หลังจากที่นายเสียง พนมยงค์ ทำนาอยู่ที่ตำบลท่าหลวง นางลูกจันทน์ตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 ซึ่งห่างจากธิดาคนแรกที่ชื่อ “เก็บ” ถึง 7 ปี ทั้งสองจึงได้อพยพกลับมาอยู่ที่เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ จนถึงวันศุกร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ร.ศ. 119 เวลาบ่ายโมง (ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม 2443) นางลูกจันทน์จึงคลอดบุตรชายออกมาอย่างยากลำบาก ถึงขนาดเป็นลมสลบไปหลังจากคลอดบุตรเสร็จ นายเสียงและญาติ ๆ จึงช่วยกันปฐมพยาบาลเธอ โดยคิดว่าทารกนั้นตายไปแล้ว เพราะไม่ได้ยินเสียงร้อง อย่างไรก็ดีกิมบุตรนางแฟงเห็นว่าญาติผู้ใหญ่ช่วยกันปฐมพยาบาลมากพอแล้ว จึงมาเอาใจใส่ทารกน้อย แล้วทารกร้องขึ้น เป็นสัญญาณว่ายังมีชีวิตอยู่
นายเสียงและนางลูกจันทน์ ปีติยินดีที่ได้ลูกชายคนแรก จึงตั้งชื่อว่า“ปรีดี” โดยไม่มีชื่อเล่น ชื่อย่อ ชื่อจีน ชื่อแฝง หรือชื่ออื่นใดทั้งสิ้น…
คงไม่มีใครคาดคิดว่า 100 ปีต่อมา เมื่อถึง พ.ศ. 2543 เด็กชายคนนี้ซึ่งต่อมา คือ นายปรีดี พนมยงค์ จะได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยผลงานที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติ และสังคมส่วนรวมตลอดช่วงชีวิต
ต้นกำเนิดของนายปรีดี
ที่อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของนายปรีดี ดังที่มีแผ่นป้ายจารึกไว้ที่อนุสรณ์สถาน ความว่า
ณ ที่นี้
ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
ได้ถือกำเนิด
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443
อนุสรณ์สถานนี้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึก
ถึงกิจกรรมอันเป็นคุณูปการต่อสังคมไทย
ซึ่ง ฯพณฯ ได้บำเพ็ญมาตลอดชีวิต
ฯพณฯ ได้ถึงอสัญกรรม
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
ณ บ้านชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
จุดเริ่มต้นของอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์
เมื่อนายปรีดีละสังขารในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 บรรดาศิษย์และผู้ศรัทธาในอุดมการณ์ของนายปรีดีได้ร่วมกันจัดตั้ง “มูลนิธิปรีดี พนมยงค์” ขึ้น มีนายว่อง สังขมี เป็นผู้ขออนุญาตจัดตั้ง และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2526 โดยมีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประธานกรรมการ และมีนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ นายไสว สุทธิพิทักษ์ และนายศักดิชัย บำรุงพงศ์ เป็นรองประธานกรรมการ
นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้น โดยกล่าวในที่ประชุมมูลนิธิปรีดีฯ ถึงการเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทำประโยชน์แก่ชาติ เช่น เช็คสเปียร์ ในอังกฤษก็มีอนุสรณ์สถานที่บ้านเกิด ณ เมือง Stratford Upon Avon เพื่อเผยแพร่ชีวประวัติให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจถึงชีวิตและผลงานของเช็คสเปียร์
คณะกรรมการมูลนิธิเห็นพ้องต้องกันกับข้อเสนอดังกล่าว จึงมีมติให้ดำเนินการจัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้น ณ บริเวณซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ถือกำเนิดในเรือนแพริมคลองเมืองตรงข้ามวัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งพัฒนาสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงวัดพนมยงค์ จัดสร้างอาคารหอสมุดพิพิธภัณฑ์และห้องประชุม
โครงการดำเนินการของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ตามตราสารที่ระบุไว้มีดังนี้
- จัดสร้างอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- จัดสร้างอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ณ กรุงเทพมหานคร
- ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา
- จัดพิมพ์หนังสือและข้อเขียนของนายปรีดี พนมยงค์
การรับบริจาคที่ดิน
ในชั้นแรกของการจัดสร้างอนุสรณ์สถานนั้น มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้ดำเนินการขอรับบริจาคที่ดิน ณ จุดจอดเรือนแพบ้านเกิดนายปรีดี และบริเวณใกล้เคียงจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมจำนวน 3 แปลงดังนี้
ที่ดินแปลงแรก โฉนดระวางที่ 127-30 เลขที่ 90 ตำบลภูเขาทอง ท่าวาสุกรี อำเภอรอบกรุง แขวงเมืองกรุงเก่า เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 59 ตารางวา ผู้ถือกรรมสิทธิ์ คือ นางสาวแช่ม (วนิดา) และนายสมจิตร พนมยงค์ บุตรสาวคนโตและบุตรชายคนโตของนายหลุย พนมยงค์ ซึ่งเป็นน้องชายนายปรีดี เมื่อได้รับการติดต่อจากมูลนิธิปรีดี ทั้งสองท่านยินดีบริจาคที่ดินแปลงนี้ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้มูลนิธิเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2526
ที่ดินแปลงที่สอง โฉนดระวางที่ 9699 เล่มที่ 4 หน้า 99 อำเภอพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 104 ตารางวา ผู้ถือกรรมสิทธิ์ คือ นางธราทิพย์ เอี่ยมโชติ บุตรสาวคนโตของนางธราธรพิทักษ์ (เก็บ กนิษฐะเสน) ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของนายปรีดี นางธราทิพย์ยินดีบริจาคที่ดินแปลงนี้ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้มูลนิธิเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2526
ที่ดินแปลงที่สาม โฉนดที่ 9700 เล่ม 84 หน้า 100 อำเภอพระนครศรีอยุธยา (รอบกรุง) เนื้อที่ 99 ตารางวา ผู้ถือกรรมสิทธิ์ คือ นางสมหวัง กนิษฐะเสน ภรรยานายอังกาบ กนิษฐะเสน บุตรชายคนโตของนางธราธรพิทักษ์ ซึ่งยินดีบริจาคที่ดินแปลงนี้ให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์เช่นเดียวกัน โดยโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2529
การเสาะหาเรือนแพ
เมื่อได้รับบริจาคที่ดินครบถ้วนแล้ว งานที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ การเสาะหาเรือนแพมาแทนเรือนแพบ้านเกิดหลังเดิมที่ได้ผุพังสูญสลายไปตามกาลเวลา คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมายให้คณะทำงานซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางประวัติศาสตร์หลายท่าน ค้นหาเรือนแพที่มีอายุใกล้เคียงกับเรือนแพบ้านเกิดดังกล่าว ในพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แต่ก็ยากอยู่ เพราะไม่มีใครในคณะทำงาน เกิดทันได้เห็นเรือนแพบ้านเกิดนายปรีดีเลย ได้แต่คาดเดาว่า เรือนแพที่ต้องการ อยู่ในยุคเดียวกันกับเรือนแพบ้านเกิดเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีมาแล้ว
วันหนึ่งในปี 2526 ดิฉันได้ติดตามคณะทำงานนั่งเรือหางยาวลัดเลาะไปตามคลองเมืองอยุธยา ตั้งแต่เช้าจนบ่ายคล้อย ได้พบเรือนแพหลังหนึ่งจอดอยู่ริมตลิ่ง มีลักษณะเป็นบ้านไม้ทรงไทยชั้นเดียวขนาด 8.58 x 8.40 เมตร อายุและลักษณะน่าจะใกล้เคียงกับเรือนแพบ้านเกิด โดยในเวลานั้นเจ้าของใช้เป็นยุ้งเก็บข้าวเปลือก อยู่ในสภาพทรุดโทรม ภายในเต็มไปด้วยฝุ่นละออง เมื่อสอบถามเจ้าของก็สันนิษฐานได้ว่า เรือนแพนี้มีอายุประมาณร้อยปี ใกล้เคียงกับอายุเรือนแพบ้านเกิด จึงตกลงซื้อในราคา 600,000 บาท ซึ่งเมื่อ 30 ปีก่อน เงินจำนวนนี้ไม่น้อยเลย
จากนั้น เดินทางไปค้นหาเรือนแพอีกหลัง เพื่อทำเป็นหอสมุด พิพิธภัณฑ์ รวมถึงเป็นที่เจริญสมณธรรม และประชุมสัมมนา จนพบเรือนแพหลังใหญ่สวยงาม อยู่ในสภาพพอใช้ได้ มีขนาด 10.05 x 11.30 เมตร จอดอยู่ริมคลองเมือง เรือนแพนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านครอบครัวใหญ่ที่มีลูกหลานหลายคน มีการเจรจาขอซื้อและตกลงกันในราคา 1,000,000 บาท
อนึ่ง ผู้บริจาคเงินซื้อเรือนแพทั้งสองหลัง คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธา
การออกแบบอนุสรณ์สถาน
งานต่อไป คือ ดำเนินการออกแบบ และวางผังงานบนที่ดินดังกล่าว ประกอบไปด้วย
- เรือนแพบ้านเกิด (จำลอง)
- อนุสาวรีย์หลัก 6 ประการ
- เรือนแพหอประชุม (พิพิธภัณฑ์)
- สวนและสนามหญ้า
- ห้องสุขาและเรือนคนงาน
สำหรับทุนทรัพย์ในการดำเนินการก่อสร้าง ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาในอุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทยของนายปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ขอขอบคุณอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้
ขั้นตอนต่อมา ได้มีการชะลอเรือนแพทั้งสองหลังมาประกอบขึ้นใหม่ และปลูก ณ บริเวณที่กำหนดไว้ในผังดังกล่าว อนึ่ง เรือนแพบ้านเกิดนั้น เดิมจอดอยู่ริมตลิ่งคลองเมือง แต่เพื่อความสะดวกในการบำรุงรักษาจึงได้ยกเรือนแพจำลองหลังนี้มาปลูกไว้บนฝั่ง
อนุสาวรีย์หลัก 6 ประการ
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ประการหลัก 6 ประการขึ้นเป็นหลักการพื้นฐานในการปกครองประเทศ ประกอบไปด้วย เอกราช, ความปลอดภัย, เศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ และการศึกษา
ในอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์หลัก 6 ประการขึ้น โดยมีลักษณะเป็นเสาเรือนไทย 6 ต้นปักอยู่ในสระน้ำรูปวงกลมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 3 ต้น เหนือขึ้นไปเป็นคานและหลังคาสัมฤทธิ์รมควัน ที่คานมีดวงไฟที่ไม่รู้จักดับ
นอกจากเสา 6 ต้นที่สะท้อนถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ผู้นำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยแล้ว เสา 2 กลุ่มนั้น ยังเป็นเสมือนประตูที่ไม่มีบาน อันหมายถึงเสรีภาพสมบูรณ์ของประชาชน ส่วนสระน้ำรูปวงกลม หมายถึงความสงบสุขและสันติสุขของโลก และโคมไฟที่ไม่รู้จักดับนั้นแสดงถึงความเป็นอมตะของอุดมการณ์อันสูงส่งของนายปรีดี ซึ่งประกอบด้วยประชาธิปไตย เสรีภาพ และสันติภาพ
การเปิดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์
พิธีเปิดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ มีขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2529 ซึ่งเดิมสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ แต่เมื่อเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก จะเสด็จมาเป็นองค์ประธาน แต่เกิดประชวรกระทันหัน จึงมีพระบัญชาให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถระ) มาเปิดแทน อย่างไรก็ดีในแผ่นป้ายที่เตรียมไว้แล้วก็ยังคงจารึกข้อความไว้ว่า
อนุสรณ์สถานนี้
สร้างขึ้นโดยความร่วมมือร่วมใจร่วมเสียสละ
ของศิษยานุศิษย์และประชาชนชาวไทย
ผู้ระลึกถึงคุณูปการของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์
และ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(วาสนมหาเถระ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
ได้เสด็จเปิดอนุสรณ์สถานนี้
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านแดด ผ่านฝน ผ่านพายุ รวมทั้งผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาหลายครั้ง จึงชำรุดทรุดโทรมลงตามความเป็นอนิจจัง
มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เห็นสมควรบูรณะซ่อมแซมอนุสรณ์สถานให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์กลางในการให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนโครงการดังกล่าว สรุปยอดเงินบริจาคเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,470,666 บาท และได้ทำการบูรณะซ่อมแซมอนุสรณ์สถานอีกครั้งในปี พ.ศ. 2543 มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการภายใต้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จนถึงปี พ.ศ. 2546 คณะกรรมการมูลนิธิมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า สมควรโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดูแลรักษา เพื่อสานต่ออุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทยของนายปรีดีอย่างมีประสิทธิภาพสืบต่อไป โดยการโอนกรรมสิทธิ์สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546
หวังว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะรังสรรค์อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ให้เป็นห้องเรียนประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตสำหรับอนุชนคนรุ่นใหม่และผู้สนใจ ได้ศึกษา ค้นคว้า และสืบทอดอุดมการณ์ของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ตลอดไป
ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจากบทความที่เคยตีพิมพ์รวมไว้ในหนังสือ ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2562: ความหวังและอนาคตประเทศไทย (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2562).
ติดตามรายละเอียดกิจกรรม PRIDI Walking Tour เพิ่มเติมที่ : https://pridi.or.th/th/project/2020/11/493
- Walking Tour
- อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- เสียง พนมยงค์
- ลูกจันทน์ พนมยงค์
- ปรีดี พนมยงค์
- 11 พฤษภาคม
- มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
- ว่อง สังขมี
- พูนศุข พนมยงค์
- เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์
- ไสว สุทธิพิทักษ์
- หลัก 6 ประการ
- 24 มิถุนายน 2475
- อัชชพล ดุสิตนานนท์
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดุษฎี พนมยงค์
- ศักดิชัย บำรุงพงศ์