ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นอนิจจังของสังคม : ทฤษฎีแห่ง “วิชชา” หรือ “สัมวุทธิวิทยา”

1
ธันวาคม
2566

Focus

  • “ทฤษฎีแห่งวิชชา” หรือ “สัมวุทธิวิทยา” (Theory of Knowledge/ Epistemology) อันคือความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะของสังคมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวิชาปรัชญา
  • ทฤษฎีแห่งวิชชาหรือสัมวุทธิวิทยาจำแนกได้สามประเภทใหญ่ๆ สำหรับผู้ที่ยึดถือ คือ (1) จำพวกที่ถือว่าการรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะทั้งหลายจำเป็นต้องอาศัยอนุสติที่ตั้งอยู่ก่อนมีญาณหรือปัญญา (2) จำพวกที่ถือว่าญาณหรือปัญญาของมนุษย์สามารถทำให้มนุษย์รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะทั้งหลาย (3) จำพวกที่ถือเอาการสัมผัสจากวิสัยหรืออวัยวะสัมผัสเป็นบ่อเกิดแห่งวิชชา 
  • สำหรับความเป็นอนิจจังของสังคมแล้ว การใช้ทฤษฎีผัสสะแห่งพระพุทธศาสนาสมานกับกิจกรรมของมนุษยชาติที่สัมผัสได้ของผู้คนในอดีตและปัจจุบัน ย่อมเป็นสัจจะสำหรับโลกและสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษยสังคม โดยการวิวรรตของมนุษยสังคมจะเข้าสู่ยุคมิดสัญญี และยุคศรีอารยเมตไตรยถัดมา

 

 

บทที่ 12 ทฤษฎีแห่ง “วิชชา” หรือ “สัมวุทธิวิทยา”

12.1

เท่าที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วก็เป็นแต่เพียงแสดงให้ท่านผู้อ่านเห็นเค้าของความเป็นอนิจจังแห่งสังคมโดยสังเขป แต่ปัญหาทางสังคมนั้นสลับซับซ้อนยุ่งยากมาก อีกทั้งความเคลื่อนไหวของสังคมดำเนินไปโดยมนุษย์ที่มีจิตสำนึกซึ่งต่างกับสิ่งตามธรรมชาติชนิดที่ไม่มีจิตสำนึก ดั่งนั้น นอกจากการพิจารณาให้เข้าใจ กฎแห่งอนิจจัง ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติโดยทั่วไปแล้ว นักสังคมจำต้องมี ศิลปะ อีกด้วย และต้องเป็นศิลปะที่ประณีตมาก ไม่ใช่ศิลปะที่ขรุขระกะพร่องกะแพร่งโดยคัดลอกเอามาจากสังคมอื่นทั้งดุ้น

วิทยาศาสตร์และประณีตศิลปะทางสังคมเท่านั้นจึงจะทำให้นักสังคมบรรลุถึง “วิชชา” คือความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะของสังคม ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ยังมีความรู้น้อย และมีความผิดพลาดบกพร่องหลายประการ เรื่องของสังคมยังมีอีกมากมายที่ต้องศึกษา

อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าขอแนะนำไว้ว่าการบรรลุถึงซึ่ง วิชชา ในทางสังคมนั้นย่อมจะต้องอาศัย “ทฤษฎีแห่งวิชชา” ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า THEORY OF KNOWLEDGE หรือ “สัมวุทธิวิทยา” ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า EPISTEMOLOGY อันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาปรัชญา ซึ่งเป็นมูลฐานของสังคมปรัชญาด้วย เพราะมนุษยสังคมเป็นยอดสูงสุดของมนุษยชาติ ซึ่งกุมชะตากรรมของมนุษย์แต่ละคนที่เป็นสมาชิกของสังคม

12.2

ปรัชญาเมธีมากหลายได้คิดค้นถึงวิธีที่จะให้มนุษย์รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะทั้งหลาย ดั้งนั้น ทฤษฎีแห่งวิชชา หรือ สัมวุทธิวิทยา จึงมีมากมายหลายอย่างแต่ถ้าจะจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว ก็คงเป็นดั่งต่อไปนี้

(1) จำพวกที่ถือว่าโดยลำพังแต่ ญาณ หรือ ปัญญา ของมนุษย์เท่านั้นไม่อาจทำให้มนุษย์รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะทั้งหลายได้ ดั่งนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัย อนุสติ ตั้งอยู่ก่อนมีญาณหรือปัญญา ทฤษฎีเช่นนี้มีหลายอย่างเช่น TRANSCENDENTALISM ซึ่งข้าพเจ้าขอถ่ายทอดตามสาระแห่งใจความเป็นศัพท์ไทย ว่า “บุพเพนิวาสานุสติทฤษฎี” FIDEISM ถือเอาความเชื่อถือเป็นอนุสติ ซึ่งข้าพเจ้าขอถ่ายทอดเป็นศัพท์ไทยว่า “ศรัทธานุสติทฤษฎี” ฯลฯ

(2) จำพวกที่ถือว่า ญาณ หรือ ปัญญา ของมนุษย์สามารถทำให้มนุษย์รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะทั้งหลาย ทฤษฎีจำพวกนี้มีชื่อหลายอย่าง เช่น RATIONALISM ถือเอา ญาณ หรือ ปัญญา (REASON) ของมนุษย์เป็นบ่อเกิดแห่ง วิชชา (คำว่า REASON ทางปรัชญานั้นมาจากคำลาติน RATIO หมายถึง ญาณ หรือ ปัญญา ไม่ใช่ เหตุผล หรือ ดีแต่ชักเหตุผล) เราเรียกทฤษฎีนี้ว่า “ญาณทฤษฎี” สำหรับ INTELLECTUALISM ซึ่งถือเอาปัญญาอันบริสุทธิ์โดยไม่ต้องเจือปนจากอาการสัมผัสตามสามัญวิสัยเป็นหลักนั้นเราเรียกทฤษฎีนี้ว่า “ปริสุทธิญาณทฤษฎี” ฯลฯ

(3) จำพวกที่ถือเอา การสัมผัสจากวิสัย หรือ อวัยวะสัมผัส เป็นบ่อเกิดแห่งวิชชา เช่น SENSATIONALISM ซึ่งถือเอาการสัมผัสจากรูปธรรม เราเรียกว่า “รูปสัมผัสทฤษฎี” EMPIRICISM ถือเอาการลงมือกระทำมาช้านานประกอบ ด้วยความสังเกตเราเรียกว่า “นิษณสัมผัสทฤษฎี” PRACTICE ซึ่งเป็นคำย่อมาจากวลีเต็มของเมธีแห่งวิทยาศาสตร์ทางสังคม ซึ่งเขียนไว้ในต้นฉบับว่า “HUMAN SENSUOUS ACTIVITY, PRACTICE” ถือเอาการ “ผัสสะ” หรือ “สัมผัส” (SENSE)

จากกิจกรรมของมนุษยชาติซึ่งเป็นเรื่องของสัมวุทธิวิทยา ไม่ใช่เรื่องปฏิบัติตามธรรมดา เพราะทุกทฤษฎีก็มีการปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น ข้าพเจ้าขอถ่ายทอดเป็นศัพท์ไทยว่า “กิจกรรมสัมผัสทฤษฎี” ระวังอย่าปนกับการปฏิบัติของทฤษฎี PRAGMATISM

(4) ทฤษฎีแห่งวิชาต่างๆ ดั่งกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องของปรัชญาฝ่ายยุโรป ซึ่งถ้าจะตรวจให้ถี่ถ้วนแล้วจะพบว่ามีหลายอย่างที่ยืมเอาไปจากพุทธอภิธรรมแล้วก็เดินทางอ้อมทวีปกลับมายังดินแดนไทยซึ่งได้รับรู้ทฤษฎีแห่งวิชชาหลายอย่างไว้ก่อนแล้ว

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ทฤษฎีแห่ง “วิชชา” หรือ “สัมวุทธิวิทยา”, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9). 2543, น. 49-51.

บทความความเป็นอนิจจังของสังคมที่เกี่ยวข้อง : 

บทก่อนหน้า