
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา

ลายมือต้นฉบับบทความเรื่อง “ประชาชนได้แต่ชเง้อดู” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์
ตรวจดูข่าวเหตุการณ์บ้านเมือง ตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้แล้ว ดูใครๆ พากันเหี่ยวแห้งใจไปหมด เพราะมักจะพบแต่ข่าวที่ไม่เปนมงคลแก่บ้านเมือง และไม่เปนเรื่องที่จะมีผลประโยชน์ไปถึงประชาชนเสียเลย ทั้งนี้ผู้เขียนยังไม่ได้รวมเอาข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการจับกุมและเนรเทศหลวงกาจสงครามเข้ามาในความคิดคำนึง เพราะว่าข่าวการจับกุมบุคคลชั้นหัวหน้าคณะรัฐประหารเช่นนั้น สามัญชนเช่น
เราๆ ท่านๆ ดูจะถือกันเสียว่า เปนเรื่อง “ภายใน” ของพวกที่ถือกำลังและใช้กำลัง เขาจะปฏิบัติต่อพวกของเขาด้วยกันเท่านั้น ไม่เปนเรื่องที่ประชาชนจะต้องไปเกี่ยวข้องอะไรกับเขา แม้ว่าเหตุการณ์เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบกระเทือนไม่น้อยมาถึงประเทศและประชาชนก็ดี
ประชาชนนั้น ในทุกวันนี้ ก็มีหน้าที่อยู่แต่ว่า จะต้องอยู่กันไปในบ้านเมืองของเรา (หรือของท่าน) อย่างนิ่งๆ และเงียบๆ ไม่ว่าจะลำบากยากแค้นอย่างไร ก็จะต้องไม่เอะอะโวยวายให้มากไป. เพราะถ้าส่งเสียงเอะอะขึ้นมาเมื่อใด บ้านเมืองก็จำเปนจะต้องสั่งให้มีการเตรียมพร้อมอยู่เรื่อยๆ ไป. และการเตรียมพร้อมนั้น ก็จะต้องกระทำพร้อมกับควักเอาเงินในกระเป๋าของประชาชนออกจ่ายเสียทุกคราวไปด้วย ดังนั้นสามัญชนเช่นเราๆ ท่านๆ รวมทั้งพวกนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ จึงปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองตั้งอยู่ในความสงบ เพราะว่าอย่างน้อยทีเดียว เขาทั้งหลายก็จะไม่ต้องเสียเงินไปเปล่าๆ ปสิ้ๆ เพื่อการรักษาสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ คือความสงบนั้นเอง
ในชั้นเดิม ก็ว่ากันว่า ความไม่สงบหรืออันตรายแก่บ้านเมืองนั้นจะมาจากภายนอก และอาจมีมาได้จากจตุรทิศ และต่อมา ก็กล่าวกันว่า ความไม่สงบหรืออันตรายนั้น อาจปะทุขึ้นมาเมื่อใดและที่ใดก็ได้ทั้งนั้น แม้จนกระทั่ง การขอเปิดอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้าน ซึ่งเปนเรื่องธรรมดาสามัญเสียเหลือเกิน ในการปกครองแบบปัจจุบัน ก็ยังเปนที่วิตกกันในวงการเมืองว่า อาจเปนจุดระเบิดของการปฏิวัติหรือรัฐประหารขึ้นได้. แต่ไปๆ มาๆ รัฐบาลของคณะรัฐประหาร ก็กลับไปตะครุบเอาตัวพวกรัฐประหารด้วยกันนั้นเอง ในที่สุดความไม่สงบก็ระเบิดออกมาจากวงการของคณะรัฐประหารด้วยกันนั้นเอง. เมื่อเปนเรื่องในวงของ “อัศวิน” รัฐประหารแล้ว ก็ดูจะถือกันว่า ประชาชนไม่พึงเข้าไปเกี่ยวข้อง
ที่จริง ประชนชนก็คงอยากจะสนใจแต่เรื่องที่รัฐบาลจะปกครองบ้านเมืองให้เขาได้อยู่เย็นเปนสุข และได้ปลดเปลื้องทุกข์ของเขา ยิ่งกว่าจะไปสนใจในเรื่องวุ่นวาย
ต่างๆ และก็คงอยากจะทราบว่า รัฐบาลจะทำให้เขาอยู่เย็นเปนสุข ด้วยปัญญาความคิดของรัฐบาลอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นถ้าเขาได้พบเหตุการณ์อันเปนที่สงสัยข้องใจและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบ้านเมือง เขาก็คงอยากจะตั้งคำถาม และอยากจะได้รับคำตอบบ้าง
เปนต้นว่า เมื่อเขาได้อ่านหนังสือพิมพ์ (สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑๙ มกราคม) และได้พบว่า พ.ต.อ. สวัสดิ์ กันเขตต์ ซึ่งถูกสั่งปลดโดยกะทันหัน จนเจ้าตัวสารภาพออกมาว่า “รู้สึกวูบไปทั้งตัว พูดอะไรไม่ออก” นั้น ได้ตอบแก่นักข่าวถึงสาเหตุของการปลดครั้งนี้ว่า จะเนื่องมาแต่การที่ พ.ต.อ. สวัสดิ์ กันเขตต์ เปนผู้เอาใจใส่ในการปราบการค้าฝิ่นเถื่อนหรือมิใช่ และ พ.ต.อ. สวัสดิ์ ได้ตอบนักข่าวว่า “ผมไม่รู้เรื่อง เคยสั่งให้ค้นหนเดียวเท่านั้น ที่พิษณุโลกและพอรู้ว่า เปนฝิ่นของผู้มีอิทธิพล ผมก็ไม่แยแสต่อการค้นอีกต่อไป”
ทั้งข้อถามและข้อตอบนี้ เปนเรื่องที่ได้นำออกเปิดเผยในหนังสือพิมพ์อย่างมีหลักฐาน และก็เห็นได้ว่าเปนเรื่องที่กระทบราชการของกระทรวงมหาดไทย และกรมตำรวจอย่างแรง แต่ก็ไม่มีคำแถลงอะไรจากทางราชการเลย ดังนี้สามัญชน ก็คงจะอยากตั้งคำถาม และอยากฟังคำชี้แจงเปนธรรมดา.
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ (ฉบับวันที่ ๑๘ มกราคม) ได้แสดงความระอาใจไว้ว่า แผนการต่างๆ ของรัฐบาลนั้น ช่างเปลี่ยนแปลงกันอย่างอุตลุดเหลือเกิน จนยากที่ใครจะกล้าออกความเห็นในหนังสือพิมพ์ เพราะกลัวกันว่า เมื่อออกความเห็นไปในวันนี้ พอวันรุ่งขึ้น รัฐบาลก็จะกลับเปลี่ยนแผนการใหม่หมด
“โพสต์” ยกตัวอย่างการปฏิบัติอันสับสนของรัฐบาลในเรื่องการกำหนดราคาข้าวที่จะส่งไปต่างประเทศว่า ในชั้นต้นรัฐบาลได้แสดงว่าจะเพิ่มราคา ต่อมาได้แสดงว่าจะใช้ราคาเดิม และต่อมาอีกได้แสดงว่าจะเพิ่ม และอีกครั้งหนึ่งแสดงว่าจะไม่เพิ่ม. ความเปลี่ยนแปลงอย่างสับสนเหล่านี้ ได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น และทุกคราวที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ก็ได้มีการแสดงเหตุผลอันเหมาะสมไว้ทุกครั้ง, บางทีสามัญชนเมื่ออ่าน “โพสต์” ฉบับนั้นแล้ว ก็คงอยากจะตั้งข้อถามแก่รัฐบาลบ้างกระมังว่าเหตุใดจึงบริหารประเทศด้วยความคิดสับสนรวนเรเช่นนั้น.
หนังสือพิมพ์ หลักชัย (ฉบับวันที่ ๕ มกราคม) รายงานว่า “ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ นี้ คนไทยมีหวังพบกับมรสุมการขาดแคลนข้าว เนื่องจากรัฐบาลโดยข้าวไปขายให้ต่างประเทศ จนเหลือไว้กินในเมืองไทยเพียงล้านตันเศษ แต่สถิติการเหลือข้าวไว้กินในเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๔๘๔ เปนต้นมา ต้องใช้ตั้งแต่ ๒ ล้าน ๕ แสนตันขึ้นไป” ครั้น เมื่อนักข่าวนำตัวเลขอันน่าเปนห่วงนี้ถามรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตร ท่านรัฐมนตรีได้ตอบว่า “คนไทยจะกินข้าวในปีหนึ่งเท่าไหร่ผมไม่รู้” แต่ก็ได้แสดงความเห็นว่า ๑ ล้านตันเศษคงจะพอ. สามัญชนที่ได้อ่าน หลักชัย ฉบับนั้น คงจะสงสัยว่า ในกรณีที่พึ่งใช้ตัวเลข เหตุใดท่านรัฐมนตรีจึงไปใช้ความเห็นเสียเล่า
เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสนเท่ห์ ดังยกมากล่าวเพียง ๒-๓ เรื่องนี้ ได้ปรากฏ
เปนข่าวอยู่เสมอในหน้าหนังสือพิมพ์ ดังนั้น ในทุกวันนี้ใครๆ ที่สนใจในกิจการบ้านเมือง เมื่อจับหนังสือพิมพ์ขึ้นอ่าน จึงพากันเหี่ยวแห้งใจไปหมด. การเปิดอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านนั้น น่าจะถือว่าเปนโอกาสอันดี ที่ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะได้แสดงให้ประชาชนทราบเสียทีว่า ทั้งสองฝ่ายได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนอย่างไรบ้าง แต่ในวงการเมืองของทั้งสองฝ่ายก็ดูแสดงว่ายังไม่พร้อมที่จะให้ประชาชนได้รู้เห็นอะไรในกิจการงานของพวกผู้แทน. รูปการณ์ในปัจจุบันนี้ จึงดูประหนึ่งว่า เมื่อประชาชนได้เลือกผู้แทนของเขาแล้ว ก็ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องรู้เห็นอะไร ประชาชนก็อยู่ไปตามประสาของประชาชน นักการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็วุ่นไปตามเรื่องของเขา. ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเลย นับว่าเปนการปกครองแบบใหม่เอี่ยมที่ยังไม่เคยปรากฏ ณ ที่หนึ่งที่ใดในโลก
ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 31 มกราคม พ.ศ. 2493
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ประชาชนได้แต่ชเง้อดู”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 377.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์, เรื่อง “ประชาได้แต่ชเง้อดู”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 377-380.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง
- ตอนที่ 17 - การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา
- ตอนที่ 18 - “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”
- ตอนที่ 19 - การประกอบรัฐบาลของประชาชน
- ตอนที่ 20 - ชีวิตไม่มีแต่การเมือง
- ตอนที่ 21 - คำสาบาลซ้ำ
- ตอนที่ 22 - ลักษณะคำแถลงนโยบาย
- ตอนที่ 23 - การแถลงคำอธิษฐานในสภา
- ตอนที่ 24 - ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน
- ตอนที่ 25 - แลไปข้างหน้า
- ตอนที่ 26 - การเผยแพร่ประชาธิปไตย
- ตอนที่ 27 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 28 - ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร
- ตอนที่ 29 - ความเปื่อยผุในวงการปกครอง
- ตอนที่ 30 - ความทุจริตในการเลือกตั้ง
- ตอนที่ 31 - ไปสู่ความล้มละลายในศีลธรรม
- ตอนที่ 32 - ประกันสังคมของรัฐบาลไทย
- ตอนที่ 33 - ฐานะของรัฐบาล “สถานการณ์”
- ตอนที่ 34 - อันความกรุณาปราณี…
- ตอนที่ 35 - ประเทศของคนที่มีโชคดี
- ตอนที่ 36 - การเมือง