ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

[สรุปประเด็นเสวนา] บทเรียนขบวนการเสรีไทย แนวทางออกแก้วิกฤติการเมือง ไม่ให้ถลำลึก รุนแรง

17
สิงหาคม
2563
[สรุปประเด็นเสวนา] บทเรียนขบวนการเสรีไทย แนวทางออกแก้วิกฤติการเมือง ไม่ให้ถลำลึก รุนแรง
ที่มาภาพ : https://www.thairath.co.th/news/politic/1911533

 

ครบรอบ 75 ปี "วันสันติภาพไทย" และรำลึก 120 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ภายหลังเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทยโดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันสันติภาพไทย"

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวตอนหนึ่ง ระหว่างการบรรยายว่า ขบวนการเสรีไทย และวันสันติภาพไทย ทำให้เรานึกถึงการต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยอย่างไม่ยอมจำนน และเป็นการปลูกฝังให้ยุวชนรุ่นหลังรักสันติภาพ อีกทั้งเป็นการประกาศให้นานาประเทศ รับรู้เจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย ที่จะยึดมั่นอุดมการณ์แห่งการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน และประชาคมโลกอย่างสันติและเอื้ออาทรต่อกัน นำมาสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ที่ไหนมีความขัดแย้งรุนแรงและสงคราม ที่นั่นจะมีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจติดตามมา

สำหรับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกที่ส่งผลต่อระบบการเงินโลกรุนแรงในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา มีอยู่ 5 ครั้งสำคัญ 1. วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก Great Depression ในปี ค.ศ.1929 เริ่มที่สหรัฐอเมริกา 2. วิกฤตการณ์เศรษฐกิจและหนี้สินลาตินอเมริกา ค.ศ.1982 เริ่มต้นที่เม็กซิโก 3. วิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชียในปี ค.ศ.1997 หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเริ่มต้นที่ประเทศไทย 4. วิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2008 เริ่มที่สหรัฐอเมริกา และ 5. วิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด และการปิดเมือง

ส่วนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในไทยหลายครั้งเชื่อมโยงกับสถานการณ์ของโลก ช่วงก่อนก่อกำเนิดขบวนการเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศของเราเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในสมัย ร.7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร และวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยหนึ่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในวันที่ 24 มิถุนายน หลังจากนั้นเศรษฐกิจ ได้กระเตื้องขึ้นบ้าง รัฐบาลคณะราษฎรพยายามแก้ปัญหาและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

"ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยประสบปัญหาภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ข้าวยาก หมากแพง และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงอีก หากไม่มีขบวนการเสรีไทย หากไม่มีการประกาศวันสันติภาพไทย ไทยอาจตกอยู่ภายใต้การปกครองของมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจะทรุดหนักกว่าเดิม และไทยต้องรับผิดชอบเสียค่าปฏิกรรมสงคราม รวมทั้งอาจถูกยึดดินแดนบางส่วนของประเทศ"

นายอนุสรณ์ ได้หยิบยกบทเรียนจากขบวนการเสรีไทย จากความเป็นเอกภาพและร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมือง วิกฤติเรื่องเอกราชและวิกฤติจากภาวะสงคราม รวมถึงความกล้าหาญและเสียสละ ยึดถือในเรื่องเอกราช ประชาธิปไตย และประโยชน์ของมนุษยชาติ หลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่นำไปสู่สงคราม โดยยึดแนวทางสันติ มุ่งผลประโยชน์สาธารณะของผู้นำและกลุ่มชนชั้นนำ และขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ เมื่อประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้

นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ สังคมมีความเสี่ยงที่จะถลำลึกสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ และความขัดแย้งจะแบ่งแยกประชาชนออกจากกัน ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย รักสันติ จึงต้องสามารถเอาชนะต่อขบวนการต่อต้านประชาธิปไตยและกระหายความรุนแรงให้ได้

รวมทั้งการเอาชนะวาทกรรม “ชังชาติ” และ “ล้มเจ้า” ให้ได้ ด้วยความอดทน หมั่นชี้แจงด้วยเหตุผล ด้วยข้อเท็จจริง นำไปสู่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น อันมีผลทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข เสมอภาค เป็นธรรม และช่วยกันทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมี “กษัตริย์” เป็นประมุข มีความมั่นคงยั่งยืนต่อไป เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอย่างสันติ เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ เป็นการอภิวัฒน์สู่สันติ ไม่สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การซ้ำเติมความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประชาชน หรือแก้ไขปัญหานอกวิถีทางของกฎหมายและประชาธิปไตย

พร้อมย้ำว่า หลักแห่งนิติธรรม ขันติธรรม เมตตาธรรม มิตรภาพ ภราดรภาพและประชาธิปไตย จะนำมาซึ่งสันติภาพและความสงบสุขร่มเย็นบนพื้นแผ่นดินไทยและโลก อยากฝากถึงประชาชนทั้งหลายว่า อย่าหลงทางในมหาสมุทรแห่งความสิ้นหวัง ความหลอกลวงและความหวาดกลัว จงมีความหวัง เอาความจริงและความกล้าหาญทางจริยธรรมเข้าสู้

"การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติธรรมไม่ใช่การต่อสู้วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือปีเดียวจบ มันเป็นสงครามยืดเยื้อที่เราต้องต่อสู้กับพวกเผด็จการและพวกกระหายความรุนแรงและการกดขี่ การต่อสู้อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต อาจต้องสืบทอดให้ลูกหลาน อย่าหวาดกลัวในการแสดงจุดยืนและความเห็นที่ถูกต้องเพื่อพิทักษ์สันติธรรมและเสรีภาพ และเราต้องยอมเข้าสู่ความยากลำบากที่จำเป็น แต่เป็นความยากลำบากที่พิสูจน์การกระทำอันยิ่งใหญ่ เป็นอมตะ เช่นเดียวกับคณะของเสรีไทย เช่นเดียวกับผู้ประศาสน์การแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์" นายอนุสรณ์ กล่าวในตอนท้าย.

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บไซต์ไทยรัฐ - https://www.thairath.co.th/news/politic/1911533

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง