ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

PRIDI Economic Focus: เศรษฐกิจของความรักชาติในเค้าโครงการเศรษฐกิจ

21
พฤศจิกายน
2565

ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความน่าสนใจทั้งในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจ ในแง่หนึ่ง ปรีดี เป็นนักคิดและเป็นนักปฏิบัติภายในตัวเอง โดยมีความคิดในการผสมผสานเอาหลักการทางเศรษฐกิจหลายๆ เรื่องมาใช้เพื่อวางโครงการทางเศรษฐกิจ หนึ่งในแนวคิดสำคัญ และอาจเรียกได้ว่าเป็นอุดมการณ์สำคัญของ ปรีดี คือ ความรักชาติ ซึ่งสะท้อนอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ถูกนำเสนอมาควบคู่กับเจตนารมณ์จะทำเพื่อบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

 

 

สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจ

เค้าโครงการเศรษฐกิจเป็นความพยายามของ ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นเอกสารการวางแผนทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการวางแผนเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมไทย

ในความเห็นของ ปรีดี พนมยงค์ มองว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความสำคัญ และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย โดยปรีดีมีความเห็นว่า การเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์จะต้องเป็นประชาธิปไตยทั้งในทางการเมืองและประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป เพราะหากประชาชนยังมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากก็จะไม่สามารถดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีทางของประชาธิปไตยได้[1]

อย่างไรก็ดี เค้าโครงดังกล่าวนั้นยังเป็นเพียงกรอบและมีลักษณะเป็นแผนการเบื้องต้นพอสมควร ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อไป  อนึ่ง เค้าโครงได้สะท้อนวิธีคิดสำคัญและแนวทางของ ปรีดี ในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ประกอบไปด้วยเนื้อหาสำคัญหลายส่วน โดยแบ่งออกเป็น 10 หมวด โดยเริ่มต้นจากคำชี้แจงในการมีเค้าโครงการเศรษฐกิจ และตามด้วยเนื้อหาในหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวด 1 ประกาศของคณะราษฎร หมวดที่ 2 ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน หมวดที่ 3 การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร หมวดที่ 4 แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก หมวดที่ 5 วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน, แรงงาน เงินทุน หมวดที่ 6 การจัดทำให้รายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ หมวดที่ 7 การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์ หมวดที่ 8 รัฐบาลจะจัดให้มีการเศรษฐกิจชนิดใดบ้างในประเทศ หมวดที่ 9 การป้องกันความยุ่งยาก ในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง หมวดที่ 10 แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ

 

ความรักชาติในเค้าโครงการเศรษฐกิจ

ความรักชาติในทางเศรษฐกิจหรือแนวคิดเศรษฐกิจแบบชาตินิยมเป็นสิ่งที่ปรากฏในแนวคิดการบริหารเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ ที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนในหลายๆ เรื่อง[2] โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างชาติและการพัฒนาชาติให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ซึ่งความรู้สึกในเชิงชาตินิยมนี้เป็นความรู้สึกร่วมกันของสมาชิกคณะราษฎรผู้ก่อการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีเจตนาต้องการให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ[3]

ประกอบกับในเวลานั้นภายในประเทศไทยระบบเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยต่างชาติ บริษัทโดยส่วนใหญ่ของประเทศไทยในเวลานั้นเป็นบริษัทของชาวตะวันตกหรือชาวจีน[4]

ในส่วนของ ปรีดี พนมยงค์ หลักฐานที่ชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ใช่เพียงแค่การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรเท่านั้น แต่ต้องการให้การสร้างชาติและพัฒนาชาติให้ทัดเทียมอารยประเทศปรากฏอย่างชัดเจนในคำชี้แจงของปรีดี พนมยงค์ ในรายงานการประชุมคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า

 

“...ถ้าเราจะถอยหลังเข้าคลองให้คนมีความต้องการเพียงผ้าที่ปิดร่างกายนิดหน่อยเหมือนคนป่าแล้ว และถ้ากลับเป็นคนป่า เราไม่ต้องทำอะไรมาก ปัญหามีอยู่ว่าเรากลับเป็นคนป่านั้น ต้องการกันหรือไม่ เวลานี้มนุษย์สัมพันธ์กันมาก เราต้องเทียบฐานะของเรากับประเทศที่เจริญแล้ว จึงจะเห็นได้ว่า เราแร้นแค้นเพียงใด เราต้องพยายามทำให้ถึงเขา...”[5]

 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแหล่งความรู้ ปรีดี พนมยงค์ อ้างถึงในการจัดทำเค้าโครงการเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า ปรีดี ได้รับอิทธิทางความคิดสำคัญมาจาก เฟรดอริค ลิสต์ (Friedrich List) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยม โดยเชื่อว่าภายในประเทศจะต้องมีการลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม กสิกรรม และศิลปวิทยาให้พร้อมมูลเพื่อป้องกันมิให้ประเทศเกิดการขาดดุลทางการค้า และอาจจะมีการตั้งกำแพงภาษีเพื่อให้เกิดการคุ้มครองเศรษฐกิจภายในประเทศ (protectionism)[6]

จากปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อมีการยกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในเวลานั้น ปรีดี พนมยงค์ จึงพยายามนำแนวคิดเกี่ยวกับชาตินิยมทางเศรษฐกิจมาตราไว้ อาทิ การผลิตสินค้าให้มีความหลากหลายภายในประเทศ การเข้ามาดำเนินการทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลผ่านการจัดตั้งองค์การทางเศรษฐกิจของรัฐบาล (รัฐวิสาหกิจ) การพยายามทำให้ประเทศได้ดุลการค้าโดยการส่งออกมากกว่านำเข้า การผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในชาติเพื่อให้คนในชาติเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนา[7] ซึ่งบรรดาแนวคิดเหล่านี้จะนำไปสู่การตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบการทางเศรษฐกิจ พ.ศ. ... ต่อไป

นอกจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมแล้ว ปรีดี ยังตั้งใจจะให้รัฐเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยตั้งใจให้รัฐเป็นกลไกในการรวบรวมความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งสะท้อนนัยของอุดมการณ์เศรษฐกิจแบบภราดรภาพนิยม (solidarism)[8] ผลสัมฤทธิ์สุดท้ายที่ ปรีดี คาดหวังไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจก็คือ การวางแผนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นในชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจาก ปรีดี มองสภาพเศรษฐกิจและสังคมในเวลานั้นว่าประชาชนมีความยากลำบากและมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ดังปรีดีกล่าวว่า

 

“...ผมได้กล่าวแล้วถึงสภาพสังคมไทยที่ผมประสบพบเห็นแก่ตนเองว่า ราษฎรได้มีความอัตคัดขัดสนในทางเศรษฐกิจ และไม่มีสิทธิ เสรีภาพ กับเสมอภาคในทางการเมืองอีกทั้งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและอำนาจของหลายประเทศทุนนิยม ผมมีความคิดก่อนที่ได้ศึกษาในฝรั่งเศสว่า จะต้องค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมว่า มีวิธีใดที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น...”[9]

 

[1] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 มิถุนายน 2563) สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565.

[2] อนุสรณ์ ธรรมใจ, ปรีดี พนมยงค์ : รัฐบุรุษผู้อภิวัฒน์ (กรุงเทพธุรกิจ Bizbook 2552) 149.

[3] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ (พิมพ์ครั้งที่ 2, เรือนแก้วการพิมพ์ 2544) 384 – 386.

[4] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, สังคมกับเศรษฐกิจ (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2519) 321 อ้างถึงใน เพิ่งอ้าง 390.

[5] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (พิมพ์ครั้งที่ 2, เรือนแก้วการพิมพ์ 2552) 151.

[6] สถาบันปรีดี พนมยงค์, ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ (สถาบันปรีดี พนมยงค์) สืบค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2565.

[7] เพิ่งอ้าง.

[8] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 15 มิถุนายน 2563) สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565.

[9] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (พิมพ์ครั้งที่ 2, สถาบันปรีดี พนมยงค์ 2542) 51.