คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะนี้สังคมไทยกำลังอยู่ในห้วงยามของการตั้งคำถาม คำถามที่ทุกคนในสังคมเอ่ยถามร่วมกันว่า “ประเทศไทยนับจากนี้กำลังจะก้าวไปในทิศทางใด” และในอนาคตคำถามดังกล่าวจะนำเราไปสู่ปฐมเหตุของการออกแบบระบอบการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ การแสวงหาคำตอบด้วยวิถีทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และร่วมกันถอดบทเรียนขบวนการเสรีไทยจากอดีตถึงปัจจุบันจึงนับว่าเป็นคำตอบสำคัญของแสงสว่าง ณ สุดสายของปลายอุโมงค์
16 สิงหาคม 2563 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน ครบรอบ 75 ปี วันสันติภาพไทย และรำลึก 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ โดยในช่วง 13.30 น. เป็นต้นไป ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “บทเรียนจากขบวนการเสรีไทยว่าด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ และการอภิวัฒน์สู่สันติ" และตั้งแต่เวลา 14.00 - 17.00 น. เวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “เศรษฐกิจแปรผัน สันติภาพแปรเปลี่ยน: จากขบวนการเสรีไทยสู่ยุคปัจจุบัน”
คำตอบอยู่ที่ความยากลำบากที่พิสูจน์การกระทำอันยิ่งใหญ่
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ในนามประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “บทเรียนจากขบวนการเสรีไทยว่าด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ และการอภิวัฒน์สู่สันติ" เสนอแนวทางให้สังคมไทยเสมือนการที่ทุกคนช่วยกันจุดเทียนแห่งความหวัง เพื่อหลอมรวมเป็นแสงสว่างพิสูจน์การกระทำอันยิ่งใหญ่ ดังเช่นปณิธานของนายปรีดี พนมยงค์ และขบวนการเสรีไทย
“อยากฝากถึงประชาชนทั้งหลายว่า อย่าหลงทางในมหาสมุทรแห่งความสิ้นหวัง ความหลอกลวงและความหวาดกลัว จงมีความหวัง เอาความจริงและความกล้าหาญทางจริยธรรมเข้าสู้ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติธรรมไม่ใช่การต่อสู้วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือปีเดียวจบ มันเป็นสงครามยืดเยื้อที่เราต้องต่อสู้กับพวกเผด็จการและพวกกระหายความรุนแรงและการกดขี่ การต่อสู้อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต อาจต้องสืบทอดให้ลูกหลาน อย่าหวาดกลัวในการแสดงจุดยืนและความเห็นที่ถูกต้องเพื่อพิทักษ์สันติธรรมและเสรีภาพ และเราต้องยอมเข้าสู่ความยากลำบากที่จำเป็น แต่เป็นความยากลำบากที่พิสูจน์การกระทำอันยิ่งใหญ่ เป็นอมตะ เช่นเดียวกับคณะของเสรีไทย เช่นเดียวกับ ผู้ประศาสน์การแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร. ปรีดี พนมยงค์”
(ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ)
ถอดบทเรียนจากขบวนการเสรีไทยสู่สังคมในปัจจุบัน คือ ข้อเสนอประการสำคัญที่ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวสรุปไว้อย่างน่าสนใจ 6 บทเรียน ดังนี้
- บทเรียนข้อที่ 1 ความเป็นเอกภาพและร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ เราจึงฝ่าวิกฤตการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมือง วิกฤติเรื่องเอกราชและวิกฤติจากภาวะสงคราม
- บทเรียนข้อที่ 2 ความกล้าหาญและเสียสละ
- บทเรียนข้อที่ 3 การยึดถือในเรื่องเอกราช ประชาธิปไตย และ ประโยชน์ของมนุษยชาติ (ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น)
- บทเรียนข้อที่ 4 ต้องสร้างเงื่อนไขหรือสภาวะเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่นำไปสู่สงคราม และ ยึดในแนวทางสันติ
- บทเรียนข้อที่ 5 การมียุทธศาสตร์ กุศโลบาย กลยุทธที่ดีและมุ่งผลประโยชน์สาธารณะของผู้นำและกลุ่มชนชั้นนำ
- บทเรียนข้อที่ 6 ขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อ ประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และ ไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้
เศรษฐกิจแปรผัน สันติภาพแปรเปลี่ยน: จากขบวนการเสรีไทยสู่ยุคปัจจุบัน
เวทีเสวนาวิชาการที่หลอมรวมความรู้ความเชี่ยวชาญจากวิทยากรแต่ละท่าน เพื่อให้เกิดการอภิปรายหลากความคิดหลายมุมมองสู่สาธารณชนเป็นวงกว้าง โดยในงานเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร 4 ท่าน คือ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ รศ.ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม และ คุณภัทรภร ภู่ทอง
ปรีดี พนมยงค์ กับสำนักงานธนาคารชาติไทย
ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เปิดเวทีชวนผู้ฟังร่วมตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า ทำไมเวลาเราพูดถึงอาจารย์ปรีดีคนมักนึกถึงแต่ในด้านการเมือง ซึ่งอาจารย์พงศักดิ์ได้ชี้ให้เห็นว่า “อาจารย์ปรีดีมีบทบาทสำคัญอย่างมากในด้านเศรษฐกิจการเงินของประเทศ และเพราะเหตุใดเวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) ชื่อของอาจารย์ปรีดีมักไม่ปรากฏเท่าไหร่”
อาจารย์พงศ์ศักดิ์เริ่มต้นคำอธิบายในช่วงที่การเมืองไทยมาทุกจุดพลิกผัน จากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ โดยเสนอว่า “ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เค้าโครงเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีได้มีการพูดถึงธนาคารชาติไว้หลายตอนเหมือนกัน แต่ว่าตอนนั้นคนไทยยังไม่รู้ว่าธนาคารชาติมันคืออะไร หรือควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไร จนกระทั่งอาจารย์ปรีดีมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี 2481 งานช่วงแรกที่ท่านทำคือการรื้อฟื้นโครงการธนาคารชาติขึ้นมา”
อาจารย์พงศ์ศักดิ์ได้กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญที่โครงการธนาคารชาติในยุคนั้นเผชิญอยู่ 2 เรื่อง คือ
- ข้อขัดแย้งจากที่ปรึกษาการคลังชาวต่างประเทศ (Financial adviser) ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งบทบาทของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่ความเห็น แต่ยังมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายเป็นอย่างมาก สิ่งที่อาจารย์ปรีดีทำก็คือการคานอำนาจกลุ่มคนเหล่านี้
- อิทธิพลของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างชาติในไทย อย่างที่ทราบกันว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ เพราะบทบาทจริง ๆ คือ ธนาคารต่างชาติ หรือที่เรียกว่า “มาเฟียธนาคาร” เช่น พวกธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นธนาคารสัญชาติอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยอย่างมาก ดังนั้น โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ธนาคารพวกนี้ไม่รู้สึกว่าแบงค์ชาติไม่ได้ทำให้ผลประโยชน์ของตนเองลดลง เพราะตอนนั้นบทบาทของแบงค์ชาติยังไม่ชัดว่าคืออะไรและทำหน้าที่อะไร
การดำเนินนโยบายทางการคลังในช่วงปี 2489-2490
รศ.ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) นำเสนอบริบทเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และการดำเนินนโยบายทางการคลังในช่วงปี 2489-2490 โดยเสนอใจความสำคัญหลัก คือ “ความคิดริเริ่มการเสริมสร้างอำนาจทางการคลังของรัฐสภาโดยนายปรีดี พนมยงค์”
“ในช่วงหลังสงครามสิ้นสุดคณะรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งสั้นมาก ไม่สามารถจัดทำงบประมาณฯ ปี 2489 เสนอต่อสภาได้ ซึ่งวิธีปฏิบัติเดิมที่แต่รัฐบาลทำกัน คือ รัฐบาลจ่ายเงินไปก่อนแล้วขออนุมัติต่อสภา โดยเสนอพรบ.งบประมาณเพิ่มเติมในภายหลัง การเช่นนี้จึงเป็นการผูกพันต่อสภา เพราะรัฐบาลจ่ายเงินไปแล้ว อาจารย์ปรีดีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นการไม่เคารพต่อสภา อาจารย์ปรีดีจึงได้เสนอวิธีการใหม่ซึ่งเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก โดยการเสนอร่างพรบ. อนุญาตให้รัฐบาลจ่ายเงินไปพลางก่อนต่อสภาฯ พูดง่าย ๆ คือขออนุญาติสภาก่อนในการจ่ายเงิน ทำให้สภามีบทบาทตรวจสอบความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมก่อนที่จะจ่ายเงินได้ รัฐสภาจึงมีบทบาทในการควบคุมการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ดังนั้น อาจารย์ปรีดีจึงถือว่าเป็นผู้ริเริ่มการเสริมสร้างอำนาจทางการคลังของรัฐสภา”
(รศ.ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ)
และในช่วงท้ายอาจารย์อิสริยายังได้สรุปบทเรียนที่ได้จากการดำเนินนโยบายการคลังในช่วงปี 2489-2490 กล่าวคือ สมัยรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ การใช้จ่ายรัฐบาลต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีวินัยในการใช้จ่าย คำนึงถึงการพัฒนาประเทศระยะยาว และความยั่งยืนทางการคลัง มีการปรับปรุงภาษีที่ต้องคำนึงความเป็นธรรม และความเต็มใจของผู้เสียภาษี สร้างการส่วนร่วมจ่ายเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ
รอยทางของ “Comfort women” และร่องรอย “Comfort stations” ในประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
“เวลาเราเขียนคำว่า “Comfort women” และ “Comfort stations” เราเขียนในเครื่องคำพูด เพราะจริง ๆ แล้วคำพวกนี้มันเป็นคำประเภท Euphemism เพราะเป็นคำที่ลดทอนความหมายที่แท้จริง”
คุณภัทรภร ภู่ทอง (นักวิจัยอิสระ) ที่กำลังศึกษาค้นคว้าเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์สันติภาพ ได้ทุนจาก Asian Public Intellectual Program, Nippon Foundation โดยไปอยู่ที่ College of International Relations, Ritsumeikan University และยังศึกษาเอกสาร “Comfort women” ในเอกสารกองบัญชาการทหารสูงสุดกับ Human Rights Center, Seoul National University คุณภัทรภรเปิดประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “หลายประเทศในเอเชียมีการเคลื่อนไหวหรือตื่นตัวเรื่อง “Comfort Women” มานานแล้ว แต่ในประเทศไทยดูจะช้ามาก ซึ่งจริง ๆ เราเพิ่งจะหันมาสนใจกันก็ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง มันเลยทำให้ร่องรอยของสงครามหรือประจักษ์พยานหลักฐานเริ่มหายไปบ้างแล้วตามกาลเวลา”
ข้อเสนอของคุณภัทรภรคือการพยายามขยายขอบเขตความเข้าใจใหม่ถึงคำว่า “Comfort women” หรือ “Comfort girls” ซึ่งไม่ได้พูดถึงแค่ขอบเขตของคำว่าผู้หญิงผ่อนคลายหรือหญิงบำเรอ แต่กำลังพูดถึงผู้หญิง ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน มีสถานะ มีภูมิหลังแบบไหน ที่เค้าถูกบังคับให้เข้ามาอยู่ในระบบทหารหรือโครงสร้างของการใช้บริการทางการเพศให้กับทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
มุมมองเชิงเปรียบเทียบเมื่อคุณภัทรภรได้ไปศึกษาพยานหลักฐาน (Testimony) ของผู้หญิงเกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย พบว่า ผู้หญิงในประเทศเหล่านี้เผชิญประสบการณ์ความรุนแรงที่เลวร้าย จนถึงขั้นที่อาจใช้คำว่า Sexual slavery แต่ในเอกสารทางการของประเทศไทย โดยเฉพาะบันทึกของทหาร ไม่ได้พูดถึงเรื่องราวของผู้หญิงเหล่านั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่กลับได้เจอร่องรอยของความรุนแรงหรือประสบการณ์ของเหตุการณ์ผ่านคำบอกเล่าของผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ
และคุณภัทรภรได้นำเสนอแนวทางวิพากษ์ระบบโครงสร้างของ “Comfort Women” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ว่า “การที่ไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่เป็นทางการยืนยันเรื่อง “Comfort women” ไม่ได้หมายความว่าความเลวร้ายที่กระทำต่อผู้หญิงหรือการแสวงหาประโยชน์ทางการเพศจากผู้หญิงในระบอบทหารจะไม่มีอยู่จริง ดังนั้น เราจึงควรศึกษาในเชิงวิพากษ์ต่อว่า ในเชิงจิตวิทยาสังคม (Social Psychology) ระบบทหารในช่วงสงครามได้สร้างแรงกดดันหรือส่งอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ของพลเรือนอย่างไรบ้าง"
ประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์คืออดีตที่ถูกทบทวนใหม่โดยคนปัจจุบัน
ในฐานะวิทยากรผู้นำเสนอประเด็นท่านสุดท้าย ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์) กล่าวเปิดประเด็นแรกโดยการขบคิดถึงเนื้อหาการปาฐกถาของท่านทูต ดร.จริยวัฒน์ สันตะบุตร ที่ได้ปาฐกถาในงานช่วงเช้าว่า “การที่ไทยเอาคดีอาชญากรสงครามของจอมพลป.พิบูลสงคราม เข้าไปดำเนินการในศาลไทยแทนที่ศาลระหว่างประเทศ เช่นในญี่ปุ่น เพราะอาจารย์ปรีดีต้องการรักษาความเป็น 'เอกราชของอำนาจอธิปไตยไทย' จึงขอให้ทำในศาลไทยแทน”
ผลคืออย่างที่เรารู้ ๆ กันว่า ศาลพิจารณาว่าลงโทษย้อนหลังไม่ได้ ดังนั้นจึงปล่อยยุติการดำเนินคดี แต่คำอธิบายของดร.จริวัฒน์ว่า เพราะไทยต้องการรัษาความเป็นเอกราช ผลจึงออกมาอย่างนี้ ถามว่า "เป็นผลดีหรือไม่ต่ออนาคตการเมืองไทย" ท่านบอกว่าไม่รู้
ผมเลยนำมาตอบในการอภิปรายบ่ายนี้ว่า "เป็นผลลบที่ไม่ดีอย่างยิ่งต่ออนาคตของฝ่ายเสรีไทยและประชาชน" นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การรัฐประหาร 9 พ.ย. 2490 สำเร็จและนำไปสู่ระบอบพิบูลยุคสอง ซึ่งจบลงด้วยรัฐประหารของสฤษดิ์อีก และตามมาเป็นวงจรอุบาทว์ถึงปัจจุบัน การรัฐประหาร 2490 คณะทหารบกเป็นบรรพบุรุษของ คสช. จอมพลป. สร้างโมเดล "ท่านผู้นำ" สฤษดิ์ต่อ "พ่อขุนอุปถัมภ์" จนตามมาด้วย "ค่านิยม 12 ประการ
ทั้งหมดนี้มาจากการไม่ลงโทษอาชญากรสงครามในแบบมาตรฐานสากล ทำให้พวกนี้ครองอำนาจและใช้อำนาจอย่างเหนือกฎหมายตลอดเวลา มันจึงทำให้เรากลับไปตั้งคำถามกลับได้ว่า ทำไมคนที่ทำเพื่อเอกราชของชาติที่แท้จริง ถึงไม่อาจอยู่ในเมืองไทยได้ วาทกรรมเพื่อเอกราชสู้วาทกรรมรักชาติไม่ได้กระนั้นหรือ”
(ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ)
และในช่วงท้ายอาจารย์ธเนศยังได้ชวนผู้ฟังเปิดมุมมองถึงคุณค่าของนักประวัติศาสตร์ ในฐานะที่ตนเองได้ค้นพบแง่มุมที่น่าสนใจ เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมงานรำลึกครบรอบเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในแต่ละปี ดังเช่นวันที่ 16 สิงหาคม “วันสันติภาพไทย”
“การจัดงานรำลึกครั้งสำคัญอย่างเช่น 16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย มันทำให้เราได้มารับฟังและทบทวนความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ๆ ใหม่ คนมักเข้าใจว่าพวกนักประวัติศาสตร์คือพวกที่ชอบเล่าเรื่องเก่า ซึ่งไม่ใช่ครับ นั่นไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่ก็ยอมรับว่าประวัติศาสตร์คือเรื่องในอดีตจริง เหตุการณ์ในอดีตจะเป็นประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อเรื่องนั้นถูกนำมาทบทวนใหม่หรือเข้าใจใหม่โดยคนปัจจุบัน จนมันกลายเป็นความทรงจำใหม่ของคนยุคปัจจุบัน”
สาระสำคัญข้างต้นคือการชี้ว่า “ประวัติศาสตร์” ในทัศนะของอาจารย์ธเนศคือประวัติศาสตร์ในแบบ “Contemporary History” ซึ่งไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบที่เรียกกันว่า “The Past” หรืออดีตที่หายไปตามเข็มนาฬิกา การเรียนประวัติศาสตร์ในเมืองไทยตามความเห็นของอาจารย์ธเนศจึงถือว่า “ล้มเหลว” เพราะเป็นการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่เน้นการศึกษาแต่อดีต หรือ “The Past” เท่านั้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: