ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ได้อะไรจากเค้าโครงการและพระบรมราชวินิจฉัย

24
พฤษภาคม
2564

ประการแรกที่ได้ ก็คือ เมื่อโทสะจริตเข้าครอบงำ คารมเผ็ดร้อนก็ถูกนำมาใช้ นำมาเยาะเย้ยกัน หาประโยชน์อันใดมิได้เลย

ท่านปรีดีได้เยาะผู้ที่อวดอ้างว่ามีความรู้ แต่ความจริงท่านว่าเขาเหล่านั้นหารู้จริงไม่ หาว่าไม่อ่านหนังสือให้ลึกซึ้ง ไม่อ่านหลายๆ เล่ม หลายๆ ความเห็น ท่านปรีดีเรียกพวกเหล่านี้ว่า “นักปราชญ์ในไทยประเทศ” คำโบราณเคยมี “โลกวิบ” สั้นๆ เราก็อาจเรียกได้ว่า พวกอวดรู้ คือรู้ไม่จริง พวกเหล่านี้มักชอบพูดว่า ฉันรู้แล้ว ฉันเห็นแล้ว ทั้งที่ไม่รู้และไม่เห็น ท่านปรีดีเรียกบุคคลที่ไม่ทำงานว่า “พวกหนักโลก” “พวกอุบาทว์กาลีโลก”

สมเด็จพระปกเกล้าฯ ท่านได้ย้อนเรียกว่า “ผู้ชำนาญการชี้นิ้ว” “ผู้นั่งโต๊ะบงการ” “พวกเทียวรี่” (นักทฤษฎี) พวกนี้หรือจะมาสู้พวกแปร๊กติส (ผู้ทำงานรู้งานโดยความช่ำชอง แต่อาจไม่รู้อะไรก็ได้ นั่งกับโต๊ะมานานก็คงอวดรู้งาน) เรื่องจะให้รู้ก่อนเรียนหรือเรียนแล้วจึงรู้ รู้ทฤษฎีแต่ไม่เคยปฏิบัติก็ทำได้ไม่ดี แต่ปฏิบัติโดยไม่รู้ทฤษฎีก็ทำดีไม่ได้

สำหรับการยกตัวอย่างขึ้นเปรียบเทียบ ท่านปรีดีว่าพลเมืองจะแร้นแค้นลำบาก สมเด็จพระปกเกล้าฯ ท่านก็รับสั่งว่า “สุนัขตามวัดก็ปรากฏว่ายังไม่อดตาย” เรื่องสุนัขนี้มาสมัย ๒,๕๐๐ ได้มีผู้มายกว่ากันอีกเป็น หมาไทย หมาปักกิ่ง สมัยนี้หยาบขึ้นไปคือ ไม่เรียกว่าสุนัข เรียกว่า หมา เอากันตรงๆ

ตอนท่านปรีดีกล่าวถึงพระศรีอาริย์ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ท่านก็ตรัสว่า “อเวจีพระศรีอาริย์” นะซิ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ท่านอยากตั้งกันให้เป็นเจ้าฟ้าเสียทุกคน มีศักดินาคนละแสนไร่ เป็นเรื่องว่าประชดกัน ได้ประโยชน์อันใดจากคารมเหล่านี้ คารมอื่นมีอีก จะนำมาเขียนก็จะมากไป อ่านดูได้ในคำเสนอการพิจารณาและคำวินิจฉัย

ประการที่สองที่ได้ ก็คือ เมื่อโทสะจริตเข้าครอบงำ ก็เลยเข้าใจกันไม่ได้ เรื่องเล็กเลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ โกรธอาฆาตถึงจะเอาเป็นเอาตายกันเลย จะอยู่ร่วมกันไม่ได้

สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงหวาดระแวงท่านปรีดีและผู้ก่อการ เพราะพวกเหล่านี้เรียนมาจากฝรั่งเศส ประเทศรีปับลิก และสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นได้ทำให้ราษฎรตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้ง พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียก็ต้องออกจากราชบัลลังก์ เจ้านายขุนนางก็ถูกฆ่าตาย ถูกริบทรัพย์หมดสิ้น ทางเยอรมันพระเจ้าไกเซอร์เล่า สัมพันธมิตรก็บังคับให้สละราชสมบัติไม่ให้มีการสืบสันตติวงศ์เปลี่ยนเป็นรีปับลิกไปเสีย

ส่วนด้านเอ๊าสเตรีย ฮังกรี อาณาเขตก็ถูกแบ่งแยกราชวงศ์ฮับสเบิร์กก็ต้องสูญเสียราชบัลลังก์ไป สิ่งต่างๆเหล่านี้ ผสมกับเรื่องนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสทะเลาะกับประองค์เจ้าจรูญฯ จนนักเรียนไทยในฝรั่งเศสเฉพาะอย่างยิ่งท่านปรีดี ถูกประณามว่าเป็นบอลเชวิค ซันดิเคต สมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ต้องทรงระแวงอยู่เองด้วยเหตุผลแวดล้อมในสมัยนั้น

แต่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ดี ท่านอัครราชทูตพระองค์เจ้าจรูญฯ ก็ดี ท่านปรีดีและนักเรียนไทยในฝรั่งเศสอื่นก็ดี รู้จักกันมาดีแล้ว สมเด็จพระปกเกล้าฯ ขณะเป็นกรมขุนสุโขทัยศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเสนาธิการนายทหารที่ปารีสก็ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ท่านอัครราชทูตก็เคยใช้ท่านปรีดี เช่น ให้จัดการเลี้ยงอาหารจีนให้แก่นักเรียนไทยที่มาจากเกรอนอเบลอ ซึ่งข้าพเจ้าร่วมอยู่ด้วย

นักเรียนไทยพวกนี้ไม่ได้ขึ้นต่อสถานทูต แต่อยู่ในความควบคุมของท่านดูปลาตร์ เพื่อนกับคุณพ่อของข้าพเจ้า และคุณพ่อของนักเรียนไทยเมืองเกรอนอเบลอ ท่านดูปลาตร์เป็นผู้จัดการในเรื่องการศึกษาของเราทางกรุงเทพฯ ส่วนในฝรั่งเศสนั้นท่านดูปลาตร์มอบให้ท่านเกแดลเป็นผู้ดูแลจัดการ การเลี้ยงของท่านอัครราชทูตซึ่งท่านทรงมาร่วมด้วย และให้ท่านปรีดีเป็นผู้รับแขก เป็นมัคคุเทศในการนำพวกเรานักเรียนบ้านนอกซึ่งเพิ่งเข้ากรุงได้ชมกรุงปารีส รู้สึกว่าขณะนั้นท่านไว้ใจท่านปรีดีมากทีเดียว การเลี้ยงครั้งนั้นทำให้พวกนักเรียนไทยซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานทูตกล่าวกันว่าท่านอัครราชทูตไม่เคยเลี้ยงนักเรียนพวกเหล่านั้นมาแต่ก่อนเลย

พิจารณาตามความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในชั้นเดิมๆ ดูไม่น่าจะมีอะไรที่ร้ายแรงเกิดขึ้นต่อมาเลย เรื่องทะเลาะกันระหว่างนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับท่านอัครราชทูตก็เป็นเพียงเรื่องส่งผู้แทนของนักเรียนไทยในฝรั่งเศสไปประชุมในการประชุมของสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ เรื่องเล็กน้อยแท้ๆ ไม่น่าจะเป็นชนวนให้เกิดเรื่องใหญ่ต่อมา แต่เรื่องก็เกิดขึ้นมาจนได้เพราะความไม่พยายามเข้าใจกัน

ประการที่สามที่ได้ คือ ท่านปรีดีอยากให้ใช้ผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญทำงาน ต้องการแข่งขันการแสดงความสามารถ ต้องมีการสอบคัดเลือก สมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ทรงเห็นด้วย แต่ทรงเกรงว่าจะได้ผู้ที่ไม่ชำนาญไม่เชี่ยวชาญจริง จุดประสงค์ตรงกันคือ ต้องการได้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการจริง แต่ถ้าไม่หาแล้วทำไมจึงจะได้ และถ้าไม่ใช้แล้วทำไมจึงจะรู้ว่าเชี่ยวชาญชำนาญจริงหรือไม่

ท่านปรีดีต้องการให้มีการสอบแข่งขัน ให้มีการทดลองความรู้ ต้องการพื้นความรู้ขั้นปริญญา ต้องการความรู้ทันสมัย เช่น ทำไร่ ทำนา ก็ต้องการให้ใช้ปุ๋ย ใช้เครื่องจักร ปัจจุบันเรียกกันว่าเครื่องทุ่นแรง เรื่องใช้แรงเครื่องจักรกลแทนแรงคนสมัยนี้เห็นเป็นของธรรมดา แต่สมัย 2475 นั้น เป็นของแปลกของใหม่ ประเทศไทยสมัยนั้นยังไม่มีแทรกเตอร์ เรื่องการประกอบกสิกรรมชนิดใช้เนื้อที่น้อยแต่ทำให้ได้ผลมาก ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เครื่องไถ หว่าน เก็บเกี่ยว ฯลฯ เป็นเครื่องยนต์นั้น เป็นของใหม่ของไทยในสมัยนั้น

ดังนี้ถึงท่านปรีดี ท่านทวี บุณยเกตุ จะได้ชี้แจงยืดยาวดังปรากฏในรายงานการประชุม ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ฟังก็ไม่ค่อยเข้าใจท่าน ผู้อ่านไม่ควรลืมว่าท่านทวี บุณยเกตุ นี้ สำเร็จเกษตรมาจากอังกฤษและฝรั่งเศส ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นคนไทยคนแรกเสียด้วยซ้ำจากประเทศทั้งสองนี้

เวลานั้นคนไทยที่สำเร็จเกษตรมาจากฟิลิปปินส์ก็มีบ้างแต่น้อย สำเร็จเกษตรจากสหรัฐนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่ายังไม่มีในขณะนั้น เราพึ่งมาตื่นตัวในเรื่องปุ๋ยวิทยาศาสตร์และแทรกเตอร์เหล่านี้ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง ข้าพเจ้าหมายถึงการตื่นตัวของประชาชน เจ้าหน้าที่สมัยก่อนๆ ก็เคยทดลองเรื่องปุ๋ยเรื่องพืชพันธุ์นี้ แต่เป็นเพียงการทดลองเล่นๆ

ในเรื่องการสอบแข่งขันเข้าทำงานกัน ท่านปรีดีต้องการมาก ดั่งนี้การเข้ารับราชการตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นไปและการเลื่อนขั้นตำแหน่ง กฎหมายเกี่ยวกับระเบียบข้าราชการพลเรือนสมัยหลัง 2475 และต่อๆ มา จึงยึดหลักการสอบแข่งขัน มีการทดลองความรู้ แต่ไม่จัดให้จริงจัง หรือกลับเปิดช่องบันไดทองไว้ ช่วยพวกพ้องญาติมิตรของตน หลักก็เลยถูกตำหนิว่าไม่ดี ซึ่งความจริงไม่ใช่ไม่ดีที่หลัก แต่ไม่ดีที่ผู้ปฏิบัติ ฝรั่งเศสดูจะใช้การสอบแข่งขันมาแต่สมัยพระเจ้านโปเลียน

สมเด็จพระปกเกล้าฯ ท่านก็ทรงเกรงว่าจะไม่ได้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญจริงๆ สมัยท่านก็มีผู้เชี่ยวชาญนั่งโต๊ะบงการชี้นิ้วซดน้ำชาแล้ว ถ้าไม่มีก็คงไม่มีการปฏิวัติเป็นแน่ เพราะเมื่อมีการเล่นพวกกัน ดังนี้การปฏิวัติจึงมีขึ้น

การปฏิวัติเกิดขึ้นจากคณะบุคคลซึ่งเข้าใจว่าตนมีความสามารถมีความรู้ดีกว่าผู้ที่มานั่งบงการงาน ผู้ปฏิวัติไม่พอใจในการที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเอาใจชุบเลี้ยงแต่พวกพ้องของตน ไม่เหลียวแลพวกปฏิวัติ แต่กลับกีดกันเสียอีก เรื่องก็อยากชิงอำนาจอยากเป็นใหญ่ด้วยกัน เพราะทรงเกรงดังนี้ สมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงใช้คำประชดผู้เชี่ยวชาญชำนาญการที่ท่านปรีดีกล่าวถึงว่าจะมานั่งโต๊ะบงการชี้นิ้ว นั่งซดน้ำชา ทรงพระกังวลก็ไม่ผิด ยิ่งระหว่าง 8 พฤศจิกายน 2490 ถึง 14 ตุลาคม 2516 ดูเหมือนจะเป็นสมัยที่มีพวกเหล่านี้มากที่สุด ถ้าไม่มีการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 คงไม่เกิดขึ้น

เรื่องเล่นพวกนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขยาก อย่าว่าแต่มนุษย์เล่นพวกกันเลย เทวดา ยักษ์เขาก็เขียนไว้ว่ามีการเล่นพวกเหมือนกัน ความหมายของคำว่าพวกถ้าแคบหน่อยก็หมายถึงลูกหลาน แล้วก็ขยายไปเครือญาติ ญาติมิตร สมุนบริวารผู้ห้อมล้อม มาสมัยพรรคการเมืองเลยกลายเป็นเล่นพรรค พรรคการเมืองนี้ดูๆ มักแปรรูปเป็นพรรคครองเมือง และเมื่อครองเมืองได้ก็ไม่ยอมให้ใครขึ้นมาเทียบเท่า ส่วนมากร้ายไปจนว่าพวกนอกพรรคจะเผยอขึ้นมาเทียบ แม้เพียงข้อเท้าก็ไม่ได้

ดังนี้ในกลุ่มเผด็จการทั้งหลายจึงมีพรรคครองเมืองเพียงพรรคเดียว โซเวียตและเครือของโซเวียตนั้นก็มีพรรคครองเมือง คือพรรคคอมมิวนิสต์ มีได้หนึ่ง ไม่ยอมให้มีสอง โซเวียตกำลังวางกฎหมายและหลักยุติธรรมใหม่ คือเอาคำว่าโซเชียลลิสต์ใส่นำหน้าลงไป เป็น โซเซียลลิสต์ลีกัลลิตี้ ภาษารัสเซียว่า Socialisticka Zakonnort ข้าพเจ้าไม่รู้ภาษารัสเซีย คัดเอามาจากหนังสือของ อินเตอร์เนชั่นนั่ลคอมมิสชั่น ออฟ จูริสท์ ประเทศไทยก็เคยมีพรรคพวกเดียวครองเมืองกับเขาเหมือนกัน

เรื่องเล่นพวกนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเลิกได้ยาก แต่เล่นให้ดีพอทำได้ คือเอาพวกที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ถึงทีแรกจะมีผู้กล่าวหาว่าเป็นญาติเป็นมิตร หากผู้นั้นทำงานประกอบการดีๆ ต่อไปเสียงครหาก็หายไปเองและจะไม่มีการกล่าวว่ากันต่อไป แต่ถ้าผู้นั้นทำดีไม่ได้แล้ว ขอให้รีบเปลี่ยนเสียโดยเร็ว ยิ่งเอาไว้นานยิ่งเสีย และเสียทั้งหมู่ทั้งคณะเหมือนปลาข้องเดียวกัน เน่าเสียตัวหนึ่งถ้าไม่เอาออกตัวที่ไม่เน่าก็พลอยเหม็นไปด้วย

จึงเป็นอันว่าจะเล่นพรรคหรือเล่นพวกก็ขอให้ได้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้สามารถ ผู้มีความรู้ ผู้ทำงานจริงๆ

ประการที่สี่ที่ได้ คือ ความรู้เรียนกันไม่มีจบ อย่าอ่านหนังสือเล่มเดียว ฟังความเห็นฝ่ายเดียว

ท่านปรีดีจะอ่านหนังสืออะไรมาบ้างท่านไม่บอก ท่านอ้างคำสอนของศาสตราจารย์เตสชังป์ไว้นิดเดียว แต่ทางพระบรมราชวินิจฉัยนั้นอ้างหนังสือสองเล่มเป็นหนังสือเล่าพฤติการณ์ของรัสเซียหลังปฏิวัติ ผู้เห็นนำมาเล่า หรือ ได้ยินมาก็นำมาเล่า หรือหลบหนีเคียดแค้นมาก็นำมาระบายความแค้นด่าว่าให้ฟัง ข้าพเจ้าไม่ทราบ หนังสือในพระบรมราชวินิจฉัยไม่ใช่ตำรา หนังสือเหล่านี้หาว่ารัสเซียเป็นเอาท์ลอว์นอกกฎหมาย แต่ทำไมเขากลายมาเป็นพี่เบิ้มร่วมสร้างสหประชาชาติได้ไม่รู้

สมเด็จพระปกเกล้าฯ ท่านรับสั่งว่าประเทศไทยอยากเป็นที่สองจากรัสเซียหรือ จึงก็อปปี้ของๆ รัสเซียมาไว้ในเค้าโครงการนี้ เพียงขนาดชั้น Licence en Droit ข้าพเจ้าก็พอแสดงได้ว่า ท่านปรีดีได้แง่ความคิดต่างๆ นี้มาจากไหน แต่ไม่ใช่รัสเซียแน่ เพราะรัสเซียนั้นเองก็เอาจากผู้อื่นแต่มาดัดแปลงปรุงแต่ง ท่านปรีดีก็เช่นเดียวกัน ได้เอาความรู้ของผู้อื่นมาดัดแปลงปรุงแต่ง ซึ่งคิดว่าน่าจะเหมาะกับคนไทยในขณะนั้นได้เหมือนกัน

ท่านปรีดีศึกษากฎหมายจากฝรั่งเศส ในวิชาชั้น Licence en Droit ที่ท่านศึกษานี้ก็มีเศรษฐศาสตร์สอนอยู่ และในเศรษฐศาสตร์ที่สอนนี้ก็สอนควบถึงประวัติศาสตร์แห่งลัทธิเศรษฐกิจ และความนึกคิดในทางเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์หรือนักปรัชญาสังคมวิทยา มนุษยวิทยาอื่นๆ หนังสือชื่อ Histoire des Doctrines Economiques ของท่านศาสตราจารย์ Gide และท่าน Rist เป็นหนังสือซึ่งนักเรียนต้องอ่าน ต้องเรียน เป็นหนังสือความรู้มาตรฐาน ถ้าอยากรู้ลึกซึ้งท่านต้องเรียนต้องอ่านหนังสืออื่นต่อไปอีก หนังสือนี้เพียงย่อๆ ความเท่านั้นเอง

ความคิดความอ่านของท่านปรีดีได้มาจากการศึกษาของท่านเองและการอ่านหนังสือมาตรฐานนี้ประกอบด้วย

ข้าพเจ้าขอหยิบยกเพียงเรื่องที่เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านปรีดีที่ปรากฏในหนังสือนี้มากล่าวเพียงย่อๆ เพื่อให้ท่านค้นคว้าต่อไป

แต่ก่อนอื่นขอท่านได้ระลึกว่า เป็นธรรมดาที่ชนชาติหนึ่งชอบอ้างว่าชนชาติของตนทำหรือคิดอย่างนั้นอย่างนี้ก่อนชนชาติอื่น ถึงขณะที่ชนชาติอื่นอ้างกัน ชนอีกชาติหนึ่งจะยังค้นไม่พบว่าชนชาติเขาได้ทำ ได้คิด ขึ้นมาก่อน เขาก็ย่อมไม่ละทิ้ง พยายามกันเรื่อยๆ ไป และในที่สุดก็อ้างโดยแสดงหลักฐานบุรมบุราณว่า เรื่องนั้นๆ ชนชาติของเขาได้คิด ได้พบ ได้เขียนมาก่อนชนชาติอื่นๆ เหมือนกัน

เรื่องของมนุษย์เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น ท่านผู้รักหนังสือจึงพึงอย่าเชื่ออะไรให้มั่นนักไว้เลย ฟังหูไว้หูดีกว่า ต้องพิจารณากัน เมื่อท่านยึดหลักนี้ไว้แล้วก็ขอเชิญท่านอ่านต่อไป ข้าพเจ้าจะเขียนให้ท่านอ่านพอหอมปากหอมคอเท่านั้น

1. อันคำว่า โซเชียลลิสต์นี้ ฝรั่งเศสเขาอ้างว่าท่านบีแอร์เลอรูซ์ นักการเมืองสานุศิษย์ของแซงต์ชิมอง เกิด 1797 ตาย 1871 สมาชิกสภาฝรั่งเศส สมัย ค.ศ. 1848 เป็นผู้ใช้คนแรก เพื่อให้แตกต่างกับคำว่า อินดิวิดิวอาลิสม์ พวกฝรั่งเศสกล่าวต่อไปว่า ท่านผู้นี้ได้ใช้คำว่า “โซลิดาริเต” ในทางเศรษฐกิจเป็นคนแรก ต่อมาจึงได้มีลัทธิโซลิดาริสม์เกิดขึ้น ซึ่งถือว่ามนุษย์ทุกคนมีสิ่งผูกพันซึ่งกันและกันโดยธรรมชาติ

2. ตำหรับตำราของฝรั่งเศสมักจะยกย่องท่านแซงต์ริมอง ซึ่งเป็นเคาวท์ บิดาท่านเป็นถึงดุ๊ค ราชตระกูล ท่านเคาวท์แซงต์ซิมอง เกิด 1760 ตาย 1825 ฝรั่งเศสเขาว่าท่านเป็นต้นตระกูลโซเซียลลิสม์ มารซ์ก-เลนินเป็นเพียงขั้นศิษย์ ท่านเคาวท์แซงต์ชิมองได้ให้ข้อความสั้นๆ ว่า “แต่ละคนตามความสามารถของตน แต่ละความสามารถตามผลงานของเขา” ข้อความสั้นๆ นี้ทำให้คนคิดกันมากท่านเคาวท์แซงต์ซิมองนั้น ต้องการให้ “ฝรั่งเศสเป็นโรงงานใหญ่ Grand Atelier” และให้เป็นโรงประดิษฐ์สิ่งของใหญ่ “Grande Manufacture”

ท่านผู้อ่านควรระลึกว่าสมัยของท่านแซงต์ซิมองนั้น เครื่องจักรกลกำลังนำเข้ามาใช้แทนแรงงานของคน เครื่องจักรกลเริ่มมีบทบาทในการประดิษฐ์มาก และมีทีท่าว่าแรงของเครื่องจักรกลจะใช้แทนแรงงานของคนได้ทุกกรณี ท่านแซงต์ซิมองจึงคิดเห็นว่า รัฐนั้นควรเข้าไปประกอบการเศรษฐกิจเอง หน้าที่เศรษฐกิจของรัฐควรอยู่เหนือหน้าที่ใดๆ อื่นฝรั่งเศสเขาว่าท่านแซงต์ซิมองนี้เป็นต้นตระกูลคอลแลคติวิสม์อีกด้วย

ท่านแซงต์ซิมองมีสานุศิษย์เยอะ เขาเรียกกันว่าพวกแซงต์ซิมองเนียง แต่ละคนสาธยายหลักของท่านแซงด์ซิมองโดยนำความคิดเห็นของตน คือของผู้สาธยาย เข้ามาประกอบขยายความด้วย

3. ถ้าเราเขยิบไปอังกฤษ เอาทางด้านสังคมนิยมที่เด่น สมัยใกล้ๆ กับท่านแซงต์ซิมอง ฝรั่งเศส เราจะพบท่าน โรเบอร์ต โอเวน เกิด 1771 ตาย 1858 ท่านโอเวนเป็นบิวซิเนสส์ผู้ใจบุญ ท่านโอเวนเป็นผู้เขียนหนังสือ What is Socialism? แต่ ค.ศ.1841 พวกอังกฤษก็ว่า ท่านโอเวนนี้แหละเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า โซเชียลลิสม์ ดูตามปีท่านโอเวนน่าจะใช้ก่อนท่านเลอรูซ์ ท่านโอเวนเป็นผู้สร้างตนเองจากกำเนิดคนสามัญ รับจ้างทำงานเกี่ยวกับการปั่นด้าย ทอผ้า แต่ในที่สุดท่านก็กลายเป็นเจ้าของโรงงานปั่นด้ายทอผ้าใหญ่โตด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่านเองความเป็นผู้ใจบุญของท่าน การเกื้อกูลของท่าน กฎข้อบังคับที่ท่านให้ใช้ในโรงงานของท่านบังคับแก่คนงาน อันเป็นการอนุเคราะห์คนงาน ประกันความมั่นคงในการทำงานของคนงาน ชื่อเสียงของท่านโอเวนจึงโด่งดัง พระมหากษัตริย์หลายประเทศเขากล่าวว่ากษัตริย์ปรัสเซียฮอลแลนด์สมัยนั้นได้ติดต่อคุ้นเคยกับท่านโอเวนเป็นอย่างดี ท่านโอเวนได้ลงทุนสร้างนิคมสวรรค์ชื่อว่า New Harmony ขึ้นที่อินเดียนาในอเมริกาด้วยทุนทรัพย์ของท่าน แต่ผิดหวัง เสียสตางค์ไป แต่ท่านนึกว่าท่านทำบุญ ท่านโอเวนผู้นี้แหละที่ให้ความคิดเรื่อง “สิ่งที่ใช้แทนเงินมอนนี่” ใหม่

อย่าลืมว่าขณะนั้นมอนนี่เงินคือเหรียญทอง เหรียญเงิน ไม่ใช่กระดาษอย่างปัจจุบันนี้ อันมีนามเรียกกันว่า "ธนบัตร" ท่านโอเวนเห็นว่าแร่ทองคำ แร่เงิน ถึงจะขุดพบกันได้ก็ไม่ได้เท่าไร การเศรษฐกิจต้องการเครดิต คือความเชื่อมาก ท่านโอเวนเสนอให้ใช้ เลเบอร์โน๊ต ฝรั่งเศสเขาแปลว่า บองค์เดอตราวายล์ แปลเป็นไทยก็ได้ว่า "คะแนนงาน" ท่านโอเวนจัดให้ใช้เป็นค่าแรงงาน ท่านถึงกับจัดตั้งที่ลอนดอนขึ้นเป็นสำนักงานเรียกว่า National Equitable Labour Exchange เมื่อราว ค.ศ. 1832 ขอยุติสำหรับท่านโอเวนที ที่จริงทั้งขาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส สมัยนั้น ก็ยังมีผู้มีชื่ออีกมากที่ชอบคิดในเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าข้าพเจ้าจะนำมาเขียน ณ หนังสือก็จะกลายสภาพเป็นหนังสือเศรษฐกิจหรือหนังสือความนึกคิดในทางเศรษฐกิจไปเสีย

4. เรื่องเกี่ยวกับจัดรัฐให้เป็นโรงงานนี้ หลุย บลังค์ เกิด 1811 ตาย 1882 ชาวฝรั่งเศส สมาชิกสภาฝรั่งเศส ก็เคยแสดงความคิดจะให้รัฐเป็นโรงงานสังคม Atelier Social ท่านปรูดอง ชาวฝรั่งเศส เกิด 1809 ตาย 1865 มีชื่อเสียงกล่าวคำรุนแรงในเรื่องกรรมสิทธิ์ออกมาเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “ลา โปรปริ เอเต แชสท์ เลอ วอล” แปลเป็นไทยว่า “การกรรมสิทธิ์คือการลักทรัพย์” ท่านก็รุนแรงเอาการตำราฝรั่งเศสจัดว่าท่านเป็นโซเซียลลิสม์ ลิเบอรแตร์ จะแปลเป็นไทยว่าโซเซียลลิสม์เสรีก็ตามใจ

ท่านปรูดองก็มีความคิดเห็นอย่างท่านโอเวน ท่านว่าเงินคือ บองเดชังเยอ “บัตรแลกเปลี่ยน” เพื่อให้สรรพสิ่งของหมุนเวียนโดยสะดวก ท่านเคยกล่าวดังนี้ “สำหรับฉันเงินไม่มีประโยชน์อะไรเลย ฉันเอามันไว้ก็เพื่อใช้จ่าย กินมันก็ไม่ได้ ปลูกมัน (อย่างต้นไม้) ก็ไม่ได้” จากความคิดเรื่องเงินดังนี้ ท่านเลยก้าวหน้าขอตั้งธนาคาร เรียกว่าธนาคารเพื่อการแลกเปลี่ยน ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า Banque d' Echange ท่านผู้อ่านพึ่งเข้าใจว่าไม่ใช่เอกซ์เช้นจ์แบงค์ คือ ธนาคารแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างสมัยปัจจุบัน ถึงเป็นคำใกล้เคียงแต่ความหมายคนละเรื่อง

ในธนาคารนี้ ท่านปรูดองก็ให้มีบัตรปริวรรต Bons de Circulation หรือบัตรแลกเปลี่ยน Bons d' Echange ท่านผู้อ่านควรสังเกตว่าในพระบรมราชวินิจฉัยพระปกเกล้าฯ ท่านเรียกบอนด์เหมือนกัน แต่เป็น Bond อังกฤษ พันธบัตรเงินกู้ ศัพท์ใกล้เคียงแต่ความหมายคนละอย่าง เรื่องศัพท์นี้ที่ใช้กันก็ดูยุ่งพิลึก เรื่องธนาคารเพื่อการแลกเปลี่ยนของท่านปรูดองนี้ในปี 1949 ท่านได้ตั้งเป็นธนาคารประชาชน Banque du pouple ลองทำดู แต่สู้ไม่ไหวจึงเลิกล้มไป

5. นักปราชญ์เรื่องลัทธิเศรษฐกิจยังมีอีกมากมาย ถ้าจะพิจารณาเรื่องการแบ่งงานกันทำว่าจะมีผลดีเพียงไร ก็ต้องศึกษาท่านอดัม สมิท เป็นต้นมา ถ้าจะมุ่งไปในเรื่องค่าของสิ่งของที่ว่ามาจากแรงงาน หรือการที่คนงานถูกนายงานเอารัดเอาเปรียบ และการกล่าวหาสังคมที่อาศัยทุน คืออาศัยเอกชนเป็นเจ้าของทุน มีข้อบกพร่องอย่างไร ก็ต้องศึกษาจากหนังสือของท่าน คารล์ มารซ์ก เป็นอันดับสำคัญ 

นักลัทธิเศรษฐกิจทุกท่านเขียนด้วยเหตุผล ด้วยมุ่งหวังจะแก้ข้อบกพร่องต่างๆ ในโลกมนุษย์ บางท่านก็อลุ้มอล่วยโอนอ่อน บางท่านก็รุนแรง บางท่านก็ระวังผลประโยชน์เฉพาะบุคคล บางพวกบางชั้นบางท่านก็มุ่งจะปฏิวัติจิตใจมนุษย์เสียใหม่ ค่อยทำค่อยไปก็มี เอากันอย่างเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียวก็มี การอ่านหนังสือจึงมิใช่ข้อง่าย แต่เราจะไม่อ่านเสียเลยนั้นไม่ได้ อ่านเสียก่อนแล้วจึงวินิจฉัยภายหลัง คนที่เรียนด้วยตำราเดียวกัน อบรมจากบุคคลคนเดียวกันยังมีความคิดในเรื่องเดียวกันแตกต่างกันได้  นี่ก็เป็นเรื่องของวินิจฉัยของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่จำต้องตรงกัน ข้าพเจ้าคิดว่าแตกต่างกันไว้ละดี จะได้เหนี่ยวรั้งกันได้บ้าง หากตามกันดิกเข้ารกเข้าพง มีเหวขวางอยู่เบื้องหน้า ตกไปละก็แย่ทีเดียว

ผลได้ประการอื่นยังมีอีก แต่ข้อความที่ปรากฏในเค้าโครงการฯ รายงานของกรรมการ และพระบรมราชวินิจฉัย แสดงชัดเจนอยู่แล้ว

หลายปีที่ผ่านไป รัฐบาลได้เปลี่ยนไปหลายคณะ ถึงจะไม่มีรัฐบาลใดอ้างเท้าความถึงเรื่องที่ได้โต้เถียงกันใน 2475 แต่เรื่องที่บรรจุไว้ในการโต้เถียงครั้งกระนั้นก็ได้ถูกนำมาปฏิบัติกันในราชการต่อๆ มา ภาษีอากรก็มีการปรับปรุงภาษีมรดกมีขึ้นก็เลิกไป เพราะได้ไม่คุ้มเสีย คือรายจ่ายในการเก็บภาษี เงินเดือนพนักงาน และรายจ่ายอื่นๆ มีมาก ธนาคารชาติก็เกิดขึ้น ธนาคารออมสินก็มีเงินฝากแยะ (อาจเป็นเพราะมีรางวัลออกเป็นสลากก็ได้) ลอตเตอรี่ก็เจริญ มีอาคารมีร้านค้าของตนเอง ทำรายได้ให้รัฐมิใช่น้อย กาสิโนโผล่ขึ้นมาโดยชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงอึดใจเดียว เพราะหลายท่านยังอยากให้อยู่ในสภาพบ่อนเถื่อนสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีน้อย แต่เถื่อนมีมาก พิจารณาดูตามกฎหมาย เมืองเราเป็นเมืองที่ปราบการพนันกันเต็มที่ คำว่า การพนัน กฎหมายขณะนี้ให้วิเคราะห์ศัพท์ไว้อย่างกว้างขวางที่สุด คลุมถึงการขันต่อด้วย พวกนักเล่นกอล์ฟพนันที่จริงก็ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีใครจับกันสักราย เทนนิสเขาก็ว่าเวลานี้เล่นกัน จักต้องพนักอย่างน้อยก็เอาลูกเทนนิส ซึ่งก็ผิดกฎหมายอีก

ฉะนั้น ในการพิจารณากฎหมายพนันใหม่จึงต้องแยกขันต่อออก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็แยกไว้นมนานแล้ว ขันต่อมิใช่พนัน แต่กฎหมายเดี๋ยวนี้ถือว่าเป็น

ส่วนสหกรณ์ ขณะนี้ก็ยกเป็นกระทรวง ขยายกันเต็มที่ ทุกรัฐบาลจะต้องบอกกล่าวในนโยบายว่าจะสนับสนุนสหกรณ์ตัดคนกลาง ก็แปลว่าทุกรัฐบาลมีนโยบายในเรื่องสหกรณ์เหมือนกัน คือ เหมือนกันตามตัวหนังสือ สมัยนี้มีเงินได้ชนิดหนึ่งซึ่งท่านปรีดีไม่ได้กล่าวถึง สมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงไม่ได้ให้พระบรมราชวินิจฉัยไว้ เงินได้ชนิดนี้คือ เงินช่วยการศึกษาและสาธารณสุข ไม่เรียกว่าเป็นภาษีหรืออากร เพราะถ้าเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดจะต้องตราเป็นกฎหมายผ่านสภาและเงินต้องเข้างบประมาณแผ่นดิน เรียกว่า “เงินช่วย” ไม่ต้องบอกว่าเสีย แต่ถ้าไม่เสียเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำกิจการที่เราประสงค์จะให้เขาทำได้ เขาจะใส่ลิ้นชักก็ได้จะให้มาวันหลังก็ได้ ใครจะต่อล้อต่อเถียงเสียเวลาเสียการงาน จะเรียกห้าบาท สิบบาท ยี่สิบบาท หรือมากกว่านั้น เราก็ต้องยอม เพราะดีกว่านั่งรถกลับแล้วต้องมาใหม่

เงินช่วยนี้นำส่งยังเจ้าหน้าที่คลัง มิใช่เข้างบประมาณแผ่นดิน ผู้มีอำนาจจะจ่ายอย่างไรก็ได้ จำนวนเงินช่วยนี้ที่ได้ในปีหนึ่งได้โดยความสมัครใจของผู้บริจาคช่วยเอง ว่ากันว่าได้มากกว่าเงินได้จากอากรแสตมป์ ท่านผู้คิดเรื่องเงินช่วยนี้เก่งมาก นับว่ามีความคิดเฉียบแหลม ลงทุนน้อยได้ผลมาก แล้วไม่มีใครบ่นเสียด้วย เฉียบแหลมยิ่งกว่าท่านปรีดีและนักการคลังทั้งหลาย

ท่านปรีดีแพ้คนสมัยปรมาณูดาวเทียมแล้ว เพราะสมัยนี้เป็นสมัยนายหน้า สมัยเซ็งลี้ สมัยวิ่งเต้นเก็บค่าต๋ง ค่าให้ความสะดวก จับฝิ่นทีไรก็ได้สินบนนำจับรวยไปเลย ทั้งๆ ที่กฎหมายอาญาจะอย่างเก่าหรือใหม่ก็ตามก็บัญญัติเรื่องการให้สินบนว่าผิดกฎหมาย แต่เราก็นำไปเขียนไว้เป็นกฎหมายอีกฉบับรับรองในบางกรณีว่า เป็นการถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสิ่งที่ชอบเสียด้วย เมื่อกฎหมายเปิดช่องให้คอร์รัปชั่นได้ ทำไมบุคคลจะยอมอินคอรัปต์ ข้าพเจ้าก็รู้เหมือนกันว่าสินบลที่ถูกต้องนี้จะเรียกกันใหม่ว่า “รางวัลนำจับ”

สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพระวิตกว่า เราจะกู้เงินจากต่างประเทศเขาไม่ได้ ท่านว่าชื่อเราจะเหม็น ท่านปรีดีคิดว่ากู้ได้ถ้าเรากู้มาทำงานกันอย่างจริง ต่อมาท่านปรีดีได้เคยเจรจาแปลงเงินกู้กับอังกฤษสำเร็จ แต่ขณะนั้นท่านต้องไปถึงอังกฤษ สมัยนี้เราไม่ต้องขอกู้เงินใคร ต่างประเทศเขาขอให้เรากู้เขาเอง เขามาหาเราเองถึงเมืองไทย บริษัทเอกชนส่งเสริมเศรษฐกิจยังกู้ได้ รัฐมนตรีคลังลงชื่อค้ำประกันแทนรัฐบาลเท่านั้นก็ใช้ได้ ว่ากันเป็นพันๆ ล้าน เรื่องการกู้เงินเลยกลายเป็นของกล้วยๆ

โลกเรานี้ก็แปลก ถึงกับต้องหว่านเงินหาพวกพ้องกันแล้วหรือ ผู้จะให้กู้ยังอวดอ้างว่าไม่มีพันธะใดๆ ผูกพันเสียด้วย คล้ายกับว่าจะชำระก็ได้ไม่ชำระก็ได้ ทำให้นิสัยดีๆ เสียหมด ท่านนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ และจนชั้นข้าราชการต่ำๆ ผ่านเมืองไทยต้องให้สัมภาษณ์แก่พวกหนังสือพิมพ์เมืองไทยทุกทีว่า ประเทศเขาอยากช่วยเหลือเมืองไทย ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นก็เที่ยววิ่งขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ ไม่รู้ว่าจะเบ่งกันไปถึงไหน

แต่เราจะอยู่เฉยก็ไม่ได้ โม้มาก็ต้องโม้ไปบ้าง ไม่เป็นแก่นสารก็ช่างเถิด แต่ขอให้เป็นเรื่องภายนอก เรื่องภายในของประเทศไทยข้าพเจ้าขอให้เป็นเรื่องแก่นสารก็แล้วกัน

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งใน เดือน บุนนาค ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก (๒๕๑๗) กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สามัคคีธรรม, หน้า 366 - 388