ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

พระบรมวงศานุวงศ์และขบวนการเสรีไทย

21
สิงหาคม
2563

เมื่อผมกับเพื่อนเสรีไทยจากอังกฤษอีก 5-6 คน โดดร่มลงในเมืองไทยระหว่างสงครามญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2487 แล้วถูกจับมาคุมตัวที่กองตำรวจสันติบาลนั้น พวกเราได้ติดต่อทางวิทยุกับกองบัญชาการของอังกฤษที่อินเดียสำเร็จได้ เมื่อกันยายนหรือตุลาคมในปีเดียวกันนั้น เป็นช่องทางสื่อสารช่องแรกระหว่างขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้าฝ่ายหนึ่ง กับกองทัพและรัฐบาลของพันธมิตรด้านสหประชาชาติอีกฝ่ายหนึ่ง และเป็นทางที่สื่อสารทางวิทยุช่องเดียวอยู่หลายเดือนจนกว่าจะได้มีหน่วยพลร่มอื่น ๆ จากอังกฤษและอเมริกาเข้ามาทำการติดต่อได้สำเร็จ

เพราะฉะนั้นผมจึงกล่าวได้ว่า ระหว่างปลายปี 2487 จดต้นปี 2488 นั้น เรื่องราวทั้งหมดในการติดต่อระหว่างเสรีไทยกับสหประชาชาติต้องผ่านสถานีวิทยุของผม เพื่อนของผมกับผมเป็นผู้รับข้อความที่จะต้องส่งต้องรับ เข้ารหัสถอดรหัส และเรียบเรียงส่งไปตามที่ควรจะกระทำ

กับกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า การติดต่อในระยะเวลานั้นไม่มีใครอื่นทราบ ไม่มีใครบันทึกไว้ เอกสารต่าง  ๆ ก็ทำลายเสียสิ้นเพื่อมิให้ตกถึงมือข้าศึก ฉะนั้น จึงเห็นควรเขียนขึ้นไว้เป็นหลักฐานสำหรับนักศึกษาและคนไทยรุ่นหลังทั้งปวงจะได้ทราบ

เพื่อนของผมที่ร่วมทำการสื่อสารดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเป็นพยานสนับสนุนบทความนี้ ได้แก่ นายประทาน เปรมกมล นายสำราญ วรรณพฤกษ์ (ทั้งสองคนทำงานที่ลีเวอร์บราเดอส์ ออกเมื่อปี 2515 นี้)  นายเปรม บุรี และนายรจิต บุรี (ทั้งสองคนเป็นศาสตราจารย์อยู่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)  และนายธนา โปษยานนท์ (เคยเป็นนายตำรวจ ขณะนี้ทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย)

 

ประทาน เปรมกมล (แดง)  สำราญ วรรณพฤกษ์ (เค็ง) และป๋วย (เข้ม) ในปฏิบัติการพริทชาร์ทลักลอบเข้าประเทศไทย
ประทาน เปรมกมล (แดง)  สำราญ วรรณพฤกษ์ (เค็ง) และป๋วย (เข้ม) ในปฏิบัติการพริทชาร์ทลักลอบเข้าประเทศไทย

 

เมื่อเราติดต่อทางวิทยุกับสหประชาชาติได้ ไม่ช้า ทางกองบัญชาการอังกฤษก็ปรารภว่า อยากจะส่งพลจัตวาเจ๊กส์ และพลตรีฮอบส์เข้ามาหารือและเจรจากับหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ซึ่งหัวหน้าเสรีไทยก็ได้ตอบเชื้อเชิญให้เข้ามา

ในโทรเลขฉบับต่อมาทางอังกฤษได้ถามต่อว่า ในคณะของพลจัตวาเจ๊กส์นั้น อยากจะให้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ซึ่งทรงยศเป็นนายร้อยเอกในกองทัพอังกฤษขณะนั้นเข้ามาด้วย ไม่ทราบว่า หัวหน้าเสรีไทยจะยินดีต้อนรับหรือไม่

การที่อังกฤษมีโทรเลขถามเรื่อง ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ (ท่านชิ้น) นี้  ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องอาจจะประหลาดใจ ก็เพราะท่านชิ้นเป็นคนไทยทำไมจะต้องถามกันด้วย น่าจะส่งเข้ามาได้ดีกว่าส่งนายทหารฝรั่งด้วยซ้ำ  

คำอธิบาย ก็คือ ด้านอังกฤษเข้าใจดีว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ก่อการในคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ผู้หนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนระบบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบรัฐธรรมนูญโดยมีพระมหากษัตริย์  และต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระทัยในการดำเนินงานของคณะราษฎรถึงกับทรงสละราชสมบัติ  ส่วนท่านชิ้นนั้นเป็นเชษฐาของสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 กับเป็นราชเลขานุการใกล้ชิดพระปกเกล้าฯ ด้วย  ทางอังกฤษเกรงว่า ทางหัวหน้าเสรีไทยจะรังเกียจหรือเข้าใจผิดด้านการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องถามมาก่อน

หัวหน้าเสรีไทยได้ตอบโทรเลขไปทันทีว่า ขอเชิญท่านชิ้นเสด็จเข้ามาด้วยความยินดี  ใจความในโทรเลขนั้นตอนหนึ่งว่า เรื่องการเมืองภายในประเทศนั้นเป็นอันยุติ ไม่มีปัญหาอีกต่อไป เสรีไทยมีความมุ่งหมายอยู่อย่างเดียวที่จะรักษาเอกราชและอิสรภาพของประชาชาติไทย ฉะนั้น คนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือราษฎรธรรมดาที่มีความรักชาติอย่างเดียวกัน ต้องถือเป็นคณะเดียวกัน มีความสามัคคีกันเป็นหลักการใหญ่

ทางราชการอังกฤษยังไม่แน่ใจ ได้มีโทรเลขถึงผมเป็นการส่วนตัว ถามว่า หัวหน้าเสรีไทยส่งโทรเลขตอบไปนั้นคำตอบมาจากใจจริ งหรือว่าส่งไปเป็นเพียงพิธี และเพื่อแสดงอัธยาศัย (diplomatic) เท่านั้น  ผมเองได้ตอบยืนยันไปตามที่ได้สังเกตมาก่อนว่า คำตอบของนายปรีดี พนมยงค์นั้น ผมแน่ใจว่า มาจากใจโดยสุจริต

ต่อมาท่านชิ้นได้ทรงส่งวิทยุโทรเลขของท่านเองมาอีกหนึ่งฉบับตรงถึงนายปรีดี พนมยงค์ ขอบใจที่หัวหน้าเสรีไทยยินดีต้อนรับ และทรงแสดงเจตนาว่าจะร่วมงานด้วยอย่างจริงใจ แต่ใคร่จะขอถามว่า เพื่อนฝูงของท่านชิ้นหลายท่านต้องโทษการเมืองอยู่ที่เกาะตะรุเตาบ้าง บางขวางบ้าง ที่อื่น  ๆ บ้างนั้น นายปรีดี พนมยงค์ จะกระทำอย่างไร

หัวหน้าเสรีไทยตอบไปโดยฉับพลันว่า กรมขุนชัยนาทฯ และผู้อื่นซึ่งต้องโทษการเมืองอยู่ที่เกาะตะรุเตา บางขวาง และที่อื่นนั้น ทางกรุงเทพฯ จะหาทางปลดปล่อย และมิใช่จะปลดปล่อยอย่างเดียว จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย  โอกาสที่จะกระทำได้ ก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องกลให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วผู้สำเร็จราชการฯ แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ ผู้ร่วมงานอยู่ในขณะนั้นขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐบาลแทน

ท่านชิ้นและทางราชการอังกฤษก็มีความพอใจ คณะของพลจัตวาเจ๊กส์และท่านชิ้นจึงได้เข้ามากรุงเทพฯ และได้เข้าพบบรรดาหัวหน้าเสรีไทยหลายครั้ง  ที่จำได้แน่ ก็คือ บนเรือซึ่งลอยลำวิ่งขึ้นลงอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา (ซึ่งปลอดจากญี่ปุ่น) และที่ตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้น 2 ซึ่งใช้เป็นที่ทำการแห่งหนึ่งของขบวนการเสรีไทย (ศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นเลขาธิการ ม.ธ.ก.อยู่ขณะนั้น)

ส่วนนักโทษการเมืองนั้น เมื่อถึงโอกาสดังกล่าวมาข้างต้น นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯ และหัวหน้าเสรีไทย ก็ได้ปฏิบัติตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่เดิม คือ ปลดปล่อยให้เป็นอิสระ และออกกฎหมายนิรโทษกรรมและคืนยศศักดิ์ให้ทั่วทุกท่าน  งานด้านนี้ นายทวี บุณยเกตุ ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ ทำหน้าที่รัฐมนตรีสั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นเลขาธิการขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ เป็นผู้รับคำสั่งโดยตรงจากหัวหน้าเสรีไทยให้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เสร็จแล้วเสนอสภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นกฎหมาย โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ลงนามในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองตามระเบียบ

ระหว่างที่ผมส่งวิทยุอยู่ดังกล่าวข้างต้นนั้น ทางการทหารอังกฤษได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในประเทศไทยเป็นระยะ  ๆ หัวหน้าเสรีไทยจึงได้มีโทรเลขแจ้งไปยังอังกฤษว่า บางทีเครื่องบินทหารอังกฤษมาทิ้งระเบิดเปะปะ ขอให้ระมัดระวังให้ดี เฉพาะอย่างยิ่งอย่าทิ้งที่พระบรมมหาราชวัง หรือวังของเจ้านายต่าง  ๆ ให้หลีกเลี่ยงพระบรมวงศานุวงศ์ และที่ตั้งรัฐบาล กับที่ทำการเสรีไทยต่าง  ๆ  ได้แจ้งสถานที่ต่าง ๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงไปอย่างชัดเจน ทางอังกฤษก็ตอบรับว่าจะปฏิบัติตาม

ครั้งหนึ่งมีพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งจะเป็นผู้ใดบ้างผมจำไม่ได้ หลายองค์เสด็จหลบภัยไปบางปะอิน เผอิญในระยะนั้นมีเครื่องบินของอังกฤษบินไปทางบางปะอิน และทิ้งระเบิดด้วย แต่เคราะห์ดีที่ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย  รุ่งขึ้น ผมได้รับคำต่อว่าอย่างรุนแรงจากหัวหน้าเสรีไทยในเรื่องนี้ และได้ส่งคำประท้วงไปอย่างดุเดือดต่อกองบัญชาการทหารอังกฤษ  ทางการอังกฤษจึงมีโทรเลขตอบขอโทษและรับรองว่า จะพยายามมิให้เกิดความพลาดพลั้งอย่างนี้ขึ้นอีก

การที่เสรีไทยโดยเฉพาะหัวหน้าเสรีไทยได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ถวายความอารักขาให้พ้นภัยสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้ทรงซาบซึ้งพระทัยดี และเมื่อสิ้นสงครามได้รับสั่งเรียกนายปรีดี พนมยงค์ ไปที่ประทับและขอบใจ ซึ่งคณะเสรีไทยถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง

 

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานยศทหาร พ.ศ. 2488
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานยศทหาร พ.ศ. 2488

 

เมื่อญี่ปุ่นเลิกสงครามแล้ว ในฐานะเป็นพันตรีในกองทหารอังกฤษ ผมเองได้ถูกส่งตัวไปร่วมคณะผู้แทนไทยเพื่อเจรจาการทหารและการเมืองกับอังกฤษ ณ นครแคนดีลังกา 2 ครั้ง  ครั้งแรก หัวหน้าคณะ คือ พลเอก หลวงเสนาณรงค์  ครั้งหลัง พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงเป็นหัวหน้า  

ต่อมามหาวิทยาลัยลอนดอนซึ่งให้ทุนเล่าเรียนชั้นปริญญาเอกแก่ผมในขณะนั้น ได้ติดต่อไปยังกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ขอให้ผมได้รับการปลดจากราชการทหารเร็วเป็นพิเศษ เพื่อกลับไปศึกษาต่อ ผมจึงได้ออกเดินทางผ่านเมืองกัลกัตตา จะไปยังประเทศอังกฤษ แต่ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าคณะเสรีไทยเป็นครั้งสุดท้าย ให้ไปร่วมกับนายทหารเสรีไทยจากสหรัฐอเมริกาที่กัลกัตตา เพื่อถวายความอารักขาแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระอนุชา ซึ่งเสด็จประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้น จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะเสด็จกลับเยี่ยมประเทศไทย ผมได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยินดี ก่อนที่จะไปถอดเครื่องแบบพันตรีกลับคืนเป็นนักเรียนในมหาวิทยาลัยลอนดอนอีก 3 ปี

 

ป๋วยในชุดพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ
ป๋วยในชุดพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ