ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จิตใจวิทยาศาสตร์

10
กรกฎาคม
2563

โดยที่ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นวิทยาศาสตร์สังคม ฉะนั้น การที่บุคคลจะเข้าใจปรัชญาที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้ ก็ต้องมี “จิตใจวิทยาศาสตร์” เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่ต้องมีจิตใจวิทยาศาสตร์

จิตใจวิทยาศาสตร์มี 6 ประการ ดั่งต่อไปนี้

ก. จิตใจสังเกต 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “วิทยาศาสตร์” ไว้แล้วว่า “ความรู้ที่ได้โดยการสังเกต และค้นคว้าจากการประจักษ์ทางธรรมชาติแล้วจัดเข้าเป็นธรรมชาติแล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ”

นักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่โบราณกาลมา มีจิตใจสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติ ถ้าปราศจากการมีจิตใจสังเกต แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะพัฒนาวิทยาศาสตร์ได้

ข. จิตใจมาตรการ

คือเมื่อมีจิตใจสังเกตแล้ว ต้องมีจิตใจมาตรการ มิฉะนั้น เป็นการสังเกตเลื่อนลอย

มาตรการ คือ การกำหนดให้รู้ถึงขนาดปริมาณและคุณภาพของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่า เหมือนกันและแตกต่างกัน ทั้งในทางปริมาณ สถานที่ เวลา[1]

เด็กที่น่ารักน่าเอ็นดูแสดงความนึกคิดโดยผู้ใหญ่ไม่ได้สอนนั้น เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดนั้น เด็กมีความสามารถในการสังเกตปริมาณว่า สิ่งใหญ่ต่างกับสิ่งเล็ก, ของมากต่างกับของน้อย, เวลาช้าต่างกับเวลาเร็ว  ถ้าเด็กโตขึ้นเอาจริงเอาจังกับมาตราการ เด็กก็เข้าถึงวิทยาศาสตร์ดีขึ้น สามารถเปรียบเทียบความเหมือนกัน และความต่างกัน ในสภาพท้องที่ กาลสมัย อันเป็นจิตใจวิทยาศาสตร์ดีขึ้น

ค. จิตใจค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผล และใช้ความคิดทางตรรกวิทยา

ง. จิตใจพิเคราะห์หรือวิจารณ์

คือ ในการสังเกต, ในการใช้มาตรการ, ในการค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผลนั้น จะต้องพิเคราะห์หรือวิจารณ์ปรากฏการณ์ทุกอย่าง ถ้าปราศจากจิตใจเช่นนี้ก็เป็นการรับเอาปรากฏการณ์ทั้งดุ้น เข้าลักษณะจิตใจนอกเหนือธรรมชาติ (เมตาฟิสิกส์) และจิตธรรม

จ. จิตใจปราศจากอคติ

คือ การไม่ลำเอียงตามทรรศนะอัตวิสัย ของตน เพราะการลำเอียงเป็น “มายา” ที่พรางรูปธรรมที่ประจักษ์, ทำให้สังเกตไม่ชัด, ทำให้มาตรการบกพร่อง, ทำให้ค้นคว้าบกพร่อง, ทำให้ขาดการพิเคราะห์หรือวิจารณ์ความถูกต้องและความผิดพลาด

แม้ในทางสังคมนั้นมนุษย์จะมีจิตสำนึกตามสภาพความเป็นอยู่ที่ต่างกันตามวรรณะ แต่ในการหาความจริงในสภาวะของสังคมแห่งมวลมนุษย์ในสังคมก็ต้องไม่ตั้งทรรศนะลำเอียงจึงจะพิจารณารูปธรรมที่ประจักษ์ได้ และแม้จะพิจารณาสภาพความเป็นอยู่แห่งวรรณะของตน ก็ต้องไม่ตั้งทรรศนะลำเอียงจึงจะพิจารณารูปธรรมที่ประจักษ์แห่งวรรณะของตน ซึ่งเป็นพื้นฐานให้เกิดจิตสำนึกที่แท้จริงจากรูปธรรมที่ประจักษ์แห่งวรรณะของตน

ฉ. จิตใจที่มีความคิดเป็นระเบียบ

คือ การสังเกต, การใช้มาตรการ, การค้นคว้าหาหลักฐานแห่งเหตุผล, การพิเคราะห์หรือวิจารณ์, การปราศจากอคตินั้นต้องเป็นไปตามจิตใจที่มีความคิดเป็นระเบียบ ไม่ระส่ำระส่าย

 

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์, ปรัชญาคืออะไร?, มิถุนายน 2513, น. 39-41.

 


[1]  การศึกษาเบื้องต้นของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เช่น ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา ก็เริ่มต้นจากมาตรการ คือ ต้องรู้จักมาตรา ชั่ง ตวง วัด