ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ภราดรภาพนิยม: หลักคิดของปรีดี พนมยงค์ เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

25
พฤษภาคม
2564

สำหรับใครที่มีโอกาสฟังปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2564 โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา จะพบว่าเป็นบทปาฐกถาที่นำเอาข้อคิดของปรีดีมาเชื่อมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างลงตัว เสมือนสะพานเชื่อมความคิดว่าด้วยความเท่าเทียมกันในสังคมของปรีดี พนมยงค์กับคนหนุ่มสาวในยุคสมัยปัจจุบันที่กำลังเรียกร้องประเด็นรัฐสวัสดิการ ภายใต้ความเหลื่อมล้ำที่ดำเนินไปอย่างก้าวร้าวรุนแรง

แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปในยังพื้นฐานของความคิดในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น จะพบว่าแม้การสร้างระบอบประชาธิปไตยจะวางอยู่บนของสามสิ่งคือ เสรีภาพ เสมอภาค และ ภราดรภาพ แต่ผลงานจำนวนมากของปรีดีโดยเฉพาะด้านความเป็นธรรมของเศรษฐกิจและสังคมพบว่า มีฐานมาจากแนวคิด “ภราดรภาพนิยม” 

เนื้อหาถัดจากนี้คือหลักหมายของบทความ ที่จะอธิบายให้เห็นว่าปรีดีเลือกรับปรับแนวคิดจากนักคิดฝรั่งเศสให้เข้ากับภูมิหลังของชีวิตปรีดีในสยามอย่างไร 

รัฐสวัสดิการที่มาก่อนกาล

แม้ว่าในปี 2476 การนำเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” จะทำให้ปรีดีต้องออกนอกประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับฝ่ายอนุรักษนิยม และเมื่อกลับประเทศแล้ว ก็ต้องยุติข้อเสนอนั้นไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ปณิธานในการสร้างความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจให้แก่ราษฎรก็มิได้เลือนหายไป เพราะเมื่อปรีดีกลับสู่ประเทศ ในปี 2478  และเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา สิ่งแรกๆ ที่ทำเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ คือ การเดินทางไปเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่รัฐบาลรัชกาลที่ 6 ได้ทำไว้กับอังกฤษ จากเดิมที่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี จึงเหลือร้อยละ 4 ต่อปี และยังทาบทามรัฐบาลอีกหลายประเทศแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคต่างๆ รวมไปถึงในช่วงที่ปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้ทยอยแก้ไขภาษีอากรให้เป็นธรรมมากขึ้น เช่น ยกเลิกภาษีรัชชูปการ ซึ่งเป็นซากตกค้างจาก “เงินส่วย” ที่ราษฎรต้องเสียให้กับเจ้าศักดินา มีการยกเลิกอากรค่านา ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นธรรม มีการสถาปนาประมวลรัษฎากร รวมไปถึงการยกเลิกการถือเงินปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งลดค่าลงและเปลี่ยนไปซื้อทองคำแทนโดยเก็บไว้ในตู้นิรภัยของกระทรวงการคลัง จนกระทั่งกลายเป็นทุนสำรองของชาติจนถึงทุกวันนี้

จากการที่ปรีดีเดินทางไปเจรจาสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศมหาอำนาจ ก็ส่งผลต่อการแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจหลายประการ เช่น แก้ไขสนธิสัญญาจนเริ่มจากสหรัฐในปี 2463 แม้ยังมีการกำหนดเพดานสูงสุดของภาษีศุลกากรที่สยามสามารถเรียกเก็บได้อยู่เป็นเวลา 10 ปี จนในช่วงปี 2480 สนธิสัญญาใหม่มีส่วนทำให้ไทยมีอิสระเต็มที่ทางรัษฎากร

เพื่อที่จะสร้างความเสมอภาคแก่ราษฎร นอกจากเรื่องสิทธิทางการเมือง การศึกษาแล้ว ปรีดียังเห็นความสำคัญของการลดภาระทางเศรษฐกิจให้แก่ราษฎร อาทิ ยกเลิกอากรนาเกลือ ภาษีสมพัตสร ปรับปรุงภาษีการธนาคารและการประกันภัย ลดภาษีโรงเรือนที่ดิน เป็นต้น รวมไปถึงผลักดันให้มีการตรากฎหมายสำคัญ เช่น พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ซึ่งมีอัตราภาษีแบบก้าวหน้า ความคิดเช่นนี้สอดคล้องกับแนวคิดรัฐสวัสดิการที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมาอีกครึ่งศตวรรษ

มนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน

ร่องรอยของผลงานมากมายนั้น สะท้อนให้เห็นจากแรงบันดาลใจของปรีดีเองที่ว่า 

“การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใดๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ”

จากการค้นคว้าของ ‘ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล’ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอว่า จะเห็นพื้นฐานความคิดข้อนี้ของปรีดีได้จากการชี้แจงต่อคณะกรรมานุการเค้าโครงการเศรษฐกิจ ที่บางช่วงบางตอนระบุว่า

“ตามหลักของข้าพเจ้านั้น เป็นลัทธิหลายอย่างที่ได้คัดเลือกเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสำคัญอาศัยหลักโซเชียลลิสม์ ไม่ใช่คอมมูนิสม์ คือถือว่า มนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน เช่น คนจนนั้น เพราะฝูงชนทำให้จนก็ได้ คนเคยทอผ้าด้วยฝีมือ ครั้งมีเครื่องจักรแข่งขัน คนที่ทอผ้าด้วยมือต้องล้มเลิก หรือ คนที่รวยเวลานี้ไม่ใช่รวยเพราะแรงงานของตนเลย เช่น ผู้ที่มีที่ดินมากคนหนึ่งในกรุงเทพ ซึ่งเดิมมีราคาน้อย ภายหลังที่ดินมีราคาแพง สร้างตึกสูงๆ ดั่งนี้ ราคาที่ดินแพงขึ้นเนื่องจากฝูงชน ไม่ใช่เพราะการกระทำของคนนั้น ฉะนั้น จึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกันและร่วมกันในการประกอบเศรษฐกิจ” (เน้นโดยผู้เขียน)

กล่าวได้ว่าความคิดอ่านในเรื่องนี้ของปรีดีไม่ได้ลอยมาจากอากาศธาตุ หากแต่สั่งสมจากบริบทที่ปรีดีเติบโตขึ้นมาจากลูกชาวนาที่เรียนหนังสือดีจนได้รับทุนไปศึกษายังต่างประเทศ ในข้อเขียนหลายชิ้น เขารับรู้ถึงสภาพสังคม จนครั้งหนึ่งเขาถึงกับระบุว่า “รู้หัวอกของชาวบ้านเป็นอย่างดี” แต่คำถามถัดมาคือ ทำไมทางออกต้องเป็น “ภราดรภาพนิยม”

เราอาจจะเริ่มคิดเรื่องนี้จากคำนิยาม Solidarisme หรือ ภราดรภาพนิยม ที่ปรีดีแปลความออกมา ได้รับการยอมรับมากขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษแห่งการปฏิวัติ (A Century of Revolution: 1789-1920) ในฝรั่งเศส ซึ่งมีการพลิกกลับไปมาระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับระบอบประชาธิปไตย ณ จุดตัดนี้เอง แนวคิดภราดรภาพนิยมก็ปรากฏขึ้นกลายเป็นอาวุธทางปัญญาให้มวลชนผู้ใฝ่หาความเป็นธรรม

นักคิดสำคัญของแนวคิดนี้ คือ ‘ศาสตราจารย์ ชาร์ล จิ๊ด’  (Charles Gide: 1847-1932) เป็นผู้อธิบายหนึ่งในใจความสำคัญคือ “ความเป็นปัจเจกชนนั้นย่อมไม่อาจยืนยันความมีอยู่และไม่อาจพัฒนาตนให้ยิ่งขึ้นไปได้ ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่นน้อยไปกว่าการช่วยเหลือเกื้อกูลตนเองได้เลย” ฉะนั้นนี่เองชาร์ล จิ๊ด จึงสนับสนุนเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบรวมกลุ่ม การจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะต้องนำหลักสังคมนิยมมาใช้

อีกคนที่ตีพิมพ์งานเผยแพร่จำนวนมากเพื่ออธิบายหลักคิดนี้คือ ‘เลอง บูร์ชัวส์’ (1851-1925) โดยเสนอว่า “สาระสำคัญของแนวคิดนี้คือ ในช่วงชีวิตของแต่ละคน มนุษย์มิใช่เป็นแต่เพียงลูกหนี้ของผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับตนเท่านั้น นับแต่วันที่ได้ลืมตาดูโลกมาแล้ว มนุษย์เป็นผู้พันธะผูกพัน อีกนัยหนึ่ง มนุษย์เกิดมาเป็นลูกหนี้ของสมาคมมนุษยชาติ”

จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญนี้ส่งผลต่อปรีดีอย่างไร เมื่อเขามีบทบาททางการเมืองในการกำหนดนโยบายของประเทศอย่างที่แสดงให้เห็นในช่วงแรกของบทความ เพราะแม้ปัจเจกชนจะมีเสรีภาพ และควรจะมีความเสมอภาค แต่การที่ระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ได้ จำเป็นต้องเห็นเพื่อนร่วมชาติในลักษณะที่เกื้อกูลกันด้วย ไม่ใช่ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา แนวทางเช่นนี้ปรีดีขนามนามให้ว่า “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย”

ในแง่นี้เมื่ออาจารย์ฐาปนันท์ กลับไปพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีอีกครั้ง จึงเสนอว่า ภราดรภาพนิยมของปรีดี ย่อมพ้นไปจากการส่งเสริมสนับสนุนการหาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ดังที่ปรากฏในระบอบเสรีนิยม อีกทั้งยังไม่ตกอยู่ภายใต้กรอบความคิดแบบที่ยอมตนอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการเช่นเดียวกัน และเค้าโครงการเศรษฐกิจจึงไม่น่าจะเป็นการแสวงหาหนทางประนีประนอมระหว่างสองขั้วความขัดแย้ง แต่กลับเป็นการแสวงหา “ทางสายกลาง” ที่มีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง 

 

 

อ้างอิง: “ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์” ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2549 โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

หมายเหตุ: ปรับปรุงและแก้ไขเล็กน้อยโดยบรรณาธิการ