เหตุใดต้องหัวร่อต่ออำนาจ
นานมาแล้ว มหาตมะ คานธีเคยบอกว่า “ถ้าฉันไม่มีอารมณ์ขันคงตัวตายไปนานแล้ว” คำกล่าวนี้ยิ่งฟังยิ่งจริงสำหรับนักเคลื่อนไหวที่เผชิญวิกฤตทางอารมณ์อันเป็นผลจากการต่อสู้อันยาวนาน ทว่าสิ่งที่คานธีอาจลืมไปคือพลังของอารมณ์ขันในการต่อต้านหรือกระทั่งบั่นทอนอำนาจเผด็จการ อารมณ์ขันเป็นได้ทั้ง “มิตร” ของผู้ไร้ความรื่นรมย์ในชีวิต แต่ก็เป็น “สรรพาวุธ” อันร้ายกาจของนักต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้เช่นกัน
พลังของอารมณ์ขันข้างต้นเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ขบวนการภาคประชาสังคมหลายที่ทั่วโลกเริ่มคิดค้นวิธีการประท้วงแบบเหน็บแนมเสียดสีนโยบายรัฐบาลหรือกลุ่มอำนาจต่าง ๆ เช่น ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มคัดค้านสงครามอย่าง “แอ็บเซิร์ด เรสปอนส์” (Absurd Response) เดินขบวนในลักษณะพาเหรดคาร์นิวาลเพื่อต่อต้านสงครามในอิรักของรัฐบาลจอร์จ บุช ผู้ลูก (George w. Bush) แทนที่จะถือป้าย ปราศรัย หรือตะโกนคำขวัญสันติภาพแบบเดิม ๆ สมาชิกกลุ่มใส่ชุดสะท้อนแสงสีแสบตายาวแบบที่ใช้ในการแสดงละคอนโอเปร่า และใส่วิกผมตัวการ์ตูนจากเรื่องเดอะ ซิมป์ซัน (The Simpson) ถือป้ายที่เขียนว่า “สงครามเพี้ยน ๆ ต้องโต้กลับด้วยวิธีการเพี้ยน ๆ” พร้อมตะโกนสนับสนุนสงครามแบบประชดรัฐบาล เช่น “เราต้องการน้ำมัน เราต้องการแก๊ส” หรือ “ชาวโลกจงระวังให้ดี พวกเราจะไล่ปราบมารร้าย” อีกทั้งยังประกาศก้องว่าพวกตนรัก BUSH (หมายถึงประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้ลูก และส่อนัยสองแง่สองง่ามถึงอวัยวะเพศหญิง) และ DICK (หมายถึงดิกเชนี [Dick Cheney] รองประธานาธิบดีในขณะนั้น และยังส่อนัยถึงอวัยวะเพศชาย)[1]
ในสเปน เครือข่ายกลุ่ม Occupy ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัดเข็มขัดและการครอบงำนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มการเงินข้ามชาติ กลุ่ม “Flo6x8” ประท้วงด้วยการเต้นระบำฟลามิงโก ซึ่งเป็นศิลปะดั่งเดิมของสเปนในธนาคารแห่งชาติใจกลางกรุงมาดริด เนื้อหาของเพลงประกอบการเต้นวิจารณ์คนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ที่เสวยสุขบนความทุกข์ของคนจนที่เหลืออีก 99 เปอร์เซ็นต์ การเต้นระบำมิได้มีสาวสวยเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยหุ่น “วัว” ซึ่งทำให้ปฏิบัติการทั้งหมดดูเพี้ยนจนกลบเกลื่อนความศักดิ์สิทธิ์ของแบงก์ชาติไป[2]
ในอียิปต์ ช่วงที่เกิดคลื่นการปฏิวัติอาหรับลูกแรก ผู้ประท้วงเหน็บแนมรัฐบาลผ่านป้ายต่าง ๆ ที่ทำกันมาจากบ้าน รวมถึงเผยแพร่มุขเสียดสีรัฐบาลผ่านโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ ผู้ประท้วงคนหนึ่งปักป้าย “ที่ทำการพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ” ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลหน้ากองขยะบริเวณจตุรัสทาห์รีร์ (Tahrir) ที่มีการประท้วง
รัฐบาลกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมถูก “ฝรั่ง” จูงจมูกจ้างมาประท้วง ผู้ชุมนุมจึงโต้กลับด้วยการบันทึกสารคดี “เก๊” โดยผู้ประท้วงคนหนึ่งถามเพื่อนว่าแบงก์ 100 ดอลลาร์สหรัฐที่ได้มาไปไหน ชายอีกคนตอบว่า “เอาไปฝากไว้ที่ธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์แล้ว เพราะกลัวรัฐบาลจับได้”[3]
ปฏิบัติการในรูปแบบใกล้เคียงกันนี้เกิดขึ้นข้ามภูมิประเทศและบริบททางวัฒนธรรม ซึ่งบทความนี้เสนอกรณีสำคัญที่ช่วยเผยวิธีการประท้วงด้วยสันติวิธีแบบ “ใหม่ ๆ” ไม่ว่าจะเกิดในโปแลนด์ เซอร์เบีย และ ไทย แม้บริบททางการเมืองที่รายล้อมการประท้วง โครงสร้างความขัดแย้งที่ส่งอิทธิพลต่อการจัดขบวนการ “ต่อต้านรัฐ” ของภาคประชาสังคม ตลอดจนเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการใช้อารมณ์ขันเพื่อประท้วงจะต่างกัน ทว่า กลุ่มออเรนจ์ อัลเทอร์เนทีฟ (Orange Alternative) ในโปแลนด์ กลุ่มออตปอร์ (Otpor) ในเซอร์เบีย และกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงในไทย ต่างมีลักษณะเบื้องต้นร่วมกันสามประการ
ประการแรก ได้แก่ รูปแบบการเมืองแบบปิดทั้งในโปแลนด์ภายใต้การยึดครองของโซเวียต เซอร์เบียภายใต้การปกครองของรัฐบาลอำนาจนิยม สโลโบดาน มิโลเชวิทช (Slobodan Milosevic) และไทยภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษภายหลังการปราบปรามผู้ประท้วงพ.ศ. 2553
ประการที่สอง ทั้งสามกลุ่มมุ่งใช้สันติวิธีในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการและอำนาจนิยม กลุ่มออเรนจ์ อัลเทอร์เนทีฟ มีลักษณะการจัดการขบวนการใกล้เคียงกับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงในไทย ตรงที่ทั้งสองแยกตนออกมาจากขบวนการประท้วงหลักซึ่งไม่อาจสานต่อการประท้วงได้ เพราะถูกปราบปรามอย่างหนัก หรือผู้สนับสนุนทั่วไปเริ่มเบื่อหน่ายหมดหวัง ส่วนกรณีเซอร์เบีย แม้ออตปอร์กลายเป็นขบวนการประชาชนในภายหลัง ทว่า สมาชิกกลุ่มล้มเหลวจากการประท้วงก่อนหน้านี้ (ค.ศ. 1996-1997) ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญความท้อแท้หมดหวังของประชาชนทั่วไปหลังประท้วงมายาวนาน กลุ่มออตปอร์จึงเกิดขึ้นด้วยปณิธานให้เป็น “ทางเลือก” ของสังคมเซอร์เบีย
ประการที่สาม ปฏิบัติการประท้วงด้วยอารมณ์ขันของทั้งสามกลุ่มเน้น “ความไร้สาระ”ของรัฐบาลหรือชนชั้นนำทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม ด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเชิงสัญลักษณ์โดยมุ่งบิดพลิ้วความหมายของเหตุการณ์ร่วมสมัย ประวัติศาสตร์นโยบาย วาทะจากรัฐบาล หรือความเชื่อทั่วไปในสังคม หลายครั้งกลุ่มทั้งสามถอดความหมายเดิมของสิ่งเหล่านี้ออก แล้วใส่วาระทางการเมืองของตนเข้าไปแทน ทั้งสามกลุ่มมุ่งบั่นทอน “ระเบียบแห่งอำนาจเดิม” ที่เอื้อให้กลุ่มบุคคลหนึ่ง ๆ อาจธำรงตนได้มากกว่าจะเป็นเพียงการวิจารณ์แบบตรงไปตรงมา หรือโจมตีตัวบุคคล กระบวนการต่อต้านดังกล่าวเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้
วิเคราะห์เปรียบเทียบ โปแลนด์ เซอร์เบีย และไทย
การผจญภัยข้ามภูมิภาคจากยุโรปตะวันออกสู่คาบสมุทรบอลข่านสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเสาะหาภูมิปัญญาแห่งอารมณ์ขันของขบวนการประท้วง ช่วยให้ข้าพเจ้าเห็นทั้งความต่างและของกรณีทั้งสาม หลายคนอาจเห็นว่าการเปรียบเทียบข้ามบริบททั้งการเมือง วัฒนธรรม รูปแบบของขบวนการภาคประชาชน และห้วงเวลาที่ศึกษา ย่อมยากจะเปรียบเทียบกันได้ ยิ่งศึกษาอารมณ์ขัน ยิ่งเปรีบเทียบยากไปใหญ่ เพราะอารมณ์ขันสะท้อนวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละสังคม
ดังนั้น จะเข้าใจอารมณ์ขันได้ จึงต้องเข้าใจภาษาประวัติศาสตร์ บริบทการเมือง และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าอารมณ์ขันเป็นเรื่องเฉพาะ แต่ก็เห็นแย้งว่าอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะมีความเป็น “สากล” อยู่บ้าง การหัวเราะเป็นกิจกรรมซึ่งสะท้อนมิติทางอารมณ์ของมนุษย์ (คล้ายการร้องไห้) ทุกสังคมขำและมีเรื่องให้ขำ เพียงแต่เรื่องที่จี้ต่อมขำขันอาจมีเนื้อหาต่างกันไปในแต่ละสังคม[4] เช่น บางสังคมขำเมื่อเผชิญความทุกข์ยากสาหัสหรือความตาย (อันเป็นที่มาของ “ตลกร้าย” หรือ black humour/gallows humour)[5]
หลายสังคมขำเยาะเย้ยชนกลุ่มน้อย[6] บางสังคมขำตลกที่ถากถางตนเอง เป็นต้น กระนั้นก็ดี เรื่องขำ ๆ ซึ่งดูเหมือนมีบริบทเฉพาะเหล่านี้ บางทีก็โอนถ่ายจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมได้แบบข้ามเขตขัณฑ์ทางวัฒนธรรมได้[7] หนึ่งในเรื่องขำที่โอนกันได้นี้คือ การขำถล่มผู้มีอำนาจ ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มุขตลกต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียตที่แพร่หลายในยุโรปตะวันออกสามารถสืบสาวไปได้ถึงอารยธรรมเปอร์เซีย (หรืออิหร่านในปัจจุบัน)[8] หรือการล้อเลียนผู้นำโดยเชื่อมโยงกับสัตว์ซึ่งเป็นสัญลักษ์ความฉ้อฉลด้อยปัญญา และไร้ศักดิ์ศรี ก็ปรากฏร่วมในหลายสังคม[9]
กลุ่มออเรนจ์ อัลเทอร์เนทีฟในโปแลนด์ ผู้ประท้วงในเซอร์เบียช่วงปี ค.ศ. 1996-2000 และกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงในไทย สะท้อนบทสนทนาระหว่างวัฒนธรรมซึ่งเป็นทุนให้แต่ละกลุ่มประดิษฐ์นวัตกรรมสันติวิธีแบบขำขัน ทั้ง 3 กลุ่มก่อกำเนิดในบริบทการเมืองแบบอำนาจนิยมคล้ายกัน กลุ่มออเรนจ์ อัลทอร์เทีฟและวันอาทิตย์สีแดงเหมือนกันตรงที่เป็นกิ่งก้านของขบวนการประท้วงใหญ่ซึ่งถูกรัฐบาลปราบปรามจนเสียขบวน แกนนำของทั้ง 2 กลุ่มที่มีพื้นเพดานศิลปะ (ดนตรีและการละคอน) และคุ้นเคยกับการใช้ตลกเพื่อเรียกความสนใจจากสาธารณชน ออตปอร์ ต่างจากสองกลุ่มนี้ เพราะเป็นขบวนการประชาชนขนาดใหญ่ และใช้ปฏิบัติการขำขันอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล มิโลเชวิทช ท่ามกลางความแตกต่าง ทั้ง 3 กลุ่มยึดมั่นในปฏิบัติการสันติวิธีเหมือนกัน และใช้อารมณ์ขันเพื่อสร้างความหวัง ทั้งยังแสดงทางเลือกเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองให้ผู้คนในสังคมตน
กระบวนการทำงานเชิงอำนาจของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงแบบขำขัน
กลุ่มออเรนจ์ อัลเทอร์เนทีฟทั้งผนวกถอดวาทกรรมเรื่อง “ความปกติ” ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ตลอดจนสร้างความเป็นจริงคู่ขนานให้ประชาชนเห็นว่าชีวิตนอกเหนือจากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นไปได้ กิจกรรมของกลุ่มออเรนจ์ อัลเทอร์เนทีฟทำงานเชิงอำนาจคล้ายกับกิจกรรมของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงในไทย มากกว่ากลุ่มออตปอร์กล่าวคือ “แฮปเพนนิ่ง” ของออเรนจ์ อัลเทอร์เนทีฟ มิได้โจมตีบุคลในรัฐบาลโดยตรง ทว่าเชิญชวนให้ผู้คนร่วมกิจกรรมรื่นเริงบนท้องถนน ทั้งยังพยายามแสดงมิตรภาพ (แบบล้นเอ่อ) แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
บรรยากาศเหล่านี้อาจคาดไม่ถึงสำหรับประชาชนส่วนใหญ่และรัฐบาลเอง เพราะชีวิตของผู้คนภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ถูกควบคุม กระทั่งความรู้สึกรื่นรมย์ก็ไม่แน่ใจว่าจะแสดงออกได้มากน้อยแค่ไหน สังคมโปแลนด์กลายเป็นสังคมที่พูดอย่างทำอย่าง (double speak) ในที่สาธารณะผู้คนทำราวกับไม่มีอะไรผิดปกติ ทว่าในพื้นที่ส่วนตัวอย่างบ้าน หลายคนแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและกังวลต่อปัญหาปากท้อง กิจกรรมรื่นเริงของกลุ่มออเรนจ์ อัลเทอร์เนทีฟสะท้อนความพยายามของประชาชนในทวงคืนพื้นที่สาธารณะ (ถนน) เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกเพื่อท้าทายการควบคุมของรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จในสังคมประชาธิปไตย ปฏิบัติการเช่นนี้อาจไม่ได้รับความสนใจมากเพราะผู้คนมีเสรีภาพระดับหนึ่งในการแสดงอารมณ์ความรู้สึกในพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่อง “ปกติ” คือทำได้ ไม่มีใครห้าม
ทว่าในโปแลนด์กิจกรรมรื่นเริงกลายเป็นภัยคุกคามรัฐ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องจับปราบ ขณะที่รัฐอ้างว่านโบายเช่นนี้เป็นเรื่อง “ปกติ” กลุ่มออเรนจ์ อัลเทอร์เนทีฟแสดงให้ประชาชนเห็นความย้อนแย้ง คือการจับคนที่เพียงทำกิจกรรมรื่นเริงไม่ใช่เรื่องธรมดา ทั้งยังกระตุ้นอย่างเป็นนัย ๆ ให้ผู้คนเปิดเผยความย้อนแย้งของรัฐบาล และชวนให้คนอื่นเห็นว่านี่เป็นเรื่องน่าขันเพียงใด
สำหรับออตปอร์ ละคอนเร่เสียดสีและปฏิบัติการล้อลอกเลียนกระตุ้นให้ผู้คนตั้งคำถามกับโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล รวมถึงระบบคุณค่าความคิดที่ค้ำจุนอำนาจรัฐ ละครเร่เสียดสีและปฏิบัติการล้อลอกเลียนมิได้ทำงานในกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งแบ่งคู่ตรงข้ามระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองอย่างตายตัว ดังนั้นจึงมิได้ชี้ว่าผู้ใต้ปกครองควรถอดถอนความร่วมมือจากผู้ปกครองเพื่อให้เป็นอิสระจากการครอบงำ การเสียดสี และการล้อลอกเลียนดูเหมือนท้าทายอำนาจซึ่งหน้า ทว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนั้นด้วย เพราะเนื้อหาของการเสียดสีและล้อลอกเลียนพัฒนาจากฐานความคิดความเชื่อ ซึ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ปกครอง แต่ในกระบวนการเสียดสีและล้อลอกเลียน ฐานความคิดความเชื่อนี้ถูกบิดพลิ้วจนเพี้ยนและไร้สาระ ฐานที่มั่นทางความชอบธรรมของผู้ปกครองจึงถูกสั่นคลอนไปด้วย นี่อาจส่งผลกระตุ้นให้ผู้คนตั้งคำถามต่อความคิดความเชื่อเดิมว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ดังเดิมหรือไม่
ออตปอร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการผนวก ถอดในยุทธศาสตร์ไร้ความรุนแรงของตน โดยทำให้ผู้คนเห็นว่าอำนาจของมิโลเชวิทชถูกสั่นคลอนได้ อีกทั้งชวนให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบั่นทอนอำนาจนี้ การที่ออตปอร์เห็นพลังของอารมณ์ขัน และแปรเปลี่ยน “มุขตลก” ในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นวิธีการประท้วง ทั้งยังโน้มน้าวให้สาธารณชนร่วมกันใช้วิธีการนี้แทนที่จะลุกขึ้นจับปืนสู้กับรัฐบาล สะท้อนว่ากลุ่มเข้าใจมโนทัศน์เรื่องอำนาจและความชอบธรรมซึ่งเป็นหัวใจของปฏิบัติการสันติวิธี
กระบวนการคาร์นิวาลทำงานทรงประสิทธิภาพช่วงการประท้วงปี ค.ศ. 1996- 1997 ผู้เข้าร่วมชุมนุมคิดค้นกิจกรรมคาร์นิวาลจำนวนมาก หวังให้จรรโลงบรรยากาศรื่นเริงของการชุมนุมต่อเนื่องกันนานถึง 4 เดือนตลอดฤดูหนาว ในทางหนึ่งบรรยากาศเช่นนี้ช่วยเปลี่ยน “อารมณ์” โดยรวมของผู้ประท้วง จากที่มีอารมณ์โกรธปกคลุมอย่างเดียว เป็นเบิกบานไปกับกิจกรรมดนตรี การละเล่น การแบ่งปันอาหารในกิจกรรมคาร์นิวาล บรรยากาศเช่นนี้ส่งเสริมท่าที่อันเป็นมิตรระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ชุมนุมและผู้ชุมนุม ฝ่ายหลังเห็นว่า “มิตรภาพ” บนท้องถนนช่วยลดโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะเห็นพวกตนเป็นศัตรู และใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อได้รับคำสั่ง กระนั้นก็ดี ในช่วงแคมเปญออตปอร์ การวางตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่ (ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลมิโลเชวิทช) สำคัญต่อยุทธศาสตร์โดยรวมของกลุ่มซึ่งต้องการลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ออตปอร์จึงมักอาศัยจังหวะที่เจ้าหน้าที่จับปราบนักกิจกรรมประณามรัฐบาลอีก ทั้งข้อความในแคมเปญจำนวนหนึ่งเน้นความเลวร้ายของรัฐบาลมิโลเชวิทช ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงด้วย แม้ในระดับท้องถิ่น นักกิจกรรมของออตปอร์มุ่งสนความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ ทว่าในระดับแคมเปญส่วนกลาง การสร้างขั้วตรงข้ามระหว่างออตปอร์และเจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์
การสร้างขั้วตรงข้ามระหว่างรัฐบาล (รวมถึงชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยม) และนักกิจกรรมปรากฏในปฏิบัติการของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและเครือข่ายเช่นกัน การปราบปรามปี พ.ศ.2553 เป็นฐานให้ผู้ชุมนุมระลอกหลังสร้างอัตลักษณ์ “เหยื่อ” ความรุนแรงของรัฐ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นผู้กระทำ ดังนั้นจึงอยู่ฝ่ายตรงข้าม การแบ่งขั้วเชิงอัตลักษณ์เช่นนี้กลายเป็นใจความหลักของโครงเรื่องละคอนเร่เสียดสีกิจกรรมรำลึก รวมถึงงานเทศกาลและมหกรรมบางกิจกรรมกระนั้นก็ดี ท่วงทำนองความเป็นศัตรูกับรัฐบาลไม่ปรากฏชัดเท่าแคมเปญของออตปอร์
นี่เป็นผลมาจากลักษณะความขัดแย้งในสังคมไทยที่มิได้เป็นการปะทะทางอำนาจระหว่างรัฐบาลและประชาชน (แนวดิ่ง) เช่นในกรณีเซอร์เบียเท่านั้น แต่สังคมแยกเป็นสองฝ่าย (แนวระนาบ) โดยผู้คนสนับสนุนแนวทางการเมืองของค่ายเหลือง-แดงที่ตนเห็นชอบ แม้มีความพยายามลดความชอบธรรมของรัฐบาลผ่านปฏิบัติการขำขัน บริบทความขัดแย้งแนวระนาบข้างต้นส่งอิทธิพลให้ลักษณะปฏิบัติการไม่กลายเป็นการโจมตีตัวบุคคลแบบที่ทำให้เสียชื่อในทางสังคม (defamation) หรือลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) นี่ทำให้ปฏิบัติการของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและเครือข่ายต่างจากละคอนเร่เสียดสีของออตปอร์ที่ยังคงปรากฏการล้อเลียนตัวบุคคลแม้ประปราย (เช่น การล้อภรรยามิโลเชวิทชว่าไร้สติปัญญา) หรือกระทั่งการประท้วงของกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงก่อนหน้านี้ที่การล้อเลียนเพื่อโจมตีตัวบุคคลเป็นเรื่องชินหูชินตาของผู้คน
กระบวนการผนวกถอดในปฏิบัติการไร้ความรุนแรงแบบขำขันของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและเครือข่ายช่วยเปิดพื้นที่ประท้วงทั้งภายในกลุ่มคนเสื้อแดงเองและต่อเจ้าหน้าที่รัฐ กิจกรรมต่อต้านผ่านวัตรประจำวัน อาศัยการตีความ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบซื่อ ๆ คือการห้ามรวมตัวกันเกิน “5 คน” เพื่อชุมนุม “ทางการเมือง” ทว่าการตีความแบบตายตัวนี้กลับสรรค์สร้างพื้นที่ซึ่งเล็ดลอดจากการสอดส่องของรัฐ นั่นคือพื้นที่อันดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการเมืองอย่างกิจวัตรประจำวัน กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงถอดภาวะ “ไม่เป็นการเมือง” ของกิจวัตรเหล่านี้ออก และ ใส่แทรกเนื้อหาทางการเมือง (การชุมนุมประท้วง) ซึ่งไม่อาจแสดงได้ในช่องทางเดิม (บนท้องถนน) ฉะนั้นเราจึงเห็นอาการผิดฝาผิดตัวแบบตั้งใจในกิจกรรมอย่างการเต้นแอโรบิก หรือการจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า ผลของการผิดฝาผิดตัวมี 2 ทิศทาง
ทิศทางแรก คือ คนเสื้อแดง ซึ่งยังเห็นว่าการต่อสู้ของตนยังไม่จบและกำลังเสาะหาช่องทางต่อสู้ การปราบปรามส่งสัญญาณว่าการประท้วงบนท้องถนนราคาแพงเกินไป ช่องทางที่เหลือเพียงช่องทางเดียวจึงอาจเป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ทว่ากิจกรรมต่อต้านผ่านวัตรประจำวันเป็นเสมือนการผ่าทางตันของทางเลือก 2 ทาง โดยเฉพาะหนทางหลังที่อาจทำให้ความขัดแย้งแหลมคมและยากต่อการบรรเทายิ่งขึ้น
ทิศทางที่สอง คือ ฝั่งรัฐ การเต้นแอโรบิกหรือการจับจ่าย เป็นต้น ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองในลักษณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าข่ายละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มิเช่นนั้นคนกรุงจำนวนมากที่นิยมไปสวนลุมฯ เพื่อเต้นแอโรบิกออกกำลังกาย หรือเดินห้างสยามพารากอน คงไม่พ้นถูกดำเนินคดี กระนั้นก็ดี ผู้ร่วมกิจกรรมเหล่านี้สวมเสื้อสีแดง พลางตะโกนว่า “ที่นี่มีคนตาย” และแต่งหน้าเป็นผี เป็นต้น ซึ่งสะท้อนว่าใจความเดิมของวัตรประจำวันที่ดูเหมือนปราศจากความเป็นการเมืองกำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นการเมืองอย่างยิ่ง ในแง่นี้เราจึงเห็นการปะทะกันระหว่างนิยามความเป็นการเมืองอย่างแคบโดยรัฐ และนิยามแบบกว้าง (“เรื่องส่วนตัวคือการเมือง”) สำหรับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและเครือข่าย นิยามอย่างแคบปิดโอกาสให้ปฏิบัติการประท้วงซึ่งอาศัยนิยามความเป็นการเมืองแบบกว้าง
ขณะที่ออตปอร์แสดงให้เห็น “ประสิทธิภาพ” (effectiveness) ของกระบวนการถอดผนวกเพื่อสู้กับชนชั้นนำฝ่ายตรงข้าม กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและเครือข่ายเผยให้เห็น “ศักยภาพ” (potentiality) ของกระบวนการสร้างความเป็นจริงคู่ขนาน อันเป็นหัวใจของอารมณ์ขันแบบคาร์นิวาล พึงระลึกว่าปฏิบัติการขำขันของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและเครือข่ายเกิดในบริเวณที่ความขัดแย้งในสังคมไทยได้สร้างรอยร้าวต่อสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ฝักใฝ่ในแต่ละค่ายการเมือง ขณะเดียวกันองค์กรต่าง ๆ พยายามเสนอ “แผนปรองดอง” ในฐานะหนทางออกจากวังวนความขัดแย้ง แทบไม่มีส่วนใดของปฏิบัติการขำขันโดยกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและเครือข่ายที่มีนัยว่าด้วย “การปรองดองแห่งชาติ” (จะมีก็แต่การล้อเลียนวาทกรรม “การค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง”) ท่าทีเช่นนี้เข้าใจได้ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงอันที่จริงคือคนเสื้อแดง และเป็นญาติของคนเสื้อแดง 90 กว่าชีวิตที่ถูกปลิดชีวิตในการปราบปรามปี พ.ศ.2553 ฉะนั้น “การปรองดอง” กับรัฐบาล ซึ่งได้ชื่อว่าสั่งการปราบปรามอาจเท่ากับมองข้ามความเป็นธรรมที่เหยื่อจากการปราบปรามมีสิทธิเรียกร้อง
กระนั้นก็ดี ปฏิบัติการจำนวนหนึ่งของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและเครือข่ายเชิญชวนให้คนเสื้อแดงมองย้อนดูตัวเองในอดีต และพัฒนาสังคมการเมืองด้วยตนเองในอนาคต กิจกรรมอย่างการปั่นจักรยานไปตามจุดที่มีการยิง ผู้จัดกิจกรรมได้ชี้ชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นว่าการยึดครองพื้นที่เศรษฐกิจ หรือการทำลายอาคารสถานที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนในบริเวณนั้นไม่น้อย ท่าทีเช่นนี้สะท้อนแง่มุมของอารมณ์ขันแบบคาร์นิวาลที่เน้นการ “รื้อสร้าง” (deconstruct) ไม่เพียงแต่รื้อสร้างโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังชวนให้ตั้งคำถามในเหตุการณ์ปี พ.ศ. 2553 คนเสื้อแดงเป็นเหยื่อเพียงอย่างเดียวหรือไม่ นอกจากนี้มหกรรมของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงอย่าง “แกนนอน Expo” สะท้อนภาพจำลองของสังคมการเมืองคู่ขนาน ที่มีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมระดับชุมชนเป็นหัวใจ กิจกรรมคาร์นิวาลกระตุ้นการจำลองสังคมการเมือง ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมใฝ่ฝันถึง
ในแง่นี้ปฏิบัติการของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงคล้ายคลึงกับกิจกรรมในลักษณะใกล้เคียงกันของออตปอร์ ขณะที่ฝ่ายหลังฝันถึงสังคมอิสระที่ปราศจากรัฐบาลอำนาจนิยมของมิโลเชวิทช ฝ่ายหลังจินตนาการถึงภาวะที่ประชาชนรากหญ้า อันเป็นฐานมวลชนของคนเสื้อแดง ได้ใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ของตน ริเริ่มนวัตกรรมที่ช่วยออกแบบสังคมการเมืองที่พวกเขาฝันถึง ไม่เพียงสำหรับคนรุ่นปัจจุบันเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนรุ่นลูกหลานด้วย การคิดฝันถึงการเมืองเช่นนี้ก้าวพ้นการล้มล้างรัฐบาล และมุ่งเน้นการสร้างศักยภาพให้ผู้คนได้คิดและตัดสินใจเอง
อารมณ์ขันเป็นหนึ่งในกิจกรรมสร้างสรรค์
วลีที่ว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว” มักเป็นมนตราขับกล่อมให้ขบวนการซึ่งเคยใช้สันติวิธีหันมาจับอาวุธเมื่อต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังมากกว่า ขบวนการเหล่านี้เห็นสันติวิธีไร้พลังคะคานอำนาจอีกฝ่าย ฉะนั้นต้อง “ยกระดับ” การประท้วงไปสู่ยุทธวิธีรุนแรง ในปาเลสไตน์ เนปาล โคโซโว ซีเรีย และอีกหลายที่ แนวโน้มเช่นนี้ปรากฏกายให้เราเห็น
ในสังคมไทย แม้ความขัดแย้งเหลือง-แดงยังไม่ไปถึงขั้นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ แต่เมื่อกลางความขัดแย้งร้อนแรง เรากลับเชื่อว่า ไม่มีทางเลือกอื่น ถ้ายังทะเลาะกัน (บนถนน) ต่อไป บ้านเมืองจะเสียหายจนกู่ไม่กลับ ท้ายที่สุดเราเลือกเบือนหน้าหนีความขัดแย้ง หันไปพึ่งปุ่ม “รีสตาร์ต” อย่างการรัฐประหาร ทั้งที่ความขัดแย้งครั้งนี้สำคัญต่อการรับความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทย ปัญหาคือ ต้องตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ความขัดแย้งนองเลือด กล่าวให้ถึงที่สุดได้ว่าระหว่างจุดที่ทะเลาะกันด้วยกำลังอาวุธกับอีกจุดซึ่งเน้นให้บ้านเมืองปราศจากความขัดแย้งใด ๆ เลย เรามองไม่เห็นพื้นที่ว่างอันเป็นทางออกจากตรอกอันสุดโต่งทั้งสอง
ความเชื่อว่าสันติวิธีไร้น้ำยาเป็นผลจากโครงสร้างความขัดแย้งที่จำกัดการเสาะหาทางเลือกสันติวิธี ขณะเดียวกันก็เป็นผลจากการตัดสินใจของขบวนการเอง หลายครั้งขบวนการไม่สามารถคำนวณยุทธศาสตร์ของกลุ่มให้สอดคล้องกับพลวัตความขัดแย้ง ทั้งยังไม่อาจขยายเครือข่ายความร่วมมือของตนไปยัง “มิตรของศัตรู” เพื่อสร้างแรงกดดันต่อฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญคือ รูปแบบการประท้วงยึดติดกับกิจกรรมเดิม ๆ (เช่น การชุมนุม เดินขบวน และยื่นจดหมาย) จนไม่อาจคิดถึงกิจกรรมสร้างสรรค์แหวกแนวได้
อารมณ์ขันเป็นหนึ่งในกิจกรรมสร้างสรรค์ กลุ่มประท้วงส่วนใหญ่เห็นว่าอารมณ์ขันมีไว้สร้างความบันเทิงให้กันเอง หรือมิเช่นนั้นก็ใช้ครั้งคราว ให้เป็นสีสันของการชุมนุม กระนั้นก็ดี หลายคนเห็นว่าการใช้อารมณ์ขันเพื่อประท้วงอย่างจริงจัง และมีการวางแผนถือเป็นเรื่องตลก เป็นไปไม่ได้
ตรงข้ามกับความเห็นข้างต้น กลุ่มออเรนจ์ อัลเทอร์เนทีฟ ผู้ประท้วงในเซอร์เบียปี ค.ศ. 1996-2000 และกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงช่วยให้เราเห็นศักยภาพอันน่าทึ่งของอารมณ์ขัน กลุ่มแรกแสดงให้เห็นว่าอารมณ์ขันช่วยสร้างบรรยากาศการประท้วง ท่ามกลางความกลัวเฉยชาทางการเมืองของผู้คน ยิ่งไปกว่านั้นขบวนการประท้วงในเซอร์เบียเผยให้เห็นว่าอารมณ์ขันป็น “อาวุธ” ต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมได้ และหากนักกิจกรรมทดลองใช้และพัฒนารูปแบบของอารมณ์ขันในยุทธศาสตร์สันติวิธีใหญ่ ก็ยิ่งพบศักยภาพของอารมณ์ขันในการบ่อนเซาะวาทกรรมซึ่งค้ำจุนอำนาจชนชั้นนำ
ส่วนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงเผยให้เห็นพลังของอารมณ์ขันแบบคาร์นิวาล ไม่เพียงแต่กลุ่มจะใช้อารมณ์ขันเพื่อรวบวมความกล้าของผู้คนภายหลังการปราบปรามปี พ.ศ.2553 แต่ยังอาศัยงานมหกรรมและเทศกาลรื่นเริงเปิดพื้นที่แห่งจินตนาการของการสร้างสังคมประชาธิปไตยชนิดที่ส่งเสริมให้ผู้คนปลดแอกตนเองจากเครือข่ายชนชั้นนำทั้งเก่าและใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งที่แบ่งสังคมไทยเป็นสองเสี่ยง ปฏิบัติการเช่นนี้เอื้อให้ผู้คนจินตนาการถึงสังคมอุดมคติที่ไม่เพียงแต่มุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังอดทนต่อความเห็นต่างทางการเมือง อารมณ์ขันแบบคาร์นิวาลช่วยให้ปฏิบัติการสันติวิธีใส่ใจ “พหุเสียง” ตลอดจนเอื้อมจินตนาการของเราไปสู่ “คนอื่น” ได้
แล้วความหวังของผู้ศึกษาอารมณ์ขันในฐานะสันติวิธี ณ ห้วงเวลานี้คืออะไร? ข้าพเจ้ามองไปไม่ไกล กลุ่มต่าง ๆ ที่คัดค้านการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 แสดงให้เห็นว่า "ยิ่งการเมืองปิดเท่าไรความคิดสร้างสรรค์ยิ่งเปิดกว้างเท่านั้น" กลุ่มผู้กล้าเหล่านี้ใช้สัญลักษณ์จากภาพยนตร์ชื่อดัง ใช้กิจกรรมธรรมดาอย่างการรับประทานแซนด์วิชและเทศกาลน่ารัก ๆ อย่างวันวาเลนไทน์ เป็นเครื่องมืองัดง้างกับรัฐบาลทหาร ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเขาเป็นความหวังสำคัญต่ออนาคตสันติวิธีของสังคมไทย.
ที่มา : จันจิรา สมบัติพูนศิริ. “หัวร่อต่ออำนาจ : อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี”, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2558) หน้า 37, 210-211, 224-230, 232-235
หมายเหตุ : ตัดตอน จัดรูปแบบประโยค โดย บรรณาธิการ
[1] Laurence M. Bogad, "Tactical Carnival : Social Movements, Demonstration, and Dialogical Performance," In A Boal Companion, eds. Jan Cohen-Cruz and Mady Schutzman (London : Routledge, 2006), 46.
[2] Jason Webster, "How flashmob flamenco took on the bankers," BBC News (April 18, 2013), สืบค้นจาก http://www.bbc.com/news/magazine-22110887, เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558.
[3] Anna Louie Sussman, "Laugh, O Revolution : Humor in the Egyptian Uprising," The Atlantic (February 26, 2011), สืบค้นจาก http://www.theatlantic.com/international/archive/2011/0augh-o-revolution-humor-in-the-egyptian-uprising/71530/, เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558. ดูเพิ่มเติมใน จันจิรา สมบัติพูนศิริ, "ทบทวนวรรณกรรมปฏิบัติการไว้ความรุนแรง (nonviolent action) ในโลกตะวันตก : หลักการ กระแส ปฏิบัติการ และทฤษฎี." รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (2556) : 75-100.
[4] Kieth Thomas, "Introduction," In A Cultural History of Humour : From Antiquity to the Present Day, eds. Jan Bremmer and Roodenburg (Cambridge : Polity Press, 1991), 1-14 Redeeming Laughter; และ Critchley, On Humour.
[5] ดู Dundes, Alan and Thomas Hauschild, "Auschwitz Jokes,"In Humour in Society, 56-65; Jack Rishardson, Gallows Humor (New York : Dramatists Play Service, Inc., 1998).
[6] ดู Davies, Christie, Ethnic Humor Around the World : A Comparative Analysis (Bloomington and Indianapolis : Indiana University Press, 1990).
[7] Egon Larsen, Wit as a Weapon (London : Frederick Muller Limited, 1980).
[8] Ulrich Marzolph, "Reconsidering the lranian Sources of a Romanian Political Joke," Western Folklore 47, no.3 (1988) : 212-226.
[9] ดู Saw Yan Naing, "Protesting Dogs are now on the Regime's Wanted List," Irrawaddy (October 12, 2007), สืบค้นจาก www.irrawaddy.org/article.php?art_id=8998, เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2552; สัมภาษณ์ Tamas Csapody, ตุลาคม พ.ศ.2553. ในพม่า กลุ่มประท้วงใช้ภาพวาดสุนัขเพื่อต่อว่าผู้นำทหาร ส่วนในฮังการี กลุ่มต่อต้านสงครามคัดค้านการที่รัฐบาลฮังการีตัดสินใจเป็นสมาชิกนาโต้ โดยล้อว่ารัฐบาลเชื่องเหมือนแกะ