ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวไว้ว่า... ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คือ “ภรรยาและเพื่อนที่ดีที่สุดของข้าพเจ้า โดยอยู่เคียงข้างข้าพเจ้าตลอดเวลา แม้ในยามประสบเคราะห์กรรม!”
ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาลของท่านอาจารย์ปรีดี ในวันที่ 11 พฤษภาคม (2543) นี้ ดิฉันมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะได้สนทนากับท่านผู้หญิง เพราะเชื่อว่าในการรําลึกถึงท่านอาจารย์นั้น จะรําลึกผ่านผู้ใดดีไปกว่าภรรยาและเพื่อนที่ดีที่สุดผู้น้ีเป็นไม่มี…
ท่านผู้หญิงพูนศุขเพิ่งจะครบ 88 ปีเต็ม ไปเมื่อวันที่ 2 มกราคม ที่ผ่านมา และเมื่อดิฉันได้ไปกราบท่านเมื่อปลายเดือนเมษายน (2543) ท่านผู้หญิงยังคงงดงามสมวัย แข็งแรง สดชื่น สุ้มเสียงสดใส โดยเฉพาะยามย้อนคุยถึงเรื่องในอดีต
“สําหรับตัวฉันนี่นะคะ นายปรีดีนี่ให้ความรัก ให้ความรู้และมอบความไว้วางใจให้ … อยู่ไกลกันยังไงก็ถ่ายทอดความรู้ให้ ไม่หยุดยั้งเลย เรียนกันจนแก่ คือ ได้รับความรู้ ฉันเรียนหนังสือก็ไม่มาก แต่มาอยู่กับคนที่เป็นครูบาอาจารย์ก็ได้รับความรู้ ได้รับอะไรต่าง ๆ”
ช่วงที่ครอบครัวท่านอาจารย์ปรีดีได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเมืองมากที่สุดก็คือ หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่ทําให้ท่านปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ…
ครั้งนั้นเองที่เมื่อท่านผู้หญิงได้ยินบุตรสาว คือ คุณดุษฎี พนมยงค์ ร้องเพลง Un bel di หรือ One Fine Day จากอุปรากรเรื่องมาดาม บัตเตอร์ฟลาย (Madame Butterfly) แล้วถึงกับน้ําตาซึม…
“ซึ้งใจมาก … คือ เมื่อก่อนถูกจับนะคะ ลูกดุษฎีร้องเพลงจากมาดาม บัตเตอร์ฟลาย - One Fine Day คือ เวลานั้นนายปรีดี อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ... พอลูกร้องเพลงนี้ ฉันน้ําตาซึมเลย บอกไม่ถูก นี่พูดยัง...”
เสียงท่านผู้หญิงกลั้วสะอื้นเมื่อพูดถึงตรงนี้…
ท่านผู้หญิงเสริมด้วยว่า ที่ซาบซึ้งใจอย่างมากเป็นเพราะเนื้อร้องของเพลงนี้กล่าวถึงการรอคอยวันกลับของบุคคลอันเป็นที่รัก รอคอยอย่างมีความหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้พบกันอีก
อีกช่วงหนึ่งที่สร้างแรงกดดันอย่างมากก็คือ เมื่อท่านผู้หญิง ซึ่งนอกจากจะต้องเศร้าเสียใจกับการพรากจากสามีอันเป็นที่รักแล้ว ยังถูกจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2495 ก่อนวันครบรอบแต่งงานเพียงวันเดียว ... ลูกชายคนโต คือ คุณปาล พนมยงค์ ก็ถูกจับในข้อหาเดียวกัน ... ท่านผู้หญิงถูกคุมขังอยู่นานถึง 84 วัน ท่านผู้หญิงบอกกับดิฉันว่า สิ่งหนึ่งที่ทําให้จิตใจสงบเวลานั้นก็คือเสียงดนตรี ... ดนตรีที่ท่านผู้หญิงเรียนรู้มาแต่ครั้งยังเยาว์
“ก็ทำจิตใจสงบนะคะ ไม่ดิ้นรนอะไร ถือว่าถูกจับก็ทนอยู่ได้ 84 วัน ขาดอิสรภาพ แล้วก็อยู่มาจนอายุป่านนี้ … (ดนตรี) ก็คงมีส่วนบ้าง แต่จิตใจนี่สําคัญ เราไม่ยอมท้อถอย ทน คือ จะต้องอยู่ไป จะเอาความอยู่นี่เป็นชัยชนะ”
ท่านผู้หญิงไม่เคยแสดงความอ่อนแอออกมาแม้สักน้อย!
หลังจากได้รับอิสรภาพแล้ว ท่านผู้หญิงจึงได้ตัดสินใจเดินทางไปฝรั่งเศส อังกฤษ สวีเดน ผ่านสหภาพโซเวียต ปลายทาง คือ จีน เพื่อที่จะพบกับท่านอาจารย์ปรีดีที่นั่น หลังจากที่ต้องพลัดพรากกันเป็นเวลานาน 5 ปี
ระหว่างการใช้ชีวิตร่วมกันในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น 13 ปีในจีน หรือ 18 ปีในฝรั่งเศส ภารกิจนอกเหนือจากการเป็น “แม่บ้าน” ของท่านผู้หญิงพูนศุข คือ การช่วยท่านอาจารย์ปรีดีรับฟังวิทยุต่างประเทศเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของโลกและของเมืองไทย
“ตื่นเช้าขึ้นมาก็ฟังวิทยุ ดื่มน้ําชา ฉันเป็นคนชงให้ ชาจีนนะคะ ไม่ใช่ชาฝรั่ง ฟังบีบีซี ฟังอะไรนี่แล้วแต่เวลา … อยู่กับเครื่องวิทยุทรานซิสเตอร์เลย บางทีก็สลับกัน ไปเดินเล่นหรือไปนั่งรับอากาศก็เอาทรานซิสเตอร์ไปตั้ง และอีกคนอาจจะอยู่ข้างบนฟังวิทยุอีกเครื่อง ก็อยู่อย่างนี้”
ชีวิตของท่านอาจารย์ปรีดีน้ัน เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการรับฟังข่าวสาร แต่ก็มีบางครั้งที่ท่านอาจารย์ฟังเพลง โดยเฉพาะเพลงจากอุปรากรเรื่อง Carmen อย่างไรก็ตาม ท่านผู้หญิงก็ได้เล่าให้ฟังตอนหนึ่งด้วยว่า ท่านอาจารย์ปรีดีในฐานะผู้อํานวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก เพื่อเป็นบรรณาการให้กับสันติภาพ ในช่วงที่เมฆหมอกแห่งสงครามโลกคร้ังใหม่ปกคลุมไปทั่วโลกนั้น เป็นผู้เลือกเพลง สายสมร จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเป็นเพลงไทยโบราณครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้พระเจนดุริยางค์เรียบเรียงเสียงประสานเพื่อเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งต่อมาได้มีผู้มาใส่เนื้อร้องและเรียกว่าเพลง ศรีอยุธยา
แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนาน แต่ดูเหมือนว่า ความทรงจําของท่านผู้หญิงยังคงแจ่มชัด โดยเฉพาะเมื่อรําลึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านอาจารย์ปรีดีทําเพื่อแผ่นดินและมวลราษฎรไทย และตัวท่านผู้หญิงก็ได้ต่อสู้เคียงข้างท่านอาจารย์ปรีดีมาโดยตลอดจากการถูกใส่ร้ายต่าง ๆ นานา ... ต่อสู้แม้ เมื่อท่านอาจารย์ล่วงลับไปแล้ว จนกระทั่งคิดว่ามีผู้เข้าใจ ท่านอาจารย์ปรีดีมากขึ้นจึงได้ยุติ!
“วันนี้ต้องดีกว่าวันวานเป็นธรรมดา...” ท่านผู้หญิงพูนศุขรําพึงอย่างมั่นใจและสุขใจ…
ในโอกาส 100 ปีชาตกาลของท่านอาจารย์ปรีดีนี้ คนรุ่นใหม่ที่เคารพและตระหนักถึงคุณงามความดีของท่านอาจารย์ได้แต่งเพลงขึ้นมาใหม่ 2 เพลงด้วยกัน คือ เพลงซิมโฟนี หมายเลข 4 ปรีดีคีตานุสรณ์ ประพันธ์โดย คุณสมเถา สุจริตกุล ซึ่งนำชีวประวัติของท่านอาจารย์ปรีดี มาร้อยเรียงเป็นบทซิมโฟนี และเพลงคนดีมีค่า ประพันธ์เนื้อร้องโดย คุณจริย์วัฒน์ สันตะบุตร และคุณไกวัล กุลวัฒโนทัย ทํานองโดยคุณไกวัล อีกเช่นกัน
สําหรับเพลงคนดีมีค่านี้ ท่านผู้หญิงพูนศุขและครอบครัวท่านอาจารย์ปรีดีเห็นว่าตรงกับคุณงามความดีของท่านอาจารย์และทุกคนที่ทําความดี … แม้เพลงนี้จะไม่มีคําว่า “ปรีดี” ปรากฏอยู่เลยก็ตาม
ก่อนกราบลา … ดิฉันได้เรียนถามท่านผู้หญิงถึงความคิดถึงที่มีต่อท่านอาจารย์ปรีดี
ท่านผู้หญิงพุนศุขเงียบไปอึดใจ ก่อนที่จะตอบเสียงเครือว่า “ก็เป็นธรรมดานะคะ … คือว่าไม่มีที่ปรึกษา”
ที่มา: รุ่งมณี เมฆโสภณ, คอลัมน์ “สักวันหนึ่ง ดอกไม้จะบาน” ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2543.