ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มรดก ๙๐ ปีแห่งการอภิวัฒน์ทางจิตวิญญาณ และสังคมการเมืองไทย

26
มิถุนายน
2565

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปี ๒๕๖๕ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางปีนั้น เป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อบันทึกประวัติศาสตร์ทางจิตวิญญาณและสังคมการเมืองของสยามประเทศ ด้วยเหตุเป็นช่วงครบรอบวาระ ๙๐ ปีแห่งเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่ง ๒ เหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นใกล้เคียงกัน

 

ทางเข้าสวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานี
ทางเข้าสวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานี

 

เหตุการณ์แรก ได้แก่ การอภิวัฒน์ทางจิตวิญญาณที่สืบขนบมาจากสังคมโบราณที่มีพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นแกนหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคม ๒๔๗๕[1] เริ่มจากการเดินทางกลับจากพระนครสู่เมืองไชยาถิ่นกำเนิด และเข้าพำนัก ณ วัดตระพังจิก (สวนโมกข์เก่า)[2] ของพระภิกษุหนุ่มนามว่า ‘พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญฺ’ หรือที่รู้จักกันในภายหลังเมื่อเรียบเรียง “ตามรอยพระอรหันต์” และปวารณาตนลงเป็น “ทาสของพระพุทธเจ้า”[3] แล้วว่า “พุทธทาสภิกขุ” อีกเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นในเดือนถัดมา กล่าวคือ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้แก่ การอภิวัฒน์ทางการเมืองโดยคณะราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบการเมืองเก่ามาสู่ระบอบการเมืองใหม่ กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เหตุการณ์แรกที่เดิมเป็นแค่การริเริ่มฟื้นฟูและส่งเสริมการปฏิบัติธรรมของพระมหาเงื่อม ด้วยความร่วมมือจากผู้เป็นน้องชาย (นายยี่เกย พานิช ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม “ธรรมทาส”) และกลุ่มผู้สนใจกิจการนี้กลุ่มเล็กๆ ภายหลังต่อมาอีกหลายทศวรรษ กิจการของ “พุทธทาสภิกขุและสวนโมกขพลาราม” ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในวงการวิชาการและภูมิปัญญาทางพุทธศาสนาในยุคกึ่งพุทธกาลเลยทีเดียวก็ว่าได้[4] แม้เหตุการณ์แรกซึ่งเป็นเพียงการลงมือดำเนินการในกลุ่มอันมีลักษณะเป็นการส่วนบุคคล และดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องเสียเลยกับเหตุการณ์ใหญ่ยิ่งในเดือนถัดมาซึ่งส่งผลสะเทือนต่อสังคมการเมืองโดยรวมอย่างมหาศาล แต่เหตุการณ์ทั้งสองนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า เป็นการเปิดศักราชไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งถึงรากฐานทางภูมิปัญญาเพื่อเตรียมสังคมสยามที่กำลังจะก้าวเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 26 อย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้

อย่างน้อยที่สุด เหตุการณ์แรกก็เป็นบทพิสูจน์ถึงศักยภาพในการย้อนสำรวจทบทวนและค้นพบจิตวิญญาณดั้งเดิมของธรรมวินัยที่หยั่งรากลงในดินแดนแห่งนี้มานับพันปี ไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์ที่สองที่เป็นบทพิสูจน์ว่า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ ชาวสยามมีศักยภาพเพียงใดในอันที่จะประยุกต์วัฒนธรรมและสังคมของตนเองเข้ากับวิถีชีวิตทางการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือกันในนานาอารยประเทศว่า แม้จะมิใช่ระบอบการเมืองที่ประเสริฐเลอเลิศที่สุด แต่ก็นับได้ว่าเป็นระบอบการเมืองการปกครองที่เลวร้ายน้อยที่สุดในบรรดาระบอบที่มนุษยชาติเคยมีประสบการณ์ผ่านมาในอดีต

ประเด็นหลักในข้อเขียนสั้นๆ ชิ้นนี้เป็นความพยายามในเบื้องต้นที่จะพินิจพิเคราะห์ “มรดกทางภูมิปัญญาแห่งปี ๒๔๗๕” และใคร่ที่จะให้ผู้อ่านถือเพียงว่า งานเขียนชิ้นนี้เป็นเพียงข้อคิดจากประสบการณ์การศึกษาค้นคว้าเหตุการณ์ที่สำคัญทั้งสองเหตุการณ์เท่าที่เวลาจะอำนวยให้เท่านั้น ในที่นี้ เพื่อความสะดวกในการอ้างถึงและอธิบายนัยของเหตุการณ์ทั้งสอง ผู้เขียนจึงขอจำกัดความเรียกเหตุการณ์แรกในเดือนพฤษภาคมว่า “ปรากฏการณ์พุทธทาส” และเหตุการณ์ที่สองในเดือนมิถุนายนว่า “ปรากฏการณ์คณะราษฎร”

 

ปรากฏการณ์พุทธทาส” เชื่อมโยงถึง “ปรากฏการณ์คณะราษฎร” ได้อย่างไร

ในทัศนะของผู้เขียน หากเราพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่าที่เห็นและเป็นไปเบื้องหน้าของปรากฏการณ์ทั้งสอง ก็คงสรุปได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด อีกนัยหนึ่ง หากปรากฏการณ์พุทธทาสเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงปฏิกิริยาที่มีต่อวิธีการเล่าเรียนปริยัติธรรมตามแนวขนบจารีต[5] รวมถึงที่มีต่อความย่อหย่อนในวัตรปฏิบัติของเหล่าภิกษุพระนครและความอ่อนเปลี้ยต่อการบรรลุอุดมคติอันสูงส่งที่พระบรมศาสดาได้มอบเป็นมรดกธรรมแก่ปวงพุทธบริษัท[6] รวมถึงแรงบันดาลใจจาก “อุดมคติแห่งการออกจากทุกข์และบรรลุถึงสุขที่แท้จริง”

จากการสอบสวนและใคร่ครวญพุทธวจนในพระบาลีอย่างเอาจริงเอาจังระหว่างการเล่าเรียนภาษานั้นของพระภิกษุหนุ่มบ้านนอกรูปหนึ่ง[7] เช่นนี้ก็ย่อมไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปรากฏการณ์คณะราษฎรที่ประสงค์มุ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้ก้าวไปสู่ความมีอารยะ มีระบบกฎหมายเป็นกลไกกำกับการใช้อำนาจของผู้ปกครองรัฐ และผลักดันเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อวางรากฐานรัฐสวัสดิการอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังเช่นกระแสที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกเวลานั้น

แต่หากลองพิเคราะห์ให้ลึกลงไปถึงเบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งสองในมิติทางภูมิปัญญาแห่งยุคสมัย สำหรับปรากฏการณ์พุทธทาส เราคงจะมองข้ามประเด็นที่ท่านตระหนักแน่แก่ใจและยืนยันว่า “พุทธบริษัทที่แท้จริงย่อมเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจของเหตุผล”[8] เสียไม่ได้ หมายความว่า เมื่อพุทธบริษัทศึกษาหลักการของพุทธธรรมจนสามารถจับแก่นหรือหัวใจในกรณีนี้ได้ การลงมือปฏิบัติธรรมของแต่ละคนย่อมสามารถพิสูจน์และเห็นประจักษ์ต่อผลการปฏิบัติที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองตามแนวทางการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และเป็นไปได้ในปัจจุบันขณะ โดยไม่จำต้องฝากความหวังพึ่งพาสวัสดิมงคลใดๆ ไว้กับเหตุปัจจัยภายนอก เช่น อำนาจเหนือธรรมชาติในลักษณะต่างๆ หรือบรรดาของขลังศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด

อีกนัยหนึ่ง แก่นของพุทธธรรมก็คือ การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์จนได้มาซึ่ง “ปัญญา” อันสูงสุดและเข้าถึงกฎธรรมชาติอันว่าด้วยความเป็นไปตามเหตุและผล หรือกฎแห่งความเป็นเหตุปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระบรมศาสดาเน้นย้ำก็คือ กฎแห่งเหตุผลหรือเหตุปัจจัยในเรื่องการก่อตัวและดับลงแห่งสภาพธรรมดา (ทุกข์) ของสรรพสิ่ง ดังที่ว่านี้ “ปัญญา” จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งยวดในพุทธธรรม หรือจะกล่าวว่า พุทธธรรมนั้นยกย่อง ส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อ “การใช้ปัญญาเหตุผลของมนุษย์” (ในนามแห่ง “ธรรม”) อย่างยิ่งนั่นเอง

 

 

นัยที่ว่ามานี้จะเชื่อมโยงถึงปรากฏการณ์คณะราษฎรได้อย่างไร ในเบื้องต้น เราต้องไม่ลืมว่า หลักการที่เป็นรากฐานที่มั่นคงดั่งเสาหลักของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่คณะราษฎรประสงค์จะสถาปนาขึ้นในประเทศสยามก็คือ การพินิจและให้ความสำคัญสูงสุดต่อคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ทั้งนี้ แม้จะมี “ความเป็น (being)” อื่นต่างไปจากมนุษย์ก็ตาม แต่มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์และธำรงไว้ซึ่งคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งตนอยู่เป็นนิตย์)[9] และหลักการที่ว่ามานี้ ย่อมสามารถสืบค้นย้อนกลับไปถึงหลักคิดทางปรัชญาของกรีกสมัยโบราณที่เริ่มขึ้นจากการยกย่องมนุษย์ในฐานะ “สัตว์โลกที่กอรปด้วยศักยภาพในการใช้เหตุผล” หรือเป็น “สัตว์โลกผู้ทรงปัญญา” อีกนัยหนึ่ง โลกตะวันตกมีรากฐานมาแต่โบราณกาลที่อาจเรียกได้ว่า เป็น “สังคมและวัฒนธรรมที่เน้นความสำคัญของความรู้และการแสวงหาสัจธรรม” สืบเนื่องยาวนานมาจวบจนปัจจุบัน 

หากพิจารณาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ครั้นเมื่อโลกตะวันตกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่หลายระลอกนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ได้แก่ การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ที่เป็นดั่งสะพานทอดข้ามแก่ภูมิปัญญาแบบคลาสสิค (กรีก-โรมัน) หรือ มนุษยนิยม (Humanism) ให้กลับคืนมารุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยใหม่ การลดอิทธิพลของคริสตจักรเดิมลงด้วยการ ปฏิรูปศาสนา (The Reformation)  รวมถึงความเจริญก้าวหน้าของภูมิปัญญาความรู้และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติสมัยใหม่ผ่านการ ปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (The Scientific Revolution) และสมัยแห่งภูมิธรรม (The Enlightenment) ซึ่งกลายมาเป็น “หัวใจ” ของวิธีการศึกษาหาความรู้และการตัดสินความจริงให้แก่มนุษยชาติที่ยืนยันความมีปัญญาของมนุษย์โดยการพิสูจน์ความจริงด้วยหลักฐานอันประจักษ์ในขอบเขตของเหตุผล เหล่านี้ล้วนผนวกรวมเข้ากันเป็นทัศนะหรือภูมิปัญญาของโลกสมัยใหม่ และค่อยๆ แปรรูปรวมถึงกำหนด “วิถีชีวิตทางการเมืองสมัยใหม่ของรัฐ”[10] ในระบอบที่ให้การยกย่อง “มนุษย์” (หรือพลเมือง) ทุกผู้ทุกนามตามหลักการที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น

แม้คติที่ว่าพุทธบริษัทที่แท้จริงย่อมเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจของเหตุผล จะถูกตีความบนรากฐานของพุทธธรรมที่พุทธทาสภิกขุได้ค้นคว้าศึกษา ในขณะที่ปรากฏการณ์คณะราษฎรเป็นผลพวงและการหลั่งไหลทางวัฒนธรรมและการปะทะสังสรรค์ระหว่างสังคมสยามกับโลกภายนอก แต่เราพอจะเห็นได้ว่า ความเชื่อมั่นในศักยภาพในการใช้ปัญญาเหตุผล รวมถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ทั้งในแง่ความเป็นปัจเจกชน (ในนามแห่ง “ธรรม” สำหรับปรากฏการณ์พุทธทาส) และในแง่ความเป็นพลเมืองแห่งรัฐ (ในนามแห่ง “ระบอบการเมืองประชาธิไตย” สำหรับปรากฏการณ์คณะราษฎร) ย่อมเป็นประเด็นที่ทั้งสองปรากฏการณ์นี้มีลักษณะร่วมกันที่น่าสนใจยิ่งทีเดียว

 

นัยของทั้งสองปรากฏการณ์ดังกล่าว จะส่งผลต่อสังคมและวัฒนธรรมไทยปัจจุบันอย่างไร

ผู้เขียนยอมรับว่ายังไม่มีเวลามากพอในอันที่จะทำความเข้าใจ วิเคราะห์ กระทั่งสามารถชี้แจงแถลงรายละเอียดของพัฒนาการนับแต่ปี ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสองปรากฏการณ์นี้ แต่เชื่อมั่นว่า ผู้อ่านที่สนใจในประวัติศาสตร์และพัฒนาการของทั้งสองปรากฏการณ์นี้คงสามารถให้ข้อวิเคราะห์บนฐานข้อมูลที่ปรากฏจนถึงปัจจุบันได้ไม่ยากนัก

ในที่นี้ ผู้เขียนขอหยิบยกบางประเด็นเท่าที่เห็นว่า น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจและอาจมีส่วนในการผลักดันสังคมและวัฒนธรรมไทยปัจจุบันให้เข้าสู่แนวทางที่เหมาะสมต่อไปเท่านั้น

คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปนัก ถ้าผู้เขียนจะสรุปในเบื้องต้นว่า สังคมและวัฒนธรรมไทยเท่าที่เป็นมานั้น ไม่ใช่ สังคมและวัฒนธรรมที่ผู้คนให้น้ำหนักแก่การใช้ปัญญาเหตุผลมากนัก แต่กลับมีแนวโน้มในการยกย่องนับถือการมียศศักดิ์ที่สูงส่ง รวมถึงความมีสถานะหรืออำนาจที่เหนือกว่า (ทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการ) หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดในความสัมพันธ์ระหว่างกัน การควบคุมและป้องปรามมิให้อารมณ์หรืออำเภอใจอันพลุ่งพล่านของแต่ละคนกลายเป็นวิธีการแก้ปัญหาในกรณีนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่หาได้ยากในสังคมและวัฒนธรรมนี้ ด้วยวิธีคิดและทัศนคติเช่นว่า สังคมและวัฒนธรรมไทยจึงมิใช่สังคมที่เอื้อต่อการใช้ปัญญาเหตุผลระหว่างกัน หรือให้ความสำคัญต่อคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นเท่าใดนัก แต่กลับเอื้อต่อระบบความสัมพันธ์ของผู้คนเช่นที่เรียกกันว่า “ระบบศักดินาหรือระบบอุปถัมภ์”[11] และ “การใช้อารมณ์หรืออำเภอใจแก้ปัญหา” อีกนัยหนึ่งเป็น “วัฒนธรรมอำนาจนิยม” เสียมากกว่า นี่ยังไม่นับรวมถึงทัศนะคติของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินชีวิตโดยยึดถือพิธีกรรมหรือไสยศาสตร์รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่มีผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นในศักยภาพทางปัญญาเหตุผล คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ด้วยไม่มากก็น้อย[12]

การเชื่อมั่นในศักยภาพในการใช้ปัญญาเหตุผล รวมถึงการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ล้วนเป็นทัศนะที่หลักการแห่งพุทธธรรมและระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ให้ความสำคัญเป็นอย่างเอก ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น ถ้าการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เป็นมูลเหตุให้โลกตะวันตกสามารถลดละ “ความเชื่องมงาย” ที่มากับความรู้และทัศนะเชิงไสยศาสตร์ได้อย่างเห็นผล จนถือได้ว่า การใช้ปัญญาเหตุผลนับเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญประการหนึ่งของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะการกระทำ (หรือ “กรรม”) ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะกำหนดชะตาและวิถีชีวิตของบ้านเมืองร่วมกัน ผู้เขียนก็เชื่อเช่นกันว่า ความเข้าใจอันถ่องแท้ต่อพุทธธรรมย่อมเป็นปัจจัยทำนองเดียวกับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกที่จะช่วยขจัดปัดเป่าและลดทอนการพึ่งพาพิธีกรรมที่ดูขรึมขลังและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลที่มีกลาดเกลื่อนในสังคมไทย (ผู้ที่เข้าใจพุทธธรรมพอสมควรย่อมจะเห็นได้ชัดเจนใจอยู่แล้วว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับพุทธธรรมแต่อย่างใดเลย) และหันมาเชื่อมั่นในกฎแห่งความเป็นเหตุและผลหรือกฎแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งได้แก่ (อย่างน้อยที่สุดที่ใกล้ตัวทุกคน) กฎแห่งกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความเป็นเหตุและผลได้ประจักษ์ชัดที่สุด เพราะนี่คือกฎธรรมชาติที่ยืนยันคุณค่า ศักดิ์ศรีและศักยภาพของมนุษย์ในการใช้ปัญญาเหตุผลของตนเองเพื่อ “เลือก” ที่จะเป็นหรือจะทำ หรือไม่เป็นหรือไม่ทำอะไร ด้วยความรู้และศักยภาพของตนเอง โดยไม่หวังพึ่งพาปัจจัยภายนอกแต่อย่างใด

อนึ่ง ในทัศนะของผู้เขียน (ซึ่งมีนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาและนักศึกษาค้นคว้าหลายท่านก็ได้กล่าวในเรื่องนี้มาก่อนแล้ว) กฎแห่งกรรมนั้นมิได้มีนัยคับแคบซึ่งบ่งถึงแต่เฉพาะด้านปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึง “กฎแห่งกรรมของสังคม” (หรือพลังความเคลื่อนไหวของสังคม) ร่วมกันอีกด้วย ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่ยกย่องมนุษย์ที่เป็นพลเมืองนี่เองที่เน้นให้เห็นถึงกฎแห่งกรรมของสังคมในแทบทุกกรณีที่จะต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะในรูปแบบการออกเสียงลงมติในสภา การมีประชามติหรือทัศนะของสังคมในเรื่องต่างๆ

ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นการให้ความเชื่อมั่นต่อกฎแห่งกรรมของสังคม (หรือพลังความเคลื่อนไหวของสังคม) ร่วมกันนั่นเอง 

ด้วยเหตุนี้ แม้ปรากฏการณ์พุทธทาสจะมีภาพลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างจนสิ้นเชิงกับปรากฏการณ์คณะราษฎรก็ตาม แต่ลึกลงไปยังภูมิปัญญาเบื้องหลังของทั้งสองปรากฏการณ์นี้ กลับชี้ให้เห็นถึง “ทัศนะในการมองโลก ชีวิตสรรพสิ่งและสังคมมนุษย์ในวิถีทัศน์ใหม่” ที่สอดคล้องต้องกัน ทั้งในแง่การให้ความสำคัญกับศักยภาพของตัวมนุษย์เองในการเข้าถึงกฎธรรมชาติ ผ่านการพัฒนาปัญญาเหตุผลบนฐานอุดมคติพุทธธรรม (ซึ่งเป็นรากเหง้าทางภูมิปัญญาแบบพุทธบริษัทดั้งเดิม) และการธำรงความสัมพันธ์ในสังคมการเมืองกับเพื่อนมนุษย์บนฐานของปัญญาเหตุผล รวมถึงการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งเมื่อกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว นี่คือวัตถุประสงค์สุดท้ายของระบบกฎหมายในรัฐสมัยใหม่ (อีกนัยหนึ่งก็คือ การสถาปนาเหตุผลที่เป็นธรรมขึ้นเป็นระบบกฎเกณฑ์ความประพฤติของสังคม) อยู่ด้วยในตัว

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ด้วยประสงค์จะลองถอดบทเรียน ๙๐ ปีจาก “ปรากฏการณ์พุทธทาส” และ “ปรากฏการณ์คณะราษฎร” และเพื่อตั้งคำถามต่ออนาคตด้วยว่า เราจะสร้างสังคมและวัฒนธรรมไทยของเราอย่างไร เพื่อมิให้ “ความถูกใจของบางคน” กลายเป็น “ความถูกต้องสำหรับทุกคน” หรือเพื่อให้เกิด “ความเคารพซึ่งกันและกัน แม้จะมีความคิดเห็นแตกต่างขัดแย้งกันเพียงใด” ยิ่งกว่าที่จะ “เลือกจะฟาดปาก (กัน) เมื่อมีอะไรที่ไม่ถูกหรือสบใจ (กู)”

อนึ่ง ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ในแง่หนึ่งต้องนับเป็นสิ่งที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เน้นย้ำอย่างยิ่งในเรื่ององค์ประกอบของประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งการจะสร้างให้มีขึ้นนั้นไม่เพียงเป็นการสร้างประชาธิปไตยเฉพาะแต่ในมิติทางเศรษฐกิจและในมิติทางการเมืองเท่านั้น ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยังหมายความรวมถึงมิติที่สาม กล่าวคือ การที่ราษฎรไทยยังพึงประกอบด้วย “ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย” อีกโสดหนึ่งด้วย ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยในที่นี้ จึงควรหมายถึง การเชื่อมั่นในศักยภาพและการพัฒนาทางปัญญาของมนุษย์ที่สามารถเข้าถึงความจริงได้ด้วยปัญญาเหตุผล (ปรากฏการณ์พุทธทาส) รวมถึงการเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ และปฏิบัติต่อผู้อื่นบนฐานของปัญญาเหตุผลในการอยู่ร่วมกันในสังคม (ปรากฏการณ์คณะราษฎร) นั่นเอง

ดังนั้น สังคมและวัฒนธรรมไทยจะก้าวไปเส้นทางที่ว่ามานี้ได้หรือไม่ ระยะเวลา ๙๐ ปีที่ผ่านมา น่าจะให้คำตอบได้พอสมควร แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ อนาคตข้างหน้าย่อมสำคัญไม่น้อยไปกว่าอดีตที่ผ่านมาเช่นกัน

หากจะมีผลดีประการใดๆ อันมีขึ้นจากการพินิจพิจารณาเนื้อหาในข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนขออุทิศให้แก่รัตนะบุรุษของสยามประเทศ อันได้แก่ พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญฺ (พุทธทาสภิกขุ) และคณะราษฎร จงทุกประการ

 

[1] พระมหาเงื่อมได้ให้ข้อมูลจากความทรงจำในกรณีนี้ไว้ว่า “พวกเรากันเองที่เป็นมิตรสหาย ๔-๕ คน ช่วยกันไปจัดทำที่พัก กว่าฉันจะได้ย้ายไปอยู่ที่นั่น ก็ตกเดือนพฤษภาคม ซึ่งฉันจำได้แต่เพียงว่า ดูเหมือนจะเป็นวันที่ ๑๒ ต่อมาในเดือนมิถุนายน ประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง ...” ใน พุทธทาสภิกขุ, สิบปีเกี่ยวกับสวนโมกขพลาราม, ชุมนุมเรื่องยาว, อนุรักษ์ต้นฉบับของธรรมทานมูลนิธิ ๑๐๐ ปีพุทธทาส (๒๔๔๙-๒๕๔๙), กรุงเทพ : ธรรมทานมูลนิธิและธรรมสภา, ๒๕๔๔ : ๔๓๘. (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ)

[2] พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ, อรศรี งามวิทยาพงศ์ บรรณาธิการ, พิมพ์ครั้งที่ ๓ ปรับปรุงใหม่, กรุงเทพ : สนพ. มูลนิธิโกมล คีมทอง, ๒๕๔๖, น.๑๐๒.

[3] ประกาศนามพุทธทาส ใน คำปรารภ เรื่องตามรอยพระอรหันต์ ใน พุทธทาสภิกขุ, ตามรอยพระอรหันต์, อนุรักษ์ต้นฉบับเดิม, ๑๐๐ ปีพุทธทาส (๒๔๔๙-๒๕๔๙), กรุงเทพ : ธรรมทานมูลนิธิและธรรมสภา, ๒๕๔๔. น.๑.

[4] ผู้สนใจ โปรดดูปาฐกถา ๒ ครั้ง ใน สุลักษณ์ ศิวลักษณ์, การสร้างสรรค์สติปัญญาอย่างไทย, ปฐมปาฐกถาปาจารยสาร เนื่องในโอกาส ๘๐ ปีแห่งชีวิตท่านพุทธทาส, พิมพ์ครั้งที่ ๑, โครงการหนังสือพุทธศาสนาสำหรับคนหนุ่มสาวและคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา จัดพิมพ์, กรุงเทพ : บริษัท สยามสมัย จำกัด, ๒๕๒๙ และใน แนวคิดทางปรัชญาไทย, พิมพ์ครั้งที่ ๑, คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา จัดพิมพ์, กรุงเทพ : ส่องศยาม, ๒๕๓๒. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวข้อ ๕. น.๓๘-๔๓. ในทัศนะของผู้เขียน เพียงแต่พินิจข้อวิเคราะห์ต่อปัญหาการให้คำอธิบายเกี่ยวกับหลักธรรม “ปฏิจจสมุปบาท” ของอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งนิกายเถรวาทเพียงประเด็นเดียวก็ชี้ให้เห็นถึงสถานะและความสำคัญของพระมหาเงื่อมได้อย่างชัดเจนยิ่ง ผู้สนใจประเด็นนี้ โปรดดู พุทธทาสภิกขุ, โอสาเรตัพพธรรม, ธรรมโฆษณ์ เล่มที่ ๑๓ ก., คําบรรยายประจำวันเสาร์ ในสวนโมกขพลาราม ภาควิสาขบูชา ประจำปี ๒๕๑๔, พิมพ์ครั้งที่ ๓, ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๓๘. น.๓๔๔-๔๓๑ หรือใน กองตำราคณะธรรมทาน, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์, พิมพ์ครั้งที่ ๓, คณะธรรมทาน ไชยา, ๒๕๓๓. น.[๒๗] – [๑๑๔].

[5] พระมหาเงื่อมเคยแสดงความรู้สึกต่อขนบการเรียนภาษาบาลี เมื่อครั้งเขียนจดหมายลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๘๐ ถึงสามเณรกรุณา (อาจารย์กรุณา กุศลาศัย) มีความตอนหนึ่งว่า “... สำหรับภาษาบาลียิ่งร้ายกาจใหญ่ ควรจะเรียนกันตั้ง ๑๐-๑๒ ปี ผมเรียนในโรงเรียนเพียง ๖-๗ เดือน เรียนกับท่านอาจารย์ของตัวเองในกุฏิราว ๑ ปี แล้วไปขอสมัครสอบ ก็สอบได้เป็นเปรียญตรี (๓ ประโยค) เบื่อเต็มทน ปีต่อมาไปขอสมัครสอบเฉย ๆ ตก ๔ ประโยค หยุดเสียชั่วคราว เพิ่งจับเรียนด้วยตนเองอีกเมื่อปี ๒๔๗๕ เรื่อยๆ มาจนกระทั่งบัดนี้ ...” ใน กรุณา กุศลาสัย รวบรวม, พุทธทาสรำลึก : ลิขิตท่านพุทธทาสถึงน้องชายโดยธรรม “กรุณา กุศลาสัย”, กรุงเทพ : แม่คำผาง, ๒๕๓๖, น.๗๓. (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ) ภายหลังต่อมา ได้ให้สัมภาษณ์ขยายความในเรื่องการเรียนภาษาบาลีอีกครั้ง ใน พระประชา ปสนฺนธมฺโม, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา, อ้างแล้ว, น.๗๑-๗๙. อนึ่ง ในประเด็นขนบการเรียนภาษาบาลีดังที่เป็นอยู่นี้ เสฐียรพงษ์ วรรณปก (ในขณะที่ยังเป็น พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณฺณวณฺโณ) เคยให้ข้อวิจารณ์เปรียบเทียบกับวิธีการเรียนภาษาบาลีในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ท่านเองเคยมีประสบการณ์ มีความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าเคยมีโอกาสไปศึกษาวิธีการสอนภาษาบาลีที่ประเทศตะวันตก ... รู้สึกว่าทางตะวันตกเขาประยุกต์วิธีเรียนภาษาตะวันออกโบราณโดยเฉพาะภาษาบาลีได้ผลเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ แทนที่เขาจะเรียนไวยากรณ์ให้จบหมดก่อน แล้วจึงเรียนแปลตำราดังที่เมืองเราปฏิบัติกัน ... วิธีการ [เรียนภาษาบาลีของประเทศตะวันตกที่ละข้อความไว้ - ผู้เขียนบทความ] เช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เหมาะสำหรับผู้ใหญ่และได้ผลรวดเร็วดี วิธีเรียนโดยท่องไวยากรณ์ให้ได้หมดก่อน แล้วค่อยเรียนแปลนั้น อาจเหมาะสำหรับสมัยก่อนซึ่งบัดนี้ควรยกเลิกได้แล้ว เพราะนอกจากจะเปลืองเวลาโดยใช่เหตุแล้ว ยังทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่า ไวยากรณ์กับตำราไม่สัมพันธ์กัน ...” ให้ดู พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณฺณวณฺโณ, คำนิยมในการพิมพ์ครั้งที่ ๑ (๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕), ใน ประดิษฐ์ บุณยะภักดี, คู่มือเรียนภาษาบาลีด้วยตนเอง, พิมพ์ครั้งที่ ๔, กรุงเทพ : บริษัท ประยูรวงศ์พริ้นท์ติ้ง จำกัด, ๒๕๓๘, น. (๙)-(๑๐). (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ)

[6] พระมหาเงื่อมเคยอธิบายในประเด็นนี้ในภายหลัง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเสมือนการสรุปสภาพของคณะสงฆ์ในเวลานั้น กล่าวคือ “ ... พระทั้งหลายสนใจเรื่องสังคมมากกว่า สังคมกับคนรวย ไม่ได้สนใจเรื่องธรรมะธัมโม เรื่องการศึกษา ความก้าวหน้า เว้นไว้แต่มันจะให้ผลเป็นลาภสักการะ เรียกว่าตกอยู่ในยุคมัวเมาลาภสักการะ ... มีลาภสักการะเป็นเบื้องหน้า เป็นวัตถุประสงค์ ถึงแม้จะสนใจเรื่องการศึกษาเรื่องอะไร ก็มุ่งลาภสักการะเป็นอานิสงส์ และมันยากมากที่จะมีจิตใจบริสุทธิ์เพื่อพระศาสนาให้ถูกต้องถาวร ... ในสังยุตตนิกายมีหลายสิบเรื่องที่แสดงตัวอย่างของพระที่เมาลาภแล้วก็เสียหายมากมาย ย้ำทุกคำว่า มันเป็นอันตรายแก่โยคักเขมธรรม คือลาภสักการะและเสียงเยินยอเป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรม เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ แต่ไม่มีใครฟัง ...” ใน พระประชา ปสนฺนธมฺโม, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา, อ้างแล้ว, น.๘๒-๘๓. (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ)

[7] แรงบันดาลใจของพระมหาเงื่อมในเรื่องนี้ (แท้จริงแล้ว หากกล่าวในแง่ข้อธรรมก็คือ “ตถาคตโพธิศรัทธา” นั่นเอง) ปรากฏชัดเจนและหมดจดใน “คำปรารภ เรื่องตามรอยพระอรหันต์” ปกรณ์ชิ้นนี้นอกเหนือจากเป็นการประกาศนามพุทธทาสภิกขุและกิจการของสวนโมกขพลารามอย่างเป็นทางการแล้ว ในความเห็นของผู้เขียน อาจเทียบได้ประดุจการจุดประทีปแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการทางธรรมในสยามประเทศไปด้วยในตัว ผู้สนใจควรดูใน พุทธทาสภิกขุ, ตามรอยพระอรหันต์, อ้างแล้ว, น.๓-๒๕.

[8] เช่น “... เพราะความที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการบังคับตัวเอง โดยมีเหตุผลเพียงพอแก่ตนเอง จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘ศาสนาแห่งเหตุผล’ ด้วย” ใน พุทธทาสภิกขุ, พุทธศาสนา – ศาสนาแห่งการบังคับตัวเอง, ชุมนุมเรื่องสั้น, อนุรักษ์ต้นฉบับของธรรมทานมูลนิธิ ๑๐๐ ปีพุทธทาส (๒๔๔๙-๒๕๔๙), กรุงเทพ : ธรรมทานมูลนิธิและธรรมสภา, ๒๕๔๔ : ๑๗. (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ) และลักษณะประการหนึ่งของพุทธศาสนา ได้แก่ “ข้อที่ ๑๓ พุทธศาสนามีหลักเกณฑ์ หลักการ คำสอน วิถีทางปฏิบัติชนิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับนักวิทยาศาสตร์แห่งโลกปัจจุบัน. ... ศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนาที่มีพระเจ้าเป็นต้นนั้น ไม่อาจจะต่อสู้หรือเผชิญหน้ากับวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาเท่านั้นที่สามารถจะต่อสู้หรือเผชิญหน้ากับนักวิทยาศาสตร์ ... พุทธศาสนามีครบมีพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับนักวิทยาศาสตร์ ... นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกที่รู้จักกันทั่วโลกคือ ไอนสไตน์ ก็พูดอย่างนี้ แล้วความจริงมันก็เป็นอย่างนี้ ... เราจะต้องทำอะไรให้มีเหตุผล ที่จะเผชิญหน้ากับผู้มีเหตุผลคือ นักวิทยาศาสตร์ แล้วพุทธศาสนาก็สามารถที่จะทำได้อย่างนั้น” ใน พุทธทาสภิกขุ, ลักษณะ ๘๐ ประการของพุทธศาสนา (มารู้จักพุทธศาสนากันให้ยิ่งกว่าที่แล้วมา). กรุงเทพ :  อตัมมโย, ม.ป.ป., น.๓๑-๓๓. (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ) และในคำกล่าวปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ปฏิญญาข้อแรกในจำนวนทั้งหมด ๗ ข้อ ได้แก่ “พุทธมามกะเชื่อโดยตรงต่อเหตุผลและด้วยความเป็นผู้อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล ข้อนี้ย่อมทำให้ความเชื่อของฉันมีพอเหมาะพอสม ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และเคียงคู่กันไปกับปัญญา พุทธมามกะถือกันเป็นแบบฉบับว่า การเชื่องมงายเป็นสิ่งที่น่าอับอายอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นจุดรวมแห่งความนับถือของพุทธมามกะนั้น เป็นผู้ที่รู้และดำเนินไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผล จึงเป็นผู้กำจัดความงมงายของโลก .... ทั้งหมดนี้ คือความเชื่อ ๗ ประการของพุทธมามกะ พุทธทาสภิกขุ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๙๘” ใน กองทุนอริยมรรค, กฎบัตรและวินัยชาวพุทธกับชีวิตที่สมบูรณ์ : รวบรวมข้อธรรมและธรรมบรรยายของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพ : บริษัท ธรรมสาร จำกัด , ๒๕๕๐, น.๑๘๗.” (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ) นี่ยังไม่นับรวมหลักธรรมที่เป็นหัวใจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่พระมหาเงื่อมศึกษาค้นคว้าและนำมาเน้นย้ำ ได้แก่ อิทัปปัจจยตา ผู้สนใจโปรดดู พุทธทาสภิกขุ, อิทัปปัจจยตา, ธรรมโฆษณ์ เล่มที่ ๑๒, คําบรรยายประจำวันเสาร์ ในสวนโมกขพลาราม ภาคมาฆบูชา ประจําปี ๒๕๑๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑, ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๑๖. ๕๒๘ หน้า. และควรดูประกอบ กองตำราคณะธรรมทาน, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์, อ้างแล้ว.

[9] ในทางปรัชญาและศาสนาโดยทั่วไปแล้ว มนุษย์หาใช่ “ความเป็น (being)” เพียงประเภทเดียวไม่ โลกแห่งความเป็นประเภทอื่นๆ นอกเหนือไปจากมนุษย์ เช่น พระเจ้า ซาตาน เทวดา หรืออาตมัน ปรมาตมัน หรือสัตว์นรก ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย เหล่านี้ก็ปรากฏมีอยู่ควบคู่กับมนุษย์ตามแต่คติของแต่ละศาสนาด้วย  

[10] โปรดดูรายละเอียดใน  เพ็ชรี สุมิตร และคณะ, อารยธรรมตะวันตก, พิมพ์ครั้งที่ ๒ แก้ไขเพิ่มเติม, กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๙, ๓๑๒ หน้า และ คณะกรรมการวิชามรดกอารยธรรมโลก ศูนย์วิชาบูรณาการ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป, กุลวดี มกราภิรมย์ สุภัทรา นีลวัชระ วรรณพิณ บรรณาธิการ, มรดกอารยธรรมโลก, พิมพ์ครั้งที่ ๔, กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๕๓, ๓๒๖ หน้า.

[11] ในฐานะผู้สอนวิชากฎหมาย ผู้เขียนมักชี้ให้เห็นตัวอย่างทัศนคติประการหนึ่งของสังคมไทยที่เคยมีมาแต่เดิมซึ่งเมื่อปะทะกันเข้ากับกฎเกณฑ์และเจตนารมณ์ของระบบกฎหมายสมัยใหม่ ดูจะก่อให้เกิดพฤติกรรมบางประการที่น่าสนใจยิ่ง เช่น เมื่อนาย ก ประสงค์จะนำรถยนต์ของตนไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถ สิ่งที่นาย ก (หรือคนไทยส่วนใหญ่ก็ว่าได้) จะทำคือ แทนที่ตนเองจะสามารถตัดสินใจนำรถเข้ารับการซ่อมที่อู่ซ่อมรถแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ เพราะถ้าหากมีความเสียหายเกิดขึ้นในภายหลังจากการซ่อมแซมรถ นาย ก ก็สามารถเรียกร้องตามสิทธิที่ตนมีอยู่ในทางกฎหมายต่ออู่ซ่อมรถยนต์ได้ตามปกติอยู่แล้ว แต่นาย ก กลับประสงค์จะสอบถามญาติสนิทหรือมิตรสหายเสียก่อนว่า ร้านที่ตนประสงค์จะนำรถไปซ่อมนั้นมีใคร ‘รู้จักกับเจ้าของร้าน’ นั้นบ้างหรือไม่

คำถามในที่นี้คือ เพราะเหตุใด นาย ก จึงไม่เชื่อมั่นในระบบและกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เป็นทางการซึ่งก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ รวมถึงมาตรการในการเยียวยากรณีเกิดความเสียหายในภายหลังจากการซ่อมแซมรถยนต์ แต่นาย ก ออกจะเชื่อถือในอู่ซ่อมรถมากขึ้น หากมีคนที่ใกล้ชิดรู้จักกันเป็นการส่วนตัวกับเจ้าของร้านดังกล่าว ทั้งที่การมีญาติสนิทหรือมิตรสหายรู้จักกันเป็นการส่วนตัวกับเจ้าของร้านก็ไม่ได้เป็นการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า อู่ซ่อมรถที่รู้จักกันจะไม่มีทางก่อความเสียหายใด ๆ ให้เกิดขึ้นในระหว่างการซ่อมรถของนาย ก เสียเลย และกรณีหากเกิดปัญหาเช่นนั้นขึ้นจริง ญาติสนิทหรือมิตรสหายที่รู้จักกันกับเจ้าของก็คงไม่ประสงค์จะเข้าเกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งกับข้อพิพาทที่เกิดระหว่างนาย ก และเจ้าของอู่ซ่อมอีกด้วย

ในความเห็นของผู้เขียน นี่คือพฤติกรรมปลีกย่อยในสังคมไทยที่เกิดจากวัฒนธรรมศักดินาหรือระบบอุบถัมภ์ข้างต้นนั่นเอง ในที่นี้คือ เน้นความสัมพันธ์ส่วนบุคคลยิ่งกว่าความสัมพันธ์กันตามกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เป็นทางการ และยังเป็นประเด็นสืบเนื่องไปถึงอีกกรณีหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยทีเดียวในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ยังไม่สามารถจำแนกแยกแยะ “ความขัดแย้งส่วนตัวบุคคล” ออกจาก “ความขัดแย้งที่เป็นทางการ” (เช่น ความเห็นไม่ลงรอยกันในการทำงาน) ได้ด้วยเช่นกัน

[12]เช่นที่กำลังนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน กระทั่งมีการจัดพิธีกรรมขึ้นในวัดเองด้วยก็คือ การบวงสรวงบูชาท้าวเวชสุวรรณ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างในทำนองเดียวกัน เช่น ความนิยมในเหรียญจตุคามรามเทพ เป็นต้น อนึ่ง การตั้งข้อสังเกตของผู้เขียนในที่นี้มิได้ประสงค์จะเหยียดหยามหรือดูถูกความเชื่อส่วนบุคคลในกรณีเหล่านี้แต่อย่างใด เพียงประสงค์จะชี้ให้เห็นว่า สำหรับผู้ที่ประสงค์จะอาจอ้างตนเป็น “พุทธบริษัท” นั้น สิ่งเหล่านี้มิใช่แนวทางที่สอดคล้องกับหลักการแห่งพุทธธรรม