ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับชาวบ้านและปากท้องอย่างไร ?

22
มีนาคม
2564

 

 

ตลอดชีวิตของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ทำมาตลอดชีวิตของท่าน คือการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้กับชาติ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” นั้น หมายถึง ทั้งเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และ 3 อำนาจ อันได้แก่ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ อำนาจการสร้างกฎหมายของนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการของศาล ซึ่งทั้ง 3 อำนาจนี้จะต้องมีที่มาที่ไปซึ่งเกี่ยวข้อง กับประชาชน มีที่มาที่ไปและมีความสัมพันธ์ยึดโยงกับประชาชนเพราะในรัฐธรรมนูญ 2475 ซึ่งเป็นแนวคิดที่คณะราษฎรได้ทำขึ้นมานั้น พูดถึงอำนาจสูงสุด เป็นของคณะราษฎรทั้งหลาย นั่นคือจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญ

Q: รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับปากท้องอย่างไร

อนุสรณ์ ธรรมใจ:

รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับปากท้องโดยตรงเพราะว่าเป็นกติกาสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ถ้ากติกาสูงสุดของประเทศสามารถวางระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เปิดกว้างในการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน ย่อมส่งผลทำให้ชีวิต ความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชนดีขึ้น

รัฐธรรมนูญที่ดี จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมือง เราจะเห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหลายครั้ง และทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีรัฐธรรมนูญปี 2540 เราจะเห็นได้ว่าช่วงทศวรรษ 2540 หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เราเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้า ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ระบบสวัสดิภาพของประชาชนดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเมืองที่ดี อันเป็นผลจากรัฐธรรมนูญที่ได้วางกติกาเอาไว้

แน่นอนที่สุดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอยๆ สิ่งที่ดีขึ้นมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเผชิญสิ่งที่แย่ที่สุดมาก่อน ไม่มีรัฐธรรมนูญ 40 เกิดขึ้น ถ้าไม่มีวิกฤตทางการเมืองและไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีการเสียสละของวีรชนประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม 2535 ย่อมไม่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่ทหารถอยออกห่างจากการเมือง ถ้าไม่มีวิกฤต 2540 ประชาชนจะไม่รู้สึกว่าต้องปฏิรูปทางการเมืองผ่านการมีรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากประชาชน

ถ้าเราย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ 2517 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพียงแต่ว่าบริบทของประเทศในแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน เราพยายามสร้างประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์นั้น แต่ด้วยทั้งเหตุ ปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะเกื้อกูลให้ต้นอ่อนประชาธิปไตยเติบโต จึงเกิดการโต้ตอบกลับของพลังอนุรักษ์นิยมที่เรียกว่าขวาจัดเผด็จการ จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เช่นเดียวกันกับความพยายามของคณะราษฎรปีกประชาธิปไตย ที่พยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง โดยการร่างรัฐธรรมนูญ 2489 หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องของการวางรากฐานของคณะราษฎรจากรัฐธรรมนูญปี 2475 และมีความคืบหน้าของประชาธิปไตยต่อ แม้ว่าสังคมไทยจะเผชิญกับความผันผวนในปัญหาต่างๆ มากมาย แต่แกนนำของคณะราษฎรปีกประชาธิปไตย มีความมุ่งมั่น ยึดถือ ความตั้งใจ ณ วันแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่าประเทศต้องพัฒนาและก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ การศึกษาของประชาชนต้องดีขึ้น ฉะนั้น สมาชิกรัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง

โชคร้ายของประเทศไทยที่รัฐบาลประชาธิปไตยอยู่ได้เพียงสั้นๆ เพราะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองจนเกิดรัฐประหาร 2490 ผมว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของความผกผันในระบอบประชาธิปไตย เพราะจากนั้นเราก็วุ่นวายกันมาตลอดและอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการกันมาอย่างยาวนาน

จนถึงวันนี้ในปี 2564 ประเทศไทยได้มาถึงทางแยกที่สำคัญว่าเราจะเอายังไง ตอนนี้ผมไม่ได้ถือว่าประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ผมถือว่าเราอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตย กึ่งเผด็จการ ทีนี้เราจะเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความเข้มแข็ง มั่นคงขึ้น พัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้น อยู่ที่ท่านทั้งหลาย ว่าวันนี้จะช่วยกันผลักดันให้มีความคืบหน้าในการร่างกติกาที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์:

รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับปากท้องอยู่แล้ว ถ้าโครงสร้างดี ระบบดี ทุกอย่างจะดี ไม่ใช่แค่ปากท้อง แต่คือทุกอย่าง

อนุสรณ์ ธรรมใจ:

ขอให้นึกถึงเกาหลีเหนือ ปากท้องประชาชนดีมั้ย แล้วประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบอะไร รวันดา ซูดาน ซีเรีย พม่า ปกครองด้วยระบอบอะไร ในขณะที่สแกนดิเนเวีย สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยซึ่งในบางประเทศเป็นประชาธิปไตยแบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีรัฐสวัสดิการที่ดี ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี

นี่คือเรื่องที่ชัดเจนและมีนักวิชาการจำนวนมากที่พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า ประชาธิปไตยต่างหาก คือ ระบบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่และจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะประชาชนสามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ในขณะที่ระบบเผด็จการใช้อำนาจมีปัญหา แต่หลายคนอาจจะแย้งถึงประเทศจีน ซึ่งจริงๆ แล้ว ประเทศจีนเป็นระบอบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เราต้องมองให้ชัดกว่านั้น แต่ถามว่า จีนเป็นระบบเผด็จการอำนาจนิยมมากเลยหรือ เราต้องเข้าใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีรากฐานมาจากพรรคมวลชน ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอาจด้อยลงในสมัยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่ไปแก้รัฐธรรมนูญให้ตัวเองอยู่ในอำนาจตลอดไป สมัยเติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

อัครพงษ์ ค่ำคูณ:

ผมสรุปง่ายๆ จากที่คุณยิ่งชีพพูดว่า ถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เราอยู่ดีกินดี เราไม่ควรแก้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 ยังทำให้เรายากจนข้นแค้น มีปัญหาเรื่องของการจัดสรรเสบียงทรัพยากร มีปัญหาชาวบางกลอยถูกอำนาจรัฐ ไม่สามารถที่จะมีศักดิ์ มีศรี  มีสิทธิในการอธิบายที่อยู่ที่ดินของตัวเองได้ รัฐธรรมนูญควรแก้ครับ หลักการง่ายๆ กลับไปที่คำถามที่ท่านถามมาว่า รัฐธรรมนูญเกี่ยวอะไรกับปากท้อง เกี่ยวครับ

 

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ:

ผมไม่อยากสร้างบรรทัดฐานว่าถ้าเศรษฐกิจดีแล้ว ไม่ควรไปแตะเรื่องการเมือง ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจการเมืองมีความสัมพันธ์กัน ผมมีความเชื่อในฐานะนักประชาธิปไตยว่า ถ้าเรามีระบอบการเมืองที่อำนาจสูงสูดอยู่กับประชาชน มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างทุกฝ่ายทางการเมือง มีสิทธิเสรีภาพที่ถูกคุ้มครองเพื่อวางโครงสร้างรัฐสวัสดิการ น่าจะทำให้มีการผลแปรไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและปากท้องที่ดีกว่า

แต่ผมไม่อยากสร้างบรรทัดฐานว่า ถ้าเกิดสักวันหนึ่ง เราเลือกใครเข้าไปแล้ว ผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว แล้วคนคนนั้นบริหารไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี แสดงว่าเราต้องล้มล้างประชาธิปไตยหมด เพราะฉะนั้นผมว่าการแก้ปัญหาปากท้องกับการวางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ผมเชื่อว่าต้องไปควบคู่กัน แต่ว่าถ้าสักวันหนึ่ง เรามีกลไกประชาธิปไตยแล้ว และเศรษฐกิจไม่ดี ก็อย่าไปผิดหวัง หรืออย่าไปโทษกลไกประชาธิปไตย คุณยังต้องเชื่อมั่นในคุณค่าของประชาธิปไตยที่สามารถแก้ไขปัญหาในตัวมันเองได้ ในการทำให้ประชาชนสามารถเลือกผู้นำหรือทีมบริหารใหม่ได้ คุณต้องเชื่อมั่นในหลักการของตัวมันเองในเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคด้วย อย่าอิงความสำเร็จของประชาธิปไตยแค่ผลลัพธ์ในการสามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ

Q : มีความสงสัยว่าถ้าวาระสามถูกคว่ำจะทำอย่างไรต่อไป ?

พริษฐ์ วัชรสินธุ:

ผมว่าเป็นไปได้สูงและผมได้ยึดข้ออ้างที่ได้บรรยายไปแล้ว 20 นาที และข้ออ้างที่คุณยิ่งชีพได้พูดถึง วึ่งเป็นคำที่ส.ว.มักหยิบมาใช้คือคำว่า “ตีเช็คเปล่า” ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขากลัวอะไร และทุกครั้งที่ได้มีโอกาสดีเบตกับส.ว. ไม่ว่าจะออกช่องทางไหนก็พยายามจะคลายความกังวลของเขาในแต่ละเรื่อง เขาก็พยา ยามจะหาข้อกังวลใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ

สำหรับเรื่องนี้ผมขอพูด 2 ประเด็นครับ ประเด็นแรก ลองจับสัญญาณความไม่จริงใจของส.ว. ดีๆ นะครับ แล้วผมจะกลับมาในเรื่องของกับดัก ทางเลือกฉบับใหม่กับรายมาตรา ทำไมต้องทำควบคู่กันไป

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ร่างที่ 7 ของ iLaw ได้ถูกเสนอเข้าไปในรัฐสภาเป็นร่างเดียวที่ผสมผสานระหว่างร่างฉบับใหม่กับรายมาตรา เรามีร่างที่ 4 ที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้านที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 หรือว่าอำนาจส.ว. เลือกนายก ซึ่งน่าจะเป็นข้อที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด แต่ส.ว.ได้ปัดตกร่าง 4 ด้วยข้ออ้างที่ว่า คุณจะแก้รายมาตราทำไม เดี๋ยวจะมีการตั้งส.ส.ร.มาร่างฉบับใหม่แล้วค่อยไปคุยกันในส.ส.ร. สมัยก่อนปัดตกการแก้ไขรายมาตราเพราะบอกว่าจะมีการร่างฉบับใหม่แล้ว พอมาวันนี้จะร่างฉบับใหม่กลับบอกว่า มีความกังวัล กลัวเป็นการตีเช็คเปล่า ให้คุณไปแก้ไขรายมาตรา เพราะฉะนั้นมันเป็นวาทกรรมที่ใช้กลับไปกลับมาในการยืดเวลา

ถ้าส.ว. ปัดตกร่างในวาระสาม อย่างแรกที่ควรทำก็คือต้องออกมาพยายามรื้อฟื้นกระบวนการร่างฉบับใหม่ และแก้ไขรายมาตราไปด้วย และถ้าส.ว. จะอ้างว่าไม่อยากร่างฉบับใหม่เพราะว่ากลัวจะเป็นการตีเช็คเปล่า ผมไม่ตีเช็คเปล่าก็ได้ครับ ผมขอเลขตัวเดียวคือเลขหนึ่ง ย่อมาจาก หนึ่งสภา คือ สภาเดี่ยว

ปัจจุบัน “วุฒิสภา” คือองค์กรเดียวที่รวบรวมความวิปริตทางการเมืองทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีอำนาจล้นฟ้า ไม่ได้มีอำนาจยึดโยงกับประชาชน เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการตรวจสอบรัฐบาล แต่พยายามให้ท้ายทุกอย่าง ผมเหลือข้อเสนอเดียว คือ การยุบวุฒิสภาให้เหลือแค่สภาเดี่ยว เอาส.ว. 250 คนออกไป 

Q: ถ้าวาระสามตกไป ทางทีมงานจะทำอะไรต่อ ?

 

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์:  

ไม่อยากทำอะไรแล้วครับ ในฐานะ iLaw ปีที่แล้วคือโอกาสดีที่ได้รวบรวมรายชื่อเข้าสู่สภา และเข้าสู่การพิจารณา และสุดท้ายก็ตกไป เราภาคภูมิใจกับมัน และโดยส่วนตัวรู้สึกว่า เกิดมาในชีวิตนี้ได้ทำอะไรในขนาดนี้ ก้ยินดีในการมีชีวิตอยู่แล้ว ถ้ามันตกแล้วผมต้องเริ่มใหม่อีกครั้งหนึ่ง นั่นแสดงว่าสังคมนี้ไม่มีตัวเลือกเลยเหรอ ยังมีคนอีกเยอะแยะที่อยากจะทำ เป็นคิวท่านบ้างแล้ว เพราะ ถ้าเกิดเป็นคิวผมตลอดไป มันคงไม่มีทางออกให้กับบ้านเมืองนี้ ผมคิดว่ายังมีคนอีกมากมายที่อยากจะทำ ลุยเลย ผมช่วย

 

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ:

ผมว่าคว่ำแน่นอน ไม่ต้องวิเคราะห์อะไร สิ่งที่จะต้องทำก็คือกลับไปหาประชาชน การแก้รายมาตราอย่างที่คุณพริษฐ์เสนอก็ยากอยู่ เพราะว่าเขาอาจจะแก้รายมาตราแต่จะแก้อย่างที่เขาได้ประโยชน์ และจะไม่สนใจในเรื่องประเด็นหลักการประชาธิปไตยเลย เพราะว่าเสียงส.ว. 250 บวกกับ พลังประชารัฐ ยังไงก็ชนะ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ กลับไปที่ประชาชน ลงประชามติไปเลยในประเด็นสำคัญว่าส.ว. ควรจะมีอยู่หรือไม่ ส.ว. ควรจะเลือกนายกหรือไม่ และในขณะเดียวกันถามประเด็นอื่นๆ ด้วย   

 

 

วรรณภา ติระสังขะ:

หลายท่านคงคิดว่าจะมีการตีตกวาระสาม สำหรับดิฉันคิดว่าไม่ว่าจะตกหรือไม่ตก แต่อยากให้จับตาดูกระแสของการเรียกร้องการจัดทำรัฐธรรม นูญฉบับใหม่ซึ่งในตอนนี้แข็งแรงมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น อยากให้ประชาชนจับตาดูคนที่โหวตให้ตีตก เพราะฉะนั้นเขาเหล่านั้นมีความรับผิดรับชอบต่อความต้องการของประชาชน เราในฐานะที่เป็นประชาชน เราสามารถเรียกร้องเหตุผลของการคว่ำได้ จากผู้แทนของประชนถึงแม้เราไม่ได้เลือกเขามา แต่เขาใช้ภาษีของเราในการทำงาน

และวาทกรรมเรื่อง “ตีเช็คเปล่า” เป็นเรื่องที่หลอกเด็กมากๆ เพราะเรากำลังทำรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต นั่นก็คือสิ่งที่คนในอนาคตต้องการ มันก็คือเช็คเปล่าอยู่แล้ว แต่มันจะเปล่าแบบไหน ภายใต้กรอบกติกาที่มันควรจะเป็น เพราะมันมีกรอบกติกาสากล มีหลักการ มีเหตุผลในรัฐธรรมนูญเต็มไปหมด และมีวิถีแห่งความเป็นประชาธิปไตยในหลักการอยู่ มันไม่ได้เปล่าขนาดที่คุณจะเขียนอะไรก็ได้

Q: แต่ละท่านมีเทคนิคอย่างไรที่จะถ่ายทอดว่ารัฐธรรมนูญสำคัญกับชาวบ้าน

พริษฐ์ วัชระสินธุ:

ประเด็นแรก ถ้าเราออกแบบให้เป็นประชาธิปไตย เราจะทำให้หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียงของทุกคนมีค่าเท่ากัน หมายความว่านักการเมืองที่เข้าไป นายก รัฐมนตรีที่ถูกเลือกจะดำเนินงานและให้ความสำคัญกับนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในหมู่มาก ถ้าเกิดเรามีระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ส.ว. 250 คนมีค่าเสียงเท่ากับประชาชน 1.9 ล้านเสียง นั่นจะทำให้เขาตอบสนองโจทยืของคนเหล่านั้น ไม่ใช่โจทย์ของประชาชน

ประเด็นที่สอง ถ้าเรามีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนั้นจะเข้มแข็งตามมาด้วย ทำให้เราแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ทุกบาททุกสตางค์ของภาษีนำไปใช้ประโยชน์กับชาวบ้านได้จริง

ประเด็นที่สาม "เป้าหมายรัฐธรรมนูญคือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ" ถ้าเราเชื่อในเรื่องของรัฐสวัสดิการ เราเชื่อว่าภายใต้ความเปราะบางที่ประชาชนนั้นอาศัยอยู่ เราต้องวางหลักประกันให้เขาให้ได้ว่า ไม่ว่าชีวิตคุณจะแย่ขนาดไหน เขาต้องมีตาข่ายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงบริการสาธารณสุข การเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี การเข้าถึงที่ดีทำกิน ใส่ลงไปครับในรัฐธรรมนูญ แล้วจะเป็นการกระตุ้นในเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐทำหน้าที่ในการคุ้มครอง และรักษาสวัสดิการเหล่านี้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์:

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบระบบพิเศษมาให้คนไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งมาก็เป็นนายกได้ คนนั้นชื่อ “ประยุทธ์” และพอไปเลือกตั้งครั้งแรก คนที่ได้เป็นนายกก็ชื่อ “ประยุทธ์” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนโดยคน 21 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ “ประยุทธ์” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังให้คนคนเดียวตั้งคนมา 250 คน แล้วมาเลือกตัวเองเป็นนายก คนนั้นชื่อ “ประยุทธ์” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีระบบตรวจสอบอยู่บ้าง แต่ระบบตรวจสอบนั้นอยู่ที่ส.ว. ซึ่ง ส.ว.มาจาก “ประยุทธ์” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังวางอนาคตไว้ 20 ปี ซึ่งเขียนโดยคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งประธานกรรมการชื่อ “ประยุทธ์” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังยกเว้นความผิดให้กับคนที่ทำรัฐประหารเข้ามาตลอดไป ทั้งปัจจุบันและอนาคต คนนั้นชื่อ “ประยุทธ์”

"ชอบประยุทธ์เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ชอบประยุทธ์ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เท่านี้ครับ"

วรรณภา ติระสังขะ:

คุณอยากอยู่ในบ้านที่มีห้อง มีพื้นที่ มีเพดานที่สูง และคุณสามารถเดินไปไหนมาไหนได้รึเปล่า คุณอยากอยู่ในบ้านที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่คุณสามารถใช้งานให้เกิดประโยชน์รึเปล่า ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศนี้สามารถใช้ประโยชน์กับเราได้รึเปล่า คุณอยากมีพื้นที่เสรีภาพ คุณอยากมีอากาศ คุณอยากมีการแสดงความคิดเห็นได้หรือไม่ ในบ้านของคุณเอง

ดังนั้นแล้วไม่แปลกค่ะ ที่เราอยากจะออกแบบบ้านด้วยตัวของเราเอง และออกแบบบ้านหลังนี้หรือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่ใช่เพื่อเราที่ไม่รู้จะอยู่อีกกี่ปี แต่เพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป เราอาจจะไม่สามารถทำรัฐธรรมนูญในฝันที่สมบูรณ์แบบได้ แต่รัฐธรรม นูญที่ควรจะต้องเป็น ที่อยู่ร่วมกัน มันขึ้นอยู่กับฟังก์ชั่นการใช้งานของบ้านนั้นๆ มันอาจจะปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงความต้องการ ฝนรั่ว ฝนตก เราปรับเปลี่ยนได้ แต่ที่สำคัญที่สุด มันจะย้อนกลับไปถามว่า เราเป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นรึเปล่า

วรวิทย์ กนิษฐะเสน:

พยายามขอให้นึกภาพว่า ถ้าเราไม่มีรัฐธรรมนูญ จะมีอะไรเกิดขึ้น ขอให้เอากรณีตัวอย่างของประวัติศาสตร์มาเปรียบเทียบ และลองดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

อนุสรณ์ ธรรมใจ:

ชาวบ้านไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน หรือคนสลัมที่อยู่กรุงเทพฯ เขาจะสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐได้เป็นอย่างดี เขามีลูกถ้าลูกเขาเก่ง เขาไม่มีเงินแต่ลูกเขาจะได้เรียนสูงสุด อย่างที่ศักยภาพของเด็กคนนั้นจะทำได้

เขาป่วย เป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคหัวใจหรือเป็นอะไรก็ตาม เขาจะไม่นอนรอความตาย เพราะเขาสามารถจะเดินไปที่โรงพยาบาล และที่นั่นจะมีการบริการโดยรัฐที่จะสามารถรักษาชีวิตเขาได้

เขาจน แต่เขาจะมีโอกาสยกระดับชีวิตของเขาได้ เพราะเขาสามารถเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงโอกาส ถ้าเขาเป็นคนที่มีความสามารถ มีความคิดที่เป็นนวัตกรรม เขาจะสามารถเป็นอย่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กได้ เป็นอย่างบิลเกตได้

เราต้องการสังคมอย่างนั้นที่ไม่มีเพดานปิดกั้นประชาชน ถ้าเขาเก่ง เขามีศักยภาพ เขาโตได้เต็มที่ แต่ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นลูกชาวบ้าน เขาจึงไม่มีโอกาส เราต้องทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยมีจุดเริ่มต้นสูงสุดคือรัฐธรรมนูญที่จะสร้างระบบ ที่ให้โอกาสทุกคน นี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าหลายคนปรารถนา แล้วในสักวันหนึ่งจะเป็นจริง คือไม่มีความฝันอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าเราคิดจะทำ

ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง กล่าวปราศรัยแสดงสุนทรพจน์ หน้าอนุสาวรีย์อับราฮัม ลินคอล์นว่า “I Have a Dream” โดยเขาไม่คิดว่าอเมริกาจะมีความเสมอภาพเท่าเทียม และสามารถให้คนอย่างบารัค โอบามา มาเป็นผู้นำประเทศได้ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง อาจจะไม่เคยคิด แต่มีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องเป็นไปได้

แน่นอนที่สุดสังคมที่เปิดกว้างคนอย่างกมลา แฮร์ริส ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความสามารถขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีได้ ถามว่าในบางสังคมเปิดโอกาสอย่างนั้นรึเปล่า ไม่มีทาง ถ้าคุณเป็นลูกชาวบ้าน คุณเป็นผู้หญิง คุณเป็นอะไรสักอย่างที่มีการวางสังคมเป็นชั้นวรรณะ แบบนี้ไม่ได้

ศาสนาซึ่งเป็นศาสนาในการอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าเป็นวรรณะกษัตริย์ แต่พระองค์ทรงสละวรรณะลงมา แล้วบอกว่าสังคมอินเดียโบราณไม่จำเป็นต้องมีวรรณะ ทุกคนเท่ากันหมด

ใครจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ความดีของคนไม่ใช่ว่าคุณมีชาติตระกูล คนที่อยู่ในวรรณะศูทร วรรณะชั้นต่ำแต่ถ้าเขาเป้นคนดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เขาควรได้รับการยกย่อง  

 

 

อัครพงษ์ ค่ำคูณ:

สรุปง่ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญคือชีวิตของเรา รัฐธรรมนูญจะบอกว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้ เท่านั้นเอง

คำถามที่ 1 3 แนวทางที่ชี้ขาดยกร่างรัฐธรรมนูญ และ แนวทางที่ 1 คือตีตกวาระสาม ผมอยากให้ท่านวิทยากรช่วยวิเคราะห์กรณีที่ 2 ที่ว่าร่างแก้มาตรา 256 ไม่เป็นโมฆะชะลอโหวตวาระ 3 หรือ ร่างแก้มาตรา 256 ไม่เป็นโมฆะ เดินหน้าต่อไปโหวตผ่านวาระ 3 

คำถามที่ 2 ผมอยากให้วิทยากรทุกท่านช่วยออกความคิดเห็น ก็คือว่า ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับจารีตประเพณีอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเท่าที่ผมฟังมาตลอดมักจะพูดเสมอว่าเราจะละเอาไว้ มันค้านกับสิ่งที่ประชาชนหรือพลเมืองถูกให้ไม่พูดในสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาได้ ผมอยากถามว่ารัฐธรรมนูญในส่วนของสถาบันพระมหากษัตริย์ จะทำอย่างไรให้ยึดโยงกับประชาชนได้ครับ

พริษฐ์ วัชรสินธุ:

ผมว่า 2 คำถามมีความสัมพันธ์กัน ในทางที่ดีที่สุดก็คือการได้ไปต่อ ก็จะเห็นว่าจะมีอีก 3 ด่านที่ต้องมาฝ่าฟัน หลังจากส.ว. ก็ต้องมีประชามติ ทีนี้ก็ต้องมาลุ้นกันว่าประชามติจะเปิดกว้างและเป็นธรรมรึเปล่า

ด่านต่อไปเมื่อผ่านประชามติแล้ว จะมีการเลือกตั้งส.ส.ร. ที่ผมได้เกริ่นไปแล้วว่ามีความกังวล เพราะเป็นระบบเลือกตั้งแบบแบ่ง 200 เขต ซึ่งอาจจะเกิดสถานการณ์ที่คนกลุ่มหนึ่งที่อยากจะเรียกร้อง อย่างเช่น สิทธิของกลุ่มเพศหลากหลาย อยากเรียกร้องเรื่องสมรส อยากให้การสมรสเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญเลย

เขาอาจจะมีคนสนับสนุนหลายล้านคนทั่วประเทศ แต่ว่ามันจะกระจัดกระจายไปใน 200 เขตที่ก.ก.ต. คนนั้นแบ่งออกมา กลายเป็นว่าในแต่ละเขต เขาไม่สามารถรวบรวมเสียง จนมีตัวแทนของเขาชนะในเขตหนึ่งเขตใดได้ มันอาจจะถึงขั้นที่ว่ากลุ่มนี้อาจจะมีคะแนนเสียง 49% ของทุกๆ เขต แต่มีตัวแทนในส.ส.ร. 0.200 คนก็เป็นไปได้

ด่านสุดท้าย ถึงแม้จะผ่านการทำประชามติไปแล้ว ถึงแม้มีการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้มีตัวแทนที่หลากหลาย ปัญหาอย่างหนึ่งคือไปล็อก ว่าห้ามมีการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งผมเกรงว่ามันจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น

หมวด 1 หมวด 2 ถูกแก้มาตลอดตั้งแต่ 40 มาจนถึง 50 ถูกแก้ในหมวด 1 เกี่ยวกับหลักนิติธรรม จาก 50 มาจนถึง 60 ถูกแก้ 6 มาตราในหมวด 2 เกี่ยวกับพระราชอำนาจ และ ถูกแก้หลังจากที่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้วด้วย

เพราะฉะนั้น อันดับแรกต้องยืนยันว่ามีการถูกแก้มาตลอด และการแก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ถ้าต้องการความมั่นใจกว่านั้นในมาตรา 255 ก้เขียนไว้อยู่ว่าการแก้รัฐะรรมนูญ 60 ในปัจจุบันก็ทำได้ ตราบใดที่ไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐที่เป็นรัฐเดี่ยว

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรายังอยู่กับรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 เองยังอนุญาตให้แก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้ล็อกไว้ จริงๆ ถ้าประชาชนล่ารายชื่อครบ 50,000 รายชื่อ สามารถไปยื่นต่อรัฐสภาแก้หมวด 1 หมวด 2 ได้ เพียงแต่ว่าจะต้องมีการทำประชามติหลังจากนั้นเท่านั้นเอง ผมว่าเราต้องคลายความกังวลตรงนี้ก่อน การแก้หมวด 1 หมวด 2 ได้ ไม่ใช่เป็นการล้มล้างการปกครอง

และผมเห็นว่า เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ส.ส.ร. จะมีอำนาจพิจารณาการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 เราเห็นว่าผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย ตอนนี้ประเด็นหลักที่เขามีอารมณ์ร่วมมากที่สุด คือ เรื่องการปฏิรูปสภาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมที่ต้องการเห็นการปฏิรูป และ ฝ่ายที่คัดค้านการปฏิรูป ทีนี้ถ้าไม่ให้ส.ส.ร. ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ของความปลอดภัยที่รวบรวมคนทุกความฝันเข้ามาพูดคุยกัน มันกลายเป็นว่าทุกอย่างจะไม่จบลงตรงถูกแก้รัฐธรรมนูญ ถึงแม้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้ว ประเด็นการปฏิรูปสถาบันก็ยังคงมีการถกเถียงกันต่อบนพื้นภนน ไม่สร้างพื้นที่ปลอดภัยตรงนั้น

แล้วถ้าแก้ได้ จะแก้อะไร ?

ความจริงแนวทางการปฏิรูปสถาบัน จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและส่วนที่ไม่เกี่ยว มีบางส่วนเกี่ยวกับกฎหมายพระราชบัญญัติ มีบางส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายเลย แต่เกี่ยวกับวัฒนธรรมกษัตริย์

ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ผมกังวล 2 ประเด็น ประเด็นแรกขั้นพื้นฐาน เราอาจจะย้อน 6 มาตราที่ถูกแก้จากรัฐธรรมนูญ 50 มา 60 และนี่เป็น 6 มาตราที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนเลย ถูกแก้หลังจากลงประชามติ และผมคิดว่าข้อเสนอของผมในการ Reverse หรือ ย้อนหลัง 6 มาตราตรงนี้ ก็ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่จะล้มล้างการปกครอง เพราะว่า 6 มาตรานี้ ก่อนฉบับ 60 ก็อยู่ในฉบับ 40 และ 50

ถ้าลงรายละเอียดจะมีเกี่ยวกับ อำนาจในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่จะต้องบังคับให้แต่งตั้ง ถ้าพระองค์อยู่นอกราชอาณาจักร แต่พอมา 60 ถูกเขียนว่าจะแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งก็ได้

ส่วนประเด็นที่สอง คือ ผมกังวลเรื่องมาตรา 6 เพราะถูกเขียนไว้ว่า สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถถูกละเมิดหรือว่าฟ้องร้องได้ ผมจึงกลัวว่าตรงนี้จะถูกตีความเพื่อไปสกัดกั้นผู้ชุมนุมในเรื่องของการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคือยกเลิกมาตรา 112 เราต้องยอมรับว่าตรงนี้มีปัญหาอยู่ ทั้งในเรื่องของโทษที่หนัก 3-15 ปี หนักกว่าสากล คือเรื่องของการตีความที่ไม่ได้มีขอบเขตชัดเจน ระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์สุจริตกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และตรงนี้สามารถเปิดให้ใครไปฟ้องใครก็ได้ จึงเป็นการถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานคนเห็นต่าง

ถ้าเราเห็นว่ามีปัญหาตรงมาตรา 112 ตรงนี้อยู่ และมีการเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกมาตรานี้ และให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ผมก็เกรงว่าจะมีบางท่านหยิบมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ และตีความเพื่อสกัดกั้นการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ตรงนี้

วรรณภา ติระสังขะ:

ตอบคำถามที่ 1 คือ ทางเลือกที่สามเป็นทางเลือกที่ดี ท่านก็ทำประชามติ 2 ข้อ เป็นการประหยัดเงินและทำให้ประชาชนเข้าใจ ถ้าไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวังก็อย่าหมดหวังนะคะ

คำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดิฉันคิดว่า ถ้าย้อนกลับไป มันเป็นประเด็นในเชิงความคิด ประเด็นเรื่องใหญ่ ณ ห้วงเวลานี้ ก็คือว่า ระบอบการปกครองของไทยที่เราเรียกว่าเป็นระบอบการปกครองซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายถึงอะไรกันแน่ ในสังคมไทยเราพูดกันโดยที่มีภาพฝัน หรือว่าจินตนาการที่มันแต่กต่างกันออกไป สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือควรที่จะย้อนกลับไปว่าเราเห็น เราฝัน เราเชื่อ เราอยากเห็นเป็นอย่างไรร่วมกันมากกว่า

เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นร่วมกันว่า ระบอบแบบนี้เป็นระบอบที่จะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อย่างไร และเราเห็นว่าแต่ละสถาบันมางการเมืองควรมีบทบาทอย่างไร เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นเป็นฉันทามติร่วมกัน และข้อถกเถียงเหล่านี้จะเป็นทางออก เพื่อที่อย่างน้อยให้เรารู้ว่า  สิ่งที่เราฝันร่วมกันในสังคมไทยว่าระบอบอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบนี้คืออะไร เราถึงออกแบบรัฐธรรมนูญได้

แต่คุณต้องไม่ลืมว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญเป็นการออกแบบในเชิงนิตินัย คุณต้องไม่ลืมว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญเป็นเชิงพฤตินัยเต็มไปหมดเลย ต่อให้คุณเขียนตัวบทดีมากขนาดไหน แต่ในเชิงปฏิบัติเป็นไปอีกเรื่องหนึ่ง

ดังนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทุกคนต้องปรับตัวไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าคุณไม่ปรับตัวคุณอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะสถาบันใดก็ตาม ถ้าสถาบันการเมืองไม่ปรับตัว ไม่เปิดใจ หรือไม่รับฟังความคิดเห็นหรือไม่เห็นหัวของคนอื่นๆ ดังนั้นแล้วเขาก็จะอยู่ไม่ได้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์:

คำถามจากท่านแรกว่าถ้าเราตั้งส.ส.ร. ไม่ได้ เราเหลือโหวตเฉพาะแก้ไขมาตรา 256 ให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ได้ด้วยเสียง 3 ใน 5 จะเอามั้ยแล้วจะเดินหน้ามั้ย ผมคิดว่าถ้าเหลือแค่นี้ในวาระสาม ฝ่ายค้านคงลงมติคว่ำ คือ ฝ่ายค้านถ้าไม่ถึง 20% คงต้องคว่ำ เพราะว่าถ้าปล่อยให้ผ่านไป เราจะไปทำประชามติด้วยคำถามว่าจะเอา 3 ใน 5 มั้ย ทำประชามติทำไมให้เปลืองตังค์ 3,000 ล้าน เดินไปให้ประชาชนทุกคนเพื่อไปกาว่าจะเอาไหม

 

ที่มา: กิจกรรม PRIDI Talks #9 x CONLAB วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 เสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญ: เครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตย ?”  ช่วงตอบคำถาม

ถอดเทปและเรียบเรียงโดย: บรรณาธิการ