ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี พนมยงค์: “ได้ทำกิจกรรมเกินค่าของการที่จะเรียกว่ารัฐบุรุษอาวุโสด้วยซ้ำไป”

27
พฤษภาคม
2563

เนื่องในโอกาส 114 ปีชาตกาล พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) หรือที่รู้จักกันในนาม “พุทธทาสภิกขุ”  27 พฤษภาคม 2449-2563 จึงขอนำธรรมกถาชิ้นสำคัญที่มาจากบันทึกเสียงของท่านจากสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนำมาเปิดให้สาธุชนได้รับฟัง ณ กองบังคับการตำรวจน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ในงานอัญเชิญอัฐิธาตุของนายปรีดี พนมยงค์ ไปลอยอ่าวไทย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2529 มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง

- - - - -


ที่มาภาพ: หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

 

ท่านสาธุชนผู้มาร่วมสันนิบาตในการบำเพ็ญทักษิณานุปทานกิจ อุทิศแด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในวันนี้ทั้งหลาย

อาตมาขอโอกาสกล่าวคำอนุโมทนาร่วมด้วยในการกุศลทักษิณานุปทานกิจในวันนี้เป็นที่ระลึกแก่ท่านผู้นั้น  ในความรู้สึกของอาตมา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นผู้สนใจในพระพุทธศาสนา ในการปรับปรุงพระพุทธศาสนาให้ทันสมัย  

ท่านพอใจในกิจการของสวนโมกข์ จนถึงกับได้ขอร้องให้อาตมามาแสวงหาที่เพื่อจะจัดสวนโมกข์ขึ้นในจังหวัดอยุธยา และเมื่อได้แสวงหาจนสุดความสามารถแล้วก็ไม่พบสถานที่ที่อาจจะทำได้ เป็นอันว่ายกเลิกไป  ถ้าหาสถานที่นั้นได้ ก็จะมีสวนโมกข์อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยาเป็นแน่นอน

สำหรับอาตมาได้รับคำขอร้องจากท่านผู้นี้ ให้ทำทุกอย่างเพื่อการเผยแผ่ศาสนาที่ทันสมัย อาตมาก็ได้สนองความประสงค์อันนี้ พยายามทำหนังสือหนังหาทุกแง่ทุกมุมที่จะสนองความประสงค์อันนั้น เท่าที่เห็น ๆ กันอยู่แล้วในบัดนี้ และได้สนองด้วยการแสดงปาฐกถาครั้งหนึ่ง เรียกชื่อว่า “พุทธธรรมกับประชาธิปไตย” ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้ไปร่วมฟังจนตลอดเวลา

หนังสือบางเล่มที่ทำขึ้นเป็นที่สนใจเป็นพิเศษคือหนังสือ ปฐมสมโภชสำหรับคนหนุ่มสาว ท่านออกปากว่าไม่เคยครองเรือน ไม่เคยมีชีวิตครองเรือน ทำไมบรรยายได้ละเอียดลอออย่างกับคนมีชีวิตครองเรือน  อาตมาก็ไม่ได้ตอบ เพราะว่าเกรงใจ  

แต่เดี๋ยวนี้อยู่ในที่ลับหลังเช่นนี้ก็จะตอบ เสมือนกับมีการตอบในครั้งนั้นว่า อาตมามีการครองเรือน มีการสมรส  สมรสกับวาณี  วาณี ที่เรียกกันว่านางฟ้า กล่าวคือพระไตรปิฎกที่เกิดจากดอกบัว กล่าวคือพระโอษฐ์แห่งพระพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งมุนี จงผูกรัดจิตใจของข้าพเจ้าให้ยินดีอย่ารู้สร่าง แล้วอาตมาก็มีชีวิตสมรส ก็ยังมีชีวิตสมรสอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้กับผู้ที่เรียกว่า วาณี  ดังนั้นขอให้ถือว่ามีทางที่จะบรรยายความรู้สึกอันนี้ได้เท่ากัน 

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสยังขอร้องให้อาตมาช่วยแต่งบทเพลง สำหรับพุทธบริษัทจะได้มีเพลงร้องกับเขาบ้างเหมือนศาสนาอื่น ๆ  ข้อนี้อาตมาจนปัญญา  จนปัญญา ทำไม่ได้ แต่งเพลงไม่เป็น  

นี้เรียกว่าส่วนที่เกี่ยวกับอาตมาก็มีความหมายมาก จนถึงกับรู้สึกว่าจะต้องมาร่วมอนุโมทนา ด้วยความรู้สึกอันแท้จริง

ทีนี้เท่าที่เกี่ยวกับประเทศชาติ ใคร ๆ ก็ยอมรับกันทั่วไปว่ารัฐบุรุษอาวุโสเป็นผู้กระทำ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงกระทำให้วิญญาณแห่งประชาธิปไตยสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมในประเทศไทย  โดยเฉพาะก็คือ การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง  เป็นกิจกรรมที่ใครรู้กันทั่วไปหมด 

อีกประการหนึ่ง ท่านได้ทำให้กฎหมาย ระบบกฎหมายของไทยที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ นานาชาตินั้น  ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้ปรับปรุงให้กฎหมายไทยสมบูรณ์จนเป็นที่ยอมรับเคียงบ่าเคียงไหล่กันกับอารยประเทศทั้งหลาย เป็นความสำเร็จอันสูงสุด 

และอีกประการหนึ่งก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ทำให้พันธสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นกลายเป็นโมฆะไปโดยตลอด  ประเทศไทยไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงคราม เหมือนกับว่ารอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ เหมือนในขณะสำคัญ ซึ่งเคยมีมาเป็นระยะ ๆ ในประเทศไทยเรา 

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ทำกิจกรรมเกินค่าของการที่จะเรียกว่ารัฐบุรุษอาวุโสด้วยซ้ำไป สิ่งที่สำคัญพิเศษสูงสุดอีกอย่างหนึ่งซึ่งควรระลึกถึง คือท่านรัฐบุรุษอาวุโสต้องรับเคราะห์ ด้วยการถูกขับออกจากประเทศ เพราะเสนอลัทธิสังคมนิยม เพื่อเป็นหลักการปกครองประเทศชาติ เมื่อเขาไม่เห็นด้วยเพราะความไม่เข้าใจความหมายของคำว่าสังคมนิยมก็เลยต้องพ่ายแพ้ 

ฉะนั้น ข้อนี้อาตมาก็ได้รับเคราะห์ หรือกำลังได้รับเคราะห์อย่างเดียวกัน คือเสนอหัวใจของสังคมนิยมว่าเป็นหัวใจของทุกศาสนา ทุกศาสนาสอนลัทธิสังคมนิยม ให้รักกันอย่างเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย จนนายทุนรักกรรมกร กรรมกรรักนายทุน คนมั่งมีรักคนยากจน คนยากจนรักคนมั่งมี  ลัทธินี้เรียกว่าธรรมมิกสังคมนิยม  อาตมายังขอยืนยันอยู่ว่า เป็นหัวใจของศาสนาทุกศาสนา 

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เสนอหลักการอันนี้ขึ้น แต่กลับได้รับผลตอบแทน คือต้องถูกขับออกจากประเทศเป็นที่น่าประหลาด น่าอัศจรรย์ น่าเศร้า หรือน่าอะไรทั้งหมด  อาตมาก็ฝากความรู้สึกอันนี้ไว้เป็นที่ระลึกแก่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส อาตมายังจะพยายามให้ลัทธิธรรมมิกสังคมนิยมเข้ามาอยู่ในหัวใจของประชาชนทั้งหลายให้จนได้ แล้วก็จะได้เป็นหลักเกณฑ์สำหรับมนุษย์ทั้งโลก จะอยู่กันอย่างว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน

อันนี้ขออนุโมทนาในการเสียสละอย่างสูงสุดของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ขออนุโมทนาไว้ในที่นี้ ให้เป็นที่ปรากฏชัดเหนือสิ่งอื่นใด และขอให้ถือเสมือนหนึ่งว่าท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ร้องเตือนเราทั้งหลายว่า ขอให้ใช้ลัทธิวิญญาณสังคมนิยม รักสิ่งที่มีชีวิตอย่างเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย จนกระทั่งกรรมกรรักนายทุน นายทุนรักกรรมกร คนมั่งมีรักคนจน คนยากจนรักคนมั่งมี รักลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน รักลงไปถึงสิ่งมีชีวิต เช่น ต้นไม้ เป็นต้น ไม่มีการทำลายสิ่งที่มีชีวิตอย่างโง่เขลาอีกต่อไป เพราะมีวิญญาณแห่งธรรมมิกสังคมนิยม

ขอพวกเราทั้งหลายจงได้อนุโมทนาในการเสียสละของท่านรัฐบุรุษอาวุโส อาตมาขออนุโมทนาในการกระทำวันนี้ ด้วยอาศัยคำว่า จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ขอให้ธรรมะอันประเสริฐสี่ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ จงเจริญงอกงามแก่ผู้ที่ทำหน้าที่ของตน ๆ โดยไม่มีความขาดตกบกพร่อง  คำอนุโมทนา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
 

 

หมายเหตุ:

ปรับปรุงจากที่พิมพ์ครั้งแรกใน ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2529), หน้า 375-379

ชื่อบทความนี้ ปรีดี พนมยงค์: “ได้ทำกิจกรรมเกินค่าของการที่จะเรียกว่ารัฐบุรุษอาวุโสด้วยซ้ำไป” เคยเผยแพร่ในชื่อ ธรรมกถา ของ พระเทพวิสุทธิเมธี (พุทธทาส อินฺทปญฺโญ)