ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แถลงข่าวงาน PRIDI Talks 9

8
มีนาคม
2564

นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่าสถาบันปรีดีฯ ซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการที่สนับสนุนส่งเสริมให้มีการสืบทอดเจตนารมณ์ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ตระหนักถึงสาระสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะต้องมีเนื้อหาสาระที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 และ 2489 โดยยึดหลักการที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทสูงสุดของกฎหมายทั้งหลาย ดังนั้น ควรกำหนดไว้เฉพาะหลักการสำคัญ มีความสั้นกระชับ เข้าใจง่าย และจะต้องมีบทบัญญัติที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของปวงชน

ดังที่นายปรีดี พนมยงค์ เคยชี้แนะเรื่องการศึกษารัฐธรรมนูญไว้อย่างเรียบง่ายว่า “ชนรุ่นใหม่ที่สนใจระบบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ควรนำรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับมาเทียบกันดูให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าระบบรัฐธรรมนูญฉบับใดมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ในความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ (Democracy)”

“เราไม่จำเป็นต้องตั้งต้นใหม่ทั้งหมด เพียงแต่ย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ว่ามีมาตราไหนที่มีความเป็นประชาธิปไตยดีอยู่แล้วก็ให้คงไว้ หรือเอากลับมาใช้ ส่วนไหนที่ยังบกพร่อง ก็สมควรปรับปรุงให้เข้ากับบริบทสังคมปัจจุบัน” นายปรีดิวิชญ์กล่าว

จากแนวคิดดังกล่าว สถาบันปรีดีฯ จึงได้จับมือกับกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) จัดกิจกรรม PRIDI Talks ครั้งที่ 9 ขึ้นภายใต้หัวข้อ “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์” และ “Workshop ร่วมคิด ร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ในวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.30 น. ณ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ TCDC บางรัก ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมงานได้ทางเพจและเว็บไซต์ของสถาบันปรีดีฯ www.pridi.or.th โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นายปรีดิวิชญ์กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่าเป็นการสานต่อองค์ความรู้จากกิจกรรม PRIDI Talks ครั้งที่ 7 ที่ได้เสนอมุมมองและแนวคิดรัฐธรรมนูญในมิติต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนการศึกษารัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบ เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญให้ขยายวงกว้างและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การหาฉันทามติร่วมกันของสังคม

“เพื่อตอบโจทย์ความต้องการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนให้แน่ชัดว่าประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบอะไร อำนาจสถาปนา-แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของใคร โครงสร้างสถาบันทางการเมืองเป็นเช่นไร และจะขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ ให้เดินหน้าต่อไปในอนาคตได้อย่างไร”

ส่วนรูปแบบของงานจะเป็นกิจกรรมเสวนาทางวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม นำโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ (ไอติม) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ที่จะมาให้ความรู้พร้อมเป็น Mentor คอยให้คำแนะนำปรึกษาตลอดการดำเนินกิจกรรม

สำหรับงานในช่วงเช้าจะเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็น “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทำ Workshop ในช่วงบ่าย ที่จะมีการแบ่งกลุ่มตามหัวข้อสำคัญที่เป็นแม่บทของรัฐธรรมนูญ อาทิเช่น หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ โครงสร้างสถาบันทางการเมือง ระบบรัฐสภา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้ระดมความคิดตามหมวดย่อย ออกแบบโครงสร้าง จากนั้นจะเป็นการสรุปร่างรัฐธรรมนูญจากมติของแต่ละกลุ่ม รวมถึงมีการโหวตร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบร่วมกัน อันเป็นผลลัพธ์ที่คณะผู้จัดงานจะได้นำเสนอให้กับสังคมต่อไป

“สถาบันปรีดีฯ เชื่อมั่นว่าระบอบการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ คือหลักประกันในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างยั่งยืน และหวังว่าการเปิดเวทีสาธารณะในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคม ถึงแม้ว่ากระบวนการในระบบรัฐสภายังมีปัญหา แต่ถ้าภาคประชาสังคมช่วยกันรณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจออกไปให้กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น ก็น่าจะช่วยผลักดันให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเดินต่อไปในทิศทางที่ถูกต้องได้” นายปรีดิวิชญ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีประชาชนจำนวนมากแสดงเจตนารมณ์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ยังมี 2 ด่านสำคัญที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวาง ด่านแรกคือการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้ง สสร. ขึ้นมายกร่างฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ในด่านที่สอง คือการประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม ช่วงวันที่ 17-18 มีนาคม 2564 ก็มี ส.ว.บางส่วนแสดงท่าทีแล้วว่าจะโหวตไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า จึงขอแถลง “3 ข้อเรียกร้อง 3 ข้อกังวล” ไปยังผู้ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึง “ทางตัน” โดย “3 ข้อเรียกร้อง” ประกอบด้วย

  1. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทางที่เป็น “คุณ” ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้น จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่อันตรายว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในประเทศไทย มีวิธีเดียวที่สามารถทำได้คือการรัฐประหาร
  2. ขอให้ ส.ว. ให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม ไม่ขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนที่สะท้อนผ่าน ส.ส. ในรัฐสภา
  3. ขอให้จัดประชามติที่มีความเป็นกลาง ทุกฟากฝ่ายทางความคิดสามารถรณรงค์ได้อย่างเท่าเทียม

ส่วน “3 ข้อกังวล” ประกอบด้วย

  1. การใช้ระบบเลือกตั้ง สสร. แบบ “เขตเดียวเบอร์เดียว” ซึ่งทำให้แต่ละเขตมีผู้ชนะเพียงคนเดียว อาจไม่สามารถสะท้อนความหลากหลายทางความคิดของประชาชนในประเทศได้
  2. การจำกัดอำนาจของ สสร. มิให้พิจารณาแก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) และ หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) อาจทำให้ประเทศไม่มี “พื้นที่ปลอดภัย” ในการพูดคุยและหาทางออกในประเด็นที่มีความอ่อนไหว
  3. การตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ควรเป็นเหตุผลในการไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตราที่เป็นปัญหา

ทั้ง “3 ข้อเรียกร้อง 3 ข้อกังวล” ไม่มีเจตนาอื่นใดเกินไปกว่าความปรารถนาดีให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และ มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน อันจะเป็น กติกา และ หลักประกัน ให้การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยสากล