“สังคมที่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์และไม่มีสันติธรรม นั่นเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของประเทศด้อยพัฒนา การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงต้องอาศัยความมีจริยธรรมและพุทธธรรม”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตโต) ได้เคยแสดงปาฐกถาธรรม เรื่อง “พระพุทธศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” เนื่องในโอกาสทำบุญวันเกิดของท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ครบรอบ 60 ปี ปาฐกถาเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
พื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด ก่อนที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ผมเห็นว่า เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่อยู่บนหลักการที่ถูกต้องและเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน สังคมสมานฉันท์ เศรษฐกิจที่เป็นธรรม การเมืองที่เคารพในสิทธิเสรีภาพจึงเกิดขึ้นได้ การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนหรือการถอยหลังเข้าคลองย้อนยุคสวนกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง ย่อมก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนจะเป็นทางเลือกที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ดีที่สุด ในการออกจากวิกฤติของประเทศชาติ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกกลุ่มทุกฝ่าย การร่างรัฐธรรมนูญประชาชนต้องนำมาสู่การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน ซึ่งหมายรวมถึงการปฏิรูปกองทัพ ให้ทหารเป็นทหารอาชีพ แก้ปัญหาวังวนของการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทย การปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่างสถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข
แนวทางปฏิรูปประเทศด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ควรต้องเริ่มต้นจากการรับหลักการร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ฉบับ iLaw) เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาพิจารณาร่วมกับร่างของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและร่างของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่การตัดสินใจที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ผลประโยชน์เฉพาะหน้า และการมุ่งรักษาอำนาจและผลประโยชน์จากอำนาจที่ไม่ได้ยึดถือหลักการประชาธิปไตย ทำให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมากต้องสะดุดหยุดลง การปิดกั้นช่องทางดังกล่าวย่อมไม่เปิดกว้างให้เกิดการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง การปฏิรูปอย่างกว้างขวางและรอบด้านจะเป็นผลดีต่อความมั่นคงของทุกสถาบัน และ ประชาชนทุกกลุ่ม
เสียดายโอกาสของประเทศที่จะก้าวหน้า และพัฒนายิ่งขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เสียดายโอกาสในการลดความเสี่ยงความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต เสียดายโอกาสในการร่วมกันสร้างความการอยู่ร่วมกันอย่างสันติแม้นจะเห็นต่างขนาดไหนก็ตาม เสียดายโอกาสการทำให้ประเทศนี้ปกครองโดยกติกาสูงสุดที่ร่างโดยประชาชน เสียดายในการยกระดับประเทศนี้ให้เป็นประชาธิปไตย มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ
น่าผิดหวังต่อสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก แต่ขบวนการประชาธิปไตยต้องเดินหน้าต่อไป ร่วมกับสมาชิกรัฐสภาฝ่ายประชาธิปไตย องค์กรภาคประชาชน ธุรกิจเอกชน และสื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย ได้ร่วมกันในวาระสองและวาระสามในการทำให้กระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นทางออกจากวิกฤติทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศ’ นี้จะมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้ความมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของราษฎร แล้วให้ลงประชามติรับรอง ‘รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศไทย’ นี้ภายในกรอบเวลาที่กำหนด จากนั้นให้ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งตามกฎกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเทศก็จะออกจาก “วิกฤตการณ์ทางการเมือง” ได้
รัฐบาลช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกและวิกฤติการว่างงานครั้งใหญ่จะได้มีสมาธิที่จะทุ่มเทให้กับการแก้วิกฤติปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่มากขึ้น โดยไม่ต้องพะวงกับการแก้ปัญหาในมิติด้านการเมืองมากนัก
ในท่ามกลางความขัดแย้งในบ้านเมืองที่เริ่มก่อตัวขึ้นช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 และขยายตัวสืบเนื่องมาเป็นลำดับ ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติ 60 ปี เมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน 2549 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานหลักคุณธรรม 4 ประการ ในการเสด็จออกพระสีหบัญชร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นหนทางแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งของคนไทย ซึ่งสามารถจะน้อมนำหลักคุณธรรม 4 ประการนี้มาใช้เป็นแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในประเทศที่ยืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งทศวรรษนี้ได้
ขณะเดียวกัน เราสามารถยึดแนวคิดภราดรภาพนิยมของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ มาเป็นแนวทางในการออกจากวิกฤติได้อีกด้วย
ประการแรก เสนอให้ ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศ’ ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยความมีส่วนร่วมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุด เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ทางสังคม’ ให้คนไทยทุกฝ่ายได้มีโอกาสหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล บนความรู้สึก-นึก-คิด ว่าเป็น ‘คนพวกเดียวกัน’ ที่เหมือนอยู่บนเรือลำเดียวกัน ถ้าเรือเกิดล่มลง ทุกคนก็ต้องจมน้ำเหมือนกันหมด แต่หากทุกคนหันหน้ามาปรึกษาหารือจนมีความเข้าใจที่ตรงกันในการแก้ปัญหาต่าง ๆ แล้วร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เรือสามารถแล่นไปจนถึงฝั่งแห่งจุดหมาย ทุกคนก็จะได้รับประโยชน์สุขร่วมกัน ตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 1 ได้แก่ “การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน”
ประการที่สอง ใช้โอกาสในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุดนี้เป็นเครื่องมือแสวงหา ‘จุดหมายร่วม’ ในเรื่องหลัก ๆ ที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกัน แล้วเขียนเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ รัฐธรรมนูญที่คนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมยกร่างและให้ฉันทานุมัตินี้ จะกลายเป็น ‘จุดรวมความคิด’ ที่ ‘ประสานงานประสานประโยชน์’ คนไทยทั้งประเทศเข้าด้วยกันตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 2 คือ “การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ”
ประการที่สาม ให้เขียนรัฐธรรมนูญแค่ ‘หลักการใหญ่ ๆ ที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นตรงกัน’ เพราะถ้าหากยิ่งลงลึกในรายละเอียดมากเท่าไร ก็จะยิ่งหาข้อยุติร่วมกันยากขึ้นเท่านั้น แล้วถ้ามีประเด็นเรื่องใดที่คนไทยเห็นแตกต่างกันในรายละเอียดของวิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ ‘จุดหมายร่วม’ ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันแล้วนั้น ก็ค่อยเลือกพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนแต่ละฝ่ายไปต่อสู้ทางความคิด ‘เพื่อหาข้อยุติในสภา’ (ไม่ใช่บนท้องถนน) ในขั้นตอนการเขียน ‘กฎหมายลูก’ ระดับต่าง ๆ ภายใต้กฎกติกาตามที่ตกลงกันไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ให้ใช้เสียงข้างมากในสภาเป็นเครื่องตัดสิน หากยังขัดแย้งกันจนหาข้อยุติไม่ได้ ก็ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน เป็นต้น เมื่อทุกฝ่ายต่างประพฤติปฏิบัติตนตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเท่าเทียมกัน ‘ไม่ใช่เป็นสองมาตรฐาน’ ก็จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้ ตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 3 คือ “การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมกัน”
ประการที่สี่ ให้มี ‘องค์กรอิสระทำหน้าที่ประเมินผลการทำงาน’ ของทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน กองทัพ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญว่า ในแต่ละปีใครทำหน้าที่ได้ตรงตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่มาจากปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงนี้มากน้อยแค่ไหน ต้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องใดบ้าง ฯลฯ แล้วทำรายงานเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ประชาชนทั่วไปซึ่งมักคาดหวังคุณลักษณะด้านใดด้านหนึ่งในตัวผู้บริหารบ้านเมืองไม่เท่ากัน จนอาจกลายเป็นความขัดแย้ง ในกรณีนี้รายงานการประเมินตามตัวชี้วัดที่ถ่วงน้ำหนักคะแนนทุกด้านอย่างเหมาะสม จะเป็นเครื่องมือปรับความคิดจิตใจของคนไทยให้ ‘ลงรอยเดียวกัน’ มากขึ้น ตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมประการที่ 4 นี้ คือ “การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรงและมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิดจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดีที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลอยู่ในกายในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้”
การยกร่าง ‘รัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศ’ โดยความมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง ตามแนวทางที่คนไทยฝ่ายซึ่งต้องการ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ’ อยากจะเห็น ภายใต้แนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งคนไทยฝ่ายที่ต้องการ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม’ ให้การยอมรับ จะทำให้ปัญหาขัดแย้งในมิติทาง ‘สังคมวิทยาของความเป็นไทย’ ที่ส่งผลทำให้คนไทยแตกแยกเป็น ‘สีเสื้อที่ต่างกัน’ ในช่วงกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้คลี่คลายลงได้
ที่มา: ตอนแรกของปาฐกถาเปิดงาน PRIDI Talks ครั้งที่ 7 เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2563 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
* ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์, กรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย Thai PBS, อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย, อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง