'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ บรรยายบทเรียนจากขบวนการเสรีไทยว่าด้วย วิกฤตเศรษฐกิจและการอภิวัฒน์สู่สันติ ในวาระ 75 ปีวันสันติภาพไทย แนะแนวทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความเสี่ยงของความรุนแรงและการรัฐประหารครั้งใหม่ ชี้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติธรรมเป็นสงครามยืดเยื้อ อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต
16 ส.ค. 2563 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้บรรยายในงานวันสันติภาพไทย จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สถาบันปรีดี พนมยงค์ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี "วันสันติภาพไทย" และ รำลึก 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานกิจกรรมรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีของขบวนการเสรีไทย ที่ได้กระทำมาแล้ว ในระหว่างที่ ประเทศชาติอยู่ในช่วงวิกฤติ บทบาทอันสูงส่งนี้ย่อมได้รับการจารึกไว้ ในหน้าหนึ่งอันงดงามยิ่ง ของประวัติศาสตร์ไทย และจะเป็นอนุสาวรีย์ทางจิตใจที่จะเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยรุ่นหลัง ขบวนการเสรีไทยเกิดจากการรวมตัวของคนไทยทุกชนชั้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีความมุ่งหมายในการต่อสู้เพื่อเอกราช อธิปไตยและสันติภาพของประเทศ ผู้ที่เข้าร่วมขบวนการทุกท่านต้องถือว่า มีความเสียสละและความกล้าหาญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้เข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยภายใต้การยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น”
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี กล่าวอีกว่า หลังสงครามสิ้นสุดลง ท่านรัฐบุรุษปรีดีและคณะ ยังคงต้องเจราจากับฝ่ายพันธมิตรเพื่อไม่ให้ไทยตกอยู่ในสถานภาพของผู้แพ้สงคราม และต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจำนวนมากจากสงครามให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร หากไทยต้องจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงคราม (War reparations) เศรษฐกิจจะเสียหายมาก วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจะยิ่งหนักหนากว่าที่เกิดขึ้นอีก ประชาชนคงประสบความทุกข์ยากอีกหลายเท่าตัว แม้นค่าปฏิกรรมสงคราม หมายถึง ของมีค่าที่ต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยเพื่อให้ครอบคลุมความเสียหายระหว่างสงคราม มหาอำนาจบางประเทศยังต้องการดินแดนบางส่วนของไทย และ ประเทศอาจมิได้มีดินแดนอย่างเช่นในปัจจุบัน อาจถูกแบ่งแยกเป็นสองหรือสามประเทศหากไม่มีขบวนการเสรีไทยและกุศโลบายในการดำเนินนโยบายอย่างเท่าทันต่อสถานการณ์ของท่านปรีดี พนมยงค์และทีมงานทั้งหมด
จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของศตวรรษที่ 20 และ เป็นสถาปนิกคนสำคัญในการออกแบบระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโลกหลังสงครามครั้งที่สอง กล่าวว่า “ค่าปฏิกรรมสงครามนั้นเป็นสาเหตุหลักของสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามของเยอรมนีตามผลของสนธิสัญญาแวร์ซาย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักในเยอรมนี ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในสาธารณรัฐไวมาร์ และนำไปสู่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซี”
ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกที่อำนวยการสร้างโดย ปรีดี พนมยงค์ เป็นเหมือน “คำประกาศแห่งสันติภาพ” ที่ทำให้คนทั้งโลกรู้ว่า คนไทยส่วนใหญ่รักสันติ ในท่ามกลางไฟสงครามลุกลามทั่วโลกในปี พ.ศ.2484 และตอกย้ำหลักคิดเรื่องภราดรภาพที่มองว่า มนุษย์ไม่ว่าจะชาติใดภาษาใดล้วนเป็นพี่เป็นน้องร่วมโลกกัน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า ต่อมา 16 ส.ค. 2488 ประเทศไทยโดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันสันติภาพไทย"
“ขบวนการเสรีไทย” และ “วันสันติภาพไทย” ทำให้ เรานึกถึงการต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยอย่างไม่ยอมจำนน และ เป็นการปลูกฝังให้ยุวชนรุ่นหลังรักสันติภาพ อีกทั้งเป็นการประกาศให้นานาประเทศ รับรู้เจตนารมณ์ ของประชาชนชาวไทย ที่จะยึดมั่นอุดมการณ์แห่งการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน และประชาคมโลก อย่างสันติและเอื้ออาทรต่อกัน นำมาสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ที่ไหนมีความขัดแย้งรุนแรงและสงคราม ที่นั่นจะมีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจติดตามมา
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวถึง วิกฤติเศรษฐกิจ ว่า หากเรามาพิจารณาดู วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกที่ส่งผลต่อระบบการเงินโลกรุนแรงในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา มีอยู่ห้าครั้งสำคัญ ดังนี้
1.วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก Great Depression ในปีค.ศ.1929 เริ่มที่สหรัฐอเมริกา
2.วิกฤตการณ์เศรษฐกิจและหนี้สินละตินอเมริกา ค.ศ.1982 เริ่มต้นที่เม็กซิโก
3.วิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชียในปีค.ศ.1997 หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเริ่มต้นที่ประเทศไทย
4.วิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2008 เริ่มที่สหรัฐอเมริกา
5.วิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 และ การปิดเมือง
ส่วนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในไทยหลายครั้งเชื่อมโยงกับสถานการณ์ของโลก ช่วงก่อนก่อกำเนิดขบวนการเสรีไทยในระหว่างสงครามครั้งที่สอง ประเทศของเราเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในสมัย ร. 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร และ วิกฤติเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในวันที่ 24 มิถุนายน หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้นบ้าง รัฐบาลคณะราษฎรพยายามแก้ปัญหาและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยประสบปัญหาภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ “ข้าวยาก หมากแพง” และ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงอีก หากไม่มี “ขบวนการเสรีไทย” หากไม่มีการประกาศ “วันสันติภาพไทย” ไทยอาจตกอยู่ภายใต้การปกครองของมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจะทรุดหนักกว่าเดิมและไทยต้องรับผิดชอบเสียค่าปฏิกรรมสงคราม รวมทั้งอาจถูกยึดดินแดนบางส่วนของประเทศ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นได้ตกลงกติกาทำสัญญาร่วมมือทางทหาร (Military co-operation)ระหว่างกันแล้วรัฐบาลไทยก็เตรียมการที่จะจับคนสัญชาติอังกฤษคนสัญชาติอเมริกันเอาไปกักกันไว้เสมือนหนึ่งเป็นชนชาติศัตรูเพราะถ้ารัฐบาลไทยไม่จัดการเช่นนั้นกองทหารญี่ปุ่นก็จะจัดการเองรัฐบาลไทยได้มอบให้ พล.ต.ต.อดุลเดชจรัล รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีจึงไปพบข้าพเจ้าขอแบ่งสถานที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯเพื่อกักกันคนสัญชาติ ท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ดูแลผู้ถูกกักกันอย่างดี นอกจากจะใช้ “ธรรมศาสตร์” ในการเป็นพื้นที่ปฏิบัติของขบวนการเสรีไทยแล้ว การดูแลผู้ถูกกักกันอย่างดีในธรรมศาสตร์ ทำให้ “ไทย” ยกเป็นเหตุในเจรจาเพื่อไม่ให้เป็นผู้แพ้สงครามและเป็นการยืนยันความมีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ของ “คนไทย”
มหาอำนาจโดยเฉพาะอังกฤษต่อรองให้ไทยจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามอย่างหนัก เบื้องต้น ไทยต้องจะต้องให้ข้าวแก่อังกฤษเป็นจำนวน 1 ล้าน 5 แสนตันโดยไม่คิดราคา ราวกับว่าเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม มูลค่าขณะนั้นไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท พร้อมข้อเรียกร้องชดเชยความเสียหายต่างๆอีก 51 ข้อ (ไม่มีเวลากล่าวถึงรายละเอียดทั้งหมด) ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์พร้อมคณะและการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสยอมรับการประกาศสงครามของไทยครั้งนี้ถือเป็นโมฆะ ไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาในช่วงสงครามให้อังกฤษและฝรั่งเศสพร้อมเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับเขาอีกห้าล้านสองแสนปอนด์ และส่งมอบข้าวสาร 1.5 ล้านตันให้สหประชาชาติผ่านอังกฤษ
ประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนให้ความสำคัญ เราจึงต้องรักษาความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจให้ดีโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดสงครามทางการค้าและกำลังพัฒนาไปสู่สงครามเย็นครั้งที่สอง อาจนำมาสู่การปะทะกันทางเศรษฐกิจ การเมือง และการปะทะกันทางอารยธรรม (Clash of Cilization) ไทยต้องสร้างประชาธิปไตยภายในประเทศให้เข้มแข็ง อันจะเป็นฐานสำคัญในการส่งออกค่านิยมภราดรภาพนิยมและสันติธรรม การมีเอกราชอธิปไตยของประเทศในภูมิภาคนี้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั่วทั้งภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับที่ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการรวมกลุ่มของประเทศที่เรียกร้องเอกราช โดยท่านปรีดี พนมยงค์มีส่วนสำคัญในขบวนการชาตินิยมลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และพม่า จนนำไปสู่การตั้งสมาคมสันนิบาตชาติเอเชียอาคเนย์ซึ่งมาก่อนแนวคิดก่อตั้งอาเซียนซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังกว่าสองทศวรรษ
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวถึง บทเรียนที่เราได้รับจากขบวนการเสรีไทย ดังต่อไปนี้
บทเรียนข้อที่หนึ่ง ความเป็นเอกภาพและร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ เราจึงฝ่าวิกฤตการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมือง วิกฤติเรื่องเอกราชและวิกฤติจากภาวะสงคราม
บทเรียนข้อที่สอง ความกล้าหาญและเสียสละ
บทเรียนข้อที่สาม การยึดถือในเรื่องเอกราช ประชาธิปไตย และ ประโยชน์ของมนุษยชาติ (ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น)
บทเรียนข้อที่สี่ ต้องสร้างเงื่อนไขหรือสภาวะเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่นำไปสู่สงคราม และ ยึดในแนวทางสันติ
บทเรียนข้อที่ห้า การมียุทธศาสตร์ กุศโลบาย กลยุทธที่ดีและมุ่งผลประโยชน์สาธารณะของผู้นำและกลุ่มชนชั้นนำ
บทเรียนข้อที่หก ขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อ ประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และ ไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวบรรยายในช่วงท้ายว่า “สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้สังคมมีความเสี่ยงที่จะถลำลึกสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ และ ความขัดแย้งจะแบ่งแยกประชาชนออกจากกัน ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย รักสันติ จึงต้องสามารถเอาชนะต่อขบวนการต่อต้านประชาธิปไตยและกระหายความรุนแรงให้ได้
รวมทั้งการเอาชนะวาทะกรรม “ชังชาติ” และ “ล้มเจ้า” ให้ได้ ด้วยความอดทน หมั่นชี้แจงด้วยเหตุผล ด้วยข้อเท็จจริง นำไปสู่ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น อันมีผลทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข เสมอภาคเป็นธรรม และช่วยกันทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมี “กษัตริย์” เป็นประมุขมีความมั่นคงยั่งยืนต่อไป เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอย่างสันติ เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ เป็นการอภิวัฒน์สู่สันติ ไม่สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การซ้ำเติมความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประชาชน หรือ แก้ไขปัญหานอกวิถีทางของกฎหมายและประชาธิปไตย
หลักแห่งนิติธรรม ขันติธรรม เมตตาธรรม มิตรภาพ ภราดรภาพและประชาธิปไตย จะนำมาซึ่งสันติภาพและความสงบสุขร่มเย็นบนพื้นแผ่นดินไทยและโลก”
อยากฝากถึงประชาชนทั้งหลายว่า อย่าหลงทางในมหาสมุทรแห่งความสิ้นหวัง ความหลอกลวงและความหวาดกลัว จงมีความหวัง เอาความจริงและความกล้าหาญทางจริยธรรมเข้าสู้ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติธรรมไม่ใช่การต่อสู้วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือ ปีเดียวจบ มันเป็นสงครามยืดเยื้อที่เราต้องต่อสู้กับพวกเผด็จการและพวกกระหายความรุนแรงและการกดขี่ การต่อสู้อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต อาจต้องสืบทอดให้ลูกหลาน อย่าหวาดกลัวในการแสดงจุดยืนและความเห็นที่ถูกต้องเพื่อพิทักษ์สันติธรรมและเสรีภาพ และ เราต้องยอมเข้าสู่ความยากลำบากที่จำเป็น แต่เป็นความยากลำบากที่พิสูจน์การกระทำอันยิ่งใหญ่ เป็นอมตะ เช่นเดียวกับคณะของเสรีไทย เช่นเดียวกับ ผู้ประศาสน์การแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์”
เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บไซต์ประชาไท https://prachatai.com/journal/2020/08/89076
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- สรุปประเด็นงานเสวนา
- วันสันติภาพไทย
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ขบวนการเสรีไทย
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- โมฆสงคราม
- ปรีดี พนมยงค์
- อนุสรณ์ ธรรมใจ
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- 120 ปี ปรีดี พนมยงค์
- คณะราษฎร
- จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์
- พระเจ้าช้างเผือก
- คำประกาศแห่งสันติภาพ
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- เศรษฐกิจ
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- 24 มิถุนายน 2475
- ประชาไท