ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บุญเอก ตันสถิตย์ ผู้เข้าร่วมคณะ ร.ศ. 130 : ผู้ที่ไม่มีใครเคยจำ แต่นายปรีดีไม่เคยลืม

19
มีนาคม
2566

มีนาคมเป็นเดือนที่มีความเกี่ยวข้องกับ คณะ ร.ศ. 130 หรือกลุ่มนายทหารหนุ่มและพวกพ้องผู้คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศโดยมุ่งจะลดพระราชอำนาจอันล้นพ้นของพระมหากษัตริย์ให้มาอยู่ภายใต้กฎหมายตามแนวทางระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในยุคนั้นตรงกับต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ภายหลังพระองค์ขึ้นครองราชย์เพียงหนึ่งปีกว่า

ทว่าแผนการของคนกลุ่มนี้กลับประสบความล้มเหลวเสียก่อนที่จะได้ปฏิบัติการจริงในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามของเดือนเมษายน พ.ศ. 2455 พวกเขาจึงถูกจับกุมควบคุมตัวในวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2454 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 1 มีนาคม พ.ศ. 2455 แล้ว) เป็นจำนวน 100 กว่าคน

 

คณะ ร.ศ. 130
คณะ ร.ศ. 130

 

เหตุที่คณะ ร.ศ. 130 ก่อการไม่สำเร็จลุล่วง จนกระทั่งต้องกลายเป็นกบฏ ก็เนื่องมาจากการวางแผนที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ความประมาทมุทะลุ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และที่สำคัญคือมีการทรยศหักหลังกันเอง แม้ว่าพวกเขาจะเคยดื่มน้ำสาบานร่วมกันมา

กรณีที่คณะ ร.ศ. 130 จะก่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองห้วงเวลานั้น แม้จะดูเป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับรัฐบาลสยามและในหมู่ทหาร แต่ราษฎรส่วนใหญ่กลับมิค่อยรับทราบข่าวคราว หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยไม่ยอมนำเสนอเรื่องนี้ บางทีอาจเป็นเพราะทางรัฐบาลต้องการปิดข่าว แต่หนังสือพิมพ์หลายฉบับในต่างประเทศโดยเฉพาะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาพาดหัวและรายงานข่าวนี้อย่างเกรียวกราว

การจับกุมตัวสมาชิกคณะ ร.ศ. 130 เจ้าหน้าที่ก็กระทำแบบเงียบๆ ขุนวิจิตรมาตรา เจ้าของนามแฝง “กาญจนาคพันธุ์” บันทึกไว้ว่า มีนายทหารผู้ก่อการรายหนึ่งพักอยู่ตึกแถวแพร่งภูธร ส่วนเขาพักอยู่ตรงแพร่งนรา และได้ไปร่วมมุงดูการจับกุม เห็นมีชาวบ้านมายืนมุงดูกันราวๆ 20 คนเท่านั้น

ท้ายที่สุด คณะ ร.ศ. 130 ถูกศาลทหารไต่สวนและตัดสินลงโทษ 92 คน ซึ่งเป็นนายทหารบก 85 คน นายทหารเรือ 3 คน และพลเรือนสังกัดกระทรวงยุติธรรม 4 คน กล่าวคือ ถูกตัดสินประหารชีวิต 3 คน ได้แก่ ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์), ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง และ ร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์, ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 20 คน, จำคุก 20 ปี 32 คน, จำคุก 15 ปี 7 คน และ จำคุก 12 ปี 30 คน แต่ผู้ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 20 ปีลงมา จำนวน 69 คน ได้รับพระราชทานอภัยโทษ รอลงอาญาและไม่ต้องถอดยศ จึงมีผู้ต้องติดคุกเพียง 23 คน

ต่อมาในหลวง รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต 3 คนได้รับการลดโทษลงมาเป็นจำคุกตลอดชีวิต และผู้ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 20 คนได้รับการลดโทษลงมาเหลือจำคุก 20 ปี จวบจนกระทั่งในพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2467 อันเป็นวาระครบรอบปีที่ 15 ของการครองราชย์ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานอภัยโทษให้คณะผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ที่ติดคุกทั้งหมด 23 คนได้รับอิสรภาพ

 

คณะ ร.ศ. 130 ในเรือนจำ ที่มา : The101.World
คณะ ร.ศ. 130 ในเรือนจำ
ที่มา : The101.World

 

ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องราวของคณะ ร.ศ. 130 นั้น แม้จะพบการระบุว่ามีพลเรือนเข้าร่วมก่อการกับคณะนายทหารทั้งหลาย แต่กลับไม่ค่อยปรากฏชื่อเสียงเรียงนามเท่าที่ควร จะมีก็แต่ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ทนายความและล่ามกระทรวงยุติธรรมผู้เป็นนายทุนของคณะก่อการ ซึ่งค่อนข้างเป็นที่กล่าวขานถึงสักหน่อย เพราะเขาได้รับการบันทึกว่าเป็นพลเรือนเพียงคนเดียวที่ต้องโทษพิพากษาให้ติดคุก กระนั้น ยังมีพลเรือนอีกคนหนึ่ งที่เข้าร่วมวางแผนก่อการ แต่แทบไม่มีใครทราบข้อมูลเกี่ยวกับเขาเท่าใดนัก นั่นคือ นายบุญเอก ตันสถิตย์ อดีตนักเรียนฝรั่งเศส และขณะเข้าร่วมคณะ ร.ศ. 130 เขากำลังทำงานประจำสถานทูตฝรั่งเศสแห่งประเทศสยาม

นายบุญเอกอาจจะไม่เป็นที่จดจำในฐานะผู้เข้าร่วมคณะ ร.ศ. 130 สำหรับใครอื่นอีกมากมาย แต่นามของเขากลับจำหลักแนบแน่นในความทรงจำของ นายปรีดี พนมยงค์ มิเสื่อมคลาย

พอกล่าวถึงความทรงจำของนายปรีดีต่อเรื่องคณะ ร.ศ. 130 คนส่วนใหญ่มักจะพากันระลึกถึงถ้อยคำของเขาใน ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่สัมภาษณ์โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา มีความตอนหนึ่งว่า

 

“ต่อมาปลายปี ร.ศ. 130 ก็มีข่าวแพร่ไปถึงบ้านปรีดีที่อยุธยาว่า นายทหารจำนวนหนึ่งกับพลเรือนอีกบางคนได้เตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบสมบูรณาฯ เพื่อให้มีการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้กฎหมาย แต่ยังไม่ทันลงมือกระทำ ก็ถูกรัฐบาลจับกุมส่งศาลพิเศษพิจารณาตัดสินลงโทษขนาดหนัก ปรีดีสนใจในข่าวนี้มาก เพราะเห็นว่าเมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ. 130 รักชาติ กล้าหาญ เตรียมการเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยายามสอบถามแก่ผู้รู้เรื่อง เพื่อทราบเรื่องของคณะ ร.ศ. 130 ด้วยความเห็นใจมาก”

 

และอีกถ้อยคำหนึ่งคือ “ครูของผม แม้จะเป็นครูบ้านนอก คือครูที่อยุธยา ไม่ใช่ครูกรุงเทพฯ แต่ท่านมีลักษณะก้าวหน้า ผมสงสัยว่า ท่านได้รับการจัดตั้งจากพวก ร.ศ. 130” 

นอกเหนือไปจากที่ยกมาแสดงข้างต้น นายปรีดียังเคยบันทึกถึงเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของคณะ ร.ศ. 130 ผ่านข้อเขียน ‘การริเริ่มมีจิตสำนึกของข้าพเจ้า’ ดังมีความตอนหนึ่งว่า

 

“ประมาณเกือบ 1 ปีต่อมาใน ร.ศ. 130 มีข่าวใหญ่แพร่ไปทั่วทั้งประเทศ คือรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจับได้ว่ามีคณะอภิวัฒน์ทำงานใต้ดิน เพื่อล้มล้างระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากเหตุนี้เองนักอภิวัฒน์มากกว่าร้อยคนถูกจับและถูกศาลพิเศษตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตบ้าง ประหารชีวิตบ้าง แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลดโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และลดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็น 20 ปี ส่วนผู้ที่ถูกจำคุก 20 ปี ให้รอการลงอาญาไว้

เป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลไม่สามารถจับกุมสมาชิกทุกคนของคณะอภิวัฒน์ดังกล่าวได้ (เช่น นายบุญเอก ซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างประจำสถานทูตฝรั่งเศส และได้เข้าร่วมคณะอภิวัฒน์โดยมิได้แจ้งให้ท่านทูตทราบ เป็นต้น)

ผู้ก่อการสำคัญในการอภิวัฒน์ครั้งนี้คือ ร้อยโท เหรียญ ศรีจันทร์ อายุ 18 ปี ได้ชักชวนเพื่อนสนิทคือร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ อายุ 24 ปี และร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ อายุ 18 ปี (มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการกลุ่ม) มาเข้าร่วมขบวนการด้วย

นายทหารหนุ่มเหล่านี้ค่อยๆ ชักชวนนายทหารจากหน่วยต่างๆ มาเข้าร่วมขบวนการด้วย โดยเฉพาะนายทหารจากกองพันที่หนึ่งรักษาพระองค์ ต่อมาพวกเขาได้รู้จักกับนายแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งยินดีรับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่ม ท่านผู้นี้เป็นพี่ชายของร้อยโท เหรียญ คือร้อยเอก นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ดังนี้ คณะอภิวัฒน์จึงมีส่วนคล้ายกับขบวนการอภิวัฒน์จีน คือมีนายแพทย์เป็นหัวหน้ากลุ่ม ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง จบจากโรงเรียนกฎหมายได้เข้าร่วมขบวนการนี้ด้วย โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการฝ่ายการเมืองของกลุ่ม นักเรียนกฎหมายบางคนได้เข้าร่วมในขบวนการนี้เช่นกัน

ระหว่างที่มีการพิจารณาคดีที่ศาลพิเศษ ผู้พิพากษาท่านหนึ่งได้กล่าวติเตียนร้อยตรีนายหนึ่งจากกองทหารรักษาพระองค์ว่า ไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จำเลยได้อธิบายต่อผู้พิพากษาอย่างกล้าหาญว่า เขารักชาติยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ และตัวเขาเองอยู่ในกองร้อยที่อยู่ใกล้ชิดในหลวงที่สุด ย่อมทราบดีกว่าบรรดาพลทหารและพลเรือนว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในราชสำนัก อันทำให้เขาได้ตระหนักว่า ความสุขสำราญและความหรูหราฟุ่มเฟือยของราชสำนักนั้น นำชาติไปสู่หายนะ ทำให้เขาได้เกิดจิตสำนึกและผลักดันให้เขาเข้าร่วมขบวนการอภิวัฒน์ครั้งนี้”

 

“นายบุญเอก” ที่นายปรีดีเอ่ยถึง แม้จะไม่ระบุนามสกุล แต่ย่อมเป็นบุคคลเดียวกันกับ บุญเอก ตันสถิตย์ ซึ่งถ้าพิจารณาตามหลักฐานบันทึกความทรงจำของ นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์, ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ ก็จะทราบว่า นายบุญเอก ถือเป็นผู้ร่วมก่อการฝ่ายพลเรือนที่เข้าร่วมประชุมนับตั้งแต่ครั้งแรกๆ เลยทีเดียว

เดิมทีนั้น คณะผู้ก่อการชุดที่ประชุมกันครั้งแรกๆ ลงมติจะยึดเอาตามแบบการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนเมื่อปี ค.ศ. 1911 หรือ “การปฏิวัติซินไฮ่” (Xinhai Revolution) ที่นำโดย ดร.ซุนยัดเซ็น เพราะมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสยามเป็นปัญหาลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในเมืองจีน อีกทั้งหัวหน้าคณะ ร.ศ. 130 คือ ขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือ นายแพทย์เหล็ง ก็เป็นหมอเช่นเดียวกันกับหัวหน้าการปฏิวัติจีน (นายแพทย์เหล็งยังเป็นผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนทหารบก) จึงควรก่อการทำนองเดียวกันกับที่ ดร.ซุนยัดเซ็น ล้มเลิกอำนาจของราชวงศ์ชิงไปเลย

แน่นอนว่า นายบุญเอกเป็นคนหนึ่งที่เห็นพ้องและสนับสนุนแนวทางนี้ร่วมกับสมาชิกคณะคนอื่นๆ ได้แก่ นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์, พันตรี หลวงวิฆเนศประสิทธิวิทย์ (นายแพทย์อัทย์ หะสิตะเวช) แห่งกรมแพทย์ทหารบก, ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ รวมถึงฝ่ายพลเรือนอย่าง พระยารามบัณฑิตสิทธิเศรณี (เซี้ยง เซี้ยง สุวงศ์) พระพินิจพจนาตถ์ (น่วม ทองอินทร์) และ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนกลุ่มนี้ย่อมจะได้สุมหัวกันขบคิดและเขียนร่างบทความยาว 22 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ปชื่อ “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ” (ต่อมาเจ้าหน้าที่จับกุมค้นเจอและใช้เป็นหลักฐานระบุความผิด)

อย่างไรก็ดี ต่อมาเมื่อคณะ ร.ศ. 130 มีสมาชิกใหม่เข้ามาร่วมมากขึ้น สมาชิกบางส่วนยึดถือแนวทางสายกลาง พอมีการประชุมกันก็เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบ “ลิมิตเต็ด มอนากี” แบบเดียวกับในประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่น คือจำกัดให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายเสียมากกว่าการจะล้มเลิกระบอบกษัตริย์ไปเลยแบบในเมืองจีน และนั่นจึงกลายเป็นมติใหม่ของคณะผู้ก่อการ

ขณะที่หลักฐานบันทึกความทรงจำของ ร้อยตรี ถัด รัตนพันธุ์ ก็กล่าวถึงนายบุญเอกไว้ด้วยเช่นกัน ดังบอกเล่าว่า ในการประชุมสมาชิกคณะ ร.ศ. 130 ครั้งที่ 5 ซึ่งนัดกันที่บ้านของนายอุทัย ย่านตำบลศาลาแดง นายบุญเอกก็ได้เข้าประชุมอย่างแข็งขันร่วมกับกลุ่มนายทหารและพลเรือนอีกมากมาย ซึ่งการประชุมวันนั้นมุ่งเน้นเรื่องเงินทุนที่จะใช้เพื่อก่อการ นายอุทัยแจ้งว่าตนยินดีสละเงินช่วยเหลือและจะติดต่อทาบทามธนาคารแห่งหนึ่งมาเป็นนายทุนสนับสนุนหลัก น่าจะเป็น ธนาคารยู่เส็งเฮง ที่ นายฉลองนัยนาถ (ยู่เส็ง ธนโกเศศ) เป็นผู้จัดการอยู่ ส่วนเรื่องระบอบการปกครองที่จะสถาปนาขึ้นหลังจากปฏิวัติสำเร็จยังโต้เถียงกันไม่ลงตัว

จะเห็นได้ว่า นายบุญเอกเป็นสมาชิกที่เป็นพลเรือนคนหลักๆ ระดับตัวยงของคณะ ร.ศ. 130 อย่างแน่แท้ แต่เมื่อทางการสยามทราบถึงแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเข้าจับกุมตัวสมาชิกคณะนี้ในฐานเป็นกบฏ กลับไม่มีใครนึกถึงนายบุญเอกเลย เขาจึงรอดพ้นโทษทางการเมืองมาได้ สามารถใช้ชีวิตและไปทำงานสถานทูตฝรั่งเศสตามปกติ

น่าฉุกคิดเช่นกันว่า เหตุใดนายปรีดีจึงเอาใจใส่ต่อเรื่องราวของนายบุญเอก ทั้งๆ ที่เขามิใช่คนที่เป็นจุดสนใจเลยในเหตุการณ์คณะ ร.ศ. 130 คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคนั้นแทบไม่ค่อยมีใครทราบ แม้กระทั่งท่านทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตคนอื่นๆ เพราะ นายบุญเอกไปลอบเข้าร่วมก่อการโดยไม่บอกใคร

ผมวิเคราะห์ว่า นายปรีดีเองน่าจะเคยได้คลุกคลีหรือร่วมสนทนากับนายบุญเอก ผู้ทำงานประจำสถานทูตฝรั่งเศสก็คงเมื่อตอนนายปรีดีเป็นนักเรียนกฎหมายที่กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส จึงมีความจำเป็นต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่คนไทยประจำสถานทูตแห่งนี้

การที่ นายปรีดี พนมยงค์ สามารถจดจำ นายบุญเอก ตันสถิตย์ แห่งสถานทูตฝรั่งเศสได้แม่นยำ แม้ใครๆ จะหลงลืมเขาไป ย่อมสะท้อนว่า นายปรีดี เป็นผู้ที่ให้ความสนใจและยกย่องกับบทบาทของคนทุกคนโดยมิได้ละเลยมองข้าม และนี่คือฐานคิดที่เล็งเห็นความสำคัญของคนที่ปฏิบัติงานอย่างเท่าเทียมกัน เพราะสำหรับ นายปรีดี แล้ว คณะ ร.ศ. 130 ทุกคนก็คือ “พวกพี่ๆ” ทั้งยังนิยามการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันประสบความสำเร็จนั้นว่า 

 

“พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ. 130 ว่า พวกพี่ๆ ต่อไป”

 

เอกสารอ้างอิง :

  • กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อ 70 ปีก่อน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์, 2524.
  • ถัด รัตนพันธุ์, นายร้อยตรี. เพื่อนตาย. ชาวคณะ ร.ศ. 130 พิมพ์ชำร่วยในงานฌาปนกิจศพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา 11 มกราคม พ.ศ. 2480 ณ เมรุเชิงบรมบรรพตวัดสระเกษ. พระนคร: โรงพิมพ์จันหว่า, 2480.
  • แถมสุข นุ่มนนท์. “การจับกุมทหารก่อการกำเริบ ร.ศ. 130”. วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2522). หน้า 1-25.
  • ปรีดี พนมยงค์. “การริเริ่มการมีจิตสำนึกของข้าพเจ้า.” รัฐสภาสาร ปีที่ 48 ฉบับที่ 5 (พฤษภาคม 2543), หน้า 1-5.
  • ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. แปลจาก Ma vie mouvementee’ et mes 21 ans d’exil en chine populaire โดย พรทิพย์ โตใหญ่ และจำนง ภควรวุฒิ. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529.
  • ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526.
  • เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์. ปฏิวัติ ร.ศ. 130. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.
  • เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต. กับ เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ต..ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. 130. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์ ) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 19 เมษายน 2503. พระนคร : บริษัทกิมหลีหงวนจำกัด, 2503.