ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร: เราทุกคนควรได้รับการประกันจากรัฐบาล

21
เมษายน
2564

หมวดที่ ๑
ประกาศของคณะราษฎร

หลักข้อ ๓. ของคณะราษฎร

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ประกาศต่อประชาชนถึงวัตถุประสงค์ คือหลัก ๖ ประการ หลักซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศมีความว่า

“จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

รัฐบาลทำได้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย

ความข้อนี้ย่อมฝังอยู่ในใจประชาชนถ้วนหน้า และ จะจารึกลงในประวัติของการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ายังคงยืนยันความข้อนี้อยู่เสมอ และ เห็นว่าถ้ารัฐบาลได้จัดวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติให้เหมาะสมแล้ว การหางานให้ราษฎรทุกคนทำ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดยากนั้น ย่อมเป็นทางที่รัฐบาลจะทำได้ หาใช่เป็นการสุดวิสัยไม่

การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ เป็นจุดประสงค์อันใหญ่ยิ่งของข้าพเจ้า ในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญ คือ “บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” และ ถือว่ารัฐธรรมนูญเปรียบประดุจกุญแจที่จะไขประตูเปิดช่องทางให้ราษฎร ได้มีส่วน มีเสียงในการปกครอง ให้จัดถูกต้องตามความต้องการของตน และเมื่อประตูที่กีดกั้นอยู่ได้เปิดออกแล้ว รัฐบาลก็จะต้องนำราษฎรผ่านประตูนั้น เข้าไปสู่ชัยภูมิแห่งความสมบูรณ์ มิใช่นำให้ราษฎรเดินถอยหลังเข้าคลอง ด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งรับหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร ที่จะต้องจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรนั้น

หมวดที่ ๒
ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ความแร้นแค้นของราษฎร

ผู้ที่มีจิตเป็นมนุษย์ประกอบด้วยเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว เมื่อเห็นสภาพชาวนาในชนบทก็ดี เห็นคนยากจนอนาถาในพระนครก็ดี ก็จะปรากฏความสมเพชเวทนาขึ้นในทันใด ท่านคงจะเห็นว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ อันเป็นปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตของบุคคลเหล่านี้แร้นแค้นปานใด แม้วันนี้มีอาหารรับประทาน พรุ่งนี้ และ วันต่อไปจะยังคงมีหรือขาดแคลนก็ยังทราบไม่ได้ อนาคตย่อมไม่แน่วแน่ เมื่อท่านปลงสังขารต่อไปว่าชีวิตของเรานี้ย่อมชรา ย่อมเจ็บป่วย ก็แหละเมื่อบุคคลเข้าอยู่ในสภาพเช่นนี้ จะยังคงมีอาหารรับประทานอีกหรือ เพราะแม้แต่กำลังวังชาจะแข็งแรงก็ยังขาดแคลนอยู่แล้ว

คนมั่งมี, คนชั้นกลาง, คนยากจน ก็อาจแร้นแค้น

ความไม่เที่ยงแท้แห่งการดำรงชีวิตนี้ มิใช่จะมีแต่ในหมู่ราษฎรที่ยากจนเท่านั้น คนชั้นกลางก็ดี คนมั่งมีก็ดี ย่อมจะต้องประสบความไม่เที่ยงแท้ด้วยกันทุกรูปทุกนาม ขอให้คิดว่าเงินทองที่ท่านหามาได้ในเวลานี้ ท่านคงจะเก็บเงินนั้นไว้ได้ จนกว่าชีวิตของท่านจะหาไม่ และ อยู่ตลอดสืบไปถึงบุตรหลานเหลนของท่านได้หรือ ตัวอย่างมีอยู่มากหลายที่ท่านคงพบ คงเห็น ว่าคนมั่งมีในสมัยหนึ่งต้องกลับเป็นคนยากจนในอีกสมัยหนึ่ง หรือมรดกที่ตกทอดไปถึงบุตรต้องละลายหายสูญ ไม่คงอยู่ตลอดชีวิตบุตร บุตรของผู้มั่งมีกลับตกเป็นคนยากจน

เช่นนี้ท่านก็จะได้เห็นแล้วว่า เงินนั้นไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ อันจะเป็นประกันการดำรงชีวิตของท่านได้ ท่านจะรู้แน่หรือว่า สังขารของท่านจะยังคงแข็งแรงทำงานได้ตลอดชีวิต ถ้าท่านป่วยหรือพิการอย่างใดขึ้น ท่านทำงานไม่ได้ท่านต้องใช้เงินของท่านที่มีอยู่แล้ว เงินนั้นย่อมสูญสิ้นหมดไปเช่นนี้แล้วท่านจะได้อาหารที่ไหนรับประทาน เพราะท่านป่วยหรือพิการทำงานไม่ได้ ท่านลองนึกว่าถ้าท่านตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นท่านจะรู้สึกอย่างไร

หมวดที่ ๓
การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

ราษฎรทุกคนควรได้รับประกันจากรัฐบาล

ความไม่เที่ยงแท้ในการเศรษฐกิจเป็นอยู่เช่นนี้ จึงมีนักปราชญ์คิดแก้โดยวิธี ให้รัฐบาลประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Social Assurance) กล่าวคือราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ

ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตเมื่อรัฐบาลประกันได้เช่นนี้แล้ว ราษฎรทุกคนจะนอนตาหลับ เพราะตนไม่ต้องกังวลว่า เมื่อเจ็บป่วยหรือ พิการ หรือชรา แล้วจะต้องอดอยาก หรือเมื่อตนมีบุตรจะต้องเป็นห่วงใยในบุตร เมื่อตนได้สิ้นชีพไปแล้วว่าบุตรจะอดอยากหรือหาไม่ เพราะรัฐบาลเป็นผู้ประกันอยู่แล้ว การประกันนี้ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าการสะสมเงินทอง เพราะเงินทองนั้นเองก็ย่อมเป็นของไม่เที่ยงแท้ ดั่งได้พรรณนามาแล้ว

บริษัทเอกชนทำไม่ได้

การประกันเช่นนี้ เป็นการเหลือวิสัยที่บริษัทเอกชนจะพึงทำได้ หรือถ้าทำได้ราษฎรก็จะต้องเสียเบี้ยประกันภัยแพงจึงจะคุ้ม ราษฎรจะเอาเงินที่ไหนมาเป็นการประกัน เช่นนี้จะทำได้ก็แต่โดย “รัฐบาล” เท่านั้น เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บเบี้ยประกันภัยจากราษฎรโดยตรง รัฐบาลอาจจัดหาสิ่งอื่นแทนเบี้ยประกันภัยได้ เช่น จัดให้แรงงานของราษฎรได้ใช้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น การเก็บภาษีอากรโดยทางอ้อมเป็นจำนวนหนึ่งคนหนึ่งวันละเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งราษฎรไม่รู้สึก ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ราษฎร

ความคิดที่จะให้รัฐบาลได้มีประกันเช่นนี้แก่ราษฎรในต่างประเทศ นับวันแต่จะ เจริญขึ้นเป็นลำดับ ในการที่จะจัดให้รัฐบาลได้มีประกันแก่ราษฎรเช่นนี้ ก็ต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ซึ่งบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ราษฎรทุกคน เป็นจำนวนพอกับที่ราษฎรจะนำเงินนั้นไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนต้องการในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ได้ตามสภาพ (ดูร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อไปข้างท้าย)

ราษฎรไทยชอบเป็นข้าราชการ

การจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎรทั่วหน้านี้ เห็นว่าถูกต้องต่อนิสัยของราษฎรไทยโดยแท้ เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าทุก  คนชอบทำราชการ ชอบมีเงินเดือน แต่กระนั้นก็ยังมีข้าราชการบางคนเที่ยวป่าวประกาศ และ ป้องกันกีดขวางไม่อยากให้ราษฎรได้ทำราชการบ้าง ทั้งๆ ผู้นั้นเองก็เป็นข้าราชการมีเงินเดือนก็เมื่อรัฐบาลต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎรเช่นนี้ รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย

เงินเป็นสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยน

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ ขอเตือนให้ระลึกเสียก่อนว่า เงินเป็นสิ่งที่รับประทานไม่ได้ เงินย่อมเป็นสิ่งที่จะใช้แลกเปลี่ยนกับปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ

การจ่ายเงินเท่ากับการจ่ายอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ขอให้ระลึกว่าเงินที่ท่านหาได้ ท่านนำเอาเงินนั้นไปทำไม ท่านก็นำเอาไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต เหตุฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบเงินว่าเป็นคะแนนชนิดหนึ่งก็ไม่ผิด การจ่ายเงินเดือนก็เท่ากับการจ่ายคะแนนให้ราษฎรที่จะจับจ่ายแลกเปลี่ยนกับ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตตามความต้องการของราษฎร

ผลที่สุดราษฎรจะพึงได้รับ ก็คือปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต เช่น อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, สถานที่อยู่ ฯ

รัฐบาลไม่ต้องริบทรัพย์ของผู้มั่งมี

ฉะนั้น ในการจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎรนั้น รัฐบาลไม่ต้องริบทรัพย์ของผู้มั่งมีมาจ่าย รัฐบาลอาจจัดให้มีปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต โดยจัดให้มีสหกรณ์ให้พร้อมบริบูรณ์เพื่อรับแลกกับเงินเดือน ซึ่งรัฐบาลจ่ายให้แก่ราษฎรเป็นการหักกลบลบหนี้กันไป

การหักกลบลบหนี้

เช่น ราษฎรคนหนึ่งได้เงินเดือน ๒๐ บาท และ ราษฎรต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ เป็นจำนวน ๒๐ บาท ดังนี้แล้ว เงินที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ราษฎรไป ก็กลับมาตกเป็นของรัฐบาลอีก เงินที่คงตกแก่ราษฎรก็ต่อเมื่อราษฎรต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ เป็นจำนวนราคาน้อยกว่าจำนวนเงินที่ตนได้รับเงินที่ตกอยู่ในมือของราษฎรนี้เท่านั้น

ที่รัฐบาลจะต้องจัดหาทุนสำรองตามประเพณีนิยมของโลก เช่น ทองคำหรือเนื้อเงินหรือถ้าจะไม่ต้องออกธนบัตรให้มาก ซึ่งต้องการทุนสำรองมาก รัฐบาลอาจจัดให้มีธนาคารแห่งชาติอันเป็นที่เชื่อถือได้ซึ่งราษฎรจะได้นำเงินมาฝาก และ การจับจ่ายก็ใช้เช็คและวิธีหักกลบลบหนี้ (Clearing) ดังนี้ธนบัตรที่จะออกใช้หมุนเวียนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีจำนวนมากมาย

รัฐบาลเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจเอง

ฉะนั้น การที่จะให้รัฐบาลเป็นผู้ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎรแล้ว ก็จำเป็นอยู่เองที่รัฐบาลจะต้องจัดให้มีสหกรณ์เป็นผู้ทำสิ่งซึ่งเป็นปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต และ เป็นผู้จำหน่ายสิ่งเหล่านี้เสียเอง ถ้ารัฐบาลไม่จัดให้มีสหกรณ์เป็นผู้จัดทำ และ จำหน่ายปัจจัยเหล่านี้เสียเอง หรือเป็นผู้ควบคุมแล้ว รัฐบาลจะประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรได้อย่างไร รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเป็นเดือนให้แก่ราษฎร

การประกอบเศรษฐกิจใดๆ ย่อมต้องอาศัย

๑. ที่ดิน ซึ่งรวมถึงทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ดินและซึ่งอยู่บนพื้นดินและใต้ดิน
๒. แรงงาน
๓. เงินทุน

ราษฎรไม่มีที่ดินและเงินทุนพอ

ราษฎรในเวลานี้ต่างคนมีที่ดิน และ เงินทุนเพียงพออยู่แล้ว หรือเราจะเห็นได้ว่า ๙๙% ของราษฎรหามีที่ดินและเงินทุนเพียงพอที่จะประกอบการเศรษฐกิจแต่ลำพังให้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ราษฎรต่างก็มีแรงงานประจำตนของตนแรงงานนี้ตนจะเอาไปทำอะไร เมื่อตนไม่มีที่ดินและเงินทุนเพียงพอ

ที่ดิน, แรงงาน, เงินทุนของประเทศ

แต่ถ้าจะพิจารณาถึงที่ดิน แรงงาน เงินทุนของราษฎรรวมกันแล้วจะเห็นได้ว่า ในประเทศสยามมีที่ดินถึง ๕ แสนตารางกิโลเมตรเศษ (คิดเป็นไร่ได้กว่า ๓๒๐ ล้านไร่) บนพื้นดินอุดมไปด้วยต้นไม้ และ พืชผักที่จะปลูกปักในใต้ดินนั้น อุดมไปด้วยแร่โลหะธาตุทั้งหลาย มีพลเมืองถึง ๑๑ ล้านคนเศษ ส่วนเงินทุนนั้นเล่า แม้เราจะยังไม่มีมากมาย แต่ประเทศสยามไม่ใช่ป่าเถื่อนเสียทีเดียวทรัพย์สินและชื่อเสียงของประเทศที่ได้มีอยู่ก็อาจเป็นทางที่หาเงินมาได้บ้างโดยนโยบายการคลัง อันไม่ทำเป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎร

 

ที่มา: เค้าโครงการเศรษฐกิจ โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หมวดที่ 1 ประกาศของคณะราษฎร, หมวดที่ 2 ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน, หมวดที่ 3 การประกันสุขสมบูรณ์ของราษฎร

อ่าน : 'สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจ' ฉบับเต็ม

หมายเหตุ : ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ