แม้นาย ‘ถวัติ ฤทธิเดช’ อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมักคุ้นสำหรับคนยุคปัจจุบัน หากช่วงหลังๆ มานี้ เขาเริ่มได้รับการเหลียวหันไปมองมากขึ้นในฐานะผู้นำคณะกรรมกรคนแรกๆ ของไทย ล่าสุดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับนายถวัติเยี่ยง แรงงานวิจารณ์เจ้า ผลงานของ ‘ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์’ ก็เพิ่งตีพิมพ์ซ้ำอีกหน
‘นายปรีดี พนมยงค์’ กับ ‘นายถวัติ’ คือบุคคลร่วมสมัยกัน และคนหนุ่มทั้งสองเพียรพยายามในการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยเฉกเช่นเดียวกัน ต่อมาภายหลังเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2525 นายปรีดีได้คำนึงถึงบทบาทของนายถวัติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
“ขณะที่ถวัติทำนั้น นายวาศเป็นนายตำรวจยศร้อยตำรวจตรี ผมยังเป็นนักเรียนอยู่ในฝรั่งเศส ยังไม่ได้กลับไป กรรมกรรถรางสไตร๊ค์ ถวัติเป็นคนทำ ถวัติก็ได้จัดตั้งกรรมกรไว้ได้ดี เมื่อเปลี่ยนการปกครองก็ดี กบฏบวรเดชก็ดี กรรมกรรถรางก็ได้เข้าช่วยไม่น้อย กรรมกรรถรางตื่นตัวดี...”
เนื้อความ “ขณะที่ถวัติทำนั้น” หมายความถึงการที่นายถวัติเป็นผู้นำ “คณะกรรมกร” ก่อความเคลื่อนไหวต่างๆ นานา โดยเฉพาะการหยุดงานประท้วงหรือ “สไตรค์” ของกรรมกรรถรางบ่อยครั้งในช่วงทศวรรษ 2460 ซึ่งตอนนั้น “คณะราษฎร” รุ่นผู้ก่อการชุดแรกก็ยังมิได้ก่อตัวขึ้นชัดเจนในฝรั่งเศส
นายถวัติอายุมากกว่านายปรีดีราวๆ 6 ปี เขาเกิด พ.ศ. 2437 เป็นลูกชายกำนันแห่งบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม เคยรับราชการตำแหน่งเสมียนกรมอู่ทหารเรือ จนกระทั่งเบื่อหน่ายชีวิตราชการ จึงลาออกมาทำงานแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์แทน เริ่มต้นด้วยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สยามสักขี กลางทศวรรษ 2460 แต่เขากลับรู้สึกถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม เลยออกมาจัดทำหนังสือพิมพ์ กรรมกร ร่วมกับผองเพื่อน ทั้งนายร้อยตำรวจตรีวาศ สุนทรจามร นักเขียนฝีปากกล้า เจ้าของนามแฝง “หมอโพล้ง” และ นายสุ่น กิจจำนงค์
ทยอยพิมพ์ออกเผยแพร่เพียง 3 ปี หนังสือพิมพ์ กรรมกร มีอันต้องปิดตัว แต่นายถวัติและผองเพื่อนไม่ย่อท้อ ได้ร่วมกันออกหนังสือพิมพ์ ปากกาไทย ช่วงปลายทศวรรษ 2460 สำนักงานตั้งอยู่หน้าวัดยานนาวา ริมถนนเจริญกรุง
ห้วงระยะเวลาที่จัดทำหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับ นายถวัติและผองเพื่อนพลันเกิดแนวความคิดจะอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์ของพวกตน เพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับกรรมกรผู้ใช้แรงงาน กลุ่มคนที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่อยมา มิหนำซ้ำ พวกเขายังริรวมตัวกันเป็น “คณะกรรมกร” จนกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของผู้ใช้แรงงานยุคสมัยนั้น
นายถวัติฉวยใช้พื้นที่หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ปากกาไทย เป็นแหล่งบ่มเพาะและเผยแผ่อุดมการณ์ประชาธิปไตย มุ่งเน้นย้ำว่าทุกคนล้วนเสมอภาคกัน หมั่นนำเสนอเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องราษฎรสามารถเลือกตั้งผู้บริหารประเทศได้ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นการตั้งคำถามและวิพากษ์รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบเจ้าขุนมูลนาย เปิดโอกาสให้กรรมกรผู้ใช้แรงงานแสดงความคิดเห็นผ่านข้อเขียนต่างๆ
มกราคม พ.ศ. 2468 (ถ้านับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับมกราคม พ.ศ.2469) นายถวัติก่อตั้ง “สถานแทนทวยราษฎร์” ขึ้น หมายจะปฏิบัติหน้าที่คอยช่วยเหลือขจัดทุกข์บำรุงสุขให้กรรมกรและคนทั่วไปผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น ช่วยเป็นทนายว่าความ ช่วยเขียนถ้อยคำร้องเรียนส่งไปให้รัฐบาลสยาม เป็นต้น
ไม่กี่วันหลังจากนั้น นายถวัติก็ย้ายทั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ ปากกาไทย และสถานแทนทวยราษฎร์จากหน้าวัดยานนาวาไปตั้งอยู่ตึกแถวเลขที่ 393-395 ปากตรอกพระยาสุนทรพิมล ถนนพระรามสี่
อย่างไรก็ดี กิจการสถานแทนทวยราษฎร์แทบจะไม่สร้างรายได้ กลับทำให้นายถวัติต้องนำเอาทรัพย์สินส่วนตัวและทรัพย์สินของครอบครัวมาจุนเจือจนเขาประสบปัญหาภาวะฝืดเคือง
“คณะกรรมกร” นำโดยนายถวัติยังสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการกรรมกรแข็งขัน ยิ่งเฉพาะกลุ่มของกรรมกรรถรางที่เขาส่งเสริมการจัดตั้ง “สมาคมคนงานรถราง” ขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิ์และรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน
ครั้นวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายถวัติได้ชักชวนผองเพื่อนและคณะกรรมกรรถราง เข้าร่วมสมทบสนับสนุนกับทางคณะราษฎร และให้ความร่วมมือช่วยเหลืองานต่างๆ ของรัฐบาลคณะราษฎรสมดังคำกล่าวอ้างของนายปรีดี ผู้เป็นแกนนำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน
ความเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยช่วงทศวรรษ 2460 และต้นทศวรรษ 2470 ใช่จะมีเพียงแค่กลุ่มของ “คณะราษฎร” ที่เริ่มริก่อการขึ้นในต่างประเทศแล้วกลับมาดำเนินการตามแผนเท่านั้น ในเมืองไทยเองมีกลุ่มของ “คณะกรรมกร” ที่หาญกล้าแสดงออกอย่างชัดเจน ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงต่อโทษภัยอันอาจจะได้รับ
นายถวัติ ฤทธิเดช ถือเป็นอีกคนหนุ่มผู้ไม่ยอมจำนน เขาเคยถูกจับกุมหลายหนจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและความไม่เป็นธรรม จึงไม่แปลกเลยที่นามของนายถวัติและนายวาศย่อมตราตรึงในความคำนึงของนายปรีดี พนมยงค์
เอกสารอ้างอิง
- ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526
- ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. แรงงานวิจารณ์เจ้า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564
- สังศิต พิริยะรังสรรค์. “พัฒนาการขององค์การจัดตั้งกรรมกรในประเทศไทย พ.ศ. 2401-2475.”เศรษฐศาสตร์การเมือง 3,2 (ตุลาคม-ธันวาคม 2526), หน้า 1-41