ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การกลับมาในนาม “ขบวนการประชาธิปไตย” ของนายปรีดี

24
กุมภาพันธ์
2564

 

พูนศุข พนมยงค์

 

คณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้ใช้ความรุนแรงทำลายระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ยุบสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ประเทศไทยตกอยู่ในอำนาจของเผด็จการทหาร

นายปรีดีซึ่งลี้ภัยอยู่ที่เมืองกวางโจว (ภายใต้การปกครองของจีนคณะชาติ) ครุ่นคิดเสมอว่าจะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยได้อย่างไร จนกระทั่งมิตรสหายในประเทศ แจ้งให้นายปรีดีทราบว่าสถานการณ์พร้อมแล้ว นายปรีดีจึงลอบกลับประเทศไทย

เวลา 21 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีพร้อมด้วยมิตรสหายมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นายปรีดีได้สั่งการให้กองหน้าเข้าไปปลดอาวุธกองทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง ไม่มีการต่อต้านการจู่โจมอย่างฉับพลันของกองหน้าขบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นภายในเวลา 15 นาทีก็สามารถเข้าไปตั้งกองบัญชาการที่นั่น ขบวนการฯ สามารถยึดสถานีวิทยุกรมโฆษณาการไว้ได้ในคืนวันที่ 26 และ 27 กุมภาพันธ์ มีการต่อสู้ประปรายระหว่างฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยกับฝ่ายรัฐบาล

กำลังสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยจากฝ่ายทหารเรือถูกสกัดกั้นโดยกองกำลังฝ่ายรัฐบาล เวลา 6.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ กองทหารของรัฐบาลซึ่งบัญชา การโดย พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งให้ยิงถล่มพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่มั่นของฝ่ายขบวนการฯ นายปรีดีเขียนเล่าเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า…

“เมื่อเห็นว่ากำลังสนับสนุนของเราเดินทางมาไม่ทันเวลา และเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัตถุที่ล้ำค่าของชาติในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กองกำลังถอยร่นมาอยู่ในกองบัญชาการทหารเรือที่พระราชวังเดิม ข้าพเจ้าได้จัดการให้เพื่อนร่วมขบวนการฯ ข้ามแม่น้ำไปด้วยเรือซึ่งนายพลเรือผู้หนึ่งเป็นผู้จัดหาให้ ส่วนข้าพเจ้าจะอยู่ที่กองบัญชาการทหารเรือ เพื่อรอคอยกำลังสนับสนุน

ระหว่างนั้น กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลควบคุมพระนครไว้ได้ทั้งหมดแล้ว การก่อการเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ของข้าพเจ้าจึงประสบความล้มเหลว ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง” 

(บางตอนจากหนังสือ “ชีวิตอันผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน”)

เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นาวาตรีมนัส จารุภา ได้นำนายปรีดีไปยังที่หลบซ่อนแห่งหนึ่ง เป็นบ้านของญาติสนิทข้าพเจ้า ครั้นอยู่ที่นี่นาน ก็เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จำต้องรีบดำเนินการขยับขยายวันต่อมา นายปรีดีได้ย้ายมาอยู่ “บ้านพูนศุข” ถนนสีลม ซึ่งว่างจากการให้เช่า

ในที่สุด สุธี โอบอ้อม คนที่ข้าพเจ้าไว้ใจได้เพราะรู้จักมา 3 ชั่วคน ได้จัดการให้นายปรีดีไปหลบซ่อนที่บ้านฉางเกลือ อยู่ในอาณาบริเวณ 20 กว่าไร่ของบริษัทเกลือไทย ฝั่งธนบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (บริเวณอาคารศุภาคารในปัจจุบัน)

ผู้ที่เอื้อเฟื้อสถานที่หลบซ่อนให้นายปรีดี คือ คุณอุดร รักษมณี เพื่อนรักของสุธี โอบอ้อม นายปรีดีและข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับคุณอุดร รักษมณี มาก่อนเลย คืนวันที่ 2 ของการไปอยู่ที่บ้านสวนฉางเกลือ ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมนายปรีดี นายปรีดีปรารภว่า “เกรงใจเจ้าของบ้านเหลือเกิน” ไม่ทราบว่าจะอยู่ได้นานเท่าใด แต่แล้วนายปรีดีจำต้องหลบซ่อนอยู่ที่บ้านสวนฉางเกลือเป็นเวลา 5 เดือนกว่า

ตอนกลับจากเยี่ยมนายปรีดีที่บ้านสวนฉางเกลือ คุณอุดรนั่งเรือจ้างมาส่งข้าพเจ้าที่ท่าเรือสาทรใกล้ฟ้าสาง รถรางบนถนนสีลมออกเดินรถแล้ว ผู้คนเริ่มออกมาทำกิจวัตรประจำวันแต่เช้ามืด ข้าพเจ้าเดินจากบางรักผ่านป่าช้ากวางตุ้ง ป่าช้าสารสิน ป่าช้าซาเวียร์และป่าช้าคาทอลิกเพียงคนเดียว กลับมาถึงบ้านป้อมเพชร์ (ปัจจุบันได้ถูกเวนคืนเป็นช่วงหนึ่งของถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และอาคาร I.T.F) ก่อนที่คนในบ้านจะตื่น

ตลอดระยะ 5 เดือนกว่านี้ ข้าพเจ้าไปบ้านสวนฉางเกลือเพียงครั้งเดียว การติดต่อกับนายปรีดีได้ให้อัญชนา ภรรยาของสุธี โอบอ้อมเป็นผู้ติดต่อ 

 

บ้านสวนฉางเกลือ
บ้านสวนฉางเกลือ

 

ขณะอยู่บ้านสวนฉางเกลือ นายปรีดีรู้สึกเป็นทุกข์กับข่าวคราวมิตรสหายที่ถูกจับกุมและต่อมาบางคนศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกเป็นเวลาเกือบ 9 ปี ส่วนบางคนที่หลบหนีจากการจับกุมไปได้ ได้หลบซ่อนในต่างจังหวัดบ้าง ในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง

นายปรีดียังรู้สึกเสียใจกับข่าวที่ 4 อดีตรัฐมนตรี และ อดีต สส. ภาคอีสาน ได้แก่ คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์  คุณถวิล อุดล  คุณจำลอง ดาวเรือง และ คุณทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งไม่ได้ร่วมการก่อการขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ ก็ถูกตำรวจจับกุมและถูกสังหารอย่างทารุณ ซึ่งตำรวจได้อ้างว่าเป็นฝีมือของ “โจรจีนมลายู” ที่มาชิงตัวผู้ต้องหา

นอกจากนี้ พ.ต.โผน อินทรทัต พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ก็ถูกสังหารในขณะที่ถูกจับกุมโดยนายตำรวจอัศวินของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ส่วนคุณทวี ตะเวทิกุล ได้แยกย้ายหลบหนีไปหลังขบวนการประชาธิปไตยประสบความล้มเหลว พร้อมกับคุณประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ และคุณพร้อม ลุลิตานนท์ โดยไปทางจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม ต่อมาตำรวจได้จับกุมและสังหารคุณทวี ตะเวทิกุล เหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจทำให้นายปรีดีและข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อการจากไปของมิตรร่วมอุดมการณ์ด้วยน้ำมือของฝ่ายอธรรม

หลายสิบปีต่อมา คุณอุดร รักษมณี เปิดเผยความในใจเหตุการณ์ในหนหลังว่า เขามีความศรัทธาในตัวนายปรีดี เห็นว่าเป็นคนที่มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง และรับใช้ชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จึงไม่ลังเลที่จะให้ความช่วยเหลือให้ที่พักพิงแก่นายปรีดีขณะนั้น

ข้าพเจ้าประทับใจและรำลึกอยู่เสมอในความกล้าหาญเสียสละของคุณอุดร รักษามณี และครอบครัว ที่ไม่หวั่นเกรงภยันตรายและไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างหรือลาภยศใด ๆ ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลได้ให้สินบนนำจับนายปรีดีด้วยจำนวนเงินที่สูงมาก

เมื่อนายปรีดีเห็นว่าไม่มีทางก่อการขบวนการประชาธิปไตยได้อีก จึงตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยไปปักกิ่ง ซึ่งเพิ่งได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพปลดแอกราษฎรจีน ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นายปรีดีได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าจัดหาลู่ทางการหลบหนีครั้งใหม่เพราะไว้ใจและเชื่อใจข้าพเจ้าว่าจะทำสำเร็จ ข้าพเจ้าวางแผนปฏิบัติการไว้เป็นวันที่ 6 สิงหาคม อันเป็นวันครบรอบวันตายของป้าลูกจันทน์ มารดานายปรีดี ข้าพเจ้าภาวนาให้ป้าลูกจันทน์คุ้มครองให้นายปรีดีรอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง

ข้าพเจ้าติดต่อขอความช่วยเหลือจากคุณมิ่ง เลาห์เรณู อดีต ส ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีกิจการการประมงตั้งแต่หัวหินจนถึงบางสะพาน คุณมิ่งได้ให้ยืมเรือประมง 1 ลำ

 

ร.ต.อมฤต วิสุทธิธรรม (ร.น) และภรรยา เยือนปรีดี ที่บ้านอองโตนี
ร.ต.อมฤต วิสุทธิธรรม (ร.น) และภรรยา เยือนปรีดี ที่บ้านอองโตนี

 

ข้าพเจ้าได้นัดพบ ร.ต.อมฤต วิสุทธิธรรม (ร.น.) และคุณอุดร รักษมณี กับสุธี โอบอ้อม ที่สวนลุมพินีทางด้านถนนราชดำริ ลับตาผู้คนที่มาเที่ยวสวน เพื่อปรึกษาเรื่องการเดินทางของนายปรีดี ปาลขับรถไปจอดที่บ้านพี่สารี ถนนสุรวงศ์ แล้วเราสองแม่ลูกนั่งรถสามล้อตรงไปยังที่นัดพบ ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเลี่ยงการติดตามของสายลับตำรวจที่เฝ้าอยู่หน้าบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม อยู่ตลอดวัน

ร.ต. อมฤต วิสุทธิธรรม (ร.น.) คือกัปตันเรือประมงที่นำนายปรีดีสู่ทะเลจีนใต้ เป็นผู้กล้าหาญอีกท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้าจดจำไว้ในใจ

บันทึกไว้เมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2544

 

“นายปรีดีมารับข้าพเจ้ากับลูก 2 คน ที่เมืองหม่านโจ๊วหลี่ ด่านแรกของประเทศจีน 4 ปีกว่าเกือบ 5 ปีที่จากกัน หลังขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ประสบความล้มเหลว ไม่นึกว่าจะพบกันอีกในดินแดนอันไกลโพ้นจากเมืองไทย หวังว่าคงจะไม่พรากจากกันอีกต่อไป…”
“นายปรีดีมารับข้าพเจ้ากับลูก 2 คน ที่เมืองหม่านโจ๊วหลี่ ด่านแรกของประเทศจีน 4 ปีกว่าเกือบ 5 ปีที่จากกัน หลังขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ประสบความล้มเหลว ไม่นึกว่าจะพบกันอีกในดินแดนอันไกลโพ้นจากเมืองไทย หวังว่าคงจะไม่พรากจากกันอีกต่อไป…”

 

ที่มา : พูนศุข พนมยงค์. “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” ใน “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์”, (กรุงเทพฯ: ตถตา, 2551), หน้า 185-191

ภาพประกอบ : จากหนังสือ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์”

หมายเหตุ : ตัดตอน จัดรูปแบบตัวอักษร ตั้งชื่อเรื่อง โดย บรรณาธิการ