ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การล้างมลทินคณะ ร.ศ. 130 ในสมัยคณะราษฎร พ.ศ. 2475

3
มีนาคม
2566
ภาพคณะ ร.ศ.130 ในงานศพของผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 (แถวหน้าจากซ้าย) ร.ต.จรูญ ษตะเมษ, ร.ต.โกย วรรณกุล, ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์, ร.ต.จรูญ ณ บางช้าง, ร.ต.สอน วงษ์โต และร.ต.เปลี่ยน ไชยมังคละ (แถวหลังจากซ้าย) ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ท.จือ ควกุล, ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์, ร.ต.เขียน อุทัยกุล, ร.ต.ศิริ ชุณห์ประไพ, นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา
ภาพคณะ ร.ศ.130 ในงานศพของผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476
(แถวหน้าจากซ้าย) ร.ต.จรูญ ษตะเมษ, ร.ต.โกย วรรณกุล, ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์, ร.ต.จรูญ ณ บางช้าง, ร.ต.สอน วงษ์โต และร.ต.เปลี่ยน ไชยมังคละ
(แถวหลังจากซ้าย) ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ท.จือ ควกุล, ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์, ร.ต.เขียน อุทัยกุล, ร.ต.ศิริ ชุณห์ประไพ, นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา

 

1 มีนาคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454 — นับตามปฏิทินเก่า) ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นวันที่ฝ่ายรัฐจับกุมคณะทหารหนุ่มที่คบคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็น “รีปับลิก” หากในความหมายของคณะ ร.ศ. 130 ยุคนั้น คือความพยายามที่จะให้สยามปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่ถูกจับกุมในวันที่ 1 มีนาคม ได้แก่ นายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนทหารบก, นายพันตรี หลวงวิมเนศร์ประสิทธิวิทย์ (อัทษ์ หะสิตเวช) สังกัดกรมแพทย์ทหารบก, นายร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง สังกัดกรมพระธรรมนูญทหารบก และนายร้อยตรี เจือ ศิลาอาศน์ สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 กับนายทหารกรมเดียวกันอีกหลายคน จากกรมทหารมหาดเล็กและจากโรงเรียนนายสิบ โดยถูกจับกุมคุมขังไว้ที่กองมหันตโทษ[1]

ความสำคัญของคณะ ร.ศ. 130 ที่มา สาเหตุ ความคิดริเริ่มก่อการ และเป้าหมายได้ถูกศึกษาไว้แล้วในงานศึกษาจำนวนหนึ่ง[2] ส่วนในมิติของการส่งต่ออุดมคติของการอภิวัฒน์สยามของคณะ ร.ศ. 130 มายังคณะราษฎรนั้น หลายท่านคงคุ้นเคยกับวาทะอันนุ่มนวลของนายปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวไว้ในยามบ่ายของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่า “พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ. 130 ว่า พวกพี่ๆ ต่อไป”[3]

ไม่เพียงแค่การกล่าวถึงคณะ ร.ศ. 130 ด้วยความเคารพทางอุดมคติของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่านั้น ในเวลาต่อมารัฐบาลสมัยคณะราษฎรยังเสนอให้ตราพระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475 ขึ้น

บทความชิ้นนี้จึงขอนำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใหม่ คือ การเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งไม่เคยมีการกล่าวถึงอย่างละเอียดมาก่อน แม้จะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้ หากมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะสะท้อนให้เห็นความยึดโยงทางอุดมการณ์ของคณะราษฎรต่อคณะ ร.ศ. 130 อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการนำเสนอบันทึกความทรงจำของนายปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎรสายพลเรือนที่บันทึกถึงคณะ ร.ศ. 130 ที่เชื่อมโยงกับการก่อร่างอุดมคติทางการเมืองของตนไว้

 

ความทรงจำของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อคณะ ร.ศ. 130

นายปรีดี พนมยงค์ วิเคราะห์การเกิดขึ้นของคณะ ร.ศ. 130 ว่ามาจากการตื่นตัวของหนังสือพิมพ์และนิตยสารภาษาไทยที่เรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 6 รวมทั้งมีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในสยามหลายฉบับ ณ เวลานั้นที่แสดงความคิดอย่างกล้าหาญจนเป็นสาเหตุให้ชาวสยามบางส่วนตื่นตัวทางการเมืองขึ้นทีละน้อย “จนถึงมีผู้คิดใช้กำลังยึดอำนาจรัฐที่มีฉายาว่า คณะ ร.ศ. 130”[4]

 

ภาพของนายปรีดี พนมยงค์ และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์แก่ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525
ภาพของนายปรีดี พนมยงค์ และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ให้สัมภาษณ์แก่ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ
ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525

 

และบันทึกความทรงจำของนายปรีดี ได้เล่าถึงสาเหตุที่ตนเริ่มต้นสนใจเรื่องเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง เศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และเหตุการณ์ของคณะ ร.ศ. 130 ว่ามาจาก 2 เหตุการณ์สำคัญโดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดตามบันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ จากการอ่านโดยท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในบทสัมภาษณ์ต่อนายฉัตรทิพย์ นาถสุภา เมื่อ พ.ศ. 2525 ไว้ดังนี้

 

“1. หนังสือพิมพ์ลงข่าวตื่นเต้นติดต่อกันถึงสงครามในประเทศจีนระหว่างฝ่ายเก็กเหม็ง (สำเนียงแต้จิ๋ว) ภายใต้การนำของซุนยัดเซ็นกับฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู ครูบางท่านที่ก้าวหน้าได้ติดตามข่าวแล้วเอามาวิจารณ์ให้นักเรียนฟังว่า วันไหนฝ่ายใดชนะ ฝ่ายใดแพ้ ซึ่งทำให้ปรีดีและนักเรียนที่สนใจเกิดสนุกกับข่าวนั้น ฝ่ายพวกจีนเก็กเหม็งที่อยุธยาก็ได้ใช้วิธีโฆษณาโดยเช่าห้องไว้ที่ตลาดหัวรอไว้เป็นห้องอ่านหนังสือ มีภาพการรบเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนงิ้วที่ศิลปินจีนแสดงประจำที่วัดเชิง (วัดพนัญเชิง) นั้นก็เปลี่ยนเรื่องเล่นให้สมกับสมัย คือเล่นเรื่องกองทหารเก็กเหม็งรบกับกองทหารกษัตริย์ จึงทำให้คนดูเห็นเป็นการสนุกด้วย ต่อมาในไม่ช้าความปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรยๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน 2 ประเทศนี้ ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน

2. ต่อมาในปลายปี ร.ศ. 130 ก็มีข่าวแพร่ไปถึงบ้านปรีดีที่อยุธยาว่า นายทหารจำนวนหนึ่งกับพลเรือนอีกบางคนได้เตรียมการเปลี่ยนการปกครองระบบสมบูรณาฯ เพื่อให้มีการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้กฎหมาย แต่ยังไม่ทันลงมือกระทำก็ถูกรัฐบาลจับกุมส่งศาลพิเศษพิจารณาตัดสินลงโทษขนาดหนัก ปรีดีสนใจในข่าวนี้มากเพราะเห็นว่าเมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ. 130 รักชาติกล้าหาญ เตรียมการเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยายามสอบถามแก่ผู้รู้เรื่องเพื่อทราบเรื่องของคณะ ร.ศ. 130 ด้วยความเห็นใจ…”[5]

 

ต่อมาปรากฏจากบันทึกของ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ กับ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ที่เล่าถึงการเข้าพบกับนายปรีดี ในตอนหนึ่งซึ่งผู้เขียนขอคงตัวสะกดตามต้นฉบับไว้ดังนี้

 

“…เมื่อสิ้นสุดการสนทนาระหว่างหัวหน้าคณะปฏิวัติ 2475 ฝ่ายทหารกับชาวคณะ ร.ศ. 130 แล้ว ท่านเชษฐบุรุษก็ได้บอกแก่คณะของเราว่า คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ต้องการพบคณะเราอยู่เหมือนกัน พวกเราทุกคนจึงพากันตรงเข้าไปยังโต๊ะทำงานซึ่งเต็มไปด้วยความคร่ำเคร่งของคุณหลวงประดิษฐ์ฯ ผู้ทำหน้าที่ในทางสมองของคณะปฏิวัติ 2475

ท่านปรีดี พนมยงค์ (นามปัจจุบันของท่าน) ได้กล่าววาทะอย่างนุ่มนวลออกมาครั้งแรกเมื่อพบพวกเราว่า “พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ. 130 ว่า พวกพี่ๆ ต่อไป” โดยท่านได้ให้อรรถาธิบายว่า เมื่อชาวคณะ ร.ศ. 130 ถูกจับกุมครั้งกระนั้นท่านยังมีอายุได้เพียง 11 ขวบ ได้ยินชาวกรุงเก่าพูดเล่าลือกันว่า

“พวกทหารเก๊กเหม็งในบางกอกได้จับพวกเจ้าฆ่าเสียหมดแล้ว เราจะได้เจ้าที่ไหนมาปกครองพวกเราอีกเล่า”... และคำเล่าลืออันตรงกันข้ามกับความจริงนั้นเอง ได้เข้าไปก้องอยู่ในโสตประสาทของท่านปรีดีอย่างมิรู้ลืมเลย ต่อเมื่อท่านได้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ และมีอายุพอสมควรแล้ว จึงได้ทราบความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตั้งแต่นั้นสมองของท่านก็เลยครุ่นคิดถึงแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองแผ่นดิน ครั้นโอกาสอำนวยให้ท่านได้ออกไปศึกษาวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านก็เริ่มต้นลงมือคิดที่จะทำการปฏิวัติประเทศไทยต่อจากคณะ ร.ศ. 130 ดั่งที่ได้อุบัติผลทางการเมืองขึ้นแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างกันกับ ร.ศ. 130 เพียง 20 ปี เท่านั้นเอง…”[6]

 

บันทึกความทรงจำดังกล่าวทำให้เห็นการก่อร่างความสนใจทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ว่าเริ่มตั้งแต่ช่วงที่อยู่บ้านเกิด ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากการแสวงหาความรู้ทั้งการต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และการสนทนาแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนกับครูผู้สอน ที่สำคัญคือความเคลื่อนไหวของคณะ ร.ศ. 130 เป็นจุดตั้งต้นของแนวคิดอภิวัฒน์เพื่อให้สยามปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรในเวลาต่อมา

 

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ)
เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475

 

ภายหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อรัฐบาลของคณะราษฎรได้ปกครองประเทศภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภา ในช่วงแรกมีคณะกรรมการราษฎรดำเนินการประชุมฯ และดำเนินนโยบายอย่างเข้มข้น กระทั่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475 ขึ้น ในเวลา 15.55 นาฬิกา ประธานคณะกรรมการราษฎร คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เรียกประชุมและกล่าวเสนอญัตติด่วน ว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติยกความผิดให้แก่ผู้กระทําผิดทางการเมือง พุทธศักราช 2475 ซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รับรองญัตติ[7]

 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รับรองญัตติด่วนร่างพระราชบัญญัติยกความผิด ให้แก่ผู้กระทำผิดทางการเมือง พุทธศักราช 2475
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รับรองญัตติด่วนร่างพระราชบัญญัติยกความผิด
ให้แก่ผู้กระทำผิดทางการเมือง พุทธศักราช 2475

 

ประธานคณะกรรมการราษฎร แถลงว่า

 

“ร่างพระราชบัญญัตินี้ จะขออ่านให้ที่ประชุมฟังดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติยกความผิดให้แก่ผู้กระทําผิดทางการเมือง พุทธศักราช 2475

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎร ถวายคําปรึกษาว่า สมควรประกาศยกความผิดให้แก่ผู้กระทําผิดทางการเมืองบางคนซึ่งได้ถูกลงอาชญามาแล้ว

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ด้วยความแนะนํายินยอมของสภาผู้แทนราษฎรว่าบรรดาผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษว่ากระทําความผิดตามกฎหมายลักษณอาชญามาตรา 97 โดยพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 5 พฤษภาคม ร.ศ. 131 และมิได้รับผ่อนผันลงการลงอาชญานั้น ให้ได้รับพระราชทานยกความผิดตั้งแต่วันประกาศพระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป

…เพื่อให้ลบล้างมลทินอันพึงเกิดแต่การที่ถูกลงโทษ และการเสียไปซึ่งสิทธิใดๆ อันเนื่องแต่การนั้นเสียสิ้น และให้ถือว่ามิได้เคยทำความผิดและถูกพิพากษาลงโทษเลย…อนึ่งผู้กระทําผิดอีกสองคน ซึ่งโดยพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 5 พฤษภาคม ร.ศ. 131 ได้ถูกพิพากษาลงโทษว่ากระทําความผิด ตามกฎหมายลักษณะอาชญามาตรา 97 และได้รับพระราชทานรอการลงอาชญา แต่ภายหลังการรอการลงอาชญาได้เพิกถอนเสียแล้วนั้นให้ได้รับพระราชทานยกความผิดดุจกัน…”

 

สาเหตุที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอญัตติร่างพระราชบัญญัติล้างมลทินให้คณะ ร.ศ. 130 นี้เนื่องด้วยนักโทษการเมืองคณะ ร.ศ. 130 ที่แม้จะพ้นพระราชอาชญามาแล้วตามกฎหมายแต่กลับไม่ได้รับสิทธิบริบูรณ์ เพราะมีชื่อว่าติดคุกต้องพระราชอาชญามาแล้วและเป็นนักโทษการเมือง

ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรจึงเห็นสมควรว่า คณะ ร.ศ. 130 ควร “จะได้รับพระราชทานยกเว้นโทษให้เกลี้ยงเกลา” โดยให้คืนสิทธิที่เสียไปและขอให้ยกเว้นเสีย เพราะขณะปัจจุบันลูกหลานของคณะ ร.ศ. 130 จะไปเข้าโรงเรียนใดก็ไม่ได้ หรือจะเป็นเนติบัณฑิตก็ไม่ได้ ดังนั้นทางสภาผู้แทนราษฎรจึงขอเสนอว่าเป็นลักษณะโทษการเมืองและควรได้รับความยกเว้นและขอแก้ไขเป็นดังนี้

 

“ร่างพระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทําผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคําปรึกษาว่าสมควร ประกาศล้างมลทินผู้กระทําผิดทางการเมืองเมื่อ ร.ศ. 130

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ด้วยคําแนะนําและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรว่า บรรดาผู้ที่ถูกวางโทษสถานใดๆ โดยพระบรมราชวินิจฉัย ลงวันที่ 5 พฤษภาคม ร.ศ. 131 นั้น ให้ได้รับพระราชทานล้างมลทินอันพึงเกิดแต่การที่ถูกวางโทษและการเสียไปซึ่งสิทธิใดๆ อันเนื่องแต่การนั้นเสียสิ้น”

 


ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกคณะ ร.ศ. 130

 

หลังการแถลงของประธานคณะกรรมการราษฎรแล้ว ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกคณะ ร.ศ. 130 ได้กล่าวว่า

 

 

“เรื่องโทษที่กล่าวนี้ไม่ได้ขึ้นศาลพลเรือนหรือศาลทหารแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็ทําความเห็นกราบบังคมทูล แล้วพระองค์ท่านที่พระราชทานโทษลงมา…

ในนามของพวกข้าพเจ้าที่ก่อการเมื่อ ร.ศ. 130 นอกจากนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่บ้าง และตายไปแล้วบ้าง ตลอดถึงลูกหลานของพวกเหล่านี้รู้สึกว่าบัดนี้สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดขุมนรกให้พวกข้าพเจ้าที่กล่าวนี้ได้หลุดลอยขึ้นสู่ที่บรมสุข ขอบพระคุณสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างยิ่ง ณ บัดนี้ด้วย”

 

พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ธันวาคม 2475
พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ธันวาคม 2475
พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ธันวาคม 2475

 

ภายหลังคำกล่าวของ ร.ต.เนตร ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ตบมือแสดงความยินดีทั่วกันและไม่มีใครคัดค้านหรืออภิปรายกันต่อ ดังนั้นทางที่ประชุมจึงลงมติรับรองเห็นชอบว่าร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขแล้ว และได้ประกาศทางราชกิจจานุเบกษาเป็นพระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475 ณ วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2475[8]

การล้างมลทินคณะ ร.ศ. 130 โดยตราเป็นพระราชบัญญัติฯ ขึ้นในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร พ.ศ. 2475 นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะได้แสดงเจตนารมณ์เพื่อเคารพต่ออุดมคติประชาธิปไตยของผู้มาก่อนคือ คณะ ร.ศ. 130 ที่นายปรีดี พนมยงค์ นับถือเสมือนเป็นพี่ทางอุดมการณ์ของคณะราษฎร และพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังให้ความชอบธรรมแก่นักโทษการเมืองที่เรียกร้องการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรกพร้อมกับวางรากฐานของกฎหมายล้างมลทินแก่นักโทษการเมืองเป็นครั้งแรกในระบอบใหม่อีกด้วย

 

ที่มาของภาพประกอบ : สถาบันปรีดี พนมยงค์, ราชกิจจานุเบกษา, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และวิกิพีเดีย

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 525-526. 
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ). วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 654-657.

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต., และ เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต., “เรื่อง ปฏิวัติครั้งแรกของไทย โดยสังเขป ร.ศ. 130 ตรงกับ พ.ศ. 2454.”, ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514. (กรุงเทพฯ: อักษรไทย, 2514)

หนังสือและวารสารภาษาไทย :

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, หนึ่งศตวรรษ : รัฐธรรมนูญและรัฐประหารกับการเมืองสยามประเทศไทยจากกบฏ ร.ศ. 130 ถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552)
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542)
  • แถมสุข นุ่มนนท์, ขบวนการ ร.ศ. 130 (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2522)
  • แถมสุข นุ่มนนท์, ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ.130 พิมพ์ครั้งที่ 4 แก้ไขและเพิ่มเติม (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565)
  • นริศ จรัสจรรยาวงศ์, รัฐธรรมนูญของ “คณะปฏิวัติ ร.ศ.130” กับมหากวี “ชิต บุรทัต”, ศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2565, หน้า 64-91.
  • ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2515)
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552)
  • เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต., และเนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต. ปฏิวัติ ร.ศ. 130 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)
  • อัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ. 130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่ (กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, 2540)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น


[2] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, รัฐธรรมนูญของ “คณะปฏิวัติ ร.ศ.130” กับมหากวี “ชิต บุรทัต”, ศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2565, หน้า 64-91., อัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ. 130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่ (กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, 2540), แถมสุข นุ่มนนท์, ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ.130 พิมพ์ครั้งที่ 4 แก้ไขและเพิ่มเติม (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565)

[3] กษิดิศ อนันทนาธร. (1 มีนาคม 2565). ปรีดี พนมยงค์ กับพวกพี่ๆ คณะ “ร.ศ.130”. และเหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต., และเนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต., ปฏิวัติ ร.ศ. 130, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)

[4] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2515), น. 17-18.

[5] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542), น. 38 - 39

[6] เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต., และเนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต. ปฏิวัติ ร.ศ. 130, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564), น.15, 17.

[7] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ). วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 654 - 657.

[8] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. 130 พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 525-526.