ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

สุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ ในวันฉลองรัฐธรรมนูญ 2478

21
ธันวาคม
2563

ค่อนข้างแปลกใจไม่น้อยทีเดียว เท่าที่ผมเคยค้นคว้าเรื่องราวของนายปรีดี พนมยงค์มานั้น เหตุไฉนมิค่อยพบข้อมูลว่า เขาเกี่ยวข้องกับงานฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นยิ่งใหญ่ประจำทุกปีช่วงต้นเดือนธันวาคมภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตราบจนเลิกจัดในทศวรรษ 2500 สักเท่าไหร่ อาจผ่านตาเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอยู่บ้าง เฉกเช่นถ้อยความใน “บันทึกชีวิตสมถะปัจฉิมวัยที่กรุงปารีส” ของกองบรรณาธิการ สยามใหม่

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง สมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ  ในงานนี้มีการลีลาศ ตัวท่านในฐานะประธานจัดงานต้องออกมาลีลาศเปิดฟลอร์ตามธรรมเนียม เมื่อโฆษกกล่าวเชิญ ท่านก็จูงมือท่านผู้หญิงออกมาหน้าเวที ทำให้ผู้ที่ทราบว่าท่านเต้นรำไม่เป็นต่างก็ฉงนอยู่ในใจ แต่ท่านก็แก้ปัญหาได้โดยการโค้งคำนับพร้อมกับกล่าวเชิญผู้มาร่วมงานให้ออกมาลีลาศได้ตามอัธยาศัย แล้วท่านก็จูงมือท่านผู้หญิงเดินลงเวทีไป”

ตรองดีๆ เรื่องเล่านี้อาจคลาดเคลื่อน ผมเห็นพ้องกับกษิดิศ อนันทนาธร ในการสนทนากันว่า ตอนนายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีก็หาใช่ช่วงเดือนธันวาคมที่จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ เพราะเขาดำรงตำแหน่งระหว่างปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 หรือเป็นไปได้หรือเปล่าที่ ‘งานเฉลิมฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ’ ในเนื้อความได้แก่การฉลองเนื่องในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือรัฐธรรมนูญฉบับแรกสุดของสยามอันตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน หากน่าฉุกคิดว่าในปี พ.ศ. 2489 เป็นช่วงหลังจากที่รัฐบาลเคยประกาศให้วันฉลองรัฐธรรมนูญเหลือแค่ 10 ธันวาคมวันเดียวแล้วหรือเปล่า

แม้ผมเชื่อมั่นว่าย่อมปรากฏหลักฐานเรื่องนายปรีดีกับงานฉลองรัฐธรรมนูญเดือนธันวาคมมากกว่านี้แน่ๆ แต่เหมือนยิ่งเสาะหาก็ยากที่จะเจอ ซึ่งผมต้องขะมักเขม้นตามสืบแกะรอยต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ เผื่อวันหนึ่งข้างหน้าอาจสัมฤทธิ์ผล ขณะหลักฐานที่มักประสบเจนสายตาเนือง ๆ กลับเป็นหลักฐานว่าด้วยนายปรีดีกับวันรัฐธรรมนูญปลายเดือนมิถุนายน

งานฉลองรัฐธรรมนูญเกิดครั้งแรกสุดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ปีถัดมาก็จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญติดต่อกันนานหลายวันตั้งแต่ 28 พฤศจิกายนถึง 12 ธันวาคม พ.ศ. 2476 

ควรอธิบายอีกว่า ช่วง พ.ศ. 2475-2482 ได้มีวันฉลองรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งต่อปี นั่นคือ ครั้งแรกจัดขึ้นวันที่ 27 มิถุนายน อันเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวหรือรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม และครั้งที่ 2 จัดขึ้นวันที่ 10 ธันวาคม วันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร กระทั่งในปี พ.ศ. 2483 ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศให้เหลือวันฉลองรัฐธรรมนูญตรงกับ 10 ธันวาคมแค่ครั้งเดียวต่อปี ส่วนงานกิจกรรมเฉลิมฉลองและแสดงมหรสพต่าง ๆ นานาเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ทางรัฐบาลจะกำหนดให้จัดขึ้นราว 3 วันช่วงระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนวันที่นายปรีดีให้ความสำคัญในฐานะวันรัฐธรรมนูญจริง ๆ คือ วันที่ 27 มิถุนายน มิหนำซ้ำ 27 มิถุนายน 2477 ยังเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยแนวคิดและปณิธานของเขา

ก็ในเมื่อผมเจาะจงใจให้นายปรีดีเกี่ยวข้องกับวันฉลองรัฐธรรมนูญ จึงใคร่นำเสนอถึงสุนทรพจน์ทางวิทยุกระจายเสียงในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2478  ตอนนั้นนายปรีดีหรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เขาเริ่มต้นด้วยการเกริ่นว่า

“ท่านผู้ฟังทั้งหลาย

วันคืนก็ได้ล่วงมาบรรจบครบรอบปีที่ ๓ ณ วันนี้ที่ ๒๗ มิถุนายน อันเป็นวันมหามงคลสมัยที่ชาติไทยได้เข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ในระหว่าง ๑ ปีนับแต่วันที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสมาแสดงถึงเรื่องสองปีที่ล่วงมาแล้ว รัฐบาลก็ได้พยายามที่จะผดุงประเทศชาติให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นตลอดมา

อันชีวิตของชาติจะเจริญด้วยความมั่นคงสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ แห่งชาติ  ความสามัคคีเป็นสิ่งที่จะทำให้ชาติมีกำลังเข้มแข็งเข้าสู่ความเจริญอย่างไรนั้น  ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้แสดงมาแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ และชาติเราจะต้องฝ่าอุปสรรคอันมีอยู่ประการใดบ้างนั้น  เมื่อคืนวันที่ ๒๖  หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ได้แสดงให้ท่านทราบแล้วว่า นอกจากขาดกำลังทรัพย์ ประเทศเรายังขาดกำลังคน คือขาดผู้รู้ผู้ชำนาญในวิทยาการ สยามที่ได้เข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญนั้น  มิใช่จะตั้งต้นใหม่แต่ในระบอบการปกครอง  สยามจำต้องเพาะคนขึ้นใหม่ จำต้องเพาะผู้รู้ผู้ชำนาญเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมอวัยวะของชาติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ภาษิตของชาวตะวันตกบทหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้อ้างถึงเมื่อปีกลายนี้ว่า กรุงโรมมิได้สร้างสำเร็จลงในวันเดียวนั้น ข้าพเจ้าก็จำต้องขออ้างซ้ำอีก  สำหรับประเทศสยาม ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ณ บัดนี้  ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรอบขวบปีนี้มีประการใดนั้น  ข้าพเจ้าขอชี้แจงแก่ท่านโดยสังเขป  ในส่วนที่เกี่ยวแก่หลักการทั่วไปตามแนวหลัก ๖ ประการ  และบรรยายหนักไปในหน้าที่กระทรวงมหาดไทย  โดยเฉพาะดังต่อไปนี้”

และทยอยแจกแจงรายละเอียดของหลักแต่ละประการตามลำดับ

“ประการที่ ๑ เรื่องความเป็นเอกราชนั้น กล่าวโดยเฉพาะการศาสนา ประมวลกฎหมายต่าง ๆ ของเราที่ยังค้างอยู่ ก็ได้รีบเร่งชำระสะสาง เสนอสภาผู้แทนราษฎรและประกาศเสร็จไปหมดแล้ว  คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว บรรพ ๖ ว่าด้วยมรดก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  อีกทั้งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ และเราก็จะเริ่มเจรจาสัญญาทางพระราชไมตรีต่อไป

ส่วนความเป็นเอกราชในทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้น  รัฐบาลได้รีบเร่งจัดทำวัตถุอื่น ๆ เพื่อเป็นอุปกรณ์ที่จะให้ความเป็นเอกราชมั่นคงยิ่งขึ้น”

ในหลักประการที่ 2 เป็นส่วนที่นายปรีดีกล่าวสาธยายเสียยืดยาว อาจเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับภาระหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเขากำลังครองบทบาทรัฐมนตรีว่าการโดยตรง ทั้งกรณีของการรักษาสงบเรียบร้อยและปัญหาโจรผู้ร้าย

“เรื่องรักษาความสงบภายในนั้น  กล่าวโดยเฉพาะในเรื่องโจรผู้ร้ายที่ลุกลามอยู่มากมายใน พ.ศ. ๒๔๗๖ และต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๗  บัดนี้ก็ได้ลดน้อยถอยลงไป จะเห็นได้ว่า คดีอุกฉกรรจ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ๗๕ ราย  ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘  น้อยกว่าในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ๔๐ ราย  ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น้อยกว่าในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗  ๗๓ รายการ ใน ๓ สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนที่แล้วมา ก็ปรากฏว่า จำนวนคดีอุกฉกรรจ์ได้ลดน้อยลงอย่างมาก”

งานราชทัณฑ์เป็นสิ่งที่นายปรีดีทุ่มเทความสนใจยิ่งนัก อาจเพราะเคยคลุกคลีด้านนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462-2463 ช่วงที่ยังไม่สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตสยามและก่อนหน้าจะเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายในประเทศฝรั่งเศส เขาเคยรับราชการเป็นเสมียนโท กรมราชทัณฑ์ ครั้นได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงพากเพียรปรับปรุงกรมราชทัณฑ์

“ในส่วนการราชทัณฑ์ก็ได้พยายามที่จะฝึกฝนอบรมนักโทษไปในทางหาผลประโยชน์  และดัดนิสัยให้กลายเป็นคนดี  และหาอาชีพให้แก่ผู้ที่พ้นโทษแล้ว  ได้เริ่มตั้งเรือนจำที่จะเปลี่ยนรูปเป็นทัณฑนิคมในภายหน้าในจังหวัดนครราชสีมา และเตรียมการตั้งต่อไปอีกในจังหวัดยะลา  ผลประโยชน์ที่ได้จากการราชทัณฑ์ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้เป็นเงิน ๒๘๙,๗๐๒ บาท มากกว่าที่ได้กำหนดไว้ถึง ๑๘๙,๗๒๐ บาท ได้หักเอาไว้จ่ายทำทุนใน พ.ศ. ๒๔๗๗ บ้าง สำหรับ พ.ศ. ๒๔๗๘ บ้าง ที่เหลือก็นำส่งคลังเป็นรายได้ อนึ่ง โรงเรียนดัดสันดานก็จัดตั้งขึ้นใหม่อีก”

นายปรีดีห่วงใยนักโทษ เขาปรารถนาให้ฝึกอบรมนักโทษโดยอาศัยหลักจิตวิทยา ส่งเสริมให้นักโทษใช้แรงงานจนเกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันให้จัดตั้ง ‘ทัณฑนิคม’ (Penal Colony) ขึ้น พวกนักโทษพิเศษที่พ้นโทษจะได้มีที่ดินทำกินทำเกษตรกรรมของตนเอง

แนวคิดของนายปรีดีนำไปสู่การออกพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินโดยกระทรวงมหาดไทยปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 เพื่อตระเตรียมพื้นที่ไว้สร้างเรือนจำที่จะแปรเปลี่ยนเป็นทัณฑนิคม ณ อำเภอจันทึก (ปัจจุบันคืออำเภอสีคิ้ว) จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 ออกประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ซึ่งวางแผนดำเนินการจัดตั้งทัณฑนิคมแห่งแรกของไทยขึ้นที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา อพยพนักโทษจากเรือนจำกลางบางขวางไปอยู่ที่นั่น และผู้พ้นโทษจะได้รับแบ่งปันที่ดินคนละ 20 ไร่

สำหรับทัณฑนิคมธารโต ถ้าใครเป็นนักอ่านวรรณกรรมไทย คงคลับคล้ายคลับคลาว่าอ่านเจอฉากและบรรยากาศในเรื่องสั้น ‘จับตาย’ ของมนัส จรรยงค์ เพราะตัวนักประพันธ์มีเพื่อนนามสงวน ตุลารักษ์ ผู้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้ดูแลกิจการทัณฑนิคมที่ยะลา สงวนชวนมนัสไปเป็นผู้จัดการร้านค้าสหกรณ์ในทัณฑนิคมช่วงปี พ.ศ. 2480-2481

ในส่วนการปกครอง ทั้งเรื่องเทศบาลและสุขาภิบาล รวมถึงการสาธารณสุขและการแพทย์ นายปรีดีรายงานความคืบหน้าว่า

“การสาธารณสุขและการแพทย์  การโยธาเทศบาลอันเป็นอุปกรณ์อันสำคัญแห่งการรักษาความสงบภายใน ก็ได้จัดให้คืบหน้าจากที่แล้วมา

ระเบียบการปกครองแบบเทศบาลจะเริ่มขึ้นโดยเปิดสภาจังหวัดตามจังหวัดต่าง ๆ ในเร็ว ๆ นี้  และการสุขาภิบาลที่มีอยู่แล้วแต่เดิม ๓๔ แห่ง ก็จะมีสภาพใหม่เป็นเทศบาล ส่วนสุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีพลเมืองหนาแน่น จะได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนคร ประดุจดังเทศบาลนครที่จะจัดให้มีขึ้นในจังหวัดพระนครแห่งหนึ่ง ในจังหวัดธนบุรีอีกแห่งหนึ่ง  นอกจากนี้ยังได้มีงบประมาณสำหรับจัดเทศบาลเมือง และเทศบาลตำบลอีกหลายแห่งซึ่งจะได้จัดให้มีขึ้นตามตำบลและเมืองสำคัญ ๆ ราษฎรจะได้มีส่วนมีเสียงในการจัดปกครองท้องถิ่นของตนยิ่งขึ้น

ในเรื่องการสาธารณสุขและการแพทย์  ซึ่งจะทำให้ราษฎรมีอนามัยสมบูรณ์  ก็ได้อาศัยกำลังเงินจากรัฐบาลบ้าง  จากสลากกินแบ่งบ้าง จากท่านที่มีจิตศรัทธาบริจาคบ้าง  จากกำลังแรงของผู้เสียสละบ้าง  สถานพยาบาลก็ได้สร้างขึ้นหลายแห่งเป็นสุขศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จังหวัดธนบุรี ซึ่งท่านผู้เป็นเจ้าของทางสุขศาลานั้นได้บริจาคทรัพย์ให้  จังหวัดสิงห์บุรีก็ได้จัดสร้างสุขศาลาขึ้นโดยเงินของสุขาภิบาลและเงินเรี่ยไร  จังหวัดอุดรธ านีได้สร้างเรือนคนไข้เพิ่มเติมในบริเวณสุขศาลา เป็นต้น  นอกจากนี้ยังกำลังก่อสร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่หลายแห่ง เช่นโรงพยาบาลกลางจังหวัดพระนคร  โรงพยาบาลหนองคาย  โรงพยาบาลอุบลราชธานี  ส่วนที่จังหวัดนครพนมจะลงมือในไม่ช้า  จังหวัดแพร่จะดำเนินการให้มีสุขศาลา  และอนาถาพยาบาลพระประแดง ก็จะได้สร้างเรือนคนไข้วัณโรคหญิงเพิ่มเติมอีก  ส่วนราษฎรในฝั่งแม่น้ำโขงก็จะได้รับความสะดวกในการรักษาพยาบาล  โดยรัฐบาลได้ลงมือสร้างเรือยนต์พยาบาลประจำแม่น้ำโขงไว้ให้แล้ว  เรือนี้จะแล่นไปมาในลำแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดเลย หนองคาย นครพนมและลำน้ำก่ำเขตจังหวัดสกลนครด้วย  นอกจากนี้แห่งใดที่จะสร้างโรงพยาบาลหรือสุขศาลายังไม่ได้  ก็ได้เปิดให้สถานทำการบำบัดโรคขึ้น ณ ที่พักแพทย์  เช่นที่อำเภอบ้านเซ่า จังหวัดลพบุรี  และอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

ฝ่ายบุคคลที่เป็นโรคจิต  ซึ่งที่ที่แล้วมาในต่างจังหวัดได้ฝากไว้ยังเรือนจำนั้น  ต่อไปจะได้เริ่มจัดให้ไปอยู่ ณ โรงพยาบาลโรคจิต ซึ่งจะสร้างขึ้นสำหรับภาคใต้ ๑ แห่ง ภาคเหนือ ๑ แห่ง

ปัญหาสำคัญเรื่องผู้รักษาพยาบาลนั้น  ก็ได้พยายามอบรมให้มีผู้ช่วยแพทย์ขึ้นสำหรับภาคอิสาน ๓๐ คนแล้ว และในปีนี้ก็ได้เปิดการอบรมขึ้นที่เชียงใหม่อีก ๒๐ คน  ในส่วนกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ก็ได้ประกาศไปแล้ว ๒ ฉบับ คือพระราชบัญญัติการสาธารณสุข และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ  นอกจากนี้คณะกรรมการสาธารณสุขและการแพทย์ที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้น คือได้ช่วยเหลือวางโครงการในการสาธารณสุขและการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น”

ความคิดเรื่องการปกครองแบบเทศบาลสืบเนื่องมาจากการออกพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ที่กำหนดให้มีระเบียบราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งนายปรีดีประสงค์และสนับสนุนที่จะให้ราษฎรได้ปกครองตนเองลักษณะเช่นนี้มาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ทางด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ที่รัฐบาลหมั่นพัฒนาอย่างแข็งขัน ก็จะเอื้ออำนวยให้ราษฎรทั้งหลายมีคุณภาพชีวิตและพลานามัยแข็งแรง

ผมอยากเสริมเรื่องโรงพยาบาลโรคจิตอีกนิด แห่งที่สร้างขึ้นสำหรับภาคใต้ ปัจจุบันก็คงอยู่คือ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์บนควนท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนแห่งที่สร้างขึ้นสำหรับภาคเหนือ ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลสวนปรุง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เดิมที การโยธาเทศบาลดูแลโดยกรมนคราทรในระบอบเก่า ครั้นนายปรีดีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี พ.ศ. 2476 ก็จัดตั้งกรมโยธาเทศบาลเพื่อปฏิบัติงานสร้างทางในท้องที่หลายจังหวัดให้สอดคล้องกับการปกครองแบบเทศบาล  ไม่แปลกที่เขาจะแถลงผ่านสุนทรพจน์ถึงการสร้างถนนสายต่าง ๆ รวมทั้งการไฟฟ้าและการประปา

“ส่วนการโยธาเทศบาลอันเป็นอุปกรณ์สำคัญอันหนึ่งแห่งการปกครอง ก็ได้ทำการคืบหน้าไปหลายอย่าง  โดยเฉพาะการทางนั้น พอกล่าวได้ว่า สายแพร่-น่าน ได้กะงบประมาณเพื่องานดินซึ่งหวังจะให้เสร็จในปีนี้  สายสวรรคโลก-ตาก ก็จะลงหินให้เสร็จ สายชนบท ร้อยเอ็ด-อุบล, อุบล-มุกดาหาร-นครพนม, สายตะพานหิน-เพชรบูรณ์, สายแปดริ้ว-สัตตหีบ, สายปราจีน-อรัญญประเทศ, สายชุมพร-กระบี่, สายห้วยยอด-กระบี่, สายยะลา- เบตง, สายท่านุ่น-ตะกั่วป่า  ทางหลวงเหล่านี้มีระยะทางรวมทั้งหมด ๑๓๐๑ กิโลเมตร ได้จัดการถางป่าไปแล้ว ๖๕๕ กิโลเมตร ทำงานดินเสร็จ ๔๗๗ กิโลเมตร  ถมหินแล้ว ๙๙ กิโลเมตร สร้างสะพานคอนกรีตแล้ว ๔๖ แห่ง ฝังท่อระบายน้ำแล้ว ๒๖๒ แห่ง

อนึ่ง สายแปดริ้ว ชลบุรี สัตตหีบ ก็จะเร่งรีบทำ เพราะงานดินเสร็จแล้ว งานหินเสร็จบางตอน  กองทัพเรือก็ได้ช่วยทำจากสัตตหีบย้อนมายังชลบุรี

ถนนกรุงเทพฯ-ดอนเมือง และกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ทั้งสองนี้งานดินได้จัดทำแล้ว เวลานี้กำลังสร้างสะพานและท่อระบายน้ำ และกำลังเตรียมงานสำหรับลงหินต่อไป

ทางหลวงที่สำคัญเมื่อได้ทำการสำรวจแล้ว ก็จะได้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป  คือสัตตหีบ-ระยอง, ราชบุรี-บ้านโป่ง, เพชรบูรณ์-หล่มศักดิ์, บัวใหญ่-ชัยภูมิ, จักราช-พิมาย, ขอนแก่น-เลย, อุดร-เลย-เชียงคาน

ในส่วนพระนครและธนบุรีนั้นเล่า ก็ได้รับงบประมาณที่จะก่อสร้างถนนให้ดีขึ้น ทางฝั่งพระนคร ถนนเหล่านี้จะลาดแอสฟันต์ คือถนนทรงวาด ทรงสวัสดิ์, ดินสอ, บ้านตะนาว, จักรเพชร, พระสุเมรุ, ตีทอง, ตรีเพชร และบริเวณหน้าสถานีรถไฟหลวง ก็ได้ทำลานคอนกรีตแล้ว ทางฝั่งธนบุรีนั้น ถนนลาดหญ้าจากวงเวียนใหญ่ถึงคลองบางกอกใหญ่ จะได้ถมหินและสร้างสะพาน  และงานดิน งานหิน งานสะพานจะได้ทำจากถนนลาดหญ้าต่อไปยังตลาดพลู ซึ่งบริเวณตลาดนั้นมีถนนจะได้ถมหินให้

การไฟฟ้าและการประปาหัวเมือง ก็จะได้เริ่มเริ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่มหาชน  เวลานี้ได้มีพระราชบัญญัติซึ่งอนุญาตรัฐบาลให้ยืมเงินแก่สุขาภิบาล หรือเทศบาล ๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจะได้จัดตั้งโรงไฟฟ้า ณ เมืองฉะเชิงเทรา อุตตรดิตถ์ อุทัยธานี และในท้องที่ชุมแสง บางมูลนาค และจะสร้างประปาในพระนครศรีอยุธยา,ลพบุรี, นครสวรรค์, พิษณุโลก

สำหรับพระนครและธนบุรี  ก็มีข่าวสำคัญที่จะนำมาซึ่งความชื่นชมยินดีที่จะแจ้งให้ท่านทั้งหลายทราบ ณ บัดนี้ก็คือ อัตรากระแสไฟฟ้าและค่าเช่าเครื่องซึ่งมีมูลค่าแพงอยู่นั้นต่อไปจะลด โดยที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำความตกลงกับบริษัทไฟฟ้าสยามคอร์ปอเรชั่น จำกัดสำเร็จแล้ว ในอันที่จะลดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าลงจากอัตราที่คิดอยู่ในเวลานี้ เริ่มแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ลดหน่วยละ ๑ สตางค์ หมายความว่าปีนี้เราได้ลด ๒ สตางค์ ปีหน้าลดรวม ๕ สตางค์ ส่วนค่าเช่าเครื่องวัดไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ ๑๐ อังแบร์ลงมา

วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ คิดเพียง ๘๐ สตางค์ ได้ลด ๒๐ สตางค์

วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙  คิดเพียง ๕๐ สตางค์

ตามที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ การรักษาความสงบภายในก็ได้กำลังทหาร ตำรวจ พลเรือน ช่วยกันรักษาประเทศให้ยืนยงตลอดมา”

หลักประการที่ 3 ประการที่ 4 และประการที่ 5 นายปรีดีเอ่ยอ้างอย่างรวบรัดว่า

“ประการที่ ๓ การเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาอันสำคัญ ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วเมื่อปีกลายนี้ รายละเอียดข้าพเจ้าของดไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในการนั้นมาแสดงต่อท่าน ส่วนประการที่ ๔ เรื่องสิทธิเสมอภาคและประการที่ ๕ เรื่องเสรีภาพของประชาชน ข้าพเจ้าก็กล่าวมาเมื่อปีกลายนี้ และได้บังเกิดขึ้นแล้วตามกฎหมายธรรมนูญฉบับถาวร  และรัฐบาลก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการที่จะช่วยกันสะสางบทกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้วอันส่อให้เห็นถึงความตั้งใจดีของรัฐเพื่อที่จะยังความเสมอภาคและเสรีภาพให้มากยิ่งขึ้น”

ในประการสุดท้ายคือประการที่ 6 นายปรีดีก็มิได้ละเลย

“เรื่องการศึกษานั้นก็ได้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น  โรงเรียนประชาบาลจะจัดตั้งขึ้นทุกตำบลและสิ่งที่น่าเห็นในความสุจริตใจของรัฐบาล ก็คือรัฐบาลได้ตกลงวางนโยบายคือเงินศึกษาพลีที่รัฐบาลก่อนยืมมาจากจังหวัดต่างๆนั้น  ให้จังหวัดต่างๆนั้น ให้จังหวัดต่าง ๆ หวังว่า เมื่อจังหวัดต่าง ๆ  ได้เตรียมแผนการณ์ตามนโยบายนั้น  และได้รับเงินนี้คืนไปแล้ว  ก็คงจะช่วยการศึกษาประชาบาลให้แก่ยุวชนเรามากยิ่งขึ้น และจะส่งเสริมการปกครองแบบเทศบาลให้ไปสู่ยังผลสำเร็จ”

นายปรีดีปิดท้ายสุนทรพจน์ของเขาว่า

“ผลแห่งรัฐธรรมนูญในระยะขวบปีหนึ่งมีดังได้กล่าวมาแล้วโดยสังเขป ท่านที่ตั้งใจเป็นธรรม ก็คงปรารถนาที่จะแลเห็นผลอันนี้ก้าวหน้าต่อไปอีก ข้าพเจ้าจำต้องขอร้องต่อท่านผู้ฟัง ประดุจดังได้ขอร้องมาแล้วในปีก่อน  ขอวิงวอนให้พวกเราชาวไทยจงมีใจรักมีใจนิยมรัฐธรรมนูญด้วยความสุจริต 

ต่างคนต่างช่วยกันแก้ไข  ช่วยกันคิดช่วยกันสร้าง ปราศจากการทำลายล้างต่อกัน  เมื่อเป็นไปได้ดังนั้น รัฐธรรมนูญของเราจะถาวรลอยเด่นอยู่เสมอ  ข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องให้ท่านนิยมรัฐบาลหรือนิยมใครเป็นส่วนตัว  แต่ขอร้องให้ท่านเห็นแก่ชาติบ้านเมือง  เห็นแก่ประชาชนทั่วไป  ขอให้พวกเราชาวไทยจงช่วยกันรักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ให้สถิตย์สถานอยู่ชั่วกัลปาวสานเทอญ

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทั้งหลาย”

สุนทรพจน์ของนายปรีดี พนมยงค์หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ซึ่งยุคนั้นยังถือเป็นวันฉลองรัฐธรรมนูญ ได้สะท้อนปณิธานและเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้เทอดรัฐธรรมนูญและยึดมั่นในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรอย่างแน่นแฟ้น ทั้งยังเปิดเผยสภาพความเป็นไปของสังคมไทยปลายทศวรรษ 2470 นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์พึงนำมาศึกษาวิเคราะห์ให้กว้างขวาง

 

เอกสารอ้างอิง

  • กองบรรณาธิการสยามใหม่. “บันทึกชีวิตสมถะปัจฉิมวัยที่กรุงปารีส” ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2560. กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: งานสื่อสารองค์กร กองแผนงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560. หน้า 34-47.
  • ประดิษฐ์มนูธรรม,หลวง. ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายปกครอง: ข้อความทั่วไปในวิชากฎหมายปกครองและปาฐกถาเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476. พิมพ์แจกในงานพระกฐินพระราชทานแก่สภาจังหวัดพระนคร วัดสังเวชวิศยาราม พ.ศ. 2479. พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2478.
  • ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553.
  • ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับ สังคมไทย”, 2526.
  • มนัส จรรยงค์. จับตายและรวมเรื่องเอก. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2560.
  • “สุนทรพจน์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2478” ใน ชุมนุมปาฐกถาของคนสำคัญ. ส. คนปรีชา (รวบรวม). พระนคร: สุวรรณบรรพต, 2504. หน้า 97-111.