ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“ยุคอัศวินผยอง” จากคณะราษฎรสู่คณะรัฐประหาร

9
กุมภาพันธ์
2564

คณะราษฎร 2475
คณะราษฎร 2475

 

เมื่อยึดอำนาจได้แล้วคณะรัฐประหารไม่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลเสียเอง แต่มอบหมายให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลรับหน้าไปก่อน ต่อเมื่อรัฐประหารได้รู้จุดอ่อนของผู้นำพลเรือน คือ การแตกแยกกันเอง ทั้งๆ ที่เคยร่วมงานกันมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัฐบาลพลเรือนขาดพลังนอกสภาสนับสนุนค้ำจุน คณะรัฐประหารจึงได้เข้าไปเป็นรัฐบาลเสียเอง โดยการบีบบังคับให้รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ลาออกไปได้โดยง่าย 

 

การหาเสียงของนายควง อภัยวงศ์ ในปี พ.ศ. 2489 ว่ากันว่าตอนนั้นนายควง มีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นคู่แข่งคนสำคัญ นายควงได้ทิ้งคำขวัญหาเสียง ไว้ให้คนยุคเก่าได้ฮือฮาว่า “เหล็กวิลาศหรือจะสู้ตะปูควง” ที่มา : pinterest
การหาเสียงของนายควง อภัยวงศ์ ในปี พ.ศ. 2489
ว่ากันว่าตอนนั้นนายควง มีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นคู่แข่งคนสำคัญ
นายควงได้ทิ้งคำขวัญหาเสียง ไว้ให้คนยุคเก่าได้ฮือฮาว่า “เหล็กวิลาศหรือจะสู้ตะปูควง”
ที่มา : pinterest

 

คณะรัฐประหารมิได้มีโครงการปกครองประเทศที่แน่นอนแต่อย่างใด เพราะจุดมุ่งหมายเบื้องต้นแค่เปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น ประกอบกับโครงสร้างภายในคณะรัฐประหารแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะการรวมตัวซึ่งทำให้จอมพล แปลก พิบูลสงครามหาได้มีอำนาจอย่างแท้จริงเหมือนเมื่อก่อนไม่ อำนาจได้กระจายไปยังผู้คุมกำลังฝ่ายต่างๆ การดำเนินการปกครองประเทศของคณะรัฐประหารจึงเป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจในคณะรัฐประหาร ซึ่งส่งผลสะท้อนต่อพฤติกรรมการปกครองประเทศของคณะรัฐประหารในเวลาต่อมา

 

จากซ้าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม  จอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์  พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์  จอมพล ฟื้น ฤทธาคนี
จากซ้าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม  จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล  จอมพล ฟื้น ฤทธาคนี

 

ช่วงเวลาหลังจากคณะรัฐประหารเข้ามามีอำนาจปกครองประเทศ นับเป็นช่วงที่เกิดกบฏจราจลมากที่สุด ครั้งที่สำคัญๆ 3 ครั้ง ได้แก่ กบฏเสนาธิการ กบฏวังหลวง และกบฏแมนฮัตตัน สภาวะการเมืองในขณนั้นจึงอยู่ในสภาพหวาดระแวงต่อการใช้กำลังอาวุธต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง เมื่อเกิดการต่อต้านขึ้นบ่อยครั้ง คณะรัฐประหารจึงได้ใช้อำนาจรัฐ “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย” อยู่เหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้สภาพของรัฐตำรวจจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นอกจากนั้นคณะรัฐประหารยังต้องประสบกับความยุ่งยากในการบริหารประเทศตามแนวทางที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2492 ทั้งจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเองที่พยายามจะแยกทหารออกจากการเมือง และจากบทบาทวุฒิสภาที่ใช้อำนาจตรวจสอบรัฐบาลอย่างเต็มที่นับตั้งแต่การตั้งกระทู้ยับยั้งร่างกฎหมาย ตลอดจนเปิดอภิปรายทั่วไป 

ประการสำคัญคือ รัฐบาลของคณะรัฐประหารต้องคอยเอาอกเอาใจบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งได้รวมกันเป็นสหพรรคเพื่อสนับสนุนรัฐบาล และเสียงข้างมากที่สนับสนุนรัฐบาลอาจผันแปรไปได้หากสมาชิกสภาผู้แทนเห็นว่ารัฐบาลตอบแทนไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงอยู่ในฐานะไม่มั่นคง ในที่สุดคณะรัฐประหารจึงได้ทำรัฐประหารเงียบในปี 2494 เลิกล้มรัฐธรรมนูญ 2492 นำรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาใช้ ซึ่งคณะราษฎรเคยใช้รักษาอำนาจมาแล้วกว่า 10 ปี ทั้งใช้ประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองซึ่งเท่ากันเป็นการยุบเลิกพรรคการเมือง อำนาจปกครองประเทศจึงตกอยู่แก่คณะรัฐประหารอย่างเด็ดขาดตั้งแต่นั้นมา

ผลสะท้อนทางการเมืองของรัฐประหาร 2490 นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนมือผู้ถือครองอำนาจจากคณะราษฎรมาสู่คณะรัฐประหารแล้ว ยังผลให้วิวัฒนาการทาง การเมืองซึ่งมีทีท่าจะดำเนินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยต้องสะดุดหยุดชะงัก โดยพิจารณาจากพฤติกรรมของคณะรัฐประหารที่ขัดต่อหลักเกณฑ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก : หลักที่ว่าด้วยความยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครอง คณะรัฐประหารได้บีบบังคับให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ลาออกไปหลังจากได้รับเลือกตั้งเพียง 2 เดือนเศษ แสดงถึงว่าคณะรัฐประหารไม่คำนึงถึงเสียงของประชาชน

ประการที่สอง : หลักที่ว่าด้วยการเปลี่ยนผู้ปกครองได้เป็นครั้งคราว คณะรัฐประหารเงียบนำรัฐธรรมนูญ 2475 ซึ่งคณะราษฎรได้รักษาอำนาจมาแล้ว มาใช้แทนที่รัฐธรรมนุญ 2492 ที่เป็นประชาธิปไตยเท่ากับคณะรัฐประหารต้องการเป็นรัฐบาลตราบนานเท่านั้น 

ประการที่สาม : หลักที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐาน คณะรัฐประหารไม่นำพาต่อสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของประชาชน “ยุคอัศวินผยอง” สร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ดังเช่น ยิงทิ้งอดีตสี่รัฐมนตรี เป็นต้น

ผลจากรัฐประหารจึงกระทบกระเทือนโดยตรงต่อวิถีทางการเมืองที่จะไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ การเกิดผลทางอ้อมซึ่งเป็นปัญหาที่การเมืองไทยกำลังประสบอยู่ทุกวันนี้ ได้แก่ การขาดผู้นำทางการเมืองที่เป็นพลเรือน อันเนื่องมาจากการครองอำนาจอันยาวนานของคณะรัฐประหาร โดยที่พรรคฝ่ายค้านไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล ขาดการพัฒนาผู้นำทางการเมือง ทำให้การเมืองไทยไม่สามารถผลิตผู้นำที่เป็นนักการเมืองเข้าแทนที่เมื่อทหารหมดอำนาจลง จึงมีแต่ผู้นำที่เป็นข้าราชการเท่านั้น

รัฐประหาร 2490 เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่า ตราบใดที่การแข่งขันทางการเมืองยังมิได้ขยายฐานแห่งอำนาจไปสู่ประชาชน อำนาจยังคงอยู่ในวงราชการ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการใช้กำลังย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นหากฝ่ายนิยมประชาธิปไตย ยังไม่สามารถทำให้สถาบันทางการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ ตลอดจนความสำนึกทางการเมืองของประชาชนกลายเป็นพลังที่รองรับค้ำจุนระบอบประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอาจเกิดขึ้นได้

 

ที่มา: ตัดตอนและแก้ไขเล็กน้อย สุชิน ตันติกุล, “ผลสะท้อนการเมืองของรัฐประหาร พ.ศ.2490”, (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2517, 168-170, สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2564.

หมายเหตุ : เอื้อเฟื้อภาพถ่ายในการจัดทำแบนเนอร์จากเพจ ชมรมอนุรักษ์ฟิลม์เก่า ฟิล์มกระจก ภาพถ่ายขาวดำ