ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร: ว่าด้วยเรื่องการจัดการเศรษฐกิจโดยรัฐบาล

22
เมษายน
2564

หมวดที่ ๕
วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน

หลักสำคัญที่ควรคำนึงก็คือ รัฐบาลจำต้องดำเนินวิธีละม่อม คือ ต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างคนมีกับคนจน รัฐบาลต้องไม่ประหัตประหารคนมี

บทที่ ๑
การจัดหาที่ดิน

เจ้าของที่ดินเวลานี้ไม่ได้รับผลจากที่ดินเพียงพอ

เวลานี้ ที่ดินซึ่งทำการเพาะปลูกได้ตกอยู่ในมือของเอกชน นอกนั้นเป็นที่ป่าที่จะต้องก่อสร้าง ที่ดินซึ่งอยู่ในมือเอกชนในเวลานี้ ผลจากที่ดินนั้นย่อมได้แทบไม่คุ้มค่าใช้จ่ายและค่าอากร หรือ ดอกเบี้ย เพราะชาวนาเวลานี้ แทบกล่าวได้ว่า ๙๙% เป็นลูกหนี้เอาที่ดินไปจำนองหรือเป็นประกันต่อเจ้าหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้เองก็เก็บดอกเบี้ยหรือต้นทุนไม่ได้ หรือ ผู้ที่มีนาให้เช่า เช่น นาในทุ่งรังสิต เป็นต้น เจ้าของนาแทนที่จะเก็บค่าเช่าได้ กลับจำต้องออกเงินเสียค่านา เป็นการขาดทุนย่อยยับกันไปไม่ว่าคนมีหรือคนจน

เจ้าของนาเป็นส่วนมากประสงค์ขายนา แม้จะต้องขาดทุนบ้าง หรือฝ่ายเจ้าหนี้ให้ชาวนายืมเงินก็อยากได้เงินของตนคืน การบังคับจำนองหรือนำเอาที่ดินออกขายทอดตลาดนั้น เวลานี้ราคาที่ดินก็ตกต่ำ ทั้งนี้เป็นผลที่การประกอบเศรษฐกิจ รัฐบาลปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ

ซื้อที่ดินคืน

เมื่อการเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้ารัฐบาลจะซื้อที่ดินเหล่านั้นกลับคืนมา ก็เชื่อว่าชาวนาเจ้าของที่ดินผู้รับจำนองทั้งหลายคงจะยินดีมิใช่น้อย เพราะการที่ตนยังคงมีกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดิน หรือ ยังคงยึดที่ดินไว้เป็นประกัน มีแต่จะขาดทุนอย่างเดียว การซื้อที่ดินกลับคืนมานี้เป็นวิธีต่างกับวิธีริบทรัพย์ของคอมมิวนิสต์

รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อที่ดินคืน
จ่ายราคาโดยใบกู้

ในเวลานี้รัฐบาลไม่มีเงินจะซื้อที่ดินได้เพียงพอ แต่รัฐบาลอาจออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินถือไว้ตามราคาที่ดินของตน ใบกู้นั้น รัฐบาลจะได้กำหนดดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินในขณะที่ซื้อ ซึ่งไม่เกินร้อยละ ๑๕ เป็นอัตราสูงสุดในกฎหมาย เช่น ที่ดินราคาพันบาท เจ้าของที่ดินก็ถือใบกู้เป็นราคาพันบาท และ สมมติว่าดอกเบี้ยในขณะนั้นร้อยละ ๗ เจ้าของที่ดินก็ได้ดอกเบี้ยปีละ ๗๐ บาท เป็นต้น

ดังนี้เป็นการได้ที่แน่นอนยิ่งกว่าการให้เช่า หรือ การทำเอง ทั้งนี้ก็เท่ากับเจ้าของที่ดินแทนที่จะถือโฉนด หรือ หนังสือสำคัญสำหรับที่ดินบอกจำนวนที่ดิน เจ้าของที่ดินถือใบกู้ของรัฐบาลบอกจำนวนเงินที่รัฐบาลเป็นลูกหนี้

ที่ดินชนิดใดบ้างที่รัฐบาลต้องซื้อกลับคืน
ที่ดินที่ไม่จำเป็นต้องซื้อ

ที่ดินที่รัฐบาลต้องซื้อกลับคืนนี้ ก็คือที่ดินจะใช้ประกอบการเศรษฐกิจ เช่น ที่นาหรือไร่ เป็นต้น ส่วนที่บ้านอยู่อาศัยนั้นไม่จำเป็นที่รัฐบาลต้องซื้อคืน เว้นไว้แต่เจ้าของประสงค์ขายแลกกับใบกู้ การจัดให้มีบ้านสำหรับครอบครัว (Homestead) ซึ่งเมื่อคิดเทียบกับเนื้อที่ทั้งหมดในประเทศแล้ว ไม่มีจำนวนมากมายที่จะเป็นการขัดขวางต่อการดำเนินเศรษฐกิจ เหตุฉะนั้นจะยังคงให้มีอยู่ได้ก็ไม่เป็นการแปลกประหลาดอันใด

เมื่อที่ดินได้กลับมาเป็นของรัฐบาลเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจะได้กำหนดลงไปได้ถนัดว่าการประกอบเศรษฐกิจในที่ดินนั้น จะแบ่งออกเป็นส่วนอย่างไร และจะต้องใช้เครื่องจักรกลชนิดใดเป็นจำนวนเท่าใด การทดน้ำจะต้องขุดหรือทำคันนาอย่างไร ในเวลานี้ที่ดินที่แยกย้ายอยู่ในระหว่างเจ้าของต่างๆ นั้น ต่างเจ้าของก็ทำคูคันนาของตน แต่เมื่อที่ดินตกเป็นของรัฐบาลดั่งนี้แล้ว ถ้าที่ที่มีระดับเดียวกันก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก เช่น การทำคูคันนาอาจจะทำน้อยลงก็ได้

นอกจากนั้นการใช้เครื่องจักรกล เช่น การไถก็จะได้ดำเนินติดต่อกัน มิฉะนั้นจะต้องไถที่นี่แห่งหนึ่ง ที่โน่นแห่งหนึ่ง เป็นการชักช้าเสียเวลา และการบำรุงที่ดินโดยวิชาเทคนิคย่อมจะทำได้สะดวก เราจะเห็นได้ว่าในเวลานี้ราษฎรยังหลงเชื่อในวิธีโบราณ แม้ผู้ชำนาญการกสิกรรมจะพร่ำสอนก็ต้องกินเวลาอีกนาน เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเอง รัฐบาลอาจกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ ราษฎรซึ่งเป็นลูกจ้างของรัฐบาลก็ต้องประพฤติตาม

ความรักในที่ดิน

ในตำราเศรษฐวิทยา ซึ่งผู้แต่งนิยมในลัทธิที่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ และพวกรัฐบาลที่กลัวว่ารัฐบาลจะถูกโค่นโดยการที่ราษฎรร่วมกันทำงานมากๆ แล้วเกรงจะเป็นภัยต่อรัฐบาลนั้น มักจะเสี้ยมสอนว่าการที่รัฐบาลจะมีที่ดินเสียเองแล้ว จะทำให้ราษฎรไม่มีการรู้สึกรักในที่ดิน เหมือนกับที่ราษฎรได้เป็นเจ้าของที่ดินนั้นเอง การบำรุงจะไม่เกิดผล

คำกล่าวเช่นนี้ เปรียบเหมือนผู้กล่าวหลับตาพูด การที่เพาะราษฎรให้รักที่ดินอันเป็นส่วนของตัวนั้น พูดตามหลักปรัชญาแล้ว ก็เนื่องมาจากความคิดที่รักตัว (Egoism) กล่าวคือ ให้รักตนของตน ให้รักทรัพย์สินของตน ดังนี้ย่อมเป็นการตรงกันข้ามกับการที่เพาะให้รักชาติ รักผู้อื่นที่เป็นมนุษย์ร่วมชาติ (Altruism)

รักตัวหรือรักชาติ

มีผู้พูดถึงการรักชาติเสมอ ก็การที่เพาะให้รักตัวให้รักทรัพย์สินของตัวนี้ มิเป็นการตรงกันข้ามกับการที่ว่ารักชาติ หรือ ข้าพเจ้าสงสัยนักว่าผู้ที่อ้างว่ารักชาติแต่เที่ยวสั่งสอนให้รักตัวเองด้วยเช่นนี้ จะรักชาติจริงแต่ปาก และ น้ำใจจะรักชาติจริงหรือไม่

อนึ่งได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เพื่อจะไม่ตัดขาดความรู้สึกในครอบครัวของราษฎร รัฐบาลก็ยอมให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่อยู่ได้อยู่แล้ว ก็ควรจะมีความรักในที่ดินอันเป็นของตนเพียงพออยู่แล้ว เวลานี้ขอให้สังเกตเช่นในกรุงเทพฯ มีผู้ที่เช่าที่ดิน หรือ เช่าบ้านเขาอยู่ หรือ เช่าห้องแถวเขาอยู่เป็นจำนวนมากมายก่ายกอง พวกนั้นมีที่ดินที่ไหน ที่เขาจะรัก และถ้าถือหลักว่าคนต้องมีที่ดินจึงจะรักชาติแล้ว ก็คนที่เช่าบ้านเขาอยู่นั้นมิเป็นผู้ที่ไม่รักชาติหรือ?

ข้าพเจ้ามิเชื่อเลยว่า ผู้ที่เช่าบ้านเขาอยู่นั้นจะเป็นผู้ที่ไม่รักชาติไปทั้งหมด ความจริงผู้ที่มีที่ดินอยู่มากนั่นแหละ บางคนที่จะตกลงในแผนเศรษฐกิจใดๆ ก็นึกพะวงแต่ที่ดินของตน ขอให้ผู้อ่านสังเกตและเปรียบเทียบให้ดีและมองดูรอบๆ ข้างของท่านและสังเกตดูบุคคลเหล่านั้นว่า คนที่มีที่ดินรักชาติยิ่งกว่าคนที่ไม่มีที่ดินหรือ?

อย่างดีที่สุดข้าพเจ้าก็จะตัดสินให้ว่ามีความรักชาติเท่ากัน เหตุฉะนั้นการที่มีดินและไม่มีที่ดิน ไม่ใช่เป็นเหตุที่ให้เกิดความรักชาติ ยิ่งหย่อนอย่างที่คิดเลย

ส่วนข้อที่ว่าผู้ที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของที่ดิน จะไม่ตั้งใจบำรุงที่ดินนั้น เห็นว่าการเป็นไปไม่ได้ ก็เมื่อที่ดินรัฐบาลกลับซื้อเอามาเป็นของกลางก็เท่ากับว่า ราษฎรทั้งหมดเป็นเจ้าของที่ดินนั้นเหมือนบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นมากๆ และเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เช่นนี้

บริษัทนั้นจะมิบำรุงที่ดินของเขาดอกหรือ? เรากลับจะเห็นเป็นการตรงกันข้าม ที่บริษัทที่มีที่ดินกลับจะบำรุงที่ดินของเขาดีกว่าเอกชนมีที่ดินเสียอีก เวลานี้เรามีผู้ชำนาญการกสิกรรมเป็นข้าราชการคอยดูแลแนะนำในการบำรุงที่ดิน ต่อไปเมื่อที่ดินเป็นของรัฐบาลเราก็คงมีข้าราชการที่เป็นผู้ชำนาญในการกสิกรรมที่จะตรวจตราบำรุงที่ดินด้วยอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญ ความสามารถ เหมือนดั่งที่ข้าราชการกสิกรรมในเวลานี้ ถ้าหากจะกล่าวว่าที่ดินจะไม่ได้รับการบำรุงขึ้นนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการพูดอย่างดูหมิ่นข้าราชการผู้ชำนาญ การกสิกรรมโดยมิบังควร

ข้าพเจ้าเห็นเป็นการตรงข้ามที่ที่ดินจะได้รับความบำรุงดียิ่งขึ้น เช่น ในการทดน้ำ ในการปรับปรุงพื้นที่ดินและในการเพาะปลูก ที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ หรือ ปุ๋ยเหล่านี้ ผู้ชำนาญการกสิกรรมจะได้ใช้วิชาความรู้ความสามารถของเขาเต็มที่ไม่เหมือนกับปัจจุบันนี้ แม้ผู้ชำนาญจะพร่ำสอนสักเท่าใดๆ ราษฎรก็ไม่ใคร่จะเชื่อเพราะนิยมอยู่แต่ในแบบโบราณไม่เบิกหูเบิกตา

ราษฎรที่ปราศจากที่ดินในการทำกสิกรรมก็ยังคงเป็นข้าราชการซึ่งอาจสมัครทำการกสิกรรมตามเดิม หรือถ้างานทางกสิกรรมมีไม่พอก็สมัครทำงานอื่นได้ คงมีอาหารกิน มีเครื่องนุ่งห่ม มีสถานที่อยู่ ฯลฯ ไม่เดือดร้อนอันใดยิ่งไปกว่าที่ประกอบการกสิกรรม แต่กลับจะได้รับความสุขสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยที่รัฐบาลเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง

ขอให้เปรียบเทียบกับข้าราชการในปัจจุบันนี้ เป็นส่วนมากว่าตระกูลของพวกนี้ เดิมๆ ทีเดียวก็ทำกสิกรรมเป็นส่วนใหญ่ และผู้นั้นต้องละที่นาของตระกูลเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมืองเช่นนี้ ข้าราชการผู้นั้นทำไมจึงละที่ดินเช่นนั้น และข้าราชการเหล่านี้จะมิรักชาติน้อยกว่าชาวนาที่มีที่ดิน หรือ ถ้าหากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรละที่นาของเขามา ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าจะเป็นไปตามคำกล่าวหานั้นไม่ได้

ระวังคำล่อลวงของบุคคลบางจำพวก

เท่าที่ได้พิจารณาคำกล่าวหาของบุคคลบางจำพวกที่ต้องการให้เอกชนมีที่นาอยู่นั้น มูลเหตุแห่งคำกล่าวนี้เนื่องมาจากผู้ที่ถือลัทธิที่นิยมให้เอกชนต่างคนต่างทำ และเสกแสร้งเหตุผลสนับสนุนซึ่งล่อใจเอกชนให้มีทรัพย์สินคล้ายเป็นการให้สินบนโดยทางอ้อมๆ และพวกรัฐบาลที่ขวัญหนีดีฝ่อในการที่ราษฎรจะละที่นามาสมัครทำงานในการอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งราษฎรต้องอยู่รวมกันเป็นส่วนมากๆ และเกรงว่าถ้าราษฎรอยู่รวมกันเป็นส่วนมากๆ เช่นนี้ จะเห็นการมิดีมิร้ายของตน หรือ ตนอ่อนแอ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจได้ และเกรงว่าตนจะหลุดพ้นจากตำแหน่งซึ่งเป็นการหน่วงความเจริญโดยแท้ และพวกนี้เที่ยวป่าวร้องให้คนนิยมในเหตุผลของตน ซึ่งคนที่ไม่ตริตรองก็หลงเชื่อเอาได้ง่ายๆ และ ป่าวร้องกันต่อๆ ไป

บทที่ ๒
การจัดหางาน

ข้าราชการบางคนเกียดกันไม่อยากให้ราษฎรเป็นข้าราชการ

นิสัยคนไทยชอบทำราชการ คือชอบสมัครเอาแรงงานของตนมาแลกกับเงินเดือนของรัฐบาล นิสสัยเช่นนี้มีอยู่แน่ชัด แม้ในหมู่บุคคลที่คัดค้านว่ารัฐบาลไม่ควรทำอุตสาหกรรมเองก็ดี บุคคลเช่นนั้นก็เป็นข้าราชการส่วนมาก ตนเองหาได้เหลียวดูว่าในขณะที่ตนพูดอยู่นั้น ว่าตนเป็นข้าราชการหรือไม่ ตนคอยแต่เกียดกันผู้อื่นมิให้เป็นข้าราชการ ซึ่งผู้อื่นก็มีนิสสัยชอบทำราชการเหมือนดั่งตน

ฉะนั้น คารมของบุคคลจำพวกนี้ ผู้อ่านควรระวังจงหนัก และจงย้อนถามผู้พูดนั้นเสมอว่า ท่านเป็นข้าราชการหรือเปล่า เมื่อท่านเป็นข้าราชการแล้ว เหตุใดท่านเกียดกันราษฎรไม่ให้เป็นข้าราชการบ้างเล่า

รับราษฎรเป็นข้าราชการ 

เมื่อนิสสัยของคนไทยชอบทำราชการเช่นนี้แล้วไม่เป็นการยากอันใดที่จะรับคนไทยทั้งหมดให้เข้าทำราชการ แต่การทำราชการไม่หมายความว่าแต่การนั่งบัญชาการในสำนักงาน การประกอบเศรษฐกิจที่รัฐบาลทำก็เรียกว่าราชการด้วย

ในการนี้รัฐบาลอาจกำหนดให้ราษฎรที่มีอายุ เช่นตั้งแต่ ๑๘ ปี ถึง ๕๕ ปีขึ้นไป ต้องทำงานตามคุณวุฒิกำลังและความสามารถของตน ต่อจากนั้นขึ้นไป ราษฎรผู้นั้นจะได้รับบำนาญจนตลอดชีวิต และในระหว่างที่ยังมีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ก็ต้องเล่าเรียนและทำงานเล็กน้อยตามกำลัง ราษฎรจะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลหรือจากสหกรณ์เหมือนดั่งข้าราชการในทุกวันนี้

ทำงานตามกำลังความสามารถ 

เงินเดือนนั้นจำต้องต่างกันตามคุณวุฒิกำลังความสามารถ เพื่อที่ข้าราชการทั้งหลายจะได้ขะมักเขมัน ต่างทำเต็มกำลังความสามารถของตน แต่อย่างไรก็ตามเงินเดือนขั้นต่ำที่สุดจะพอเพียงแก่การที่ข้าราชผู้นั้นจะซื้ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตได้ รัฐบาลจะบังคับให้ราษฎรทั้งหมด ให้เป็นข้าราชการ หรือ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องบังคับราษฎรทั้งหมดให้เป็นข้าราชการ

ยกเว้นเอกชนบางจำพวกที่ไม่ต้องรับราชการ

รัฐบาลอาจยอมยกเว้นให้เอกชนที่เป็นคนมั่งมีอยู่แล้วในเวลานี้ หรือ ผู้อื่นซึ่งไม่ประสงค์เป็นข้าราชการ ประกอบการเศรษฐกิจของตนเอง เมื่อผู้นั้นแสดงได้ว่าการประกอบเศรษฐกิจตามลำพังของเขา เขาจะมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตของเขาได้ตลอดแม้เจ็บป่วย หรือ ชราภาพ และ สามารถที่จะเลี้ยงดูบุตรของเขาให้ได้รับการศึกษา และมีฐานะที่จะเลี้ยงตัวเอง ส่วนบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในฐานะที่ไม่เที่ยงแท้นั้น ก็จำต้องเป็นข้าราชการ เพราะการทำราชการนั้นก็เท่ากับได้ออกแรงผสมไว้เป็นทุนสำรองในเวลาเจ็บป่วยหรือชราแล้ว

แต่เมื่อรัฐบาลประกอบการเศรษฐกิจเสียหมด เช่นนี้ ราษฎรที่เป็นเอกชนจะหาอาชีพตามลำพังได้อย่างไร?

อาชีพอิสระ

การประกอบเศรษฐกิจนั้น มีลักษณะการบางอย่าง ซึ่งเอกชนจะประกอบตามลำพังได้ผล เช่น การอาชีพอิสระ (Professions Liberales) เช่น นักประพันธ์ ทนายความ ช่างเขียน ครูในวิชาบางอย่าง ฯลฯ เหล่านี้ เมื่อราษฎรใดประสงค์จะทำโดยลำพัง ไม่อยากเป็นข้าราชการแล้วก็อนุญาตให้ทำได้ หรืออาชีพอื่น เช่น การโรงงานซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของอยู่แล้วในเวลานี้

เมื่อผู้นั้นประสงค์จะทำต่อไปโดยไม่อยากเป็นข้าราชการแล้ว ก็อนุญาตเช่นเดียวกัน นอกจากผู้นั้นจะขายให้แก่รัฐบาลและคนถือใบกู้ ได้ดอกเบี้ยจากรัฐบาลเลี้ยงชีพของตนหรือการพาณิชย์ การกสิกรรมบางอย่างเมื่อเอกชนแสดงได้ว่าการที่ตนจะประกอบได้ผลพอเลี้ยงตนแล้วจะอนุญาตให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

ผลดีของการที่ราษฎรส่วนมากสมัครเป็นข้าราชการ 

การที่ราษฎรส่วนมาก ได้สมัครเป็นข้าราชการเช่นนี้ ผลร้ายไม่มีอย่างใด รัฐบาลกลับจะได้ผลดี คือแรงงานของราษฎรจะได้ใช้เป็นประโยชน์ได้ตลอด เช่น ในปีหนึ่งเมื่อหักวันเวลาซึ่งต้องหยุดพักผ่อนแล้ว ราษฎรจะได้ทำงานตลอดไป ข้อที่เราวิตกว่าชาวนามีเวลาว่างอีก ๖ เดือนนั้น ย่อมจะไม่ต้องวิตกอีกต่อไป

รัฐบาลคงใช้เวลาอีก ๖ เดือนนั้น ไว้เป็นประโยชน์ เช่น เมื่อว่างจากทำนา ก็อาจทำไร่อย่างอื่น หรือทำถนนหนทาง สุดแต่แผนเศรษฐกิจแห่งชาติจะกำหนดไว้ นอกจากนั้นเมื่อถือว่าราษฎรเป็นข้าราชการแล้ว รัฐบาลยังอาจบังคับให้ศึกษา ให้อบรมในศิลปวิทยาใดๆ ให้รู้ในการฝึกหัดวิชาทหาร ซึ่งทุ่นเวลาที่จะต้องมารับราชการทหารได้อีกโสดหนึ่ง

บทที่ ๓
การจัดหาเงินทุน

เงินทุนที่รัฐบาลจำต้องมีในการประกอบเศรษฐกิจนี้ มีอยู่ ๒ ชนิด

๑. เงินทุนที่รัฐบาลมีไว้เพื่อซื้อเครื่องจักรกล และวัตถุที่รัฐบาลยังทำไม่ได้
๒. เงินทุนที่รัฐบาลมีไว้เพื่อจ่ายเป็นค่าแรงงาน

ความหมุนเวียนแห่งเงินทุน

เงินทุนประเภทที่ ๒ นี้ เป็นเงินที่หมุนเวียนและหักกลบลบหนี้กันได้ เช่น ราษฎรที่รับเงินเดือน ก็นำเอาเงินเดือนซื้ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่จากรัฐบาล ถ้าจำนวนเงินพอดีก็เป็นการหักกลบลบหนี้กันไป ถ้ายังมีเงินเหลืออยู่ในมือข้าราชการ เงินที่เหลือนี้แหละ ซึ่งรัฐบาลจำต้องหาทุนสำรองมาไว้ แต่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า ถ้ารัฐบาลจัดให้มีธนาคารแห่งชาติแล้ว ข้าราชการก็จะได้นำเงินมาฝากธนาคาร เท่ากับข้าราชการเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลตามจำนวนที่ฝากนั้น ไม่จำเป็นต้องเก็บธนบัตรไว้กับตนซึ่งอาจเป็นอันตรายเสียหายได้

ทุนทั้ง ๒ ประเภทนี้ รัฐบาลจะหาได้ด้วยวิธีไหน ตามวิธีที่กล่าวกันว่าเป็นวิธีคอมมิวนิสต์ นั้น นักปราชญ์ในสยามประเทศท่านว่าต้องริบทรัพย์ของเอกชน การริบทรัพย์นี้ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เห็นว่ารัฐบาลควรจัดหาทุนโดยทางอื่น วิธีจัดหาทุน คือ

ภาษีทางอ้อม

การเก็บภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีมฤดก ภาษีรายได้ หรือ ภาษีทางอ้อม (Impot Indirect) ซึ่งเก็บจากราษฎรคนหนึ่งวันหนึ่งเล็กน้อย ซึ่งราษฎรไม่รู้สึกเดือดร้อนนัก เมื่อรวมเป็นปีก็ได้เงินเป็นจำนวนมาก เช่น ถ้าหากจะมีภาษีทางอ้อมใด ซึ่งเก็บจากราษฎรคนหนึ่งวันละ ๑ สตางค์ ในปีหนึ่งพลเมือง ๑๑ ล้านคน ก็คงได้ ๔๐ ล้านบาทเศษ ภาษีทางอ้อมนี้มีเป็นต้นว่า ภาษีเกลือซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จำหน่ายเอง เช่น รัฐบาลรับซื้อเกลือจากผู้ทำนาเกลือตามราคาที่กำหนดให้อย่างสมควร ครั้นแล้วรัฐบาลจำหน่ายเกลือแก่ผู้บริโภค ภาษีน้ำตาล ภาษีบุหรี่ ภาษีไม้ขีดไฟ ฯลฯ

ออกสลากกินแบ่ง

การออกสลากกินแบ่ง (ลอตเตอรี่) ซึ่งไม่เห็นมีทางผิดศีลธรรมอย่างใด จริงอยู่การออกสลากกินแบ่งเป็นการพนัน ผู้ถือสลากย่อมต้องเสี่ยงโชค แต่การเสี่ยงของผู้ถือสลากนั้น ต้องเสียเงินเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย

กู้เงิน

การกู้เงินซึ่งอาจเป็นการกู้เงินภายในซึ่งรัฐบาลจะร่วมมือกับคนมั่งมีในเวลานี้ ซึ่งอาจเป็นการกู้โดยตรงหรือออกใบกู้สำหรับโรงงานโดยเฉพาะ เช่น ถ้ารัฐบาลจะตั้งโรงทำน้ำตาล ต้องการทุน ๑ ล้านบาท รัฐบาลออกใบกู้ทำน้ำตาล ๑ ล้านบาท ผู้ถือใบกู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยตามกำหนดและได้ผลที่โรงงานนั้นทำได้ หรือกู้จากต่างประเทศ ในเมื่อต่างประเทศยินดีให้กู้ ความจริงการกู้เงินจากต่างประเทศก็ควรนำเงินนั้น ซื้อเครื่องจักรกลหรือวัตถุที่เรายังทำไม่ได้ภายในประเทศ ไม่ควรนำเงินนั้นมาใช้จ่ายในประเทศ เมื่อเราตกลงใจเช่นนี้แล้ว ถ้าเรากู้เงินจากต่างประเทศไม่ได้ เราก็อาจตกลงซื้อเครื่องจักรกลโดยตรงจากบริษัทในต่างประเทศ และผ่อนส่งเงินเป็นงวดๆ ดังเช่นบางประเทศเคยกระทำ

การหาเครดิต

สำหรับประเทศสยามเรา เห็นควรซื้อจากบริษัทในประเทศสหายเรา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เว้นไว้แต่จะไม่ยอมขายโดยผ่อนส่งเงินเป็นงวดๆ หรือราคาแพง อนึ่งรัฐบาลอาจตกลงกับบริษัทให้มาตั้งโรงงาน และรัฐบาลเอาโรงงานและผลประโยชน์ของโรงงานนั้นเป็นประกันหนี้ของบริษัทจนกว่าจะใช้เงินหมด วิธีต่างๆ เหล่านี้เป็นวิธีที่รัฐบาลสามารถทำได้ในเวลานี้ เพราะย่อมทราบแล้วว่า เวลานี้เครื่องจักรกลมีล้นตลาดในโลก บริษัทต่างๆ ต้องการขายสินค้าของตนแม้จะโดยวิธีผ่อนส่งเงินก็ดี

หมวดที่ ๖
การจัดทำให้รายได้และรายจ่ายของ
รัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ

เมื่อพูดถึงการที่รัฐบาลประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง โดยจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎรเช่นนี้ ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านผู้อ่านเสมอมาว่ารัฐบาลจะเข้าสู่ดุลยภาพได้อย่างไร ผลจะมิเป็นว่ารัฐบาลต้องล้มละลายราคาเงินของเราจะตก โดยที่รัฐบาลจะต้องออกธนบัตรมากมายกระนั้นหรือ

บทที่ ๑
ดุลยภาพภายในประเทศ

หักกลบลบหนี้

ข้าพเจ้าได้กล่าวประปรายไว้แล้วแต่ในตอนต้นว่า เงินเดือนที่ราษฎรได้รับก็จะหักกลบลบหนี้กันไปกับสิ่งที่ราษฎรซื้อจากรัฐบาล ฉะนั้นรัฐบาลจำต้องทำสิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต ซึ่งราษฎรต้องการไว้ให้พร้อมบริบูรณ์ เมื่อราษฎรต้องการสิ่งใดก็ซื้อได้ที่รัฐบาลเช่นนี้แล้ว แม้ในเดือนหนึ่งๆ หรือ ในปีหนึ่งๆ จะมีเงินเหลืออยู่ที่ราษฎร เงินนี้ราษฎรก็เก็บสะสมไว้เพื่อใช้จ่ายในภายหน้า ซึ่งก็ต้องซื้อจากรัฐบาล ดุลยภาพก็คงต้องมีขึ้นภายในประเทศเป็นแน่แท้ นอกจากนั้นการทำให้สู่ดุลยภาพ ยังอาจกระทำได้ด้วยการกำหนดราคาสิ่งของที่จำหน่ายแต่วิธีนี้ไม่ควรใช้ รัฐบาลควรหาวิธีที่เพิ่มสิ่งที่ราษฎรต้องการให้มากขึ้น

ความต้องการของมนุษย์

ความต้องการของมนุษย์ในปัจจัยที่ดำรงชีวิตอาจมีแตกต่างกัน และ ยิ่งมนุษย์มีความเกี่ยวพันกันกว้างขวางขึ้นและเจริญขึ้นแล้ว ความต้องการก็ยิ่งมีมากขึ้น ศาสตราจารย์ชาลส์จี๊ด กล่าวไว้ว่า ที่เรียกกันว่าเจริญนั้น ก็หมายความถึงว่าความต้องการของมนุษย์ได้มีมากขึ้น (คำสอนเศรษฐวิทยา เล่ม ๑ หน้า ๔๙) เช่น คนป่าต้องการเครื่องนุ่งห่มแต่พอปิดบังร่างกายบางส่วน ครั้นคนจำพวกนั้นเจริญขึ้นก็ต้องการเครื่องนุ่งห่มปิดบังร่างกายมากขึ้น ดั่งนี้เป็นต้น

การทำปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต

ฉันใดก็ดี เมื่อราษฎรสยามเจริญขึ้น ความต้องการก็ย่อมมีมากขึ้นตามส่วน เช่นเครื่องนุ่งห่ม ก็จะต้องการผ้าหรือแพรมากขึ้น สถานที่อยู่และภาชนะใช้สอยมากขึ้น การคมนาคมมากขึ้น เช่นต้องการรถยนต์ ต้องการเดินทางไกลติดต่อกับประเทศอื่น ต้องการพักผ่อนหาความเพลิดเพลิน เช่น การมหรสพ การกีฬาเหล่านี้เป็นตัน เมื่อ

รัฐบาลจัดให้มีสิ่งเหล่านี้พร้อมบูรณ์แล้ว เงินเดือนที่รัฐบาลจ่ายก็จะกลับมายังรัฐบาล ซึ่งต้องสู่ดุลยภาพได้

บทที่ ๒
ดุลยภาพระหว่างประเทศ

รัฐบาลยังคงต้องเป็นลูกหนี้ต่างประเทศในการที่ซื้อเครื่องจักรกลและวัตถุที่รัฐบาลยังทำเองไม่ได้ รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาใช้เจ้าหนี้ทำสิ่งที่เหลือใช้ภายในให้มาก

ในการนี้จึงเป็นการจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องจัดทำสิ่งที่ทำได้ในประเทศให้เหลือเฟือ จากการใช้จ่ายภายในประเทศ และนำสิ่งที่เหลือนี้ออกไปจำหน่ายหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่รัฐบาลเป็นลูกหนี้ เช่น ข้าว ไม้สัก แร่ เช่นนี้ เป็นต้น

สินค้าเข้ามีสิ่งไม่จำเป็นมาก

ความจริงแม้แต่เอกชนต่างคนต่างทำในเวลานี้ประเทศสยามก็ยังมีสินค้าออกถึง ๑๓๔ ล้านบาท

ควรนำแต่สิ่งจำเป็นเข้ามา

คือสินค้าที่เหลือจากใช้ภายในประเทศ แต่ประเทศสยามได้นำสินค้าอื่นซึ่งนอกจากเครื่องจักรกลเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่น ของรับประทาน น้ำตาล เสื้อผ้า เหล่านี้ ถ้าหากรัฐบาลจัดทำสิ่งที่เราสามารถทำได้เองเสียให้เกือบหมดแล้วสินค้าออก ๑๓๕ ล้านบาทนี้ ก็จะใช้แลกเปลี่ยนกับเครื่องจักรกลซึ่งเรายังไม่สามารถที่จะทำได้

เราจะเห็นได้ว่าความเจริญของเราจะมีเพิ่มขึ้นสักปานใด นอกจากนั้นแรงงานที่ว่างอยู่ ซึ่งรัฐบาลอาจใช้เป็นประโยชน์ได้อีกนั้น ก็จะทำให้เรามีสินค้าที่เหลือจากใช้ภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งกำลังของประเทศในการที่จะแลกเปลี่ยนเอาสิ่งซึ่งเรายังทำไม่ได้ เช่น เครื่องจักรกลได้มากยิ่งขึ้นดุลยภาพระหว่างประเทศก็จะเป็นไปได้

หมวดที่ ๖ (ต่อ)
การจัดเศรษฐกิจโดยรัฐบาล
ต้องระวังมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์

ผู้ที่อ่านโดยมีอุปาทานร้ายมักจะเหมาทันทีว่า การที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองนี้ จะทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ กล่าวคือผู้หญิงจะมิเป็นของกลางไปทั้งหมดหรือ ชีวิตในครอบครัวจะไม่มี คนจะหมดความมานะความพยายามในการที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญ คำกล่าวนี้ถัาจะมีผู้กล่าวก็คงจะใสร้ายโดยไม่ตรึกตรอง

ราษฎรที่เป็นข้าราชการ ก็มีสภาพเหมือนข้าราชการทุกวันนี้

ความจริงเท่าที่กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้ถือว่าราษฎรเป็นข้าราชการมีฐานะเหมือนข้าราชการทุกวันนี้ที่ทำงานแล้วได้เงินเดือน และเมื่อเจ็บป่วยชราได้เบี้ยบำนาญ ข้าพเจ้าได้ระวังมิให้มนุษย์มีสภาพเช่นสัตว์ ข้าพเจ้าประสงค์ให้มนุษย์เป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น ปราศจากการประทุษร้ายต่อกันอันเนื่องจากเหตุเศรษฐกิจ ข้าพเจ้ายังเคารพต่อครอบครัวของผู้นั้น ผู้หญิงไม่ใช่เป็นของกลาง ความเกี่ยวพันในระหว่างผู้บุพการี เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดากับผู้สืบสันดาน เช่น บุตรหลาน ยังคงมีตามกฎหมายลักษณะผัวเมียไม่ยกเลิก ราษฎรคงมีมานะที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญเหมือนดั่งข้าราชการในทุกวันนี้ ถ้าหากราษฎรหมดมานะที่จะช่วยเหลือส่งเสริมความเจริญแล้ว ข้าราชการในทุกวันนี้ก็จะมิเป็นบุคคลจำพวกที่หมดมานะที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญหรือ

การค้นคว้าในวิชาการคงมีได้

อาจมีผู้กล่าวอีกว่าการคันคว้าของนักวิทยาศาสตร์จะมีไม่ได้ ข้อนี้จะเป็นการกล่าวใส่ร้ายเกินไป นักวิทยาศาสตร์ยังค้นคว้าได้เสมอรัฐบาลจะมีรางวัลให้ และจะยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการคิดประดิษฐ์สิ่งใดได้ ไม่ต่างกับข้าราชการในปัจจุบันนี้อย่างไรเลย ขออย่าให้ผู้อ่านหลงเชื่อคำกล่าวที่ใส่ร้ายว่ามนุษย์เราจะต้องกินข้าวกะทะ อยู่ในรู ถ้าท่านถามผู้กล่าวว่า เขาอ่านจากหนังสือไหนที่กล่าวเช่นนั้น แล้วแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบจะเป็นพระคุณมาก

 

ที่มา: เค้าโครงการเศรษฐกิจ โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หมวดที่ 5 วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน, หมวดที่ 6 การจัดทำให้รายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ

อ่าน: 'สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจ' ฉบับเต็ม

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ