ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
ที่มา: ไทยแลนด์ 13-19 พฤษภาคม 2526
ข้าพเจ้าทราบข่าวการถึงแก่มรณกรรมของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ขณะเดินทางอยู่ที่จังหวัดตรัง กำลังสัมภาษณ์ท่านผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านแห่งอำเภอย่านตาขาว ผู้ที่แจ้งข่าวแก่ข้าพเจ้าเป็นลูกชายของท่านผู้เฒ่า นักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์สมัยก่อน
ข้าพเจ้าเสียใจอย่างยิ่งเมื่อทราบข่าวนี้ อาจารย์ได้ทำคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อสังคมไทย เป็นผู้นำการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยให้เป็นของราษฎร เป็นผู้ทำให้ไทยเริ่มปกครองในระบอบประชาธิปไตย
เพื่อรำลึกถึงท่านอาจารย์ปรีดีในข้อเขียนสั้น ๆ นี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะโยงถึงประเด็นความคิดของท่านอาจารย์ในการแก้ไขปัญหาชนบท คงจำกันได้ว่า คณะราษฎรเสนอไว้ในประกาศฉบับแรกของคณะในวันที่ 24 มิถุนายนว่า จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และในข้อเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ท่านอาจารย์ปรีดีก็ได้ระบุชัดเจนว่า ไม่ต้องการเปลี่ยนจากระบบพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวเป็นหลายองค์ แต่ต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎร
เป็นที่วิจารณ์กันอยู่บ้างว่า คณะราษฎรไม่ได้ทำการปฏิวัติกระฎุมพี (bourgeois revolution) เพราะไม่ได้แก้ปัญหาพันธนาการที่ดินของชาวนา ทั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรก็ไม่ได้มีชาวนาสนับสนุน แม้กระทั่งชนชั้นกลางเจ้ากิจการเอง ก็มีตัวแทนอยู่น้อยคนเหลือเกินในคณะราษฎร ปัญหาการลงหรือไม่ลงถึงชาวนา แก้หรือไม่แก้ปัญหาชนบทมีความสำคัญมากต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ และมีผลต่อพลังประชาธิปไตยในระยะต่อมา พรรคกว๋อหมินตั๋งล้มเหลวในการแก้ปัญหาชนบทของจีน ทำให้ปรับปรุงเศรษฐกิจจีนไม่สำเร็จ แก้ปัญหาความยากจนไม่สำเร็จจนต้องเสียอำนาจปกครองผืนแผ่นดินใหญ่
ท่านอาจารย์ปรีดีเข้าใจปัญหานี้ดี แต่เนื่องจากคณะราษฎรต้องยุ่งยากกับการรักษาอำนาจรัฐ ป้องกันจากการคืนกลับเป็นของฝ่ายเดิม ทำให้การพิจารณาบทบาทของคณะราษฎรเน้นกันแต่ด้านการแก่งแย่งทางการเมือง จนทำให้ลืมกันไปว่าแรกเริ่มนั้นคณะราษฎรต้องการทำการปฏิวัติกระฎุมพี สะท้อนเห็นชัดที่สุด จากแนวคิดของท่านอาจารย์ปรีดีในเค้าโครงเศรษฐกิจ และท่านอาจารย์ก็ยืนยันว่า ทางคณะผู้ก่อการยินดีจะให้อาจารย์ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามความประสงค์หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ
ในเค้าโครงการฯ อาจารย์เสนอให้โอนที่ดินทั้งหมด และทุนส่วนใหญ่เป็นของรัฐ นี่คือการเสนอแก้ปัญหาชนบทของท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าปัญหารากฐานที่สุดของเศรษฐกิจไทยคือปัญหาความยากจนของชาวนา และความยากจนนี้เกิดจากการขาดที่ดินทำกิน หรือใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่เต็มที่ ความจริงแล้วใน พ.ศ. 2475 ปัญหาการขาดที่ดินทำกินเริ่มปรากฎบ้างแล้ว เพราะที่ดินดีในภาคกลางมักเป็นของขุนนาง หรือกำลังกลายเป็นของนายทุนเงินกู้ดอกเบี้ยสูงในเค้าโครงการฯ อาจารย์ยังไปไกลกว่านั้นด้วยการเสนอระบบสังคมนิยมด้วย
เมื่ออาจารย์กนกศักดิ์ แก้วเทพ ถามท่านอาจารย์ ในการสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2525 ว่าระบบสังคมนิยมที่ท่านอาจารย์ปรารถนาเป็นระบบชนิดไหน อาจารย์ตอบว่า Cooperative socialism และอาจารย์ได้อธิบายว่า ในเค้าโครงการฯ ยังพูดถึงบทบาทของสหกรณ์ไว้น้อย เพราะมันยังเป็นเค้าโครงการเท่านั้น ต้องมีการพัฒนารายละเอียดต่อไป ดังนั้นเมื่อเราอ่านเค้าโครงการฯ บางครั้งเรามีความรู้สึกว่าเน้นการวางแผนของรัฐอยู่มาก แต่ที่จริงแล้ว ในส่วนที่ว่าด้วยการจัดตั้งกันขึ้นเองโดยประชาชนคือส่วนสหกรณ์นั้น อาจารย์ได้คิดไว้แล้ว เสนอไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้แจกแจงรายละเอียดในการแก้ไขปัญหาชนบทของไทย อาจารย์จึงได้คำนึงถึงการรวมพลังและการมีสิทธิมีส่วนมีเสียงของชาวบ้านอยู่แล้ว และข้าพเจ้าก็เข้าใจว่า ในทางปฏิบัติ อาจารย์พร้อมจะประนีประนอมกับระบบทุนนิยมที่ก้าวหน้าได้ การโอนทุนก็กระทำเพียงบางส่วน และการจัดการไร่นาก็เป็นการผสมระหว่างรัฐกับสหกรณ์
เพื่อผลประโยชน์ของชาวนา ท่านอาจารย์ยังได้จัดให้มีการออกกฎหมายห้ามการยึดเครื่องมือการผลิตของกสิกร หมายถึงห้ามยึดวัวควายและคันไถ ออกพระราชบัญญัติยกเลิกภาษีส่วย (หรือที่เรียกว่าภาษีรัชชูปการที่เก็บแทนการเกณฑ์แรงงาน) เลิกเก็บภาษีค่านา ซึ่งภาษี 2 ชนิดนี้เป็นการพันธนาการแบบศักดินามาแต่เดิม
นอกจากทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านการเมือง คณะราษฎรได้จัดให้มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง ซึ่งราษฎรธรรมดามีสิทธิออกเสียงให้มีการสอบแข่งขันเข้ารับราชการแทนการบรรจุแบบเดิมตามชาติวุฒิ และระบบอุปถัมภ์ ชักจูงไม่ให้ข้าราชการเชื่อไสยศาสตร์
ท่านอาจารย์ปรีดีถือว่า คณะราษฎรกระทำการสืบเนื่องจากคณะร.ศ. 130 และท่านอาจารย์ก็ยกย่องคณะเจ้านายและข้าราชการผู้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เปลี่ยนประเพณีการปกครองในร.ศ. 103 เทียนวรรณ และพระยาสุริยานุวัตร เป็นข้อแสดงอีกประการหนึ่งว่า เป็นขบวนต่อต้านระบบเดิม เสนอระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองโดยประชาชนแทน และประชาชนเองจะเป็นผู้แก้ไขปัญหาความยากจน การถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยตัวของเขาเอง เมื่อเขามีกลไกที่จะควบคุมรัฐได้
สรุปได้ว่า ท่านอาจารย์ได้พยายามอย่างมากที่จะนำคณะราษฎรให้ทำการแก้ไขปัญหาชนบท แก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาที่ดินของชาวนา พยายามตัดพันธนาการเดิมคือส่วยและค่านาที่ชาวนามีอยู่กับรัฐ พยายามปรับปรุงระบบราชการ ให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และควบคุมการบริหารราชการ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงไม่ใช่การเปลี่ยนเฉพาะตัวผู้มีอำนาจหรือเป็นเหตุการณ์ที่ขุนนางแย่งอำนาจจากพระมหากษัตริย์ หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะทางการเมือง แต่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติกระฎุมพี ที่พยายามลงรากลึกถึงชาวนา และมุ่งแก้ปัญหาพันธนาการของระบบศักดินาที่มีต่อชาวไทย ความคิดและบทบาทของท่านอาจารย์ปรีดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทย เป็นผู้ทำให้ยุคสมัยหนึ่งหยุดพัฒนาการและเริ่มยุคสมัยอีกสมัยหนึ่ง คือสมัยเริ่มการปฏิวัติกระฎุมพี สลายพันธนาการเดิมที่ผูกมัดชาวนา กระตุ้นระบบเศรษฐกิจกระฎุมพีและระบบการเมืองประชาธิปไตยให้ก้าวไปข้างหน้า
แม้การเปลี่ยนแปลงนี้ยังดำเนินอยู่ และเราก็ผ่านระบบประชาธิปไตยสลับกับเผด็จการเป็นระยะ ๆ กล่าวไว้ว่าท่านอาจารย์เป็นบิดาแห่งระบอบประชาธิปไตย และการเป็นผู้เริ่มปลดเปลื้องพันธนาการเดิมที่ผูกมัดชาวนาไทย ท่านจึงเป็นสามัญชนคนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ผู้อยู่เคียงข้างต่อสู้ และเป็นฝ่ายของราษฎรไทยทั้งมวล