ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่

19
มีนาคม
2564

 

 

สมัยที่ท่านอาจารย์ปรีดีย้ายจากเมืองจีนไปฝรั่งเศสนั้น ท่านก็ได้รับการต้อนรับจากนักเรียนไทยหลายคนทีเดียว และนักเรียนไทยที่อยู่ในอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมันก็ตาม ต่างก็ได้ตั้งคำถามกับท่านว่า “ไทยเรามีโอกาส มีทางที่จะได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่ ?”

ใครๆ ก็อยากจะรู้ อยากจะถามท่าน เพราะเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีบทบาททางการเมืองอย่างมากมาย ท่านกรุณาตอบอย่างนี้ครับ “ณ ที่ใดที่ราษฎรดิ้นรน ทนไม่ได้ สังคมจะต้องเปลี่ยนแปลง”

การเปลี่ยนแปลงนั้น จะเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีหรือไม่นั้น ก็คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ท่านให้เราศึกษาประวัติศาสตร์ โดยศึกษาประวัติศาสตร์จากเอกสารที่แท้จริง ไม่ใช่นำมาจากเรื่องเล่าลือ

 

 

สมัยก่อนก่อนที่ระบอบของเราเป็นศักดินานั้นเคยเป็นระบอบประชาธิปไตยมาก่อนแล้ว และค่อยๆ เปลี่ยนไปจากระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นระบอบทาส จากระบอบทาสมากลายเป็นระบอบศักดินา และจากระบอบศักดินามาเป็นระบอบทุนนิยมแบบเสรี

ท่านอาจารย์ปรีดี มีความคิดเห็นว่า ไทยเรามีลักษณะพิเศษ ตรงทั้งมีระบบทาสและระบบศักดินาซึ่งทับซ้อนกันอยู่ในช่วงหนึ่ง 

 

 

นี่คือพีระมิด บางครั้งเราอาจจะไม่รู้คำตอบ หรือเราไม่จำเป็นที่ต้องตอบโดยตรง แต่ขอถามว่า ใครเป็นผู้สร้างพีระมิด ? 

พีระมิดนี้ตั้งอยู่ที่เมืองกิซาห่างจากกรุงไคโรไม่เท่าไรนัก พีระมิดนี้ประกอบไปด้วยก้อนหินใหญ่ๆ 2 ล้านกว่าก้อน ก้อนแต่ละก้อนมีขนาดประมาณ 2 ตัน โดยก้อนใหญ่จะอยู่ด้านบนและด้านใน ซึ่งมีน้ำหนักประมาณก้อนละ 15 ตัน

อยากจะทราบว่าท่านฟาโรห์หรือว่าแรงงานจำนวนหมื่นคนแสนคนที่ได้สร้างพีระมิดเป็นผู้สร้าง

 

 

และในภาพนี้ เป็นพีระมิดทางสังคมในสมัยยุคกลาง หรือ ยุคมืด เกิดขึ้นในสมัยปี 500-1500 เราจะเห็นว่าสังคมแบ่งออกเป็นชนชั้นต่างๆ ในกรณีของฝรั่งเศสนั้น จะมีชนชั้นพระคริสต์ ขุนนาง และ ชั้นล่าง คือ ฐานันดรที่ 3

 

 

อาจารย์ปรีดี ท่านเป็นคนที่รักสันติ และตอนที่ท่านได้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ท่านเรียกว่าอภิวัฒน์นั้น (ปฏิวัติ แปลว่า วกกลับ, อภิวัฒน์ แปลว่า ยิ่งใหญ่) ซึ่งก้าวหน้า ในเวลาที่ยึดอำนาจ นักรัฐประหารมักจะกุมอำนาจและเอาอำนาจจากประชาชนไป แต่คณะราษฎรนั้น เมื่อยึดอำนาจแล้วได้คืนอำนาจให้กับประชาชน

ท่านมองไปที่ประเทศอังกฤษ เพราะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ดำเนินไปด้วยสันติวิธี เริ่มต้นตั้งแต่ Magna Carta ปี ค.ศ. 1215 และประเพณีที่จะจำกัดอำนาจของ Queen ในสมัยนั้นก็ค่อยๆ ด้อยพัฒนาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1688 ถึงได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยหลังจาก Glorious Revolution แล้ว รัฐสภาจึงเป็นฝ่ายที่มีอำนาจเหนือ Queen ในสมัยนั้น 

 

 

ในสมัยนั้นศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องมากทีเดียวเกี่ยวกับวิวัฒนาการ และ ความคิด แนวความคิดของอังกฤษได้ถูกถ่ายทอดไปยัง “อเมริกา” ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เป็น “สหรัฐ” ผู้ตั้งถิ่นฐานในสมัยนั้นมีการเรียกร้องสิทธิจากเมืองแม่โดยไม่ยอมจ่ายภาษีถ้าไม่มีผู้แทน No Taxation Without Representation

 

 

วันนี้ผมจะพูดถึงการอภิวัฒน์ในฝรั่งเศส เหตุเพราะว่าเราจำเป็นที่จะต้องศึกษาว่าเราสามารถเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ได้บ้าง

ผมขอย้อนถึงปีค.ศ. 1788 ปีนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้รับรายงานจาก เนกเกร์ (Necker) เสนาบดีฝ่ายคลังว่าเงินในคลังเกลี้ยงแล้ว เพราะเหตุว่าใช้อย่างฟุ่มเฟือย ส่วนหนึ่งใช้สร้างพระราชวังแวร์ซายน์ อีกส่วนใช้จ่ายในสงครามที่ฝรั่งเศสรบกับอังกฤษที่อเมริกาและในที่สุดฝ่ายอังกฤษแพ้ อเมริกาจึงได้เอกราชมาซึ่งรวมระยะเวลาการสู้รบถึง 9 ปี 

 

 

ในประเทศฝรั่งเศสนั้นมี 3 ชนชั้นด้วยกัน ฐานันดรที่ 1 คือ พระ  ฐานันดรที่ 2 คือ ขุนนาง  ฐานันดรที่ 3 คือ คนธรรมดาทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวนาซึ่ง ณ วันนั้นมีประมาณ 24 ล้านคน ส่วนพระและขุนนางมีน้อยมากโดยประมาณ 500,000 คน ส่วนผู้ที่จ่ายภาษีคือ ฐานันดรที่ 3

ปรากฏว่าได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 ที่แวร์ซายน์ บรรยากาศการประชุมไม่สู้ดีนัก ในการประชุมครั้งถัดไปมีการเปลี่ยนการจัดประชุมเป็นโรงยิมละแวกนั้น ณ ที่แห่งนี้เหล่าฐานันดรที่ 3 ได้ปฏิญาณตนถึงสิ่งที่ตั้งใจมุ่งหวังคือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ สุดท้ายแล้วในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 จึงได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ

 

 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ทันสมัยมาก ไม่พูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว แต่พูดถึงสิทธิเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากลาฟาแยต เราสามารถที่จะเห็นได้ในอนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติซึ่งไทยเราเป็นภาคี

หลังจากเหตุการณ์นี้ ประชาชนยังคงเรียกร้องและประเทศต่างๆ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของฝรั่งเศสมีความหวาดกลัว และนักปฏิวัติในช่วงนั้นเริ่มต้นปกครองด้วยวิธีที่น่ากลัวโดยใช้กิโยตินในการตัดคอ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย ซึ่งก่อนหน้านี้พวกหัวรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักหนังสือพิมพ์หนุ่มที่ชื่อว่า กามีย์ เดส์มูแลงส์  ได้ปลุกระดมให้ชาวปารีสได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาล  และการที่ชาวปารีสไปโจมตีคุกบาสคีย์ (Bastille)  ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789  เป็นสัญลักษณ์ว่าสามัญชนได้รวมกันเป็นหมู่เป็นคณะทำลายอำนาจของพระมหากษัตริย์เพื่อที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพ  จึงถือว่าวันที่ 14 กรกฎาคมเป็นวันสำคัญที่สุด  โดยถือเป็นวันชาติฝรั่งเศสมาจนถึงปัจจุบัน 

 

 

ในที่สุดการปฏิวัติฝรั่งเศสลงเอยด้วยการมีพระเอกคนหนึ่งที่ชื่อนโปเลียนขึ้นมายึดอำนาจ และได้สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ

บทเรียนที่ได้มาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น คือเมื่อมีการล้มระบอบการปกครองแบบเก่านั่นไม่ได้หมายความว่าจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง และสามารถรื้อฟื้นขึ้นมาอีกได้ เมื่อครั้งที่นโปเลียนขึ้นมาเป็นจักรพรรดินั้นได้สร้างความเจริญก้าวหน้ามากมายให้ประเทศฝรั่งเศส และยังมีอิทธิพลต่อประเทศไทย คือ ประมวลกฎหมายนโปเลียน

 

 

ประมวลกฎหมายของนโปเลียน ได้มีการกล่าวถึงสิทธิต่างๆ ของมนุษย์ สิทธิในสถานะที่เป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แนวความคิดของความเสมอภาคนี้ได้มีอิทธิพลส่งต่อไปถึงประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น และส่งต่อมายังประมวลกฎหมายแพ่งของเมืองไทยในที่สุด  

 

ที่มา: กิจกรรม PRIDI Talks #9 x CONLAB วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 เสวนาหัวข้อ “จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่” โดย วรวิทย์ กนิษฐะเสน

ถอดเทปและเรียบเรียงโดย: บรรณาธิการ