ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ความเรียบง่ายเป็นเรื่องยากเย็นที่สุดสำหรับมนุษย์

19
มกราคม
2564

ความเรียบง่ายเป็นเรื่องยากเย็นที่สุดสำหรับมนุษย์ ดังนั้น เมื่อท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เขียน “คำสั่งถึงลูก” ด้วยลายมือของตัวเองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ก่อนที่ท่านจะถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมถึง 9 ปีข้อหนึ่งว่า “ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น…”

จึงเป็นความเรียบง่ายปล่อยวาง และเป็นการตอกย้ำถึงคุณค่าของมนุษย์ที่ประเสริฐแท้

เพราะเกียรติยศของคนนั้นอยู่ที่ใจของตน มิได้พึ่งพาการป่าวร้องของคนอื่น ไม่ว่าเสียงป่าวประกาศนั้น จะสูงด้วยยศถาบรรดาศักดิ์เพียงใดก็ตาม

ท่านผู้หญิงพูนศุข สั่งไว้ในกระดาษหนึ่งแผ่นนั้นว่า “ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน” และ “ไม่รบกวนญาติมิตรไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือเงินช่วยทำบุญ…”

นี่คือความเชื่อส่วนบุคคลของคนที่ได้เห็นโลกมานานพอ (สิริอายุ 95 ปี 4 เดือน 9 วัน) สำหรับคู่ชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 หัวหน้าคณะเสรีไทย และผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพราะท่านผู้หญิงพูนศุขใช้คำว่า “ไม่รบกวนญาติมิตร” ถึงสองครั้งในข้อความไม่ยาวนักสำหรับให้ลูกหลานดำเนินการเมื่อท่านชีวิตหาไม่แล้ว

เพราะดอกไม้และเงินช่วยทำบุญนั้นล้วนเป็นเพียงแค่ “การแสดงออก” ที่ดูเหมือนจะเป็นความต้องการของเจ้าของพิธีการมากกว่าที่จะแสดงถึงความรู้สึกผูกพัน และระลึกถึงจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อผู้จากไป

สำหรับคนที่เชื่อในหลักการและสัจธรรมนั้น ‘เนื้อหาแห่งชีวิต’ จึงมีความสำคัญกว่า ‘รูปแบบของการแสดงออก’ เพื่อการยอมรับในสังคม

“วัตถุ” ย่อมมิอาจจะทดแทนหรือสะท้อนถึงความรู้สึกจากจิตใจได้ … จึงไม่ควรจะกลายเป็น “สิ่งจำเป็น” ที่จะต้องนำออกแสดง

การสวดอภิธรรม คือ การบอกกล่าวถึงสิ่งที่ดีงามต่อกันสำหรับคนอยู่และคนไป … หากใจรักและเคารพต่อกันแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องไปปรากฏตัวเพียงแต่ได้มาแสดงตนในพิธีจึงไม่มี

แต่หากมีพระที่ผู้วายชนม์นับถือมาแสดงธรรมกถาในพิธิไว้อาลัยสำหรับผู้ที่มาร่วมงานก็ย่อมจะมีความหมายมากกว่าสำหรับผู้อยู่ข้างหลัง

นั่นคือเนื้อหาของข้อ 5 ใน “คำสั่งถึงลูก” 10 ข้อที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเขียนไว้ให้ลูก ๆ  ดำเนินการเมื่อ “แม่สิ้นชีวิต”

ที่แสดงถึงความมุ่งมั่น จริงจัง และรอบคอบของท่าน คือ คำสั่งข้อสุดท้าย

“ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูก ๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่จงมีความสุขความเจริญ”

ท่านผู้หญิงพูนศุขคงจะรู้จักสังคมไทยดี และคงเคยได้เห็นว่า “ผู้หวังดี” ที่ทำให้ความเรียบง่ายและความถูกต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นคนละเรื่องละราวได้อย่างไร

เพราะสุดท้าย ประโยคที่ว่า “ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น” นั้นคือคำอธิบายทุกประเด็นในชีวิตของสุภาพสตรีผู้อุดมด้วยเกียรติแห่งความเป็นคนดี คนจริง และคนยึดมั่นในหลักการผู้นี้อย่างสุดยอดแล้ว

ผมไม่เคยเกี่ยวข้องสัมผัสเป็นการส่วนตัวกับท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข แต่จากการศึกษาเนื้อหาของชีวิตของผู้ใหญ่บ้านเมืองคู่นี้ สิ่งที่ประจักษ์ให้เห็นอย่างปราศจากความสงสัย คือ การเคารพในงานมากกว่ารูปแบบ การให้เกียรติกับจิตวิญญาณแห่งความถูกต้องเป็นธรรมมากกว่าการเสแสร้งแกล้งสร้างภาพของกลุ่มชนในแวดวงการเมืองและสังคมของไทย

การไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ จากการทำงานในฐานะสมาชิกสังคม ที่บ่อยครั้งไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรม และความเข้าใจจากคนจำนวนหนึ่งนั้น เป็นการตอกย้ำว่า เมื่อตัดสินใจจะทำงานเพื่อชาติ เพื่อสังคมเพื่ออุดมการณ์แล้ว ‘เกียรติยศ’ ย่อมไม่ได้มาจากคนหรือสถาบันอื่นใด

เกียรติยศของมนุษย์อยู่ตรงใจของตัวผู้ทำงานเท่านั้น ไม่ว่าจะในยามมีชีวิต หรือจิตใจแห่งการต่อสู้นั้นต้องร่ำลาจากสังขารไป

 

ที่มา: คอลัมน์กาแฟดำ หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 พฤษภาคม 2550 และบางส่วนจาก เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 15 ฉบับ 781 วันที่ 18 พฤษภาคม 2550