ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ กับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร

14
พฤษภาคม
2566

Focus

  • ก่อนที่จะไปเรียนและสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจากประเทศฝรั่งเศส นายปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่วัยเยาว์ ได้รับรู้ปัญหาจากการฟังการสนทนาของบิดากับบุคคลอี่นถึงความอัตคัดขัดสนของชาวนาและแนวทางการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยการมีสภาผู้แทนราษฎรแบบอังกฤษและในสมัยที่รับราชการเป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้สอนวิชากฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย (เริ่มสอน พ.ศ.2474) โดยถือโอกาสนั้นปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้สนใจในทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจอันเป็นรากฐานของสังคมโดยกฎหมายเป็นโครงร่างเบื้องบนของสังคม
  • หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ร่าง “ปฐมรัฐธรรมนูญ” ที่ในระยะแรกกำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดในระยะต่อมาให้มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งผสมกับการแต่งตั้งและในระยะสุดท้าย จึงให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดและภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 นายปรีดี พนมยงค์เคยเป็นทั้งสมาชิกพฤตสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากราษฎร (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
  • นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ยังสนับสนุนความคิดในเรื่องการให้อำนาจราษฎรที่เลือกตั้งผู้แทนราษฎรสามารถควบคุมผู้แทนของตนได้ตามหลัก ‘Recall’ ซึ่งแปลว่า ‘การเรียกตัวกลับคืน’ หรือ ‘การถอดถอนผู้แทน’ หากราษฎรในเขตเลือกตั้งเห็นว่าผู้แทนของตนมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตน

 

ถึงแม้ว่านายปรีดี พนมยงค์ จะสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจากประเทศฝรั่งเศส ดินแดนที่ได้รับการขนานนามว่าแหล่งบ่มเพาะการปฏิวัติ แต่ความคิดทางการเมืองของนายปรีดี ที่ต้องการเห็นประเทศสยามมีการเลือกตั้ง “ผู้แทนราษฎร” นั้น เริ่มต้นขึ้นที่พระนครศรีอยุธยา บ้านเกิดของเขา

นายปรีดีให้สัมภาษณ์นายฉัตรทิพย์ นาถสุภา ไว้ว่า “เมื่อเริ่มจำความได้ก็เห็นเคหสถานของครอบครัวที่ตกทอดมาจากปู่ย่า ซึ่งแสดงว่าเป็นครอบครัวที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “ผู้มีอันจะกิน” ...บิดาผมเลือกอาชีพทำนา จึงประสบชะตากรรมอย่างเดียวกับชาวนาซึ่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว ผมประสบพบเห็นความอัตคัดของบิดามารดา และเมื่อไปอยู่กับบิดาก็พบเห็นความอัตคัดขัดสนของชาวนาทั่วไป”[1]

นายเสียง พนมยงค์ ผู้เป็นบิดา คือ ครูคนแรกที่ให้สติทางการเมืองแก่นายปรีดี ดังที่เขาเล่าต่อไปว่า “ขณะที่เรียนอยู่ในชั้นประถมนั้น เคยได้ยินบิดาสนทนากับชาวนาที่ปรับทุกข์ถึงความเดือดร้อนในการทำมาหากิน บิดาได้บอกแก่ชาวนานั้นๆ ถึงการที่ท่านได้ยินท่านเจ้าคุณ (พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา) เล่าให้ฟังว่า ที่อังกฤษมีสภาผู้แทนราษฎร คือสภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนอย่างใดก็แจ้งแก่ผู้แทนของตนไปขอร้องรัฐบาลได้[2]

 

นายเสียง พนมยงค์ บิดา
นายเสียง พนมยงค์ บิดา

 

ปรีดี พนมยงค์ ในวัยหนุ่ม ระหว่างที่ศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส
ปรีดี พนมยงค์ ในวัยหนุ่ม ระหว่างที่ศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส

 

ครั้นอายุได้ 15 ปีเศษ ปรีดีสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมซึ่งถือว่าบริบูรณ์แล้ว แต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเรียนต่อได้ จึงออกไปอยู่นากับบิดา จนอายุ 17 - 18 ปี จึงเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เหตุนี้เองปรีดีจึงได้บทเรียนที่ทราบถึงความอัตคัดขัดสนและความยากลำบากของชาวนา

เมื่อเห็นถึงความยากลำบากของชีวิตชาวนาที่ตนประสบ “ปรีดีจึงระลึกถึงคำสอนของครูและเหตุการณ์ต่างๆ...ว่า ถ้าเมืองไทยมี parliament คือสภาที่ราษฎรเลือกผู้แทนไปประชุม เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรได้แล้ว ก็จะแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎรได้[3]

ภายหลังจากที่นายปรีดีกลับมารับราชการในกรมร่างกฎหมาย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2471 แล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ ยังได้สอนหนังสือในโรงเรียนกฎหมายด้วย วิชาที่สำคัญ คือ กฎหมายปกครอง ที่เริ่มสอนในปี พ.ศ. 2474

ต่อมาในปี 2513 นายปรีดีกล่าวถึงตำรา คำอธิบายกฎหมายปกครอง ของตนว่า “มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ ใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตยและในทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแต่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น”

ในเอกสารของโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งตกทอดมาถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ปรากฏข้อสอบไล่ในภาค 1 ปี 2474 จำนวน 7 ข้อ ที่ออกโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งสะท้อนถึงคำถามต่อกฎเกณฑ์แห่งการปกครอง และการมีส่วนร่วมของราษฎรในการปกครองประเทศได้เป็นอย่างดี เช่น “2. มีผู้กล่าวว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้แทนราษฎร คำกล่าวนี้ท่านเห็นเป็นอย่างไร ?”

นี่เองคือที่มาของแนวคิดเรื่องการมีผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้ง ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังจากนั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นผู้ร่าง “ปฐมรัฐธรรมนูญ” ซึ่งกำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้น ในระยะแรกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯ เองก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งด้วย ระยะต่อมาเป็นการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง ผสมกับการแต่งตั้ง จนในระยะสุดท้าย จึงให้มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น

อนึ่ง พึงกล่าวไว้ด้วยว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นบุคคลแรกที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงตั้งต้นการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญในแผ่นดินสยาม

การเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 นั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คือมีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกครั้ง

ในเรื่องสิทธิทางการเมืองของชายหญิง รัฐธรรมนูญของไทยตั้งแต่ฉบับแรกที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ก็ให้สิทธิเลือกตั้งและสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งแก่ชายหญิงอย่างเท่าเทียมกัน (Universal Suffrage) ซึ่งนับว่าเป็นหลักการที่ก้าวหน้ามากพอสมควร เพราะในเวลานั้นหลายประเทศยังคงจำกัดสิทธิของผู้หญิงอยู่

แนวคิดเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนของราษฎรนี้ ปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ที่ถึงแม้ว่าจะมี 2 สภา คือ พฤฒสภา และสภาผู้แทน แต่ทั้งสองสภาก็มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น ผ่านการเลือกตั้งทางอ้อม และทางตรงตามลำดับ นายปรีดีเองก็เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกพฤฒสภา ก่อนที่จะลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 2 ซึ่งได้รับเลือกตั้ง โดยไม่มีผู้สมัครรายอื่นลงแข่งขัน

นายวิเชียร เพ่งพิศ ผู้ศึกษาเรื่อง แนวคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์ (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559) สรุปข้อความคิดในเรื่องการเลือกตั้งของนายปรีดีได้อย่างน่าสนใจว่า

 

“ปรีดีได้นำเสนอหลักการทั่วไปของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ที่มาของผู้แทนราษฎรนั้นต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแต่งตั้ง ต้องใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่การรวมเขตเลือกตั้ง อันจะเป็นวิธีที่จะนำมาสู่ความเสมอภาค และความสะดวกในการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนของราษฎร ปรีดีนำเสนอวิธีที่การป้องกันผู้แทนขายตัวโดยไม่ต้องกำหนดให้ผู้แทนต้องสังกัดพรรคการเมือง”

 

โดยเฉพาะในประเด็นท้ายสุด นายวิเชียรอธิบายว่า “วิธีที่การป้องกันผู้แทนขายตัวโดยไม่ต้องกำหนดให้ผู้แทนต้องสังกัดพรรคการเมืองนั้น ปรีดีได้เสนอวิธีการที่น่าสนใจไว้ว่า ให้อำนาจราษฎรที่เลือกตั้งผู้แทนขึ้นมานั้นสามารถควบคุมผู้แทนของตนได้โดยตรง เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Recall’ ซึ่งแปลว่า ‘การเรียกตัวกลับคืน’ หรือ ‘การถอดถอนผู้แทน’ คือ เมื่อราษฎรในเขตเลือกตั้งผู้แทนคนใดเห็นว่า ผู้แทนของตนมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตน ก็มีสิทธิในการรวบรวมกันประมาณร้อยละ 25 หรือกว่านั้นขึ้นไป ทำหนังสือยื่นต่อรัฐสภาหรือองค์การใดที่เหมาะสม เรียกตัวผู้นั้นกลับคืนให้หมดสมาชิกภาพไป[4] วิธีนี้เป็นวิธีที่ปรีดีเห็นว่าเป็นการป้องกันการขายตัวของผู้แทนได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ดีกว่าการกำหนดให้ผู้แทนต้องสังกัดพรรคการเมือง”

นอกจากการเป็นผู้อภิวัฒน์แล้ว นายปรีดียังเป็นนักวิชาการที่ทำงานทางความคิดเสนอความเห็นต่างๆ สู่สังคมอยู่เสมอ ดังสถานะรัฐบุรุษอาวุโสของท่านที่ว่า “ให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป”

น่าเสียดายที่ความเห็นหลายเรื่องของนายปรีดีนั้น ก็หายไปในสายลมโดยปราศจากคำขานรับ

 

บรรณานุกรม

 

 

[1] ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์ รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ วันที่ 10 เมษายน 2525 (กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย”, 2526), น. 21.

[2] เพิ่งอ้าง, น. 34.

[3] เพิ่งอ้าง, น. 37-38.

[4] ดูเพิ่มเติมใน “ข้อเสนอของ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย” (8 ธันวาคม 2516)