เกือบ 90 ปีมาแล้วที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมกับคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมเองเป็นคนที่โชคดีมากคนหนึ่ง ที่มีโอกาสได้เรียนปริญญาเอกทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส จึงมีโอกาสได้พบ และได้ไปกราบท่าน ได้ขอความรู้จากท่านอยู่หลายปี แม้แต่วิทยานิพนธ์ที่ผมทำก็ได้ความรู้ และได้วิธีการต่างๆ ในการค้นคว้าหาข้อมูลจากท่าน ในยุคนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ หากต้องไปห้องสมุดก็ต้องไปห้องสมุดหลายที่ ซึ่งแต่ละที่นั้นต่างมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน
สิ่งที่ผมอยากเรียนเข้าสู่ประเด็น คือ ตั้งแต่ยุคท่านปรีดี ปัญหาใหญ่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็คือไม่มีความเท่าเทียมกันของผู้คนในทางกฎหมาย สิ่งที่ท่านปรีดีได้ทำให้เกิดขึ้นก็คือ “ความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย” เป็นที่ชัดเจนว่าก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้จะพูดถึงรัฐธรรมนูญที่มีการเตรียมการไว้หลายฉบับ แต่ประเด็นใหญ่ประเด็นเดียวก็คือว่า “อำนาจเป็นของใคร?”
ก่อนหน้านั้นถือว่าอำนาจเป็นของผู้ปกครองทั้งสิ้น เมื่อคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สิ่งที่เปลี่ยนอย่างมหันต์เลยก็คือการเปลี่ยนอำนาจในการปกครองประเทศนั้นเป็นของราษฎร รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”
การยึดอำนาจทุกครั้งที่ผ่านมา คณะผู้ยึดอำนาจไม่เคยกล้าเขียนว่าอำนาจเป็นของผู้ยึดอำนาจ แต่ยังคงเขียนตลอดว่าเป็นของปวงชนชาวไทย ประเด็นคือผู้ยึดอำนาจไม่ได้สนใจปวงชนชาวไทย เขายึดเอาอำนาจของปวงชนชาวไทย และใช้ตามใจชอบเขา นั่นก็คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้น
ดังนั้นหลังจากสิ่งนั้นเป็นต้นมา ท่านปรีดีก็มองตั้งแต่ครั้งนั้นมาว่า เมื่อมันมีความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายคือในฐานะของบุคคล ไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเราจะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันอย่างที่เราเรียกว่า “ภราดรภาพ” คือ อยู่ร่วมกันอย่างพี่อย่างน้อง คือการต้องดูแลซึ่งกันและกัน ทุกคนคงเท่ากันเป๊ะไม่ได้ แต่ต้องไม่มีคนลำบาก และไม่ควรต้องมีคนยากจน ต้องอยู่อย่างพ้นความยากจน
สิ่งที่ประเทศจีนเขาตั้งเป้าไว้ก็คือ 100 ปีในการก่อตั้งพรรค เขาทำให้คน 1,400 ล้านคนพ้นจากเส้นความยากจน ในประเทศจีนเมื่อก่อนจำนวนประชากรเป็นปัญหา แต่วันนี้จำนวนประชากรเป็นพลัง ถ้าคน 1,400 ล้านจนนั่นคือปัญหา แต่ถ้าคน 1,400 ล้านไม่จน และมีคนจำนวนไม่น้อยที่รวย อันนี้คือ พลังทางเศรษฐกิจ พลังทางการทำมาหากินทุกอย่าง และไม่ได้แปลว่าระบบเขาจะถูก หรือ จะผิด จะดี หรือ ไม่ดี แต่เป็นการมองเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ตรงนั้น
ตั้งแต่ท่านปรีดีเสนอ “สมุดปกเหลือง” หรือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” จนถึงวันนี้ ถามว่าประเทศไทยได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรกไม่ได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้แต่ไปอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ถูกกล่าวหาว่าคอมมิวนิสต์
ท่านปรีดีมองว่า รัฐต้องวางแผนอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้แต่ประชาชนต้องมีการรวมตัว ท่านจึงใช้ “ระบบสหกรณ์”
วันนี้เราจะเห็นได้ชัดว่ายิ่งคนตัวเล็กเท่าไหร่ไม่รวมตัว จะไม่เกิด Economy of Scale หมายถึงอำนาจในการต่อรองไม่มี เบี้ยหัวแตกหมด รัฐไม่ฟังประชาชน แต่เขาฟังสมาคมธนาคาร สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เพราะเขาตัวใหญ่หมด เสียงของพวกเขามีพลัง และที่สำคัญคือเขามีทุน
ปัญหาคือเมื่อรัฐอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มพวกนี้ คนตัวเล็กจะถูกละเลย ไม่มีใครมองเห็น ความเท่าเทียมมีแต่ในแง่วาทกรรมในทางกฎหมาย ความเท่าเทียมในความเป็นจริงจึงเป็นปัญหาอย่างมาก
เหล่านักวิชาการใครต่อใครมักจะบอกว่ารัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในรัฐประชาธิปไตย เพราะระบบทุนนิยมนั้นไม่ว่าคุณจะพยายามห้ามผูกขาด ห้ามนั่นทำนี่แต่โดยเทคโนโลยี โดยอำนาจของทุน โดย R&D (การวิจัยและการพัฒนา) คนตัวเล็กก็อยู่ที่เดิมไปไหนไม่ได้ ผมคิดว่าคงไม่ต้องมาพูดแล้วว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น เพราะมันจำเป็น แต่ถามว่าแล้วมันมีการบันทึกบัญญัติไว้ในที่ไหนบ้างไหม
ผมอยากจะเรียนว่ารัฐธรรมนูญไทยมีความพัฒนามาก เพราะเริ่มตั้งแต่ไม่มีอะไร ก็มาเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพ เขียนเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งมีการเติมมาเรื่อยๆ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น สิทธิจะได้รับการศึกษาฟรี 12 ปีจนจบ สิทธิในสาธารณสุขขั้นมูลฐาน และถ้ายากจนก็ไม่ต้องเสียตังค์ด้วย
ในเรื่องหน้าที่ของรัฐ ต้องจัดทำอะไรบ้าง รวมไปถึงการดูแลคนวัย 60 ปี ที่จะต้อง มีพ.ร.บ.ว่าด้วยผู้สูงวัย ในอายุ 60-69 ปี จะได้เงิน 600 บาท 700 บาท 800 บาท 1,000 บาท ไล่ไปตามสเกลอายุ ในปัจจุบันงบก้อนนี้ใช้เงินประมาณ 91,000 ล้านบาท
ในเรื่องของหญิงมีครรภ์ต้องได้รับความดูแลก่อนและหลังคลอดบุตร การประกันการมีงานทำ เรื่องรายได้ เรื่องสวัสดิการ ประกันเรื่องสุขภาพ เป็นหน้าที่ของรัฐ และเป็นสิทธิที่จะเข้าถึงบริการของประชาชน
ในเมื่อเรามีถึงขนาดนี้ แต่ทำไมเรายังรู้สึกว่ามันไปไม่ได้ เป็นเพราะอะไรต้องมาตีปัญหาตัวนี้ให้แตก ที่มันไปไม่ได้เพราะประเทศนี้มันเดินมาถึงจุดที่ตกต่ำที่สุด โดยหลักๆ มาจาก 2 สาเหตุ
เหตุแรก คือ ความคิดแบบอํานาจนิยมที่ไม่เคยหายไปจากประเทศนี้ อํานาจนิยมยังดำรงอยู่ตลอดเวลา
เหตุที่สอง คือ ระบบรัฐราชการ อำนาจนิยมใช้ราชการเป็นกลไกเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจนิยม บางคนยึดอำนาจอาจจะตั้งใจดี สุดท้ายก็ถูกหล่อหลอมด้วยรัฐราชการ
ในวันนี้ดูสิ่งที่รัฐบาลทำยังมันตอบโจทย์รัฐราชการยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น คนตกงาน บัณฑิตจบมาจะตกงาน แทนที่จะเอาเงินไปให้ในรายที่เขายังทำธุรกิจได้ อาจจะเป็น SMEs หรือใครก็ตามแต่ เขาจ้างคนของเขา 6 เดือน จ้างพนักงานราชการ 10,000 คน เพื่อมาดูเรื่องโควิด มันไม่สามารถตอบโจทย์อะไรได้เลย เมื่อครบ 6 เดือน คนเหล่านี้จะไปไหนต่อ ยังไม่รู้ คือเติมเงิน เติมคน เติมทรัพยากรทุกอย่างเข้ากับระบบแล้วก็โทษนักการเมืองไปเรื่อย นักการเมืองในอดีตซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่บ้าง ที่เอางบประมาณใส่ในจังหวัดของตัวเอง เพราะถือว่ายังไงจังหวัดของฉันก็เลือกฉันหมด แต่คนอื่นเขาไม่ได้ นี่คือความเหลื่อมล้ำจากการบริหารจัดการประเทศโดยการใช้เงิน โดยการหาภาษี
GDP ของเรา 16 ล้านล้าน รายได้จากภาษีแค่ 15% ที่เราเก็บไว้ใช้งบประมาณในปีนี้โดยประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท มาจากภาษี VAT ประมาณ 750,000 ล้าน ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 600,000 ล้าน ภาษีบุคคลธรรมดา 330,000 กว่าล้าน ที่มากและขึ้นเป็นประวัติการณ์ 90 % เมื่อเทียบกับปี 60 คือภาษีปิโตเลียม จาก 30,000 - 40,000 ล้านกลายเป็น 110,000 ล้าน เราจึงใช้น้ำมันแพงมโหฬาร เพราะตัวนี้เป็นรายได้หลักที่รัฐไม่ยอมเอาออกไป
วันนี้อ่านข่าวนายกสั่งให้ช่วย SMEs เต็มที่ SMEs มีประมาณ 3.02 ล้านราย มีชื่ออยู่ในระบบธนาคาร ประมาณ 15 % (ประมาณ 460,000 ราย) อยู่ในระบบสรรพากรเพียงประมาณ 20% (ประมาณ 600,000 ราย) ดังนั้นท่านจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมฐานภาษีจึงต่ำเตี้ย และปีใน 2563 เก็บภาษีรายได้ที่สูงขึ้น 90% คือปิโตเลียม นอกนั้นร่วงหมด ไม่ว่าจะเป็น VAT หรือ นิติบุคคล
ระบบภาษีนิติบุคคลก็แฟลต 20% เท่ากันหมด ยกเว้น SMEs ขนาด 300,000 - 3 ล้าน อันนี้เสีย 15% ถ้า 3 ล้าน กับ 1 บาท เสีย 20% เท่าบริษัทยักษ์ใหญ่ คุณกำไร 10,000 ล้านเสีย 2,000 ล้าน คนกำไร 3 ล้าน กับ 1 บาทก็เสียไป 600,000 บาท คนตัวเล็ก สเกลเล็กอยู่ไม่ได้เลย เบี้นหัวแตกหมด ตรงนี้ที่เป็นปัญหาใหญ่
ดังนั้น ผมจึงบอกว่าประเทศนี้มีแต่วาทกรรม และถ้าจะดูให้สนุกตรงไหนไหมครับ นี่มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มี 6 ด้าน มียุทธศาสตร์อีก 10 ด้านที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งออกตามแผนยุทธศาสตร์ปาเข้าไป 16 ด้าน และยังมีอีก 6 - 7 ด้านในการปฏิรูปประเทศ ไม่นับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ ไม่มียุคไหนที่จะมียุทธศาสตร์มากกว่ายุคนี้อีกแล้ว แต่ผลที่เราเห็นคือการจะหนีกับดักรายได้ปานกลางหมายถึงว่า ในปี 2580 เราจะเป็นประเทศรวย ทุกคนเมื่อเฉลี่ยแล้วจะมีรายได้ต่อหัว ต่อปี 500,000 บาท
ในวันนี้เราจะพ้นจนหรือไม่ยังไม่รู้เลย ถามมันทำไปได้อย่างไร 7 ปีที่ผ่านมา กู้โปะงบประมาณ 5 ล้านล้าน ที่แย่กว่านั้นคือหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ภาคประชาชนเกือบ 90 % ของ GDP ตีว่า 90 ก็แล้วกัน GPD 16 ล้านล้าน อันนี้ 14 ล้านล้านกว่าเข้าไปแล้ว ดูตัวเลขนี้มันไปยากหมดเลย สวัสดิการก็จะไปยาก แต่ว่ามันต้องทำ
ถามว่าเราจะเอาเงินจากไหน?
ผมดูร่างพ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งจัดทำ เขาเสนอให้มีบำนาญของผู้สูงวัยคือ 60 ปี วันนี้คน 60 ปี มีพ.ร.บ. ผู้สูงวัย ได้เงินผู้สูงวัยที่บอก 600 700 800 1,000 บาท ใช้เงินประมาณ 91,100 ล้านบาท เขาก็จะเอาตัวนี้เข้าไปแทนทั้งหมดเพื่อให้ได้คนละ 3,000 บาท
เรายังนึกภาพ 3,000 บาท ถ้าคน 12 ล้านคน จะเท่ากับ สามล้านสามแสนหกหมื่นล้านบาท คำถามเพื่อเอาเงินมาจากไหน?
ในร่างพ.ร.บ. เขาบอกว่าให้ยกเลิกเรื่องผู้สูงวัย ก็จะได้มาแล้วเกือบแสนล้าน ก็ยังเหลืออีก 200 แสนกว่าล้านเอามาจากไหน?
เขาก็ลิสต์เลยว่ารายได้จากภาษีมีอะไรบ้าง ภาษีในระบบคือจะไปเอาของเดิมที่เคยจ่ายอยู่ก็คงจะไม่ง่าย ส่วนที่จะเติมเข้ามา เช่น ลอตเตอรี่พิเศษ หรือ ตัดออกจากลอตเตอรี่มาบ้างที่กำลังจะพยายามทำ หรือ อาจจะเอาหวยใต้ดินขึ้นบนดิน ภาษีบาปทั้งหลายไม่ได้มากมายถึงขนาดจะมาดูแลได้ระดับนี้
ในส่วนของการประมาณการภาษีมูลค่าเพิ่มปี 2564 ต้องได้เกือบ 9 แสนล้าน ลงไปแล้วประมาณ 7 แสนล้าน ที่ไม่ขึ้นเพราะเป็นช่วงโควิดติดต่อเนื่องมา แต่ต่อไปนี้รู้สึกท่าทีเพิ่มขึ้นบ้างนิดหน่อย อาจจะคนละครึ่งบ้าง ช่วยกันไปช่วยกันมาลงไปที่ภาษีบริโภคบ้าง ปัญหาใหญ่ก็คือถ้าฐานภาษียังเตี้ยขนาดนี้ มันจะลำบาก แต่ทำไมประเทศนี้มันยังอยู่ได้ ผมว่าสิ่งที่มันเป็นสีเทาสีดำเป็น GDP ไม่รู้เท่าไหร่ แต่เผลอๆ อาจจะเท่ากับ GDP ที่มันปรากฏข้างนอกคือ 16 ล้านล้าน คนไทยก็ยังอยู่กันได้แบบนี้ เพราะฉะนั้น ประเทศนี้ที่เราต้องต่อสู้ ก็คือสู้กับความคิดอำนาจนิยมต้องเอาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบกลับมา
เราถึงพยายามผลักดันว่าต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คุณไปกลัวอะไรถ้ามีคนจะเลือกคนไปเขียน เขาให้ความเห็นชอบในประชามติ แล้วมันจบแบบนั้น ความขัดแย้งวิกฤตทั้งหลายให้ประชาชนเขาตัดสินใจเองว่าจะเอาแบบไหน เขาจะเลือกเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ ผมรับได้เลยจบ เพราะประชาชนไทยเขาเอาอย่างนั้น ซึ่งอาจจะไม่ดีแต่เมื่อเขาเลือกอย่างนั้น ต้องจบที่กระบวนการตรงนั้น คุณกล้าไหมล่ะ ทำอย่างนี้ด้วยกัน
เราเสนอทีแรกก็คือแก้ทั้งฉบับ เอาล่ะ ตอนนั้นในคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรศึกษากันก็ไม่ได้แตะหมวด 1 หมวด 2 ไม่มีใครพูดถึง ไม่พูดถึงก็เพราะมองว่าตั้งแต่หมวด 3 เรื่องเสรีภาพ เป็นเรื่องที่เราต้องจัดการกับตัวเราก่อนให้แข็งแรงที่สุด ถ้าได้ตรงนี้ขณะเดียวกันระหว่างนั้นจะแก้จุกจิกไปบ้างที่เป็นการทำลายอำนาจนิยมว่าไป แต่ไอ้ที่ไม่รู้ว่าคืออะไรก็ไม่จำเป็น เพราะว่ามันเถียงกันไม่จบ
ทีนี้ถามว่าเมื่อระบบนี้ แข็งแรงขนาดนี้ ระบบอำนาจนิยม รัฐราชการ ผมเป็นรัฐมนตรี รับราชการทางการเมืองเกือบทั้งชีวิต คิดตลอดว่า เราหวังจะทำอย่างนั้น เราหวังอยากจะให้ประชาชนได้อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ผมไม่เชื่อสิ่งนั้นอีกแล้ว ยิ่งไปเติมให้รัฐราชการยิ่งแข็งแรง มันยิ่งเป็นปีศาจร้ายหนักเข้าไปอีก โรงงานยาสูบไม่เป็นนิติบุคคล มีสนามกอล์ฟ มีโรงพยาบาล มีทุกอย่าง นี่คือรัฐราชการไทย ทุกหน่วยงานชิงทรัพยากรมาไว้ที่ตัว เพื่อฉันจะมีมากที่สุดไว้ดูแลคนของฉัน แล้วคนอื่นอยู่ตรงไหน มันไม่มี นี่คือสวัสดิการอย่างหนึ่ง แต่ให้กับคนที่อยู่ในรัฐราชการ ไม่ได้ให้กับประชาชน
ผมจึงคิดใหม่ว่าต่อไปนี้ ผมมีอยู่ 2 คำ คือเราต้อง Liberate คือ ปลดปล่อยประชาชน และ Empower ประชาชน ถามว่า Liberate ประชาชนจากอะไร จากพันธนาการของรัฐราชกาลทั้งหลาย ผมได้คุยกับ TDRI เขาศึกษากระบวนการอนุมัติอนุญาตเป็นพันๆ กระบวนการมันก็มีเรื่องตลก คือ หมอนวดแผนไทยอบรมกับกระทรวงเสร็จ แต่กว่าจะได้รับใบอนุญาตต้องรออีก 3 เดือน ทั้งที่เป็นหน่วยงานเดียวกัน ทั้งหมดรัฐราชการพยายามสร้างงานให้ตัวเองด้วยการดึงอำนาจเข้ามา หลายเรื่องไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย แต่การสร้างคือสร้างภาระให้คนตัวเล็ก และยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำหนักขึ้นไปอีก
ดังนั้น Liberate ต่อไปนี้ คือ การอนุมัติ อนุญาต 1,500 กว่าเรื่อง ให้เหลือประมาณ 100 เรื่องที่จำเป็นจริงๆ ที่เหลือจะแก้อย่างไร ผมจึงคิดว่าควรจะร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง ยกเว้นการขออนุญาตสัก 3 ปี
หากคนอยากทำร้านกาแฟ สามารถทำได้เลย ไม่ต้องขออนุญาต แต่ทำให้มันถูกต้องไม่ใช่ผิดเพราะทำถูกแล้วแต่ผิดเพราะยังไม่ขออนุญาต แล้วมันก็ยืดเยื้อวุ่นวายไม่มีวันจบ กระทรวงเดียวกัน คนละกรมก็ถือกฎหมายคนละฉบับ นี่คือสิ่งที่รัฐราชการทำให้คนอ่อนแอ ทำให้เขาถูกพันธนาการไว้หมด
สิ่งที่ 2 ทำไมถึงต้อง Empower SMEs เขาเสนอตั้งสภา SMEs เพื่อเป็นการส่งเสียง เพื่อเป็น Economy Scale จะได้รวมตัวกัน เพื่อจะบอกว่าเขาต้องการอะไร ไม่ต้องการให้รัฐมาส่งโน้นส่งนี้ให้เขา มาจัดงานอบรมสัมมนาติดดอกไม้ เชิญนายกเชิญรัฐมนตรีมา แล้วก็จบไป งบเหล่านี้สามารถนี้ตัดไปได้เลย
ตรงนี้เสนอกฎหมายไปให้เขารวมตัวกัน ปรากฏว่าส่งไปรัฐบาล นายกฯ ท่านยังไม่รับรองจนถึงวันนี้ เขาก็วิ่งหาคุยกับคนนู้นคนนี้หมด อยู่ที่เดิม แต่ถ้าสมาคมธนาคารพูด หอการค้าพูด สมาคมอุตสาหกรรมพูด มันจะได้เรื่อง การที่จะมีรัฐสวัสดิการจะเอาเงินมาจากไหน ในเมื่อคุณทำให้คนที่จะหาเงินมันจะตายหมด ดังนั้นต้อง revise เขาขึ้นมา ปลดปล่อยเขา ให้อำนาจเขา
และที่เราคิดว่าต้องมีต่อไปก็คือ กองทุนอย่างน้อย 4 กองทุน
- กองทุน SMEs
- กองทุน Start Up
- กองทุนวิสาหกิจชุมชน และ
- กองทุนท่องเที่ยว
เราพูดเหมือนง่ายใช่ไหมครับ ถ้าผมมีอำนาจ ผมจะตัดเงินจากส่วนราชการทั้งหลายมากองทุนละ 50,000 บาท แบงค์ชาติที่ทำ Soft Loan 5 แสน แล้วปล่อยไม่หมด มันปล่อยผ่านระบบธนาคาร SMEs อยู่ในระบบธนาคารแค่ 15 % ที่เหลือ มันไม่อยู่ก็ไปกู้นอกระบบ ก็เอามาตั้งกองทุนนี้ คนอนุมัติอยากได้เอาตัวแทนของ SMEs ที่เขารวมตัวกัน
เรารัฐสมัยใหม่ต้องสันนิษฐานว่าประชาชนเขาอยากทำมาหากินสุจริตและยั่งยืน และต้องให้เขาดูแลซึ่งกันและกัน วันนี้เรามีเทคโนโลยี มีแอพลิเคชั่นเยอะแยะ ถามว่าถ้าคนปลูกข้าวไรซ์เบอรี่มีหมื่นราย ต่างคนต่างขายยังไงก็เจ๊ง ถ้าให้เขารวมตัวภายใต้แอพหนึ่งมีคนมาจัดการให้ รัฐไปดูแล ขายวันนี้ได้ราคาไม่ดี ถ้ารออีก 10 วันได้ราคาดีกว่า แต่ระหว่างนี้มีคน 31 เดือดร้อนไปแก้ปัญหาตรงนั้น วันนี้ไม่มีการจัดการให้คนตัวเล็ก มันเลยอ่อนแอหมด
เรื่องการศึกษา 12 ปี จบแค่ม.ปลาย ภาคบังคับ ผมไปคุยกับเด็ก ดูเขาเรียนออนไลน์ ดูเขาสอบออนไลน์ อันนี้พูดแบบไม่ต้องเกรงใจใคร ผมว่าซ้ำซากวกวน ผมคิดว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ต้อง 12 ปี แค่ 9 ปีก็พอ มหาวิทยาลัยเรียนทำไม 4 ปี สมัยผมเรียนยัง 3 ปีเลยปริญญาตรี ดังนั้น 12 ปีจะจบปริญญาตรีได้เลย ไม่ต้องไปว่าบอกเขาจะต้องเรียนอะไรมากมาย วันนี้ทั้งครูและนักเรียนใช้ Search Engine ใช้ Google เหมือนกันหมด องค์ความรู้มีเต็มไปหมดรอบตัว แต่ต้องสอนให้เขารู้วิธีจะหาองค์ความรู้ที่ถูกต้อง รู้วิธีปรับตัว
ที่สำคัญที่สุด คุณต้องมีเป้าหมายให้เขา บางคนเรียนจบปริญญาเอกเดินมาหาผมให้ผมฝากงาน นี่แสดงว่าเรียนจบปริญญาเอกยังไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไร เขาถามคนอเมริกาประมาณ 70 % ไม่พอใจงานที่ตัวเองทำ ก็แปลว่ายุ่งล่ะ
ดังนั้น คุณต้องมีเป้าหมาย ทำในสิ่งที่คุณชอบ คุณรัก เราต้องให้เด็กเข้าใจอันนี้ ถ้าเด็กตั้งแต่มัธยมรู้ว่าเขาอยากเรียนอะไร เขาจะไปทำอะไร พลังมันมามหาศาล แล้วรัฐไปเติมตรงนี้อีกนิดหน่อย แต่ถ้าเราปล่อยเรียนไปเรื่อยๆ จบบัญชีจุฬา ธรรมศาสตร์ ไปเป็นแอร์ มันเสียทรัพยากรหมด สิ่งนี้เลยต้องเปลี่ยนจากนโยบายที่เราจะไปทำ
ต่อไปนี้ระบบราชการจะต้องมีการให้คะแนน ใครบริการประชาชนอย่างไร ทุกที่ต้องมีแบบนี้หมด ถัดมาก็คือ intensive ที่จะให้ ใครลดหน่วยงาน ลดคน ลดรายจ่ายลงได้ อย่างนี้เอา 2 ขั้น เดี๋ยวนี้ใครเติมได้ ใครขยายได้ยิ่งดี วันนี้คุณไม่ต้องไปใหญ่โตนี่ขนาดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติบอกคุณต้องเป็นรัฐบาลดิจิทัล มันต้องบูรณาการเข้าหาหมด คุณก็ดูการแจกเงินโควิด เละเทะขนาดไหน มันบริการกันยังไง ข้อมูลมันไม่ได้บูรณาการเข้าด้วยกัน แล้วจะใช้ฐานของใคร นี่ดิจิทัลแล้ว และเราต้องมุ่งเรื่องนี้จริงๆ ถ้าฐานมันเพิ่มขึ้นไป วันนี้มัน 15 - 20 % ของ GDP ถ้ามันกลายเป็น 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าแค่ VAT อย่างเดียว จากประมาณ 7 แสน - 8 แสนล้าน มันดับเบิลเลยนะ ถูกไหมครับ
บางส่วนเราต้องให้ประชาชนเขาต้องมีส่วนรับผิดชอบ สมมติว่าเราเพิ่ม VAT 1 %แต่ 1 % นี้ไปให้บำนาญประชาชน ห้ามไปทำอย่างอื่น ถามว่าทุกคนยินดีไหมจ่ายเพิ่มอีก 1 บาทเพื่อพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แล้วก็เพื่อเราในวันข้างหน้า เอาไหมล่ะแบบนี้ มันต้องกล้าที่พูดแบบนี้ ไม่ใช่ว่าก็จะมั่วของเดิมแต่เพิ่มก็เพิ่มไม่ได้ ได้ก็แต่ปิโตเลียมที่ราคามันถูก เก็บภาษีแพงเหมือนเดิมก็ได้มาใช้ได้อีกหกหมื่น เจ็ดหมื่นล้าน
มันจะไปยังไงต่อ ฐานหลักๆ มันต้องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานิติบุคคล นิติบุคคลเราจะช่วยเหลือคนตัวเล็ก คนได้สามแสนล้านกับหนึ่งบาทก็เสีย 20% เท่าคนได้ หมื่นล้าน ไม่เกิน 2 ล้านบาทไม่เสียภาษีสัก 3 ปี ช่วยคนตัวเล็กให้เขาขึ้นมาให้เขาโตได้ หรือ 3 ล้านก็ได้ แต่เราไปเก็บ scale ให้มันมากขึ้น เช่น คนตัวใหญ่กำไรพันล้าน อาจเก็บคุณ 25 % 5 พันล้าน เก็บคุณ 30 % 40 % มันก็เอามามาชดเชยตรงนี้ มันต้องทำให้คนตัวเล็กเขาอยู่ได้
วิธีการลดภาษีคือไปลดภาษีเงินได้ และทำให้เขาเข้าระบบด้วยเพราะเขาจะได้เป็นนิติบุคคล ภาษี VAT คุณจะเก็บได้มากขึ้น มันต้องแก้ด้วยวิธีอย่างนี้ ไม่ใช่บอกว่าเราจะมีนั่นมีนี่ แล้วก็เอาเงินนั่นเงินนี่มา เงินบาปมีไม่เยอะ ลอตเตอรี่ก็เก็บมาได้ส่วนหนึ่ง เอาหวยใต้ดินขึ้นมาก็ได้ มันก็ได้ 9.1 หมื่นล้านซึ่งวันนี้จ่ายอยู่แล้ว หาเงินอีกสองสามแสนล้านไม่ได้ยากเย็น ถ้าคุณกล้าทำเหล่านี้ทั้งหมด
ที่มา: โภคิน พลกุล. PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ห้องประชุมพูนศุข
หมายเหตุ: เรียบเรียงและปรับปรุงโดยบรรณาธิการ