พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ‘เวนิสวาณิช’ ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ เป็นกลอนบทละครตอนหนึ่งว่า
“ความเอยความรัก
เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน
เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ
หรือเริ่มในสมองตรองจงดี”
กลอนพระราชนิพนธ์อมตะชิ้นนี้ ตั้งคำถามถึงความรักเมื่อแรกเริ่มได้อย่างน่าพิจารณา ว่าความรักเริ่มที่หัวใจ หรือ เริ่มในสมอง
ความรักเป็นของธรรมดาที่อยู่ของมนุษยโลกมาช้านาน รัฐบุรุษอาวุโสของไทยอย่าง 'นายปรีดี พนมยงค์' ก็เลี่ยงไม่พ้นความข้อนี้ จึงอยากชวนมาลองหาคำตอบไปด้วยกันว่า ความรักของเขาเริ่มต้นอย่างไร และดำเนินไปอย่างไร 'ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์' ผู้เป็นภรรยา ถึงกับกล่าวไว้ว่า “ดิฉันเป็นผู้หญิงที่โชคดีที่สุดที่ได้มีคู่ครองเช่นนี้”
แรกรู้จัก
ในปี 2460 เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ สู่เมืองหลวงเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม นายเสียง บิดา นำไปฝากและให้อาศัยอยู่ในบ้านปากคลองสานของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ซึ่งนับได้ว่าเป็นญาติห่างๆ กับนายเสียง ดังที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ทำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกันว่า
“เขามาพักอยู่ที่บ้านของยาย คือ นายปรีดีเป็นคนอยุธยา เมื่อเขามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ คุณพ่อของเขาก็นำมาฝากไว้กับคุณพ่อของยาย เพราะเราเป็นญาติกันห่างๆ เมื่อนับญาติกันแล้ว เรามีเชียดเป็นคนเดียวกัน”
ก่อนจะขยายความต่อว่า “ (ตอน) รู้จักกันยังเด็กมาก เราไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกันด้วย เพราะสมัยโบราณ ผู้ชายก็อยู่ส่วนผู้ชาย คือ นักเรียนต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ สมัยนั้นก็มีกันหลายคน ไม่มีหอพัก ใครคนไหนที่เป็นญาติๆ กัน เขาก็นำมาฝากไว้กับคุณพ่อของยาย แม้เราจะอยู่บ้านในบริเวณเดียวกัน แต่มันก็ใหญ่โต ไม่ได้อยู่ปะปนกัน”
นักเรียนต่างจังหวัดที่มาพักที่บ้านนี้ นอกจากญาติฝั่ง ณ ป้อมเพชร์ ของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ แล้ว ญาติฝั่งสุวรรณศรของคุณหญิงเพ็ง ก็มีมาพักอาศัยเช่นกัน เป็นต้นว่า นายประมูล สุวรรณศร บุตรหลวงอรรถสารสิทธิกรรม (บุ) ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของคุณหญิงเพ็ง ดังที่นายปรีดีเคยเล่าว่า “ข้าพเจ้าได้รู้จักสนิทสนมกับคุณประมูล สุวรรณศร มาตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งนี้เพราะมาอยู่ร่วมบ้านเดียวกับญาติผู้ใหญ่ คือ ท่านเจ้าคุณและคุณหญิงชัยวิชิตฯ”
ระหว่างที่มาเรียนในพระนคร นอกจากทำงานเป็นเสมียนที่สำนักทนายความพระวิชิตมนตรี (สุด กุณฑลจินดา) ในปี 2460-2462 แล้ว ในปี 2462-2463 พระยาชัยวิชิตฯ ได้ให้นายปรีดีเข้าทำงานเป็นเสมียนโทประจำกรมราชทัณฑ์ด้วย
การเล่าเรียนของนายปรีดีเจริญก้าวหน้าตามลำดับ จนเดือนสิงหาคม 2463 นายปรีดีได้รับการคัดเลือกเพื่อรับทุนจากกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส และเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตของรัฐ และประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐกิจการเมืองแล้ว นายปรีดีเดินทางกลับมาถึงสยามในวันที่ 1 เมษายน 2470
เริ่มรัก
เมื่อ ดร.ปรีดี วัย 27 ปี กลับมาสยามแล้ว ก็ได้มาพักอาศัยที่บ้านเจ้าคุณชัยวิชิตฯ อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นที่บ้านถนนสีลม
ท่านผู้หญิงพูนศุขฟื้นความหลังว่า “พอกลับมาเขาก็อายุ 27 ได้แล้ว เราก็เริ่มเป็นสาวนะ อายุ 16 แล้วนี่ ตอนนี้แหละที่ได้พูดคุยกันมั่ง แต่ก็ไม่มากหรอก เพราะมันอยู่กันอย่างบ้านโบราณน่ะ ผู้หญิงก็อยู่ส่วนผู้หญิง ผู้ชายก็อยู่ส่วนผู้ชาย”
ต่อคำถามว่า จีบกันอย่างไร ท่านผู้หญิงปฏิเสธ โดยตอบว่า “โอ๊ย..ไม่มีน่ะ (หัวเราะ) ไอ้ที่จีบกันเป็นคำพูดนั้นไม่มีเลย แต่ถ้าเรื่องส่งสายตา..อย่างนั้นละก็มีบ้าง (หัวเราะ)”
ท่านผู้หญิงสันนิษฐานว่า เหตุที่นายปรีดีประทับใจตนเอง เพราะ “ก็คงจะเห็นว่าเราตั้งอกตั้งใจเรียนหนังสือ คือนอกจากจะเรียนในโรงเรียนแล้ว เรายังชอบขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม อย่างเราติดตามผู้ใหญ่อยู่เรื่อย ไม่ว่าจะมีแขกมาหาผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่ไปไหน เราก็มักจะติดตามอยู่เรื่อย เรียกว่าเราติดตามเรื่องราวอื่นด้วยนอกจากเรื่องการเรียนในโรงเรียน”
ขอหมั้น
หลังจากปักใจรักกับพูนศุขแล้ว ปรีดีจึงให้บิดามาสู่ขอตามประเพณีราวเดือนพฤษภาคม 2471 ท่านผู้หญิงพูนศุขเล่าว่า “ตอนที่นายปรีดีพาพ่อจากอยุธยามาขอหมั้น ฉันยังไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ตามปรกติ … เมื่อนายปรีดีมาสู่ขอ คุณพ่อฉันก็ยอม และไม่ได้เรียกร้องอะไรนอกจากแหวนเพชรวงหนึ่ง”
เมื่อหมั้นกันแล้ว เจ้าคุณชัยวิชิตฯ และคุณหญิงก็ปลูกเรือนให้เป็นของขวัญ ดังที่ท่านผู้หญิงเล่าต่อไปว่า “เราหมั้นกันก่อนประมาณหกเดือน เพราะต้องรอเรือนหอที่คุณพ่อคุณแม่สร้างให้เป็นของขวัญ ซึ่งอยู่ในบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม” น่าเสียดายที่บ้านหลังดังกล่าวซึ่งเคยตั้งอยู่บริเวณหัวมุมที่ตัดกับถนนสีลมโดนรื้อ กลายเป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ไปแล้ว
งานแต่งงาน
16 พฤศจิกายน 2471 พูนศุขกับปรีดีแต่งงานกันที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ฝ่ายเจ้าสาวสวมเสื้อสีชานอ้อย นุ่งซิ่นสีเดียวกัน ฝ่ายเจ้าบ่าวแต่งชุดราชปะแตน นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้สวมมงคลและเจิมหน้าผาก ร่วมกับท่านผู้หญิงตลับ
ท่านผู้หญิงพูนศุขให้รายละเอียดว่า “การแต่งงานสมัยโบราณนั้น ผู้ที่จะมารดน้ำให้คู่บ่าวสาวต้องเป็นคนมงคล คุณพ่อของยายท่านเลือกเฉพาะคนที่เป็นมงคลเท่านั้น ไม่ใช่เอาการ์ดสาดไปทั่วทั้งเมือง เราเลือกผู้ที่เป็นที่เคารพนับถือ มีคุณธรรม มีการครองชีวิตที่ราบรื่น ก็มีญาติผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชา และเพื่อนฝูงของคุณพ่อ”
โดยในวันงาน ช่วงเช้าพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แก่คู่บ่าวสาวที่เรือนหอ พร้อมทั้งถือโอกาสทำบุญขึ้นบ้านใหม่ด้วย มีตักบาตรด้วยกัน ส่วนในตอนเย็น มีฤกษ์รดน้ำ เจ้าสาวเปลี่ยนมาสวมเสื้อตัดด้วยผ้าลาเม่ ไม่มีแขน ติดช่อดอกไม้แห้ง นุ่งซิ่นสีน้ำเงิน ซึ่งคุณหญิงเพ็งเป็นผู้จัดหา แล้วให้พี่ๆ น้องๆ ช่วยกันตัดเย็บ แต่ไม่มีงานเลี้ยงอะไร
และเล่าถึงช่วงเข้าเรือนหอว่า “เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็อยู่บ้านเดียวกันนี่ เลยไม่มีพิธีส่งตัวเจ้าสาว แต่มีพิธีปูที่นอน คือคุณพ่อคุณแม่ท่านปูที่นอนให้ และเวลาที่จะเข้าเรือนหอนี่ เจ้าบ่าวเขาให้นาฬิกาฝังเพชร 6 เม็ด คือเรือนนาฬิกามีอยู่ 6 เหลี่ยม และแต่ละเหลี่ยมก็มีเพชรฝัง … สวยมาก แต่ตอนนี้ (ปี 2529) หายไปเสียแล้ว เป็นนาฬิกาที่เขาหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขาเองเชียวนะ”
ท่านผู้หญิงยังกล่าวถึงของขวัญสื่อรักที่นายปรีดีมอบให้ว่า “ทั้งของขวัญวันแต่งและของหมั้น เขาไม่ได้กวนพ่อแม่เขาเลย เพราะพ่อแม่เขา ก็รู้อยู่แล้ว ชาวนาใช่ไหม … เขาเป็นคนดีอยู่แล้ว จะไปเรียกร้องอะไรอีกล่ะ แต่มันก็ต้องมีตามธรรมเนียม”
ส่วนของขวัญที่ได้จากผู้ใหญ่ ฝ่ายนายเสียงรับไหว้ด้วยโฉนดที่นา ฝ่ายเจ้าคุณชัยวิชิตฯ รับไหว้ด้วยเงินสด ขณะที่ของชำร่วยในงานเป็นบุหงาถุงแพรต่วนเย็บเป็นรูปต่างๆ คลุมด้วยลูกไม้ทองอย่างวิจิตร โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
ชีวิตคู่ของนักกฎหมาย
แม้เวลานั้น จะอายุเพียง 17 ปี แต่ท่านผู้หญิงก็ย้อนความทรงจำมาเล่าว่า “ตอนแต่งงานยังเด็กอยู่มาก อายุยังไม่ถึง 17 ปีเต็มเลย แต่การแต่งงานนี่ก็เป็นสิ่งที่เลือกเองนะคะ แต่สำหรับท่าน (ปรีดี) คงคิดว่า ชีวิตนี้ต้องทำอะไรอย่างหนึ่งที่เป็นการรับใช้ชาติบ้านเมือง ควรจะมีใครมาอยู่เคียงข้างที่จะช่วยเหลือการงานกันได้ เป็นอย่างนั้นมากกว่าที่จะคิดเรื่องโรแมนติก เราเองก็เป็นคนที่นิยมชมชื่นคนที่มีความรู้ ท่านเองก็ไม่เที่ยวเตร่นะคะ ไม่เหลาะแหละ เอาแต่ทำงาน ทำราชการอยู่หลายแห่ง แห่งสุดท้ายก่อนแต่งงานมาอยู่ที่กรมร่างกฎหมาย”
ปรีดีเป็นคนเก่ง เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว ทำให้การ์ดเชิญที่พิมพ์ชื่อว่า ‘นายปรีดี พนมยงค์’ เมื่อถึงวันแต่งงานจริงกลับไม่ถูกเสียแล้ว เพราะในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ศกนั้น นายปรีดีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ก่อนถึงวันแต่งงานเพียงสัปดาห์เดียว
เวลานั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย และเป็นครูที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ รับเงินเดือนมาแล้ว ก็มอบให้นางประดิษฐ์มนูธรรมทั้งหมด โดยไม่หักไว้ใช้ส่วนตัวเลย เพราะมีรายได้พิเศษจากค่าสอนและจากโรงพิมพ์นิติสาส์นแล้ว
นางประดิษฐ์มนูธรรม (พูนศุข) เป็นแม่บ้านอย่างเดียว อยู่ที่บ้านทำงานบ้าน หลวงประดิษฐ์ฯ ไปทำงานเช้า กลับเย็น ในช่วงแรกที่ยังไม่มีลูก นางประดิษฐ์ฯ ก็ช่วยตรวจปรู๊ฟงานต่างๆ เพราะเวลานั้นหลวงประดิษฐ์ฯ พิมพ์หนังสือกฎหมายไทย ชุดหนึ่งมี 12 เล่ม รวบรวมตั้งแต่กฎหมายตราสามดวงพิมพ์ออกมา ทั้งยังมีหนังสือรายเดือน ‘นิติสาส์น’ ด้วย
นอกจากนั้น ช่วงก่อนที่จะมีลูกคนแรก เธอยังได้ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมที่สมาคมฝรั่งเศส เป็นเหตุให้ได้เพื่อนจากที่นั่นมาหลายคน เช่น จำกัด พลางกูร, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, กนต์ธีร์ ศุภมงคล เป็นต้น
ชีวิตคู่ของนักการเมือง
24 มิถุนายน 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและพวก ในนาม “คณะราษฎร” ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้พระมหากษัตริย์มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเป็นผลสำเร็จ จากชีวิตของข้าราชการนักกฎหมาย จึงกลายมาเป็นนักการเมืองคนสำคัญของยุคสมัย แน่นอนว่า ชีวิตของนางประดิษฐ์ฯ ย่อมเผชิญความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
โดยก่อนการอภิวัฒน์ เธอมิได้ทราบเรื่องแต่อย่างใด ทั้งนี้คงเป็นเพราะ “ตอนนั้นเรายังเด็กมาก นอกจากจะเป็นเด็กมากแล้ว อีกอย่างตอนนั้นครอบครัวของดิฉันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้านายมาก การจะมาบอกเรื่องนี้ก็คงจะไม่ดี”
แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น เธอก็ไม่รู้สึกขัดแย้งแต่อย่างใด “เรื่องความสัมพันธ์กับเจ้านายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องบ้านเมืองที่จะต้องเป็นไปอย่างไรก็เป็นเรื่องของโลก ประเทศเราเวลานั้น ก็คงเรียกว่าเหลืออยู่ประเทศเดียวมั้งที่ล้าหลัง นอกนั้นเขาก็เปลี่ยนระบบกันแล้วทั้งนั้น”
แม้ฝ่ายอำนาจเก่าหลายคนจะไม่พอใจ แต่ก็มีเจ้านายบางพระองค์ที่เข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ที่เธอเคยไปเฝ้าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านก็รับสั่งว่า “ทั่วโลกเขาก็เป็นอย่างนี้หมดแล้ว จะทำอะไร ต้องทำด้วยความรอบคอบ”
มรสุมของชีวิต
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเดียว หลวงประดิษฐ์มนูธรรมถูกเนรเทศหลังความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจในปี 2476 นางประดิษฐ์ฯ ก็เดินทางไปฝรั่งเศสพร้อมสามีด้วย แต่หลังจากนั้นไม่นาน หลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ลงจากตำแหน่ง หลวงประดิษฐ์ฯ ก็กลับมารับตำแหน่งสำคัญอีกครั้ง ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าการกระทรวงการคลัง จนถึงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในงานเกี่ยวกับเอกราชของชาติ ทั้งการแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการนำขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่หลังมหาสงครามสงบลงเพียงปีเดียว ก็เกิดเหตุกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น และศัตรูทางการเมืองเริ่มวางแผนให้ร้ายป้ายสีนายปรีดี จนเกิดการรัฐประหาร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่มีรถถังมายิงที่ทำเนียบท่าช้าง ซึ่งเป็นที่พำนักของครอบครัวปรีดี-พูนศุข ทำให้นายปรีดีจำต้องหนีออกไปยังต่างประเทศ
นายปรีดีพยายามฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัย ‘ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492’ แต่ก็ต้องล้มเหลว ท่านผู้หญิงพูนศุขต้องวางแผนพาหลบหนีและดูแลความปลอดภัยจนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้[1] และนับเป็นการปิดฉากบทบาททางการเมืองของนายปรีดีโดยสิ้นเชิง
ความผันผวนในชีวิตของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งต่อมาลาออกจากบรรดาศักดิ์กลับมาเป็น นายปรีดี พนมยงค์ ย่อมทำให้ชีวิตคู่ของทั้งสองเผชิญความยากลำบากเช่นเดียวกัน
แม้เธอไม่อาจคาดฝันได้ว่าจะต้องประสบกับชีวิตเช่นนี้ แต่ก็ไม่เคยนึกเสียใจ
“ไม่เห็นน่าเสียใจเลยค่ะ รู้สึกว่าเรายังได้ช่วยเหลือเขาไปด้วย แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อย เราก็ยังได้ทำประโยชน์บ้าง อายุเราก็เพียงเท่านี้ การได้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมแม้สักนิด ได้รับใช้ส่วนไหน เราก็ยินดี”
นักโทษการเมือง
หลังจากที่นายปรีดีจำต้องออกไปจากแผ่นดินไทยแล้ว ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ของลูก ดังที่วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ บุตรีคนสุดท้อง เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ลูกๆ ประทับใจคุณแม่ที่สุดตอนที่คุณพ่อลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ ตอนนั้นคุณแม่ทำหน้าที่เป็นทั้งแม่และพ่อในเวลาเดียวกัน ลูกๆ ไม่รู้สึกขาดความอบอุ่นเลย”
เมื่อเล่นงานนายปรีดีไม่ได้ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจึงหันมาเล่นงานครอบครัวของเขาแทน เดือนพฤศจิกายน 2495 ท่านผู้หญิงพูนศุข และปาล บุตรชายคนโต ถูกจับในข้อหากบฏ ที่รู้จักกันในนาม ‘กบฏสันติภาพ’ ท่านผู้หญิงถูกคุมตัวไว้ 84 วัน เมื่อหลักฐานไม่เพียงพอให้สั่งฟ้อง จึงได้รับการปล่อยตัวออกมาก่อนบุตรชาย
แต่ในระหว่างที่มีการสอบสวนท่านผู้หญิง ตำรวจพยายามทำสงครามจิตวิทยากับเธอ โดยกุว่านายปรีดีซึ่งลี้ภัยออกไปนั้น ได้ไปมีครอบครัวใหม่ มีความสุขอยู่นอกประเทศ “บางทีอยู่ในนั้น ตำรวจมันก็มายั่วเรานะ ตำรวจเลวๆ น่ะ มันยั่วว่า … ระหว่างที่เราอยู่ในนั้น นายปรีดีไปมีเมีย มีอะไร โอ๊ย เพื่อให้เราเกิดความอยากรู้อยากเห็นแต่ไม่ให้เราอ่าน แต่เราก็ไม่สะทกสะท้าน” ท่านผู้หญิงพูนศุขเล่า
ที่เธอไม่สนใจเพราะเชื่อในความซื่อสัตย์ของสามีนั่นเอง
ครั้งหนึ่งในบัลลังก์ 24
เมื่อท่านผู้หญิงเห็นว่าการพำนักอยู่ในประเทศต่อไปจะไม่เป็นผลดีต่อความปลอดภัยของตนเองและลูกๆ จึงได้เดินทางไปฝรั่งเศส แล้วไปหานายปรีดีที่เมืองจีน
เธอมาลา ปาล ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2496 เมื่อปาลขึ้นศาลอาญาในคดีกบฏ 'มารุต บุนนาค' ใช้นามปากกา ‘ผู้สื่อข่าวน้อย’ บรรยายความอย่างจับใจในเรื่อง ‘ครั้งหนึ่งในบัลลังก์ 24’ ความตอนหนึ่ง ดังนี้
“ขณะนั้นใกล้เวลาเพลมากแล้ว รถเฟียตเก๋งสีดำปลอดคันหนึ่งได้แล่นปราดเข้ามาเทียบกับบาทวิถีหน้าประตูห้องพิจารณาคดีบัลลังก์ 24 สุภาพสตรีวัยกลางคนผู้หนึ่งรูปร่างสูงโปร่ง สวมแว่นดำสนิท ก้าวลงจากรถคันนั้นอย่างแช่มช้อย ท่วงทีกริยาเป็นสง่าน่าเกรงขาม แม้ว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างบ่งไว้ว่าเธอกำลังตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ก็ตามที เธอได้เป็นเป้าสายตาของบุคคลทุกฝ่าย ณ ที่นั้น อันมีผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ผู้มีอาวุธครบมือ กลุ่มนักการเมืองผู้ไร้อิสรภาพ และประชาชนผู้สนใจ แต่เธอก็มิได้มีความประหม่าหรือสะทกสะท้านอย่างใดเลย
“เธอผู้นั้นได้เข้าตรงไปขออนุญาตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แล้วก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องพิจารณาบัลลังก์ 24 นั้น เมื่อเธอได้ย่างเท้าเข้าไปภายใน เธอก็ได้รับการแสดงความคารวะอย่างนอบน้อมและพร้อมเพรียงจากกลุ่มนักการเมืองผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านั้น ลักษณาการเช่นนั้นแสดงถึงบุคลิกภาพอันสำคัญของท่านสุภาพสตรีผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง
“เด็กหนุ่มผู้หนึ่งอายุไม่เกิน 21 ปี รูปร่างสันทัด ใบหน้าอิ่มเอิบ ผมตัดสั้นแบบนักเรียน ปราดออกมาจากกลุ่มผู้ไร้อิสรภาพ ตรงมาที่ท่านสุภาพสตรีผู้นั้น แสดงคารวะอย่างนอบน้อม ทันใดนั้นก็ได้เกิดภาพประทับใจอย่างลึกซึ้งแก่ผู้ประสบพบเห็น
“ท่านสุภาพสตรีผู้นั้นได้สวมกอดหนุ่มน้อยผู้นั้นไว้อย่างแสนรัก ฉับพลันน้ำตาของท่านก็ได้ไหลพร่างพรูราวกับสายฝน ท่านสะอึกสะอื้นพร้อมกับรำพันด้วยเสียงอันเยือกเย็นว่า
“ ‘ลูกเอ๋ย ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวที่ต้องผจญกับชะตากรรม แม้ว่าพ่อของลูกจะได้ประกอบกรรมทำความดีให้กับชาติบ้านเมืองอย่างมากมายก็ตาม แต่วิถีทางการเมืองทำให้พ่อของลูกไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในผืนแผ่นดินไทยได้อย่างเสรีชน ผลอันนี้ได้กระทบกระเทือนมาถึงแม่และตัวลูกอีกด้วย ลูกรักต้องกลายเป็นจำเลยในคดีการเมืองตั้งแต่เยาว์วัย โดยไม่มีผู้ใดคาดหมายไว้ก่อนเลยว่าจะต้องเป็นไปถึงเพียงนี้
ในวันนี้ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงเล็กน้อย จำต้องลาลูกรักเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อไปรักษาสุขภาพของแม่ให้ดีขึ้น ด้วยใจจริงแล้วแม่ไม่อาจจะทิ้งลูกรักไปได้ในยามนี้ แต่ด้วยเหตุจำเป็นสำคัญและสถานการณ์ได้บีบบังคับให้แม่จำต้องเดินทางไปด้วยใจไม่สมัคร แม่ไม่อาจจะพูดอะไรไปได้มากกว่านี้ เพราะกลัวว่าจะกระทบกระเทือนจิตใจอันบริสุทธิ์ของลูกรัก
นอกจากจะขอให้ลูกมีจิตใจเข้มแข็ง อดทนต่อสภาพการณ์ที่ลูกกำลังเผชิญอยู่ต่อไปในภายภาคหน้า ลูกรักจงอดทนและจงประพฤติตนให้สมกับเป็นลูกของนักการเมือง ผู้ครั้งหนึ่งเคยทำคุณงามความดีให้กับชาติบ้านเมือง โดยไม่เคยกอบโกยหาผลประโยชน์ใส่ตนและครอบครัวอย่างใดเลย แต่จังหวะชีวิตได้ทำให้พ่อของลูก…’
“เสียงของสุภาพสตรีผู้นั้นได้สะอื้นขาดหายไป เพราะความกำสรด
“ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้น แม้แต่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เอง ก็จำต้องเบือนหน้าหนี เพราะไม่อาจทนฟังและดูภาพและสิ่งอันน่าเห็นใจยิ่งนี้ได้”
จากพรากแล้วพบเจอ
หลังจากนายปรีดีลี้ภัยออกไปแล้ว เป็นเวลานานนับปีกว่าที่ท่านผู้หญิงพูนศุขจะสามารถตามออกไปอาศัยอยู่ด้วยกันได้ ทั้งคู่ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยกันที่ประเทศจีนเป็นเวลาร่วม 20 ปี และฝรั่งเศสอีก 13 ปี ก่อนที่นายปรีดีจะถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526
แม้ชีวิตคู่จะพบกับอุปสรรคขวากหนามมาไม่น้อย แต่เธอก็เอ่ยถึงความรู้สึกที่มีต่อสามีว่า “เอาเป็นว่า ดิฉันเป็นผู้หญิงที่โชคดีที่สุดที่ได้มีคู่ครองเช่นนี้ รู้สึกไม่เสียชาติเกิดเลยที่ได้พบผู้ชายอย่างนี้ ไม่มีพลาด ไม่มีอะไรที่ทำให้เราต้องเสียใจ แต่ที่เราต้องแยกย้ายกันก็เพราะเหตุการณ์บ้านเมือง ด้วยเหตุผลส่วนตัวไม่มีเลย เราอยู่อย่างปกติสุข แต่เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองทำให้เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ท่านไม่มีอะไรทำให้เราผิดหวังเลย”
และกล่าวในอีกวาระหนึ่งว่า “ความสะเทือนใจที่ได้รับจากการบีบบังคับของสถานการณ์ดูจะเป็นพลังให้ครอบครัวของเรามีความเห็นอกเห็นใจในกันและกันระหว่างพ่อแม่และลูกๆ อย่างหนักแน่นกว่าปกติ เราสำนึกดีว่าทุกชีวิตย่อมไม่เหมือนกัน”
วันใดวันหนึ่งในภายหน้า…
นายปรีดีเองก็ซาบซึ้งในความรักของภรรยาเป็นอย่างดี ดังได้เคยเขียนถึงเธอไว้ว่า “พูนศุข ภรรยาและเพื่อนที่ดีที่สุดของข้าพเจ้า โดยอยู่เคียงข้างข้าพเจ้าตลอดเวลา แม้ในยามประสบเคราะห์กรรม…” และ “ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเป็น ภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตนเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้ น้องได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย”
ยากที่จะตอบได้ว่า คุณความดีของท่านผู้หญิงพูนศุขปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทยแล้วหรือยัง และยากที่จะตอบว่าวันใดวันหนึ่งในภายหน้านั้นจะมาถึงเมื่อใด เพราะบางทีอาจจะมาถึงแล้วก็เป็นได้
เชิงอรรถ
[1] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สุธี โอบอ้อม ผู้เอื้ออารีต่อปรีดีในยามยาก
บรรณานุกรม
- 101 ปี ปรีดี – 90 ปี พูนศุข. กรุงเทพฯ: ลลิตา สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี วาณี, 2555.
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประมูล สุวรรณศร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2524.
- ก้นครัวคนดัง, “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” มติชนรายวัน 31 สิงหาคม 2529.
- ทำเนียบคุณหญิง, “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” บุคคลวันนี้ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 มิถุนายน 2529
- พูนศุข พนมยงค์. “ดิฉันโชคดีที่ได้คู่ครองเช่นอาจารย์ปรีดี” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับพิเศษ วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2529.
- วาณี พนมยงค์ (บรรณาธิการ). ใจคนึง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2555.
- วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. “ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต สุดา-ดุษฎี-วาณี พนมยงค์” สารคดี ปีที่ 23 ฉบับที่ 269 กรกฎาคม 2550.
- ภาณุมาศ ภูมิถาวร. ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2550.
- ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, 117 ปี ปรีดี พนมยงค์ รัตนบุรุษสยาม
เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.the101.world/phoonsuk-banomyong-marriage/ (8 มกราคม 2563)