ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บุตรชาย ก.ศ.ร. กุหลาบกับการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475

5
มิถุนายน
2564

เคยเขียนบอกเล่าถึงการที่ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมเบื้องต้นแห่งโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรช่วงกลางทศวรรษ 2450 ได้พบเจอพูดคุยกับ ‘ก.ศ.ร. กุหลาบ’ นักคิดนักเขียนสามัญชนหัวก้าวหน้ายุคระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในวัยชรา และได้รับอิทธิพลทางความคิดมาแล้วผ่านบทความของผมเรื่อง ปรีดีเคยเจอเขาทั้งสอง ! ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ’ ซึ่งตามทัศนคติของนายปรีดี แม้ ก.ศ.ร. กุหลาบ “...จะมีผู้ใส่ความว่าผู้นี้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปพบก็ไม่เห็นว่าท่านฟุ้งซ่าน...”

ในคราวนี้ จึงปรารถนาจะเขียนถึงบุตรชายของ ก.ศ.ร. กุหลาบ กับบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือนายปรีดีเรียกว่า “การอภิวัฒน์” เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

‘นายชาย ตฤษณานนท์’ หรือเจ้าของนามแฝง “ก.ห.ชาย” เป็นลูกชายคนเดียวในบรรดาลูกๆ ทั้งหมดราวๆ 20 คนที่เกิดจากเมียราวๆ 10 คนของก.ศ.ร. กุหลาบ หรือ ‘กุหลาบ ตฤษณานนท์’ ผู้หาญกล้าเสนอแนวทางการปกครองแบบประชาธิปไตยในสยามมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยนายชายเกิดจากภรรยาชื่อแม่หุ่น ธิดาของพระพี่เลี้ยงคง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2418-2419 ท้องนี้มีด้วยกัน 9 คน เป็นผู้หญิง 8 คน และมีลูกชายหนึ่งคน

ลูกๆ ทั้งหมดของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เท่าที่ฝากชื่อเสียงปรากฏในประวัติศาสตร์มีอยู่แค่สองคน นั่นคือ ‘ก.ห. ชาย’ และ ‘ก.ห. สายสร้อย’ ผู้เป็นลูกชายและลูกสาวของแม่หุ่น  ตัวอักษรย่อ ก.ห. นำหน้านามก็มาจากชื่อของบิดามารดา- - กุหลาบ และ หุ่น 

 

ก.ศ.ร. กุหลาบ และนายชาย ตฤษณานนท์ หรือ “ก.ห. ชาย
ก.ศ.ร. กุหลาบ และนายชาย ตฤษณานนท์ หรือ “ก.ห. ชาย

 

ถ้าค้นคว้าหนังสือเกี่ยวกับ ก.ศ.ร. กุหลาบ ก็มักจะพบเห็นภาพถ่ายนายชายยืนเคียงข้างบิดาเนืองๆ คงเพราะเขาคอยช่วยเหลืองานทางด้านการเขียนและออกหนังสือต่างๆเรื่อยมา ทั้งช่วยสอบทานเนื้อหางานเขียน ‘ประวัติลำดับวงศ์ตระกูล  ก.ศ.ร. กุหลาบ’ ที่ตีพิมพ์ใน สยามประเภท เมื่อปี ร.ศ. 123 (ตรงกับ พ.ศ. 2445) ก่อนหน้านั้น ช่วงระหว่างปี ร.ศ. 117-120 (ตรงกับ พ.ศ. 2441-2444)  นายชายเคยทำหน้าที่บรรณาธิการฝ่ายไทยของหนังสือพิมพ์ บางกอกไตม์ หลังจากผู้ช่วยบรรณาธิการคนเดิมลาออก และหมั่นนำบทความของบิดาไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นี้ กระทั่งพอก.ศ.ร. กุหลาบหมดสิ้นลมหายใจกลางทศวรรษ 2460 (ราวๆ พ.ศ. 2464) เขาก็จัดทำหนังสืองานฌาปนกิจศพให้สมเกียรติ

 

 

หลักฐานชิ้นสำคัญที่เปิดเผยชีวประวัติของนายชายอย่างละเอียดลออได้แก่หนังสือ ต้นเหตุพระสงฆ์ห่มแหวกห่มคลุม ผลงานเรียบเรียงของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกสุด เมื่อปี ร.ศ. 121 (ตรงกับพ.ศ. 2445) โดยโรงพิมพ์ผดุงพันธุ์สรรพพัฒน์ อันเป็นหนังสือระลึกถึงแม่สายสร้อย ธิดาของนายกุหลาบ ผมเองยังไม่เคยสบโอกาสได้ยลสัมผัสหนังสือเล่มดังกล่าว เคยอ่านแต่ฉบับพิมพ์ครั้งหลังๆ ซึ่งมิได้เอ่ยถึง ก.ห. ชายเท่าไหร่

‘ส.ธรรมยศ’ นักคิดนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือต้องห้ามเล่มลือลั่นเยี่ยง พระเจ้ากรุงสยาม (Rex Siamen Sium) และเรื่องสั้นชุด เสาชิงช้า เป็นบุคคลหนึ่งที่เคยเจอกับนายชาย เนื่องจากได้ไปขอสัมภาษณ์ในปี พ.ศ. 2479 ขณะนั้น นายชายประกอบอาชีพทนายความ และถือเป็นทนายผู้กระเดื่องดัง เปิดสำนักงานรับว่าความกับนายสิน วินิจฉัยกุล ตั้งอยู่เลขที่ 2135 ถนนบูรพา เริ่มก่อตั้งดำเนินงานมาแต่ปี พ.ศ. 2444

 

‘ส.ธรรมยศ’ ในวัยหนุ่ม อายุ 20 ปี เมื่อ พ.ศ. 2477
‘ส.ธรรมยศ’ ในวัยหนุ่ม อายุ 20 ปี เมื่อ พ.ศ. 2477

 

ตามทรรศนะของนายปรีดี พนมยงค์ นักกฎหมายรุ่นหลัง นายชายนับเป็นทนายความที่จัดทำสำนวนคำฟ้องได้ดียิ่ง เป็นต้นแบบน่าศึกษาและเอาอย่าง

อีกบทบาทของนายชายซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ล่วงรู้กันคือ เขามีแนวความคิดก้าวหน้า สนใจในระบอบประชาธิปไตยไม่แพ้บิดา และเห็นพ้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอายุเขาก็ห้าสิบปลายๆ ใกล้ๆ จะหกสิบปี พอได้ทราบข่าวเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายนแน่ชัด ภายในไม่กี่วัน นายชายรีบเขียนจดหมายส่งจากสำนักงานทนายความไปยังคณะราษฎร 

 

กรุงเทพฯ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

เรียนท่านหัวน่าคณราษฎรทราบ

ด้วยที่สำนักงานของผมมีความยินดี  จะส่งน้ำแข็งมาช่วยเหลือ สำหรับแจกจ่ายทั่วไป ๒๐๐๐/ปอน แต่ไม่ทราบว่าจะให้ส่งมาที่ใด แลจะให้ส่งมาวันละเท่าใด โปรดขอทราบ แลขอบัตร์อนุญาตสำหรับคนที่จะนำน้ำแข็งมาด้วย หวังใจว่าคณคงมีความยินดีรับไว้

โดยความเคารพนับถือ

นายชาย (ลายเซ็น)

 

นอกเหนือจากนายชายจะสื่อสารความปีติของตนที่คณะราษฎรสามารถกระทำการสำเร็จลุล่วง เขายังอยากจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในรูปแบบการจัดส่งสิ่งของคือ น้ำแข็ง ไปร่วมสมทบ

หาใช่เพียง ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่พยายามต่อสู้เรียกร้องให้บ้านเมืองได้มีแนวทางการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งหาญกล้าเสี่ยงนำเสนอความคิดนี้ตั้งแต่ครั้งยุคระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนได้รับกล่าวหาว่าฟุ้งซ่าน ถูกส่งตัวเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลคนเสียจริต และถูกทางการเพ่งเล็งว่าจะไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองเสมอๆ (เช่น เหตุการณ์ ร.ศ. 130 ที่นายทหารจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลางทศวรรษ 2450) ถัดมารุ่นลูกชายคือนายชาย ตฤษณานนท์ หรือ “ก.ห.ชาย” ก็ยังคงยึดมั่นตามแนวความคิดที่ตกทอดมาจากผู้เป็นบิดา ครั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นจริงๆ เมื่อปี พ.ศ. 2475 เขาจึงประกาศตัวแสดงออกชัดเจนแข็งขันว่าสนับสนุนและยินดีช่วยเหลือคณะผู้ก่อการที่จะนำวิถีประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทย

 

เอกสารอ้างอิง

  • หจช.สร. 0201.16/20 ผู้มีชื่อให้สิ่งของและเงินแก่คณะราษฎร (พ.ศ. 2475)
  • บุญพิสิฐ ศรีหงส์. แกะปมจินตนภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560
  • ปรีดี พนมยงค์. บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2515.
  • ปียกนิฏฐ์ หงษ์ทอง. สยามสนุกข่าว. กรุงเทพฯ : กัญญา, 2531
  • มนันยา (วิทยานนท์) ธนะภูมิ. ก.ส.ร. กุหลาบ. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2525 
  • โลกหนังสือ. ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 (เมษายน 2521)
  • ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต 2. กรุงเทพฯ : ฅอหนังสือ, 2546
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “ย้อนตำนาน ‘นักกุเรื่อง’ และเรื่องอ่านเล่นสะท้อนความเป็น ‘คนตลก’ ของบุตรชาย ก.ศ.ร. กุหลาบ.” The MATTER (8 November 2018)

หมายเหตุ: 

  • แก้ไข และ จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ