ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

หนังสือพิมพ์และการต่อสู้ ภายหลังรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476

21
มิถุนายน
2563

ความเป็นไม้เบื่อไม้เมาระหว่างรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับหนังสือพิมพ์สิ้นสุดลง เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทํารัฐประหารยึดอํานาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 หนังสือพิมพ์ได้ให้ความสนับสนุนคณะรัฐประหารเป็นอย่างดี และแสดงความหวังเป็นอย่างมากว่า รัฐบาลชุดใหม่คงจะได้ตระหนักถึงสถานะและปัญหาของการดําเนินทุนหนังสือพิมพ์ ในฐานะสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว ความหวังของหนังสือพิมพ์แจ่มใสขึ้น เมื่อพระยาพหลฯ ผู้เป็นที่เคารพนับถือของหนังสือพิมพ์มาตลอด ได้ให้สัมภาษณ์ต่อคณะหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น แสดงถึงการยอมรับความสําคัญของหนังสือพิมพ์ แม้จะเป็นการพูดทํานองมีเงื่อนไข แต่ก็แสดงความใจกว้างพอสมควร

“...ข้าพเจ้าจะให้สิทธิแก่หนังสือพิมพ์เต็มที่ ข้าพเจ้าไม่ชอบการใช้อํานาจปิดปากกัน ถ้าว่าจะมีการปิดหนังสือพิมพ์ต่อไป ก็จะมีการไต่สวนพิจารณากันอย่างชัดเจนเสียก่อนว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นมีเจตนามุ่งร้ายต่อชาติเป็นแน่แท้ ข้าพเจ้าจะให้หนังสือพิมพ์ติชมอย่างเต็มที่ ขออย่างเดียวว่า ให้มีความยุติธรรมตรงไปตรงมา ข้าพเจ้ามีน้ําใจเป็นนักกีฬาพอจะทนฟังคําติชมได้ แม้แต่ข้าพเจ้าเองจะถูก “ด่า” จากหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้าก็เต็มใจฟัง แต่ขอให้มีเหตุผลตักเตือนให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่แกล้งกล่าวเสียดสีใส่ร้าย  สิ่งใดที่เป็นคําเตือน ซึ่งเห็นเป็นประโยชน์แก่ชาติแล้ว ขอให้กล่าวออกมาเถิด ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ําอีกครั้งหนึ่งว่า ข้าพเจ้าไม่นิยมการใช้อํานาจ ถ้าว่าจะได้มีการปิดหนังสือพิมพ์กันต่อไป  ก็ไม่ใช่เพื่อปิดปาก แต่จะปิดด้วยความยุติธรรมที่เห็นว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นมีจุดปรารถนาให้ร้ายแก่ชาติอย่างแท้จริงแล้ว…”[1]

รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้แสดงความปรารถนาดีต่อหนังสือพิมพ์ ประการหนึ่ง ด้วยการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรอนุญาตให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับส่งตัวแทนเข้าฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ฉบับละ 1 คน พร้อมกันนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการ มีพระยาศรยุทธเสนี เป็นประธานกรรมาธิการ และกรรมการอื่น ๆ อีก 6 ท่าน มีพระเรี่ยมวิรัชชพากษ์ และหลวงวิจิตรวาทการ เป็นอาทิ ทําหน้าที่พิจารณาให้ผู้แทนหนังสือพิมพ์เข้านั่งฟังการประชุมสภา

แม้ว่าพระยาพหลพลพยุหเสนาจะแสดงความใจกว้างต่อสถาบันหนังสือพิมพ์มากกว่ารัฐบาลชุดก่อนดังกล่าวมาแล้ว แต่การที่ไม่มีตัวบทกฎหมายพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์เป็นการแน่นอน และอํานาจในการควบคุมหนังสือพิมพ์ขึ้นอยู่กับระบบราชการ ทําให้คําพูดของท่านมีผลในทางปฏิบัติไม่มากนัก ทั้งรัฐบาลในขณะนั้นก็มีความจําเป็นที่จะต้องระมัดระวังในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยกําลังทางทหาร ย่อมส่อให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางการเมือง อันอาจเป็นเหตุให้มหาอํานาจตะวันตกถือโอกาสเข้าแทรกแซงได้ ดังนั้น เมื่อ กรุงเทพฯ วารศัพท์[2] ได้พาดหัวข่าวว่า “ญี่ปุ่นรับรองจะช่วยสยาม ถ้ามีการแทรกแซงภายนอกขึ้นในระหว่างยุคนี้” กองโฆษณาการจึงได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวทันที โดยแถลงว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะบํารุงพระราชไมตรีกับนานาประเทศก็จริง แต่ประเทศไทยไม่ต้องการผูกพันกับประเทศใดโดยเฉพาะ

สาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่ทําให้หนังสือพิมพ์ไม่อาจมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ เนื่องมาจากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างผู้นิยมระบอบเก่า และผู้สนับสนุนระบอบใหม่ยังคงดําเนินนโยบายต่อไป แม้ว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจะหมดอํานาจลงแล้ว รัฐบาลจึงยังต้องพยายามที่จะขจัดอิทธิพลของระบอบเก่าให้หมดไป ทําให้หนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นเวทีของการแสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้างขวางถูกควบคุมเสรีภาพ เพราะรัฐบาลย่อมวิตกว่า ผู้นิยมระบอบเก่าจะใช้เป็นกระบอกเสียงโค่นล้มพวกระบอบใหม่ได้

หนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลเชื่อว่าสนับสนุนระบอบเก่า คือ หนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทสยามฟรีเปรส ได้แก่ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ และ เสรีภาพ เพราะนอกจากจะเป็นบริษัทในสังกัดของกรมพระคลังข้างที่แล้ว ผู้จัดการบริษัทสยามฟรีเปรส คือ พระยาศราภัยพิพัฒ ยังเคยเป็นทหารคนสนิทของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต อดีตเสนาบดีกลาโหมมาก่อน  ทั้งหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับได้แสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลในระบอบใหม่เสมอมา แต่ความเชื่อดังกล่าวจะเป็นจริงเพียงใดนั้น ไม่อาจทราบได้

จากการสนทนากับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสบางคนและพิจารณาจากท่าทีของ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เท่าที่จะสามารถหาอ่านได้ในหอสมุดแห่งชาติ ทําให้ผู้เขียนเข้าใจว่า หนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอยู่ในระดับหนึ่ง แต่การที่ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ มักคัดค้านคณะราษฎรในระยะหลัง ๆ คงเป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายหรือการกระทําบางอย่างของคณะราษฎร มากกว่าจะเป็นเพราะไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคณะราษฎรมีแนวโน้มที่จะแบ่งหนังสือพิมพ์ออกเป็นเพียง 2 ประเภท คือ หนังสือพิมพ์ที่ดําเนินงานโดยสมาชิกผู้ก่อการจัดเป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนคณะราษฎร และหนังสือพิมพ์ซึ่งดําเนินงานโดยบุคคลอื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการในระบอบเก่า) ถือว่า เป็น “ศัตรู”[3] เช่นนี้แล้ว ย่อมทําให้คณะราษฎรปักใจเชื่อว่า หนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทสยามฟรีเปรส เป็นปากเสียงของระบอบกษัตริย์นิยมโดยเต็มที่

ทั้งหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ก็เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งได้รับความนิยมอยู่ค่อนข้างมาก จึงย่อมทําให้รัฐบาลคณะราษฎรหวั่นเกรงอิทธิพลของ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ อยู่เป็นธรรมดา ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลคณะราษฎรได้พยายามหาทางควบคุม กรุงเทพฯ เดลิเมล์ มาตลอด โดยเคยส่งพระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกลาโหม มาเจรจาเสนอเงินแก่ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เพื่อขอให้ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เปลี่ยนแนวและวิธีการวิจารณ์รัฐบาล แต่ปรากฏว่าบรรณาธิการ คือ หลุย คีรีวัต และผู้จัดการบริษัทสยามฟรีเปรส คือ พระยาศราภัยพิพัฒ ปฏิเสธข้อเสนอนั้น  หลุยได้บันทึกแสดงความประหลาดใจต่อการกระทําของรัฐบาลครั้ง นี้ไว้ว่า

“...วิธีการต่อสู้ของเราก็มิได้อุบัติขึ้นมาในสมัยการเปลี่ยนแปลงนี้ หากแต่เป็นอุดมคติที่เราได้ทําอยู่ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมิได้นึกว่าวิธีการของเรานี้ ซึ่งเคยได้รับความนิยมยกย่องจากคนชั้นสูงมาแล้ว จะมาเป็นเรื่องแสลงแก่พวกเจ้าฟ้าในระบอบประชาธิปไตย…”[4]

ความไม่พอใจของรัฐบาลหรือสมาชิกบางคนในคณะรัฐบาลต่อคณะผู้จัดทํา กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เห็นได้ชัดมากขึ้นเมื่อมีการส่งสําเนาหนังสือจากหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ไปถึงพระยาศราภัยพิพัฒ เมื่อวันที่ 16 ก.ก. 2476 เรียกร้องให้เลิกล้มการประชุมวางแผนต่อต้านรัฐบาล โดยได้เขียนเป็นทํานองขู่ว่า “มิฉะนั้นคณะที่ตกลงจะทําการอย่างรุนแรงได้” ซึ่งพระยาศราภัยพิพัฒก็เพียงแต่เขียนจดหมายตอบปฏิเสธข่าวที่ว่า ท่านจะจัดประชุมวางแผนต่อต้านรัฐบาล และท่านยินดีที่จะให้ทางการเรียกไปสอบสวนทุกเวลา

เมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ ไปสัมภาษณ์พระยาพหลพลพยุหเสนา เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนาได้แถลงว่า หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้รายงานท่านเกี่ยวกับสําเนาหนังสือดังกล่าว หลังจากที่บุคคลทั้งสองได้ส่งสําเนาหนังสือไปแล้ว 2 วัน หนังสือพิมพ์อื่น ๆ ต่างพากันลงข่าวนี้อย่างครึกโครม เพราะ ป็นที่เข้าใจว่าคงเป็นการหาทางควบคุม กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ทางหนึ่ง หลังจากนั้นอีกไม่กี่สัปดาห์ กองโฆษณาการก็ได้ขอตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทสยามฟรีเปรส 3 ฉบับ โดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้

“...ก่อนอื่นรัฐบาลขอขอบใจหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ที่ได้แสดงไมตรีจิตต่อรัฐบาลชุดนี้ และโฆษณาข้อความโดยยุติธรรม เว้นแต่ บางกอกเดลิเมล์, กรุงเทพฯ เดลิเมล์, เสรีภาพ ได้แสดงเจตนาร้ายจงใจยุยงให้คนไทยและต่างประเทศเสื่อมความเชื่อถือในรัฐบาลนี้แต่ต้นมา...

“และไม่ได้ทําอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ราษฎร และความบางเรื่องหนังสือพิมพ์ กลับสัตย์และเขียนโดยไม่มีมูล เช่นว่า สมาชิกแห่งสภากําลังจะเสนอความเห็นให้เรียก หลวงประดิษฐ์กลับเมืองไทย... นอกจากนั้นยังใช้ถ้อยคําสํานวนแดกดัน และคิดถ้อย คําที่รัฐบาลให้สัมภาษณ์ให้ผิดเพี้ยน หรือทิ้งข้อความที่ควรจะเขียนและเรียบเรียงโดยวิธีที่แลเห็นได้ชัดว่า มีเจตนาร้ายพยายามให้ผู้อ่านบังเกิดความดูหมิ่นรัฐบาล และให้ชาวต่างประเทศแลเห็นว่า เมืองไทยกําลังตกอยู่ในอาการยุ่งยากอย่างมากมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้เชิญเจ้าหน้าที่ของคณะนี้มาร้องขอให้ทําตนเป็นคนรักชาติ และอย่าให้ทําการอันใดที่เป็นเหตุให้เมืองไทยได้รับภัยจากต่างประเทศ คําร้องนี้ไม่มีผล คงกระทําตามเติม รัฐบาลจึงกระทําอย่างละมุนละม่อม คือ ขอตรวจข่าว…”[5]

ความพยายามในการควบคุม “ปากเสียง” ของหนังสือพิมพ์ ซึ่งรัฐบาลพิจารณา เห็นว่ามีท่าที่เป็น “ศัตรู” กับรัฐบาล เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การต่อสู้ทางการเมือง ระหว่างฝ่ายนิยมระบอบเก่า และฝ่ายนิยมระบอบใหม่ ยังคงดําเนินอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะเป็นไปอย่างเงียบๆ

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2476 ขึ้นเพื่อจํากัดเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ให้เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น สาระที่สําคัญ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ อยู่ในมาตรา 18 และ 24 ซึ่งกําหนดให้อํานาจแก่เจ้าพนัก งานการพิมพ์ในการแต่งตั้งถอดถอนใบอนุญาต โดยมีกําหนดหรือไม่มีกําหนดก็ได้  ใน กรณีที่ลงบทความซึ่งทางการเห็นว่า เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลต่างประเทศที่มีพระราชไมตรีกับประเทศไทย หรือในกรณีที่บทประพันธ์นั้น ๆ อาจทําให้เกิดผลร้ายต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

นอกจากสาระสําคัญใน 2 มาตรานี้แล้ว พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2476 ฉบับนี้ยังได้กําหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดํารงตําแหน่งบรรณาธิการว่า ต้องสําเร็จมัธยมบริบูรณ์ หรือมิฉะนั้นต้องผ่านการทดสอบจากคณะกรรมการซึ่งคณะรัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้น นอกจากนั้นโรงพิมพ์จะต้องหาคนขออนุญาตเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาสําหรับแท่นพิมพ์ทุก ๆ แท่นด้วย

การต่อสู้ทางการเมือง ระหว่างฝ่ายนิยมระบอบเก่าและฝ่ายนิยมระบอบใหม่ ได้ประทุขึ้นเป็นการต่อสู้ทางอาวุธ ในเดือนตุลาคม 2746 เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้ซึ่งผิดหวังจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะราษฎร[6] พร้อมด้วยทหารบางส่วน ได้ก่อการกบฏขึ้น เป็นผลให้เกิดสงครามกลางเมือง วิกฤติการณ์ดังกล่าวทําให้รัฐบาลอ้างความจําเป็นที่ต้องเข้าควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวดอีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัยกฎอัยการศึกซึ่งประกาศใช้เมื่อเกิดกบฏ มีคําสั่งให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับทั่วพระราชอาณาจักร นําต้นฉบับอันเกี่ยวกับข่าวสารการเมืองไปให้กรมโฆษณาตรวจก่อนลงพิมพ์ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี ทั้งโรงพิมพ์ต่าง ๆ เช่น ศรีกรุง ไทยหนุ่ม บํารุงนุกูลกิจ ไทยใหม่ ประมวลวัน ยังได้ช่วยพิมพ์คําแถลงการณ์ของรัฐบาลสําหรับแจกจ่ายประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์ยังช่วยลงข่าวและความเห็นไปในทํานองให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาล และชักจูงให้ทหารกบฏกลับใจมาเข้ากับรัฐบาลอีกด้วย

กบฏบวรเดชครั้งนี้ทําให้รัฐบาลถือเป็นโอกาสที่จะปราบปรามผู้ที่สงสัยว่าจะนิยมระบอบเก่าอย่างจริงจัง โดยตั้งศาลเป็นพิเศษขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 และได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดี เรียกว่า “คณะกรรมการผู้ดําเนินการตาม พ.ร.บ. ป้องกันรัฐธรรมนูญ” นักหนังสือพิมพ์สังกัด กรุงเทพฯ เดลิเมล์ คือ หลุย คีรีวัต  เทอญ มหาเปารยะ  ชะอ้อน อําพล  และผู้อํานวยการบริษัทสยามฟรีเปรส คือ พระยาศราภัยพิพัฒ ได้ถูกรัฐบาลเรียกไปไต่สวน และตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการเกี่ยวข้องกับพวกกบฏ  และต่อมาศาลพิเศษได้ตัดสินพระยาศราภัยพิพัฒ และหลุย ศรวัต เป็นขบถต่อราชอาณาจักร มีโทษถึงประหารชีวิต แต่ได้รับลดหย่อนเหลือเพียงจําคุกตลอดชีวิต สําหรับหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ จึงถูกปิดโดยไม่มีกําหนด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476

นโยบายของรัฐบาลคณะราษฎรในการเข้าควบคุม “ปากเสียง” ของหนังสือ พิมพ์ที่คัดค้านรัฐบาลอย่างรุนแรงดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งในจํานวนสาเหตุอื่น ๆ ที่ทําให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงยื่นข้อเสนอไปยังคณะรัฐบาล 9 ข้อ โดย ในข้อที่ 3 ได้ทรงขอร้องให้รัฐบาลได้ปฏิบัติตามมาตรา 14 แห่งรัฐธรรมนูญ คือ ให้เสรีภาพในการพูด การเขียน การโฆษณา อย่างที่ได้ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ

“...ตามที่เป็นมาแล้ว หนังสือพิมพ์ที่พูดอะไรไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลก็ถูกปิด และหนังสือพิมพ์ที่คัดค้านนโยบายของรัฐบาลก็ต้องล้มเลิก เช่น หนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ เป็นต้น ต่อไปขออนุญาตให้หนังสือพิมพ์ออกความเห็นได้จริง ๆ และให้ติชมนโยบายของรัฐบาลได้จริง จะถูกปิดได้ต่อเมื่อยุยงให้เกิดการจลาจลอย่างชัด ๆ เท่านั้น เมื่อครั้งก่อนมีรัฐธรรมนูญหนังสือพิมพ์มีเสรีภาพกว่าเดี๋ยวนี้เป็นอันมาก…”[7]

รัฐบาลได้โต้ตอบข้อเสนอทั้ง 9 ข้อตามลําดับ ในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ รัฐบาลได้ชี้แจงว่า

“...เดลิเมล์ ได้ยุยงให้เกิดการจลาจลอย่างชัด จึงต้องถูกปิด กรรมการอุทธรณ์ได้วินิจฉัยยืนตามคําสั่งพนักงานการพิมพ์ และจะทรงเห็นได้ว่า ตัวการสําคัญในหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ เช่น นายหลุย คีรีวัต และพระยาศราภัยพิพัฒ ได้เป็นกบฏอย่างชัด ๆ นอกจากนี้เมื่อมีพระราชบัญญัติใหม่แล้ว รัฐบาลมิได้ปิดหนังสือพิมพ์ใด ๆ และรัฐบาลต้องระมัดระวังในการที่จะสอดส่องมิให้หนังสือพิมพ์ใช้เสรีภาพในการกล่าวกระทบกระเทือนถึงพระองค์ ทั้งที่เป็นมาแล้วก็ได้จัดการปิดหรือฟ้องร้องผู้กระทําผิด…”[8]

เมื่อข้อเสนอทั้ง 9 ข้อของพระองค์ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลเท่าที่ทรงเรียกร้อง รวมทั้งทรงมีความเชื่อว่ารัฐบาลคณะราษฎรมีจุดประสงค์ที่จะลดพระเกียรติ และฐานะของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงลาออกจากราชบัลลังก์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เนื่องจากรัฐบาลเกรงว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจก่อให้เกิดความระส่ําระสายในหมู่ประชาชนได้ รัฐบาลจึงออกประกาศกําชับหนังสือพิมพ์ว่า

“...มิให้บรรดาหนังสือพิมพ์ลงข่าวอันเกี่ยวงานกรณีที่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลาออกจากราชสมบัติ ความแจ้งอยู่แล้ว บัดนี้เป็นการสมควรสังยืนยันมาอีกว่า  เพื่อให้ตระหนักไว้ว่า ข่าวอันเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวแล้ว ยังห้ามมิให้หนังสือพิมพ์ออกโฆษณาแต่ประการใด..”[9]

หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ได้พากันโจมตีประกาศทางราชการครั้งนี้ว่า เป็นการควบคุมและ “มัดมือ” หนังสือพิมพ์อย่างมาก เพราะหนังสือพิมพ์ซึ่งทําหน้าที่เป็นสื่อกลาง การติดต่อระหว่างรัฐบาลและประชาชนไม่สามารถลงข่าวที่สําคัญที่สุดนี้ ทั้งข่าวดีและ ข่าวร้าย หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องที่แปลมาเลย หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ อธิบดีกรมโฆษณา การ ได้แถลงว่า ที่กรมโฆษณาการส่งประกาศออกไปนั้น เป็นความต้องการของรัฐบาล

ซึ่งไม่ปรารถนาให้หนังสือพิมพ์ลงข่าวหรือความเห็นใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนได้ ดังนั้น กรมโฆษณาการจึงจําเป็นต้องห้ามหนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าวที่เกี่ยวกับการสละราชสมบัติอย่างเด็ดขาดโดยไม่มีข้อยกเว้น มีผลให้ ประชาชาติ โจมตีกรมโฆษณาการว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการให้ลงข่าวหรือความเห็นที่อาจก่อให้เกิด “ความกระทบกระเทือน” เท่านั้น มิใช่ห้ามลงข่าวใด ๆ “อย่างเด็ดขาด” อย่างที่กรมโฆษณาการแถลง[10]

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะถูกประกาศห้ามลงข่าวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเด็ดขาดแล้ว หนังสือพิมพ์ยังต้องถูกตรวจข่าวอย่างกวดขัน การดําเนินงานของกรมโฆษณาการในครั้งนี้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับมีความเห็นร่วมกันว่า  เป็นการลิดรอนเสรีภาพและสิทธิหน้าที่ของหนังสือพิมพ์อย่างมาก โดยเฉพาะการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ได้เป็นไปอย่างไม่สมเหตุสมผล  ในที่สุดหนังสือพิมพ์ 17 ฉบับจึงได้ร่วมมือกันร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีมหาดไทย ให้แต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอปฏิบัติงานแทนหลวงพิศาลยุทธกิจ หัวหน้าแผนกเอกสาร กรมโฆษณาการ ซึ่งหนังสือพิมพ์พิจารณาว่า กระทํางานตามอําเภอใจและเป็นอํานาจหน้าที่ของตน

กล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ทางการเมืองในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ มีผลต่อการจํากัดเสรีภาพของหนังสือพิมพ์อยู่มาก เพราะการปะทะกันอย่างแข็งขัน ระหว่างฝ่ายนิยมระบอบเก่าและระบอบใหม่ เป็นผลให้หนังสือพิมพ์ต้องถูกปิด ถูก เซ็นเซอร์ นักหนังสือพิมพ์ต้องถูกจับกุมคุมขัง แต่ถึงกระนั้นหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้เกรง กลัวจนถึงกับเงียบเสียงไม่กล้าทักท้วงเสียที่เดียว เพียงแต่เมื่อทักท้วงไม่เป็นผลก็ต้อง กระทําตามขอบเขตที่รัฐบาลกําหนดให้ไปเท่านั้น เพราะหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีอํานาจต่อ รองที่มาจากการสนับสนุนของประชาชนมากนัก

ระยะอํานาจนิยมทางทหาร การขึ้นสู่อํานาจทางการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 จนถึง พ.ศ. 2487 เป็นช่วงที่ทหารได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองอย่างเต็มที่ ความสําเร็จในการปราบปรามกบฏบวรเดช ได้มีผลให้ทหารตระหนักถึงความสําคัญของตนต่อประเทศมากขึ้น ดังนั้น เมื่อหลวงพิบูลสงครามดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงครามจึงมีความเชื่อมั่นว่า สถาบันทหารจะเป็นสถาบันเดียวที่สามารถสร้างระเบียบและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้ โดยเหตุนี้ หลวงพิบูลสงครามจึงเข้าคุมทั้งตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีมหาดไทย เพื่อควบคุมสถาบันทหารไว้สนับสนุนตนเอง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีสาเหตุที่ทําให้หลวงพิบูลสงครามต้องอาศัยกําลังทหารในการสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลให้มั่นคง คือ ความขัดแย้งทางการเมืองภายในระหว่าง หลวงพิบูลสงครามและสมาชิกคณะราษฎร ตลอดจนคนที่ไม่เห็นด้วยกับหลวงพิบูลสงคราม อีกทั้งเป็นระยะเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในยุโรป และมีทีท่าว่าจะลุกลามมาถึงประเทศไทยในที่สุด โดยเหตุนี้เพื่อที่จะขจัดปัญหาขัดแย้งต่าง ๆ และเพื่อให้การบริหารประเทศให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วขึ้น หลวงพิบูลสงครามจึงได้ใช้มาตรการกําจัดผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลอย่างเฉียดขาด เช่น การเนรเทศนักการเมือง ตั้งศาลเพื่อพิจารณานักโทษการเมืองเป็นครั้งแรก ในการพิจารณากรณีขบถพระยาทรงสุรเดช (หรือขบถผงสีขาว) ปรากฏว่า มีการประหารชีวิตนักโทษการเมืองถึง 18 คน รวมทั้งมีการลอบฆ่าผู้ต้องสงสัยระหว่างการจับกุม[11] ปรากฏการณ์ทางการเมืองดังกล่าวไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองไทย จนมีผู้ขนานนามช่วงเวลาดังกล่าวนี้ตามลักษณะเหตุการณ์ว่า “ยุคมืด” บ้าง “ยุคทมิฬ” บ้าง

การก้าวขึ้นสู่อํานาจทางการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม และแนวโน้มทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ เป็นที่สนใจของรัฐบาลต่างประเทศอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามมีนโยบายที่จะขยายกําลังกองทัพบก กองทัพเรือ มีการสั่งสร้างเรือใต้น้ําและสั่งซื้อปืนจากอิตาลี และพิมพ์แผนที่โฆษณาถึงราชการแสดงดินแดนของไทยในอดีต ซึ่งถูกต่างชาติยึดครองโดยไม่เป็นธรรม แจกจ่ายแก่ประชาชน ทําให้รัฐบาลต่างประเทศต้องคอยจับตาดูท่าที่ของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเป็นพิเศษ  นายพลจัตวา อี.โอ. ชาร์เลตัน (E.0. Charleton) ชาวอังกฤษ ได้เขียนบทความแสดงความเห็นยืนยันในหนังสือพิมพ์ Rising Strenge ซึ่งเป็นเสมือน “กองปากเสียง” ของทัพบกและสันนิบาตป้องกันประเทศและจักรวรรดิอังกฤษ ให้เห็นถึงอันตรายที่อังกฤษและฝรั่งเศสจะได้รับเป็นผลจากการสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารครั้งนี้

“...การที่ไทยได้รับการเอาเปรียบจากต่างชาติเช่นนี้ เวรเช่นนี้แหละอาจกลับมาตามสนอง ในเมื่ออาวุธยุทธภัณฑ์ในปัจจุบัน มาช่วยกระพือจิตต์ใจชองชาตินักรบให้เข้มแข็งขึ้น ด้วยสยามมีประวัติการสงครามสืบเนื่องมาเป็นอันดี…

“...ในทุกประการเราควรจะรักษามิตรภาพของราชอาณาจักรเมืองไทยไว้ ด้วยเราอาจจะต้องการพันธไมตรีของเธออย่างมากที่เดียวในเร็ว ๆ นี้ สยามอาจเป็นเพื่อนที่ดีได้ และดุจเดียวกับเธออาจเป็นศัตรูที่ร้ายแรงในทางยุทธศาสตร์…”[12]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสนับสนุนความเห็นของรัฐบาลต่างประเทศที่ว่า รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามมีแนวโน้มในการรวบรวมอํานาจทางการเมืองให้ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร จนมีลักษณะเป็นรัฐบาลเผด็จการภายใต้รัฐธรรมนูญมากกว่าจะพยายามปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้น เห็นได้จากทัศนคติและพฤติกรรมดังที่จะได้กล่าวต่อไปนี้ คือ

ทรรศนะทางการเมืองโดยส่วนตัวของหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งได้มีผู้ลงความเห็นว่า โดยพื้นฐานแล้ว หลวงพิบูลสงครามมิได้มีความศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง หากแต่มีความเชื่อว่า รัฐบาลที่มีกําลังทหารหนุนอยู่ย่อมเป็นรัฐบาลที่เหมาะสมที่สุดสําหรับประเทศด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทย ๆ[13]

ความประทับใจในลัทธิชาตินิยมของเยอรมัน และญี่ปุ่นในขณะนั้น บวกกับความต้องการพลังสนับสนุนจากประชาชน มีผลให้หลวงพิบูลสงครามได้นําวิธีปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนมาใช้บ้าง รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจึงเริ่มสร้างสิ่งเร้าใจต่าง ๆ เพื่อรวมพลังประชาชนโดยวิธีต่าง ๆ เช่น กําหนดรัฐนิยม จัดประกวด แต่งเพลงชาติ บทเพลง ละคร เพื่อเน้นให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย นอกจากนั้นยังใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงในการเผยแพร่ลัทธิชาตินิยม เช่น รายการสนทนาระหว่างนายมั่น ชูชาติ กับนายคง รักไทย ซึ่งจัดโดยนายสังข์ พัฒโนทัย และนายคงศักดิ์ จําศิริ ปากกระบอกเสียงของหลวงพิบูลสงครามในเวลานั้น รายการสนทนาดังกล่าวนี้ มักแฝงคําพูดที่สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยเสมอ เช่น

“...ความสามัคคี ความสงบ ความร่วมชีวิตจิตใจกันทั้งชาติ และการกระทําตามรัฐบาล นั่นแหละจะเป็นการกระทําที่ดี และเหมาะสมอย่างยิ่ง ทั้งเราก็จะเป็นเอกราชอยู่ได้…”[14]

ลักษณะนโยบายของหลวงพิบูลสงครามที่มุ่งจะสร้างอํานาจแก่ฝ่ายบริหารครั้ง นี้ จึงดูคล้ายกับว่า เป็นการลดความสําคัญของฝ่ายนิติบัญญัติลงไปในขณะเดียวกันด้วย ฝ่ายบริหารสามารถควบคุมรัฐสภาได้ในระยะแรก ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลได้รับชัยชนะในรัฐสภาในเรื่องเสนอให้มีการยืดอายุบทเฉพาะกาล ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองออกไปอีก 10 ปี

เมื่อพิจารณานโยบายและพฤติกรรมต่าง ๆ แล้วเลยเห็นได้ว่า รัฐบาลหลวงพิบูล สงครามได้พยายามดําเนินรอยตามระบอบเผด็จการของฮิตเลอร์ และรัฐบาลทหารของญี่ปุ่นซึ่งกําลังท้าทายมหาอํานาจตะวันตกในเวลานั้นหลายประการ ครอสบี้ (Crosby) นักวิชาการชาวอังกฤษผู้หนึ่ง เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยชื่อ Siam: the Crossroads แสดงความเห็นว่า นิสัยของคนไทยส่วนใหญ่ โดยทั่วไปนิยมสิ่งที่อยู่ในสมัย (fashion)  ครอสบี้กล่าวถึงหลวงพิบูลสงครามว่า หลวงพิบูลสงครามก็เช่นกัน ถ้าระบบเผด็จการเป็นที่นิยมในขณะนั้นแล้วไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า หลวงพิบูลสงครามจะพยายามปกครองแบบเผด็จการเช่นกัน[15]

บรรยากาศทางการเมืองในลักษณะเผด็จการดังกล่าว ย่อมส่งผลสะท้อนไปถึง หนังสือพิมพ์ที่เป็นสถาบันที่ต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลเป็นธรรมดา แม้ว่านักหนังสือพิมพ์บางคนจะมีอุดมคติในการดําเนินงานหนังสือพิมพ์ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่เจ้าของหนังสือซึ่งเป็นนายทุนย่อมต้องคํานึงถึงผลประโยชน์ของตนเป็นอันดับแรก เจ้าของหนังสือพิมพ์จึงมีอิทธิพลต่อนโยบายการดําเนินงานของหนังสือพิมพ์และพอใจที่จะให้หนังสือพิมพ์ของตนห่างไกลจากการกระทบกระทั่งกับรัฐบาลมากกว่าจะมีอุดมคติทางการเมืองอย่างจริงจัง ดังนั้น แม้ว่าหนังสือพิมพ์ไม่เห็นด้วยกับท่าทีอันเป็นเผด็จการของรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม เพราะมีผลให้การพัฒนาประชาธิปไตยหยุดชะงัก แต่โดยเหตุที่ว่านักหนังสือพิมพ์ก็จําต้องนึกถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของตนด้วย ซึ่งเมื่อเห็นตัวอย่างการประหารนักโทษการเมืองถึง 18 คน ในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดชแล้ว ทําให้นักหนังสือพิมพ์ย่อมตระหนักถึงภัยอันรุนแรงที่รัฐบาลอาจปฏิบัติต่อฝ่ายคัดค้านได้ โดยเหตุนี้หนังสือพิมพ์จึงระมัดระวังเป็นอย่างมากในการวิพากษ์วิจารณ์การดําเนินงานของรัฐบาล เช่น ต้องอาศัยศิลปะในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างอ้อมค้อมหรือในบางเรื่อง เช่น กรณีการตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมือง 18 คน ไม่มีหนังสือพิมพ์กล้าแสดงความเห็นอย่างใด นอกจากจะลงข่าวไปตามที่ได้รับจากกรมโฆษณาการเท่านั้น

 

ที่มา: พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม, บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์  (พ.ศ. 2475-2488) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2520), น. 51-62

 


[1] เสรีภาพ, 22 มิถุนายน พ.ศ. 2476.

[2] กรุงเทพฯ วารศัพท์, 9 สิงหาคม พ.ศ. 2476.

[3] สัมภาษณ์ มาลี พันธุจินดา สนิทวงศ์ฯ, อดีตนักหนังสือพิมพ์ประจำ สุภาพสตรี, 16 ก.ค. 2515.

[4] หลุย คีรีวัต, 17 ปีแห่งระบอบประชาธิปไตย (พระนคร: โรงพิมพ์วิบูลกิจ, 2493), น. 18.

[5] “แถลงการณ์กองโฆษณาการ,” เสรีภาพ, 4 สิงหาคม พ.ศ. 2476.

[6] คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 เรื่องกบฏกับคำปราศัยของนายกรัฐมนตรีและสำเนาพวกกบฏ (พระนคร: โรงพิมพ์ศิริอักษร, 2482), น. 61.

[7] กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ (พระนคร: โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, 2478), ไม่มีเลขหน้า.

[8] เพิ่งอ้าง, ไม่มีเลขหน้า,

[9] “การควบคุมข่าว,” (บทนำ), ประชาชาติ, 12 มีนาคม พ.ศ. 2477.

[10] ประชาชาติ, 12 มีนาคม 2477.

[11] สุทัศ ชมดี, บทบาทของรัฐสภาไทยในการควบคุมรัฐบาลโดยการอาศัยการอภิปรายทั่วไป, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2535, น. 18.

[12]  “สยามบูรณะกําลังรบและคอยอยู่ ความสลักสําคัญของสยามในอาเซียใหม่” (แปล), ประชาชาติ, 6 เมษายน พ.ศ. 2482

[13] Donald E. Nuechterlein, op. cit., p. 43.

 “พื้นฐานทางความคิดจิตใจของหลวงพิบูลสงคราม เป็นพวกที่ต่อต้านประชาธิปไตย เขามีความเชื่อว่าเผด็จการที่มีอํานาจทหารหนุนหลังเท่านั้น ที่จะนําประเทศต้องพัฒนาอย่างประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

(“Basically Pibun's philosophy was antidemocratie, he believed that authorian government based on military strength was the most efficient way to acheive progress in an underdeveloped nation such as Siam.”)

[14] กรมโฆษณาการ, ประมวลเหตุการณ์ในยุคใหม่ของไทย : บทสนทนาระหว่าง นายมั่น ชูชาติ และนายคง รักไทย ตั้งแต่ 8 ธ.ค. 2484- 20 ก.พ. 2485, พิมพ์ในงานฌาปานกิจศพ นายฮกฮุย ทรัพย์สุนทร (พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2484), น. 9.

[15] Sir Josiah Crosby, Siam: the Crossroads (London : n.p., 945), p. 89.