ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ข้อเท็จจริงใหม่เกี่ยวกับอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

31
มกราคม
2564

หมายเหตุบรรณาธิการ: อนุสนธิจากบทความเรื่อง “อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ในหนังสือ ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2562 ได้ลงข้อมูลไว้ว่า เรือนไทย 2 หลังที่ปรากฏในอนุสรณ์สถานแห่งนั้น นายขรรค์ชัย บุนปาน เป็นผู้ออกเงินซื้อบริจาค  ล่วงมาถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ทักท้วงไปยังผู้เขียนบทความว่า ความข้อนี้น่าจะคลาดเคลื่อนไป  ดุษฎี พนมยงค์ จึงได้ตรวจทานข้อเท็จจริงอีกครั้งจากพยานบุคคลหลายราย จนนำมาสู่ข้อเท็จจริงใหม่ที่ได้รับการแก้ไขแล้ว  อ่านบทความต้นเรื่อง กว่าจะมาเป็น อนุสรณ์สถาน ปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

----------------------------------

เนื่องจากข้อเท็จจริงในการนำเสนอเรื่องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลาดเคลื่อนไปบางประการ จำเป็นต้องแก้ไข จึงได้ติดต่อขอข้อมูลจากบุคคลที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการจัดสร้างฯ โดยตรง  จากท่านผู้เกี่ยวข้องที่ยังมีชีวิตอยู่เกือบสิบท่าน

เริ่มต้น ติดต่อไปยังสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย อดีตผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ แจ้งว่าไม่มีข้อมูลการก่อสร้างอนุสรณ์สถานฯ เลย  

ทราบแต่เพียงว่า อนุสรณ์สถานฯ สร้างแล้วเสร็จและเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคม 2529  ส่วนสถาบันปรีดี พนมยงค์ ออกแบบและระดมทุนตั้งแต่ พ.ศ. 2531 สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2534 เปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 24 มิถุนายน 2538  ดังนั้น การระดมทุนเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เสร็จก่อนการหาทุนและสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นเวลาหลายปี

เมื่อนำความไปสอบถาม อัชชพล ดุสิตนานนท์ ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์หลักหกประการ  อัชชพลแนะนำให้สอบถามจาก ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร หนึ่งในคณะทำงาน จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมพอสมควร และ ดร.จริย์วัฒน์ ยังแนะนำให้ถามสันติสุข โสภณสิริ อีกด้วย

ส่วนการจัดสร้างอนุสรณ์สถานฯ นั้น คณะทำงานฯ นำโดย อาจารย์เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ นั่งเรือหางยาวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (จำท่าเรือไม่ได้) เรือลัดเลาะไปตามคูคลองต่าง ๆ บริเวณอำเภอเมือง กรุงเก่า จนได้ไปพบเรือนแพหลังหนึ่ง เจ้าของแพใช้เป็นยุ้งเก็บข้าวเปลือก คาดว่ามีลักษณะทั้งทางกายภาพและอายุใกล้เคียงกับเรือนแพบ้านเกิดนายปรีดี  จากนั้นได้ไปพบเรือนไทยไม้สักหลังหนึ่ง ซึ่งคณะทำงานมีโครงการจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และสถานปฏิบัติธรรม จึงตกลงใจซื้อแพและเรือนไทย แล้วย้ายมาประกอบใหม่บนที่ดินอนุสรณ์สถานฯ นั้น

โดยมี ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา (ยังรอการยืนยัน) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินคัดเลือกแบบอนุสาวรีย์หลักหกประการที่จะสร้างขึ้นในบริเวณอนุสรณ์สถานฯ เป็นผู้ออกแบบผังพื้นที่ทั้งหมดของอนุสรณ์สถานฯ ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท ปวช.ลิขิตการสร้าง จำกัด

อาจารย์เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นผู้ควบคุมดูแลการประกอบเรือนแพและเรือนไทย รวมทั้งปรับภูมิทัศน์และปลูกต้นไม้โดยรอบพื้นที่อนุสรณ์สถานฯ โดยมี สันติสุข โสภณสิริ เป็นผู้ช่วยใกล้ชิด และเป็นผู้จัดทำนิทรรศการถาวรด้วย

สันติสุขเล่าว่า “ถ้าจำไม่ผิด ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นผู้ออกเงินซื้อเรือนไทยสองหลังนี้ร่วมกับบุคคลอีกหลายราย ส่วนจำนวนเงินเท่าไหร่จำไม่ได้”

อนึ่ง คณะทำงานที่ไปเลือกซื้อเรือนแพและเรือนไทยนั้น ประกอบไปด้วย คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์  คุณศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์  คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์  คุณอังคาร กัลยาณพงศ์  คุณขรรค์ชัย บุนปาน  ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร  สันติสุข โสภณสิริ  ตัวผู้เขียน และอีกหลายท่านซึ่งบัดนี้จำไม่ได้แล้ว