ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

120 ปี ปรีดี พนมยงค์

11
พฤษภาคม
2563

120 ปี ปรีดี พนมยงค์ 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 120 ปี ชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกได้แผ่แสนยานุภาพมาสู่เอเซียใต้และคาบสมุทรอินโดจีนอีกครั้ง หลังจากที่เคยเข้ามาครั้งแรกเมื่อราว 4 ศตวรรษก่อนหน้านั้น การแผ่แสนยานุภาพของชาติมหาอำนาจตะวันตกในยุคนี้ต่างจากยุคแรกตรงที่ไม่เพียงเข้ามาเพื่อล่าอาณานิคมและเผยแพร่ศาสนาเท่านั้น หากยังเข้ามาพร้อมกับลัทธิการค้าเสรี ความก้าวหน้าทางวิทยาการแผนใหม่ และระบบการปกครองแบบปาเลียเมนต์ด้วย 

ราชอาณาจักรสยามหรืออีกนัยหนึ่งประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากการล่าอาณานิคมในช่วงศตวรรษนี้เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย นับตั้งแต่ต้องถูกบังคับให้เข้าสู่ตลาดการค้าเสรีของโลกด้วยการลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่ง พ.ศ. 2398 และตามมาด้วยการสถาปนาระบบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและการสูญเสียดินแดนบางส่วนเพื่อรักษาเอกราชและอิสรภาพของชาติไว้

ผลกระทบดังกล่าวได้ก่อให้เกิดพลวัตขนานใหญ่ในสังคมไทยเพื่อปรับตัวให้เท่าทันและสามารถอยู่รอดได้ในท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของโลก

ในระดับชนชั้นที่มีการศึกษาก็ได้มีการเรียกร้องให้มีปาเลียเมนต์ ได้แก่การเรียกร้องของ เทียนวรรณ และ ก.ส.ร. กุหลาบ ตลอดจนการเรียกร้องของพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ลงพระนามและลงนามในเอกสารกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชวินิจฉัยราชการแผ่นดินไปทุกเรื่อง ไปเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อ ร.ศ. 103 (ตรงกับ พ.ศ. 2428)

 


หนังสือกราบบังคมทูลของ “นักปฏิรูป ร.ศ. 103” ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5

 

ซึ่งต่อมามีผลทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2435 โดยล้มเลิกการบริหารราชการแบบจตุสดมภ์โบราณ มาเป็นระบบกระทรวงทบวงกรมแบบตะวันตก และเพื่อให้ได้คนที่มีความรู้มาช่วยราชการในระบบใหม่ที่ทรงปฏิรูปนี้ ก็ได้ทรงส่งเสริมให้ลูกเจ้านาย ขุนนาง และให้ทุนลูกหลานราษฎรที่เรียนดีไปศึกษาต่อ ในอังกฤษและภาคพื้นยุโรป

แต่พลวัตภายในสังคมไทยมิได้หยุดยั้งเพียงเท่านี้ กล่าวคือ เมื่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยถูกดึงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น กลไกการบริหารการปกครองแบบเก่า ไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมยุคใหม่ได้ ดังบันทึกของพระยาสุริยานุวัติ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้แสดงสถานภาพของชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศในยุคนั้น ดังนี้

"ชาวนาที่ยากจนขัดสนด้วยทุน ต้องออกแรงทำงานแต่ลำพังด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ย่อมจะเห็นปรากฎอยู่ทั่วไปแล้ว ในเวลาที่ทำงานอยู่ เสบียงอาหารและผ้านุ่งห่มไม่พอ ก็ต้องซื้อเชื่อเขา โดยต้องเสียราคาแพง หรือถ้าต้องกู้เงินเขาไปซื้อก็ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างแพงเหมือนกัน เมื่อเกี่ยวข้าวได้ผลแล้ว ไม่มีกำลังและพาหนะพอจะขนไปจากลานนวดข้าวหรือไม่มียุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวไว้ขาย เมื่อเวลาข้าวในตลาดจะขึ้นราคา ก็ต้องจำเป็นขายข้าวเสียแต่เมื่ออยู่ในลานนั้นเอง จะได้ราคาต่ำสักเท่าใดก็ต้องจำใจขาย มิฉะนั้นจะไม่ได้เงินใช้หนี้เขาทันกำหนดสัญญา ต้องเสียเปรียบเพราะมีทุนน้อยเช่นนี้

ที่สุดเมื่อขายข้าวได้สิ้นเชิงแล้ว บางทีก็จะไม่ได้เงินใช้หนี้เขาพอคุ้มค่าสิ่งของ ซึ่งจำเป็นต้องบริโภคในการเลี้ยงชีพแท้ ๆ เมื่อปีหน้าจะทำนาต่อไปก็ต้องเป็นหนี้เขาอีก หนี้ใหม่ทันถม หนี้เก่ามากหนักขึ้นทุกปีไป แรงที่ได้ออกไปโดยความเหน็ดเหนื่อย และความซึ่งต้องทรมาณกาย อุตส่าห์ตากแดดตากฝนทนลำบากมาเป็นหนักหนานั้น ก็ไม่ทำให้เกิดผลเป็นทรัพย์ของตัวขึ้นได้ เท่ากับออกแรงทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นฝ่ายเดียวเป็นแท้ ดูเป็นที่สมเพชนัก"

การที่สภาพเศรษฐกิจของสยามล้าหลังเช่นนี้ก็เพราะอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมอุปภัมภ์แบบเจ้าขุนมูลนาย ราษฎรไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตรแบบดั้งเดิม ด้อยโอกาสในการเรียนรู้และรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ด้วยเหตุนี้ แม้ยุคสมัยจะล่วงเข้าสู่ต้นคริสตศวรรษที่ 20 แล้วก็ตาม ราษฎรไทยก็ยังไม่มีสิทธิมีเสียง หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองหรือแม้แต่ชะตากรรมของราษฎรเอง

สภาวะความล้าหลังทางสังคมดังกล่าวนี้เอง เป็นเหตุให้เกิดการกบฎของกลุ่มปัญญาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อย (หรือกบฎ ร.ศ. 130) ใน พ.ศ. 2454 อันเป็นปีแรกแห่งรัชกาลที่ 6 ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย แม้กบฎ ร.ศ. 130 จะประสบความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้เป็นกรณีแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจในการอภิวัฒน์ให้แก่ราษฎรไทยผู้นิยมประชาธิปไตยทั้งหลาย

ปรีดี พนมยงค์ ถือกำเนิดและเติบโตมาในท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เขาเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 อันเป็นช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ในครอบครัวชาวนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วงชีวิตในวัยเด็ก ช่วยให้ปรีดีได้สัมผัสกับสภาพปัญหาของชาวนา ซึ่งก็คือปัญหาใหญ่ของประเทศในยุคนั้น เขาได้สะท้อนปัญหาที่เห็นในวัยเยาว์ว่า

"เนื่องจากชาวนาต้องประสบภัยธรรมชาติ เช่น โรคพืช, ฝนแล้ง, น้ำท่วมมากเกินไป ป่วย ไข้ทำงานไม่ได้ต้องถูกขโมยลักควาย แต่เจ้าของที่ดินก็ไม่ปราณี คือเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ให้ได้ จึงทำให้ลูกนาอัตคัตขัดสน เจ้าของนาก็ทำการยึดทรัพย์ ตลอดจนข้าวกินข้าวปลูกที่ชาวนาพอมีอยู่บ้างนั้น"

และ "ความอัตคัตขัดสนของชาวนามีอีกมากมายหลายประการที่แสดงว่า ชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่ชาวนาก็มีภาระที่ต้องเสียเงินรัชชูปการ ถ้าไม่มีเงินเสียก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานประมาณปีละ 15-30 วัน และต้องเสียอากรค่านา"

การรับรู้สภาพปัญหาของสังคมไทยนับแต่วัยเยาว์ของปรีดี มิได้เกินความจริง เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานของ ดร.คาร์ล ซี ซิมเมอร์แมน แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับการเชื้อเชิญจากรัฐบาลสยามให้เข้ามาสำรวจเศรษฐกิจในสยาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2473 ดังปรากฎในรายงานตอนหนึ่งว่า

"พ่อค้าคนกลางคิดกำไรจากการกู้หนี้ยืมสินชาวชนบทหลายทาง กระทำให้วิธีการซื้อสินค้าและวิธีขายสินค้าผิดหลักทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยพ่อค้าคนกลางมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกสิกร ผู้รับซื้อข้าวเป็นผู้แบ่งข้าวเปลือกในท้องที่ออกเป็นชั้นต่าง ๆ และตั้งราคาตามชอบใจ ข้อบกพร่องต่าง ๆ เหล่านี้กระทำให้กสิกรรมก้าวหน้าได้อย่างแสนเข็ญ"

เมื่อมีโอกาสเข้ามาศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมายแห่งกระทรวงยุติธรรม ที่กรุงเทพฯ เขายังได้รับรู้ถึงสิ่งที่เรียกว่า "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" ซึ่งอาจารย์ผู้สอนกล่าวถึงบุคคลต่างชาติผู้มีสิทธิพิเศษนอกอำนาจศาลสถิตย์ยุติธรรมของสยาม ความรู้นี้เองทำให้นักเรียนกฎหมายปรีดี เริ่มตระหนักถึงการสูญเสียเอกราชทางการศาลของประเทศ

ประสบการณ์เหล่านี้ เป็นแรงกระตุ้นให้ปรีดีคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศในเวลาต่อมา ปรีดีเคยให้สัมภาษณ์ประสบการณ์ทางสังคมที่เขาได้รับรู้ในวัยเยาว์ว่า

"ผมได้กล่าวแล้วถึงสภาพสังคมไทยที่ผมประสบพบเห็นแก่ตนเองว่าราษฎรได้มีความอัตคัตขัดสนในทางเศรษฐกิจ เพราะไม่มีสิทธิเสรีภาพกับความเสมอภาคในทางการเมือง อีกทั้งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและอำนาจของหลายประเทศทุนนิยม ผมได้มีความคิดก่อนที่ได้มาศึกษาในฝรั่งเศสแล้วว่าจะต้องค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม ว่ามีวิธีใดที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น"

เช่นเดียวกับนักเรียนผู้มีผลการเรียนดีเด่นอื่น ๆ ปรีดีได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อไปศึกษาต่อวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส (ระหว่าง พ.ศ. 2463 - 2470) แต่เขาไม่เคยละทิ้งอุดมการณ์และการรับรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาเศรษฐกิจสังคมของบ้านเกิดเมืองนอน ตรงกันข้าม ประสบการณ์เหล่านั้นกลับเป็นแรงกระตุ้นให้เขามีมานะศึกษาเรียนรู้วิชากฎหมาย รวมทั้งวิชาเศรษฐศาสตร์ชั้นสูงของตะวันตก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงสภาพสังคมไทย

จากการที่ได้เรียนรู้วิชาการของประเทศภาคพื้นยุโรปและอังกฤษนี้เอง ทำให้ปรีดีเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ทั้งนี้เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างชีวิตใหม่และวัฒนธรรมใหม่ให้แก่สังคมไทย ซึ่งจะต้องพัฒนาเข้าสู่สังคมประชาธรรม (Civil Society) ตามวิถีของสังคมนานาอารยะประเทศ ด้วยเหตุว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นรากฐานที่ขาดเสียมิได้สำหรับอารยธรรมของมนุษยชาติในสังคมยุคใหม่

ด้วยแรงบันดาลใจดังกล่าวประกอบกับกระแสความเป็นจริงของสังคมโลกเป็นเหตุผลักดันให้ปรีดีกลายเป็นบุคคลสำคัญในคณะราษฎรที่ได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขามิได้มุ่งหมายเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น หากแสดงเจตนารมณ์และแสดงบทบาทอย่างแจ่มชัดที่จะก้าวไปสู่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา เหนือสิ่งอื่นใด เขาปราถนาที่จะให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาประชาชาติเล็ก ๆ อย่างสยามให้ยืนหยัดอยู่อย่างมีเอกราชและศักดิ์ศรีในทุกด้านท่ามกลางนานาอารยประเทศในประชาคมโลกยุคใหม่

 

 

เจตนารมณ์ ประชาธิปไตยของเขาปรากฎอย่างชัดเจนในหลัก 6 ประการของ "ประกาศคณะราษฎร" ที่เขาเป็นผู้ร่างขึ้นเพื่อใช้เป็นคำแถลงการณ์ ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลัก 6 ประการ มีดังนี้

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทาง เศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

นอกจากเจตนารมณ์ทั้ง 6 ประการนี้แล้ว แนวความคิดที่กล่าวได้ว่าเป็นจุดเด่นของปรีดี และเป็นจุดที่ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดมาจนกระทั้งทุกวันนี้ ก็คือ "เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ" อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า เขาให้ความสำคัญกับการจัดระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้โดยพิจารณาจากคำกล่าวของเขาเองที่ว่า "การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ ไม่ใช้ Coup d' Etat เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ"

เจตนารมณ์ดังกล่าวนี้ ปรีดีได้ตราไว้ในหมวดที่ 1 แห่งเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ที่เขาร่างขึ้นว่า

"ข้าพเจ้าจึงยังคงยืนยันความข้อนี้อยู่เสมอและเห็นว่า ถ้ารัฐบาลได้จัดการโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติให้เหมาะสมแล้ว การหางานให้ราษฎรทุกคนทำใช่เป็นการสุดวิสัยไม่ การบำรุงความสุขสมบูรณ์ขอราษฎรนี้ เป็นจุดประสงค์อันใหญ่ของข้าพเจ้าในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนา ที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งแต่สาระสำคัญคือ “บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” และถือว่ารัฐธรรมนูญเปรียบประดุจกุญแจที่จะไขประตูเปิดช่องให้ราษฎรได้มีส่วนมีเสียงในการปกครอง ให้จัดถูกต้องตามความต้องการของตน และเมื่อประตูที่กีดกั้นอยู่ได้เปิดออกแล้ว รัฐบาลก็จะต้องนำราษฎรผ่านประตูนั้นเข้าไปสู่ชัยภูมิแห่งความสมบูรณ์"

แม้ความคิดในเรื่องการจัดระบบเศรษฐกิจโดยรัฐของปรีดีจะมีจุดอ่อนให้วิพากษ์ อย่างไรก็ตาม แต่แท้ที่จริงแล้วเค้าโครงเศรษฐกิจฯของเขานั้น เป็นเค้าโครงการปฏิวัติสังคมด้วย บุคคลผู้สำเร็จประกาศนียบัตรการศึกษาขั้นสูงในทางเศรษฐกิจ (Diploma d' Etudes Superieures of Economic Politique) เช่นเขา ย่อมต้องตระหนักดีว่าระบบเศรษฐกิจย่อมไม่มีความหมายแต่ประการใด ถ้าหากไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม ดังคำชี้แจงของเขา ในเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ตอนหนึ่งว่า "ผู้อ่านโดยมีอุปทานร้ายมักจะเหมายทันทีว่า การที่รัฐบาลประกอบการเศรษฐกิจเสียเองนี้จะทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์... ข้าพเจ้าได้ระวังมิให้มนุษย์มีสภาพเป็นสัตว์ ข้าพเจ้าประสงค์ให้มนุษย์เป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น ปราศจากการประทุษร้ายต่อกันอันเนื่องมาจากเหตุเศรษฐกิจ"

ปรีดีเป็นนักการเมืองคนแรกที่ริเริ่มแนวความคิดที่จะให้ราษฎรทุกคนได้รับการประกันสังคม (Social Assurance) จากรัฐบาล โดยระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงเศรษฐกิจฯ แต่น่าเสียดายที่ร่างของแนวความคิดดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กว่าประเทศไทยจะยอมรับให้มีนโยบายประกันสังคมให้แก่ประชาชนก็เป็นเวลา 6 ปี หลังจากนั้น (พ.ศ. 2495)

แนวความคิดในเค้าโครงเศรษฐกิจฯ มิใช่เป็นแบบคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นแบบที่ปรีดีกล่าวว่า "โปลิซีของข้าพเจ้านั้นเดินแบบโซเชียลลิสม์ผสมลิเบรัล" ดังจะเห็นได้ว่า ในเค้าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าวมีการรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชนไว้ในหมวด 3 เช่นเดียวกับที่มีในประเทศเสรีนิยมทงเศรษฐกิจทั้งหลาย

แม้เค้าโครงการเศรษฐกิจฯของปรีดี จะไม่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรียุคนั้น และตนเองก็ถูกเนรเทศด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่เค้าโครงการเศรษฐกิจฯของเขา ก็เป็นแบบฉบับของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างเป็นระบบ และความคิดหลายอย่างในเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ดังกล่าวก็ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างได้ผลดี ทั้งในสมัยที่เขาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศและหลังจากนั้น อาทิเช่น การก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย การจัดระบบการเก็บภาษีที่เป็นธรรม (ประมวลรัษฎากร) การปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับระบบการเมืองใหม่ และการประกันสังคมแก่ราษฎรทั่วหน้า ฯลฯ

 

ภารกิจและผลงานของปรีดี พนมยงค์

 


รัฐบาลคณะราษฎรสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลวงพิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2481-88

 

ด้านนิติบัญญัติ และการวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กล่าวได้ว่าปรีดีเป็นผู้นำคณะราษฎร ผู้มีบทบาทมากที่สุดในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ เนื่องจากเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย ซึ่งเป็นปริญญาของรัฐจากมหาวิทยาลัยปารีส เขาจึงให้ความสำคัญกับงานด้านนิติบัญญัติกับการปกครองเป็นพิเศษ นอกจากจะเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎรแล้ว เขายังเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งสยามประเทศ โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พร้อมกันนั้นเขายังเป็นอนุกรรมการผุ้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยามที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครอง โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในที่นี้สมควรบันทึกไว้ด้วยว่า ปรีดีได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนราษฎรสยาม และด้วยตำแหน่งดังกล่าวทำให้เขามีบทบาทด้านนิติบัญญัติในการวางหลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้แก่ราษฎร

ปรีดีเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรก พ.ศ. 2475 เขาเห็นว่า "การเลือกตั้งถือว่าเป็นสารสำคัญในทางการเมือง ในบางประเทศการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญและเราก็เคยมีบทบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (รัฐธรรมนูญฉบับแรก) ดังนี้จึงเห็นว่ากฎหมายการเลือกตั้งไม่ใช่กฎหมายธรรมดา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาเป็นผู้ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกับเพศชาย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งเพศหญิงและเพศชายได้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยทั่วกันในทันที (Universal Suffrage) โดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ในขณะที่ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งก็ได้กำหนดอายุไว้เพียง 23 ปี

น่าสังเกตว่าแม้ประเทศฝรั่งเศสจะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก่อนไทยเป็นเวลาหลายสิบปี ก็เพิ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิ์รับเลือกตั้งและมีสิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรได้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนในอังกฤษซึ่งเป็นประชาธิปไตยมานาน ก็เพิ่งเปิดโอกาสให้สตรีมีสิทธิมีเสียงในทางการเมืองในราวปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) นี่เอง คือก่อนหน้าประเทศไทยเพียง 4 ปีเท่านั้น

ปรีดีสนับสนุนแนวคิดเรื่อง “ศาลปกครอง” และยังเป็นผู้นำเอาวิชา ”กฎหมายปกครอง” (Droit Administratif) มาสอนเป็นคนแรก ณ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ และมีสิทธิในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการอย่างแท้จริง

การที่ปรีดีได้ไปศึกษากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส จึงมีความรู้เรื่ององค์การจัดทำร่างกฎหมายของฝรั่งเศสเป็นอย่างดี องค์การนี้นอกจากทำหน้าที่ร่างกฎหมายแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน และที่สำคัญยังทำหน้าที่เป็น "ศาลปกครอง" พิจารณาข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองกับประชาชนอีกด้วย ดังนี้เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เขาจึงเป็นตัวตั้งตัวตีให้รัฐบาลยกฐานะกรมร่างกฎหมายและสถาปนาขึ้นเป็น "คณะกรรมการกฤษฎีกา" ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายและเป็นที่ปรึกษาของแผ่นดิน ทั้งยังพยายามผลักดันให้ "คณะกรรมการกฤษฎีกา" ทำหน้าที่ "ศาลปกครอง" อีกด้วย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมในขณะนั้น ยังมีอยู่หนาแน่น ความพยายามในการตั้งศาลปกครองของเขาจึงประสบอุปสรรคมาโดยตลอด

เคยมีผู้วิพากษ์ว่า ปรีดีเป็นผู้นิยมรัฐเผด็จการของข้าราชการ (Bureaucracy) โดยพิจารณาจากเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ของเขาเพียงด้านเดียว แนวความคิดในเรื่อง "ศาลปกครอง" ของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาต้องการให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ และมีสิทธิในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการอย่างแท้จริง ปรีดีสนับสนุนแนวคิดศาลปกครองมาตั้งแต่ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยได้แสดงความเห็นไว้ใน "คำอธิบายกฎหมายการปกครอง" ทำนองสนับสนุนให้มีศาลปกครองขึ้นในประเทศไทยว่า

"ในบางประเทศ เช่น ในประเทศคอนติเนนท์ยุโรป มีอาทิ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ และในประเทศญี่ปุ่น ได้มีศาลปกครองตั้งขึ้นแยกจากศาลยุติธรรมเพื่อวินิจฉัยคดีการปกครอง แต่ในประเทศสยามมิได้มีศาลปกครองเช่นว่านั้น เหตุฉะนั้น ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครอง จึงมีทางที่จะฟ้องหรือร้องทุกข์ได้เพียงจำกัด"

สำหรับปรีดีแล้ว หากยังไม่สถาปนาศาลปกครองขึ้นในระบบตุลาการแล้ว ตราบนั้นสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของราษฎรในระบอบประชาธิปไตยก็ยังไม่ปรากฎจริงในทางปฏิบัติ

 


นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งตรวจราชการภาคใต้ และเยี่ยมราษฎร จังหวัดตรัง พ.ศ. 2479

 

ด้านการกระจายอำนาจการปกครอง

เพื่อให้รูปแบบและระเบียบการบริหารราชการของประเทศดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นเช่นเดียวกับประเทศในระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหาร แห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เขาได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า

"ก็เพื่อต้องการจัดรูปงานให้เข้าลักษณะการปกครองอย่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อจะให้การบริหารราชการแผ่นดินรวบรัดและเร็วยิ่งขึ้น

...การต่อไปเราจะจัดรูปราชการให้เข้าลักษณะการปกครอง ดังที่เขานิยมใช้กันในประเทศต่าง ๆ คือ เราจัดเป็นส่วนกลางเป็นภูมิภาคและเป็นท้องถิ่น"

นายปรีดีฯ ยังชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการบริหารส่วนท้องถิ่นของยุคใหม่กับยุคเก่าว่า

"ในครั้งแต่ก่อน เมื่อยังไม่มีพระราชบัญญัติธรรมนูญราชการฝ่ายพลเรือนหรือพระราชบัญญัติใหม่ฉบับนี้ ราชการบริหารก็ได้มีการแบ่งแยกไปไว้ในท้องถิ่นแล้วเหมือนกัน แต่การแบ่งนั้น ได้กระทำไปโดยที่ครั้งกระนั้นเราประสงค์ที่จะควบคุมอำนาจในท้องถิ่นและในส่วนภูมิภาคให้ยิ่งไปกว่าในเวลานี้ แต่ในเวลานี้เราได้มีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญแล้ว การแบ่งราชการบริหารไปไว้ในส่วนภูมิภาคหรือแยกราชการบริหารให้ท้องถิ่นจัดทำเอง ย่อมจะนำมาซึ่งผลดีแก่ราชการ"

นายปรีดีฯ ได้อธิบายร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองเทศบาลว่า

"เราจะได้ยกตำบลทุก ๆ ตำบลให้มีสภาพเป็นเทศบาลขึ้น มีการปกครองท้องถิ่น คือ อาจมีสภาเทศบาล ซึ่งจำลองสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนึ่งและอาจจะมีคณะเทศมนตรี ซึ่งจำลองมาจากคณะรัฐมนตรี อีกอย่างหนึ่ง เพื่อทำราชการอันเป็นส่วนท้องถิ่น .....และทางเทศบาลต่าง ๆ ในจังหวัดอาจรวมกัน ตั้งเป็นสหการ เพื่อประกอบกิจการท้องถิ่นอันร่วมกัน โดยวิธีนี้ราษฎรในท้องถิ่นจะได้ทำประโยชน์ แต่บ้านเมืองของตนได้เต็มกำลัง และนอกจากนั้นการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งท่านทั้งหลายประสงค์ช่วยกันปลูกปักให้มั่นคงก็จะได้แผ่ไปทั่วราชอาณาจักร ราษฎรจะได้รู้สึกเห็นการปกครองชนิดนี้ทางสภาเทศบาลและทางคณะเทศมนตรีในท้องถิ่นนันเอง"

ในฐานะนักกฎหมาย ปรีดีเข้าใจดีว่างานด้านนิติบัญญัติเป็นการวางโครงการสร้างส่วนบนของรัฐาธิปัตย์ แต่ในฐานะนักปกครอง นักบริหาร เขาตระหนักดีว่าจะต้องลงมือปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของตัวบทกฎหมายนั้น ดังนั้นเขาจึงเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เพื่อดำเนินการกิจการแต่ละด้านให้บรรลุวัตถุประสงค์ขั้นพื้นฐานดังกล่าว

ด้านการปกครอง

ในสมัยนั้นกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงใหญ่ที่สุดที่มีขอบข่ายอำนาจหน้าทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา และการสาธารณสุขทั่วประเทศ ปรีดีได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้เป็นแห่งแรก (ระหว่าง 29 มีนาคม พ.ศ. 2477 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478)

ทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่ง เขาได้ทำการจัดตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักรสยาม ตาม พ.ร.บ. เทศบาลซึ่งเขาเป็นผู้ร่างให้รัฐบาลเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การปกครองทัองถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ปรีดีได้แสดงความมุ่งมั่นในการขยายเทศบาลว่า

"เราต้องการขยายเทศบาลนั้นไปทั่วพระราชอาณาจักร ไม่ใช่จะหยิบยกแต่จังหวัดสำคัญๆ เหมือนดังพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลหัวเมืองแต่ก่อนไม่ ทั้งนี้โดยดำเนินคล้าย ๆ กับในหลายประเทศที่เขาปฏิบัติเช่นนี้ เช่น ฝรั่งเศสก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี ก็ได้ยกสภาพของตำบลนั้นให้เป็นเทศบาล"

ที่สำคัญคือการปกครองแบบเทศบาลตาม พ.ร.บ.เทศบาลที่ปรีดีร่างขึ้นนั้น ได้ยกเทศบาลตำบลให้มีฐานะเป็นทบวงการเมือง ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคล เทศบาลตำบลจัดระเบียบการปกครองเป็น 2 ส่วนคือ

  1. สภาเทศบาลตำบลเป็นองค์การนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ตราเทศบัญญัติ
  2. คณะมนตรีตำบลเป็นองค์การบริหาร มีอำนาจหน้าที่บริหารการให้เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งสภาตำบลรับรองแล้ว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การปกครองระบบเทศบาลคือการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นอย่างมั่นคง และเป็นการจำลองการปกครองในระดับประเทศมาสู่ระดับท้องถิ่นทุกตำบล

 

 

ด้านการศึกษา

เพื่อให้ดำเนินตามปณิธานข้อสุดท้ายของหลัก 6 ประการที่ว่า รัฐบาลจะให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร และเพื่อเป็นการเผยแพร่ปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยในหมู่ประชาชน ปรีดีได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ด้วยเห็นว่าในขณะนั้น สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่ มิได้เปิดกว้างเพื่อชนส่วนใหญ่ และมิได้เตรียมสร้างคนเพื่อรองรับระบอบการเมืองใหม่

ดังนั้นมหาวิทยาลัยใหม่ตามแนวความคิดของเขา จึงเป็นมหาวิทยาลัยของราษฎรที่เปิดกว้าง เป็นตลาดวิชา ให้ความรู้ทางด้านวิชากฎหมาย วิชาเศรษฐกิจ และวิชาอื่น ๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ที่ปรีดีเป็นผู้ร่างแล้ว กิจการของมหาวิทยาลัยได้ดำเนินไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ภายใต้การอำนวยการของปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การคนแรก

ที่สำคัญก็คือปรีดีได้ดำเนินการให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ เป็นสถาบันที่มีเสรีภาพทางวิชาการและเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐอย่างแท้จริง กล่าวคือนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และดำเนินกิจการ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มิได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด หากอาศัยเงินที่มาจากค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาทั่วราชอาณาจักรและดอกผลที่ได้มาจากธนาคารแห่งเอเซียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้ง โดยให้มหาวิทยาลัยถือหุ้นอยู่ถึง 80%

ในช่วงที่ปรีดีเป็นผู้ประศาสตร์การอยู่นั้น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และผลผลิตของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของสยาม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามและต่อสู้เพื่อสันติภาพ โดยที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ขององค์การกู้ชาติเสรีไทย ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างก็เป็นพลพรรคของขบวนการนี้ด้วย

ภายหลังจากที่ปรีดีถูกทำให้พ้นจากตำแหน่งผู้ประศาสน์การและออกจากวงการเมืองไทยแล้ว รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเสียใหม่ โดยตัดคำว่า "การเมือง" ออกเพื่อมิให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งยังทำการขายหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัยจนไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล แต่กระนั้นจิตวิญญาณประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ยังไม่สูญสิ้น สาธารณชนย่อมเป็นประจักษ์พยานได้ดีว่า นักศึกษา คณาจารย์ และเหล่าบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงมีบทบาทโดดเด่นในการต่อสู้กับเผด็จการทุกยุคทุกสมัย และเป็นแนวหน้าในการรณรงค์ให้ระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงสถาปนาขึ้นมาในประเทศนี้ 

 

 

ด้านการต่างประเทศ

ความมุ่งมั่นสำคัญที่สุดประการหนึ่งของปรีดีในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือ หลักการข้อแรกในหลัก 6 ประการซึ่งได้แก่ “หลักเอกราช” กล่าวคือจะต้องจัดการเรียกร้องเอาอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาให้ได้ทั้งในการเมือง การศาล และเศรษฐกิจ โดยจะปลดเปลื้องข้อผูกพันอันเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของชาติ ดังนั้นเมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ปรีดีได้ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ระหว่าง 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2481) เพื่อปฏิบัติภารกิจอันมีความสำคัญต่อประเทศสยามอย่างยิ่งยวด นั้นคือ เป็นผู้นำในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่รัฐบาลสยามสนัยสมบูรณาญาสิทธิราชได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ ในนามของสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์ และการเดินเรือ เป็นจำนวน 12 ประเทศ ตามลำดับดังต่อไปนี้

  1. สหรัฐอเมริกา  พ.ศ. 2463 (ค.ศ.1920) 
  2. ญี่ปุ่น  พ.ศ. 2466 (ค.ศ.1924) 
  3. ฝรั่งเศส  พ.ศ. 2467 (ค.ศ.1925) 
  4. เนเธอร์แลนด์  พ.ศ. 2468 (ค.ศ.1925) 
  5. อังกฤษ  พ.ศ. 2468 (ค.ศ.1925) 
  6. สเปญ  พ.ศ. 2468 (ค.ศ.1925) 
  7. โปรตุเกส  พ.ศ. 2468 (ค.ศ.1925) 
  8. เดนมาร์ก  พ.ศ. 2468 (ค.ศ.1925) 
  9. สวีเดน  พ.ศ. 2468 (ค.ศ.1925) 
  10. อิตาลี  พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1926) 
  11. เบลโก - ลุกเซมเบอร์ก (เบลเยี่ยม)  พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1926) 
  12. นอร์เวย์  พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1926) 

หลักการใหญ่ ๆ ที่ต้องแก้ไขในสนธิสัญญาไม่เสมอภาคมี 2 ประเด็น คือ

1. ลัทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritorialiry) คือคนในบังคับของต่างประเทศไม่ต้อง ขึ้นต่อศาลสยาม ทำให้สยามสูญเสียเอกราชในทางศาล

2. ภาษีร้อยฃัก 3 รัฐบาลสยามสามารถเรียกเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงไม่เกินร้อยละ 3 เท่า นั้น ทำให้สยามขาดรายได้เข้าประเทศที่ควรจะได้ นับเป็นการสูญเสียเอกสารในทางเศรษฐกิจ

ปรีดีได้ใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศคู่สัญญาเหล่านั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์นั้นให้ประเทศเหล่านั้นพิจารณา เขาได้ใช้ความอุตสาหะพยายามเจรจาโดยอาศัยหลัก "ดุลยภาคแห่งอำนาจ" จนประเทศนั้น ๆ ยอมทำสนธิสัญญาใหม่ที่สยามได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ทั้งในทางการเมือง ในทางศาล และในทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ปรีดียังเจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้โอนดินแดนของสยามส่วนหนึ่ง ที่อังกฤษได้ไปจากสยามตามสนธิสัญญาฉบับปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ ค.ศ. 1868 (สมัยรัชกาลที่ 4) ที่ปากน้ำจั่นระหว่างจังหวัดระนองกับวิคตอเรียพอยท์ของอังกฤษซึ่งมีดินงอกทางฝั่งไทย และอีกแห่งหนึ่งที่มีดินแดนริมฝั่งไทยด้านริมแม่น้ำสายจังหวัดเชียงราย รัฐบาลอังกฤษ ได้ตกลงยินยอมให้ดินแดนที่งอกที่ฝั่งไทยนั้นเป็นดินแดนของไทย 

 

 

ด้านการคลัง

แม้ปรีดีจะประสบความล้มเหลวในการทำให้รัฐบาลสยามยอมรับโครงการเศรษฐกิจ ฯ ของเขา แต่เขายังมุ่งมั่นปฏิบัติการกิจเพื่อตอบสนองต่อหลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค และหลักเสรีภาพ ที่ได้ประกาศไว้ในหลัก 6 ประการ

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น ความไม่เสมอภาคทางสังคมประการหนึ่งแสดงออกมา อย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะของการเก็บภาษีอากรที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือรายได้จากภาษีอากรของรัฐศักดินาส่วนใหญ่เก็บจากราษฎรชนชั้นล่างที่เป็นชาวนาซึ่งมีโภคทรัพย์น้อย แทนที่จะจัดเก็บตามความสามารถทางเศรษฐฐานะของบุคคล

เมื่อปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2481- 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484) เขาได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อสร้างความเป็นธรรมในด้านการจัดเก็บภาษีอากร ดังนี้

  1. ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ 
  2. ยกเลิกอากรค่านาซึ่งฃาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินาสูงสุด ที่ถือว่าที่ดินทั้งหลายทั่วราชอาณาจักรเป็นของประมุขของสังคม 
  3. จัดระบบเก็บภาษีอากรที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยโดนสถาปนา "ประมวลรัษฎากร" (Revenue Code) เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรง ผู้ใดมีรายได้มาก็เสียภาษีมาก และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ

งานด้านการคลังที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งปรีดีผลักดันภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ ก็คือ การร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เพื่อให้มีการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของราษฎรอย่างรัดกุมและเกิดประโยฃน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ โดยเขาได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า

"ใช่แต่เท่านั้น ยังมีความสำคัญอีกคือ พระราชบัญญัติงบประมาณ เราได้ดำริจะวางรูปการ ให้แปลกออกไปจาทที่เคยปฏิบัติมาแล้ว แต่ก่อนงบประมาณแผ่นดินสำเร็จได้โดยบทพระราชบัญญัติ 1 มาตราเท่านั้น เช่นกล่าวแต่เพียงว่า รายได้ 72 ล้านบาท รายจ่าย 72 ล้านบาท แล้วนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร ท่านที่เป็นผู้แทนราษฎรก็ไม่มีโอกาสที่จะพิจารณางบประมาณของแผ่นดิน นั้นได้เต็มที่ ว่ารายจ่ายนั้นสมควรเพียงไร เหตุฉะนั้นในการต่อไป พระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีที่จะได้เสนอต่อสภานั้น รัฐบาลคงจะได้เสนอเป็นรูปอีกอย่างหนึ่งคือ จะได้แยกประเภทรายได้ ไว้ในพระราชบัญญัติ และรายต่างก็จะได้แยกออกเป็นกรม ๆ ...คือให้อยู่ในอำนาจควบคุมของสภาผู้แทนราษฎร แทนที่ฝ่ายบริหารจะไปตั้งขึ้นเอง"

กล่าวได้ว่าในช่วงที่ปรีดีเป็นรมต.คลัง แม้จะเป็นช่วงที่ใกล้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็ตาม แต่เสถียรภาพทางการเงินและการคลังของสยาม นับว่ามั่นคงที่สุดยุคหนึ่ง ซึ่งในครั้งนั้นด้วยการเล็งการณ์ไกลของเขา ได้ทำให้เสถียรภาพของเงินบาทมั่นคงมาจนกระทั่งทุกวันนี้ กล่าวคือเมื่อใกล้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดีคาดคะเนว่าเงินปอนด์สเติอร์ลิงค์จะต้องลดค่าลงตามลำดับจึงได้จัดการเอาเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่งซื้อทองคำเป็นจำนวนน้ำหนักประมาณ 1 ล้านเอานซ์ ในราคาเอานซ์ละ 35 เหรียญสหรัฐ และได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลังซึ่งยังคงรักษาไว้เป็นสำรองเงินบาทอยู่จนปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีทองคำจำนวนหนึ่งที่ปรีดีได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นนำมาแลกกับเงินของไทยก่อนที่ญี่ปุ่นจะเปิดฉากสงครามมหาเอเซียบูรพา และยังมีทองคำอีกจำนวนหนึ่งที่ปรีดี ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยได้เรียกร้องต่อรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ว่าก่อนที่จะให้เงินญี่ปุ่นกู้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ต้องเอาทองคำของญี่ปุ่นที่ธนาคารชาติญี่ปุ่นผูกหูกันไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย ซึ่งสัมพันธ์มิตรได้มอบให้รัฐบาลไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความปรีชาสามารถของปรีดี เมื่อทำสัญญาใหม่กับนานาประเทศ ให้ยกเลิกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ของต่างชาติ รวมทั้งสิทธิผูกขาดการทำบุหรี่ด้วยนั้น เมื่อเขาย้ายไปดำรงตำแหน่ง รมต.คลัง ก็ได้ทำการโอนโรงงานยาสูบของบริษัทอังกฤษอเมริกันมาเป็นของรัฐบาลไทย สำเร็จก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกเข้าประเทศไทย มิฉะนั้นญี่ปุ่นผู้รุกรานก็คงยึดเอาไปเป็นทรัพย์สินเชลยของญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยขาดรายได้มหาศาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากนั้น

 

 

ภารกิจกู้ชาติและสร้างสันติภาพโลก

บทบาทที่โดดเด่นของนายปรีดีฯ ซึ่งไม่เพียงทำให้เขาเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ในฐานะรัฐบุรุษผู้กู้ชาติบ้านเมืองแล้ว แต่ยังทำให้เขาเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ในฐานะนักสันติภาพของโลกด้วย

ในช่วงที่ปรีดีเป็น รมต.มหาดไทย (พ.ศ. 2478 - 2479) และได้เดินทางไปยุโรป เพื่อเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่รัฐบาลครั้งรัชกาลที่ 6 ได้ทำไว้ กับทั้งทาบทามรัฐบาลต่างประเทศที่จะขอแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคนั้น เขาได้เล็งเห็นแต่ครั้งนั้นแล้วว่ามหาสงครามกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า และครั้งนี้จะต้องกระทบกระเทือนมาถึงสยามยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งแรกอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อครั้งคืนสู่สยาม เขาจึงเตรียมการณ์หลาย ๆ ด้านเพื่อเตรียมรับสถานการณ์สงครามโลกที่จะเกิดขึ้น ประการแรกสุดเขาได้ผลักดันให้มีประกาศ ”พระราชบัญญัติพระบรมราชโองการปฏิบัติความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482” เนื้อหาสาระคือ ให้ข้าราชการ อาณาประชาราษฎรไทยและบรรดาบุคคลซึ่งมีถิ่นฐานในประเทศไทยปฏิบัติความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและเที่ยงธรรม

ในช่วงที่ปรีดีเป็นรมต.คลัง เขาได้อำนวยการสร้างภาพยนต์เรื่องพรเจ้าช้างเผือก (The King of the White Elephant) จากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ฉบับภาษาอังกฤษที่เขาประพันธ์ขึ้นเอง ผู้แสดงในภาพยนต์เรื่องนี้เป็นอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นภาพยนต์ไทยเสียงภาษาอังกฤษในฟิล์มเรื่องแรก ที้งนี้เขาต้องการจะสื่อทัศนะสันติภาพของเขาให้แพร่ในหมู่ปัญญาชน และนานาประเทศ โดยแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดด้วยพุทธภาษิตที่ปรากฎในภาพยนต์ที่ว่า "นตถิ สนติ ปรสุข" ไม่มีความสุขใดจะยิ่งกว่าสันติภาพ ยิ่งไปกว่านั้นเขายังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อต่อด้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี

ทันทีที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย ปรีดีก็ได้แสดงจุยืนของเขาให้ปรากฎ โดยเป็นผู้นำก่อตั้งองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน ในขณะที่ผู้นำเผด็จการทหารของไทยเวลานั้น เข้าร่วมกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อันเป็นการและเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการปฏิบัติความเป็นกลาง พ.ศ. 2482

ปรีดีในฐานะของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทำการประสานความสมัครสมานสามัคคีของคนไทยทุกฝ่ายทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ นับตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พลเรือน นิสิตนักศึกษา ปัญญาชน กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา ทำงานกู้ชาติ บ้านเมืองในนามของ ขบวนการเสรีไทย เพื่อร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการยุติสงคราม จนในที่สุด สัมพันธมิตรโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้รับรองว่า ปรีดีเป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อของรัฐบาลแห่งประเทศไทยตามที่เป็นอยู่ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น (จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม) จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก และยังถือว่าประเทศไทยเป็นรัฐเอกราชที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองด้วยกำลังทหารญี่ปุ่น

ภารกิจที่ขบวนการเสรีไทยช่วยเหลือสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามคือการหาข่าวกรอง ช่วยเหลือเชลยสัมพันธมิตร ที่สำคัญคือสร้างสมกำลังผู้รักชาติก่อตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธใต้ดิน เตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติการโจมตีญี่ปุ่นผู้รุกราน ภายใต้แผนยุทธการเดียวกันกับกองกำลังสัมพันธมิตรภาคพื้นเอเซียอาคเนย์

ในวันที่ญี่ปุ่นยอมจำนวนต่อสัมพันธมิตร กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้อนุญาตให้ พล.ร.อ.ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพสัมพันธมิตรภาคพื้นเอเซีย อาคเนย์ แนะนำเป็นส่วนตัวมายัง "รูธ" (อันเป็นนามจัดตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย) ให้ประกาศโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนในที่สุดแล้วนั้น บอกปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ทันทีที่ปรีดีได้รับสาส์นของลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตนแล้ว เขาจึงทำการ "ประกาศสันติภาพ" ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2488 ในฐานะของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภายใต้พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัฃกาลที่ 8 สารสำตัญที่ประกาศโดยสรุปคือ ให้ถือว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทยและพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้

ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดีได้ใช้ความรู้ ความสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร ดังเช่นหลายประเทศ และทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ขไสถานะผู้แพ้สงคราม ได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองในยามคับขันนี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” ตำแหน่งนี้ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองอันทรงเกียรติสูงสุด

ในปีสุดท้ายก่อนที่จะสูญเสียอำนาจ ปรีดีได้เริ่มแสดงบทบาทการเมืองระหว่างประเทศก้าวใหม่ ด้วยเล็งเห็นว่า แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม แต่ประเทศในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ยังอยู่ในการปกครองของมหาอำนาจตะวันตก คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พม่า มาลายา สิงค์โปร์ ก็ถูกอังกฤษครอบครอง อินโดนีเซียก็อยู่ในอาณัติของ เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์ก็อยู่ในความดูแลของสหรัฐอเมริกา

บรรดาผู้นำที่รักชาติและประชาชนในรัฐเพื่อนบ้านเหล่านี้ต่างได้เคลื่อนไหวต่อสู้อย่างทรหด เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอธิปไตยแห่งประชาชาติของตน ปรีดีเห็นว่าเป็นความชอบธรรมที่ประชาชาติเล็ก ๆ เหล่านี้จะรวมตัวเพื่อสร้างแนวร่วมต่อรองกับมหาอำนาจ เขาเคยเสนอให้ฝรั่งเศสร่วมกับไทยเป็นผู้อุปภัมภ์ "สหภาพเอเซียตะวันออกเฉียงใต้" ซึ่งจะประกอบด้วย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย โดยเชื่อว่า พม่า มาลายา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียอาจเจ้ามาร่วมด้วยในภายหลัง แต่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปรีดีไม่ยอมล้มเลิกแนวคิดนี้ เขาได้ดำเนินการก่อตั้ง "สันติบาทเอเซียตะวันออกเฉียงใต้" ขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2490 เพื่อเป็น เวทีในการประสานแนวร่วมผู้รักชาติในภูมิภาคนี้ขึ้นมาเป็นพลังต่อรองและเจรจาไกล่เกลี่ยกับมหาอำนาจเพื่อหาลู่ทางที่จะให้มาขึ่งเอกราชอธิปไตยของประเทศในเอเซียอาคเนย์โดยสันติวิธี

แต่ความริเริ่มทางการเมืองระหว่างประเทศมีขึ้นได้เพียงไม่กี่เดือนก็ต้องยุติลง เนื่องจากมีกลุ่มทหาร ใช้กำลังทหารและอาวุธเข้าทำการยึดอำนาจรัฐบาล ถึงแม้ว่าในคราวนี้ปรีดีไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คณะรัฐประหารก็มุ่งหมายที่จะกำจัดเขาโดยตรง ปรีดีจึงจำต้องลี้ภัยรัฐประหารออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

น่าเสียดายที่ "สันนิบาตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้" ต้องล้มเลิกลงกลางคัน เพราะหากแนวคิดนี้ของเขาประสบความสำเร็จ โดยที่มหาอำนาจยินยอมปล่อยให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ตกลงแก่ไขปัญหาของตนเอง อย่างน้อยปัญหาอินโดจีนคงจะยุติลงด้วยวิถีทางที่สันติและเสียเลือดเนื้อน้อยกว่าที่ได้เป็นไปแล้ว ในสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามในกัมพูชา

นับแต่ปี 2490 เป็นต้นมา แม้ปรีดีจะหลุดพ้นจากเวทีการเมืองของประเทศไทยโดยไม่อาจหวนคืนมาอีก แต่ตลอดเวลาที่เขาลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างแดน เขายังมีความกระตือรือร้นในการแสดงบทบาททางความคิดต่อการเมืองภายในประเทศไทย และการเมืองระดับโลก เขาได้พูด และเขียนบทความ หนังสือเป็นอันมาก ที่แสดงทัศนะประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพที่ ต่อต้านเผด็จการทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา เขาคัดค้านการสร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์ คัดค้านการทำ สงครามทุกรูปแบบ และยังเตือนรัฐบาลไทยอยู่เนือง ๆ มิให้ตกเป็นเหยื่อของสงครามโดยตัวแทน (War by Proxy) โดยให้ประเทศไทยยึดถือหลีกความเป็นกลางและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อย่างเคร่งครัด

ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตลอดชีวิตของท่านได้ตั้งใจรับใช้ชาติและประชาชนชาวไทยด้วยสติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความกล้าหาญเสียสละ มิได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแม้แต่น้อย แม้ภารกิจนั้นจะเสื่ยงภยันตรายต่อชีวิตก็ตาม ท่านรับราชการ สนองพระเดชพระคุณจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องไว้ในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” และสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียวจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ ปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นผู้ดำรงชีวิตเรียบง่ายและ ประหยัด มีศรัทธายึดมั่นในหลักศาสนธรรม หลักนิติธรรม หลักมนุษยธรรม ทั้งในการดำรงชีวิต และการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดสันติภาพและสันติสุขในหมู่ประชาชนและในบ้านเมือง

ด้วยผลงานและเกียรติคุณความดีของปรีดี พนมยงค์ อันเป็นที่ประจักษ์ดังได้กล่าวมาแล้ว เพื่อแสดงกตัญญูและกตเวทีต่อผู้กระทำคุณประโยชน์ใก้แก่ประชาชนและประเทศชาติ อันจะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนของชาติที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองต่อไป และเพื่อให้นานาชาติได้ทราบ ถึงคุณงามความดีของคนไทยที่ได้กระทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยและแก่โลก อันควรได้รับการสรรเสริญจึงเห็นสมควรจัดงานฉลองครบรอบ 120 ปี ชาตะกาลให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป