), น. 316-317.
[5] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. น. 169-179.
[6] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535), น. 19.
[7] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2544), น. 317.
[8] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) สร0201.22 กล่อง 1 ปึกที่ 2. เอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง หนังสือเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (9 มีนาคม 2475 - เมษายน 2476)
[9] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2544), น. 318.
[10] ศรีกรุง, 10 มีนาคม 2475, น. 1.
[11] พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เคยกล่าวถึงนายสงวนว่า เป็นโมคลา สารีบุตรของนายปรีดี และนายปรีดี ตอบกลับว่า “ว่าที่จริงนั้นสงวนกับซิมนั้นเป็นลูกศิษย์ใต้เท้าขอให้ไปเปิดดูทะเบียนที่โรงเรียนกฎหมาย จะเห็นได้ว่าสงวนสอบไล่ได้ในปี 2460 เวลานั้นผมยังไม่ได้สอน และใต้เท้าเป็นครูสอนกฎหมายมฤดก” ใน รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1, วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พุทธศักราช 2475.
[12] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 55 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. น. 830-834.
[13] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 21-24.
[14] เรื่องเดียวกัน, น. 145-152.
[15] เรื่องเดียวกัน, น.152-154.
[16] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2544), น. 320.
[17] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 57 (สมัยสามัญ). วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. น. 889-890.
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- ปรีดี พนมยงค์
- อภิวัฒน์สยาม
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- Socialist
- Communist
- ประชาธิปไตย
- คณะราษฎร
- อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ
- อนุสรณ์ ธรรมใจ
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
- ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
- รัฐสวัสดิการ
- สฤณี อาชวานันทกุล
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
- ควง อภัยวงศ์
- ชม จารุวัฒน์
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- จรูญ สืบแสง
- มังกร สามเสน
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 7
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ