“ข้าพเจ้าขอส่งผู้แทนมาพบท่าน เพื่อขอให้ท่านรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นที่เราจะตั้งขึ้นในดินแดนกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร เพราะมาตรการนี้จะเป็นหนทางเดียวที่จะกระตุ้นคนไทยให้หลุดพ้นจากการรุกรานของญี่ปุ่น”
ข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นใจความสำคัญของสาส์นที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งถึงจอมพลเจียง ไค เช็ก ผู้นำประเทศจีนและฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งผู้แทนที่นายปรีดีหมายถึงในที่นี้คือนายถวิล อุดล หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของขบวนการเสรีไทยในประเทศนั่นเอง
ลูกหลานเมืองสาเกตนคร
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ได้ส่งผลให้มีนักการเมืองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก้าวเข้ามามีบทบาทโลดแล่นในรัฐสภาเป็นจำนวนมาก ซึ่งชื่อเสียงเรียงนามของแต่ละคนนั้นน่าจะเป็นที่คุ้นหูกันดี ไม่ว่าจะเป็นนายเตียง ศิริขันธ์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายถวิล อุดล ทั้งสี่คนนี้นอกจากจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรุ่นบุกเบิกจากแดนอีสานแล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญของขบวนการเสรีไทย ซึ่งเป็นขบวนการที่หมายมุ่งจะรักษาเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยให้รอดพ้นจากเงื้อมมื้อของจักรวรรดิอาทิตย์อุทัย จนถูกขนานนามว่าเป็น “สี่เสืออิสาน” นั่นเอง
หนึ่งในพื้นที่สำคัญของขบวนการเสรีไทยนั้นอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เนื่องจากเป็นจังหวัดที่นายถวิล อุดล รับหน้าที่จัดหาผู้ร่วมอุดมการณ์เสรีไทยเข้าไปฝึกอบรมบ่มเพาะกำลังที่ค่ายนาคู (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์) ซึ่งเป็นค่ายที่มีศักยภาพและมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คู่ขนานไปกับค่ายฝึกอาวุธที่จังหวัดสกลนคร
นายถวิล อุดล เป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ดโดยกำเนิด เขาได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดเหนือ และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนประจำจังหวัดร้อยเอ็ด (ปัจจุบันคือโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย) จากนั้นเขาได้เดินทางออกจากบ้านเกิดเข้าเมืองกรุงมาศึกษาต่อ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายจนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2473 ในท้ายที่สุด
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นายถวิลได้เริ่มต้นทำงานเป็นทนายความที่จังหวัดอุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร จนเมื่อปี พ.ศ. 2477 เขาได้เปลี่ยนงานมารับราชการที่กรมราชทัณฑ์ จากนั้นก็ได้ย้ายไปเป็นที่ปรึกษาเทศบาล ผู้ตรวจการเทศบาลจังหวัดอุบลราชธานี และได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดในปี พ.ศ. 2480 ตามลำดับ การที่เขาได้อยู่อาศัยและทำงานที่จังหวัดอุบลราชธานีอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เขาได้รู้จักมักคุ้นและสนิทสนมกับนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ หนึ่งในสี่เสืออีสาน ซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นบุกเบิกของจังหวัดอุบลราชธานี และยังเป็นศิษย์ร่วมสำนักกันที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ และโรงเรียนกฎหมายอีกด้วย
ผู้ส่งสารรุ่นบุกเบิก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้บุกรุกเข้ามาในแผ่นดินของประเทศไทย ได้มีการจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ในช่วงค่ำของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ที่บ้านของนายปรีดี พนมยงค์ ในการประชุมครั้งนี้ นายถวิลได้เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้มารอพบและได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
ในปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย นอกเหนือจากการจัดหากำลังพลเข้าไปฝึกอาวุธที่ค่ายนาคูแล้ว นายถวิลยังได้รับความไว้วางใจจากนายปรีดี พนมยงค์ ให้ปฏิบัติภารกิจสำคัญอยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือการได้รับมอบหมายให้ไปร่วมงานกับหลวงบรรณากรโกวิท (เปา จักกะพาก) หัวหน้าเสรีไทยสายศุลกากร เดินทางไปที่หัวหินในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2487 เพื่อไปรับสารและเครื่องรับส่งวิทยุที่ลอร์ดหลุยส์ เม้าท์แบทเตน ผู้บัญชาการกองเรือฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งมาให้นายปรีดี พนมยงค์ทางเครื่องบิน และในครั้งนี้จะมีนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษกระโดดร่มลงมาด้วยสองคน
ภารกิจดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าเป็นครั้งแรกของการทำงานร่วมกันระหว่างขบวนการเสรีไทยในประเทศและฝ่ายสัมพันธมิตร หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นย่อมหมายความว่าการขอความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรในครั้งถัดไปนั้นอาจเป็นเรื่องที่ลำบากยากเย็นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถ ความซื่อสัตย์ และอุดมการณ์รักชาติอันแรงกล้าของนายถวิล อุดลและสมาชิกเสรีไทยร่วมปฏิบัติการคนอื่น ๆ ได้ทำให้ภารกิจในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี อันส่งผลให้ขบวนการเสรีไทยในประเทศและฝ่ายสัมพันธมิตรได้มีปฏิบัติการร่วมกันต่อมาอีกหลายต่อหลายครั้ง
นอกเหนือจากภารกิจรับสารแล้ว นายถวิล อุดล ยังได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจ “ส่งสาร” ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทูตพิเศษเดินทางไปยังฉงชิ่ง ประเทศจีน เพื่อติดต่อกับรัฐบาลจีนในการประสานความร่วมมือกันระหว่างขบวนการเสรีไทยและประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นภารกิจที่ต่อเนื่องมาจากภารกิจอันเลืองชื่อของนายจำกัด พลางกูร ในการเดินทางครั้งดังกล่าว นายถวิลยังได้เป็นผู้ที่นำสารจากนายปรีดี พนมยงค์ ไปส่งให้จอมพลเจียง ไค เช็ก โดยตรงอีกด้วย
เมื่อภารกิจเสร็จสิ้น นายถวิล จึงได้เดินทางกลับประเทศไทยในเดือนต่อมา และปฏิบัติภารกิจของขบวนการเสรีไทยอยู่ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดจนกระทั่งถึงช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
รัฐมนตรีผู้ไม่ยอมแพ้ต่อเผด็จการ
ต่อมาในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 นายถวิล อุดล ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งพฤฒสภาร่วมกับอดีตสมาชิกเสรีไทยอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนายจำลอง ดาวเรือง หนึ่งในสี่เสืออีสาน, นายชาญ บุนนาค เพื่อนร่วมปฏิบัติการรับของจากฝ่ายสัมพันธมิตรที่หัวหิน เป็นต้น
จากนั้นนายถวิลได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ และรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ตามลำดับ เมื่อครั้งที่ ม.ร.ว. เสนีย์ได้ประกาศยุบสภา นายถวิลก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีรักษาการไปจนหมดสมัย
เมื่อครั้งที่เกิดความพลิกผันทางการเมืองขึ้นในปี พ.ศ. 2492 นักการเมืองฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ได้ถูกจับกุมตัวและถูกกวาดล้างไปเป็นจำนวนมาก นายถวิล อุดล เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมตัวร่วมกับรัฐมนตรีอีกสามคน คือ นายจำลอง ดาวเรือง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายทองเปลว ชลภูมิ์ โดยตำรวจได้นำตัวทั้งสี่คนไปสอบสวนในคืนวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492 และในช่วงเวลาเช้ามืดวันต่อมา นายถวิล อุดล และอดีตรัฐมนตรีอีกสามคนก็ได้ถูกสังหารด้วยน้ำมือของตำรวจบริเวณถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 14 เป็นการสิ้นสุดลมหายใจของผู้รับส่งสารของขบวนการเสรีไทยด้วยวัยเพียง 40 ปีเท่านั้น
ด้วยความสามารถ ความซื่อสัตย์ และความรักชาติของนายถวิล อุดล ทำให้เขาได้รับการจดจำในฐานะวีรบุรุษผู้หาญกล้าและเสียสละ ตำนานของเขาได้ถูกจารึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง ถึงแม้ว่าตัวจะตายจากไป หากแต่ชื่อและจิตวิญญาณอันเสรีของเขานั้นได้สถิตย์อยู่ในชาวร้อยเอ็ดและประชาชนผู้รักและหวงแหนในเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยทุกคน
ผู้เขียน : กษิดิศ พรมรัตน์
อ้างอิง
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2546. ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว. หน้า 801-802
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). 2544. ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.